แผ่นเสียงเพลงไทย…แผ่นเสียง เพลงแผ่นดิน

0

พงษ์ชัย  ไทยวรรณศรี

คนไทยในยุคผม ได้รับการอบรมสั่งสอนให้รักชาติ รักแผ่นดิน ภาคภูมิใจในการเกิดมา เป็น

”คนไทย”

เริ่มจากการเรียนกลุ่มวิชา สังคมศึกษา จะมีการแยกเป็นวิชา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม ชัดเจน

ในวิชาประวัติศาสตร์ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย การต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินของบรรพบุรุษไทยซึ่งนำโดยพระมหากษัตริย์

วิชาภาษาไทย แบบเรียนชั้นประถมศึกษา ก็มีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติไทยมาแทรกไว้ให้นักเรียนได้เรียนรู้ เช่น  หนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษา หลักสูตรการศึกษา พ.ศ. ๒๕๐๓ มีเรื่อง นายสุดจินดา ศึกถลาง อะแซหวุ่นกี้ พันท้ายนรสิงห์ นายขนมต้ม ปะขาวขันเพชร  ฯลฯ

แม้แต่ในวิชาขับร้อง ครูก็จะสอนให้ร้องเพลงปลุกใจ อย่างเพลง ต้นตระกูลไทย แหลมทอง รักเมืองไทย ฯลฯ

วิทยุกระจายเสียงจะมีการเปิดเพลง ปลุกใจ เพลงรักชาติ ทุกวัน จนคนฟังคุ้นเคย

ในเรื่องของความบันเทิง ภาพยนตร์ และเพลงจะสอดแทรกเรื่องความรักชาติ รักแผ่นดินไทยไว้ตลอด

สิ่งเหล่านี้ ทำให้คนรุ่นผมได้ซึมซับกับความยากลำบากของบรรพบุรุษที่เอาเลือดเนื้อเอาชีวิต และความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้เพื่อรักษา “แผ่นดิน” เพื่อให้ลูกหลานไทย ได้มีที่อาศัยในถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ที่เรียกว่า “แผ่นดินทอง” แห่งนี้

ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ในช่วงเวลานั้น ประเทศของเราอยู่ในสภาวะไม่ปกติ  เกิดการก่อการร้ายของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่มีมหาอำนาจหนุนหลัง เพื่อหวังยึดครองประเทศไทย แล้วเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

มีทั้งการก่อการร้ายที่ใช้วิธีปั่นหัว ยุแหย่ ให้คนไทย “แบ่งฝ่ายรบกันเอง” และทั้งการรบที่ใกล้เคียงกับสงครามเต็มรูปแบบ อย่างกรณีที่ตาพระยา โนนหมากมุ่น ชายแดนไทยกัมพูชา กรณีพิพาทที่บ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ชายแดนลาว

คนไทยที่ร่ำรวยหลายครอบครัว เตรียมหอบทรัพย์สิน และพร้อมจะ “ทิ้งแผ่นดิน”เอาตัวรอดไปเสวยสุขในประเทศตะวันตก เพราะเชื่อในทฤษฎี “โดมิโน” ที่ว่า เมื่อใดที่ประเทศรอบบ้านของไทยล้ม ประเทศไทย และใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะล้มตามไปด้วย

เมื่อ เวียดนาม ลาว กัมพูชา พ่ายแพ้แก่คอมมิวนิสต์  โดมิโนตัวที่จะล้ม ต่อไปคือ ประเทศไทย

เป็นบุญของคนไทย ที่เรามี “ในหลวง” เป็นศูนย์รวมใจให้เรารัก เราสามัคคีกัน โดยรัฐบาลได้ใช้ทั้งกลยุทธ์การเมือง การทหาร และการต่างประเทศ จนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ กระทั่งในที่สุดประเทศหัวหน้าค่ายสังคมนิยมอย่าง สหภาพโซเวียต ต้องแตกเป็นหลายประเทศ หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ต้องปรับรูปแบบทางเศรษฐกิจ มาใช้แนวทางบางส่วนแบบ “ทุนนิยม” กลายมาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้

ในวันที่ต้องอยู่บ้าน ช่วงที่ประเทศของเรากำลังอยู่ในวิกฤตกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVIC – ๑๙) และความขัดแย้งทางสังคมระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ผมค้นหาแผ่นเสียงเพลงเก่าๆ ที่สะสมไว้มามาฟัง พบเพลงที่ มีคำว่า “แผ่นดิน” อยู่หลายเพลง

ผมเปิดเพลงเหล่านั้นฟังอย่างตั้งใจ เพื่อเติมเต็มเพิ่มพลังใจ ให้ระลึกถึง บุญคุณแผ่นดิน ทั้งๆ ที่ฟังมาหลายสิบปีแล้ว ดูเหมือนความไพเราะและความซาบซึ้งจะทวีมากขึ้น

ฟังแล้ว ก็อยากจะเล่าถึงความเป็นมาและข้อคิดให้ท่านผู้อ่านทราบ

เพลงที่มีคำว่า “แผ่นดิน” จากแผ่นเสียง ซึ่งมีพบว่ามีเพลงแผ่นดินของเรา แผ่นดินทอง ดังไร้แผ่นดิน แผ่นดินไทย  แผ่นดินหอม และกล่อมแผ่นดิน


เริ่มจากเพลง แผ่นดินของเรา

เพลงแผ่นดินของเรา ที่มีชื่อซ้ำกันอย่างน้อย ๔ เพลง คือ เพลงพระราชนิพนธ์แผ่นดินของเรา แผ่นดินของเรา ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ แผ่นดินของเรา จากผลงานของ สง่า อารัมภีร และอาจินต์ ปัญจพรรค์ และแผ่นดินของเรา ของสุรพล โทณะวณิก

แผ่นดินของเรา

แผ่นเสียงเพลงแผ่นดินของเรา แผ่นแรก เป็นเพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ขับร้องหมู่ ผมไม่ทราบวัน และเวลาที่แต่งเพลง แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นช่วงก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ หรือ พ.ศ. ๒๕๐๐ ต้นๆ อยู่ในแผ่นเสียงลองเพลย์ของบริษัทกมลสุโกศลชุด “แผ่นดินของเรา โดยชาวคณะสุนทราภรณ์” แผ่นเสียงกมลสุโกศล หมายเลขแผ่น ๓๓ SLP-๗๐๗ ปกเป็นภาพวาดหญิงชาวนาครึ่งตัวสวมงอบ ในมือโอบรวงข้าว ฉากหลังเป็นภาพท้องนา ควาย ลอมฟาง เจดีย์และหลังคาโบสถ์ เพื่อสื่อให้เห็นความเป็นไทย แผ่นเสียงแผ่นนี้ใช้ตราสุนทราภรณ์ หน้าสีส้ม            

                                          เพลงแผ่นดินของเรา

หนึ่งแดนแคว้นฤทัย                 กว้างไกลไปทุกทาง

โอ้ดินฟ้ากาสาวภรณ์พราง                    ช่างสวยสล้างพร่างพรพราว

โน่นแนวแพรวพฤกษ์ไพร            ดอกใบไกวหวิววาว 

นั่นนาขวัญนอนฝันโลมเดือนดาว             หนุ่มสาวอุแม่เจ้าคร้าวตา

หล้าฟ้าอาถรรพณ์อันร่มรื่น         ช่างล้วนชวนชื่นชมหล้าฟ้า

ชีวีนี่นา                                        พอเปิดตาเห็นมามันศรัทธาฟ้าแดนใจ

แผ่นดินนี่ของเรา                    ร่มเงานี่ของไทย   

แผ่นดินนี้เรานี้มีภูมิไชย                       ร่ำรักเรานี่ให้รักเมือง

แผ่นดินของเรา อีกเพลงหนึ่งผลงานทำนอง โดย สง่า อารัมภีร คำร้องโดย อาจินต์ ปัญจพรรค์ แผ่นดินของเราฉบับนี้ เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง สะท้านป่า ของประทีป โกมลภิส เป็นเพลงที่ปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งความรักแผ่นดิน ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง อยู่ในแผ่นเสียงตราโคลัมเบีย ของบริษัทกมลสุโกศล ชุด “ชุมนุมเพลงจากภาพยนตร์ไทย” หมายเลขแผ่น ๓๓ COL.๙๒๑

