Test Report : RSX ER-61 ‘Benchmark Series’ Speaker Cables

0

RSX เป็นแบรนด์ใหม่ทางด้านสายต่างๆ (Cables) โดยเฉพาะของ RSX™ Technologies,Inc.ภายใต้การกำกับดูแลของ “มือเก่า-สุดเก๋า” ในวงการ นามว่า Roger Skoff อดีตซีอีโอของ XLO ที่ได้พัฒนาแนวคิดในการออกแบบใหม่ เพื่อให้ได้สายต่างๆ (Cables) ที่ไร้บุคลิกแต่งแต้ม-บิดเบือน เน้นการส่งผ่านสัญญาณด้วยความเที่ยงตรงสูงสุดจากต้นทางสู่ปลายทาง เพื่อการรับฟังเสียงดนตรีที่ถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติตรงตามต้นฉบับมากที่สุด ‘RSX’ มีด้วยกัน 3 ซีรีส์ ได้แก่ Prime, Max และ Beyond สื่อความหมายถึง “Good, Better and Best” ตามสิ่งที่ได้รับจากการใช้งาน โดยมีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทั้งสายไฟเอซี, สายสัญญาณ, สายลำโพง รวมถึงสายโฟโนโดยเฉพาะ และ AC Power Box แบบ 8 ช่อง 

       นอกจากนี้ RSX ยังมีผลิตภัณฑ์ที่นับเป็นซีรีส์สุดพิเศษแยกออกมาล่าสุด นั่นคือ Benchmark Series กลุ่มผลิตภัณฑ์ “สุดคุ้มค่า” ของ RSX (RSX’s Highest Value Line) ในขณะที่ยังคงโดดเด่นในงานประกอบด้วยมือ (Hand Termination) ไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นของ RSX ซึ่งทุกๆ เส้นของสาย Benchmark Series ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษโดย Roger Skoff ให้เป็นการผลิตด้วยเครื่องจักรแบบ Custom Machine Manufactured ซึ่งช่วยประหยัดเวลาแรงงานมือในการต่อเชื่อมสายเคเบิล เมื่อเปรียบเทียบกับสายการผลิตอื่นๆ ของ RSX ทั้งนี้ RSX ใช้เงินอย่างคุ้มค่า เพื่อสรรหา และจัดซื้อวัสดุ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่า เพื่อมอบประสิทธิภาพที่โดดเด่นอย่างแท้จริงในราคาที่ไม่แพงมาก พร้อมส่งมอบความ (สุด) คุ้มค่าต่อราคาเมื่อเทียบกับสมรรถนะที่ได้รับ

      ตัวอักษร “ER” ในชื่อรุ่นผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Benchmark Series ย่อมาจาก Enhanced Resolution ซึ่งนั่นคือ สิ่งที่ Benchmark Series จักมอบให้แก่ผู้รับฟัง ทั้งนี้ Benchmark Series ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ 5 รายการ ได้แก่:- รุ่น ER-61: Speaker Cables; รุ่น ER-41: Digital Interconnects; รุ่น ER-11: Line Level Interconnects; รุ่น ER-31: Phono Cable และรุ่น ER-20 : AC Power Cord.

       เรา-ท่านต้องไม่ลืมว่าโลหะทุกอย่างล้วนมีสภาพเป็นเสาอากาศ (Antennas) ประเภทหนึ่ง ทีนี้เป้าหมายหลักในการจำลอง-สร้างสัญญาณเสียงเพลงที่บันทึกไว้ในระดับไฮ-เอนด์ขึ้นมาใหม่ของ RSX นั้น นั่นคือ การกำจัดซึ่งความผิดเพี้ยน และฮาร์โมนิกที่ไม่ต้องการ หรือ ไม่ได้ตั้งใจ (Unintended Harmonics) สายเคเบิลเป็นสื่อนำพาที่ไม่สมบูรณ์ สายเคเบิลและการเชื่อมต่อแต่ละเส้นที่เรา-ท่านใช้กัน ล้วนสามารถนำพา ‘Artifacts’ สิ่งไม่พึงประสงค์ปะปนเข้ามากับรูปแบบคลื่นสัญญาณที่เรา-ท่านพยายามถ่ายทอดจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่งได้อย่างง่ายดาย ที่แย่กว่านั้นคือ เมื่อใดก็ตามที่มีกระแสไหลผ่านสายเคเบิล จะทำให้เกิดการบิดเบือนของตัวมันเอง ซึ่งอาจส่งผลต่อสายเคเบิล และอุปกรณ์เชื่อมต่อ…ลองคิดดูว่า เบื้องหลังชุดเครื่องเสียงของคุณ นั่นคือ อะไร? เขาวงกตของสายเคเบิลที่เสียบต่อ-เชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์ ซึ่งสร้างและรับสัญญาณรบกวนแม่เหล็กไฟฟ้า (EMF) รวมถึงสัญญาณรบกวนทางคลื่นวิทยุ (RFI) ซึ่งการรบกวนนี้ปรากฏเป็นการบิดเบือนทางสัญญาณของตัวสายเคเบิลเอง

