Test Report : ROCKPORT TECHNOLOGIES

0

Test Report : ROCKPORT TECHNOLOGIES AVIOR SPEAKER

หัสคุณ

4

            คงจะเป็นที่ยอมรับหรือทราบกันดีว่า ลำโพงนั้นเป็นอุปกรณ์ในระบบเครื่องเสียงที่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนแล้วจะให้ผลความเปลี่ยนแปลงต่อระบบเสียงที่ได้ยินอย่างเห็นผลได้ชัดเจนกว่าอุปกรณ์อื่นใดในระบบเครื่องเสียงไม่ว่าจะเป็นนักเล่นมือเก่าหรือมือใหม่ก็สามารถที่จะจับสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าอุปกรณ์อื่นๆ ในซิสเต็มไม่ว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดสัญญาณอย่างเครื่องเล่นซีดี, เครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือเทิร์นเทเบิ้ล และแอ
มปลิไฟเออร์

นับแต่อดีตในยุคที่ระบบเสียงได้พัฒนาขึ้นมาสู่ระบบ Hi-Fi หรือ High Fidelity นักเล่นนักฟังโดยทั่วไป โดยเฉพาะนักเล่นในอเมริกา ซึ่งมีห้องฟังขนาดใหญ่ จึงมักจะนิยมลำโพงที่มีขนาดใหญ่ที่ใช้วูฟเฟอร์ขนาด 10 ถึง 15 นิ้ว ตามไปด้วย ในยุคนั้นเราจะเห็นลำโพงขนาดใหญ่ในระดับไฮเอนด์ไม่ว่าจะเป็นลำโพงในระดับตำนานอย่าง Infinity IRS, JBL Paragon D44000, Tannoy M2000 Buckingham Monitor หรือ Klipsch Klipschorn เป็นต้น เพราะโดยธรรมชาติแล้ว อะไรที่ใหญ่กว่าก็น่าจะแสดงสมรรถนะทั้งทางด้านพละกำลัง และขีดความสามารถออกมาได้ครบถ้วนสมบูรณ์กว่า ลำโพงเองก็เช่นกัน ดังนั้นลำโพงขนาดใหญ่จึงสามารถจะให้ศักยภาพทั้งในแง่ของความดัง ความชัดเจน น้ำหนักความลึก และความสมจริง ที่เหนือกว่าลำโพงขนาดเล็กตามหลักของกายภาพที่ได้เปรียบกว่า

ในขณะที่นักเล่นทางฝั่งยุโรปเองก็จะนิยมลำโพงที่มีขนาดเล็กมากกว่าก็เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของที่พักอาศัยที่ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนทางฝั่งอเมริกาในยุคนั้นก็มีนักออกแบบฝีมือฉมังจากทางเกาะอังกฤษไม่ว่าจะเป็น BBC,  ROGERS, KEF, HARBETH และ PROAC สำหรับทางฝั่งอเมริกาเองก็มี AR (ACOUSTIC RESEARCH) และ SPICA ที่สร้างความฮือฮาด้วยการออกแบบลำโพงที่มีขนาดเล็ก แต่มีความโดดเด่นในเรื่องของคุณภาพเสียงกลาง และความสามารถในการจำลองขนาดของอิมเมจออกมาได้ดี ความนิยมของลำโพงเล็กในขณะนั้นจึงถูกกระพือออกไป จนกลายเป็นกระแสความนิยมที่ระบาดออกไปอย่ากว้างขวางทั่วโลก

เมื่อมาถึงในยุคปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยี และการออกแบบลำโพงได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นไปกว่าเดิม มีนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดใหม่ๆ ผลิตผลงานออกมาเป็นทางเลือกได้อย่างน่าสนใจ ลำโพงขนาดใหญ่จึงกลายมาเป็นสิ่งสำคัญเหมือนกับเป็นผลงาน หรือสิ่งยืนยันถึงแนวทางการออกแบบที่มุ่งมั่นสู่ความเป็นสุดยอดในการออกแบบลำโพงที่สมบูรณ์ ในขณะนี้เราจึงได้เห็นลำโพงขนาดใหญ่ออกมาประชันโฉมกันอย่างคึกคักกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ROCKPORT TECHNOLOGIES ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ออกแบบลำโพงในระดับชั้นแนวหน้าของวงการเครื่องเสียง เพียงแต่ชื่อเสียงนั้นอาจจะไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นนักในวงการ ก็เนื่องมาจากทาง ROCKPORT TECHNOLOGIES เองมีนโยบายที่หนักแน่น ด้วยการไม่พึ่งการโฆษณา เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนให้เป็นที่รู้จักเหมือนกับผลิตภัณฑ์ลำโพงในระดับไฮเอนด์ของยี่ห้ออื่นๆ ที่นิยมทำกันในท้องตลาด แต่ทาง ROCKPORT TECHNOLOGIES กลับเลือกที่จะให้นักฟัง ค้นพบผลิตภัณฑ์ของทาง ROCKPORT TECHNOLOGIES ด้วยตัวเอง สำหรับคีย์แมนคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลัง และเบื้องหน้าของ ROCKPORT TECHNOLOGIES ก็คือ ANDY PAYOR สาเหตุที่ ANDY PAYOR ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญในการทำการตลาดด้วยการโฆษณาชวนเชื่อเป็นหลัก ก็เพราะ ANDY PAYOR มีความเป็นวิศวกรอย่างเต็มเปี่ยมหาใช่นักการตลาดที่มุ่งเน้นแต่การผลิตเพื่อขายให้ได้จำนวนมากๆ เท่านั้น ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ของ ROCKPORT เองก็ยังมีการผลิตออกมาในจำนวนที่ไม่มากนัก ก็ด้วย ANDY PAYOR นั้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ของตนเองเป็นอย่างมาก แต่ก่อนที่เราจะลงไปในรายละเอียดถึงจุดนั้น ลองมาดูประวัติและความเป็นมาของ ANDY PAYOR กันสักนิด

ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็ก ANDY PAYOR ก็ถูกชักนำให้หลงใหลในเสียงของดนตรีแล้วจากชุดเครื่องเสียงขนาดใหญ่ของบิดาที่วางอยู่ในห้องรับแขกของที่บ้าน แต่เนื่องจากชุดเครื่องเสียงนั้นเป็นของบิดา ANDY PAYOR จึงเก็บหอมรอมริบ และซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ GARRARD จากเพื่อน เพื่อที่เขาเองจะได้ฟังเพลงตามความชอบ และเลือกที่จะฟังได้ทุกเวลาที่เขาต้องการ เมื่อก้าวเข้าสู่การศึกษาในระดับวิทยาลัย เขาก็เริ่มสนุกกับการรื้อ แก้ไขปรับนั่นแต่งนี่กับลำโพง จนในช่วงต้นของปีค.ศ. 1980S ที่เขาได้แรงกระตุ้นจากภาพโฆษณาของ MATTHEW POLK แห่ง POLK AUDIO ในชุดเสื้อกาวสีขาว  ANDY PAYOR กล่าวว่า“ถ้า MATTHEW POLK ทำได้ ฉันก็สามารถทำได้เช่นกัน ฉันจะสร้างลำโพงของฉันเอง”