แผ่นเสียงแผ่นนี้ รวมเอาเพลงจากภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมมาทำเป็นแผ่นเสียงลองเพลย์  ปกแผ่นใช้พื้นสีชมพู บอกชื่อชุด ว่า ชุมนุมเพลง จากภาพยนตร์ และใช้ภาพฟิล์มภาพยนตร์ประดับ ในแต่ละเฟรม มีภาพพระเอกนางเอกภาพยนตร์ชื่อดัง เช่น มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์, ไชยา สุริยัน, พิสมัย วิไลศักดิ์, สมบัติ เมทะนี, เกชา เปลี่ยนวิถี ฯลฯ ด้านล่างบอกชื่อผู้ขับร้อง คือ สุเทพ ชรินทร์ ธานินทร์ เพ็ญศรี สวลี จินตนา ซึ่งเป็นนักร้องยอดนิยมในช่วงนั้น

ชรินทร์ นันทนาคร ร้องเพลงแผ่นดินของเราด้วยวิญญาณแห่งความรักแผ่นดิน ถ่ายทอดออกมาอย่างไพเราะจนจับจิตจับใจ

บทเพลงสั้นๆ ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของแผ่นดิน “…ลำธารแมกไม้ โบกกิ่งใบไล้โลมเลี้ยวชีวิน โอ้ดินหนอดิน คือแหล่งทำกินจนสิ้นใจ …”

          และอยากตะโกนก้องฟ้าด้วยความภาคภูมิใจให้ใครๆ รู้ว่า นี่คือแผ่นดินของเรา นี่คือแผ่นดินของไทย  

แผ่นดินของเรา

แผ่นดินของใคร                      ลมไพรโปรดถามหัวใจของข้า

สะท้านก้องดังใครร้องมา                      ลั่นฟ้าสะเทือนไปถึงดิน

ลำธารแมกไม้                        โบกกิ่งใบไล้โลมเลี้ยงชีวิน

โอ้ดินหนอดิน                                 คือแหล่งทำกินจนสิ้นใจ

แผ่นดินของเรา                      ใจเรา … คร่ำครวญร้องไปไม่หวั่น

สะท้านสั่นสะเทือนถึงกัน                     ช่วยกัน  ส่งแรงเป็นแสงไสว

แดนดินถิ่นทำกิน                    โอ้แผ่นดินนี้ข้ารักจับใจ

แผ่นดินของใคร แผ่นดินของใคร             ของไทย เรานี่แหละเอย

ผมฟังเพลงนี้ครั้งใด ใจจะเต็มตื้นด้วยความภาคภูมิใจที่เกิดมาในแผ่นดินไทย ขณะเขียนถึงเพลงนี้ได้ยกมือไหว้ ระลึกหัวใจอันยิ่งใหญ่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักชาติ รักแผ่นดิน ของท่านผู้แต่ง สองศิลปินแห่งชาติซึ่งจากเราไปแล้ว  ที่ได้มอบเพลงอันไพเราะทรงคุณค่าไว้ให้แก่คนไทย 

ภาพยนตร์เรื่อง สะท้านป่า สูญหายไปแล้ว แต่เพลงยังอยู่  เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ บริษัทบางกอกคาสเสท ในนามแม่ไม้เพลงไทย ได้นำเพลงแผ่นดินของเรา มาจัดทำเป็นซีดี อยู่ในซีดีแม่ไม้เพลงไทย ชรินทร์ นันทนาคร ชุด “จำพราก บังบาน รักข้ามขอบฟ้า แผ่นดินของเรา” หมายเลขแผ่น CD ๑๔๖

ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ห้างเมโทรแผ่นเสียง ออกลองเพลย์ ชุด “ธานินท์ อินทรเทพ ปริญญาชาวนา ขุดทองกลับบ้าน” ออกมา

ธานินท์ คือการเขียนใหม่ของคำว่า ธานินทร์ ที่ตัดตัว “ร์” ออกไป เพื่อเคล็ดบางอย่าง ซึ่งผมต้องขอเขียนชื่อเดิมคือ ธานินทร์  อินทรเทพ ซึ่งเป็นที่คุ้นตามากกว่า

ปกแผ่นเสียงเป็นภาพของธานินทร์ในชุด เสื้อยืดสีแดง สวมทับด้วยเสื้อยีน สวมกางเกงยีนส์สะพายกระเป๋าเดินทางสีน้ำตาล สวมรองเท้าหนังสีดำอันเป็นแฟชั่นของผู้ที่เดินทางไปทำงานที่ตะวันออกกลางในสมัยนั้น ปกหลังใช้พื้นสีเข้มโทน มีภาพกิ่งไม้แห้งเป็นฉากหลัง

มุมซ้ายด้านบน มีกรอบสีเหลือง ภาพนก และตัวหนังสือว่า ฟ้าดนตรี  STEREO และบอกหมายเลขแผ่นว่า SA-MT-๐๐๑ ด้านขวา เป็นตัวพิมพ์บอกชื่อผู้ขับร้อง คือ ธานินท์ อินทรเทพ ตามมาด้วยชื่อเพลงเอกเขียนด้วยลายมือของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ว่า “ปริญญาชาวนา vs ขุดทองกลับบ้าน” ถัดลงมาบอกรายชื่อผู้สร้างสรรค์เพลงคือ สง่า อารัมภีร, อาจินต์ ปัญจพรรค์, น.ต.ปรีชา เมตไตรย์, ร่วมประดิษฐ์ ๑๒ เพลงใหม่ เพลงแนวหยาดเหงื่อลูกทุ่ง น.ต.ปรีชา เมตไตรย์ เรียบเรียงเสียงประสาน

ปกหลังเป็นภาพของ ธานินทร์  ในชุดเสื้อเชิ้ตขาวสวมสูทสีแดงเลือดนกทับ กางเกงสีเหลืองนวล เกาะเก้าอี้มีสัญลักษณ์ของแผ่นเสียง และชื่อเพลงเอกเหมือนปกหน้า

เพลงแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเพลงแนวชนบทที่พรรณนาความงามของแผ่นดินไทย หญิงไทย แฝงไปด้วยปรัชญาชีวิต และกลุ่มที่ ๒ เป็นเพลงที่พรรณนาถึงชีวิตของคนไทยที่ต้องไปทำงานที่ประเทศในตะวันออกกลางซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น

แผ่นเสียงชุดนี้ออกมาพร้อมกับเทปคาสเซ็ทซึ่งกำลังได้รับความนิยม เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๒๔

อาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าไว้ในหนังสือ “ชีวประวัติอาจินต์ ปัญจพรรค์” ถึงที่มาของการจัดทำแผ่นเสียงชุดนี้ ว่า

