Old School “Vintage Sound”

0

Old School “Vintage Sound”

Acoustic Masterpiece M-101

Tiny but …It’s incredible !!

 

 

มงคล อ่วมเรืองศรี

 22095687zy7jo7rm7jxlrl

“…แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเสียงมือสอง หรือ ของเก่าตกรุ่น แต่บางคนก็อาจยังมิเคยได้ครอบครอง หรือแม้แต่ได้เคยลองฟังเลยสักครั้งในชีวิต ดังนั้นคอลัมน์ “ Old School – Vintage Sound” นี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเฟ้นหาเครื่องเสียงอันมีมนต์ขลังแห่งอดีตมารับฟัง ให้ทราบถึงแก่นแท้ของเครื่องเสียงในยุคสมัยนั้น เพื่อนำเสนอสู่ท่านที่สนใจ ณ กาลปัจจุบัน…”

 

 

ร้อยทั้งร้อยของคนที่ฟังเพลง-มีดนตรีในหัวใจ เฉพาะอย่างยิ่งกับแนวเพลงร้อง (vocal) ด้วยแล้วมักจะหลงใหลได้ปลื้มในน้ำเสียงของ “เครื่องหลอดฯ” ทั้งๆที่บอกได้เลยว่า เครื่องเสียงเหล่านี้ไม่ว่าถูกหรือแพงแค่ไหน ก็ล้วนหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้อุปกรณ์ขยายสัญญาณที่เป็นเทคโนโลยีเก่าแก่สุดๆ อย่างหลอดสุญญากาศ (Vacuum Tube) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ กับวาล์วควบคุมแรงดันน้ำ ชื่อที่ใช้เรียกขานเป็นภาษาอังกฤษจึงมักใช้ว่า Valve Amplifier ด้วยความที่ “เครื่องหลอดฯ” นั้นมักจะให้สุ้มเสียงที่มีเนื้อเสียงอิ่มฉ่ำ มีน้ำนวลชวนฟัง ปราศจากซึ่งเสียงหยาบกร้าน กระด้างระคายหู ด้วยค่าความผิดเพี้ยนทางเสียง หรือ ฮาร์มอนิก ดิสทอร์ชันที่เป็นมิตรกับประสาทหูของมนุษย์ แม้ว่าจะความผิดเพี้ยนทางเสียงนั้นจะค่อนข้างมาก อาจถึง 10 เปอร์เซนต์ก็ตามที

หากย้อนอดีตกัน เจ้าอุปกรณ์ขยายสัญญาณที่เป็นหลอดสุญญากาศ (Valve หรือ Vacuum Tube) ที่ว่านี้ ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปีค.ศ.1906 เป็นต้นมา โดยมี Lee Dee Forest เป็นบิดา-ผู้ประดิษฐ์-คิดค้นและพัฒนาหลักการทำงานของหลอดสุญญากาศ ซึ่งในตอนแรกทีเดียวนั้นเขาเรียกขานเจ้าสิ่งนี้ว่า “Audion” ด้วยการใส่ electrode ตัวที่ 3 เพิ่มเข้าไปใน “Diode” ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ John Ambrose Fleming คิดค้นพัฒนาขึ้น ขณะทำงานอยู่กับ Marconi Company ในปีค.ศ.1904 จนกลายมาเป็น The first electronic amplifying device ในชื่อของ “Triode” ที่มีความหมายถึง electrode 3 ตัวนั่นเอง (ในขณะที่ “Diode” นั้นก็มีความหมายถึง electrode 2 ตัว)

หากแต่ก็พูดได้ว่า ถ้าหากไร้ซึ่ง D.T.N. Williamson  แล้วไซร้ Valve Amplifier หรือ Vacuum Tube Amplifier อย่างที่ใช้กันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ก็คงมิได้มีใช้งานกันแพร่หลายขนาดนี้ นั่นก็เป็นเพราะบทความของภายใต้หัวข้อ Design for a High-quality Amplifier. โดยแท้ที่กลายมาเป็นประเด็นการออกแบบ “Williamson Amplifier” อันมีส่วนสำคัญในการทำให้ได้มาซึ่งคุณภาพเสียงที่ดีมากขึ้นจากหลอดสุญญากาศ