หลังจากที่จบปริญญาทางด้าน ELETRICAL ENGINEER และเริ่มลงมือทำลำโพงอย่างจริงจังในขณะที่ ANDY PAYOR เริ่มนำลำโพงคู่แรกของเขาออกจำหน่าย เขาได้มีโอกาสพบกับฝ่ายการตลาดของ TRANSPARENT AUDIO ซึ่งก็คือ KAREN SUMNER   ANDY PAYOR ก็แสดงความสามารถของเขาในการแก้ไขและปรับปรุงลำโพงของตนเองได้อย่างรวดเร็วจนเป็นที่ประทับใจของ KAREN SUMNER  เธอจึงได้ชักชวนให้ ANDY PAYOR มาช่วยออกแบบลำโพงให้กับทาง TRANSPARENT AUDIO โดยทำงานออกแบบร่วมกันกับ REIDAR PERSSON  ต่อมา ANDY PAYOR ยังถูกชักชวนให้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงตามแบบที่ BILL FIREBAUGH ได้ออกแบบไว้ และนั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้กับ ANDY PAYOR ที่อยากจะออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีความสมบูรณ์ด้วยตนเอง จากนั้น ANDY PAYOR ก็ตัดสินใจเลือกทางเดินของตนเองด้วยการออกมาก่อตั้ง บ. ROCKPORT TECHNOLOGIES ขึ้น และผลงานชิ้นแรกของ ROCKPORT TECHNOLOGIES ก็คือเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น SIRIUS PHONOGRAPH ที่เปิดตัวในปีค.ศ. 1991 ซึ่ง SIRIUS ก็ได้รับความชื่นชม และถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องเล่นเทิร์นเทเบิ้ลที่ดีที่สุดตัวหนึ่งของโลก (WORLD’S BEST) เลยทีเดียว

จากนั้น ANDY PAYOR ยังได้ปรับปรุง SIRIUS PHONOGRAPH ให้ดีขึ้นไปอีก พร้อมกับการออกแบบลำโพงควบคู่กันไปด้วย  หลังจากนั้น ANDY PAYOR ก็นำเสนอเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวใหม่คือ SIRIUS III ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องเล่นเทิร์นเทเบิ้ลในระดับพระกาฬ มีน้ำหนักตัวถึง 550 ปอนด์ ทำงานด้วยระบบ DIRECT DRIVE ทำงานด้วยระบบ AIR BEARING ตัวแท่นทำงานแบบ SELF LEVELING PNEUMATIC SUPPORT STRUCTURE ตัว PLATTER ทำงานด้วยระบบ AIR BEARING ตัวโทนอาร์มเป็นแบบ LINEAR TRACKING ที่ทำงานด้วยระบบ AIR BEARING TONEARM ซึ่ง SIRIUS III ถือว่าเป็นผลงานการออกแบบในระดับขั้นเทพของ ANDY PAYOR จริงๆ  สนนราคาของ SIRIUS III จะอยู่ที่ US$ 73,750 ต้องสั่งผลิตแบบ MADE-TO-ORDER และต้องใช้เวลาในการผลิตนานถึง 6 เดือน สำหรับลำโพงนั้นในอดีต ROCKPORT TECHNOLOGIES จะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 รุ่น รุ่นเล็กสุดคือ MIRA MONITOR และรุ่นท้อปสุดก็คือ ARRAKIS ในปัจจุบันลำโพงของ ROCKPORT จะมีอยู่ด้วยกัน 5 รุ่น ประกอบด้วย ALYA, ATRIA, AVIOR, ALTAIR และ ARRAKIS สำหรับลำโพงรุ่น AVIOR คือลำโพงคู่ใหม่ที่ทาง ROCKPORT ได้ออกมาเพื่อเติมเต็มไลน์การผลิตให้มีความสมบูรณ์พร้อมกับการเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน CES 2012 ที่ผ่านมา

2

AVIOR

ANDY PAYOR ออกแบบ AVIOR ด้วยความมุ่งหวัง เพื่อให้เป็นลำโพงในระดับคลาสสิกที่จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะ AVIOR คือตัวอย่างที่ชัดเจนของลำโพงที่มากความสามารถ หรือมีคุณภาพสูงแบบ HIGH PERFORMANCE พร้อมกับมีรูปทรงที่งดงามดูเล็กกว่าความเป็นจริง โดยที่สามารถจะให้คุณภาพเสียงที่ครบถ้วนตอบสนองได้ทุกย่านความถี่ และมีความสมจริง

AVIOR ถูกออกแบบมาเป็นลำโพงแบบ 3 ทาง ตั้งพื้น มีไดรเวอร์ 4 ชุด มีขนาดอยู่ที่ 46.5” x 15” x 24.5” (ส x ก x ล) มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 220 ปอนด์ (ประมาณ 100 กก.)/ ข้าง AVIOR ถูกออกแบบมาเป็นลำโพงแบบตู้เปิด หรือ VENTED BOX มีท่อยิงออกทางด้านหลัง ทวีตเตอร์เป็นแบบโดมเบริลเลี่ยมขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 ตัว ไดรเวอร์เสียงกลาง (MID RANGE) ขนาด 6 นิ้ว จำนวน 1ตัว และวูฟเฟอร์ขนาด 9 นิ้ว จำนวน 2 ตัวด้วยกัน AVIOR ถูกออกแบบให้มีความกว้าง ของหน้าลำโพงที่ค่อนข้างแคบ ซึ่งเมื่อมอง AVIOR จากตำแหน่งที่นั่งฟังแล้วจะพบว่า AVIOR มีขนาดตู้ที่ดูเพรียวไม่ได้ใหญ่โตเทอะทะดังลำโพงตั้งพื้นที่มีขนาด และน้ำหนักในระดับที่เท่าๆ กัน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ AVIOR มีการออกแบบเหลี่ยมมุมที่โค้งมนอย่างสวยงาม แต่ถ้าคุณลุกขึ้นแล้วเดินมาทางด้านข้างจะพบว่า AVIOR จะมีขนาดความลึกที่มากกว่าลำโพงโดยทั่วไป สำหรับ AVIOR จะมีความลึก 24.5 นิ้ว หรือประมาณ 612.50 มม. ซึ่งทำให้ AVIOR มีปริมาตรภายในที่มากเป็นพิเศษ

