Review: JAMO 360 Series S-35

0

JAMO 360 Series S-35

(งานนี้น่าลอง ทั้งสวยทั้งดี)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

 4_s35_hcs_sc_2

            ลำโพง S35 เป็นลำโพงคู้หน้า, คู่หลังที่อยู่ในชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ของ JAMO ตระกูล 360 ประกอบด้วย S-35 สองคู่ และลำโพงเซ็นเตอร์ ทั้งหมดบรรจุใน 1 กล่อง (ไม่มีซับ ต้องซื้อแยกต่างหาก คือรุ่น SUB 800)

ผมขอทดลองแค่ S35 เพราะอยากศึกษาลำโพงที่กระจายเสียงรอบตัว แบบนี้ ไม่ได้เน้นการนำมาดูหนัง จึงขอให้เข้าใจตามนี้ก่อน

360 S35 เป็นลำโพง 2 ทาง ตู้ปิด (ABS พลาสติก) ดอกลำโพงกลางทุ้มเป็นโดมอะลูมิเนียมเคลือบน Polypropylene ขนาด 3.5 นิ้ว ดอกแหลมโดยอะลูมิเนียม 25 มม. ตัวตู้ทรงกลมสีดำขัดเงา ขา/ฐาน เป็นอะลูมิเนียมหล่อ สามารถวางตั้งหรือยึดกับเพดาน หรือกำแพงได้

ในการออกแบบนี้ Jamo ใช้หลักการกระจายเสียงรอบตัวที่เรียกว่า Omnipole โดยนำดอกแหลมมาวางหัวทิ่มลง แต่เอียงประมาณ 45 องศา ยิงเสียงออกมากระทบโดม ดอกกลางทุ้มที่เอียง 45 องศารองรับอยู่ด้านล่าง เพื่อให้เสียงแผ่กระจายไปรอบๆ ตัวตู้ที่เปิดโล่ง (มีแต่ด้านหลังที่ยึดดอกแหลมอยู่ดูรูป)

 

สเปคจากโรงงาน

รับกำลังขับต่อเนื่องได้                                 40 W-125 W.

ความถี่ตอบสนอง (+/-3 dB)                     108 Hz-23 kHz

ความต้านทาน                                               8 โอห์ม

ความไว                                                          83 dB/2.8 V./M

จุดแบ่งตัดความถี่เสียง                                 1.8 kHz

 

jamo360

ผลการทดสอบ

จากเครื่องเล่น CD T+A 1265R ต่อออกสายเสียง MADRIGAL GZ-Gel2 (หัว RCA) เข้าอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (FULL BALANCED AMP 100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม, 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-3 (ย้อนทิศ) เข้า S35 และ No.383 โดยตรง ไม่มีแจ็คสายลำโพงใดๆ (ครั้งแรก ผมหมดปัญญาลอง S35 เพราะรูรับสายลำโพงเล็กนิดเดียว สายลำโพง S-2 ที่ผมใช้อยู่ไม่มีทางเข้าใต้ฐาน S35 ได้เลย 2-3 เดือนผ่านมา นึกได้ว่า มีสาย S-3 ที่เล็กกว่าเท่าหนึ่งอยู่ เมื่อก่อนใช้ต่อชุดโฮมเธียเตอร์ จึงนำมาใช้ปรากฏว่าโอเค)

S-35 วางบนขาตั้งลำโพง TARGET 24HJ (วางแล้วตัวลำโพงจะอยู่ในระดับหน้าอกของผม) ใต้ฐานลำโพงเอาสมุดฉีกหน้าหนึ่งเซนติเมตรวางลองไม่ให้สายลำโพงที่เข้าใต้ฐานลำโพง ไปถูกพื้นเหล็กของขาตั้งลำโพง

ยกสายลำโพงสูงหนีพื้นห้องคืบกว่าด้วยตั้งกระดาษพิมพ์ดีด 2 ตั้ง และทับบนสายอีก 4 ตั้ง ให้นิ่ง