“…หลายปีต่อมา ผมยังได้มีโอกาสทำสิ่งที่รักด้วยความสุขอีกครั้งหนึ่ง ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ธานินทร์  อินทรเทพ ก็ร่วมมือกับพี่แจ๋ว (สง่า อารัมภีร) คิดทำเพลงให้ห้างเมโทรของคุณวรชัย ธรรมสังคีติ แล้วเขาก็มาชวนผมแต่งเนื้อ คราวนี้ผมแต่งคนเดียวหมดทั้งแผ่น ชื่อชุดว่า “ปริญญาชาวนา” มี ๑๒ เพลง คือปริญญาชาวนา, สงกรานต์น้ำตา, ผู้ชนะคือควาย, แผ่นดินหอม, แม่โพสพสังสรรค์, เทพธิดานุ่งผ้าซิ่น, นิราศทะเลทราย, ขุดทองกลับบ้าน, ชมนางนา, แผ่นดินของเรา, แม่พิม-ดาวสุพรรณ และกล่อมนิทรา ปรีชา เมตไตรย์คนเดิม เป็นผู้ควบคุมดนตรี งานนี้ธานินทร์เขาตกลงกับห้างเมโทรว่าให้แบ่งเป็น ๓ หุ้น นายห้าง และเขาคนละหนึ่งหุ้น พี่แจ๋วกับผมผู้แต่งทำนอง และเนื้อรวมหนึ่งหุ้น พี่แจ๋วเอาเพลงโบราณมาดัดแปลง วันเลี้ยงแนะนำเพลงชุดนี้ที่โรงแรมนิวอมรินทร์ตรงที่ปัจจุบันเป็นโรงแรมสยามซิตี้มีเพื่อนๆ มาจากทุกวงการผมได้รับคำชมเชยจากพี่เปรื่อง หรือ ป. ชื่นประโยชน์ … ตอนที่ผมชอบมากคือตอนที่ว่า…กั้นฝาด้วยป่าดง..ไปจนจบมันเป็นคำที่ผมคิดขึ้นมาได้ แล้วผมก็ภูมิใจของผมคนเดียว เพลงอื่นบางเพลงในชุดนี้ เป็นเพลงที่ผมเคยแต่งไว้ตามที่ต่างๆ ก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้อัดลงแผ่นเสียงรวมกันไว้ ผมก็เอามาให้ธานินทร์ร้องรวมกันในคราวนี้ คือเพลง แผ่นดินของเราที่เคยเป็นไตเติ้ลหนังเรื่องสะท้านป่าของประทีป โกมลภิส เพลงแม่พิมพ์-ดาวสุพรรณก็เคยแต่งให้เป็นไตเติ้ลหนังอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมลืมทั้งชื่อหนัง และชื่อเจ้าของหนังไปแล้ว และอีกเพลงคือเพลงกล่อมนิทรา เป็นเพลงที่ผมแต่งให้ถนัดศรีร้องมาก่อนโดยใช้ทำนองเพลงลมพัดชายเขา ถนัดศรีเคยร้องอัดแผ่นเสียงรวมกับเพลงที่คนอื่นๆ แต่งมานานแล้ว…”

ธานินทร์ อินทรเทพ ร้องเพลงแผ่นดินของเรา ได้ไพเราะเช่นกัน ชรินทร์ นันทนาคร

เพลงชุดนี้นี้ไพเราะละเมียดละไม ทั้งคำร้องทำนอง ดนตรี และเสียงขับร้อง  การบันทึกเสียงก็ทำได้ดี

ผมซื้อเทปคาสเซ็ทเพลงชุดนี้ ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ ปกเทปเหมือนกับปกแผ่นเสียง สำหรับซีดี บริษัทโรต้าได้รับอนุญาตมาจากบริษัท เมโทรแผ่นเสียงเทป มาผลิตในชุด “ปริญญาชาวนา” หมายเลขแผ่น SC-๐๒๑ ผมได้มาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ อีกแผ่นหนึ่งเมโทรนำมาจัดทำซีดีเอง หมายเลขแผ่น MTCD-๒๐๐๘


แผ่นดินของเรา

เพลงต่อมา ผลงานของ สุรพล โทณะวณิก  ซึ่งนำทำนองเพลงสากล   EXODUS มาใส่เนื้อไทย ขับร้องโดย มีศักดิ์ นาครัตน์ 

Exodus แปลว่า การอพยพ โดยธรรมเล่มที่สองในพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม กล่าวถึงการอพยพครั้งใหญ่ที่โมเสสผู้นำ ได้พาชาวยิว ลูกหลานแห่งอดัม ผู้ถูกพระเจ้าขับไล่จากสรวงสวรรค์ อพยพหนีจากการกดขี่ของชาวอียิปต์ ไปที่แผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ชื่อ คานาอัน

Leon Uris นำเรื่องราวการก่อตั้งประเทศอิสราเอล มาแต่งหนังสือชื่อ เอ็กโซดัส (Exodus) ภาคภาษาไทย แปลโดย ธนิต ธรรมสุคติ ซึ่งปกหลังหนังสือกล่าวว่า   

“… โดยกลุ่มคนที่ต้องพลัดพรากจากกันเป็นเวลากว่าสองพันปี เพราะโดนต่างชาติเหยียบย่ำ ในการกลับคืนถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของตนนั้น คนเหล่านี้ต้องประสบอุปสรรคนานาประการทั้งจากประเทศมหาอำนาจที่กดขี่ข่มเหง โหดร้าย ไร้ศีลธรรม แล้วยังต้องเผชิญภยันอันตรายถึงชีวิต จากการเล่นงานโดยคนอีกกลุ่มที่ไม่ต้องการให้กลุ่มนี้มาอยู่ในดินแดนแห่งนี้ คนกลุ่มนี้คือ ชาวยิว เพียงหยิบมือเดียว จึงต้องสู้…สู้จนถึงที่สุด! เพราะไม่มีที่ไปอีกแล้ว…ที่รัสเซียก็โดนกลั่นแกล้งข่มเหง…ที่ยุโรป ฮิตเลอร์กับพวกนาซีก็หมายทำลายล้างไปจากพื้นโลกของชาวยิวที่เชื่อมโยงกับการอพยพในพระคัมภีร์ (Exodus) เพื่อให้หลุดพ้นจากการถูกกดขี่ที่ผ่านมานับพันปี

รอการวนเวียนล้างแค้นบนความเกลียดชังอย่างไม่สิ้นสุด

ยังคงเป็นรอยเลือดที่หลั่งนองบนดินแดนศักดิ์สิทธิ์

สงครามโลกครั้งที่สองได้จบลงไป ด้วยความตายของชาวยิวกว่าหกล้านชีวิต แต่ความเกลียดชังก็ยังคงอยู่…เพราะอะไร? ทำไมชาวยิวจึงเป็นที่ถูกเกลียดชัง? หนังสือเล่มนี้มีคำตอบของเรื่องราวที่ผ่านมานับพันๆ ปี…”

นวนิยายเรื่องนี้ ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นำแสดงโดย พอล

 นิวแมน มีเพลงประกอบซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือเพลง THE EXODUS SONG หรือ THIS lAND IS MINE ขับร้องโดย แพตบูน

This land is mine, God gave this land to me

This brave and ancient land to me

And when the morning sun reveals her hills and plain

Then I see a land where children can run free

So take my hand and walk this land with me

and walk this lovely land with me

Though I am just a man , when you are by my side

With the help of God, I know I can be strong

Though I am just a man, when you are by my side

With the help, of God, I know I can be strong

To make this land our home

If I must fight, I’II fight to make this land our own

Until I die, this land is mine  

แผ่นดินของเรา 

แผ่นดินของเราย่อมเป็นของชาติไทย ใกล้ไกลย่อมเป็นของชาติไทย

เลือดไทยไหลโลมลงดิน  ใครหมิ่นศักดิ์ศรีคนไทย ย่อมมีสักวันให้ไทยล้างใจอัปรีย์

แผ่นดินของเราย่อมเป็นของเราอยู่ดี ที่ใดย่อมเป็นของเราอยู่ดี

หากเชือดเฉือนไปคราใด ย่อมแสนหวั่นไหวชีวี ปฐพีแหลมทองช่วยกันคุ้มครองป้องกัน

สักวันต้องคืนกลับมา มั่นใจเถิดหนาขอพลีชีวารักษาชาติไทย

ชาติไทยคู่ฟ้าเลือดทาแผ่นดิน

ผู้ขับร้อง คือ มีศักดิ์ นาครัตน์ ซึ่งเป็นนักร้องเพลงประเภทตลกขบขัน เพลงแปลง แต่เมื่อมาร้องเพลงประเภทปลุกใจ เช่น แผ่นดินของเรา เสียงทุ้มมีพลังของมีศักดิ์ ก็สามารถสะกดผู้ฟังให้ซาบซึ้งกับบทเพลงได้เป็นอย่างดี

เพลงแผ่นดินของเรา แต่งขึ้นในระหว่างประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๑๘  สมัยที่เมืองไทยเราเคยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งของคนในชาติครั้งใหญ่ โดยมีนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีอุดมการณ์บริสุทธิ์ในการต่อต้านการความไม่เป็นธรรมในสังคม การปกครองแบบเผด็จการ และถูกปราบปรามจากทางราชการ จนต้อง “หนีเข้าป่า” ไปเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย 

เกิดสงครามแย่งชิงประชาชน มีการก่อการร้าย ซึ่งทางการได้ส่งทหารตำรวจเข้าปราบปราม เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อของพี่น้องไทยกันเองมากมาย

ศึกครั้งนี้จึงได้คลี่คลายและยุติลงด้วยนโยบายการต่างประเทศ และการปรองดอง ให้ผู้หลงผิดเข้ามาร่วมพัฒนาบ้านเมือง ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน

ผมเติบโตในช่วงสถานการณ์นั้น  

ในช่วงการใช้กำลังเข้าปราบปราม ทางราชการได้ใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจกับประชาชน  ในขณะที่ “สหาย” ฝ่ายซ้ายก็ใช้สงครามจิตวิทยาช่วงชิงมวลชน เช่นกัน

ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายตรงข้าม ต่างก็มีเพลงออกมาผ่านสื่อ “วิทยุ” ซึ่งเป็นสื่อที่หาง่าย และเข้าถึงประชาชนมากที่สุด

เพลง แผ่นดินของเรา จึงออกเผยแพร่ในช่วงนั้น 

เพลงแผ่นดินไทย เป็นเพลงที่เตือนจิตสำนึกของคนไทย ให้ระลึกถึงความสำคัญของแผ่นดินไทยที่คนไทยจะต้องปกป้องรักษาด้วยชีวิตเพลงนี้เป็นที่ผู้คนยังจดจำได้เพลงหนึ่ง

เพลงนี้อยู่ในแผ่นเสียง ขนาด ๗ นิ้ว ชุด “สดุดีมหาราชา” ของห้างแผ่นเสียงทองคำ หมายเลขแผ่น SRT ๐๑๖ ปกแผ่นเสียงสวยงามมาก พื้นสีขาว มีริ้วสีธงชาติประดับ ด้านบน และด้านข้าง ตรงกลางเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวงรูปไข่กรอบทอง ประดับคู่กัน ด้านล่างมีชื่อ “สดุดีมหาราชา” สีทอง ตามมาด้วยคำว่า ผลงาน สมาน กาญจนะผลิน / มีศักดิ์ นาครัตน์ นำหมู่

แผ่นเสียงหน้าแรก มีเพลง สดุดีมหาราชา และ เพลง ไทคือไท   สำหรับหน้าสองมีเพลง  แผ่นดินของเรา และแผ่นดินไทย

แผ่นดินของเรา ฉบับนี้ ถูกนำมาขับร้องบันทึกแผ่นเสียงอีกครั้งหนึ่ง โดย สุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อบริษัทนิธิทัศน์โปรโมชั่น  โดย คุณวิเชียร อัศวศิวะกุล มีแนวคิดที่จะนำเพลงไทยสากล และเพลงลูกทุ่ง ยอดนิยมในอดีต มาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ ทำดนตรีให้ทันสมัย และมอบให้นักร้องเดิม ขับร้องบันทึกเสียงใหม่ 

สุเทพ วงศ์กำแหง มีผลงานกับนิธิทัศน์ จำนวน ๔ ชุด

เพลงแผ่นดินของเรา อยู่ในแผ่นเสียง ชุด “สุเทพ วงศ์กำแหง ใจประสานใจ ๒” บริษัท นิธิทัศน์โปรโมชั่น จัดทำขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ปกเป็นภาพ สุเทพ วงศ์กำแหง สวมชุดทักซิโดเหลือง ยืนตรงบันได เรียบเรียงเสียงแประสาน และผสมเสียง โดย ศรายุทธ สุปัญโญ บันทึกเสียง ซีเอสตูดิโอ และ เอ็ม เอ็ม สตูดิโอ

สำหรับซีดีอยู่ในชุด สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด “๑๒ เพลง อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล ชุดที่ ๓” หมายเลขแผ่น NT ๐๐๐๗ SOLAR HOUSE จัดจำหน่าย แผ่นนี้ผลิตในเยอรมันนี ผมซื้อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙


แผ่นดินทอง

แผ่นดินทอง เพลงแรก เป็นผลงานของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง โดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ขับร้องโดย สุวนีย์ เนื่องนิยม อยู่ในแผ่นเสียงชุด “ดาวรุ่งสุนทราภรณ์” หมายเลขแผ่น SMS – ๑๐๔ ห้างแผ่นเสียงเมโทร ผลิตจำหน่ายประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๓ ตราแผ่นเสียงใช้พื้นขาว ตรงกลางเป็นวงกลมมีภาพ ครูเอื้อ สุนทรสนานสวมสูท มีอักษรอยู่ในวงกลมล้อมรอบอีกชั้นหนึ่งว่า “ดาวรุ่งสุนทราภรณ์” รอบๆ ขอบแผ่นเสียงมีวงกลม ๑๒ วง แต่ละวงปรากฏภาพนักร้อง ๑๒ คน มีดาวห้าแฉกกั้นระหว่างภาพ

แผ่นเสียงใช้ตรา สุนทราภรณ์สีเหลืองอักษรขาว

แผ่นเสียงชุดนี้ได้นำเพลงเก่า และเพลงที่แต่งใหม่ ให้นักร้อง ดาวรุ่ง ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ขับร้อง  ดาวรุ่งสุนทราภรณ์เกิดขึ้นเพราะวิสัยทัศน์ของครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่ต้องการสร้างนักร้อง

ให้ต่อเนื่อง ช่วงที่ท่านก่อตั้งโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี ก็ได้นักร้องนักเรียนส่วนหนึ่งมาเป็นนักร้องของวงดนตรีสุนทราภรณ์

สุวนีย์ เนื่องนิยม ดาวรุ่งสุนทราภรณ์ เป็นที่รู้จักของนักฟังเพลง จากเพลงแผ่นดินทอง

ชอุ่ม ปัญจพรรค์ เขียนไว้ในหนังสือ “คอนเสิร์ต ๘๐ ปี ชอุ่ม ปัญจพรรค์” ว่า “.. แต่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระตุ้นประชาชน รู้จักทำมาหากิน” เพลงบทแรกเริ่มจากการกล่าวถึงดอกไม้นานาพันธุ์ ที่ “งามสวยอยู่ด้วยดิน” ก่อนจะสรุปถึง ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทยอย่าง ว่า “แผ่นดินทอง ของไทยเนืองไปด้วยทรัพย์สิน ข้าวในนา ปลาในหนอง ทองในดิน ใครรู้หากินไม่อดเอย”

แผ่นดินทอง

งามไม้ดอกต่างสีชวนชม             รื่นอารมณ์เพลินใจ

กุหลาบพะยอมหอมไกล                       หงอนไก่ซ่อนกลิ่นทานตะวัน

มะลิหอมฟุ้งจรุงรื่น                  บานชื่นรักเร่เหหัน

จำปา จำปีมะลิวัลย์                           พันธุ์ไม้นั่น งามสวยอยู่ด้วยดิน

แผ่นดินทอง                         ของไทยเนืองไปด้วยทรัพย์สิน

ข้าวในนา ปลาในหนอง ทองในดิน           ใครรู้หากินไม่อดเอย

ภายหลัง ชรัมภ์ เทพชัย นำมาขับร้องในแผ่นเสียงชุด “ชรัมภ์ เทพชัย ร้องเพลงอมตะของสุนทราภรณ์ ขอพบในฝัน”หมายเลขแผ่น MRT-๑๒๑ เพิ่ม คล้ายบรรเลง เรียบเรียงเสียงประสาน ห้างแผ่นเสียงเมโทร-เทป จัดจำหน่าย ตราแผ่นเสียงใช้ตรานางฟ้าเมโทรบนพื้นแดง ปกแผ่นเสียงเป็นภาพวาด ชรัมภ์ เทพชัย สวยงามมาก ผู้วาดภาพ คือ ทวินันท์ คงคราญ แผ่นดินทองฉบับ ชรัมภ์ เทพชัย อยู่ในซีดีของบริษัทเมโทรแผ่นเสียง-เทป (๑๙๘๑) จำกัด ชุด “สานตำนาน สุนทราภรณ์ ๓๐ ชุด ชื่นชีวิต โดย ชรัมภ์ เทพชัย อุมาพร บัวผึ้ง ” หมายเลข MTCD-๗๐๓๐   

แผ่นดินทองอีกฉบับหนึ่ง ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ อยู่ในแผ่นเสียงขนาด ๗ นิ้ว ชุด “แผ่นดินทอง ธานินทร์ อินทรเทพ” แผ่นเสียงสตาร์เรคคอร์ด หมายเลข S.T.๐๑๓ ปกเป็นภาพวาด ธานินทร์ สวมชุดทักซิโด้สีน้ำตาลน้ำตาล  ผมไม่มีข้อมูลผู้แต่ง