ANDY PAYOR ได้อรรถาธิบายไว้ว่า นักออกแบบลำโพงโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการออกแบบแผงหน้าของลำโพงให้แคบเข้าไว้ จะสามารถช่วยลดหรือกำจัดเสียงรบกวนที่เกิดจากการหักเหของเสียง (DIFFRACTION) ได้ดีกว่า แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ANDDY PAYOR อธิบายเพิ่มเติมว่า การออกแบบแผงหน้าของลำโพงให้แคบ จะมีประโยชน์ในเรื่องของความสวยงามแล้วยังช่วยลดจุดสนใจในการมองของเราลง ทำให้รู้สึกว่าซาวด์สเตจมีขนาดที่ขยายได้กว้างขึ้น ช่วยทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าลำโพงนั้นสามารถที่จะ ‘ล่องหน’ หรือหายตัวได้ง่ายขึ้นกว่าลำโพงที่มีแผงหน้าขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่สำคัญ และควรคำนึงถึงก็คือ การส่งผ่านคลื่นความถี่ (WAVE LAUNCH) บนแผงหน้าตู้ลำโพงไปถึงขอบมุมของลำโพงนั้น ต้องมีการเคลื่อนตัวในลักษณะเป็นแบบแอโรไดนามิกที่มีความต่อเนื่อง ราบเรียบ และลดระดับความถี่ลงได้ต่ำเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ให้คลื่นเสียงนั้นมีการสะดุดที่ขอบตู้ ซึ่งลำโพงที่มีแผงหน้าที่แคบนั้นไม่สามารถจะทำได้  ที่ ROCKPORT เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้  ดังนั้นขอบตู้ของลำโพง จึงต้องมีขนาดที่ใหญ่และกว้าง อีกทั้งต้องมีส่วนโค้งที่จำเพาะ เจาะจงเพื่อรับมือกับความยาวคลื่นที่เป็นปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณหน้าตู้ของลำโพงเป็นสำคัญ

เรื่องที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับลำโพงโดยทั่วไป เพราะโดยปกติแล้วลำโพงส่วนใหญ่ในตลาดนั้น ถูกออกแบบ และประกอบขึ้นจากการนำเอาแผ่นไม้ของตู้ลำโพงมาประกอบเข้าด้วยกัน การจะทำหรือสร้างตู้ลำโพงให้มีรูปร่างโค้งมน จึงไม่สามารถสร้างขึ้นได้ง่ายๆ  แต่ ANDY PAYOR มีวิธีที่ดีกว่าในการสร้างตู้ลำโพงให้ได้รูปทรงตามต้องการ ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นตู้ลำโพงที่มีความแข็งแกร่งมากเป็นพิเศษอีกด้วย

โดยปกติแล้วลำโพงส่วนใหญ่นั้นถูกออกแบบ และประกอบขึ้นจากแผ่นวัสดุ MDF ที่ถูกนำมาขึ้นรูปโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน อันได้แก่ตัวตู้, แผงหน้า และส่วนฐานของลำโพง จากนั้นจึงนำเอาทั้ง 3 ส่วนมายึดตรึงพร้อมกับการคาดโครงเพื่อเสริมความแข็งแรง เข้าด้วยกันอย่างแน่นหนา แต่โครงสร้างดังกล่าวนั้นยังมีความแข็งแกร่งไม่เพียงพอ และไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของ ANDY PAYOR ได้ เขามองว่าการจะสร้างตู้ลำโพงในระดับอุดมคตินั้นจะต้องประกอบไปด้วยพื้นฐานที่สำคัญ 3 เรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง วัสดุที่นำมาทำตู้ลำโพงนั้นต้องมีความแข็ง และแกร่งเป็นพิเศษ สองวัสดุดังกล่าวจะต้องมีความยืดหยุ่นสูงแต่ก็ต้องมีแรงหน่วงที่จะสามารถรับมือกับการขยับตัวของไดรเวอร์ได้ดีเยี่ยม ซึ่งการจะหาวัสดุที่มีคุณสมบัติทั้ง 2 อย่าง พร้อมกันเป็นเรื่องที่ยาก และสุดท้ายตัวตู้ลำโพงยังต้องมีน้ำหนักที่มากเท่าที่จะมากได้ในสภาพที่เป็นจริง

เพื่อให้ได้ตู้ลำโพงในระดับอุดมคติตามที่ ANDY PAYOR คิด เขาเลือกที่จะสร้างตู้ลำโพงขึ้นจากไฟเบอร์กลาส หรือใยแก้ว (GLASS FIBER) ชนิดพิเศษที่มีความแข็งแกร่งสูงแบบ VERY HIGH TENSILE STRENGTH โดย ANDY PAYOR ได้ออกแบบออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือขึ้นรูปทั้งเปลือกผิวภายนอก และผิวภายในตู้ลำโพงเป็นแบบ 2 ชั้น โดยที่ทั้ง 2 ส่วนจะถูกยึดเข้าด้วยกัน โดยมีไส้ หรือแกนกลางเป็นวัสดุประเภทโคโพลิเมอร์ (COPOLYMER) หรืออีพ็อกซี่ (EPOXY) สูตรพิเศษ ที่มีคุณสมบัติความยืดหยุ่นสูง (EXCELLENT COMPRESSIVE STRENGTH) แต่มีพลังงานสถิตย์ (HIGH HYSTERESIS LOSS) ที่ต่ำเป็นพิเศษต่อความแปรผันของอุณหภูมิภายในห้อง อีกทั้งยังมีน้ำหนักที่มากเป็นพิเศษคือ 14 ปอนด์ ต่อ 1 แกลลอน ด้วยวิธีนี้ ROCKPORT จึงได้ตู้ลำโพงที่แข็ง และแกร่งเป็นพิเศษแบบ TRIPLE LAMINATED, CONSTRAINED MODE DAMPED ENCLOSURE โดยที่ไม่ต้องอาศัยการคาดโครงเพื่อเสริมความแกร่งแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ตู้ลำโพงของ AVIOR จึงถูกสร้างขึ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งชิ้นแบบ COMPLETELY MONOCOQUE CONSTRUCTION ยกเว้นก็เพียงแต่ส่วนของแผงหน้าที่จะถูกยึดเข้ากับฐานด้วยวิธีการบากแบบ CONTINUOUS RABBET ด้วยอีพ็อกซี่คุณภาพสูง แผงหน้าของ AVIOR จึงมีความหนาเป็นพิเศษถึง 6 นิ้ว ที่สามารถจะออกแบบให้มีส่วนโค้งมนที่สวยงาม มีความหนาที่แตกต่างแบบ VARIABLE SECTION THICKNESS นอกจากนี้ยังออกแบบให้แผงหน้านั้นมีมุมที่ลาดเอียงเพื่อเป็นการจัด TIME ALIGNMENT เพื่อปรับระยะทางของจุดกำเนิดเสียงจากไดรเวอร์ทั้งหมดให้เดินทางมาถึงหูของผู้ฟังในระยะที่เท่าๆกัน