ห้องฟังขนาดประมาณ 3.85 x 9 x 2.5 เมตร บุด้วยฟองน้ำเก็บเสียง SONEX สีขาว (ของเยอรมัน) ทุกด้าน พื้นปูพรม มีของในห้องพอควรไม่ก้องแน่ นั่งฟังห่างจากลำโพง 3.6 เมตร ลำโพงซ้าย-ขวาห่างกันประมาณ 2.2 เมตร ไม่มีการใช้รีโมทใดๆ ไม่มีโทรศัพท์มือถือใดๆ รีโมทใดๆ PC, จอ LED/PLASMA, iPad, กล้องดิจิตอล, นาฬิกาควอตซ์ ไม่มีทั้งนั้น ปัดลมแอร์ยิงลงหลังลำโพง (LOW, 25 องศา C) เปิดเพลงเบิร์นอินลำโพงอยู่ 4 ชั่วโมง จึงฟังอีก 3 ชั่วโมง

เร่งโวลลุ่มที่ No.383 48.9 (ปกติ 47.1 ก็น่าจะดังเต็มห้องแล้ว)

มีปลั๊กกรองไฟ PHD2 เสียบเคียงคู่กับหัวเสียบไฟ AC ของ No.383 (1 ตัว) และที่หัวเสียบสายไฟ AC ของ CD อีก 1 ตัว (PHD2 น่าใช้มาก ถูกและเห็นผลดี)

จากแผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) กดเปลี่ยนเฟส (Absolute Phase) ที่ T+A เฟสปกติ เสียงเป็นตัวๆ กว่า กดกลับเฟส เสียงลอยออกมามากกว่า คมเปิดกว่า แต่แบนเป็นหน้ากระดาน จึงเลือกเฟสปกติ ให้เป็นตัวๆ ดีกว่า

ให้เสียงตีระนาดเป็นเม็ดๆ ได้ไม่เลว เสียงฉิ่งจะหลุบๆ นิดๆ ไม่หลุดทะลุออกมาอย่างที่เคย ให้น้ำเสียงโดยรวมเป็นธรรมชาติดีทีเดียว ไม่รู้สึกเกินจริง อีกทั้งสอดใส่อารมณ์ได้ดีผิดคาดจากลำโพงที่จงใจทำมาให้ดูหนังเป็นหลัก

ขอนั่งยันนอนยันว่า แม้จะเป็นลำโพงที่ออกแบบมาให้กระจายเสียงรอบตัว ซึ่งดูเผินๆ การเอียงลำโพงไม่มีผลแล้ว แต่ก็ขอยืนยันว่า มีผลผละไม่ใช่น้อยๆ เลย ได้ลองขยับทีละนิดๆ จูนจนได้มิติเสียงตรงกลางโฟกัสและเป็นตัวตน (ทรวดทรง) ดีที่สุด พร้อมๆ กับน้ำเสียง (Harmonics) ก็ครบถ้วนขึ้น รายละเอียดดีขึ้น ความเบลอลดลงมาก ช่วงดนตรีซับซ้อนหลายชิ้นก็แจกแจงออกมาได้ดีขึ้น ไม่กลบกันเอง นอกจากนั้น การสอดใส่อารมณ์ จังหวะจะโคน ชีวิตชีวา ก็สมจริง น่าติดจามขึ้นมาก (ผมวิ่งเข้าวิ่งออกปรับการเอียงเป็นสิบเที่ยว) เวทีเสียงด้านลึกก็ดีขึ้น (มี SPACE และเป็น HOLOPHONIC ขึ้นคือ บรรยากาศแห่งห้องโถงแสดงดนตรีที่สมจริงขึ้น รูปวงก็ดีขึ้น) (สาเหตุที่การปรับเอียงมีผล เพราะดอกแหลมยิงกระทบดอกกลางทุ้มเป็นมุมเฉียงเอียง)

ย้อนกลับมาฟังแผ่นนี้ อยากให้หัวโน้ตคมชัดกว่านี้อีกหน่อย คือดูคลุมเครือ (SOFT) ไปหน่อย (น่าจะทำให้เสียงกระทบไม่เข้มข้นเท่าที่ควร …IMPACT) ว่าไปแล้ว มันออกไปทางลำโพงฟังเพลงเสียมากกว่า ไม่ก้าวร้าว ดุดัน โฉ่งฉ่าง อย่างลำโพงดูหนังระดับกลางทั่วๆ ไป

