SVS SB-3000 “ทุ้มสะอาด อิ่มชัด โดดเด่นด้วยสไตล์ตู้ปิด”

0

ฐานิสร์ มหาคุณ

ซับวูฟเฟอร์นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยสำหรับการดูหนัง เพราะเสียงเบสเป็นเสียงที่ให้ความสนุก ตื่นเต้น และสมจริง ถ้าขาดเสียงเบสที่ดีไปแล้ว พลันอาจจะทำให้หนังเรื่องหนึ่งกลายเป็นอีกเรื่องไปเลยทีเดียว เสียงเบสที่ดีนั้นจะให้ความกระแทกกระทั้น มีแรงปะทะเกิดขึ้นจนทำให้เรารู้สึกว่าภาพที่เกิดขึ้นในจอขณะนั้น เกิดขึ้นตรงหน้าเราจริงๆ อย่างเช่นเสียงปืนต่างๆ เมื่อมีแรงปะทะเกิดขึ้น ก็จะทำให้เรารู้สึกว่ามีปืนมายิงตรงหน้าเราจริงๆ ส่วนมวลของเสียงเบสหรือว่าความสั่นสะเทือน ก็จะไปเสริมกับเสียงที่ออกมาจากลำโพงหลัก ทำให้เสียงต่างๆ นั้น ดูมีขนาดหรือบอดี้ที่ใหญ่สมจริง อย่างเสียงเครื่องบินในหนังที่บินผ่านเราไป ถ้าได้ซับวูฟเฟอร์ดีๆ มาช่วย ก็จะทำให้เรารู้สึกได้ถึงความใหญ่ของเครื่องบินที่บินผ่านไป

นอกจากจะทำหน้าที่เป็นพระเอกในชุดโฮมเธียเตอร์ได้แล้ว ซับวูฟเฟอร์ก็สามารถพลิกบทบาทกลายเป็นผู้ร้ายให้กับระบบได้เช่นกัน ถ้าซับวูฟเฟอร์ที่เราใช้อยู่นั้นมีคุณภาพที่ไม่ดีพอ หรือว่ามีการเซทอัพที่ไม่ถูกต้อง เสียงเบสที่จะต้องมีหน้าที่เสริมประสิทธิภาพให้กับเสียงอื่นๆ ก็จะกลายเป็นก่อการรบกวนทำให้เสียงโดยรวมของระบบด้อยลงไปทันที หรือหนักกว่านั้นอาจจะทำให้เราเกิดความรำคาญจนดูหนังไม่สนุกเลยก็เป็นได้ การพิจารณาเลือกซับวูฟเฟอร์มาใช้ในระบบของเรา จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในระบบโฮมเธียเตอร์ โดยตัวผู้เขียนเองนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ เลยทีเดียว

SVS SOUND REVOLUTION

ซับวูฟเฟอร์ในท้องตลาดบ้านเรา นั้นก็มีให้เลือกมากมายหลายแบรนด์และหลายรุ่นราคา SVS ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์จากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีความโดดเด่นอยู่ ณ ชั่วโมงนี้ จุดเด่นของซับวูฟเฟอร์จาก SVS ก็คือ เป็นซับวูฟเฟอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่จ่ายด้วยราคาไม่แพงนัก และในแต่ละรุ่นราคาก็ยังให้เสปกต่างๆ มาให้เราแบบไม่มีกั๊ก

ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นได้ว่า ในระดับราคาที่เท่าๆ กัน ซับวูฟเฟอร์จาก SVS จะมีกำลังขับ, ขนาดไดร์เวอร์, หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่มากกว่าแบรนด์อื่นๆ และอีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญของซับวูฟเฟอร์จาก SVS นั้นก็คือ ทุกรุ่นซีรี่ของซับวูฟเฟอร์ จะมีรุ่นแยกให้เราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้เป็นซับวูฟเฟอร์แบบตู้ปิดหรือตู้เปิด โดยที่แบบตู้ปิดจะใช้รหัสรุ่นว่า SB (Sealed Box) และส่วนตู้เปิดจะใช้รหัสรุ่นว่า PB (Ported Box)

ตัวอย่างจากสินค้าที่ผู้เขียนได้รับมาทดสอบครั้งนี้ คือรุ่น SB-3000 ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เป็นซับวูฟเฟอร์ในซีรี่รุ่น 3000 ที่มีตัวตู้แบบตู้ปิด