        การผิดเพี้ยน-บิดเบือน (Distortion) ทำให้เกิดฮาร์โมนิกปลอมปน ฮาร์โมนิก (Harmonic) คือ สิ่งที่ให้ความเป็นเสียงจำเพาะ (Timbre) และให้สีสันต่อน้ำเสียง (Color to Sound) หากไม่มีเสียงจำเพาะ (Timbre) เราก็ไม่สามารถแยกแยะไวโอลินจากไปป์ออร์แกนได้…เสียงที่ตั้งใจฟัง-โดยเฉพาะเสียงดนตรี-ประกอบด้วยความถี่พื้นฐาน (ระดับเสียงของโน้ตที่กำลังเล่น) และชุดของเสียงบางส่วน (โอเวอร์โทน-Overtones) ที่สะท้อนด้วยจำนวนทวีคูณที่มากกว่าความถี่พื้นฐาน ความแรงของเสียงบางส่วน (ฮาร์โมนิก/โอเวอร์โทน) ที่สัมพันธ์กับเสียงพื้นฐานคือ สิ่งที่ให้เป็นเสียงจำเพาะ (Timbre) นั่นคือ เสียงที่มีความงาม-เสียงที่มีความไพเราะ นั่นคือ ศิลปะแห่งเสียง การผิดเพี้ยน-บิดเบือน (Distortion) เป็นการนำฮาร์โมนิกที่ไม่ต้องการผสม-ปลอมปนเข้ามา ฮาร์โมนิกที่ไม่ต้องการเหล่านี้ไม่สะท้อนที่จำนวนทวีคูณของความถี่ที่ต้องการ ในช่วงความถี่เสียงต่ำ, ฮาร์โมนิกที่ไม่ต้องการเหล่านี้จะเติมสีสันให้กับเสียง และเพิ่มเสียงจำเพาะ (Timbre) ของตัวเองให้กับเสียงที่ไม่เกี่ยวข้องกับดนตรี การบิดเบือนเหล่านี้จะสร้างบางส่วนของตัวเอง ซึ่งจะถูกนำเสนอต่อผู้ฟังว่าเป็นสัญญาณรบกวนความถี่สูง (High Frequency Noise)

…ก็แล้วจะทำอย่างไร?…จะดีกว่าไหม? ถ้าเราสามารถป้องกันสายเคเบิลจากการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้าที่ไม่พึงประสงค์ และยังป้องกันสายเคเบิลจากการรบกวนที่รั่วออกมาจากสายเคเบิลอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อสายเคเบิลอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงด้วยในขณะเดียวกัน…ซึ่งนั่นคือ สิ่งที่ได้กระทำกับสายเคเบิลของ RSX™ Technologies