เพลงแผ่นดินทอง

ธรณีนี่นี้ นะหรือ           แม้ดินเท่ากำมืออย่าให้ใครยื้อแย่งเอาไป

สามัคคีเถิดน้องพี่จงร่วมใจ          จะเหมือนอาทิตย์ดวงใหญ่  เด่นลอยคว้างกลางอัมพร

แผ่นดินทองของเรานี้      ธรณีเมืองมารดร

         บ้านเกิดและเมืองนอน               ใครราญรอนสู้ยิบตา

รังสี ระวีส่อง               ทะเลทองทั่วท้องนา

         สาดส่องพสุธา                        อาบอุราอยู่เป็นนิจ

หยาดเลือดหยาดน้ำตา    สองแขนข้ายอมอุทิศ

         ศัตรูกล้ามาพิชิต                      พลีโลหิตทาแผ่นดิน

รักเดียวใจเดียวมั่น         รักยอดขวัญปานชีวิน

         รักชาติยอมขาดดิ้น                   รักท้องถิ่นแผ่นดินทอง รักท้องถิ่นแผ่นดินทอง

ธานินทร์ อินทรเทพ ขับร้อง อยู่ในแผ่นเสียงขนาด ๗ นิ้ว ชุด “แผ่นดินทอง ธานินทร์ อินทรเทพ” แผ่นเสียงสตาร์เรคคอร์ด หมายเลข S.T. ๐๑๓ ปกเป็นภาพวาด ธานินทร์ สวมชุดทักซิโด้สีน้ำตาล แผ่นเสียงหน้าแรก คือเพลง แผ่นดินทอง หน้าสอง เพลงฝากใจไปรบ ขับร้องโดย จินตนา สุขสถิตย์ จากเพลง ฝากใจไปรบ ซึ่งมีเนื้อหาให้กำลังใจคนรักที่จะไปรบ โดยเปรียบกับนักรบไทยกับ “จงอาง” และวรรคสุดท้ายเป็นการอวยชัย “ให้คืนถิ่นแผ่นดินทอง” นั้น พออนุมานได้ว่า เป็นการให้กำลังใจทหารไทยที่ไปรบในสงครามเวียดนาม ดังนั้นแผ่นเสียงแผ่นนี้น่าจะผลิตในช่วง ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๑๕ 

เพลงแผ่นดินทอง ฉบับนี้  เริ่มจากการนำโคลงของศรีปราชญ์ มาเกริ่นนำ เนื้อหาของเพลงเป็นการกล่าวถึงการพลีชีพรักษาแผ่นดินของบรรพบุรุษไทย และไพเราะน่าฟังว่า เสียดายที่เพลงนี้มีมีการนำมาจัดทำเป็นซีดี เพลงจึงสูญไปจากตลาดเพลง


ดังไร้แผ่นดิน

เพลงดังไร้แผ่นดิน ผลงานคำร้องทำนอง ของ พยงค์ มุกดา ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร

ชรินทร์ นันทนาคร ร้องเพลงของครูพยงค์ มุกดา ไม่มากนัก แต่ทุกเพลงได้รับความนิยม เช่น เพลงเด็ดดอกรัก ช่อทิพย์รวงทอง รอยรักรอยเจ็บ สันติธรรม หากว่ารักเป็นศาสนา สัญญาสวาท และเมื่อเพลงประเภท สตริงคอมโบเริ่มเข้ามาในวงการเพลงไทย ครูพยงค์ มุกดา ก็ได้แต่งเพลงแนวสตริงคอมโบ จากทำนองเพลงสากลที่กำลังได้รับความนิยมมาใส่เนื้อร้องไทยให้ ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง  ๒  เพลง คือเพลง เหตุใดฉันรักเธอ ทะเลสำราญ  วงดนตรี พี.เอ็ม. พ็อกเก็ตมิวสิค

ดังไร้แผ่นดิน

ลาแล้วแก้วตา              แก้วตา นิจจาเจ้า

จากเรือนจากเหย้า                  จากเงาร่มไม้ชายคา

จากแม่พระธรณี           ดังราชสีห์จากพง…ป่า

จะมีเพียงน้ำกับฟ้า                   อีกทั้งน้ำตา เป็นเพื่อนคะนึง

เมื่ออยู่มิห่วงอาลัย         เมื่อไกลซิกลับคิดถึง

กลิ่นไอที่เคยซึ้ง                      ยังตราตรึงซึ้งทรวงดวงมาลย์

สิ้นบุญและบารมี           เพียงแค่นี้ เพราะกรรมบันดาล

ถึงต้องพลัดถิ่นสิ้นบ้าน             ซุกซ่อนซมซาน ดังไร้แผ่นดิน

ชรินทร์ นันทนาคร เล่าถึงที่มาของเพลงนี้ ใน “ชรินทร์ อินคอนเสิร์ต ในฝันอัศจรรย์แห่งรัก” เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ว่า 

“…บทเพลงที่ไพเราะ ล้ำค่า นอกจากจะมีเนื้อหาสาระที่ดีแล้ว บาทบทเพลงนึกถึงเมื่อใด

ชวนให้สะท้อนใจรู้สึกว่าเราดีใจ เราภูมิใจ เราดีใจที่มีบทเพลงเหล่านี้อยู่  มีอยู่อีก ๑ บทเพลงสะท้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เราจะเรียกว่า นักปฏิวัติ ได้มาร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากนั้นท่านก็ได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าประเทศไทยควรจะก้าวไปข้างหน้าตามวิถีทางของโลกาภิวัฒน์ท่านมีความรู้สึกว่าเมืองหลวงของเรานี้ ในอนาคตจะคับแคบ ก็มีดำริว่าจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เพชรบูรณ์ จากนั้นมาท่านก็จะเริ่มปฏิวัติวัฒนธรรม ผู้ชายจะต้องนุ่งกางเกง มีสวมหมวก เพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน และอีกอย่างหนึ่งการนุ่งโจงกระเบนจะเสียเวลามากมาย เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว และความเป็นระเบียบเรียบร้อย ท่านก็คิดหลายสิ่งหลายอย่าง นอกจากนั้นยังมีการปฏิรูประบบการปกครองหลายๆ อย่างใหม่ๆ ขึ้นมา…วันเวลาเริ่มเปลี่ยนไป ทางออกของนักปฏิวัติมี ๒ ทาง คือ พลัดนาคาที่อยู่ หรือไม่ก็ถูกยิงตาย ครับวันที่ ๑๖กันยายน ๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ประกาศรัฐประหารยึดอำนาจ ท่านต้องหนีจากกรุงเทพฯ ไปที่จังหวัดตราด ที่จังหวัดตราดท่านต้องนั่งเรือน้อยไปกัน ๒ คน กับคนขับเรือ ท่ามกลางสายฟ้า สายฝน และมรสุมที่รุนแรง ภาพของเรือน้อยลำหนึ่งแล่นไปตามกระแสน้ำที่เชี่ยว ปั่นป่วนด้วยลมมรสุมและสายฝนที่รุนแรง เป็นภาพที่ประทับใจของผู้ติดตาม และได้นำมาเล่าให้นักประพันธ์เพลงท่านหนึ่ง นักประพันธ์เพลงท่านนั้นชื่อ ครูพยงค์ มุกดา ได้เขียนเพลงๆ นี้ขึ้น ท่านเขียนชวนให้เราระลึกถึง ภาพที่เรือน้อยพาท่านผู้นี้ออกไปไกลแสนไกล ท่านผู้นี้ชื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และเพลงนี้คือเพลง ดังไร้แผ่นดิน

หนังสือ “ ๖ จอมพล ยุคระบอบประชาธิปไตย” เขียนโดย ศรีพนม สิงห์ทอง บันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า

“… หนังสือพิมพ์ที่ติดตามข่าวการหนีของจอมพล ป.พิบูลสงครามไปถึงจังหวัดตราด รายงานข่าวว่า ขณะที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปส่งที่เกาะกงแล้วกลับมายืนยันกับนักข่าวว่า ขณะที่จอมพล ป.ฯ ลงนั่งเรือเรียบร้อย เตรียมออกสู่ทะเล ได้พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นเป็นกังวานว่า ต่อไปนี้ชีวิตผมมีแต่น้ำกับฟ้า…