ตู้ปิด VS ตู้เปิด

ก่อนที่จะกล่าวถึง SB-3000 ผู้เขียนขอกล่าวถึงระบบตู้ปิดและตู้เปิดของซับวูฟเฟอร์กันสักนิด ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เริ่มต้นกันที่ระบบตู้ปิด (Sealed Box หรือ Acoustic Suspension) ตู้ของซับวูฟเฟอร์ประเภทนี้จะมีลักษณะปิดทึบ อากาศและเสียงที่อยู่ในตัวตู้ไม่สามารถเล็ดลอดออกมาได้เลย ข้อดีก็คือเสียงที่เราได้ยินจึงเป็นเสียงจากตัวไดรเวอร์ล้วนๆ ทำให้บุคลิคเสียงที่ได้จากซับวูฟเฟอร์ตู้ปิดจึงเป็นเสียงเบสที่สะอาด ลึก รายละเอียดดี และกระชับ ส่วนข้อเสียก็คือต้องใช้แอมป์กำลังขับมากๆ ถึงจะสามารถให้เสียงออกมาดีและดัง ทำให้ซับวูฟเฟอร์ตู้ปิดส่วนมากจะอยู่ในรุ่นสูงๆ และมีราคาแพง

ส่วนระบบตู้เปิด (Ported Box หรือ Bass Reflex) ตู้ของซับวูฟเฟอร์ประเภทนี้จะมีท่อหรือช่องที่สามารถระบายคลื่นความถี่ต่ำที่อยู่ในตัวตู้ออกมาได้ เพื่อให้คลื่นความถี่เหล่านั้นไปเสริมกับเสียงที่ออกมาจากตัวไดร์เวอร์ ส่งผลให้เสียงที่ได้นั้นมีความกระแทกกระทันและความหนักหน่วงที่ดี โดยที่ไม่ต้องพึ่งกำลังขับของแอมป์มากนักก็ให้เสียงออกมาดีได้ ส่วนข้อเสียก็คือ การที่มีการปล่อยความถี่ต่ำออกมาจากท่อระบาย หากมีการออกแบบปริมาตรตัวตู้และท่อระบายได้ไม่ดีพอ ก็จะทำให้เสียงเบสออกมาไม่สะอาดได้ ส่วนเรื่องตำแหน่งการวางก็มีผลมากกับซับวูฟเฟอร์แบบตู้เปิด หากเราเซทอัพไม่ดีพอ จะมีโอกาสทำให้เสียงเบสบูม หรือคราง ได้ง่ายกว่าซับวูฟเฟอร์ตู้ปิด

SB-3000 รุ่นกลางๆ ที่คุณภาพอัดแน่น

ซับวูฟเฟอร์จากทาง SVS จะมีด้วยกัน 5 รุ่นซีรี่ด้วยกัน เรียงลำดับกันไปตั้งแต่ซีรี่ 1000 จนถึงซีรี่ 4000 และมีรุ่นสูงสุดคือ รุ่น 16 Ultra เพราะฉะนั้นตัวรุ่น SB-3000 ที่ได้รับมาทดสอบจึงถือเป็นรุ่นที่วางตำแหน่งอยู่ตรงกลางพอดีของรุ่นซีรี่ซับวูฟเฟอร์จาก SVS โดยรุ่น SB-3000 จะมีขนาดไดร์เวอร์อยู่ที่ 13 นิ้ว (ถือว่าค่อนข้างใหญ่แต่ไม่ใหญ่มาก) และด้วยความที่เป็นซับวูฟเฟอร์แบบตู้ปิด SB-3000 จึงมีขนาดตัวตู้ที่ไม่ใหญ่

ผู้เขียนขอเรียกว่าเป็นซับวูฟเฟอร์ที่มีขนาดค่อนข้างกระทัดรัดเลยทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับไดร์เวอร์ขนาด 13 นิ้วของมัน และที่สำคัญมันยังมีความกว้างขอตัวตู้แค่ 15 นิ้วนิดๆ เท่านั้นเอง ถึงแม้ว่า SB-3000 จะเป็นซับวูฟเฟอร์รุ่นกลางของ SVS แต่ตัวของมันก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะทาง SVS ได้จับเทคโนโลยีในการออกแบบต่างๆ ใส่เข้ามาในตัว SB-3000 อย่างแน่นเอียด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีจากรุ่นที่สูงกว่า หรือเทคโนโลยีที่พึ่งคิดค้นใหม่ โดยผู้เขียนอยากจะขอแจงจุดเด่นที่น่าสนใจของ SB-3000 ไว้เป็นข้อๆ ดังนี้

