Test Report : REGA Planar 3 50th Anniversary Edition

0

นับตั้งแต่จุดกำเนิดเล็กๆ ย้อนกลับไปในปี 1973 ความสำเร็จในช่วงแรกของ REGA ถูกสร้างขึ้นจากโทนอาร์ม และเทิร์นเทเบิลที่ได้รับรางวัล วิศวกรรมนับเป็นหัวใจสำคัญของ Rega Research Ltd. มาโดยตลอด ในความเป็นบริษัทที่หลงใหลในวัสดุเฉพาะทาง (specialist materials), ความคลาดเคลื่อน (tolerances) และความแม่นยำ (accuracy) ตั้งแต่วันแรกของกิจการ ผลิตภัณฑ์ REGA ทุกชิ้นได้รับการออกแบบเพื่อให้ได้การแสดงดนตรีที่ดีที่สุด และมอบความเพลิดเพลินทางดนตรีในราคาที่เอื้อมถึง ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจุบัน REGA ได้สร้างระบบไฮไฟที่สมบูรณ์แบบมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 80

จนถึงทุกวันนี้ REGA ยังคงเป็นบริษัทผู้ผลิตในอังกฤษอย่างสมบูรณ์ และ ณ ตอนนี้มีพนักงานมากกว่า 140 คน และจำหน่ายให้กับ 46 ประเทศทั่วโลก ด้วยผลิตภัณฑ์ไฮ-ไฟหลากหลายประเภท ไม่เฉพาะแต่โทนอาร์ม และเทิร์นเทเบิล ยังรวมไปถึงหัวเข็มเล่นแผ่นเสียง (cartridges), เครื่องขยายสัญญาณหัวเข็ม (phono stages), เครื่องขยายเสียง, เครื่องเล่นซีดี, ลำโพง และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ อีกมากมาย REGA ออกแบบและประกอบผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นด้วยมือในโรงงานขนาด 38,000 ตารางฟุตที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ โดยใช้ทีมงานช่างเทคนิคที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี

…เริ่มต้นจาก Roy Gandy และ Tony Relph ต่างก็ทุ่มเงินหนึ่งพันปอนด์ลงขันร่วมกัน เพื่อก่อตั้ง Rega Research Ltd. อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1973 หลังจากที่ Gandy ได้มาพบเจอกันโดยบังเอิญที่ร้านของ Relph ซึ่งเป็นเจ้าของร้านเครื่องเสียง Hi-Fi สองร้านใน Southend-on-Sea และ Gandy ได้เสนอขายเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นแรกของเขาที่มีชื่อว่า ‘The Planet’ ซึ่งพัฒนา และสร้างด้วยมือของ Roy Gandy ในลักษณะเป็นโปรเจ็กต์เสริม เนื่องจากในเวลานั้น Gandy ทำงานเป็นนักเขียนด้านเทคนิคให้กับ Ford Motor Company

เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นแรกของ Gandy ใช้ชื่อว่า ‘The Planet’ ซึ่งถูกเรียกเช่นนี้เพราะแทนที่จะเป็นแพลตเตอร์แข็ง (solid platter) กลับมีฐานรองรับเป็นวงกลมสามวง หมุนเหมือนดวงจันทร์โคจรรอบ ‘ดาวเคราะห์’ ที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นการออกแบบที่สร้างความประหลาดใจให้กับ Relph มากพอที่จะเข้าสู่กิจการร่วมค้า (joint venture) และแล้วกิจการก็ได้เริ่มต้นขึ้นในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อบริษัทใหม่เพิ่มการผลิต และได้รับอุปกรณ์ตรวจวัด ข้อจำกัดของโครงกระดูกรองรับ (skeletal support) ก็บังเกิดเป็นจริงขึ้น ซึ่ง Gandy ตัดสินใจว่า แพลตเตอร์แก้ว (glass platter) อาจเป็นวิธีแก้ปัญหา (จากเรื่องราวที่บอกเล่าในหนังสือ Rega’s chunky history book A Vibration Measuring Machine) ทั้งนี้ Gandy โชคดีอย่างยิ่งที่ได้พบกับ Clifford Rankin แห่ง Rankin Glass ซึ่งดูเหมือนว่า จะกระโจนเข้าสู่โปรเจ็กต์นี้โดยแทบไม่มีการรับประกันทางธุรกิจเลย ทั้งนี้ Rankin Glass มีแพลตเตอร์ที่มีความแม่นยำสูง (high-precision platters) อยู่ในมือ ที่ทำให้โครงการ “Planar” เป็นไปได้ ซึ่ง “Planar” ก็ได้กลายมาเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงเจเนอเรชั่นถัดมาของ REGA และก้าวสู่การพัฒนาปรัชญามวลต่ำ (low-mass philosophy) ของ REGA อย่างต่อเนื่อง