ปัญหาเกี่ยวกับสายเคเบิล 

…ตามหลักการแล้วสายเคเบิลของเราจะต้อง “ไม่ทำอะไรเลย” สายเคเบิลแค่ว่าย้ายสัญญาณ หรือ นำพาพลังงานจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเท่านั้นเอง แต่ทว่า ในความเป็นจริงนั้นไซร้ ปรากฏว่า พูดง่ายกว่าทำมาก ปัญหาอย่างหนึ่งที่เคยจัดการในสายเคเบิลแบบเดิมคือ ผลกระทบจากการคายประจุแบบคาปาซิทีฟ (Capacitive Discharge Effects) เนื่องจากฉนวนที่ใช้กันทั่วไป วัสดุฉนวนต่างๆ (Insulating Materials) จะดูดซับและกระจายพลังงานในปริมาณและอัตราที่ต่างกันไป สายเคเบิลนั้นไม่เพียงแต่ทำตัวเองเป็นดั่งเสาอากาศเท่านั้น แต่ยังทำตัวเองเป็นเสมือนตัวเก็บประจุ (Capacitors) อีกด้วย ลองนึกย้อนกลับไปเมื่อเรายังเป็นเด็ก เราจะเป่าลูกโป่ง ถูมันบนพรม แขนเสื้อ หรือ ศีรษะของเรา แล้วก้อประหลาดใจว่า เส้นผมบนศีรษะของเรา ถูกดึงดูด ยกขึ้นจากหนังศีรษะ และพุ่งชี้ไปที่บอลลูน…จากการศึกษา ปรากฏว่า ทั้งลาเท็กซ์ (Latex) และพีวีซี (PVC) มีสิ่งที่เรียกว่า “ค่าไดอิเล็กตริกคงที่สูง” (High Dielectric Constant) ซึ่งทั้งลาเท็กซ์ (Latex) และพีวีซี (PVC) จะกักเก็บประจุไฟฟ้าไว้เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับมวลของมัน

      วกกลับมาที่บอลลูน…หลังจากถือบอลลูนไว้ข้างศีรษะหลายวินาที เส้นผมก็จะค่อยๆ ตกลง กลับสู่สภาพเดิม ในขณะที่บอลลูนจะกระจาย (Dissipate) พลังงานที่สะสมไว้ออกไป สิ่งนี้เรียกว่า “อัตราการถ่ายโอนค่าประจุ” (Dump-Rate) ยิ่งอัตราการถ่ายโอนค่าประจุเร็วเท่าไร วัสดุก็จะกระจายประจุที่เก็บไว้เร็วขึ้นเท่านั้น…ก็แล้วสิ่งนี้ใช้อธิบายได้กับสายเคเบิลอย่างไร? สายเคเบิลมาตรฐานส่วนใหญ่ ได้รับการหุ้มฉนวนด้วยวัสดุที่มีค่าคงที่ไดอิเล็กทริกสูง (High Dielectric Constant) และอัตราการถ่ายโอนค่าประจุต่ำ (Low Dump-Rate) ซึ่งนั่นนับว่า เป็นสิ่งเลวร้ายเลยเชียวละ…ลองจินตนาการถึงคลื่นไซน์ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Sine Wave) ที่วิ่งผ่านสายไฟที่หุ้มฉนวน 

https://positive-feedback.com/wp-content/uploads/2023/10/Sine-wave-.jpg

AC Sine Wave

      กระแสสัญญาณจะเริ่มต้นที่ค่าแรงดัน (เป็นโวลต์) แล้ววนวงรอบขึ้นและลง (Cycle up-and-down) นับเป็นสิบครั้ง-ร้อยครั้ง- พันครั้ง-หมื่นครั้ง จนถึงหลายๆ หมื่นครั้งต่อวินาทีตามค่าความถี่สัญญาณ (Frequency) ต่ำ หรือ สูง จากค่าแรงดันบวกสูงสุดลงไปที่ค่าแรงดันลบต่ำสุด จากนั้นกลับสู่ศูนย์เพื่อเริ่มรอบถัดไป เมื่อเริ่มต้นวงรอบ (เฟส 0◦) แรงดันไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากศูนย์ไปเป็นค่าสูงสุด (เฟส 90◦) ในเวลาเดียวกัน ฉนวนสายเคเบิลก็มีประจุบวกด้วย ปริมาณประจุที่สายเคเบิลก่อเกิดนั้นขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้

