Test Report: Klipsch RB-61II

0

Test Report: Klipsch RB-61II

(ดีเกินคาด ได้ใจเกินร้อย)

ไมตรี ทรัพย์อเนกสันติ

DSC_0025

RB-61II เป็นลำโพงวางหิ้งในตระกูล Refeence Series ซึ่งให้สุ้มเสียงไม่แพ้รุ่นวางพื้น เหมาะกับทั้ง ดูหนัง, ฟังเพลง ให้ประสิทธิภาพสูง เสียงเที่ยงตรง ไม่ล้าหู เปิดได้ดังกว่าทั่วไปขณะที่ความเพี้ยนยังคงต่ำ

ดอกลำโพงเสียงแหลมโดมติตาเนี่ยม 1 นิ้ว มีปากแตร (ฮอร์น) ด้านหน้ารูปสี่เหลี่ยมทั้งแนวตั้ง, แนวนอน (Tractrix Horn) เพื่อให้เสียงได้ดัง ความเพี้ยนลด เวทีเสียงกว้าง มิติชัด

ดอกเสียงกลางทุ้ม กรวย เซรามิก สีทอง ขนาด 6.5 นิ้ว เคลือบอะลูมิเนียม เพื่อเสียงที่กระชับ

วงจรแบ่งเสียงปรับปรุงใหม่ ให้เสียงราบรื่น ทั้งแนวตั้ง และ แนวนอน

DSC_0060

สเปคจากโรงงาน

ความถี่ตอบสนอง                                                        45 Hz~ 24 kHz (± 3 dB)

ความไว                                                                        95 dB/ 2.83 V/ 1 เมตร

รับกำลังขับได้                                                              100 W.RMS.สูงสุดสวิง 400 W.

ความต้านทาน                                                             8 โอห์ม

จุดตัดแบ่งความถี่                                                        1.5 kHz

ระบบเบส                                                        แบบรูระบาย ผ่านท่อเป็นช่องยาวแนวนอนด้านหน้า

ขั้วต่อสายลำโพง                                                         Binding Post ไบ-ไวร์ได้

ขนาดตู้ สูง × กว้าง × ลึก (นิ้ว)                                     15.4 × 8.5 × 12.25 หนัก 8 กก.

ตัวตู้ไวนีลปะลายไม้

DSC_0002

ข้อเสนอโปรดสังเกต

ปัจจุบัน ลำโพงบ้าน โดยเฉพาะลำโพงวางหิ้ง แทบไม่มีเลยที่จะกินวัตต์น้อยและให้ความไวได้เกิน 90 dB SPL/w/m ยังไม่ต้องพูดถึงความไวของ RB-61 II ที่ไวได้ถึง 95 dB SPL/w/m ความไวต่างกัน 1 dB เราฟังออก ถ้าต่างกัน 2 dB ฟังจริงๆ จะรู้สึกว่าดังกว่ากัน 2 เท่า ซึ่งถ้าจะให้ดังเท่ากัน ต้องใช้กำลังขับเพิ่มอีกเป็น 100 เท่า

ดังนั้น ลำโพงที่ให้ความไวสูงๆ จึงได้เปรียบมาก ยิ่งในแง่ของการสวิงเสียงได้รุนแรงกว่า (ไม่อั้น, ไม่ตื้อ), ความเพี้ยนต่ำกว่า เสียงจะฟัง เกลี้ยง สะอาดกว่า ฟังนานไม่ล้าหู

แต่ข้อเสียคือ ทุ้มมักลงได้ไม่ลึก แต่ RB-61 II ออกแบบระบบเบสได้ดี ทุ้มกลับลงได้ลึก, อิ่มถึง 40 Hz สบายๆ ขณะที่ระบบฮอร์นที่ช่วยยิงโยน เสียงกลางสูงถึงสูงสุด ก็ไม่ส่ออาการก้อง, อู้ ใดๆ