ในโลกของเครื่องหลอดฯ มีนักออกแบบชื่อดังมากมายที่มุ่งมั่นเอาดีทางด้านนี้จนโด่งดัง หนึ่งในนั้นที่ทั่วโลกรู้จักและยอมรับในฝีมือของเขาอย่างมากก็คือ บุคคลชื่อว่า Tim de Paravicini ชาวอิตาลี ที่มีฝีมือชั้นสุดยอดจนได้รับฉายานามว่า King of Tubes (คนเดียวกับผู้ก่อตั้ง “EAR” นั่นแล) ซึ่งช่วงหนึ่งในชีวิต เขาผู้นี้ได้ทำงานอยู่เบื้องหลังในฐานะ chief amplifier designer ของช่วงยุค’70 อยู่ประมาณ 4 ปี ให้แก่ทาง ‘Lux Corporation of Japan’ หรือ LUXMAN ที่เรา-ท่านรู้จักกันดี และนี่ทำให้ LUXMAN มีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นที่ยอมรับกันในด้านเครื่องหลอดฯ เนื่องเพราะได้รับการถ่ายทอด “วิชา” มาจาก Tim de Paravicini บวกกับประสบการณ์อันช่ำชองในด้านการผลิตหม้อแปลงชนิดต่างๆนั่นเอง

m

สำหรับแฟนพันธุ์แท้ของ LUXMAN ก็จะทราบดีว่า LUXMAN นั้นนับเป็นแหล่งผลิตวิศวกรระดับคุณภาพประดับไว้ในวงการหลายคน อาทิ Atsushi Miura กับ Masami Ishiguro ที่มาร่วมกันก่อตั้งแบรนด์ “AIRTIGHT” และ Taku Hyodo ที่แยกตัวออกไปก่อตั้งเป็น “Leben” ซึ่ง AIRTIGHT นี่แหละครับ เป็นที่มาของ Acoustic Masterpiece M-101 พระเอกของเราในครั้งนี้

AIRTIGHT นั้นเป็นแบรนด์เครื่องเสียง ภายใต้ชื่อบริษัทผู้ผลิต A & M Ltd ที่ก่อตั้งขึ้น โดย Atsushi Miura ร่วมกับ Masami Ishiguro ในปีค.ศ.1986 โดยพุ่งเป้าไปที่ “คุณภาพเสียงที่รับฟัง” เป็นสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของ  A & M Ltd ไม่ว่าจะเป็น AIRTIGHT หรือ Acoustic Masterpiece (Acoustic Masterpiece เป็นผลิตภัณฑ์ในลักษณะชุด KIT ของ AIRTIGHT ทำนองเดียวกับ LUXKIT ของ LUXMAN) ล้วนแต่ได้รับการผลิต-ประกอบขึ้นด้วยมือ (assembled by hand) ทั้งสิ้น อุปกรณ์ที่ใช้เลือกสรรเกรดสูง ที่มีค่าความคลาดเคลื่อนต่ำสุดๆ เท่านั้น การเดินสายเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายในเลือกใช้เฉพาะ OFC ของ Acrotech ล้วนๆ ส่วนหม้อแปลงเอาต์พุทนั้นเจาะจงใช้ของ Tamura (มีสติ๊กเกอร์ระบุว่า “TAM” ติดอยู่ที่ตัวหม้อแปลงเอาต์พุท) สำหรับแท่นเครื่องนั้นขึ้นรูปจาก metal sheet หนาพิเศษชิ้นเดียวโดยตลอด รอยต่อต่างๆผ่านวิธีการเชื่อม (welding) และชุบเคลือบผิวชั้นนอกไว้อย่างดี เพื่อความทนทานและให้ความสวยงามยาวนาน ซึ่งด้วยความใส่ใจในการสรรค์สร้างอย่างเป็นพิเศษนี่เอง ทำให้ราคาจำหน่ายของทั้ง AIRTIGHT และ Acoustic Masterpiece จัดได้ว่าค่อนข้างสูง

Acoustic Masterpiece M-101 เป็น Valve Amplifier ขนาดกะทัดรัด 300x187x200 ม.ม. (กว้างxสูงxลึก) ทว่ามีน้ำหนักมากถึง 15 กก. ซึ่งถูกออกแบบให้เอื้อประโยชน์ใช้สอยได้ทั้งในรูปแบบของสเตอริโอ เพาเวอร์แอมป์ และสเตอริโอ อินติเกรตแอมป์ ด้วยความที่จะมีช่องเสียบอินพุทติดตั้งมาให้ 1 ชุด ในขณะเดียวกันก็จะมี attenuators จำนวน 2 ตัวติดตั้งมาให้ด้วย ผู้ใช้จึงสามารถทำการปรับเร่ง หรือลดระดับความแรงสัญญาณขาเข้าสำหรับแชนแนลซ้าย-ขวาแยกจากกันได้อย่างเป็นอิสระ หากแต่ว่า ขั้วต่อสายลำโพงที่ติดตั้งมาให้จะมีมาให้ชุดเดียวเท่านั้น โดยระบุค่าความต้านทานเอาไว้ที่ 8 โอห์ม (ไม่มีที่ค่าความต้านทาน 4 หรือ 16 โอห์ม)