      เมื่อคลื่นไซน์ถึงประจุบวกสูงสุด แรงดันไฟฟ้าจะลดลงไปยังจุดประจุต่ำสุดที่เป็นลบ ผ่านครึ่งทางของการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเป็นลบ กระแสจะผ่านจุดศูนย์ หรือ Zero-point (ตอนนี้อยู่ที่ 180◦ ของเฟส) เมื่อแรงดันไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นลบ สายเคเบิลที่มีประจุบวกจะมีพลังงานประจุส่วนเกินอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องกระจายออกไป สิ่งที่ตรงกันข้ามจะดึงดูด และกระแสไฟฟ้าที่ถูกเก็บไว้ในสายเคเบิลระหว่างครึ่งวงจรบวกของคลื่นไซน์จะถูกปล่อยกลับลงบนสายเคเบิล ดังนั้นปริมาณประจุค่าไดอิเล็กตริกคงที่ (Dielectric Constant) และความเร็วของการปล่อยประจุ (Dump-rate) จึงเป็นสิ่งที่เราควรสนใจ

     ผลลัพธ์เป็นอย่างไร?…มีอยู่ 2 สิ่ง : ประการแรก ระหว่างครึ่งวงจรประจุบวก กระแสไฟฟ้าจำนวนเล็กน้อยจะถูกดูดซับเข้าไปในสายเคเบิล สิ่งนี้จะบิดเบือนคลื่นไซน์เล็กน้อย เนื่องจากกระแสที่ไหลเข้าสู่สายเคเบิลไม่ได้ถูกส่งไปยังปลายด้านไกลของสายเคเบิล ประการที่สอง ในระหว่างครึ่งวงจรประจุลบ กระแสไฟฟ้าที่เก็บไว้นั้นจะถูกระบายลงบนสายเคเบิล ซึ่งจะทำให้ความบริสุทธิ์ของคลื่นไซน์ลดน้อยลงไปอีก สรุปแล้วก็คือ การชาร์จ (Charging) และการคายประจุ (Discharging) ของวัสดุไดอิเล็กทริกในฉนวนของสายเคเบิล ซึ่งจะบิดเบือนคลื่นไซน์ (Sine Wave) และทำให้เกิดฮาร์โมนิกและเสียงรบกวน

การแก้ไขปัญหา

        สำหรับสายเคเบิล Benchmark Series ใหม่ล่าสุดของ RSX จัดการกับปัญหาเหล่านี้ โดยใช้ฉนวนใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งมีค่าไดอิเล็กทริกคงที่ต่ำ (Low Dielectric Constant) และอัตราการถ่ายโอนค่าประจุสูง (High-dump Rate) ดังนั้นสายเคเบิล Benchmark Series จึงไม่ดูดซับ หรือ กักเก็บประจุมากนักตั้งแต่แรก และประจุที่เก็บไว้จะกระจายไปแทบจะทันทีเมื่อแรงดันไฟฟ้าข้ามจุดศูนย์ (Zero-Point) จากประจุบวก (Positive Charge) ไปเป็นประจุลบ (Negative Charge) ในระหว่างรอบไฟฟ้ากระแสสลับแต่ละรอบ (Cycle) ผลลัพธ์สุทธิคือ การเบี่ยงเบนเล็กน้อยในรูปของคลื่นไซน์ (Sine Wave) จากปลายด้านหนึ่งของสายเคเบิลไปยังปลายสายอีกด้านหนึ่ง 

       นี่จึงเชื่อว่า จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของสายเคเบิลประสิทธิภาพสูงในราคาที่สมเหตุสมผล เทียบกับสมรรถนะที่ดีเยี่ยม …ไม่น่าแปลกใจเลยที่ทีมงานของ Roger Skoff (RSX™ Technologies, Inc.) ได้รับรางวัล Writers’ Choice และ Brutus Awards มากมายจาก Positive Feedback อีกทั้ง Audiokey Reviews ยังมอบรางวัล Diamond ระดับสูงสุด (Highest Diamond Award) ให้แก่ RSX ซึ่งนับเป็นครั้งแรกสำหรับสายเคเบิลที่ได้รับรางวัลนี้