เพลง ดังไร้แผ่นดิน อยู่ในแผ่นเสียง ลองเพลย์ชุด “รักแท้ ชรินทร์ นันทนาคร”ของห้างแผ่นเสียงคาเธย์ ตรามงกุฎ หมายเลขแผ่น CTR. ๒๓๑ หน้า ๒ เพลงที่ ๒ เสียงของชรินทร์

นันทนาคร ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่ “ไร้แผ่นดิน” ไพเราะ เศร้าสร้อย แต่แฝงด้วยความทะนงองอาจ

บทเพลงแรก คือ การกล่าวลาคนซึ่งเป็นที่รัก ครูพยงค์ ท่านใช้คำเปรียบเทียบว่า “ดังราชสีห์จากพงป่า” ราชสีห์ คือ จ้าวแห่งพงไพร หมายถึงการมีอำนาจราชศักดิ์ ราชสีห์จากป่าก็เหมือนกับคนที่สิ้นอำนาจ

จะมีเพียงน้ำกับฟ้า คือคำที่นำมาจากคำกล่าวของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยครูพยงค์ ท่านได้เพิ่มว่า “อีกทั้งน้ำตาเป็นเพื่อนคะนึง”

มีแต่น้ำกับฟ้า และน้ำตาที่ตกอยู่ในใจ….

         น้ำกับฟ้า คำที่สะท้อนออกมาจากหัวใจของบุรุษเหล็ก ผู้ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านเกมการเมือง ที่ เคยกระทำ ถูกกระทำ จากเกมการเมืองและการช่วงชิง

การเมืองสร้างคนให้ยิ่งใหญ่ และผลักคนให้ลงความจากความยิ่งใหญ่นั้น เหลือไว้แต่ “ผลงาน” และ “คุณค่า” ที่บันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์

“สิ้นบุญ และบารมี เพียงเท่านี้เพราะกรรมบันดาล ถึงต้อง “พลัดถิ่น สิ้นบ้าน ซุกซ่อน และ ซมซาน สรุปรวมว่า ดังไร้แผ่นดิน” เป็นบทสรุปของนักปฏิวัติ นักการเมืองมาแล้วหลายคน

เพลงดังไร้แผ่นดิน อยู่ในซีดีแม่ไม้เพลงไทยชุด “รักแท้” ชรินทร์ นันทนาคร หมายเลข

CTCD ๐๐๐๖ และซีดีแม่ไม้เพลงไทย แผ่นเสียงเดิม น่าสะสม ชุด ๓๙ “ลาทีความรัก นักร้องขวัญใจประชาชน ชรินทร์ นันทนาคร ทั้งแผ่น”


แผ่นดินแม่

          เพลงแผ่นดินที่ไพเราะมากอีกเพลงหนึ่ง คือ เพลง “แผ่นดินแม่” จากภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน

ใบปิดภาพยนตร์เรื่องนี้  เขียนว่า 

          “นับตั้งแต่คนไทย รู้จักกับคำว่า ภาพยนตร์ไทย ยังไม่เคยมีครั้งใด จะยิ่งใหญ่มโหฬารเท่า

ชรินทร์ นันทนาคร เสนอ แผ่นดินแม่ ภาพยนตร์ ๗๐ เพื่อ ๗๐ ม.ม. สมบูรณ์แบบเรื่องแรกของประเทศไทย…

… ๓ ปีที่เพียรสร้าง จึงมโหฬารสุดพรรณนา แผ่นดินแม่ บนแผ่นดินเมืองบุญแห่งนี้ มีหรือจะแล้งความเมตตา เมื่อสร้างผลกรรมดี มีหรือความดีจะไม่ตอบสนอง แม่ … ผู้ยืนหยัดอยู่ด้วยหยาดเหงื่อ ลำแข้ง และแรงกาย จึงได้รับความรักและความเห็นใจอย่างสะเทือนแผ่นดิน … มหึมาทั้งภาพ และเสียง…

… ลูกโง่ แม่ก็รัก ลูกชั่ว แม่ก็ห่วง ถ้าจะโง่ ก็ขอให้โง่อยู่กับแม่ แม่จะหันหน้ารับกับเหตุการณ์ทุกด้านเอง แผ่นดินแม่ แม่ … ผู้ไม่เคยเรียกหาความยุติธรรม จึงได้รับการเห็นใจอย่างคับคั่ง ทั้ง  อินทรา เฉลิมไทย ในระบบ ๗๐ เพื่อ ๗๐ รอบทิศ…

… เธอคือเผ่าพันธุ์ของฉัน เธอคือดวงใจของฉัน เธอคือคนไทย และไทยคือประเทศของฉัน

แผ่นดินแม่ ระบบ ๗๐ เพื่อ ๗๐ เสียงรอบทิศ ชรินทร์ นันทนาคร ขอประกาศศักดิ์ศรีของแผ่นดินไทย เสาร์ ๑๒ ก.ค. นี้ พร้อมกันที่อินทรา เฉลิมไทย สามย่าน “

ภาพยนตร์เรื่องแผ่นดินแม่ คือความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ไทยในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นำแสดงโดย  สมบัติ เมทะนี เพชรา เชาวราษฏร์ มานพ อัศวเทพ บานเย็น รากแก่น ศักดิ์สยาม เพชรชมพูเอก อัมรินทร์ ดวงใจ หทัยกาญจน์ ทัต เอกทัต รพีพร สร้างเรื่อง ส.อาสนจินดา สร้างบท

ผมได้เรื่องย่อของภาพยนตร์มาจาก เว็บไซต์ “THAIFILM” จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่เพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ไทย

เรื่องย่อของ “แผ่นดินแม่” มีว่า

“แผ่นดินแม่ คือเรื่องราวของชีวิตคนไทย ในแบบไทยๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ของประเทศมีความเชื่อมั่นว่า ฟ้า และดินจะอวยชัยให้พรเสมอ สำหรับคนที่มีความรักต่อแผ่นดินเกิดหลายต่อหลายครั้งที่แผ่นดินแม่แห่งเดียวกันนี้ต้องกลายเป็นที่ซับเลือด และน้ำตา เมื่อคนไทยต่อคนไทยกันเองจับอาวุธเข้ารบพุ่งกัน…  และแล้วโชคก็เดินทางมาสู่แผ่นดินแม่ ด้วยความหวัง และเต็มพลังของคนหนุ่มเพื่อที่จะได้พบกับแม่ ผู้ที่โชคถือว่าเป็นพระเจ้าองค์เดียวของชีวิต ทุกก้าวเท้าโชคเหยียบลงไปบนแผ่นดินแม่ ช่างเต็มไปด้วยความหวัง โอ้แม่ … แผ่นดินอันมหาศาลของลูก … อนิจจา

สามชีวิต พ่อ-แม่-ลูก จะได้พบกันบนแผ่นดินแห่งความรัก ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา หรือว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ชรินทร์ นันทนาคร รับรองได้แต่เพียงว่า 

ตราบสายธารแห่งสัจธรรมค้ำแผ่นดินแม่

ท่านจะซึ้งถึงรักแท้ของแม่ไทย”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เพชรา เชาวราษฏร์ รับบท “แม่” ซึ่งเป็นตัวแทนของแม่ไทยที่รักลูก รักแผ่นดิน รักความยุติธรรม ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตการแสดงของเธอ

แผ่นดินแม่ ได้รับการต้อนรับจากแฟนภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างมาก ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ได้รับรางวัล ถ่ายภาพยอดเยี่ยมจากงานมหกรรมภาพยนตร์เอเชียแปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่กรุงโซล เกาหลีใต้

สำหรับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ เพลงประกอบก็ต้องไพเราะยิ่งใหญ่ อลังการเช่นกัน

เพลงแผ่นดินแม่ แต่งทำนองโดย สง่า อารัมภีร คำร้องโดย ชาลี อินทรวิตร ซึ่งทั้งคู่เคยร่วมกันสร้างเพลง “เรือนแพ”ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “เรือนแพ” ให้  ชรินทร์ นันทนาคร จนได้รับความสำเร็จอย่างสูงสุดมาแล้ว