หนังสือเรื่องราวของ REGA นั้นออกจะคลุมเครือเกี่ยวกับลำดับการเปิดตัวแผ่นเสียงรุ่นต่างๆ ของ Planar แม้ว่า ในออนไลน์จะระบุประวัติผลิตภัณฑ์ Planar รุ่นแรกดั้งเดิมไว้ในเดือนเมษายน 1975 ตามด้วย Planar 3 รวมถึงโทนอาร์ม ‘R200’ ที่ได้มาจาก Acos ซึ่งมีฉายาเรียกขานเปรียบเปรยเป็น “a poor man’s 3009” ในอีกหนึ่งปีต่อมา (1976) และจากนั้น Planar 2 ก็ปรากฏโฉมออกมาในปี 1977

…เครื่องเล่นแผ่นเสียงอื่นๆ ในยุคนั้น (และในปัจจุบันด้วยเช่นกัน) มีฐานแท่นและแพลตเตอร์ตันขนาดใหญ่ (large and solid plinths and platters) โดยแนวคิดที่ว่า มวลสูง (high mass) จะสร้างความแข็งแรง (rigidity) ด้วยการช่วยด้านความเร็ว (speed) และมีเสถียรภาพ (stability) ของรอบหมุน ในขณะที่ “มวลต่ำ” นั้นลดทอนเสียงก้องกำทอน (resonances) วิธีการของ REGA เน้นในเรื่องความแข็งแรง แต่ไม่ใช่วิธีการเพิ่มน้ำหนัก REGA ระบุว่า “มวลนั้นดูดซับพลังงาน” พลังงานที่ปล่อยออกมาอย่างช้าๆ จะเพิ่มสีสัน และพลังงานที่สูญเสียไปเท่ากับการสูญเสียความเป็นดนตรี (Slowly-released energy adds coloration, and lost energy equals lost music ในแง่ของ Roy Gandy ซึ่งทั้งหมดนั้นเกี่ยวกับความแข็งแกร่ง (stiffness), การคาดโครง-ค้ำยัน (bracing) และความเบา (lightness)

ดังนั้น REGA จึงมุ่งเป้าไปที่แชสซีที่เบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมด้วยเหล็กค้ำยัน (brace) ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน – ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ บนเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น Planar 3 ใช้เหล็กค้ำยันสองชั้น (double brace system) ซึ่งชั้นล่างเป็นวัสดุ phenolic หนา 3 มม. และชั้นบนเป็นวัสดุ phenolic ที่มีผิวโลหะชุบเคลือบอยู่ ซึ่งเหล็กค้ำชั้นบนนั้นจะครอบคลุมส่วนของการติดตั้งโทนอาร์มกับแบริ่งหลักตรงกลาง ในลักษณะของ ” stressed beam” ที่มีโครงสร้างสุดแข็งแกร่งแต่เบาเป็นเสมือนโครงสร้างที่มีความแข็งแรง (rigidity) ตามที่ต้องการ ทั้งนี้ ‘phenolic resin’ ที่ REGA ใช้นั้น คือ ส่วนผสมที่ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด (วัสดุนี้มีประวัติย้อนกลับไปถึงสิ่งที่คล้ายกับ Bakelite) ยิ่งเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นรุ่นสูงขึ้นเท่าไร phenolic resin’ ที่ Gandy ใช้ก็มีแนวโน้มที่จะมีความหนามากขึ้นเท่านั้น

พูดได้ว่า Planar 3 ไม่ได้โด่งดังในทันที มีบางคนกระทบกระเทียบด้วยซ้ำว่า “มันขายได้เรื่อยๆ เหมือนเค้กเย็นๆ” บางทีอาจเป็นเพราะมันยังค่อนข้างแปลกแยกในยุคนั้น แต่หลังจากเริ่มต้นอย่างช้าๆ Planar 3 ก็ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น และได้รับเสียงแซ่ซ้องไปทั่ว ปัจจุบันนี้ REGA: Planar 3 ถือเป็นคลาสสิกที่ไม่เคยหยุดนิ่งในการนำเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับ Hi-Fi มาสู่วงการ ทั้งยังไม่เคยหยุดพัฒนา-ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งการมาถึงในปี 1983 ของโทนอาร์ม ‘RB300’ ที่เกือบจะเป็นตำนานในระดับเท่าเทียมกัน ซึ่งนี่คือ โทนอาร์มตัวแรกที่ผลิตที่โรงงานของ Rega Research Ltd.