สำหรับไดรเวอร์เสียงกลาง และวูฟเฟอร์ที่ใช้ใน AVIOR นั้นเป็นแบบ CARBON FIBER SANDWICH COMPOSITE ที่ทาง ROCKPORT ได้ทำการศึกษาและพัฒนามาตั้งแต่ตอนทำลำโพงรุ่นท้อปสุดอย่าง ARRAKIS ในปีค.ศ. 2005 แล้ว โดย ANDY PAYOR ได้ลองทำขึ้น 3 ขนาดด้วยกัน ได้แก่ขนาด 5 ¼ นิ้ว, 9 นิ้ว และ 15 นิ้ว ทั้งหมดเพื่อโครงการลำโพง ARRAKIS เป็นหลัก

ANDY PAYOR ได้ออกแบบและเลือกใช้ไดอะเฟรมที่ขึ้นรูปจากคาร์บอนไฟเบอร์แบบ PRE-PREG CARBON FIBER ที่มีความแกร่งสูงทั้ง 2 ด้าน คือผิวทั้งทางด้านหน้า และด้านหลัง นำมาประกอบเข้าด้วยกันตรงกลางจะเป็นวัสดุโฟมเนื้อพิเศษที่นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมเครื่องบินที่มีชื่อเรียกว่า ROHACELL โฟม ROHACELL นี้เป็นโฟมที่มีความเบาแต่แข็งแรงมากๆ จากนั้นจึงทำการอัดขึ้นรูปด้วยความร้อนในแม่พิมพ์ที่ทำขึ้นจากอะลูมินั่ม จึงทำให้ได้ไดอะเฟรมที่มีความเบาเป็นพิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับไดรเวอร์ที่มีขนาดเดียวกัน แต่มีความแกร่ง และมีคุณสมบัติในการซึมซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี สำหรับตัวไดอะเฟรมแบบคาร์บอนไฟเบอร์นี้ ทาง ROCKPORT ยังได้ออกแบบมาเป็นพิเศษโดยให้มีขนาดความหนาที่แตกต่างกันแบบ VARIED SECTION TICKNESS เพื่อลดการเกิดเรโซแนนซ์ของการ BREAK UP ที่เกิดขึ้นในกรวยลำโพงโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังมีข้อดีในเรื่องของการตอบสนองความถี่ที่ค่อยๆ ลาดลง (ROLL -OFF) อย่างสวยงาม ทำให้การออกแบบวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กนั้นมีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน

ANDY PAYOR ได้ออกแบบและสร้างไดอะเฟรมดังกล่าวขึ้นมาเองทั้งหมด จากนั้นก็จัดส่งไดอะเฟรมดังกล่าวไปยังบริษัท AUDIO TECHNOLOGY ในประเทศเดนมาร์ก เพื่อทำการประกอบกับระบบขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นระบบ MOTOR แบบ HIGH POWER และชุดแม่เหล็ก (MAGNET STRUCTURE) แบบ ULTRA LINEAR ในระดับ STATE OF THE ART ซึ่ง ANDY PAYOR เชื่อมั่นในฝีมือและองค์ความรู้ของทาง AUDIO TECHNOLOGY เป็นอย่างดี หลังจากที่ได้ร่วมงานกันมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี

สำหรับทวีตเตอร์เป็นโดมแบบเบริลเลียมขนาด 1 นิ้ว จาก SCANSPEAK  ผู้ผลิตไดรเวอร์ชื่อดัง ANDY PAYOR ยอมรับว่าก่อนหน้านี้เขามีความชอบทวีตเตอร์แบบซอฟท์โดมรุ่น D-30  ซึ่งถือว่าเป็นทวีตเตอร์ที่ดีมากๆ แต่กับทวีตเตอร์โดมแบบเบริลเลียมนั้น ANDY PAYOR กลับชื่นชอบยิ่งกว่า และยกย่องว่าเป็นทวีตเตอร์ที่มีความพิเศษในตัวหลายอย่างด้วยกัน ANDY PAYOR ประทับใจกับน้ำเสียงที่สดใส และมีความบริสุทธิ์ของโดมเบริลเลียมที่สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม ในแง่ของคุณสมบัติแล้วเบริลเลียมมีความเหมาะสมอย่างมากในการนำเอาใช้เป็นโดมของทวีตเตอร์เพราะสามารถตอบสนองความถี่ได้ถึง 40 kHz อย่างสบายๆ และมีความแกร่งเป็นพิเศษ เนื่องจากเบริลเลียมมีความหนาแน่นที่ต่ำกว่าไทเทเนียมถึง 2.5 เท่า และต่ำกว่าอะลูมิเนียมถึง 1.5 เท่า ในขณะที่มีความแข็งแรงกว่าไทเทเนียมถึง 3 เท่า และแข็งแรงกว่าอะลูมิเนียมถึง 5 เท่า ถ้าเปรียบเทียบด้วยมวลที่เท่ากันแล้ว โดมทวีตเตอร์แบบเบริลเลียมจะแข็งแรงกว่าโดมที่ผลิตจากไทเทเนียมและอะลูมิเนียมถึง 7 เท่าเลยทีเดียว

เบริลเลียมถือเป็นโลหะที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กระบวนการในการผลิตเบริลเลียมบริสุทธิ์ก็ยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก จึงมีผู้ผลิตอยู่เพียงไม่กี่เจ้าทั่วโลก อีกทั้งราคาค่าตัวนั้นก็เข้าขั้นแพงระดับเทพจริงๆ คือแพงกว่าทองคำ และมีราคาสูงกว่าไทเทเนียมมากอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