สง่า อารัมภีร กับ ชาลี อินทรวิวิตร  สองศิลปินแห่งชาติในกาลต่อมาได้บรรจงสร้างสรรค์เพลง  แผ่นดินแม่  ออกมาอย่างยิ่งใหญ่

บูรพา อารัมภีร บุตรของครู สง่า อารัมภีร เล่าถึงเพลงแผ่นดินแม่ไว้ในหนังสือ “เบื้องหลังเพลงรัก สง่า อารัมภีร (๒)” สำนักพิมพ์เพื่อนดี จัดจำหน่าย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ว่า

ชรินทร์ นันทนาคร ผู้สร้างภาพยนตร์ ครูชาลี อินทรวิจิตร ได้มาร่วมกันแต่งเพลงแผ่นดินแม่ ที่บ้านครูสง่า อารัมภีร ประมาณ ๒ – ๓ คืน เพลงจึงเสร็จสมบูรณ์ตามที่ตั้งใจไว้

“…ท่านทั้งสามอยู่ด้วยกันตรงหน้าเปียโนซึ่งก็จัดไว้เป็นห้องรับแขกไปในตัวด้วย ถ้าใครง่วงก็สามารถหลับได้ตรงโซฟาใหญ่ ซึ่งการหลับนอนนั้นผมจะเห็นบ้างเหมือนกันในช่วงตอนเช้าๆ ของวันรุ่งขึ้น เพราะทุกท่านทำงานมาตลอดทั้งคืน แต่ทั้งสามท่านก็ยังช่วยกันคิด ช่วยกันจด ช่วยกันแก้ไขแต่งเติมให้เป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่ ให้ออกมาไพเราะสมกับชื่อของเพลง ชื่อภาพยนตร์ให้ได้ ผมจำได้ว่า เพลงนี้ใช้เวลาแต่งที่บ้านพ่ออยู่หลายคืนเหมือนกัน…”

แผ่นดินแม่

แผ่นดินเหมือนดังแม่เราเฝ้ากรุณา    แม่จ๋าทุกข์ยากลูกมาขอแม่กิน

ลูกจะพลิกดินไว้ลงข้าวกล้า   

ด้วยแรง … สองมือแห่งเราข้าวเต็มท้องนา   ไม่ช้าน้ำบ่าจากเหนือล้น

เจิ่งนอง  ถึงเดือนสิบสองตั้งท้องแข่งกัน

มนต์รักลอยละล่องไปในฟ้าแจ่ม  บัวแย้มต้อนรับตะวัน  แต้มความรัก

ให้เธอและฉัน  ฝากฝันให้ดวงใจเป็นสุขเสมอ

แผ่นดินเหมือนดังชาติไทยยิ่งใหญ่นะเออ  รักกันเน้อ  เสมอแม่เดียวกัน

ทุกแห่งหน  …  ขอความสุขล้นคนทั้งแผ่นดิน  

ประยงค์ ชื่นเย็น บรรจงเรียบเรียงเสียงประสานเพลงแผ่นดินแม่ ได้อย่างยิ่งใหญ่ อลังการเพื่อสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในแผ่นดินไทยของเรา

เพลงแผ่นดินแม่อยู่ในแผ่นเสียงลองเพลย์ “รวมเพลงจากภาพยนตร์ รักข้ามคลอง” ซึ่งบริษัท อี เอ็ม ไอ ประเทศไทย จัดทำขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๔  หมายเลขแผ่น EMGS ๗๐๕๔ ซึ่งแผ่นเสียงแผ่นนี้ได้รวบรวมเพลงไพเราะของ ชรินทร์ นันทนาคร ในยุครุ่งเรืองก่อนที่จะหยุดพักการร้องเพลง จำนวน ๑๐ เพลง มาจัดทำเป็นแผ่นเสียง หลายเพลงมาจากภาพยนตร์ เพลงเหล่านี้เป็นเสียงร้องและดนตรีเดิมที่ ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้องไว้ได้ยอดเยี่ยมที่สุด เช่นเพลง แผ่นดินแม่, ลูกเจ้าพระยา, รักข้ามขอบฟ้า, รักข้ามคลอง, แอ่วดอกเอื้อง, คู่พเนจร, สะพานรัก, สู้, ชีวิตต้องสู้, ลมหายใจนี้เพื่อรัก

เพลงชุดนี้ได้มีการทำเป็นเทปออกจำหน่ายในระยะเวลาเดียวกัน และเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ก็ได้นำมาทำเป็นเทปออกจำหน่ายอีกครั้งหนึ่ง แต่เปลี่ยนชื่อชุดจาก “รวมเพลงจากภาพยนตร์ รักข้ามคลอง” มาเป็น “อมตะปีทอง ชรินทร์ นันทนาคร

เพลงชุดนี้ยอดเยี่ยมทั้งคำร้อง ทำนอง การขับร้อง การทำดนตรี และการบันทึกเสียง  

ฟังเพลงแผ่นดินแม่แล้ว ผมเข้าใจถึง ความรู้สึกของผู้แต่งที่ต้องการจะสื่อกับผู้ฟังในเรื่องของ ความรักแผ่นดิน  แผ่นดินแม่ กล่าวถึงคนไทยที่เคารพแผ่นดิน เหมือนกับแม่ผู้ให้กำเนิด

แผ่นดินให้อาหาร ให้ชีวิต ให้วิญญาณแก่มนุษย์  โดยเฉพาะ  แผ่นดินไทยที่ให้ “ข้าว” เลี้ยงคนไทยและคนทั้งโลกอยู่ในวันนี้

ขอเพียง “ด้วยแรงสองมือแห่งเรา” และความตั้งใจ “ข้าว” ก็จะเต็มท้องนา          ตอนท้ายของเพลง เตือนใจคนไทยให้คิดถึง ความรักความสามัคคี เพราะเรามีแม่คือแผ่นดินไทยเราผืนเดียวกัน


แผ่นดินของไทย

เพลงนี้ เป็นเพลงแนวปลุกใจ อยู่ในแผ่นเสียงขนาด ๗ นิ้ว ชุด “สดุดีมหาราชา” แผ่นเดียวกับเพลง แผ่นดินของเรา ผู้แต่งคำร้อง คือ สมัย อินทรอุดม ทำนองโดย ประดิษฐ์ โรหิตตาจล เป็นเพลงขับร้องหมู่ เพลงนี้เป็นเพลงที่รู้จักกันดีในยุคนั้น เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทย และความสุขของคนไทยซึ่งได้รับจากศาสนา และพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งใช้ สีแดง เป็นสัญลักษณ์เข้ามา ความสุขก็คนไทยก็หายไป ดังนั้นคนไทยต้องจับมือกันขับไล่ “ลัทธิอันธพาล” ให้พ้นไป

         จังหวะมาร์ช มีเสียงปรบมือประกอบจังหวะ ฟังแล้วให้อารมณ์คึกคักอยากจะจับอาวุธเข้าโรมรันกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