คุณลักษณ์

…ครึ่งศตวรรษผ่านไป (2023-1973) ณ ตอนนี้ REGA มี Planar 3 รุ่นพิเศษที่ระลึกครบรอบ 50 ปี (commemorative 50th anniversary) ซึ่งเป็นการถอดแบบมาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับตำนาน …นี่คือ เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ออกแบบและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดจากรุ่น Planar 3 จึงกล้ายืนยันได้เลยว่า เสียงดีมาก…

เนื่องจากปรัชญาของ REGA เน้นในเรื่องน้ำหนัก ฐานแท่นเครื่อง (plinth) จึงดูค่อนข้างบางเบา (lightweight) ทว่าได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม มีลามิเนตวอลนัทแบบใหม่เกรนเป็นลวดลายไม้ (woody) มีแผ่นป้ายอะลูมิเนียมตราสัญลักษณ์ “rega 50 Planar 3 Anniversary Edition” เป็นโลโก้พิเศษ ที่บริเวณฐานแท่นเครื่องด้านล่างซ้ายมือ (เช่นเดียวกับบนฝาครอบกันฝุ่น) ซึ่งมีเฉพาะสำหรับเวอร์ชั่นครบรอบ 50 ปี (50th Anniversary Edition) เท่านั้น

Planar 3 ครบรอบ 50 ปี นำเสนอในรูปลักษณ์ตัวเครื่องแท่นเครื่องลายไม้วอลนัทที่สวยงาม และมาพร้อมกับกล่องภาคจ่ายไฟออกแบบใหม่ “Neo PSU MK2” ซึ่งใช้ควบคุมสปีด (ความเร็วรอบหมุน) ด้วยในตัว โดยจะเปลี่ยนความเร็วด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (กดเลือกสปีดด้วยมือ) จึงเอื้อความสะดวกให้ผู้ใช้งานไม่ต้องปรับเปลี่ยนความเร็วรอบหมุนด้วยการย้ายตำแหน่งสายพานขับเคลื่อนบนตัวรอกขับหมุน (pulley) อย่างที่ต้องกระทำกับ Planar 3 เวอร์ชั่นปกติ ทั้งนี้ Planar 3 ครบรอบ 50 ปี ยังได้รับการติดตั้งหัวเข็มแบบแม่เหล็กเคลื่อนที่ (moving-magnet) รุ่น “REGA Exact” ที่ผลิตด้วยมือสำเร็จพร้อมสรรพจากโรงงาน ระบบขับเคลื่อนใช้สายพานขับเคลื่อน “Reference EBLT” และมอเตอร์ขับเคลื่อน 24V ของ REGA ที่ติดตั้งร่วมกับ pulley ที่เป็นอะลูมิเนียม CNC แบบสั่งทำพิเศษ เพื่อมอบประสิทธิภาพและความแม่นยำที่ดีที่สุด ในแบบฉบับ Anniversary Edition

โทนอาร์มที่ติดตั้งมากับ Planar 3 ครบรอบ 50 ปี เป็นรุ่น RB330 ของ REGA เอง ซึ่งมีลักษณะเป็นโทนอาร์มอะลูมิเนียมมวลต่ำท่อกลวงในแบบฉบับของ REGA และตัวเรือนแบริ่งแนวตั้ง (vertical bearing housing) ที่ออกแบบใหม่สำหรับตลับลูกปืนหลัก ดุมเป็นทองเหลือง ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว เป็นความลงตัวที่พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และโครงสร้างที่ช่วยลดความเครียดบนตัวตลับลูกปืน

การอัพเกรดครั้งนี้ ยังได้เห็นสายพานขับหมุน “Reference EBLT” ซึ่งตามปกติจะถูกใช้งานเฉพาะสำหรับเวอร์ชั่นอ้างอิง ทั้งนี้บนฐานแท่นเครื่อง Planar 3 ครบรอบ 50 ปี จะไม่มีสวิตช์เปิด/ปิดการทำงาน (power switch) แต่ไปอยู่บนแผงหน้าตัวกล่อง Neo PSU MK2 เนื่องจาก Neo PSU MK2 คือ การอัพเกรดที่สำคัญสำหรับ Planar 3 เวอร์ชันครบรอบ 50 ปี โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งจ่ายไฟนอกตัวเครื่อง (offboard power supply) ที่ปรับแต่งด้วยมือ (hand-tuned) ทำการควบคุมความเร็วรอบหมุนให้กับมอเตอร์ความแม่นยำสูง แรงดันไฟฟ้าต่ำ เสียงรบกวนต่ำ ขนาด 24 V และชุดประกอบ PCB ติดตั้งมาพร้อมกับ CNC machined aluminium pulley สั่งทำพิเศษสำหรับ Planar 3 ครบรอบ 50 ปี *** REGA ระบุว่า Neo PSU MK2 ควรอยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงมากที่สุดเท่าที่สายเคเบิลจะเอื้ออำนวย (ซึ่งยาวมากกว่าหนึ่งเมตร)