ตัวท่อเบสหรือ PORT ระบายอากาศที่อยู่ด้านหลังของลำโพงขนาดใหญ่จะถูกกลึงขึ้นจากอะลูมิเนียมทั้งชิ้น มีการกำหนดการตอบสนองความถี่ของเบสให้โรยตัว (ROLL- OFF) ที่ 12 dB PER OCTAVE ท่อดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อโค้งที่ผายออกเพื่อลดการไหลเวียนที่รุนแรงของลม (TURBULENT) ที่เกิดขึ้นบริเวณปลายท่อ ทำให้อากาศไหลเวียนออกอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับในส่วนของวงจรครอสโอเวอร์นั้น ANDY PAYOR ให้ความสำคัญในเรื่องของการตอบสนองของเฟส (PHASE RESPONSE) เพื่อให้ไดรเวอร์ทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างลงตัว โดยไม่มีการซ้อนทับแบบ EXCESSIVE OVERLAP การจะทำเช่นนั้นได้ต้องมีค่า STOP BAND ATTENUATION ที่รวดเร็วมาก นอกจากนี้ ANDY PAYOR ยังมีการจัดการกับความถี่เรโซแนนซ์เฉพาะจุดในไดเวอร์แต่ละตัวที่เรียกว่าวงจร “ELIPTICAL” CROSSOVERS ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงกันมากในปัจจุบัน แต่ ANDY PAYOR ยืนยันว่านี่คือลักษณะของวงจรครอสโอเวอร์ที่ทาง ROCKPORT ใช้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน ก็เกือบเป็นเวลาถึง 20 ปีแล้ว นอกจากนี้อุปกรณ์คาปาซิเตอร์ และตัวเหนี่ยวนำแบบอินดัคเตอร์ยังสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษแบบ CUSTOM MADE เพื่อ ROCKPORT เป็นการเฉพาะ โดยที่แต่ละชิ้นส่วนจะมีการนำมาจับคู่แมทซ์กัน โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 1% วงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กจะถูกประกอบขึ้นแบบฮาร์ดไวร์ โดยที่แต่ละจุดจะเชื่อมต่อแบบ POINT –TO- POINT โดยไม่มีการใช้แผ่นวงจร PCB แต่อย่างใด วงจรเน็ตเวิร์กแต่ละชุดจะได้รับการปรับจูนด้วยมือ โดยตัวของ ANDY PAYOR เอง เพื่อให้มีความเหมาะสมกับชุดไดรเวอร์แต่ละชุดอย่างเฉพาะเจาะจง จากนั้นจึงนำไปบรรจุในกล่องแบบ POTTED MODULE ยึดไว้ภายในตู้ลำโพง สำหรับสายลำโพงที่ใช้เดินภายในทั้งหมดจะเป็นสายของ TRANSPARENT AUDIO

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ANDY PAYOR นั้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ของตนเองเป็นอย่างมาก ดังนั้นลำโพงทุกคู่จึงต้องผ่านการทดสอบ ฟังและปรับแต่งรายละเอียดต่างๆ ด้วยตัวของ ANDY PAYOR เองแบบล้วนๆ นี่คือความใส่ใจ และถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมของผู้คิด และสร้างผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างจริงจัง และจริงใจ นี่คือเหตุผลที่เราจะไม่พบจำนวนลำโพงของ ROCKPORT ในตลาดมากนัก เพราะลำโพงของ ROCKPORT ถูกผลิตขึ้นในจำนวนที่จำกัด ดังนั้นใครที่มีโอกาสได้ครอบครองลำโพงของ ROCKPORT เขากำลังได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความพิเศษจริงๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีนักเล่น นักฟัง เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ฟัง และเป็นเจ้าของลำโพงของ ROCKPORT ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในลำโพงชั้นเยี่ยมของโลก

สำหรับขั้วลำโพงไบน์ดิ้งโพสต์จะเป็นของ CARDAS และมีมาให้เพียงแค่ชุดเดียวแบบซิงเกิ้ลไวร์ AVIOR มีสเปคคร่าวๆ ดังนี้

avior02

Rockport Avior Specifications

Woofers : (2) 9” carbon fiber sandwich composite

Midrange : 6” carbon fiber sandwich composite

Tweeter : 1” beryllium dome

Internal wiring: Transparent Audio

Height                          : 46.5”

Width (base)               : 15”

Depth (base)               : 24.5”

Weight                         : 220 lbs. each

Frequency Response : 25-30 kHz, -3dB

Nominal Impedance  : 4 ohms

Sensitivity                   : 89.5dB spl/2.83v

Minimum Amplification Power: 50 watts

P1090044

ผลการทดลองฟัง

ตอนที่ AVIOR เดินทางมาถึงทาง บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด (IAV) ได้แจ้งให้ทราบว่า มีเวลาให้ฟัง AVIOR ได้แค่ประมาณ 3 ถึง 4 อาทิตย์ เนื่องจากมีผู้สนใจ และเข้ามาฟัง AVIOR เป็นระยะๆ จึงมีเวลาที่ค่อนข้างจำกัดจริงๆ เมื่อถามเรื่องของการเบิร์นอินทาง IAV ก็แจ้งว่าคู่ที่ส่งมาให้นั้นได้ผ่านการใช้งานจนพ้นระยะเวลาเบิร์นอินแล้ว เวลาในอาทิตย์แรกนั้นสูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ หลังจากนั้นพวกเราก็นำเอา AVIOR เข้าห้องฟัง กับน้ำหนักตัวละประมาณ 100 กก. AVIOR ทำให้พวกเราแต่ละคนรู้สึกกระชุ่มกระชวย และแมนขึ้นมาในทันที จากนั้นก็ขยับหาตำแหน่งที่เหมาะสม และทำการประกอบขาอะลูมิเนียม ที่ทำหน้าที่คล้ายกับขาของ SPIKE แต่ขาของ ROCKPORT นั้นมีขนาดใหญ่ ส่วนปลายจะถูกตัดเรียบแทนที่จะเป็นปลายแหลมเพื่อจิกลงบนพื้นแบบทั่วไป  พวกเราทำการเบิร์นอินเป็นเวลาเกือบ 2 อาทิตย์ เมื่อเวลาเหลืออยู่ไม่มากก็เริ่มชักชวนเหล่าคณะลูกขุนเข้ามาช่วยฟังกันตามระเบียบ สำหรับซิสเต็มที่ใช้ฟังนั้นประกอบด้วย

เครื่องเล่นซีดี           :             MARANTZ CD 11 MKII (CLOCK II)

SONY CDP-XA7ES

ปรีแอมป์                   :                    ADCOM GFP-750, MICHELL ORCA

เพาเวอร์แอมป์          :           ADCOM GFA-5800, FORTE’ P5, NAKAMICHI  PA- 5E MKII

PASS ALEPH 5, MICHELL ALECTO MONO BLOCK

อินทีเกรทแอมป์        :         INCRECABLE iAMP TIA-240 (UPGRADE BY INNER SOUND), NORMA REVO IPA-140

สายนำสัญญาณ        :       VAMPIRE AI-II

สายลำโพง                :                VAMPIRE ST-II

สายเอซี                     :                     XAC # 5 (AC POWER CORD)

