5 ความเชื่อเรื่องเครื่องเสียง ที่ไม่เป็นจริง

0

ช.ชิดชล

     ความรู้ในการเล่นเครื่องเสียง ที่ถ่ายทอดกันต่อๆมา หรือจากประสบการณ์ รวมถึงแต่ละความเชื่อ สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นจริง และไม่ได้เป็นมาตรฐานชี้วัดว่า จะทำให้เล่นเครื่องเสียง เซทอัพชุดเครื่องเสียง หรือทำให้ชุดเครื่องเสียงนั้น ฟังเพลงได้ไพเราะ รวมถึงไม่เป็นจริงว่า ทำสิ่งเหล่านั้นแล้วจะมีทักษะการฟังที่ดี หรือฟังเก่ง ที่สำคัญที่สุดคือ ความเชื่อเรื่องปริมาณหรือสเปค ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ใช้บ่งบอกคุณภาพและความไพเราะของบทเพลง เมื่อขณะที่ใช้ฟังเพลงจริงๆ

     ในบทความครั้งนี้ ขอยกตัวอย่างเพื่ออธิบายถึง ความเชื่อ มูลเหตุ และเหตุผลว่า ทำไมถึงไม่เป็นจริง สัก 5 ข้อให้ได้พิจารณาเลิกเชื่อกันนะครับ

     1 มีหรือฟังชุดเครื่องเสียงแพงๆแล้วจะเล่นเครื่องเสียงเก่ง หลายท่านคงมีความเชื่อที่ว่า การมีชุดเครื่องเสียงแพงๆระดับไฮเอนด์หลายชุด เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ได้ลองอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทั้งแยกชิ้น รวมชิ้น ลำโพงวางหิ้งและลำโพงตั้งพื้น และบรรดาสายสารพัดอีกร้อยแปดพันเก้า หรือแม้กระทั่งได้ไปลองฟังอุปกรณ์เหล่านั้นบ่อยๆ ได้เซทอัพปรับแต่งอุปกรณ์เหล่านั้นมากมายจนคุ้นชิน แล้วคิดว่าการได้ทำสิ่งเหล่านั้นจะทำให้เล่นเครื่องเสียงเก่ง ต้องบอกว่าไม่เป็นจริงเสมอไปนะครับ หลายคนมีหรือฟังแต่ไม่ได้รู้จักการใช้งานที่แท้จริง ขึ้นชื่อได้ว่ามีเล่นมีฟัง ไม่ได้ทดลองปรับจูนเซทอัพ ขยับปรับแต่งตำแหน่งอย่างเข้าใจท่องแท้ว่า อุปกรณ์แต่ละอย่างนั้น ให้ผลทางเสียงอย่างไร อะไรเหมาะสมกัน และเสียงอุปกรณ์อะไรเป็นอย่างไร เปรียบเทียบง่ายๆว่า เสียงเพลงที่ดังจากเครื่องดนตรีที่ดีที่สุดในโลก ผลิตจากวัสดุชั้นเลิศ ก็ไม่ได้แปลว่าจะได้บทเพลงอันไพเราะ กลับกัน หากเป็นเครื่องดนตรีที่ดี มีคุณภาพถึงระดับหนึ่ง แต่เล่นด้วยนักดนตรีเอก ก็สามารถสร้างเสียงเพลงที่ไพเราะได้ มีรถซุปเปอร์คาร์หลายคันไม่ได้แปลว่าจะเป็นนักแข่งรถ มีภาพจิตรกรเอกสะสมไว้มากไม่ได้แปลว่าเข้าถึงงานศิลปะ มีพระเต็มบ้านไม่ได้แปลว่าจะไปนิพพาน ทุกอย่างล้วนมีเงื่อนไขในการเข้าใจและเข้าถึง