คุณลักษณ์

ER-61 Speaker Cables

      สายลำโพงที่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Benchmark Series ของ RSX ที่มีคุณสมบัติ Low Dielectric Constant & High “Dump Rate” Dielectrics อันโดดเด่นแบบเดียวกับสายเคเบิลในกลุ่มนี้ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ RSX ยังได้ระบุว่า ใช้หลักการ Field-Balanced Technology ทำให้ ‘ER-61’ มีประสิทธิภาพเหนือกว่าสายลำโพงอื่นๆ ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ Roger Skoff ได้เลือกสรรตัวนำทองแดงแกนเดี่ยว ผลึกยาว (Long Crystal Solid-Core Copper Conductors) ระดับพรีเมียมที่มีค่าความบริสุทธิ์สูง ขนาดหน้าตัด 11+AWG (American Wire Gauge) นี่เองที่ ‘ER-61’ จึงดูรูปลักษณ์บึกบึนกว่าใครๆ ในระดับเดียวกัน (แต่ยังยืดหยุ่นตัว ดัดโค้งได้ง่าย) จัดเรียงการพันสายตัวนำในแบบ Litz-variant Geometry พร้อมด้วย Low-kappa-Factor ที่แตกต่างกันใน 3 รูปแบบ ควบคู่การใช้ขั้วเสียบสายแบบ BFA (Z-style) Banana Plugs คัดสรรมาโดยเฉพาะไม่มีสภาพแม่เหล็ก ชุบเคลือบทองอย่างดี เพื่อความทนทาน เพิ่มพื้นที่สัมผัส และลดความต้านทานต่อการเสียบต่อ ส่งมอบผลลัพธ์ทางเสียงที่ดียิ่งขึ้น

ผลการรับฟัง

       ในทันทีที่ผมได้ฟังเสียงซิสเต็มซึ่งมีเจ้า ‘ER-61’ ทำหน้าที่เป็นสายลำโพงส่งผ่านมายังลำโพงที่รับฟัง บอกได้เลยครับว่า-ต่าง- จากเสียงที่ได้รับจากสายลำโพงรุ่นดังที่ What Hi-Fi? Thailand ใช้งานประจำการอยู่มากทีเดียวครับ อันนี้เรียนกันตามตรงนะ… ‘ER-61’ ทำให้เรารับรู้ได้ถึง “ความเปิดโปร่ง” ขึ้นอีกระดับ จนสามารถ “จับ” ได้ถึงรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยๆ ที่แม้จะแผ่วเบาแต่ก็แจ่มชัด แยกแยะเสียงนั้นเสียงนี้ได้ชัดเจน ไม่มีคลุมเครือ รวมไปถึงความสดสะอาด ใสกระจ่าง และเปิดโปร่งมากจริงๆ เฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดช่วงปลายเสียงสูงๆ รับรู้ได้ถนัดหูในละอองอณูเสียงของแอมเบียนต์อันพละพลิ้ว กระจายตัว และทอดตัวยาวไกล ก่อนจะค่อยๆ จางหายไปอย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมด้วยความกระชับ กระฉับกระเฉงในจังหวะจะโคนอันแม่นยำ ยิ่งฟังยิ่งเพลิน 

       ทั้งนี้ ‘ER-61’ ไม่ได้ให้เสียงที่สดใส สว่างไสว จนฉูดฉาด (Bright) หรือว่า หนาจนเข้มข้น ทึมทึบ (Dark) แต่มันเป็นเสียงที่มีความกลมกล่อม ด้วย ‘Tonal Balance’ ที่สมส่วนดีมากๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังฟังเสียงนั้นเสียงนี้อย่างสมจริงสมจัง เป็นเสียงจากชิ้นดนตรีของจริงที่เรากำลังรับฟังอยู่ตรงหน้า เรียกได้ว่า ‘ER-61’ ส่งมอบเสียงจำเพาะของ Timbre ได้เที่ยงตรงมาก ทำให้เรา “อิน” เข้าไปในเพลงที่กำลังรับฟังอยู่นั้น พร้อมทั้งนำเสนอบรรยากาศเสียง (Atmosphere) ที่เหมือนเราเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรับฟังจากบันทึกการแสดงสดจะให้ความรู้สึกสมจริงมากๆ สามารถจำแนกระยะห่างจากกันของชิ้นดนตรีที่มีความเหลื่อม ไม่ซ้อนทับ-ปนเปกัน ท่ามกลางระยะถอยลึกเข้าไปในเวทีเสียงเป็นชั้นๆ-มันเหมือนมีเวที หรือ Stage กลายๆ ในบรรยากาศคั่นอยู่ตรงกลางระหว่างตัวเรากับการแสดงดนตรีที่เรากำลังรับฟังอยู่กระนั้น เสียงคนปรบมือที่แผ่กระจายอยู่โดยรอบ ก็ถอยห่างอยู่ตำแหน่งลึกสุดของเวทีเสียง ราวกำลังเห็นอาการปรบมือกันอยู่ไหวๆ มันทำให้เรารู้สึกสนุก มีส่วนร่วมในขณะรับฟัง-ทั้งยังให้รายละเอียดเสียงที่ซ่อนอยู่ในเพลงที่เราฟังได้ชนิด-น่าขนลุกเลยก็ละกัน

