สัมภาษณ์ คุณวิพล พลตระกูลวงศ์ ผู้บริหารของบริษัท Audio Absolute (ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดีย เดิม)

0

สัมภาษณ์ คุณวิพล พลตระกูลวงศ์ ผู้บริหารของบริษัท Audio Absolute (ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดีย เดิม)

…จากอาจารย์สอนวิชาอิเล็กทรอนิกส์ตัวเล็กๆ บุคลิกฉับไวพูดจาชัดถ้อยชัดคำ ก้าวสู่จุดเริ่มการเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ผ่านการคัดสรรอย่างดี จนกระทั่งติดตลาดเนื่องเพราะความจริงใจที่มีให้แก่ลูกค้าอย่างเสมอต้นเสมอปลาย …ต่อมาได้รับความไว้เนื้อเชื้อใจจากผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงคุณภาพสูงจากทั้งฟากฝั่งอเมริกาและยุโรปหลายต่อหลายบริษัทให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ …ปัจจุบันพลิกผันไปสู่การเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงระดับซุปเปอร์ไฮ-เอ็นด์อย่างเต็มภาคภูมิ ภายใต้ชื่อบริษัท ABSOLUTE AUDIO ซึ่งก็คือ “ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดีย” แต่ดั้งแต่เดิมนั่นเอง – เรามาทำความรู้จักกับบุคคลที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของการขับเคลื่อนบริษัทแห่งนี้ ที่มีนโยบายหลักในการขายแบบ “ไม่ทำร้าย-ทำลายกระเป๋าสตางค์ลูกค้า” จนเป็นเอกลักษณ์กันดีไหมครับ รับรองคุณจะทึ่งและอึ้งในแนวคิดของเขาคนนี้ ที่ชื่อว่า อ.วิพล พลตระกูลวงศ์ โดยไม่มีการตัดทอนใดๆ ……

 DSC_0178

What HI-FI? : ในฐานะที่ อ.วิพล ถือเป็นปูชนียบุคคลในแวดวงเครื่องเสียงบ้านเรา รบกวนช่วยเล่าถึงประวัติส่วนตัวและที่มาที่ไป ก่อนจะเข้ามาดำเนินงานกิจการนี้สักเล็กน้อยครับ?

อ.วิพล : เริ่มต้นเลยถ้าย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน…ผมเป็นครูสอนด้านอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ โรงเรียนฝึกหัดการช่าง RTTS ตรงข้ามโรงหนังเฉลิมกรุง และโรงเรียนแสงทอง ย่านดาวคะนอง จนมีลูกศิษย์ลูกหามากมายกว่าพันคน ในทุกวันนี้หลายต่อหลายคนที่มีร้านเป็นของตัวเอง ผมสอนอยูประมาณ 7 ปี หลังจากนั้นก็หันมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับเทคนิคการซ่อม พร้อมกับไปเซ้งแผงที่บ้านหม้อเปิดขายหนังสือ

ต่อจากนั้นมาก็เริ่มจับเอาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาขายด้วย เนื่องจากเห็นว่าเราขายหนังสือด้านนี้อยู่พอดี หลังจากนั้นก็เริ่มจับอุปกรณ์สินค้าสำเร็จรูปมาขายบ้าง เป็นประเภทเครื่องเล่นดีวีดี และเครื่องเล่นซูเปอร์ออดิโอซีดีในสมัยนั้น ในนามของแบรนด์ที่ชื่อว่า “ไนน์เท็ค” (Ninetech) ทำอยู่ตรงนั้นประมาณ 11 ปี จึงเริ่มจับสินค้าในระดับมิดเอ็นด์มาขายบ้างประเภทจำพวกแอมป์หลอด อาทิ เช่นยี่ห้อ วินเซ็นต์, เมโลดี้, คลาสสิก ออดิโอ และ แอล เอ ออดิโอ ส่วนลำโพงก็มี พอล์ค ออดิโอ ทางด้านชุดโฮมเธียเตอร์ก็เป็นแบรนด์ ที่มีชื่อว่า อีโมติว่า จากประเทศสหรัฐอเมริกา