IMG_0609

ในส่วนของหลอดสุญญากาศที่ใช้นั้นเป็นดังนี้ :- 12AX7 (ECC 83) จำนวน 2 หลอด ร่วมกับ KT88 (6550) จำนวน 2 หลอด สามารถจ่ายกำลังขับได้ 8 วัตต์สำหรับสภาวะใช้งานแบบ triode mode และ 12 วัตต์สำหรับสภาวะใช้งานแบบ ultralinear Mode ครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 20-20,000 เฮิร์ตซ ค่าความผิดเพี้ยนทางเสียงโดยรวมตั้งกว่า 1 % ส่วนค่าความต้านทานขาเข้าอยู่ที่ 100 กิโลโอห์ม ทั้งนี้ A & M Ltd ทำการผลิต Acoustic Masterpiece M-101 ออกจำหน่ายด้วยราคาเกือบสองพันดอลล่าร์ ด้วยศักดิ์ศรีที่ไม่ต่างจาก AIRTIGHT

A & M Ltd ยังได้ทำการผลิต Acoustic Masterpiece C-101 ที่ออกแบบมาให้เข้าคู่กับ Acoustic Masterpiece M-101 ในลักษณะของไลน์ ปรีแอมป์ (ไม่มีภาค PHONO) โดยใช้หลอดสุญญากาศเบอร์ 12AX7 (ECC 83) จำนวน 1 หลอด และ 12AU7 (ECC 82) จำนวน 2 หลอด …แต่สำหรับผมชื่นชอบปรีแอมป์ที่มีภาค PHONO ผนวกอยู่ในตัว จึงมิได้สั่ง Acoustic Masterpiece C-101 มาใช้งานร่วมกับ Acoustic Masterpiece M-101

สำหรับปรีแอมป์ที่ผมนำมาใช้งานร่วมกับ Acoustic Masterpiece M-101 เป็นปรีแอมป์หลอดฯของ LUXKIT A3400 ซึ่งถอดแบบมาจาก CL 30 ของ LUXMAN …น่าทึ่งมากที่ Acoustic Masterpiece M-101 ได้ส่งมอบคุณลักษณ์ทางเสียงที่น่าฟังมากๆ ทั้งๆ ที่เพิ่งจะเปิดการทำงาน (Power On) เจ้า “Acoustic Masterpiece M-101” ได้ไม่นานนาทีนัก “Acoustic Masterpiece M-101” เข้าคู่การใช้งานร่วมกับ LUXKIT A3400 ได้อย่างแมทชิ่งกัน (รับฟังจากแหล่งสัญญาณเครื่องเล่นแผ่นเสียง) โดยสุ้มเสียงที่รับฟังสามารถตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันได้อย่างฉับไว ไร้อาการเฉื่อย-เนือย พร้อมด้วยลักษณะเสียงอันอบอุ่น มีชีวิตชีวา มีตัวตน และมีมวลอากาศห้อมล้อม พร้อมสภาพบรรยากาศที่ให้ความมีตัวตนของสรรพเสียง เสมือนหมอกจางๆที่อบอวลร่วมอยู่ในทุกๆสรรพเสียงอย่างมีมนต์เสน่ห์

221002n9lgysh4bbbbsrnh

เมื่อรับฟังจากแนวเพลงร้อง (vocal) “Acoustic Masterpiece M-101” จะให้ลักษณะเสียงร้องที่เสมือนเปล่งออกมาจากปากอย่างมีลมหายใจ (breathing) มีวิญญาณ สัมผัสได้ถึงห้วงอารมณ์ของการร้อง (emotional) พร้อมการแยกแยะอาณาบริเวณเสียงของกลุ่มนักร้อง เสียงนักร้องแต่ละคนล้วนมีมวลมีน้ำหนักมีตัวตน ยิ่งเมื่อได้รับฟังร่วมกับดนตรีอะคูสติก “Acoustic Masterpiece M-101” สามารถส่งมอบสภาพซาวด์สเตจ ซึ่งรับรู้ได้ถึงความสมจริงอย่างเป็น 3 มิติออกมา ให้ความรู้สึกราวกับว่า ผนังหลังลำโพงนั้นถอยหลังออกไปไกล ผนังด้านข้างก็กว้างขวางขึ้น โดยมีระยะความสูงของปริมณฑลเสียงที่ลอยตัวอยู่เหนือตำแหน่งตั้งวางลำโพงขึ้นไป ในช่วงที่ดนตรีโหมประโคม ประชันกัน แผดสนั่น สุ้มเสียงที่รับฟังก็ยังปราศจากอาการตีรวนกัน ช่วงย่านเสียงต่ำจะยังคงให้จังหวะจะโคนที่แม่นยำ พร้อมด้วยความหนักแน่นในแรงปะทะของเสียงเบส