    2 ไปฟังดนตรีสดแล้วจะฟังเก่ง คอนเสิร์ตที่เล่นสดผ่านเครื่องขยายเสียง วงชั้นนำระดับตำนาน ที่เซทอัพเครื่องขยายเสียงได้คุณภาพตามแบบที่วงเขาต้องการ หรือจะเป็นการบรรเลงสดของวงดุริยางค์ชั้นนำของไทย หรือวงออเครสตร้าชั้นนำระดับโลก การไปฟังเหล่านั้น ได้รับรู้เสียงจริงของการแสดงในแต่ละรูปแบบนั้นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าไปฟังมาแล้วจะเป็นนักฟังที่เก่ง มีทักษะการฟังที่ดี ระดับมาใช้งานกับเครื่องเสียงภายในบ้านได้ เพราะการไปฟังนั้นอาจขาดความเข้าใจ ขาดความชอบ อันจะทำให้ขาดการเข้าถึงศิลปะการแสดงเหล่านั้น รวมถึงขาดความหลากหลายในการฟัง โดยอาจจะไปฟังไม่กี่วงหรือไม่กี่ครั้ง ทำให้ประสบการณ์ยังไม่มากเพียงพอในการฟังเพื่อเปรียบเทียบความต่างของ เครื่องดนตรี สภาพอะคูสติก รวมถึงฝีไม้ลายมื้อของนักดนตรี เช่น การไปฟังเพียงครั้งสองครั้ง หรือวงดุริยางค์เดียว ไม่อาจสร้างทักษะการฟังและประสบการณ์ที่ดี อันนำไปใช้กับชุดเครื่องเสียงในบ้านได้

    3 เทียบคุณภาพชุดเครื่องเสียงกับดนตรีจริง เมื่อฟังดนตรีจริงจากคอนเสิร์ตมาแล้ว ฟังเสียงที่วงดนตรีเล่นสดแล้วขยายด้วยเครื่องขยายเสียงมาออกลำโพงให้เราฟัง เสียงเป็นอย่างไร หนักแน่น คมชัดขนาดไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการจูนเสียง หรือการมิกซ์เสียง หรือไปฟังเสียงที่ออกจากเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ผสานทำงานกันเป็นวง โดยไม่ผ่านการขยาย ก็จะได้ทราบถึงเสียงที่แท้จริงของเครื่องดนตรีนั้นๆ ว่าเครื่องสายเสียงเป็นอย่างไร อะไรเสียงสูงอะไรเสียงต่ำ หรือเครื่องเป่าเป็นอย่างไร มีเสียงสูงหรือเสียงกลางแบบไหน สัดส่วนชิ้นดนตรีอะไรเล็กใหญ่กว่ากัน หรือให้ไดนามิคของเสียงมากกว่ากัน แต่ความรู้และความเข้าใจจากการฟังเสียงเหล่านั้น ไม่ได้แปลว่าจะนำมาใช้กับการฟัง จูน ปรับแต่ง เครื่องเสียงภายในบ้านหรือในห้องฟังได้ เพราะมีความแตกต่างกันอย่างมีเอกลักษณ์สำคัญ เราไปฟังดนตรีจริง คอนเสิร์ต เพื่อให้ทราบถึงสัดส่วนความแตกต่าง ของเสียงจากเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ว่าเล็กใหญ่ ดังเบา สูงต่ำกว่ากันอย่างไร เพื่อเอามาเทียบเป็นมาตรฐานในการฟังชุดเครื่องเสียงภายในบ้าน เช่น เสียงไวโอลินต้องออกไปทางแหลมมากกว่าเสียงวิโอล่า ดับเบิ้ลเบสเสียงจะไปที่ความถี่ต่ำและมีความแตกต่างจากความถี่ต่ำของกลองทิมปานีหรือกลองใหญ่ และไดนามิคของเครื่องดนตรีเหล่านั้น มีความชัด แรงปะทะ แตกต่างกันอย่าไร เมื่อไปฟังกับชุดเครื่องเสียง เราก็จะปรับจูนชุดเครื่องเสียงให้ได้ความแตกต่างแบบนั้น เป็นมาตรฐาน แต่ไม่ควรไปฟังกลองชุด กีต้าร์ เปียโนและอื่นๆจากการฟังดนตรีจริง แล้วกลับมาฟังเพลงในชุดเครื่องเสียง โดยจูนเสียงให้ได้เสียงแบบนั้น เช่น เสียงเปียโนจริงๆต้องแบบนี้นะ ต้องคมชัด กังวาน แบบนั้นแบบนี้ หากทำแบบนั้นก็เท่ากับว่าหลงทาง หลงประเด็น เพราะเสียงที่ฟังสดกับเสียงที่ผ่านการบันทึกมา ไม่มีทางรู้ได้เลยว่า มีกี่ขั้นตอนที่ทำให้เสียงเปลี่ยนไปจากต้นฉบับหรือเครื่องดนตรีจริง ที่สำคัญ เครื่องดนตรีแต่ละประเภท มีหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายวัสดุ อันทำให้เสียงที่ได้แตกต่างกันไป หากเทียบกันแบบนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่า เขาบันทึกเสียงจากเครื่องดนตรียี่ห้ออะไร แล้วเสียงจะต้องเป็นอย่างไร จึงไม่สามารถเอาเป็นมาตรฐานได้