การออกแบบฐานแท่นเครื่องที่แข็งแรงของ Planar 3 ครบรอบ 50 ปี ทำการดูดซับพลังงาน และป้องกันอาการเรสโซแนนซ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะส่งบิดเบือนคุณภาพเสียงอย่างผิดธรรมชาติให้กับเพลงและดนตรีที่รับฟัง ในทำนองเดียวกัน มวลที่หนักกว่าสามารถถ่ายโอนพลังงานที่ไม่ต้องการได้มากขึ้น เช่น เสียงมอเตอร์ หรือ เสียงรบกวนของแบริ่ง (bearing noise) ไปยังแผ่นเสียงที่กำลังขับหมุนอยู่โดยตรง การใช้ระบบค้ำยัน (braces) แบบคู่ ทำให้เสมือนว่า phenolic มีความหนาเป็น 2 เท่าในบริเวณที่สำคัญเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดน้ำหนักให้กับฐานแท่นเครื่อง ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการดูดซับมวล และการส่งผ่านพลังงานที่ไม่พึงประสงค์ได้โดยตรง

ในส่วนของโทนอาร์ม RB330 ของ REGA นั้นได้รับการออกแบบโดยใช้เทคโนโลยี 3D CAD & CAM ล่าสุด และเป็นจุดสุดยอดของประสบการณ์การออกแบบโทนอาร์มมากกว่า 35 ปี โดดเด่นด้วยตัวเรือนลูกปืนใหม่ล่าสุด และท่อโทนอาร์มล่าสุดของ REGA ที่ออกแบบโดยใช้การกระจายมวลอย่างชาญฉลาด ทำให้มั่นใจได้ว่า โทนอาร์มนี้จะมีจุดแสดงอาการเรสโซแนนซ์ (resonance) ที่น้อยลง ความเสถียรขั้นสุดยอดพร้อมการเคลื่อนไหวที่เกือบจะไร้การเสียดสีเสียดทานจากชุดตลับลูกปืนความแม่นยำสูงใหม่ รับประกันว่า จะเก็บเกี่ยวข้อมูลจากแผ่นไวนิลของคุณได้มากกว่าที่เคยเป็นมา

ผลการรับฟัง

…Planar 3 ครบรอบ 50 ปี สำแดงเดชผ่านหัวเข็มสีเหลืองสด รุ่น “Exact” ที่เป็นหัวเข็มแบบแม่เหล็กเคลื่อนที่ (moving-magnet) ระดับท้อปสุดของ REGA ชนิดที่ว่าน่าตื่นเต้นในสุ้มเสียงที่รับฟัง ถ้าหากไม่บอกกัน แทบจะแยกไม่ออกว่า เป็นเสียงจากหัวเข็ม MM มิใช่ MC ทั้งนี้เพราะ “Exact” ส่งมอบรายละเอียดเสียงเล็กเสียงน้อยได้ยิบย่อย ไม่แพ้เสียงหัวเข็ม MC High Output ช่วงปลายเสียงสูงตอนบนก็พละพลิ้ว สดใส ทอดยาวไกล ฟังแล้วให้ความโปร่งกระจ่างแทบไม่ต่างจากหัวเข็ม MC …นี่คือ เรื่องจริง แสดงถึงประสบการณ์ของทีมวิศวกรของ REGA ที่ใช้วิศวกรรมเครื่องกลและไฟฟ้านำหน้าในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผสานเข้ากับความใส่ใจในการค้นหาวัสดุเฉพาะทาง (specialist materials) ทำให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ล้ำหน้าในศักยภาพ ภายใต้ระดับราคาที่ไม่ไกลเกินคว้า

“Exact” มีปลายหัวเข็มที่ REGA เรียกขานว่า ‘Vital’ – ซึ่งมีรูปแบบของหน้าตัดแบบ line contact อันซับซ้อน-ละเอียดอ่อนที่เจียระไนขึ้นจากแท่งเพชรแท้ทรงสี่เหลี่ยม (Complex fine line micro-ground from a rectangular diamond billet) ส่งผลต่อทั้งการเกาะร่อง และการเก็บเกี่ยวรายละเอียดบนร่องแผ่นเสียง (groove) ได้อย่างน่าทึ่ง ! ซึ่งในส่วนของขดลวดนั้น REGA ระบุว่า พันคอยล์สเปคสูง แบบขนาน (High spec parallel wound coils) จึงเป็นที่มาของคุณภาพเสียงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทั้งนี้ตามสเปคของ Exact ระบุว่า น้ำหนักแรงกดหัวเข็ม (Tracking Pressure) ของ “Exact” ควรอยู่ที่ 1.75 กรัม (ทว่า ตามที่ผมได้ทำการปรับตั้งหัวเข็มนี้ใหม่ด้วยตัวเอง ไม่ได้เป็นไปตามการติดตั้งสำเร็จจากโรงงาน เนื่องจากอาจมีการคลาดเคลื่อนไปบ้าง ภายใต้สภาวะการขนส่ง พบว่า น้ำหนักแรงกดหัวเข็มที่เหมาะสมสำหรับการรับฟังของผมอยู่ที่ประมาณ 1.46 – 1.5 กรัม ควบคู่กับการตั้งค่า anti-skating ไว้ที่ตำแหน่งใกล้ๆ ตัวเลข 1)