S35 ให้เสียงทั้งหมดดูอมๆ นิดๆ ทึบนิดๆ แต่ถ้าเล่นกับพวกรีซีฟเวอร์เซอราวด์ที่เสียงมักแจ๋นๆ ก็อาจฟังเสียงหนังดู, เข้มข้นขึ้น

กระนั้นก็ตาม S35 ก็ให้เสียงที่ชวนติดตาม (แม้เหมือนจะมีม่านบางๆ กั้นระหว่างเรากับดนตรี) พูดอย่างนี้ ถ้าใครเลือกเฟส (Absolute Phase) อีกแบบ คือสลับบวก, ลบ สายลำโพง ก็อาจค้านว่า เสียงก็คมก็เปิดดีนี่ แต่นั่นมันแบน มิติไม่เป็นตัวตน ก็ต้องขอให้เข้าใจตามนี้ด้วย)

สังเกตว่า S35 ให้ “น้ำเสียง” ได้ดี ส่วนหนึ่งที่คนออกแบบเองก็คงนึกไม่ถึง เพราะไม่ได้พูดอะไรไว้ เน้นแต่การกระจายเสียงรอบตัว ให้เราไปนั่งฟังตรงไหนก็ได้ในห้อง จะให้ผลดีเหมือนกันหมด ซึ่งไม่จริง (ฝรั่งก็จำขี้ปากฝรั่งด้วยกันเองเป็นทอดๆ แต่ฟังไม่เป็น) ดังที่กล่าวมาแล้วเรื่องปรับมุมเอียงของลำโพงยังมีผลมากขนาดนั้น แล้วการย้ายตำแหน่งนั่งฟังจะไม่มีผลเยอะได้อย่างไร

ข้อดีที่คนออกแบบลืม นึกไม่ถึงคือ การจงใจให้เสียงจากดอกแหลมยิงไปสะท้อนกับโดมของดอกกลางทุ้ม แล้วจึงกระจายออกมาหาเรา ทำให้เกิดปรากฏการณ์จุดกำเนิดเสียงเดียวกัน (POINT SOURCE) ทุกความถี่เสียงดุจมาจากจุดกำเนิดเดียวกัน ไม่ใช่เสียงแหลม (ที่เป็นตัวให้ “หัวโน้ต”) มาจากดอกแหลมที่ห่างออกไปจากดอกกลางทุ้ม (ที่ให้เสียง “ตัวโน้ต”) นี่คือเหตุผลที่ S35 ให้น้ำเสียงได้ดี ให้กิริยาอาการ ของเสียงร้อง, เสียงดนตรีได้อย่างน่าแปลกใจ

น่าเสียดายที่ดูเหมือน เสียงจากด้านซ้ายจะอมทึบกว่าขวาประมาณ 0.5 dB (น่าจะเกิดจากค่าอุปกรณ์ตัดแบ่งเสียง (ตัวเก็บประจุ) ของตู้ซ้าย, ขวา ไม่เท่ากันเปะๆ (วัดจริงๆ) หรือถ้าซ้ายลำโพงในตู้ใช้หัวตัวยูเสียบเข้าที่ดอกลำโพง หัวตัวยูคว่ำ/หงายคนละทิศกัน หรือสายลำโพงตู้ซ้ายที่เข้าดอกแหลมกับดอกทุ้มย้อนทิศกันอยู่ (แต่เฟสบวก, ลบตรงกัน)

อย่างไรก็ตาม S35 ก็จำแนกแจกแจงตำแหน่งที่ทางของแต่ละชิ้นดนตรีได้ค่อนข้างดีพอสมควร (ตรงกลางบางครั้งเบลอๆ บ้าง) (ลำโพงชุดดูหนังนี้มาพร้อมตู้ลำโพงตรงกลาง หรือ CENTER คงช่วยมิติตรงกลางเวลาดูหนังได้ดีขึ้นมาก แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับมุมเอียงลำโพงให้ได้มิติตรงกลางดีที่สุดก่อน จะได้สอดรับประสานกับเสียงจากลำโพง CENTER ได้ ไม่แตกแถวกันและกลับตีกันเองด้วย