แผ่นดินไทย

ถิ่นนี้คือแหลมทอง                   ทรัพย์เนืองนองของเราเผ่าไทย

ไร่นาเขียววิไล                                 ประชาไทยรักเพียงชีวา

ศาสนาดังฝนฉ่ำ                     พุทธธรรมน้อมนำสุขพา

อีกพระองค์พระราชา                         ขวัญชีวาฟ้าเบิกบาน

สุขสราญชีวี                          ชาติเรามีเสรีมานาน

แต่แดงมีใจพาล                               คิดรุกรานแผ่นดินไทย

อย่าให้มันราวี                       อย่าให้มีปวงภัย

อธิปไตย                                       ของเราไทยใครอย่ารุกราน

หากแม้นแดงแฝงเข้า                ผองไทยเราก็คงแหลกลาญ

อกตรมและซมซาน                            สุขสราญมลายไปสิ้น

ต้องรักในเสรี                        สามัคคีรักแดนแผ่นดิน

ตั้งใจหาทำกิน                                 ทรัพย์ในดินฟ้าประทาน

เหล่าร้ายลัทธิชั่ว                     แสนเมามัวมิพึงต้องการ

หากแดงหมายรอนราน                       เหล่าคนพาลซิจงระวัง

จักพร้อมกันรุกไล่                    ผองเราไทยทุกคนเกลียดชัง

ผึ้งรวงหวงรัง                                  เหมือนดังเราหวงแผ่นดิน

สุขสราญชีวี                          ชาติเรามีเสรีมานาน

แต่มีแดงใจพาล                               คิดรุกรานแผ่นดินไทย

อย่าให้มันราวี                       อย่าให้มีปวงภัย

อธิปไตย                                       ของเราไทยใครอย่ารุกราน


แผ่นดินหอม

เพลงแผ่นดินหอม ผลงานทำนอง สง่า อารัมภีร คำร้อง อาจินต์ ปัญจพรรค์  ขับร้อง

โดย ธานินทร์ อินทรเทพ อยู่ในแผ่นเสียงลองเพลย์ชุด ”ปริญญาชาวนา” ของห้างเมโทรแผ่นเสียง เหมือนกับเพลงแผ่นดินของเรา เพลงนี้ใช้ลีลาเพลงไทยเดิม งดงามไปด้วยภาษาที่สละสลวย แฝงไว้ด้วยบรรยากาศเศร้าๆ เมื่อนาล่มจากอุทกภัย แต่ชาวนาก็ยังมีความหวัง อาจินต์ ปัญจพรรค์ สรุปไว้อย่างงดงามว่า  “น้ำมาแล้วลาลดไป แผ่นดินมีชัย หอมชื่นใจจริงเอย”

แผ่นดินหอม

ยามเมื่อน้ำท่วมนา ปลาลำพอง     แต่ชาวนาน้ำตานอง

น้ำเอย น้ำสุดสูงล้นทุ่งทอง                    ท่วมในบึงถึงเรือนห้อง เจิ่งลำคลองนองชลธี

เจ้าดวง เจ้าดวงดอกโพสพ          อับเฉาก็เศร้าซบ อยู่ใต้น้ำ ถูกย่ำยี

แข่งขืนขอคืนชีวี                               หัวใจริบหรี่ หมดวิธีป้องกัน

โอ้อกเป็นผง                         จนลง จนลงทุกวัน

ชาวบ้านอย่างฉัน                             ขอตะวันท่านเมตตา

แสงแดดเผาแผดคงคา               เห็นรวงข้าวกล้าโผล่ขึ้นมาร่ำไร   

ฝนมาแล้วลาลับไป                            แผ่นดินมีชัย หอมชื่นใจจริงเอย


กล่อมแผ่นดิน                

        เพลงกล่อมแผ่นดิน ทำนองโดย ปราจีน ทรงเผ่า คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร สำหรับที่มาของเพลงนี้ ครูชาลี เล่าไว้ในหนังสือ “บันเทิง-บางที” สำนักพิมพ์วรรณสาส์น จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ตอน แผ่นดินร้องไห้ ว่า

“…เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกสลาย ธุรกิจทุกอย่างพังวินาศสันตะโร อันเกิดจากผลพวงแห่งค่าเงินบาทลอยตัว โรงง่านอุตสาหกรรมสิ่งทอ และบริษัทใหญ่ๆ ลดเงินเดือน ต่อมาก็ปลดคนงาน ชีวิตคนเหมือนใบไม้ที่ปลิดปลิว ไม่เหลืออะไรเลยอะไรจะเกิดขึ้น และกำลังจะตามมา … ทางออกที่ดีที่สุดไม่ใช่ฆ่าตัวตาย ลดความสุรุ่ยสุร่าย สร้างสีสันแห่งความอดทน ลดทิฐิ อหังการ์ อวดดี มีความพอดี มีขันติ มีมานะความพยายาม หว่านเมล็ดความหวังให้หัวใจ จะท้อแท้เศร้าไปทำไม …

… ผมเขียนเพลง กล่อมแผ่นดิน ไว้ให้คนรักแผ่นดิน รักถิ่นเกิด แถมยังได้หลบหลีกปลีกตัวหนีเศรษฐกิจที่กำลังห้ำหั่น บั่นทอนชีวิตคนทั้งประเทศ ใครเล่าจะซับน้ำตาให้แผ่นดิน ก็ตัวเรานี่แหละ…

กล่อมแผ่นดิน

ตราบเวิ้งฟ้า โค้งรอบครอบแผ่นดิน           ดินมิเคยสิ้นแสงตะวันฉาย

ฟ้าบ่มีน้ำ ดินซ้ำมีแต่ทราย                             ลบให้มันห่างหายสลายไปที

หยาดน้ำใส มิใช่ลวงหลอกตา                 คืนฝนริน หลั่งมาชั่วตาปี

ทุกถิ่นสดใส แมกไม้เขียวขจี                            ทุกคนอยู่ดีกินดี ไปจนชั่วลูกหลาน

ชีวิตมีแสงตะวันฉาย                           ส่องระทมสลาย ส่องหัวใจสราญ

ฟ้าให้ฝน ตกตามฤดูกาล                                สุขกันทุกย่าน ร่มเย็นทุกเหย้า

หมอกหนา ๆ ย้อยมาเยือนหญ้าใบ           ไกลแสนไกล ตะวันเกือบลับเหลี่ยมเขา

ระส่ำในเสียง ซึงซึ้งใจไม่เบา                            เสียงเรไรหริ่งเร้า ราวจะกล่อมแผ่นดิน

ผู้ขับร้องเพลงนี้ บันทึกแผ่นเสียง คือ ชัช เตาปูน ผู้กว้างขวางของเมืองไทย อดีตวุฒิสมาชิก

สุเทพ วงศ์กำแหง เล่าไว้ในหนังสือ “๖๐ ปี ชัชวาลย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สร้างให้เรามาอยู่ที่ตรงนี้   เส้นทางชีวิตจากนักสู้ริมถนน ถึงสภาหินอ่อน” บริษัทสยามรัฐจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ว่า

“เรา-ผมกับชัช เห็นกันมานานตั้งแต่เป็นเด็กที่ตรอกข้าวสาร เคยวิ่งเล่นด้วยกัน … เขาเป็นคนเรียบร้อยน่ารัก แต่ต่อมาก็ห่างเหินกันไป

หลังช่วงที่ผมเป็นนักร้อง พอมีชื่อเสียง แม่ผมก็มาหา บอกให้ช่วยส่งเสริมชัชด้วย เพราะชัชอยากเป็นนักร้อง ฟังร้องดูเขาก็ร้องใช้ได้ แต่ฟังจับใจยังไม่ดี แต่เขาเป็นคนที่มีความสามารถ และเราจะช่วยแก้ไขให้ได้ เขาก็ทำได้ ร้องอยู่พักหนึ่งเขาก็หายไป…”

ชาลี อินทรวิจิตร เล่าไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า

“ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับคุณชัช เกิดขึ้นในแง่ผมแต่งเพลงแล้วคุณชัชเอาไปร้อง แต่ผมมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ใครนะที่ชื่อชัชวาล คงอุดม-เนี่ย เอาเพลงไปร้องแต่เราไม่ได้คิดค่าลิขสิทธิ์นะ แต่เราชมว่า เอ๊ะ-ร้องดีนะ ไม่รู้ว่าเป็นลูกศิษย์ใครหรืออยู่ค่ายไหน เราก็ถามพรรคพวก เขาก็บอกว่า อ้าว-นี่ไงคุณชัชวาล คงอุดม หรือคุณชัช เตาปูน คนนี่แหละ เคยเป็นลูกศิษย์ของสุเทพ (สุเทพ วงศ์กำแหง) เคยติดตามคุณสุเทพ ไปร้องเพลง …”

ชัช เตาปูน อดีตวุฒิสมาชิก ขับร้องเพลงนี้ไว้ในแผ่นเสียงลองเพลย์ ชุด “ชัช เตาปูน บนเส้นทางของฉัน” ผลิตโดย บริษัทนิธิทัศน์โปรโมชั่น จำกัด

ในโอกาส ครบรอบทศวรรษของการจัด ชรินทร์อินคอนเสิร์ต ชรินทร์ นันทนนาคร ได้นำเพลงนี้เป็นชื่อ และเพลงนำใน คอนเสิร์ตที่ชื่อว่า “กล่อมแผ่นดิน” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒

ครับ ทั้งหมดคือเรื่องราวของเพลงแผ่นดินจากแผ่นเสียง


๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๘