ซึ่งจากการรับฟังด้วยแผ่นไดเร็กต์-คัทด้วยอัลบั้ม “Pick up Test Record” ของ ortofon ในหน้า 2 ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงของวง The Tivoli Symphony Orchestra …เอาแค่ว่าช่วงเริ่มต้นของแทร็คแรก ‘Super Hirez Audio’ ก็สามารถสำแดงสภาพอันอบอวลของบรรยากาศในสถานที่แสดง The Concert Hall of Copenhagen ได้อย่างน่าประทับใจ ราวกับตอนที่ตัวเรากำลังเดินผ่านประตูเข้าไปสู่สถานที่นั้น ครั้นพอช่วงที่ดนตรีเริ่มบรรเลง ไดนามิก-ความฉับพลันในเสียงดนตรีก็เริ่มพรั่งพรูออกมา พร้อมด้วยน้ำหนักเสียงของแต่ละชิ้นดนตรีที่ฟังดูสมจริง แม้แต่เสียงเพอร์คัสชั่นอันแผ่วเบา ก็ปรากฏอยู่ในเวทีเสียงชั้นหลังสุดให้เราได้รับรู้ อิมเมจเสียงก็แจ่มชัดไล่ระดับเป็นแถวชั้นตื้น-ลึกอยู่ต่อหน้า พร้อมด้วยอาณาบริเวณเสียงอันแผ่กว้าง

…ตามต่อด้วยอัลบั้ม “Orchestrations Astromantic” ซึ่งจัดทำเป็นแผ่นไดเร็กต์-คัทโดยสังกัด RCA JAPAN (RDCE-6) …Planar 3 ครบรอบ 50 ปี + “Exact” ได้ให้บรรยากาศเสียงที่ช่างโอฬารมากๆ ความกระหึ่มกึกก้องของบทเพลงที่คุ้นหูจากเครื่องดนตรีกว่าร้อยชิ้น เสมือนเรียงรายแผ่กว้างอยู่ต่อหน้า เครื่องดนตรีชิ้นนั้นชิ้นนี้ เรียงรายอยู่ตรงนั้นตรงนี้ในตำแหน่งเวทีเสียงที่ไล่ระดับชัดลึกชัดตื้นอย่างไม่ต้องมโนนึกภาพ ต้องขอยืนยันครับว่า Planar 3 ครบรอบ 50 ปี + “Exact” สามารถทำให้เรารับรู้ได้ถึงมวลบรรยากาศที่โอบล้อมรอบตัวเราอย่างน่าทึ่ง อีกทั้งในเรื่องของน้ำหนักเสียงที่ให้ความมีตัวมีตนของเสียง เปล่งออกมาจากตำแหน่งโน่นนี่นั่นอย่างสมจริง

“Pavane Pour Une Infante Défunte” หนึ่งในผลงานชั้นสุดยอดของวง L.A.4 ที่จัดทำแผ่นแบบไดเร็กต์-คัทของสังกัด East Wind Records (EW-10003) …Planar 3 ครบรอบ 50 ปี + “Exact” ก็บ่งบอกเส้นสายลวดลายทักษะการเล่นกีต้าร์ของ Laurindo Almeida อันฉับไวน่าประทับใจ เสียงกลองชุดฝีมือของ Shelly Manne ก็ให้น้ำหนักและระบุตำแหน่งสูง-ต่ำของฉาบได้ชัดแจ้งมาก เสียงอะคูสติกเบสที่ถูก Ray Brown ร่ายลีลาระดับเทพก็ให้ความหนักแน่นสาแก่ใจ ราวเห็นเส้นสายกำลังสั่นแกว่งไกว เสียงแซกโซโฟนโดย Bud Shank ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ราวเห็นเป็นตัวเป็นตนกำลังโยกตัวโอนเอนตามท่วงทำนองเพลง