เช่นเดียวกันคงไม่ต้องหวังทุ้ม อิ่มลึก มหึมาอะไรจาก S35 เอาเป็นว่ามันให้เสียงกลางได้อย่างมีมวล, เนื้อหนังได้ค่อนข้างดีทีเดียว ก่อนที่เสียงจะตกวูบหายไปเลยตั้งแต่ความถี่แถวๆ 150 Hz ลงไป (ใกล้เคียงกับที่สเปคระบุไว้) อย่างน้อย มันก็ให้เสียงใหญ่พอ ไม่ผอมบางเป็นเสียงจิ้งหรีด

แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis กับแผ่นนี้ผมเลือกกลับเฟส (REVERSE) เพื่อให้เสียงหลุดลอยออกมาหาเรา โดยยอมเสียทรวดทรงของมิติเสียง เพื่อเสียงที่เปิด, สุด ตื่นตัว หว่าไม่กลับเฟส แต่เสียงจะคลุมเครือ

เพลง 2 เสียงตีกลองท่อไล่จากซ้ายไปกลางเวทีติดตามตำแหน่งได้ตลอด แม้ทรวดทรงของกลองจะแบนฟุ้งไปหน่อย (ช่วงตีคีย์กลางขึ้นสูง) ให้เสียงกังวานได้ล้นหลาม ตอบสนองได้ฉับไว เสียงกลองไม่ถึงกับเล็กผอม เป็นแต่ว่าช่องความถี่ต่ำๆ หายไป แต่โดยรวมยังถือว่า น่าฟัง, ฟังได้ดี เสียงกลางเปิดโปร่งแหลมกรุ้งกริ้งได้ดี เวทีเสียงกว้างมาก

เพลง 4 ขึ้นต้นเสียงพายวักน้ำ ติดตามเสียงคลื่นถูกแหวกได้ชัดเจนตลอดพร้อมด้วยเสียงคลื่นกระฉอกบนผิวน้ำต่อหน้าเราได้ตลอดเวลาไม่มีตกหล่น เวทีเสียงกว้าง สูงต่ำยังไม่สุด แต่ก็ไม่เตี้ยแน่นอน (สูงกว่าตัวลำโพงเกือบเมตร) เสียงโดยรวมๆ ยังโอนเอนไปบุคลิกเดียวหนึ่ง คือเปิดสด กลางๆ เรียกว่า ดูหนังน่าจะดี (เรื่องเฟสดังกล่าวแล้ว) ปลายแหลมสดใสมีพลังใช้ได้เลย

เพลง 5 เสียงรถจักรวิ่งมาแต่ไกล (ก็ไม่ไกลนัก) เสียงหวูดใช้ได้ เสียงตีรัวระฆังฟังออกได้ ตามด้วยเสียงตีกลองซ้ายที, ขวาที

เพลง 6 เสียงไก่ขันอยู่ลึกไปหลังเวที (ไม่ลึกนัก) ยังแผ่ฟุ้งไม่โฟกัส เสียงสารพัดสัตว์จีบปากจีบคอร้องได้ดี แม้จะขาดน้ำหนักเสียงอ่อนแก่ (DYNAMIC CONTRAST ยังไม่ดีนัก) ตอบสนองฉับไวมาก รายละเอียดต่างๆ ไม่เลว เวทีกว้าง เสียงไม่ตีกันมั่วไปหมด ความกังวานดีทั้งแต่ละเสียง และโดยทั้งวง นาทีที่ 4 เสียงสัตว์ยกขบวนกันมาเป็นโขยง แผ่ลอยออกมาหาเรา เกือบโอบไปหลังซ้าย, ขวา แต่ยังไม่โอบ (ถ้าเจ๋งจริงจะโอบได้อย่างเซอราวด์เลย) แต่ก็ถือว่า ล้นหลาม เต็มไปหมด แยกแยะว่าอะไรเป็นอะไรได้ไม่เลว