การทำปากแตรแนวนอน ช่วยให้มุมกระจายเสียงแนวนอนกว้างขึ้นอย่างควบคุมได้ การทำปากแตรแนวตั้งไปพร้อมๆ กัน ช่วยให้มุมกระจายเสียงแนวตั้งได้กว้าง มิติสูงต่ำจะดีขึ้น พร้อมกับหล่อหลอมกับเสียงจากดอกกลางทุ้มได้เนียน เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันดีขึ้น (Point Source ดีขึ้น)

 

DSC_0047

 

ผลการทดสอบ

จากเครื่องเล่นนบลู-เรย์ OPPO 105 (ปรับปรุงภาคจ่ายไฟโดย PERFECT POWER) ต่อออกสายเสียง MADRIGAL CZ-GEL2 (บาลานซ์) ไปอินทีเกรทแอมป์ GAMUT Di150 (180 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 360 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม, 700 W.RMS/CH ที่ 2 โอห์ม) (เป็น Dual Mono ทรานซิสเตอร์ Class AB) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (แยกสองชุดอิสระไม่แตะกัน หัว WBT บานาน่า) ต่อ ไบ-ไวร์ เข้า RB-61 II ที่เอาหน้ากากออก, วางบนขาตั้ง TARGET 24 HJ เอียงลำโพง (TOE IN) จูนให้ได้สุ้มเสียงครบ, มิติเสียง โฟกัส มีทรวดทรงดีที่สุด ลำโพงซ้าย, ขวา ห่างกันประมาณ 2 เมตร ห้องฟังประมาณ 3.85 × 9 × 2.5 เมตร ฝาผังมีฟองน้ำเก็บเสียง SONEX (สีขาว, เยอรมัน), พื้นห้องปูพรม (ปูน) ยกสายลำโพงสูง หนีพื้นห้องด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีดสูง 1 คืบ คั่นสาย S-2 (เดินตามทิศ) ชุดแหลมกับชุดทุ้มด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด 1 ตั้ง (รีม) ทับบนสุดสายอีกสามตั้งให้นิ่งสนิท

สายไฟ, สายเสียง (L, R), ไม่มีการแตะกัน สายไฟ AC ของแอมป์ Di150 ใช้สายสีม่วงของ CHORD เข้าตัวกรองไฟ PHD POWER STATION, สายไฟ AC ของ OPPO 105 ก็มาผ่านเข้าตัวกรองไฟนี้เช่นกัน ใช้สายไฟ AC จากอินทีเกรทแอมป์ MARK LEVINSON No.383 เลือกฟังทดสอบเฟสไฟขาออกจาก PHD นี้ด้วย (เป็นยี่ห้อเดียวในโลกที่ขาออกมี 2 ชุดให้เลือกเสียบที่เฟสไฟ บวก, ลบ สลับกัน…มีผลมาก) พร้อมกับมีหัวเสียบกรองไฟ PHD 2 เสียบที่กำแพงเต้าเสียบไฟอีก 1 ตัว, อีก 2 ตัว ในห้องที่เต้าเสียบอื่นอีก 2 ชุด นอกห้องที่แผงไฟเข้าห้องอีก 2 ตัว เต้าเสียบตัวเมียที่กำแพงที่สายไฟ AC ของกล่องกรองไฟ PHD POWER STATION เสียบอยู่ เป็นตัวเมียของ MONITOR ACOUSTICS รุ่นสูงสุด, สีเทาพร้อมฝาปิด (ดีมากๆ มีผลให้ทุกอย่างดีขึ้น 35-40% เลย) พร้อมกับมีผลึกทัวมารีน 1 แท่ง (1 นิ้ว × 1 คืบ) วางชิดอยู่ (ช่วยให้เสียงสวิง ค่อย-ดัง สมบูรณ์แบบขึ้น) ที่ขาออกไฟของกล่อง PHD นี้อีก 1 ก้อน่ที่เต้าเสียบตัวเมีย 2 ชุด อีกชุดละ 1 ก้อนภายในห้อง