“Direct from L.A.” แผ่นไดเร็กต์-มาสเตอริ่ง ผลงานของ The Great Jazz Trio ในสังกัด East Wind Records (EW-10005) ทำเอาตัวเราจมกลืนเข้าไปในบรรยากาศลาตินผสมกลิ่นอายของบลูส์จนอดไม่ได้ที่จะกระดิกเท้าและดีดนิ้วมือตามจังหวะท่วงทำนองเพลง …Planar 3 ครบรอบ 50 ปี + “Exact” สามารถเปิดเผยรายละเอียดเสียงต่างๆ ในช่วงย่านเสียงกลางได้อย่างโดดเด่นมีชีวิตชีวา ได้ยินเสียงลมเป่าพ่นออกมาเบาๆ พร้อมด้วยสมรรถนะการแยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรี 3-4 ชิ้นได้เป็นอิสระ มีตำแหน่งแห่งที่แน่ชัด พร้อมกับความเปิดโปร่งของมวลบรรยากาศในสถานที่แสดง

“Finesse” เป็นหนึ่งในแผ่นไดเร็กต์-คัทเพียงไม่กี่อัลบั้มของ Nautilus Recordings (NR-22) ด้วยผลงานสุดแสนไพเราะของ John Klemmer ที่ให้คุณภาพเสียงดีมากๆ เสียงเพอร์คัสชั่นกรุ๊งกริ๊งกังวานจับใจ แม้แต่หางเสียงที่ค่อยๆ จางหายไปก็ช่างเป็นอะไรที่ธรรมชาติมากจริงๆ เสียงแซกโซโฟนที่ให้ความสมจริงด้วยมวลอากาศที่ถูกเป่าพ่นเป็นแรงลมพุ่งออกมา ชัดเจนขนาดที่ว่าได้ยินเสียงน้ำลายน้อยๆ เข้าไปขังอยู่ในลิ้นเสียงของแซกโซโฟน… แม้กระทั่งเสียงหวดแซ่ลงไปบนฉาบอย่างฉับพลันก็เปล่งประกายออกมาสดใส ให้พลังไดนามิกแห่งเสียงจากแผ่น direct-cutting ได้ครบชัดมาก ยิ่งฟังยิ่งเพลินใจครับ

“Boling Point” แผ่นไดเร็กต์-คัทชั้นเลิศของ Toshiba Pro-use Series (LF-95009) ที่ต้องห้ามพลาด !! ซึ่งรวมเอาศิลปินและนักร้องชั้นยอดมาบันทึกผลงานไว้ เฉพาะอย่างยิ่งเสียงของ Mari Nakamoto ในเพลง My Funny Valentine และ Misty ที่สุดแสนซาบซึ้ง ลึกลงไปถึงแหล่งเสียงจากลำคอของเธอ เสียงกลองชุดที่ให้ความตึงของหนังหน้ากล้อง เสียงฉาบที่ใสกังวาน กำลังแกว่งสั่นระรัว เสียงแซกโซโฟนที่บ่งบอกถึงแรงลมที่เป่าพ่นออกมา เสียงอะคูสติกเบสที่ดีดสายเด้งดึ๋งดั๋ง หนักแน่นราวมองเห็นการสั่นของสายเบส กับอัลบั้ม ANDREW POWELL & THE PHILHARMONIA ORCHESTRA PLAY THE BEST OF THE ALAN PARSON PROJECT ของสังกัด Mobile Fidelity Records หมายเลขแผ่น MFSL1-175 รวมทั้งอัลบั้ม “I Robot” ผลงานของ The Alan Parson Project ของสังกัด Mobile Fidelity Records หมายเลขแผ่น MFSL 1-084 (แผ่นสุดโปรดของผม) ก็ถูกบ่งบอกสารพัดสารพันเสียงสอดแทรกต่างๆ ผุดโผล่ออกมาจากตรงนั้น-ตรงนี้-ตรงโน้นราวกับรายรอบตัวเรา มันจะแจ้งมากๆ สะอาดสะอ้านและแจ่มชัดให้ทิศทางที่มาของเสียงนั้นๆ อย่างสมจริง รวมถึงลักษณะมวลอากาศที่ห้อมล้อม อบอวล มีความกังวานก้อง และเสียงสะท้อน-บ่งบอกสภาพบรรยากาศของโถงการแสดงหรือสถานที่ใช้บันทึกเสียงก็ถูกนำเสนอได้ชัดเจนมาก