เพลง 7 เสียงม้าหอบมาแต่ไกล ไม่ค่อยสังเกตอาการหอบเป็นห้วงๆ คือฟังแบบผ่านๆ ไป ตามด้วยเสียงตีกลองท่อยังลอยแค่เหนือลำโพง ไม่ลอยไปถึงเพดานห้องได้

เพลง 10 เสียงในฟาร์มตอนเช้าๆ ก็พอจะแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก็จมๆ ไป 2-3 อย่าง ตามด้วยเสียงตีกลองท่อ (และอื่นๆ) ที่ปกติหลายๆ เสียงจะลอยอยู่เพดานห้อง แต่ S35 ให้ได้แค่ลอยเหนือลำโพงตามปกติ อย่างไรก็ตาม น้ำเสียงก็น่าฟัง กลองเล็กเป็นทรวดทรงดี ปลายแหลมกรุ้งกริ้ง สดใส ละเอียดได้อย่างเกินคาด เสียงโดยรวมแผ่ลอยออกมาได้ดี เวทีเสียงอะร้าอร่ามใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ลืมได้เลยเรื่องทุ้มถึงทุ้มลึก เรียกว่าวูบหายไปเลย แต่ส่วนอื่นๆ ก็ยังฟังได้ดี ชวนติดตาม ไม่ต้องห่วงว่าจะ “เสียงเซ็ง” มันฟังเพลินแน่ๆ

แผ่น THE GREATEST ALTO FEMALE VOL.1 (Top Music) เสียงร้องเพลงจีนหวานๆ ของสุภาพสตรี

หมายเหตุ พอดีนึกได้ว่า ผมได้สะเก็ดดาวจากเพื่อนมาขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย (ยาว 2 ซม. กว้าง 1 ซม.) ลองเอามาวางบนเครื่องเล่น CD T+A ปรากฏว่า มิติเสียงดีขึ้น โฟกัสเป็นทรวดทรงขึ้น ช่องว่างในเวทีเสียงดีขึ้น เสียงลอยออกมาดีขึ้น นับจากแผ่นนี้จึงฟังโดยมีสะเก็ดนี้วางอยู่ (นี่ถ้าเอาพระเครื่องมาวาง เสียงจะเป็นอย่างไร?!)

เพลง 1 เสียงร้องของเธอหวาน จีบปากจีบคอดีมาก รายละเอียดดี น่าฟังมาก เสียงใหญ่เกินขนาดลำโพง

เพลง 2 (อารีรัง) เสียงร้องหมู่ชายหญิงแยกแยะได้ไม่เลว ตมด้วยเสียงตีกลองใหญ่ แน่นอน ผมไม่ได้คาดหวังว่าลำโพงจะสร้างปาฏิหาริย์ เสียงกลองใหญ่ก็กลายเป็นกลองเล็ก (คองโก) แต่เสียงอื่นๆ ก็ถือว่า อิ่มอวบใช้ได้เลย เสียงร้องดีเหมือนเพลง 1

เพลง 3 เสียงร้องน่าฟัง คลอด้วยเสียงกีตาร์โปร่งที่เป็นเส้นสาย เช่นเคย ความเป็น POINT SOURCE ทำให้สุ้มเสียงต่างๆ ดูกลมกลืน เป็นเนื้อเดียว น่าฟังมาก

เพลง 4 เสียงกีตาร์ขึ้นต้นผอมไปนิด (เพราะขาดทุ้ม) เสียงร้องใหญ่ (สังเกตว่า S35 ให้เสียงร้องน้ำเสียงใกล้เคียงกันตั้งแต่เพลง 1 ถึง 4 นี้ ปกติตั้งแต่เพลง 3 เสียงร้องจะสดเปิด, โฟกัสขึ้น เป็นไปได้ว่า เสียงกลางที่ใหญ่มีมวลนี้ได้จากความก้องของตัวตู้ด้วย (ตู้ปิด) แต่ก็เก่งที่ก้องแบบไม่อู้ด้วย ฟังเพลงนี้รู้เลยว่า การขาดเสียงทุ้ม/ทุ้มลึกจากดับเบิ้ลเบส น้ำหนักโดยรวม ความเร้าใจลดลงมากเหมือนกัน และทรวดทรงของแต่ละชิ้นดนตรีก็เล็กลง (ลูกกระพรวน) แต่โดยรวมก็ยังน่าฟัง เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงปลายแหลมกรุ้งกริ้งทำได้ไม่เลว เสียงเครื่องสายดีด/สีหวานเอาเรื่องมากๆ เลย บ่งบอกอากัปกิริยาได้ทุกเม็ด เสียงร้องก็น่าฟัง