       ‘ER-61’ ยังให้สเกลเสียงที่มีขนาดสมจริง รับรู้เป็นตัวเป็นตน ไม่เข้มจนใหญ่เกินจริง หรือ เพรียวบางจนผิดธรรมชาติ ฟังเพลงจากแนวอะคูสติกนี่ยิ่งประทับใจครับ เพราะทั้งกังวานและเอิบอิ่มในฮาร์โมนิกเสียง ช่วงปลายเสียงสูงๆ พละพริ้วดีจริงๆ และทอดยาวไปไกลสุดกู่ ไม่มีอาการห้วน หรือโรยตัวจางลงห้วนๆ ทู่ๆ ส่วนทางด้านไดนามิกก็กริ๊บกรั๊บฉับไว แต่ไม่เกรียวกราดจนเข็ดฟัน ท่ามกลางความอบอุ่น อิ่มเอิบของเนื้อเสียง ‘ER-61’ โดดเด่นอย่างมากในด้านความสดใส โปร่งกระจ่าง ควบคู่กับเนื้อเสียงเอิบอิ่ม เนียนนุ่ม ละมุนละไม รวมถึงความชัดเจนของทรานเชียนต์ (Transient) อันเยี่ยมยอด เสียงแต่ละเสียงมีน้ำหนัก มีมวลเสียงกลมมนเป็นตัวเป็นตนให้ได้รับรู้ ไม่โหวงเหวง เวิ้งว้าง ความผุดโผล่ของเสียงแต่ละเสียงล้วนฉับไว-ทันทีทันใด และระบุทิศทางที่มา หรือ ตำแหน่งแห่งที่ของเสียงแต่ละเสียงได้อย่างแน่นอนในวงเวทีเสียงที่รับฟัง แม้ในเสียงที่เกิดขึ้นซ้อน-แทรกพร้อมๆกัน ก็ยังสามารถจับตำแหน่งของแต่ละเสียงนั้นได้ ไม่ถูกเบียดบัง หรือ ถูกกลบเกลื่อนจนเลือนหาย (กลมกลืน) ไป

       ‘ER-61’ สามารถให้ “ความเด่นลอย” ของเสียงหลักที่ถูกจำแนกแยกออกมาจากพื้นเสียง (Background) ทั้งๆ ที่ “พื้นเสียง” นั้นก็ดูจะเข้มขึ้นกว่าธรรมดาในขณะเดียวกัน พูดได้ว่า  ‘ER-61’ ให้ Noise Floor ที่ต่ำมาก จนสามารถรับฟังได้ถึงรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยๆ ที่แม้จะแผ่วเบาแต่ก็รับรู้ได้ถนัดชัดหู เสียงทุกเสียงที่รับฟังมีความสว่าง “กระจ่าง” ขึ้น สำแดงถึงความฉับพลันทันใดของเสียงที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ในขณะที่เสียงแต่ละเสียงนั้น มีความอิ่มฉ่ำ มีห้วงอารมณ์ความรู้สึกของดนตรีที่กำลังรับฟัง ทั้งยังให้ความเป็นธรรมชาติของเสียงแต่ละเสียงที่บังเกิดขึ้นมา-อย่างมีชีวิตชีวาและมีลมหายใจ…มันเป็นลักษณะเสียงที่มีตัวตน เป็นเสียงที่มี “วิญญาณ” สมจริง ฟังแล้วเคลิบเคลิ้มไปกับเสียงเพลงและดนตรีที่กำลังรับฟัง แม้กระทั่งการออกเสียงอักขระภาษาที่นักร้องเปล่งออกมานั้นก็ “สมจริงมาก” ในแบบฉบับเฉพาะตน เปี่ยมความเป็นธรรมชาติอย่างที่เราได้ยินได้ฟังการเปล่งเสียงนั้นออกมาจากปากมนุษย์จริงๆ กระนั้น 