นอกจากนี้ เมื่อรับฟังจากแผ่นธรรมดาสามัญ อัลบั้ม “Live in Tokyo” ของ ART PEPPER ตัดแผ่นโดย JVC หมายเลขแผ่น VIC-6372 ในเพลง Besame Mucho และ The Shadow of Your Smile …Planar 3 ครบรอบ 50 ปี + “Exact” ก็สามารถทำให้เราได้เข้าถึงซึ่งความสมจริงแห่งเสียง ด้วยความมีมิติ มีตัวตน มีห้วงอารมณ์ความรู้สึกของดนตรี รวมถึงน้ำหนักเสียงที่ให้ความเป็นธรรมชาติของเสียงแต่ละเสียงอย่างเปี่ยมไปด้วยพลัง เรี่ยวแรงปะทะ ความฉับพลันทันใด ซึ่งบังเกิดขึ้นมาอย่างมีชีวิตชีวา สามารถจับตำแหน่งการแยกแยะแถว-ชั้นของเสียง พร้อมด้วยความโปร่งโล่งในมวลบรรยากาศ สารพัดเสียงสอดแทรกต่างๆที่ถือเป็นรายละเอียดก็สดใส กระจ่างมาก และให้ทิศทางที่มาของเสียงนั้นๆ อย่างแจ่มชัด – – พลันนึกถึงอัลบั้ม “แต้มสีที่อารมณ์” ของคุณกิ๊ก – พงษ์พันธ์ จันทร์เนตร์ (by Impression) …ไม่ผิดหวังครับ รับฟังแล้วให้สภาพบรรยากาศ (atmosphere) ออกมาดีมาก เสียงดนตรีที่รับฟังเอิบอิ่ม มีความกังวานทอดยาวของปลายหางเสียง รวมทั้งการค่อยๆ จางหายไปของเสียงเปียโนในแต่ละคีย์ แต่ละโน้ตเป็นธรรมชาติ รวมถึงความมีตัวตนของเสียงอย่างเสียงไวโอลินที่ราวกับเห็นลีลาการชักคันซอจริงๆ

ต่อด้วยอัลบั้ม “Rhythm & Boyd” ของคุณ บอย โกสิยพงษ์ (Sony Music) อีกสักนิด นี่ก็นับว่าคุณภาพเสียง “เยี่ยม” ครับ …ดีมากจริงๆ สนามเสียงให้ความแผ่กว้าง และไล่ระดับลดหลั่น-ตื้นลึก-ยักเยื้องกันในเวทีเสียงชัดเจนดีทีเดียว เสียงต่างๆ มีน้ำหนัก โปร่งกระจ่าง และแจ่มชัด ให้ความรู้สึกมีตัวมีตน ปลายเสียงสูงก็นุ่มละมุน ไม่จัดจ้า …และแล้วก็ขอปิดท้ายกันด้วยแผ่นเพลงไทยแท้ๆ (ไม่ขอเรียกว่า ไทยเดิมนะ) ในแบบฉบับการบรรเลงแตรวง ซึ่งได้รับการบันทึกเสียงตรงลงสู่ two – track mastered ได้อย่างสมบูรณ์แบบมาก ทั้งยังทำการจัดทำอย่างมีคุณภาพมากๆ สมควรยกให้เป็น -แม่แบบ- แห่งคุณภาพการบันทึกเสียงเลยทีเดียวละครับ นั่นคือแผ่นเสียงชุด “The Merry Angel on 45” ที่อย่าลืมว่าต้องเล่น ‘สปีด 45’ นะครับ …Planar 3 ครบรอบ 50 ปี + “Exact” ได้ทำให้ราวกับว่า กำลังนั่งรับฟังแตรวง มาบรรเลงสดๆอยู่ตรงหน้า มีระยะลึก-ตื้น รวมถึงความสดใส-ฉับพลันทันใดของไดนามิค และมวลบรรยากาศ ชนิดที่ว่าไม่เคยสัมผัสมาก่อนจากเพลงไทย (เดิม) บ้านเรา ด้วยสนามเสียงที่แผ่กว้าง ชิ้นดนตรีไม่กระจุกตัว มีมวลบรรยากาศ พร้อมทั้งเสียงเล็กๆน้อยๆสอดแทรกเป็นเกร็ดซ่อนอย่างธรรมชาติไว้ให้จับกัน