    4 ปริมาณไม่ได้บอกถึงคุณภาพที่แท้จริง ชอบอุปกรณ์หลักหรืออุปกรณ์เสริมวัสดุแบบนั้น แล้วเลือกใช้แบบนั้นทั้งหมด อุปกรณ์ที่มีคุณภาพดี ก็เลือกใช้ให้ปริมาณที่มาก แผ่นปรับอะคูสติกห้องฟัง แบบไหนดูสวย คุณภาพก็ดี เลือกใช้ปริมาณมากๆ โดยไม่ได้ดูความเหมาะสม กล่าวโดยรวมว่า ลองฟังลองใช้งานอะไรก็แล้วแต่ พบว่ามีคุณภาพดี ก็จัดเข้าไปมากๆในชุดเครื่องเสียง ไม่ได้หมายความว่าจะดียิ่งขึ้นเป็นทวีคูณนะครับ บางอย่างใช้มากเกินไปกลับไม่ดี บางอย่างใช้มากร่วมกันก็ไม่ดี บางอย่างใช้มากแล้วผิดตำแหน่งก็ไม่ดี ฉะนั้น อุปกรณ์อะไรก็แล้วแต่ ปริมาณไม่ได้บอกถึงคุณภาพที่แท้จริง น้อยไปก็อาจไม่เห็นผล มากไปก็อาจจะล้นหรือเกินความพอดี แนะนำว่า จะทำอะไร ใช้อะไร ลองอะไร ก็เริ่มจากทีละน้อย จากหนึ่งเพิ่มเป็นสอง แล้วลองฟังดูความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างมีปริมาณที่สมดุลและลงตัว ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว

    5 สเปคไม่ได้บ่งบอกถึงความไพเราะ ความละเอียดไม่ได้บ่งบอกถึงความไพเราะของเสียงแหลม ตัวเลขกำลังขับที่มากไม่ได้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพเพาเวอร์แอมป์ วัสดุและขนาดดอกลำโพงไม่ได้บ่งบอกถึงความไพเราะในบทเพลงที่น่าจดจำ อุปกรณ์ที่ใช้ชิปประมวลผลรุ่นใหม่ล่าสุด แรงสุด เพาเวอร์แอมป์ที่อุปกรณ์ภายในล้วนคุณภาพคัดเกรด จ่ายกระแสสูง ความเพี้ยนต่ำ สายที่ผลิตจากตัวนำระดับบริสุทธิ์ยิ่งยวด สเปคที่ดีเหล่านั้นทำให้เรารู้ถึงคุณภาพ อันเป็นมาตรฐานของอุปกรณ์ การเอามาใช้งานรวมกัน มีโอกาสได้เสียงที่มีคุณภาพ อันทำให้ฟังบทเพลงได้ไพเราะ แต่ไม่แน่เสมอไป เพราะความไพเราะของแต่ละบทเพลง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคมชัด หรือความแรงดังชัดคมเพียงอย่างเดียว บางครั้งเสน่ห์อันซ่อนอยู่ในบทเพลง ชิปที่มีคุณภาพดีก็ถ่ายทอดออกมาไม่ได้ เช่น ความคมชัดของไฟล์เพลงความละเอียดสูง ทำให้เรารับฟังเพลงอย่างมีรายละเอียด แจกแจง ขุดคุ้ย ชัดระดับรายละเอียดซ้อนรายละเอียด แต่การฟังเพลงเพื่อความไพเราะและกินใจนั้น บางครั้งอาจไม่ถึงกับต้องมีรายละเอียดมากมายนัก แต่ได้เนื้อเสียง ได้อารมณ์ของบทเพลงที่ถ่ายทอดออกมา เฉกเช่น การฟังเพลงจากแผ่นเสียง

    การเล่นเครื่องเสียงเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง แม้จะใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย ฉะนั้น ความเชื่อหรือความรู้ที่บอกกล่าวต่อๆกันมา อันเป็นแนวทางในการเล่นเครื่องเสียงและการฟังเพลงให้ได้ความไพเราะนั้น ไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะความเชื้อนั้นอาจทำโดยขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ขาดความหลากหลาย รวมถึงขาดประสบการณ์ ความเชื่อความเข้าใจที่ดีนั้น ต้องมาจากการพิจารณาองค์ประกอบต่างๆอย่างถี่ถ้วน สามารถหาเหตุผลรองรับ หาหลักการมาอธิบายอ้างอิงได้ เมื่อนั้นก็สามารถนำมาปรับใช้กับการฟังเพลงได้ และเมื่อนั้น การฟังเพลงก็ไพเราะขึ้นครับผม