เหตุผลสำคัญที่หันมาทำตรงจุดนี้ก็เพราะเป็นความชอบส่วนตัวในเรื่องของการฟังเพลง แต่ที่ต้องมีสินค้าในกลุ่มของการดูหนังขายอยู่ด้วยนั้น ก็เพื่อตอบโจทย์กระแสตลาดให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง เผื่อในโอกาสที่วงการใดซบเซาจะได้มีทางหนีทีไล่ได้…พอเมื่อเวลาผ่านมาหลายปีเข้าๆ บางสินค้าที่เราถืออยู่ ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อไปบ้างจากหลากหลายเหตุผล ยกตัวอย่างเช่น วินเซ็นต์ที่ขึ้นราคาสินค้าให้แพงกว่าเดิมกว่า 60% จนผมมองว่า ไม่น่าทำต่อแล้ว เพราะว่าในตลาดยังคงมีตัวเลือกระดับเดียวกันที่น่าหยิบมาทำอีกเยอะ หรือว่าเป็นการที่ทางแบรนด์นั้นๆ เลือกที่จะเปลี่ยนตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น

สำหรับวิธีการเลือกแบรนด์ของสินค้ามาทำนั้น ผมจะใช้วิธีการซื้อตัวโชว์จากงานเครื่องเสียงที่จัดตามต่างประเทศมาฟังก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆก็สั่งเข้ามาเลย จนกระทั่งคัดได้ตัวเลือกที่เป็นที่น่าพอใจ แล้วจึงไปคุยกับบริษัทนั้นๆ ว่า ทางเราอยากเป็นตัวแทนจำหน่ายให้เขา บังเอิญว่า ผมชอบไปงานพวกนี้อยู่บ่อยๆ รวมไปถึงชอบเล่นอินเตอร์เน็ตเพื่อศึกษาหาข้อมูลด้วย เลยสามารถมองหาตัวเลือกได้เยอะ

บอกตามตรงเลยว่าเรื่องคุณภาพของสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผมตัดสินใจสั่งเข้ามาขาย ไม่ใช่เรื่องของราคาที่หลายๆ คนมองว่า น่าจะเป็นปัจจัยหลัก ตอนช่วงที่ผมทำแบรนด์ไนน์เทคอยู่สินค้าบางตัวกว่าจะผ่าน QC จากผมได้ ใช้เวลานานร่วมครึ่งปีเลยทีเดียว พูดมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะสงสัยว่า “ทำไมผมจึงขายสินค้าได้ถูก?” อันนี้ขอตอบตามตรงเลยว่า เป็นนโยบายของผมอยู่แล้ว ที่ไม่ต้องการบวกกำไรเยอะ ขอแค่ให้เราพออยู่ได้…

แถมยังอยากให้ลูกค้าได้ใช้ของดีมีคุณภาพอีกด้วย ผสมผสานกับวิธีสั่งสินค้าจำนวนมากๆ ในรอบเดียวแบบ 30-40 ตัว เพื่อนำไปใช้ในการต่อรองราคา เนื่องจากโรงงานจะมีเกณฑ์ที่สามารถลดราคาให้เราอย่างมหาศาลหากสั่งเป็นจำนวนแบบนี้ แต่ทางผมเองก็ต้องเลือกสินค้าในการสั่งแบบนี้ได้เป็นบางรุ่นเท่านั้น มิเช่นนั้นก็จะต้องแบกสต็อกมหาศาล วิธีเลือกของผม ก็คือ หาตัวดังๆ ที่ได้รางวัล มีรีวิวจากเมืองนอกบ่อยๆ เพราะว่า ตลาดเมืองไทยนิยมเสพรางวัลมากกว่าการลองฟังจริง

 

What HI-FI? : ในฐานะ “หัวเรือใหญ่” ของบริษัท อ.วิพลกำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้อย่างไรบ้างครับ?