MUSIC MUSE  ‘JORMUNGANDR’ AC CABLE

ฟิวส์                           :                           MUSIC MUSE V2

ห้องฟังขนาด 4 x 8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติกมาอย่างดี

AVIOR เปิดตัวด้วยน้ำเสียงที่สุภาพนุ่มนวล เสียงกลางนั้นอิ่มมีมวลมีตัวตนที่เด่นชัด เสียงร้องของ CLAIR MALO นั้น นุ่มนวล มีความอิ่มแต่ไม่หนา มีรายละเอียดที่ดีที่แฝงไว้ด้วยความอบอุ่นที่น่าฟัง (CLAIR MARLO : LET IT GO : SHEFFIELD LABS) เสียงแหลมนั้นมีมวล มีความกังวาน พอประมาณพร้อมกับการถ่ายทอดบรรยากาศที่อิ่มเข้ม ปลายเสียงแหลมทอดตัวไปได้ไม่ไกลนัก (OPUS 3 : LARS ERSTRAND AND THE FOUR BROTHERS) เสียงเบสนั้นอิ่มแน่นมีแรงปะทะที่ดี เบสต่ำลงได้ลึกพอประมาณ แต่ขาดรายละเอียด และเก็บตัวเร็ว (TUTTI! ORCHESTPAL SAMPLE : R & R) ลูกขุนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า AVIOR ให้เบสที่แน่นมีน้ำหนัก แต่ขาดรายละเอียดเป็นเบสที่พวกเราเรียกกันว่า ‘เบสตัวโน้ตเดียว’ (ONE NOTE BASS) ไม่สามารถแยกแยะท่วงทำนองของเบสต่ำๆ ออกมาได้ สำหรับอิมเมจนั้นมีความนิ่ง สมกับที่เป็นลำโพงใหญ่ แต่สัดส่วนของซาวด์สเตจยังวางวงกระจุกตัวเป็นกลุ่มก้อน บทสรุปของการฟังในวันนั้น AVIOR สร้างความผิดหวัง และเสียดายให้กับเหล่าคณะลูกขุนอยู่ไม่น้อย ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า AVIOR ยังไม่พ้นระยะของการเบิร์นอิน และยังไม่พร้อมจริง ดูท่า AVIOR คงต้องการแอมปลิไฟเออร์ที่มีศักยภาพสูง และต้องการเวลาอีกสักพักใหญ่กว่าที่จะตื่นจากการหลับใหล

พวกเรายังคงเบิร์นอิน AVIOR มาอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่อาทิตย์ที่ 4 ตามกำหนดที่ได้พูดคุยกันไว้แต่ AVIOR ก็ยังไม่ตื่น พวกเราตัดสินใจว่าถ้าทาง บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด ติดต่อมาก็จะขอเลื่อนเวลาที่จะส่งคืนออกไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้น พวกเราจึงยังคงเบิร์นอิน AVIOR อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนเข้าสู่อาทิตย์ที่ 5 แล้วนั่นแหละที่ AVIOR เพิ่งจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากอาการงัวเงีย น้ำเสียงนั้นดีขึ้นกว่าเดิมมาก เมื่อเปรียบเทียบกับที่พวกเราฟังกันก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า AVIOR อยู่ในสภาพที่พร้อมเต็มที่แล้วจริงๆ

AVIOR นำเสนอเสียงกลางที่อิ่ม สะอาด มีความชัดเจนแต่ไม่ขึ้นขอบ  แจกแจงรายละเอียด รวมทั้งฮาร์โมนิกออกมาได้ดี มีกลิ่นไอของความอบอุ่นที่แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวล เนื้อเสียงนั้นไม่หนา แต่ก็ไม่บาง แสดงตัวตนได้เด่นชัด มั่นคงสมกับที่เป็นลำโพงขนาดใหญ่ (CAROL KIDD : NICE WORK) ตอกย้ำอีกครั้งกับเสียงร้องของ JACKIE EVANCHO ที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างนุ่มนวล น่าฟัง AVIOR สามารถนำเสนอเส้นเสียงรวมทั้งสรรพสำเนียงของดนตรีออกมาได้อย่างกลมกลึง มีตัวตนที่ให้ความรู้สึกถึงการคงอยู่ของอิมเมจที่มีความสมจริง “นี่สิ…มันต้องอย่างงี้! จึงจะสมกับความเป็นลำโพงใหญ่ชั้นดี” ลูกขุนท่านหนึ่งพูดขึ้นด้วยสายตาที่เป็นประกาย (JACKIE EVANCHO : DREAM WITH ME IN CONCERT : SONY MUSIC/USA)

ความโดดเด่นของ AVIOR อยู่ที่การถ่ายทอดเสียงกลางลงมาทางย่านกลางต่ำได้อย่างนุ่มนวล มีความลื่นไหลต่อเนื่องมีมวลเสียงที่แน่นผสานเข้ากับความโปร่ง และฮาร์โมนิกได้

อย่างน่าฟัง ดีเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องของ MARY BLACK, BARB JUNGR หรือ ELLA FITZGERALD ที่มีเสียงร้องที่โดดเด่นในย่านเสียงดังกล่าว  AVIOR จะสามารถนำพาให้คุณเคลิบเคลิ้มไปกับการฟังได้อย่างเพลิดเพลิน ยิ่งกับเสียงนักร้องชายอย่าง COLLIN RAYE, JOHN MICHAEL MONTGOMERY หรือ JOSH GROBEN และ FRANK SINATRA ด้วยแล้ว AVIOR ยิ่งฉายแววที่โดดเด่นอย่างหาตัวจับได้ยากกันเลยทีเดียว ลูกขุนท่านหนึ่งที่มีเวลาว่างแล้วย้อนกลับมาฟังกันอีกครั้งหนึ่งถึงกับเอ่ยชมว่า AVIOR ที่ฟังในวันนี้เสียงดีกว่าเก่ามากอย่างกับลำโพงคนละคู่กันเลย

สำหรับเสียงในย่านกลางสูงนั้น AVIOR ยังคงรักษาสมดุลในเรื่องของความกลมกลืนสอดรับกับเสียงในย่านกลางต่ำอย่างลงตัว เนื้อเสียงยังคงมีความอบอุ่นและนุ่มนวล เสียงของเปียโนที่บรรเลงโดย HOROWITZ มีความอิ่มขึ้น สเกลของเปียโนเหมือนกับจะถูกขยายให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่คุ้นเคย ในขณะที่รายละเอียดรวมทั้งบรรยากาศดูจะถูกลดทอนลง (HOROWITZ IN MOSCOW : DG) แต่กับการบรรเลงเปียโนของ CAROL ROSENBERGER ในเพลง SONATA OP-57 (APPASSIONATA) ด้วยเปียโนของ BOSENDORFER รุ่น IMPERIAL GRAND ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจในการฟังได้ไม่น้อยเลยเช่นกัน (DYNAMIC PIANO MIT-8001)