  • ใช้ไดร์เวอร์ขนาด 13 นิ้วแบบ High-Excursion ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ และผลิตขึ้นเองโดย SVS
  • กรวยของไดร์เวอร์เป็นวัสดุอลูมิเนียม 1050 ที่แข็งแกร่ง และน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ ตัวดัสแคปทำจากวัสดุไฟเบอร์ และขอบเซอร์ราวด์เป็นแบบช่วงชักยาว
  • โครงของไดร์เวอร์ทำจากอลูมิเนียมแบบ FEA-Optimized ที่ให้ความแข็งแกร่งสูง ทำให้ช่วยลดเรโซแนนซ์ที่เกิดภายในตัวไดร์เวอร์ได้
  • ตัววอยซ์คอยล์แบบใหม่ ที่ SVS เรียกว่า Flat Edge Wound Split-Wind Voice Coil ซึ่งให้แรงแม่เหล็กได้สูง แต่ว่ามีน้ำหนักเบา
  • ภาคขยายเป็นแบบ Power Sledge Class D ให้กำลังขับ 800 W แบบต่อเนื่อง และพีคได้ถึง 2500 W+ พร้อมวงจรภาคเอาต์พุต 25 Amp 600 Volt แบบ Mosfet แยกอิสระ
  • การทำงานของซับวูฟเฟอร์ควบคุมด้วยระบบ DSP ความละเอียดสูง แบบ 50Mkz Analog Devices  with Double Precision 56bit Filtering ซึ่งทำให้การปรับตั้งค่าเสียงต่างๆ มีความแม่นยำสูง และช่วยลดความผิดเพี้ยนของสัญญาณ
  • ตัวตู้ทำจากไม้ MDF 2 ชั้น และมีการคาดโครงภายใน ทำให้ตัวตู้มีความแข็งแกร่ง และปราศจากเรโซแนนซ์
  • มี DSP App Control ผ่านระบบบูลทูธ ที่สามารถเซทอัพค่าต่างๆ ได้อย่างละเอียด รวมถึง Parametric EQ

หน้าตาเรียบง่ายแต่ดูทันสมัย

  หน้าตาของ SB-3000 ถ้าหากมองเผินๆ แล้ว มันก็ดูเรียบง่ายไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้ถูกใส่ลงไป เช่น การทำมุมของตู้ให้โค้งมน และตัวโลโก้ SVS ที่ถูกปั้มลงไปในตัวไดร์เวอร์ สิ่งเหล่านี้เมื่อมองรวมกันแล้ว มันทำให้ SB-3000 ดูทันสมัยอยู่ไม่น้อยทีเดียว และบวกกับสีผิวตัวตู้ที่ได้มาทดสอบนี้เป็นสีแบบเปียโนด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ SB-3000 มันดูเท่ และเคร่งขรึมมากขึ้นไปอีก ความสวยงามน่ามองของ SB-3000  อีกหนึ่งจุดที่ตัวผู้เขียนชอบก็คือ การใช้ไดร์เวอร์ขนาด 13 นิ้ว มาติดตั้งอยู่ในตู้ที่ขนาดไม่ใหญ่นัก มันทำให้พื้นที่บริเวณขอบของตัวตู้ ห่างจากขอบของไดร์เวอร์เพียงนิดเดียว ตรงนี้ผู้เขียนมองว่ามันดูทะมัดทะแมงและปราดเปรียวดี ทางด้านหลังของ SB-3000 ก็ดูเรียบง่ายแต่ทันสมัยเช่นกัน เพราะปุ่มหมุนต่างๆ มันถูกแทนที่ด้วยปุ่มกดแบนๆ และไฟ LED บอกสถานะ ปุ่มกดและไฟ LED เหล่านี้ เราอาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจสักนิด แต่ใช้งานไม่ยากแน่นอนครับ หน้ากากของ SB-3000 ก็ออกแบบมาได้ดีทีเดียว ตัวหน้ากากจะเป็นตะแกรงเหล็กโค้งที่แข็งแรงและยึดติดกับตัวลำโพงได้แน่นหนา ทำให้การใช้งานเพื่อป้องกันตัวไดร์เวอร์ได้ผลดี และเมื่อเปิดที่ความดังสูงๆ ก็จะไม่เกิดอาการกระพือแบบหน้ากากผ้าทั่วไป

สเปกเบื้องต้น

  • ขนาดไดร์เวอร์ 13 นิ้ว
  • พาว์เวอร์แอมป์แบบ Class D กำลังขับ 800 W (2500+ พีค)
  • ตอบสนองความถี่ 18 – 270 Hz +- 3dB
  • ขนาด สูง 39.7 กว้าง 38.5 ลึก 45.2 (ซ.ม.)
  • น้ำหนัก 24.7 กิโลกรัม

