“ความเงียบ” ของห้องฟังแค่ไหนถึงจะพอ?

0

DAWN NATHONG

ความเงียบสงัดของห้องฟังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึง ของผู้ที่ต้องการเข้าถึงการฟังเพลงแบบมีคุณภาพ ห้องฟังเพลงของเราจะสงัดแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับระดับของน้อยส์ฟลอร์ (Noise floor) ที่เกิดขึ้นในห้องนั้น ๆ ระดับน้อยส์ฟลอร์ที่สูง จะกลบรายละเอียดหยุมหยิม (Low Level Detail) ของดนตรี ทำให้ได้ยินแต่เสียงหลัก ลดทอนอรรถรสและอารมณ์ของการฟังเพลงไป (อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้หลายคนชอบการฟังเพลงจากหูฟังมากกว่า)

เราสามารถตรวจสอบค่าน้อยส์ฟลอร์ของอคูสติกส์ห้องฟังเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยการดาวน์โหลดแอพประเภท Sound Level Meter บนมือถือมาใช้วัดค่า SPL แม้จะมีความคลาดเคลื่อนและไม่แม่นยำเทียบเท่าอุปกรณ์เครื่องวัดระดับโปร แต่ก็พอให้เห็นภาพแบบคร่าว ๆ ได้

การวัดค่าความดัง (SPL) น้อยส์ฟลอร์ในห้องฟัง ต้องวัดค่า ณ ตำแหน่งนั่งฟัง เปิดเครื่องเสียงแต่ไม่ต้องเล่นเพลง เปิดแอร์ / พัดลม / อุปกรณ์ต่าง ๆ ตามสภาพการใช้งานจริง ห้องฟังแบบลำลองทั่วไป เมื่อวัดแล้วควรอยู่ที่ระดับไม่เกิน 50 dB ถือว่าใช้ได้ ส่วนห้องฟังเพลงแบบเป็นกิจลักษณะนั้น ควรจะอยู่ที่ช่วง 40 – 30 dB ยิ่งห้องฟังเงียบสงัดได้เท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องเร่งโวลุ่มดังเพื่อให้ได้ยินรายละเอียดของเสียงดนตรีครบถ้วนเป็นเงาตามตัว

ห้องยิ่งเงียบยิ่งดีจริงหรือ?

ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ห้องฟังที่มีระดับน้อยส์ฟลอร์ต่ำกว่า 30 dB เราจะเริ่มได้ยินเสียงวิ้งหรือเสียงสะท้อนภายในหู หรือมาก ๆ เข้าก็จะรู้สึกเหมือนกับมีอะไรมากดบริเวณใบหูทำให้รู้สึกอึดอัด และธรรมชาติของมนุษย์เราจะทนนั่งอยู่ในห้องเงียบมาก ๆ แบบนี้ไม่ได้นาน

การฟังเพลงให้ไพเราะเป็นเรื่องของอารมณ์ด้วยส่วนหนึ่ง สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมขณะฟังจึงมีส่วนสำคัญ ดังนั้นเราคงไม่จำเป็นต้องทำค่าน้อยส์ฟลอร์ให้ต่ำมากจนเหมือนกับอยู่ในสตูดิโอบันทึกเสียงเสมอไป เพราะนอกจากจะต้องลงทุนในการทรีตอะคูสติกของห้องฟังด้วยงบประมาณที่สูงแล้ว อาจเกินขอบเขตของคำว่า “ห้องฟังเพลง” กลายเป็น “ห้องแล็บทดสอบ” ไปสักหน่อย

การปรับปรุงค่าน้อยส์ฟลอร์ของห้อง

การที่จะได้มาซึ่งค่าน้อยส์ฟลอร์ต่ำ ๆ ในห้องฟังนั้น มีหลายวิธี เช่นการทำผนัง 2 ชั้นเพื่อลดเสียงรบกวนจากภายนอก หรือใช้ชุดปรับแต่งอคูสติกส์ แต่ก็อาจยุ่งยากในทางปฎิบัติกับที่อยู่อาศัยทั่วไป หนึ่งในวิธีการปรับปรุงค่าน้อยส์ฟลอร์ที่ง่ายและเห็นผลชัดเจน คือการลงทุนเลือกแอร์หรือพัดลมที่ทำงานได้เงียบที่สุดเท่าที่งบประมาณจะเอื้ออำนวย รวมทั้งการหาตำแหน่งติดตั้งแอร์ / คอมเพรสเซอร์ให้เหมาะสม

แนะนำเป็นแอร์แบบติดผนัง โดยทั่วไปแอร์ BTU ต่ำจะมี Noise Level ขณะทำงานอยู่ที่ 21-36 dB หรือถ้าแอร์ BTU สูงอาจขึ้นไปถึง 45 dB (มาตรฐานแอร์ห้องบันทึกเสียงต้องต่ำกว่า 20 dB) ในกรณีห้องขนาดใหญ่บางคนเลือกที่จะใช้แอร์ BTU ต่ำสองตัวแทน BTU สูงตัวเดียว หากเป็นพัดลมก็ควรเลือกประเภท DC มอเตอร์ที่มี Noise Level ขณะทำงานประมาณ 30 dB

บ้านเราอากาศร้อน การนั่งฟังเพลงในห้องที่ไม่เปิดแอร์หรือพัดลมเลย ถือเป็นความทรมานบันเทิงอย่างยิ่ง เราจึงหลีกหนีเสียงรบกวนจากอุปกรณ์ปรับอากาศซึ่งเป็นตัวเพิ่มระดับน้อยส์ฟลอร์ในห้องได้ยาก โปรดจำไว้ว่า เราลงทุนกับเครื่องเสียงสเปคชั้นยอดหรือทรีตอคูสติกส์ห้องฟังดีเลิศแค่ไหน แต่เปิดแอร์หรือพัดลมแล้วห้องไม่เงียบพอ ทั้งหมดก็ไร้ความหมาย