สำหรับเสียงแหลมนั้น ลำโพงที่ใช้ทวีตเตอร์โดมแบบเบริลเลียมในระดับไฮเอนด์จะให้เสียงที่สดใส เปิดเผยอุดมไปด้วยรายละเอียดจนบางคนให้คำนิยามว่าเป็นเสียงที่สว่างแบบเจิดจ้าและเร่าร้อน แต่สำหรับ AVIOR แล้วกลับเลือกที่จะนำเสนอในแนวทางที่แตกต่างออกไปกล่าวคือเสียงแหลมของ AVIOR จะให้ความสำคัญกับความกลมกลืนเป็นด้านหลัก เป็นเสียงแหลมที่สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ดี มีมวลเสียงที่มีน้ำหนักที่แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวล มากกว่าจะเน้นในเรื่องความโปร่งใสที่เปิดเผย เต็มไปด้วยรายละเอียดที่โดดเด่นเป็นพิเศษที่เหมือนกับการส่องด้วยไฟสปอร์ตไลท์ ซึ่งเมื่อฟังกันนานๆ แล้วนักฟังบางท่านอาจจะรู้สึกว่าเกิดอาการล้าหู เสียงแหลมของ AVIOR จะเป็นโทนเสียงที่เยือกเย็น มีความใสที่ดี มีความกังวานที่พอเหมาะ มีความสงัด และมีความรวดเร็วที่เป็นเยี่ยม จึงทำให้บรรยากาศนั้นมีความรู้สึกถึงความมืดเข้ม ที่เปรียบได้กับแสงดาวบนท้องฟ้าที่สุกสว่างท่ามกลางความมืดที่ปกคลุมในยามค่ำคืน ปลายเสียงแหลมแม้จะไม่ทอดตัวออกไปไกลจนสุดเสียง แต่ก็มีการลดระดับ และจางหายไปอย่างราบเรียบ (OPUS 3 : LARS ERSTRAND AND THE FOUR BROTHERS)

สำหรับย่านเสียงในช่วงอัพเปอร์เบส ก็ต้องเรียนว่า AVIOR ก็ไม่สร้างความผิดหวังอย่างแน่นอน เพราะอัพเปอร์เบสของ AVIOR นั้น แน่นและปึกมาก! มีความกระชับ ฉับไว มีแรงปะทะที่ดี โดดเด่นโดยเฉพาะกับหัวโน้ตที่เด็ดขาดและฉับพลัน  สปีดของดนตรีนั้นมีความรวดเร็ว พร้อมกับมีการย้ำเน้นที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นฝีมือการเล่นเบสของ STEVE WATTS ในเพลง TROUBLE IN MIND (BARB JUNGR : WALKING IN THE SUN : LINN RECORDS) หรือฝีมือของ NATHAN EAST ในเพลง MAX- O- MAN ในอัลบั้ม THE BEST OF FOUR PLAY ที่ถ่ายทอดจังหวะ และการย้ำเน้นที่จะแจ้ง มีน้ำหนัก หรือจะเป็นการเดินเบสที่สุขุม นุ่มลึก ตามแบบของ RAY BROWN ในเพลง I’M AN OLD COWHAND (SONNY ROLLINS : WAY OUT WEST : 24 GOLD LIWITED EDITION/ ANALOGUE PRODUCTIONS) ที่ AVIOR ถ่ายทอดออกมาให้ฟังได้อย่างโดดเด่นจนคุณต้องขยับเท้าตามไปกับจังหวะของดนตรีได้อย่างเพลิดเพลิน

สำหรับเบสต่ำๆ นั้น AVIOR แสดงพละกำลังที่หนักแน่น ไม่ว่าจะเป็นเพลงคลาสสิกโหดๆ อย่าง THE FIREBIRD- BERCEUSE AND FINALE (TUTTI! ORCHESTRAL SAMPLE : R & R) หรือจะเป็นการบรรเลงของออร์แกนท่อที่บันทึกในโบสถ์ใหญ่ (CANTATE DOMINO : PROPRIUS PRCD 7762) ที่สามารถถ่ายทอดเสียงเบสที่ต่ำลึก และมีมวลเสียงขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเบสต่ำลึกเอาไว้ ซึ่ง AVIOR ก็นำเสนอเบสต่ำที่ลงได้ลึก พร้อมกับการแยกแยะรายละเอียดของเบสต่ำๆ ได้ดี เป็นเสียงเบสที่มีความสะอาด และชัดเจนดีเป็นพิเศษ นี่แสดงให้เห็นถึงตู้ลำโพงของ AVIOR นั้นมีความแข็งแรงที่สูงมากได้ลองเอามือไปจับแนบกับตัวตู้ดู ปรากฏว่าตัวตู้ยังนิ่งและมั่นคงมากๆ ไม่มีการกระพือของผนังตู้ นอกจากความรู้สึกถึงการขยับตัวของไดรเวอร์เบส 2 ตัวที่ทำงานอย่างหนักหน่วงเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตัวตู้ ที่ทำได้อย่างน่าประทับใจ และมีความเงียบที่ดีมาก ความโดดเด่นตรงนี้ช่วยทำให้ AVIOR นั้น สามารถที่จะแฝงตัวได้อย่างกลมกลืน จนแทบจะหายตัวไปภายในซาวด์สเตจได้

อย่างน่าชื่นชม เพียงแต่ไดอะเฟรมคาร์บอนไฟเบอร์ที่ออกแบบขึ้นเอง โดย ANDY PAYOR นั้นถึงแม้จะมีน้ำหนักที่เบา แต่ก็มีการยั้งตัวที่เร็วเป็นพิเศษ จึงทำให้เบสที่ต่ำลึกนั้นเก็บตัวลงอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถทอดตัวให้ลึกลงไปกว่านั้นได้เท่านั้น

สมรรถนะทางด้านอิมเมจนั้น AVIOR สามารถตรึงตำแหน่งต่างๆ ของชิ้นดนตรีได้อย่างมั่นคง และนิ่งมาก การขึ้นรูปของอิมเมจนั้นจะโดดเด่นในย่านเสียงกลางลงมาถึงย่านอัพเปอร์เบสเป็นหลัก สำหรับการจัดวางซาวด์สเตจนั้น AVIOR จะเปลี่ยนไปตามสมรรถนะของแอมปลิไฟเออร์ที่นำมาใช้งานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นความกว้างหรือแคบ ตื้นหรือลึก AVIOR ก็จะถ่ายทอดคุณลักษณะทางเสียงของแอมป์นั้นๆ ออกมาให้ได้ยินกัน แต่เท่าที่ได้ลองใช้งาน AVIOR ร่วมกับแอมปลิไฟเออร์หลายๆ ชุด พอจะสรุปได้ว่า AVIOR จะวางวงในลักษณะเดินหน้าเข้าหาผู้ฟัง (FORWARD) อยู่บ้างสืบเนื่องมาจากการถ่ายทอดเนื้อเสียงที่มีความเป็นตัวตนที่สูง สำหรับซาวด์สเตจทางด้านกว้างจะโดดเด่นกว่าทางด้านลึกอยู่บ้างเล็กน้อยเท่านั้น