สายไฟ AC ที่เข้ากล่อง PHD POWER STATION เป็น FURUKAWA CB10 3 เส้น (ทิศทางถูกต้อง), หัว WATTGATE ทั้งตัวผู้ตัวเมีย (สายชุดนี้ประมาณ 1 หมื่นบาท เสียง/มิติ ดีกว่าสายไฟ AC แพงๆ ระดับเกือบ 3 หมื่นบาท)

มีการทำระบบระบายกระแส EDDY ลงดิน (ลงกระทะเหล็กหล่อของฝรั่งเศส) ให้กับตัวกรองไฟ PHD POWER STATION ด้วย

บน OPPO 105 มีแผ่นผลึกอาเกตขนาด 2 ฝ่ามือครึ่ง (เกือบกลม) หนา 8 มม. มีแท่งออบซิเดียนสูง 1 คืบ × 1 ซม. วางบนแผ่นอาเกต 1 แท่ง, กับอีก 1 ก้อนกลมขนาด 2 นิ้ว แท่งผลึกควอตซ์สูงครึ่งคืบอีก 4 แท่ง วางรอบๆ อาเกต ผลึก/แร่ ทั้งหมดต้องลองขยับตำแหน่งวาง จนได้เสียง/มิติ ดีที่สุด

สายภาพ MONSTER HDMI 2000HD จาก OPPO 105 ไปจอ TOSHIBA 23 นิ้ว FULL HD ที่วางด้านหน้า (สายไฟไปตัวกรอง PHD POWER STATION เช่นกัน) มีผลึกควอตซ์ 4 แท่งปะหลังจอกระจายๆ

ที่กลางห้องมีกล่องตัวอย่างผลึกเล็กๆ 12 ก้อน/ หนังสือ ของ JUDY HALLS วางอยู่ (หมุนหาทิศทางด้วย) กับอีก 4 กล่อง วางรอบๆ ด้านหลังที่นั่งฟัง (ห่างจากลำโพงประมาณ 3.65 เมตร)

ภายในห้องมีของเยอะพอสมควร แต่ไม่มีรีโมทอื่นใด (นอกจากของ OPPO 105), ไม่มีจอ LCD อื่นใด, ไม่มีระบบ WiFi/LAN (นอกจากที่รั่วเข้ามาจากภายนอก 6-7สปอต), ไม่มีนาฬิกาควอตซ์ใดๆ (แม้แต่ข้อมือ), ไม่มี PC, โน้ตบุ้ก, Labtop ไม่มีโทรศัพท์มือถือ เอาการ์ดแม่เหล็กต่างๆ ออกจากกระเป๋าเสื้อ ไม่มีรีโมทแอร์ ปรับแอร์ 25 องศา พัดลม Low ต่ำสุด ลมลงหลังลำโพง

มีก้อนผลึกอะมิสขนาด 4 ฝ่ามือ อยู่ด้านขวาของ OPPO 105 ห่างออกไปครึ่งเมตร, กับอีก 1 ก้อน (1 กำปั้น) ที่พื้นใกล้จุดนั่งฟัง ห่างออกไปเมตรกว่าๆ

DSC_0015

ผลการฟังเสียงภาพยนตร์

เลือกระบบเสียงขาออกจาก OPPO 105 ไปที่ LT/RT ช่องบาลานซ์ (ใช้ DAC ซ้าย 4 ชุด, ขวา 4 ชุด) เร่งโวลลุ่มที่ GAMUT 9 นาฬิกา ที่รีโมทของ OPPO 105 (เร่ง 95-100) เช็ค Absolute phrase (การขยับกรวยลำโพงว่า ขยับเข้า หรือออก กับหนังเรื่องนั้นๆ) (นี่คือเหตุผลที่เลือกออกบาลานซ์ที่กลับเฟสนี้ได้ และเลือก OPPO 105 ปล่อยสัญญาณภาพความละเอียดแค่ 438/576i ไม่ว่าใช้แผ่น VCD, DVD, Blu-ray เนื่องจากจะให้ทั้ง ภาพ(ที่มีมิติทรวดทรงดีกว่า) และ เสียง มีทรวดทรง ชีวิตชีวา รายละเอียดดีกว่าเช่นกัน) (ยิ่งพวกกดเพิ่มความละเอียดภาพมากกว่าตัวแผ่นเองยิ่ง นรกมีจริง”!)