การเซทอั

  น้ำหนักตัวประมาณ 25 กิโลกรัมของ SB-3000 ยังคงพอที่จะให้เราเคลื่อนย้ายด้วยตัวคนเดียวได้ แต่ก็ควรจะระมัดระวังสักหน่อย ตัวตู้ขนาดพอเหมาะของมัน ทำให้เราจัดหาที่หรือช่องที่จะวางมันค่อนข้างง่าย ผู้เขียนวางมันลงไปแทนที่ซับวูฟเฟอร์ตู้เปิดขนาด 10 นิ้ว ที่ตัวผู้เขียนใช้อยู่ก่อน ได้อย่างค่อนข้างพอดี โดยที่ไม่รู้สึกว่ามันใหญ่ขึ้นเลย ทั้งๆ ที่ตัวไดร์เวอร์มันมีขนาดถึง 13 นิ้ว ด้านล่างของ SB-3000 จะมีขาตั้งเล็กๆ ที่ทำจากยางแถมมาให้ ต้องขอชมเลยว่าขาตั้งอันนี้ใช้งานได้ดีมาก เมื่อวาง SB-3000 ลงไปแล้ว มันให้ความรู้สึกที่มั่นคงและ “หนึบ” ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่า SB-3000 จะไม่ไถลไปจากจุดที่เซทอัพไว้ ไม่ว่าจะเป็นจากการเปิดดังๆ หรือขยับตัวไปชนมัน ตำแหน่งที่วางในห้องทดสอบ ผู้เขียนขอเริ่มที่ตำแหน่งเดิมของซับตัวก่อน นั่นก็คืออยู่ระหว่างลำโพงหน้าซ้ายและลำโพงเซ็นเตอร์ ห่างผนังด้านหลังออกมาประมาณ 80 ซ.ม. ส่วนสายสัญญาณที่ใช้เป็นสายซับวูฟเฟอร์เส้นเดียวมาเข้าที่ช่อง LFE ของ SB-3000

  จบจากเรื่องตำแหน่งการวางไปแล้ว ก็มาที่เรื่องการตั้งค่าต่างๆ ผู้เขียนขอแนะนำเลยว่า ให้ใช้ตัว App Control จากมือถือได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปสนใจปุ่มต่างๆ ที่อยู่ด้านหลังของ SB-3000 เพราะตัว App Control สามารถควบคุมได้ทุกอย่างและปรับตั้งค่าได้ละเอียดกว่าปุ่มด้านหลัง และที่สำคัญคือเราสามารถนั่งปรับค่าต่างๆ ที่เก้าอี้นั่งฟังได้เลย โดยไม่ต้องลุกเดินไปที่หลังซับวูฟเฟอร์ ทำให้การปรับค่ามีประสิทธิภาพมากว่า เพราะสามารถปรับไปฟังไปได้ทันที

ส่วนการโหลด App Control ก็ทำได้โดยง่าย เพียงเข้าไปที่ App Store หรือ Google Play จากในมือถือ เมื่อเราเปิด App Control ขึ้นมา มือถือและตัวซับวูฟเฟอร์ก็จะทำการเชื่อมต่อกันโดยอัตโนมัติ และหน้าจอของ App Control ก็จะโชว์ชื่อรุ่นของซับวูฟเฟอร์ให้เราได้เห็น จากตรงนี้เราก็สามารถปรับค่าต่างๆ จากเมนูบนหน้าจอได้ทันที

App Control ของ SVS นั้นใช้งานง่ายและทำความเข้าใจได้ไม่ยาก โดยหัวข้อการตั้งค่าต่างๆ ก็มีตั้งแต่ค่าพื้นฐาน อย่างเช่น Level, Crossover, Phase จนไปถึงหัวข้อที่แอตวานซ์ขึ้นมาหน่อยอย่างเช่น Parametric EQ, Room Gain เมื่อทำการปรับค่าต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็ออกจาก App Control ได้ทันที ค่าต่างๆ ที่เราปรับไว้ก็จะบันทึกไว้ใน SB-3000 ตลอด

ตรงนี้หลายท่านคงรู้สึกแปลกๆ ที่เราต้องปรับซับวูฟเฟอร์จากหน้าจอมือถือ เพราะเราคุ้นชินกับปุ่มหมุนต่างๆ ที่อยู่บนตัวซับวูฟเฟอร์ ตัวผู้เขียนเองในตอนแรกก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน แต่ใช้งานไปสักพักก็พบว่ามันสะดวกและดีกว่าการลุกขึ้นไปปรับที่ตัวซับวูฟเฟอร์จริงๆ และผู้เขียนเชื่อว่าในไม่นานนี้ซับวูฟเฟอร์ก็จะหันมาใช้ App Control กันหมด