ถ้าแม้ว่า AVIOR จะเป็นลำโพงที่ให้คุณภาพเสียงที่มีความกลมกลืนที่ดีให้ความต่อเนื่อง และมีความลื่นไหลที่น่าฟัง ที่มาพร้อมกับเบสอันทรงพลัง แต่ก็ใช่ว่า AVIOR จะเออออ…ห่อหมกไปกับแอมปลิไฟเออร์เครื่งไหนก็ได้ แหม…ก็ AVIOR เป็นถึงลำโพงในระดับไฮเอนด์แล้วนี่ อะไรๆ มันก็ต้องไม่ง่ายเป็นเรื่องธรรมดา ถึงแม้จะดูสเปคของ AVIOR ที่ทาง ROCKPORT กำหนดมานั้น AVIOR จะมีความไวที่ค่อนข้างสูงคืออยู่ที่ 89.5 dB SPL/ 2.83 V และมีอิมพีแดนซ์อยู่ที่ 4 โอห์ม จึงทำให้เข้าใจหรือดูเสมือนว่า AVIOR เป็นลำโพงที่ขับง่าย ไม่เรื่องมาก แต่จริงๆ แล้วค่าความไวที่สูงนั้น เกิดจากการใช้ไดรเวอร์วูฟเฟอร์ที่มีค่าอิมพีแดนซ์ที่ 4 โอห์ม ซึ่งในการวัดนั้น เมื่อป้อนด้วยแรงดันตามที่กำหนดไว้ ก็จะได้ค่าความไวที่สูงขึ้นมาอีกพอสมควร อีกทั้งในการใช้งานจริงแล้ว อิมพีแดนซ์ของลำโพงทุกคู่จะไม่อยู่คงที่ตามค่าที่กำหนดมาในสเปคตลอดเวลา  AVIOR เองก็เช่นกัน ด้วยเหตุนี้อิมพีแดนซ์ของ AVIOR น่าจะลดต่ำลงไปกว่าค่าที่กำหนดมา อาจจะอยู่ที่ 2 โอห์ม บ้างในบางขณะ หรือหนักกว่านั้นในบางช่วงบางเวลา อาจจะลงต่ำไปถึง 1 โอห์ม ก็เป็นได้ AVIOR จึงเป็นลำโพงที่กินกำลัง หรือต้องการกำลังขับกันในระดับเอาเรื่องเลยทีเดียว

ยิ่ง AVIOR สามารถตอบสนองความถี่ต่ำได้โดดเด่น และลงได้ลึกด้วยแล้ว ยิ่งต้องการแอมปลิไฟเออร์ที่บึกบึนเป็นพิเศษ ดังนั้น AVIOR จึงเป็นลำโพงที่ค่อนข้างจะเลือกคู่ หรือเลือกแอมป์ที่จะมาเป็นคู่ตุนาหงันอยู่พอสมควร อาจจะไม่ถึงขั้นจู้จี้ ขี้บ่น หรือเอาแต่ใจหรอกครับ แต่ AVIOR ต้องการแอมปลิไฟเออร์ที่เข้าใจ และรู้ใจเท่านั้น เผื่อในยามที่จำเป็นจะได้ไม่อ่อนไหวซวนเซจนถึงขั้นใบ้กิน ทำอะไรไม่ถูกหรือหมดสภาพไปในทันที แอมปลิไฟเออร์ประเภทหน้าตาหล่อเหลา อ่อนพรรษา มีสเปคงามๆ อาจจะยังไม่เพียงพอ  แต่ประเภท หล่อ และล่ำมีความนิ่ง บึกบึนไม่หวั่นไหวง่าย ในบางครั้งอาจซวนเซได้บ้าง แต่ก็ต้องสามารถปรับตัว และรับมือได้เร็ว ประเภทนี้คงต้องรับไว้พิจารณา จะให้ดีต้องมีคุณภาพเสียงที่ดีอีกด้วย สำหรับค่าสินสอดนั้นเอาไว้ว่ากันทีหลัง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และไม่ควรมองข้าม ขอย้ำว่าเรา…เตือน…คุณแล้วนะ

P1090053

สรุป

กับลำโพงที่มีราคาในระดับเกือบ 30,000 US ดอลล่าร์ ต้องยอมรับว่ามี นักเล่น นักฟัง จำนวนไม่มากนักที่จะมีโอกาสได้ครอบครอง และเป็นเจ้าของได้  ความคาดหวังจึงถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เป็นลำโพงในระดับไฮเอนด์แล้วต้องมีดี หรือมีความพิเศษกว่าลำโพงธรรมดาโดยทั่วไปเป็นแน่ สำหรับความคาดหวังของนักเล่นนั้นก็มีความแตกต่างที่ไม่เหมือนกัน ต่างคนก็ต่างจิตต่างใจ เช่นเดียวกันกับลำโพงที่นักออกแบบเองก็เลือกแนวทางที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ความเข้าใจและการตีความหมายของคำว่า ‘ดนตรี’

AVIOR เองก็เป็นลำโพงที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางการออกแบบ, การพัฒนาทางเทคโนโลยีรวมทั้งนวัตกรรมที่ผ่านการปรับปรุงและพัฒนามาอย่างยาวนานจนตกผลึกในระดับหนึ่งแล้วของ ROCKPORT TECHNOLOGIES ซึ่งนับว่าน่าสนใจ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจไม่น้อย ที่สำคัญก็คือคุณภาพเสียง ที่ AVIOR สามารถวางตัวอยู่ในระดับไฮเอนด์ได้อย่างสบายๆ AVIOR จึงเป็นลำโพงที่มีค่า ที่นักเล่นกระเป๋าหนักทั้งหลายควรหาโอกาสไปสัมผัสฟังกันก่อนที่จะตัดสินใจ ถึงแม้จะมีลำโพงคู่โปรดอยู่ในใจแล้วก็ตาม / คุณภาพระดับ 3 ดาว «««

ขอขอบคุณ บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด โทร. 0-2238-4078-9 ที่อนุเคราะห์ลำโพงมาให้ทดสอบในครั้งนี้