เท่าที่ฟังคิดว่า RB-61II น่าจะถูกใช้งานมาพอสมควรแล้ว คงไม่ต้องเบิร์นอินอีก

RB-61II ให้เสียงพูดได้อารมณ์ สอดใส่วิญญาณได้ดีเยี่ยม เกินมาตรฐานลำโพงปากแตรทั่วๆ ไป ขณะที่แฝงด้วยรายละเอียดหยุมหยิมได้ไม่ธรรมดาเลย จะแพ้ก็แต่พวกดอกแหลมแผ่นฟิล์ม, อิเล็กโตรสแตติก, HAIL AIR MOTION TRANSFORMER เท่านั้น (ยังไงลำโพงพวกนี้ก็ให้การสวิงเสียงปลายแหลมได้ไม่เข้มข้นเท่าดอกแหลมไดนามิกดีๆ) ขณะฟังเสียงหนังจะรู้สึกเหมือนปลายแหลมไปได้ แค่ 18 kHz – 20 kHz แต่ตอนฟัง CD กลับรู้สึกว่าน่าจะไปได้สูงกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ 25 kHz~28 kHz

RB-61II ให้เสียงความถี่ต่ำได้เป็นเรื่องเป็นราวดี อาจไม่อ้วน อิ่มมหึมา แต่ก็ลงได้ลึกระดับ 40 Hz สบายๆ กระชับไม่เบลอ มีพลังเกินคาดจากลำโพงตู้เปิดที่ความไวสูงถึง 95 dB อย่างนี้ (ปกติลำโพงที่ความไวสูงๆ ทุ้มมักห้วนตกวูบลงหรือไม่ก็ เบลอ บวม อู้ก้อง)

เสียงหนังปกติจะสวิงจากค่อยสุดไปดังสุดเป็นช่วงกว้างมาก (Dynamic กว้าง) ซึ่ง RB-61II ก็ให้ได้อย่างเหลือเชื่อ (เอาว่าลำโพงวางพื้น 3 ดอก หลายๆ รุ่นสู้ไม่ได้ก็แล้วกัน) เปิดได้ดังสนั่นห้อง 3.85 × 9 × 2.5 เมตร (บุเก็บเสียง) โดยไม่ส่ออาการจัดจ้าน เกร็ง กร้าวใดๆ

การที่มันให้ Dynamic ได้กว้าง ทำให้แยกแยะเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน (อย่างที่เสียงหนังมีอยู่ในฉากส่วนมาก) ได้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้สึกสับสน อื้ออึงไปหมด (มั่วหมด) รวมทั้งแยกเสียงตรงกับเสียงก้อง อย่างฉากในถ้ำ, ฉากจินตนาการ (อวกาศ) ได้ชัดดีมาก เสียงก้องไม่ตีเสมอเสียงตรงจนสับสนเป็นก้อนเดียวกัน ลดทั้งความชัด และ มิติเสียง (ตอนฟัง CD) ก็รู้สึกได้ชัดถึง ข้อดีนี้เช่นกัน อย่างแทบจะหาจากลำโพงทั่วๆ ไปไม่ได้ขนาดนี้

การที่มันแยกเสียงก้องได้ขาด จากเสียงตรง ทำให้ได้รูปลักษณ์ รายละเอียด ของเสียงก้องที่ชัดเจน เพิ่มความชรัดของเวทีเสียงได้ดีมาก เสริมบรรยากาศได้ดีเยี่ยม