ผลการรับฟัง

  ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนได้รับซับวูฟเฟอร์เข้ามาทดสอบอยู่หลายตัวเหมือนกัน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พบว่าการที่ซับวูฟเฟอร์ถูกเก็บลงกล่องมาเป็นเวลาพอสมควร เวลาที่จะนำกลับมาใช้งานใหม่นั้น เราควรที่จะเบิร์นอินมันอีกครั้งก่อน เหมือนกับตอนที่แกะกล่องมันครั้งแรก เพราะเมื่อเราไม่ได้ใช้งานมันนานๆ ขอบยางที่เคยขยับเข้าออก มันก็จะเกิดอาการแข็งตัวขึ้นนิดหน่อย ทำให้การขยับตัวนั้นทำได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วยิ่งเป็นไดร์เวอร์ใหญ่ๆ ขอบยางหนาๆ อย่าง SB-3000 แล้ว มันอาจจะเกิดอาการอย่างที่ว่านี้ได้มาก

ผู้เขียนจึงได้ให้เจ้า SB-3000 ได้ยืดเส้นยืดสายสักหน่อย ในการดูหนัง ฟังเพลง ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ฟังแบบพินิจพิเคราะห์มากนัก ถึงแม้ว่าจะไม่ใช้การฟังแบบจริงจัง แต่ SB-3000 ก็สามารถทำให้ผู้เขียนสะดุดหูได้กับเสียงเบสที่เต็มไปด้วยความสะอาดของมัน เสียงเบสของ SB-3000 มันทำให้เรารับรู้ได้ถึงความชัดเจนและเคลียร์ โดยที่ไม่มีคำว่า อื้ออึง หรือ พร่ามัว ออกมาเลย ความสะอาดนี้ส่งผลให้ดุลเสียงโดยรวมของระบบมีความน่าฟัง และฟังสบายมากขึ้นไปอีก

ในระหว่างที่อยู่ในช่วงยืดเส้นยืดสายเสียงจาก SB-3000 โดยรวมถือว่าน่าประทับใจทีเดียว แต่ผู้เขียนยังรู้สึกว่าเนื้อเสียงหรือความหนาของเสียงเบสนั้นยังมีน้อยไปนิด และบางทีก็รู้สึกว่าเสียงเบสเก็บตัวเร็วไปหน่อย ผู้เขียนจึงได้ปล่อยให้ SB-3000 ได้วอร์มอัพตัวเองต่อไปเรื่อยๆ อีกราวหนึ่งสัปดาห์ อาการดังกล่างจึงได้หายไป และน้ำเสียงโดยรวมดีขึ้นพอสมควรทีเดียว

  เมื่อคิดว่า SB-3000 พร้อมกับการทดสอบแล้ว จึงขอเริ่มการทดสอบด้วยการดูหนังเป็นอันดับแรก เสียงเบสที่ได้จาก SB-3000 นั้นจะมาในสไตล์ที่อิ่มลึก แน่น มีมวลเสียงที่หนา และเบสต้นที่ชัดเจน ซึ่งนั้นก็คือเอกลักษณ์ของซับวูฟเฟอร์ตู้ปิด SB-3000 จะทำให้เราได้รู้สึกถึงน้ำหนักของเสียงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีเบสเยอะหรือเบสน้อย คือมีมวลของเสียงเบสให้เราได้ยินตลอด ไม่เหมือนกับซับวูฟเฟอร์บางตัวที่มีแต่เสียงโครมคราม แต่เนื้อของเสียงเบสกลับไม่ค่อยได้ยิน

ถ้าให้จัดหมวดหมู่ ผู้เขียนขอจัดให้ SB-3000 อยู่ในประเภทที่ให้เสียงเบสคุณภาพมากกว่าปริมาณ ในการดูหนัง SB-3000 จะไม่ทำให้คุณเพลิดเพลินด้วยการกระแทกกระทั้น แต่มันจะทำให้คุณเพลิดเพลินไปกับการสร้างรายละเอียดของเสียงเบสที่ต่ำลึกให้คุณได้ยินมากกว่า เรียกได้ว่ามันแจกแจงเสียงเบสทุกๆ เสียงในหนังให้คุณได้ยิน แยกแยะได้เป็นเสียงๆ ไม่มีมั่วๆ รวมกันมา ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากดนตรีประกอบ หรือเสียงเอฟเฟคต่างๆ เมื่อเสียงเหล่านี้ดังขึ้นพร้อมๆ กัน SB-3000 จะควบคุมทุกเสียงได้อยู่หมัด และแสดงออกมาด้วยความสะอาดและอิ่มแน่น           