 

…ไม่น่าเชื่อครับว่า นี่คือพลังเสียงที่มีแหล่งกำเนิดมาจากหลอดฯเอาต์พุทเบอร์ KT88 (มีตัวอักษร AIRTIGHT Platinum Selected สกรีนติดอยู่บนตัวหลอด) เพียงแค่ข้างละ 1 หลอด ด้วยกำลังขับแค่ 8 วัตต์ต่อแชนแนล (ปรับตั้งเป็น Triode mode) เท่านั้น ทั้งยังสามารถจับจังหวะจะโคนของการเดินเบสได้อย่างชัดแจ้ง มีความกระชับ กระฉับกระเฉง ควบคุมวรรค-ตอนได้อย่างรวดเร็ว-ฉับไว ให้ความแม่นยำในจังหวะจะโคน ทั้งยังจำแนกแยกแยะลักษณะความต่างกันของเสียงเบสได้อย่างน่าทึ่ง พร้อมด้วยเรี่ยวแรงปะทะ-มัดกล้ามที่ทรงพลังพอประมาณ มีความสุภาพราบเรียบ ไม่รุ่มร่าม-ล้นหลาม

221007o7udoaj4976u6ji9

 

ความโดดเด่นอย่างที่สุดของ “Acoustic Masterpiece M-101” อยู่ที่ช่วงเสียงเบสตอนบนต่อเนื่องกับย่านเสียงกลางทอดตัวไปจนสุดปลายเสียงสูง อันอิ่มอุดมให้ทั้งมวลเสียงที่มีน้ำหนัก หวานหยด-สดใส นวลเนียน สะอาดสะอ้าน เปิดโปร่ง และลอยตัว เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาพรั่งพรูออกมา รวมทั้งความกังวานทอดยาวของปลายหางเสียงไกลสุดกู่ เปี่ยมทั้งความไหลระรื่นต่อเนื่อง และนวลเนียนมีความเป็นตัวตน ระบุตำแหน่งแห่งที่ของเสียงนั้นๆได้อย่างชัดเจน ให้การแยกแยะรายละเอียดที่แทรกซ้อนออกมาได้แจ่มชัด เสียงเครื่องเคาะจังหวะสารพัดเป็นเสียงที่ -ผุดโผล่- ขึ้นมาอย่างฉับไว มีมวลอากาศแผ่กระจายเป็นปริมณฑลรายรอบ ไร้ซึ่งความแห้งผาก สากกร้าน ให้ความรู้สึกเสมือนของจริงทั้งเสียงร้องและเสียงดนตรี มีความชัดเจนปราศจากความคลุมเครือ การออกอักขระเสียงชัดเจนมาก บ่งบอกรายละเอียดความแตกต่างกันของแต่ละบุคลิกเสียงนักร้องได้ดีจริงๆ

 

โดยธรรมชาติแล้ว ลักษณะบุคลิกน้ำเสียงแท้จริงของแอมป์หลอดฯนั้น ฟังทีไรก็ให้ความรู้สึกชื่นมื่น ชุ่มฉ่ำใจ และมักจะให้ความมีชีวิตชีวาของเสียง (สมจริง) ยิ่งกว่าแอมป์แบบ Solid-State ทั่วไป ยามใดที่ได้ฟังแอมป์หลอดฯแล้วมักจะติดหู ติดใจ อยากจะฟังไปเรื่อยๆ ผ่อนคลายสบายใจ ยิ่งเมื่อรับฟังแนวเพลงร้องของทั้งหญิง-ชายจาก “Acoustic Masterpiece M-101” ด้วยแล้ว… โอ้ว ใจจะขาดครับ – มีความคิดเห็นของทางนักฟังในต่างประเทศที่เปรียบเปรยเอาไว้ว่า “ถ้าหาก “M-101” เป็นรถยนต์ รถยนต์คันนั้นก็ต้องเป็น Volkswagon Bug” …ถึงจะเล็กแต่ก็น่ารักและคล่องแคล่วเฉียบคม