รายละเอียดในน้ำเสียงต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงย่านความถี่เสียงกลาง …Planar 3 ครบรอบ 50 ปี + “Exact” จะสร้างความประทับใจให้แก่คุณ ไม่ว่าจะเป็นเสียงนก เสียงปรบมือ เสียงนักร้อง เสียงพลิกแผ่นกระดาษโน้ต เสียงขยับเก้าอี้ เสียงเครื่องดนตรีต่างๆ มิได้เป็นเพียงแค่เสียงนั้นๆ หากยังมีความอิ่มเอิบอย่างสมจริงจากอณูเสียงของมวลอากาศรายรอบ รับรองว่า คุณจะต้องทึ่งในสิ่งที่ได้รับฟัง ช่วงปลายเสียงสูงๆ ที่ทอดยาวไกลไปสุดกู่นั้นช่างพละพลิ้วและมีพลังกังวาน จนกระทั่งค่อยๆ แผ่วจางไปอย่างเป็นธรรมชาติ ช่วงย่านความถี่เสียงต่ำนั้นนับได้ว่า “โดดเด่น” ทั้งในด้านพลังความหนักแน่น และเรี่ยวแรงปะทะ-กระแทกกระทั้นควบคู่กัน รวมถึงความฉับพลันทันใดของจังหวะจะโคน ทั้งยังทิ้งทอดตัวลงไปได้ลึกมากๆ ด้วยซ้ำ เฉกเช่นเดียวกับความนวลเนียนของเสียงนั้นๆ ก็ดีมากๆ ในความไหลลื่นกลมกลืนกัน มิได้เน้นความโดดเด่นที่ช่วงย่านความถี่ใดโดยเฉพาะ รับฟังแล้วเพลิดเพลินใจให้ความมีชีวิตชีวาในทุกสรรพเสียง ฟังได้ยาวนานติดต่อกันอย่างอิ่มเอมใจไม่รู้เบื่อ เสมือนถูกจูงเข้าไปอยู่ในอารมณ์ดนตรีที่กำลังรับฟังผ่านไปแผ่นแล้วแผ่นเล่ากระนั้น

สรุปส่งท้าย

…Planar 3 ครบรอบ 50 ปี + “Exact” จะทำให้คุณได้เข้าถึงห้วงอารมณ์เพลงที่รับฟังได้อย่างมีอรรถรสที่แตกต่างจากความคุ้นชินที่เคยได้รับ ทั้งในแง่ของมวลบรรยากาศรายรอบอันอบอวล รายะเอียดเสียงต่างๆ ที่ให้ความมีตัวตน รวมไปถึงเรื่องของความถูกต้องของ timbre ในเสียงแต่ละเสียง การให้ความฉับพลันทันใดอันเปี่ยมในน้ำหนักเสียงอย่างสมจริง แม้แต่ช่วงปลายหางเสียงอันแผ่วเบา ความกังวานทอดยาว และพละพลิ้วราวอณูเสียงของปลายเสียงสูงๆที่เปิดโปร่งอย่างมากๆ ล้วนเป็นความน่าประทับใจที่ชักจูงให้เราหยิบจับแผ่นโน่นแผ่นนี้มาเปิดฟังต่อเนื่องกันไปอย่างเพลินใจ สภาพบรรยากาศรายรอบ (atmosphere) ของสถานที่แสดงดนตรี (hall หรือ arena) จะถูกเจ้า Planar 3 ครบรอบ 50 ปี + “Exact” ถ่ายทอดออกมาอย่างอบอวลเป็นระลอกคลื่นอากาศ ยิ่งฟังจะยิ่งติดใจในสภาพบรรยากาศของความเป็นอนาล็อกที่ออกมาจากแผ่นเสียงแผ่นโน้นแผ่นนี้ที่หยิบจับนำมาเปิดฟัง ทั้งยังบ่งบอกความเป็นธรรมชาติของทุกสรรพเสียง ให้การรับรู้-สัมผัสได้ถึงความอิ่มฉ่ำ ความมีตัวตนของเสียงต่างๆ ได้อย่างชื่นมื่นหัวใจ เสียงทุกเสียงมีอาณาบริเวณ ไม่ซ้อนทับบดบังกัน แม้ในช่วงดนตรีโหมประโคมสนั่น ทั้งยังแยกแยะเสียงสะท้อนที่ก้องกังวานย้อนกลับมาแผ่วๆ ของสภาพอคูสติกได้แจ่มชัดมาก ราวนำพาตัวเราเข้าไปนั่งอยู่ในสถานที่นั้นๆ เชียวละครับ

KEY FEATURES

Walnut Effect plinth with custom aluminium badge

RB330 Precision tonearm

Exact MM cartridge factory fitted

Neo turntable PSU MK2 included

24 V low noise, low vibration motor, hand tuned to the custom Neo PSU Mk2.

Double brace technology

12 mm float glass opti-white polished platter

CNC machined Planar 6 drive pulley for use with the Neo PSU.

Supplied with a smoked dust cover as standard.

Reference EBLT drive belt fitted as standard

TECHNICAL SPECIFICATIONS

Tonearm

Hand assembled RB330 precision tonearm

Motor

24 V low noise motor

Platter

12 mm glass polished edge

Connectivity

RCA – Phono

Power

Via Mini DIN from Neo PSU

Dimensions (lid closed)

447 x 117  x 360 mm

Turntable Weight

6.0Kg

Neo Mk2 PSU

24 V AC protected by resettable fuse

Power Consumption

7.2 W

Voltage

24 V AC

Wall Power supply

Rega PS1 only

Speed control step size

0.01 RPM

Neo PSU Dimensions

180 x  150 x 50 mm

ขอขอบคุณ Komfort Sound โทร. 083 758 7771 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบ

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..