  การเก็บตัวที่ดีไม่ปล่อยให้เสียงเบสค้างอยู่ในห้อง ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ SB-3000 ทำได้ดีมากๆ ด้วยการที่เป็นซับวูฟเฟอร์แบบตู้ปิดและมีพาวเวอร์แอมป์ที่มีกำลังอย่างเหลือเฟือ ทำให้การหยุดกรวยของไดร์เวอร์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาการเสียงเบสค้างอยู่ในห้อง ส่งเสียงครางอื้ออึงจึงมีให้ได้ยินน้อยมากจาก SB-3000 ในหนังตระกูล Transformers หนังเรื่องนี้จะบันทึกเสียงเบสมาค่อนข้างเยอะ ทำให้อาการเสียงเบสครางเกิดขึ้นได้ง่ายมาก บ่อยครั้งเวลาที่ผมเล่นหนังเรื่องนี้กับซับตัวอื่นๆ ผมต้องไปลด Level ของซับวูฟเฟอร์ลงเพื่อลดอาการเบสคราง แต่กับ SB-3000 ผมไม่ต้องไปลด Level ลงเลย อาการเบสครางก็ไม่ค่อยมีให้ได้ยิน

 เมื่อถึงเวลาต้องรับบทโหดก็จัดให้ได้อย่างสะใจ

  ถึง SB-3000 จะไม่ใช่ซับวูฟเฟอร์ตัวโหดที่ดุดัน กระแทกกระทั้นถึงใจ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเจอกับฉากที่มีไดนามิคเสียงรุนแรง SB-3000 ก็แสดงประสิทธิภาพออกมาได้อย่างถึงอกถึงใจเช่นกัน เพราะ SB-3000 มีจุดเด่นอยู่ที่การให้น้ำหนักเสียงและความลึกอย่างยอดเยี่ยมอยู่แล้ว

อย่างเช่นฉากแข่งรถจากหนังเรื่อง Ready Player One ฉากนี้เป็นฉากที่เรียกว่ามีความวินาศสันตะโรเกิดขึ้น SB-3000 ให้เสียงเครื่องยนต์ที่เร่งเครื่องออกมาได้อย่างดุดันและมีน้ำหนักดีมาก เสียงรถชนกันก็มีความกระแทกกระทั้นรู้สึกได้ถึงแรงปะทะ เสียงลูกเหล็กที่ฟาดลงไปทำลายตึกก็ให้ความรู้สึกที่รุนแรงสั่นสะเทือน ตบท้ายด้วยเสียงของเจ้าคิงคองที่ออกมากระโดดทำลายทุกอย่างไปตามถนน SB-3000 ก็ให้เสียงที่เรียกว่าเขย่าห้องได้เลย ที่ SB-3000 สามารถทำเสียงได้ขนาดนี้ทั้งที่เป็นซับตู้ปิดและมีตัวตู้ที่ไม่ใหญ่ ความดีความชอบนี้ก็คงต้องยกให้กับภาคพาว์เวอร์แอมป์และตัวไดร์เวอร์ที่ทาง SVS ออกแบบมาเป็นอย่างดี

เซทอัพง่ายไม่เกี่ยงห้องฟัง

  ในการเซทอัพช่วงแรก ผู้เขียนใช้ตำแหน่งจุดวาง SB-3000 เป็นจุดเดิมกับที่ซับวูฟเฟอร์ตัวก่อนวางอยู่ ในการฟังจากตำแหน่งจุดวางนี้ ผู้เขียนก็รู้สึกว่าเสียงโดยรวมน่าพอใจระดับหนึ่งแล้ว แต่ผู้เขียนยังคิดว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้อีกหน่อย ผู้เขียนเลยลองไปขยับตำแหน่ง SB-3000 ดู การขยับเข้าออกจากมุมห้องนั้น ผู้เขียนไม่รู้สึกว่ามีผลกับเสียงเท่าไร ไม่เหมือนกับซับวูฟเฟอร์ตู้ก่อนที่เป็นตู้เปิด ที่การขยับเข้าออกจากมุมห้องนั้นมีผลกับเสียงมาก

ขั้นต่อไปผู้เขียนจึงได้ลองเปลี่ยนมาเป็นขยับ SB-3000 เข้ามาหาจุดนั่งฟังมากขึ้น คราวนี้จึงรู้สึกได้ว่าเสียงเบสมีน้ำหนักและอิมแพคที่ดีขึ้น จึงได้ใช้ตำแหน่งใหม่นี้ในการทดสอบ จากตรงนี้จึงได้ข้อสรุปว่า การที่ SB-3000 เป็นซับวูฟเฟอร์ตู้ปิด จึงไม่มีช่องระบายเสียงเบสออกมา ทำให้การหาตำแหน่งตั้งวางนั้นง่ายขึ้น เพราะไม่มีเสียงเบสที่ระบายออกมาแบบซับวูฟเฟอร์ตู้เปิด ซึ่งจะไปทำให้เกิดเอฟเฟคต่างๆ กับห้อง จนทำให้เราเซทอัพยาก