 

หมายเหตุ :- …มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักจะพูดว่า “เครื่องเก่า” นั้น มันตกสเปคฯ ไม่น่าเล่น, เชย หรือ ตกยุค, เสี่ยงต่อความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ใช้งาน อันอาจนำพามาซึ่งความเสียหาย (อย่างร้ายแรง) ต่อซิสเต็มที่ใช้งาน, ซื้อมาใช้งานก็ไม่มีการรับประกัน (warranty) แต่อย่างใด หนำซ้ำเมื่อเครื่องเสียเพราะหมดอายุการใช้งาน อาจหาอะไหล่มาเปลี่ยนใหม่ไม่ได้ด้วยซ้ำไป – อะไรทำนองนั้น ซึ่งเหล่านั้นก็เป็นความจริง – แต่มันจริงเพียงส่วนเดียว เพราะหากพินิจ-พิจารณาไคร่ครวญดูดีๆอย่างมีเหตุผล จะพบว่า “เครื่องเก่า” ที่เขาเล่นกันนั้น มันเป็นเครื่องในระดับไฮ-เอ็นด์ในยุคสมัยนั้นทั้งสิ้น ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า “ดีจริง” แม้จะผันผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน สมรรถนะและคุณภาพเสียงก็ยังเป็นที่น่าถวิลหา อีกทั้งคนที่ชื่นชอบใน “เครื่องเก่า” หรือ…การเล่นเครื่องเสียงแนววินเทจนั้น บางครั้งเรื่องของตัวเลขต่างๆที่ระบุไว้ในสเปคฯ มิได้ถูกนำมาคิด-พิจารณาเลยด้วยซ้ำ

 

“ความชอบ” นั้นมาจาก “เสียง” ที่ได้รับฟัง-เหนือปัจจัยใดๆทั้งสิ้น-ถ้าฟังแล้วบังเกิดความน่าหลงใหล  เพราะสิ่งที่ได้รับฟังจาก “เครื่องเก่า” มักจะ-แตกต่าง-อย่างที่ “เครื่องใหม่” ซึ่งทันสมัยกว่า ตัวเลขสเปคฯก็ดูดีกว่า อาจทำได้ไม่เท่า …ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกจึงถวิลหา “เครื่องเก่า” ที่โด่งดังในอดีตมาครอบครอง บางเครื่อง-บางรุ่นที่ยอดนิยมจริงๆนั้นถึงกับ “แย่ง” กันก็มี ทั้งๆที่ “ราคา” นั้นสูงลิบลิ่ว ยิ่งกว่าราคาตอนแรกจำหน่ายด้วยซ้ำไป นั่นเพราะว่า “มันหายากส์” ไม่ค่อยจะมีใครยอม “ปล่อย” ออกมา แม้ว่า จะขายได้ราคาดีมากๆก็ตาม

 

…บางทีคนที่มุ่งโจมตี “เครื่องเก่า” อาจต้องหันมาพิจารณาตัวเองบ้าง… ใช้เหตุและผล มิใช่ความคิดส่วนตนเป็นเครื่องตัดสินถูก-ผิด เรื่องของ “ความชอบ” หรือ “ความถูกใจ” ของคนเรา มันอยู่เหนือเหตุ-ผลใดๆ …ปล่อยให้ “เขา “ คิดกันเองบ้างดีไหม เขาก็มี “สมอง” เช่นกัน กรุณาอย่าครอบงำ หรือ ชี้นำแบบชักใบให้เรือเสีย ประเภท “เชื่อผมเถอะ ผมเป็นใคร …ทำไมถึงไม่ไว้ใจในคำชี้แนะของผมล่ะ” อะไรทำนองนั้น เพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือ ของใครไม่กี่คน

 

…ลองกลับไปดูตัวเองซิว่า ตัวเองน่ะมีเครื่องเก่าตกรุ่นเก็บสะสมอยู่บ้างหรือเปล่า ? แล้วนำออกมาฟังอยู่ประจำ หรือไม่ ? ซึ่งถ้าไม่ชี้โกง หรือ โป้ปดจนติดเป็นนิสัย น่าจะซาบซึ้งดีว่า เสียงที่รับฟังจาก “เครื่องเก่า” นั้น มันให้อารมณ์ร่วมได้ขนาดไหน ถามใจตัวเองดูซิว่า จริงอ๊ะปล่าว….