แผ่น AYA ของ STOCKFISH (DVD ที่ถ่ายจาก SACD) ปกติแผ่นนี้ทุ้มบ้าเลือด ทั้งอิ่ม, หนัก, ลึก แน่นอนคงต้องทำใจถ้าจะเล่นกับ S35 ทุ้มหายหมด แต่ส่วนอื่นๆ เกินตัวหมด โดยเฉพาะเสียงร้องที่ยังกับฟังจากลำโพงวางพื้นเลย มิติเสียงโฟกัสติดตามได้ตลอด บางครั้งลอยอยู่เหนือหัวเราได้ ความเป็นดนตรีสูงมาก

 

S-35_8

สรุป

S35 เป็นลำโพงที่เสียงเกินตัว (ถ้าไม่นับทุ้ม) มันให้เสียง “ใหญ่” ไม่ผอมบางแน่ๆ ให้ความเป็นดนตรีสูงเกินคาด (เมื่อคิดว่า มันก็แค่ลำโพงตู้พลาสติก) ฟังได้เพลิน สนุก มีเสน่ห์ มีรายละเอียดอย่างพอเพียง สวิงเสียงดัง-ค่อยได้กว้าง (แม้จะค่อนข้างกินวัตต์เอาเรื่อง แต่การเสริมด้วยซับแอคทีฟ ก็จะทำให้มวลเสียง น้ำหนักเสียง อิ่ม มหึมา จนไม่ต้องเร่ง S35 สักเท่าไร) ให้มิติเสียงได้ค่อนข้างโอเค โดยเฉพาะช่วงเสียงกลาง เสียงหลุดตู้ได้ค่อนข้างดีเป็นส่วนใหญ่ ให้บรรยากาศที่โอ่อ่าอลังการดี ไปๆ มาๆ เอาไว้ฟังเพลงน่าจะลงตัวกว่า แต่ถ้าจะเอาไว้ดูหนังก็ไม่ผิดกติกา เพราะมันตอบสนองได้ฉับไวมาก เป็นแต่ว่าหาสายลำโพงทีออกสดๆ หน่อยก็น่าจะลงตัว

หมายเหตุ 1

ผมกลับมาฟังแผ่น RHYTHM BASKET อีกครั้ง หลังจากวางสะเก็ดดาวแล้ว โอ้ว หนังคนละม้วนเลย มันดีขึ้นมกหาศาล เวทีอลังการงานสร้างขึ้นไปอีก สูงขึ้นอีกมากๆ ชิ้นดนตรีที่เคยแบนๆ ก็กลับมีทรวดทรง (3D) มากขึ้น โฟกัสขึ้น อาการฟุ้งๆ บ้างก็หายหมด ลำโพงล่องหนดีขึ้นมาก ปลายแหลมก็ดีขึ้น (AIRY ขึ้น) สงัดขึ้น DYNAMIC ดีขึ้น

หมายเหตุ 2

เนื่องจากห้องฟังของผม เก็บเสียงได้ค่อนข้างดีมาก (ไม่ก้องเลย) แต่ไม่ใช่เสียงอับทึบตาย เมื่อเอา S35 ไปฟังในห้องที่ก้องก็คงให้ผลที่ต่างออกไปตามแต่ละห้อง (เอาแน่ไม่ได้ ไม่ตายตัว นี่คือเหตุผลที่ผมต้องฟังในห้องที่ควบคุมเสียงได้ของผม)

หมายเหตุ 3

          การเอียง S35 มีผลมากพอควร ต้องจูนให้ดีที่สุดก่อน

 

ขอขอบคุณ บริษัท แม็กเนทเทคโนโลยี จำกัด โทร.0-2907-7923-5 ที่เอื้อเฟื้อให้ลำโพงมาทดสอบในครั้งนี้