  ทดสอบด้วยการฟังเพลง

  ซับวูฟเฟอร์ตู้ปิดนั้นเหมาะสมกับการฟังเพลงอยู่แล้ว เพราะมีน้ำเสียงที่สะอาด รวดเร็ว และให้รายละเอียดได้ดี เมื่อนำ SB-3000 ซึ่งเป็นซับตู้ปิดที่มีคุณภาพสูงมาใช้ฟังเพลง เสียงที่ได้ออกมาจึงเป็นเสียงที่น่าฟังอย่างมาก เสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ที่ได้ SB-3000 มาช่วยเสริมในช่วงความถี่ต่ำ มันทำให้เสียงเครื่องดนตรีเหล่านั้นดูมีน้ำหนัก มีบอดี้ที่สมจริง ฟังแล้วเต็มอิ่มมากขึ้น อย่างเช่นเสียงเครื่องดนตรีชิ้นใหญ่ๆ อย่างเชลโล่ ดับเบิ้ลเบส เปียโน หรือ กลองชุด ถ้าซิสเต็มของท่านใช้ฟังเพลงแล้วรู้สึกว่า เสียงยังออกบางๆ ขาดน้ำหนัก ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าชิ้นดนตรีนั้นใหญ่สมจริง หากท่านได้ลองนำ SB-3000 เข้าไปเสริมในซิสเต็มของท่าน ผู้เขียนรับรองเลยว่าอาการดังกล่าวจะหายไปแน่นอน

  ในแนวดนตรีที่ต้องเน้นจังหวะจะโคน อย่างเช่นแนว ร็อค ป็อป หรือเพลงเต้นรำต่างๆ SB-3000 จะช่วยให้เสียงต่ำที่หนักแน่น อิ่มลึก มากขึ้น โดยที่ความกระซับกระฉับกระเฉงยังคงอยู่ ทำให้เรารู้สึกมันส์ไปกับเสียงเพลงจนอดที่จะขยับเท้าหรือโยกหัวตามไม่ได้ ส่วนเพลงที่ต้องเน้นบรรยากาศและอารมณ์ SB-3000 ก็ให้มวลเสียงต่ำที่สะอาดมาคลออยู่ในเพลงตลอดเวลา เพื่อช่วยสร้างอารมณ์ให้เราอินไปกับบทเพลง

 “เสียงเบสดีช่วยพาเสียงอื่นดีขึ้นไปด้วย”

  คำกล่าวข้างต้นนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆ ท่าน คงจะเคยได้ยินหรือได้อ่านเจอกันมาบ้าง สำหรับตัวผู้เขียนเองก็ขอบอกตรงๆ เลยว่า ก็เชื่อแต่ไม่ถึงกับเชื่อ 100 เปอร์เซนต์ เพราะยังไม่เคยเจอกับตัวเองจริงๆ มาก่อน จนผู้เขียนได้ SB-3000 มาทดสอบ จึงได้รู้ว่าซับวูฟเฟอร์ที่ดีนั้นจะช่วยให้เสียงทั้งซิสเต็มดีขึ้นได้จริงๆ โดยไม่ใช่เฉพาะแต่เสียงเบสเท่านั้น

เริ่มจากตอนที่ใช้ SB-3000 กับซิสเต็มของผู้เขียนใหม่ๆ ผู้เขียนรู้สึกว่าน้ำเสียงต่างๆ มีความใสเคลียร์มากขึ้น แต่ตอนนั้นผู้เขียนก็ยังไม่ได้เอะใจเพราะนึกว่าคิดไปเอง ก็เลยทำการดูหนัง ฟังเพลง ต่อไปตามปกติ จนมาหยิบแผ่น CD แผ่นหนึ่งขึ้นมาฟัง เพราะเป็นแผ่นที่ผู้เขียนคุ้นหูมาก แต่ในการฟังครั้งนี้กลับพบว่าน้ำเสียงมีความใสกระจ่างขึ้นจริงๆ และตำแหน่งชิ้นดนตรี ซาวด์เสตจ ต่างๆ ก็เด่นชัดขึ้นกว่าปกติ เสียงร้องจากที่ไม่ค่อยโฟกัสอยู่ตรงกลาง มาคราวนี้ก็เด่นชัดลอยขึ้นมาตรงกลาง ผู้เขียนจึงแน่ใจแล้วว่าคงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนซับวูฟเฟอร์แน่นอน เพราะทุกอย่างของซิสเต็มเหมือนเดิมทั้งหมด ยกเว้นซับวูฟเฟอร์ที่เปลี่ยนเข้ามาใหม่

เพื่อความแน่ใจ ผู้เขียนจึงลองหาแผ่นที่คุ้นหูมาฟังมากขึ้น โดยคราวนี้เปลี่ยนเป็นแผ่นหนังบ้าง ผลที่ได้ก็ออกมาเหมือนกัน คือเสียงโดยรวมมีความใสชัดขึ้น และมิติของเสียงต่างๆ ที่อยู่ในหนังก็ชัดเจนมีตัวตนมากขึ้น ถึงตอนนี้ผู้เขียนยอมรับว่าเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์แล้วว่า ซับวูฟเฟอร์ดีๆ ช่วยให้เสียงดีขึ้นทุกๆ เสียงจริงๆ