       ในส่วนของช่วงย่านเสียงต่ำก็รับรู้ถึงน้ำหนักเบสที่แผ่ใหญ่ ทรงพลัง ให้เรี่ยวแรงปะทะ และแผ่บาน-กระจายตัว มีจังหวะจะโคนที่ชัดเจน ได้ยินเสียงเหยียบกลองกระเดื่อง เป็นจังหวะตึ๊กๆ ซ้อนอยู่ในเสียงเบสบึ๊กๆ ที่แน่นเป็นลูกๆ หนักหน่วง ทว่ากระชับและแม่นยำในจังหวะท่วงท่า ได้อารมณ์สนุกคึกคัก และยังลงไปได้ลึกเท่าที่ตัววูฟเฟอร์ในลำโพงของคุณจะตอบสนองได้จริงๆ ครับ…ยิ่งฟัง…ยิ่งรักครับ สำหรับ ‘ER-61’ เฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ฟังกับแนวเพลงอะคูสติก, เพลงร้อง และแจ๊ส รวมทั้งคลาสสิก

สรุปส่งท้าย

        ความสุดยอดของ ‘ER-61’ ซ่อนตัวอยู่ในเส้นสายที่อาจดูธรรมดาๆ ไม่ได้วิลิศมาหราในรูปลักษณ์ จนทำให้ผมนึกรักชนิดถอนตัวไม่ขึ้น (จริงๆ นะครับ) นอกเหนือจากในเรื่องของ “Tonal Balance” ที่มีความกลมกลืนกัน ไม่กด (Dip) หรือ ยก (Boost) กระทั่งไม่เน้น หรือ แต่งเติม-เสริมที่ช่วงย่านใดเป็นพิเศษ เพื่อสร้างลักษณะเสียงให้โดนใจ หรือ สะดุดหู รู้สึกถึงความสดใสในไดนามิกในแบบ Crispy Sound ซึ่งอาจจะน่าตื่นเต้นเมื่อแรกฟัง แต่ครั้นฟังไปนานๆ จะรู้สึกล้าหู-เหนื่อยที่จะฟัง จนต้องพักแล้วค่อยกลับมาฟังใหม่ จึงจะรู้สึกเร้าใจ แต่สำหรับ ‘ER-61’ แล้วไซร้…เสียงแต่ละเสียง ล้วนอิ่มฉ่ำ ฟังสบายหู ทั้งยังรับรู้ได้ในรายละเอียดระยิบระยับ ควบคู่กับการให้ “เนื้อเสียง” ที่มีความกลมมนเป็นตัวเป็นตน มีห้วงอารมณ์ความรู้สึกของดนตรีที่กำลังรับฟัง 

      ใครที่ชอบสไตล์เสียงกลมมน ครบชัดในรายละเอียด ให้ลักษณะเสียงที่เป็นตัวเป็นตนสมจริง (ราวมีวิญญาณ), เปี่ยมในความอบอวลของสภาพบรรยากาศ แต่ให้ไดนามิกได้ปรู๊ดปร๊าดไม่เฉื่อยช้า, ให้ท่วงท่า-จังหวะจะโคน (Pace&Time) ที่มีความน่าฟัง ไม่หน่วงหู, สดกระจ่างแต่ไม่โปร่งบาง, บ่งบอกรายละเอียดได้ระยิบระยับราวกับยกการแสดงดนตรีที่กำลังฟังนั้นเข้ามาเล่นอยู่ตรงหน้าเรา, เบสหนักแน่นแต่ไม่อับทึบ ตอบสนองได้ล้ำลึกถึงก้นบึ้ง, ช่วงย่านเสียงสูงทอดยาวไกล ฟังพละพลิ้ว ระรื่นหู…สรุปได้ว่า “น่าทึ่ง” มาก-น่าประทับในทุกๆ อย่างที่รับฟังนั่นแหละครับ สำหรับ ‘ER-61’ ของ RSX

ขอขอบคุณ : บริษัท ออดิโอ เอ็กซ์เซลล์เลนซ์ จำกัด โทร.02-631-5376-9

ที่อนุเคราะห์ผลิตภัณฑ์ในการทดสอบครั้งนี้