RB-61II ให้เวทีเสียงได้กว้างดีมาก สูง-ต่ำ เยี่ยม การแยกบรรยากาศด้านหน้ากับด้านหลังเราชัด แม้ว่าการเชื่อมถึงกันจะด้อยไปนิด แต่ก็ทำให้ได้อรรถรสของเสียงรอบทิศได้เกินพอ ทั้งๆที่ฟังจากเครื่องเสียง 2 CH ธรรมดา (แทนที่จะซื้อลำโพง 5.1 CH ระดับล่างถูกๆ เอามารวมทุ่มเป็น RB-61II คู่เดียวก็เกินพอ ไม่เกะกะวุ่นวายด้วย)

สรุป การดูหนังผมให้ 92% (ส่วน 100)

DSC_0066

ฟังเพลง CD

RB-61II ว่าดูหนังให้เสียงน่าประทับใจมากแล้ว ยิ่งเอามาฟัง CD ยิ่งดีขึ้นไปอีกทุกด้าน (เพราะเสียงเพลงไม่เร่งรีบเหมือนเสียงหนัง) ไม่ว่าการแยกแยะระดับดังค่อย (Dynamic Contrast), อากัปกิริยา ทีท่าลีลา, การสอดใส่อารมณ์ รายละเอียดหยุมหยิม โดยเฉพาะปลายแหลมที่สด เป็นประกายดีมาก อีกทั้งให้ลมหายใจของตัวโน้ตแหลมได้ดีทีเดียว แทบไม่ต่างจากพวกแหลมแผ่นฟิล์ม, ริบบ้อน ต้องนั่งฟังจับผิดกันจริงๆ เสียงผิว (Textture) ก็ทำได้ดีเกินคาด เสียงกลางเปิดดี อยากให้มีกลางต่ำแถวๆ 500~800 Hz ขึ้นมาอีกหน่อยจะยิ่งสวย ทุ้มอาจไม่มหึมา สนั่นสะท้านห้อง แต่เสียงตีกลองใหญ่ (ทิมปานี) ก็ยังฟังออกชัดว่า กลองใบใหญ่ หน้ากลองตึงเป๊ะ เสียงต่ำลึกพอมี เสียงโดยรวมออกหวานนิดๆ สดตื่นตัวหน่อยๆ พูดง่ายๆ ว่า ดุจฟังการแสดงสด มากกว่าเสียงแบบผ่อนคลาย เอาใจหู เชื่อว่า ใครฟังนานๆ จะชอบ สไตล์สด ที่มีชีวิตชีวากว่า ออกหลากหลายกว่า (ไม่น่าเบื่อ) ให้เวทีเสียงกว้าง แต่ยังไม่ขนาดโอบมาซ้ายหลัง, ขวาหลัง แต่ด้านสูงทำได้ดีมาก บางช่วงลอยอยู่บนเพดานห้อง วิ่งวนเหนือลำโพงซ้าย, ขวา แล้วเรี่ยเพดาน มาวนอยู่เหนือหัวเราได้!

ให้เสียงได้ฉับไวดีมาก ไม่ส่ออาการอั้น, มั่ว ในความกังวานได้ดีเยี่ยม (จริงๆ) เสียงกังวาน ไม่ฟุ้งฝอย การแผ่หลุดลอยออกมาได้ดี ลำโพงล่องหน 100%

DSC_0021

สรุป ฟังเพลงได้ 90% (ส่วน 100)

มีลำโพงวางหิ้งไม่กี่คู่จริงๆ ที่ได้คะแนนทั้งการฟังเพลง, ดูหนัง ระดับ 90/92% ส่วนใหญ่ถ้าฟังเพลงดี 90-95% แต่พอดูหนังบางทีเหลือ 70~80% เอง ถ้าคุณกำลังมองหาลำโพงวางหิ้งที่เยี่ยมทั้งดูหนังและฟังเพลงละก็ RB-61II คือ สวรรค์ประทาน จริงๆ

หมายเหตุ RB-61II ราคาตั้งคู่ละ 26,000 บาท ต่อรองได้บ้าง

ขอขอบคุณ บริษัท โฮม ไฮ-ไฟ จำกัด โทร. 02-4485489 ที่ให้ลำโพงมาทดสอบครั้งนี้