ถ้าหากถามถึงเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนมีความคิดที่ว่าเสียงเบสมันเป็นเสียงที่ดึงดูดความสนใจของเรา และเป็นเสียงที่เหมือนเป็นรากฐานให้เสียงอื่น เมื่อเสียงเบสดีขึ้นแล้ว มันจะทำให้เรารู้สึกว่าเสียงอื่นดีขึ้นไปด้วย และอีกอย่างก็คือซับวูฟเฟอร์ที่ไม่ดีพอมันจะให้เสียงเบสไม่สะอาด มีความอื้ออึงปนออกมา ทำให้เสียงเหล่านี้ไปรบกวนหรือบดบังเสียงอื่นๆ ทำให้เสียงอื่นๆ แย่ลง เมื่อได้ซับวูฟเฟอร์ดีๆ เข้ามาในระบบปัญหาที่เคยเกิดขึ้นก็หมดไป

สรุป

  ถ้าเปรียบเป็นนักมวยแล้ว SB-3000 ก็เปรียบเสมือนนักมวยที่มีลีลา ชั้นเชิง สวยงาม ไม่ใช่ประเภทไฟท์เตอร์ที่จะคอยแต่เดินหน้าบุกอย่างเดียว ส่วนเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเผด็จศึกคู่ต่อสู้เมื่อไร SB-3000 ก็ทำได้อย่างอยู่หมัดเช่นกัน ล่าสุดนี้ SB-3000 ก็พึ่งได้รับรางวัล ELSA AWARD มา ซึ่งก็เป็นการการันตีได้ว่ามันเป็นซับวูฟเฟอร์ที่มีคุณภาพไม่ธรรมดาแน่นอน

การใช้งานของ SB-3000 ก็เข้ากับห้องฟังได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นห้องฟังขนาดใหญ่ ผู้เขียนก็คิดว่า SB-3000 ต้องเอาอยู่ ส่วนห้องฟังขนาดเล็กก็ไม่ต้องกลัวว่าเสียงเบสจะล้นห้อง เพราะ SB-3000 นั้นให้เสียงที่สะอาด และเก็บตัวเร็ว ไม่ค่อยมีเอฟเฟคกับห้องมากเท่าไร ห้องฟังที่ผู้เขียนใช้ทดสอบก็เป็นห้องขนาดแค่ 3 X 5 เมตร และในการทดสอบก็ไม่พบปัญหาอะไร

สำหรับท่านที่คิดว่าซับวูฟเฟอร์ที่จะให้เสียงดีได้นั้นต้องมีราคาที่แพงมากๆ ผู้เขียนอยากให้ท่านมาลองฟังซับวูฟเฟอร์จาก SVS ดูครับ เพราะว่ามันอาจจะทำให้ความคิดของท่านนั้นเปลี่ยนไป

– ข้อดี-

  • น้ำเสียงอิ่มแน่น ทำได้ดีทั้งดูหนัง และฟังเพลง
  • เซทอัพง่าย ไม่ค่อยเกิดปัญหากับห้องฟัง ห้องเล็กก็สามารถใช้งานได้
  • App Control สามารถปรับแต่งเสียงได้อย่างละเอียด ถ้าปรับแต่งเสียงได้อย่างสมบูรณ์จะทำให้เสียงดีขึ้นอีกมาก

– ข้อสังเกต –

  • ตัวลำโพงเป็นผิวแบบเปียโน ควรระวังเรื่องการเป็นรอยขูดขีดหรือเปรอะเปื้อน
  • ปุ่มปรับต่างๆ ที่อยู่ด้านหลังลำโพง และตัว App Control อาจจะต้องใช้เวลาสร้างความคุ้นเคยสักนิด

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ

  • LED TV Panasonic 65fx600T
  • AVR Onkyo TX-SR 876
  • ชุดลำโพง KEF Cresta 2 และ Cresta Center
  • พาว์เวอร์แอมป์ Proceed Amp 2 (ขับเฉพาะคู่หน้า)
  • เครื่องเล่นบูลเรย์ Pioneer BDP-450
  • สายลำโพง Audioquest Rocket 33
  • สายลำโพง IXOS XHS523
  • สายไฟ Audioquest NRG 2
  • สายซับวูฟเฟอร์ Audioquest Sub X
  • สาย HDMI PALIC hdmi 5000

ขอขอบคุณบริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด โทร. 0-2238-4078-9 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าเพื่อการทดสอบ