อ.วิพล : ตอนนี้ความจริงแล้วผมอยู่ในช่วงที่กำลังขยายตลาดมากขึ้น พยายามถือแบรนด์เยอะขึ้น หันมาทำอุปกรณ์ต่างๆ ให้ครอบคลุมรวมไปจนถึง Accessories หลากหลายชนิด ด้วยกระแสการฟังเพลงที่หันมาเป็นที่นิยมมากขึ้นกว่าเดิม…ผมจึงเลือกที่จะทำตลาด 2 แชนแนลอย่างเดียว เว้นเสียแต่ชุดโฮมเธียเตอร์ของ Quad ที่จำเป็นต้องขายสินค้าในส่วนนี้ เนื่องจากเพิ่งได้มาใหม่ไม่นาน

ดังนั้นจากการที่ผมชอบฟังเพลงเป็นหลักไม่ค่อยชอบดูหนังสักเท่าไหร่ ประกอบกับรสนิยมส่วนตัวที่ชอบเสียงออกแนวหวานๆ ส่งผลให้แอมป์ต่างๆ ที่ขายอยู่นั้น เป็นแอมป์หลอดซะ 99.9% จะมีก็แค่ Luxman และ Cayin บางรุ่นเท่านั้นที่เป็น Solid-State ยิ่งตอนนี้กระแสการฟังเพลงแบบ “Vintage” เริ่มจะกลับมาบูมอีกรอบเหมือนสมัยเมื่อ 30-40 ปีก่อน ทั้ง Turntable และ แอมป์หลอด เลยต้องเน้นในส่วนนี้เป็นพิเศษ พร้อมกับหาสินค้าในไลน์อัพอื่นๆ ที่เข้าชุดกันมาจำหน่ายด้วย อาทิ เช่น ลำโพงความไวสูง, หลอด และ สายเคเบิ้ล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สินค้าของ ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดีย เดิมนั้น อยู่ในช่วงของ Mid – High End เท่านั้น ยังไม่มีตัวใดที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าระดับมหาเศรษฐีในเมืองไทย ที่ต้องการสินค้าที่ทั้งแพงสุดๆ ดีสุดๆได้ …ผมเลยคิดที่จะขยายตลาดไปสู่จุดนั้น ด้วยการนำเข้าแบรนด์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น แอมป์หลอดฯจาก Audio Note Japan (Kondo) ที่ได้ชื่อว่าเป็นแอมป์หลอดฯ ราคาแพงที่สุดในโลก และลำโพงทำมือ ‘Made in UK.’ แบรนด์ Living Voice ที่ต้องรอสินค้ากว่า 6 เดือน…

แต่การขายของผมยังคงคอนเซ็ปต์เดิม คือมั่นใจได้ในเรื่องของราคาว่า “ถูกกว่าที่อื่นอย่างแน่นอน” ต่อให้ไปเทียบกับตลาดระดับ Worldwide ก็ตามที สรุปแล้ว คือผมจะแบ่งตลาดอย่างชัดเจน ตั้งแต่ลูกค้าที่เริ่มต้นเล่น – ระดับกลาง – ระดับสูง – สูงที่สุด เรียกได้ว่า มีสินค้าถูกสุดไปจนแพงสุดๆ ไปเลย ภาพรวมคือ มีตั้งแต่สินค้าราคาหมื่นกว่าบาทไปจนถึงหลายล้านบาท โดยจุดนี้ลูกค้าสามารถบอกงบประมาณมาได้เลย เพื่อความสะดวกของตัวลูกค้าเองว่าต้องการประมาณไหน ในจุดนี้ก็จะส่งผลไปถึงการแบ่งลักษณะห้องฟังที่โชว์รูมใหม่ด้วย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ห้อง ตามขนาดและ ลักษณะของราคาสินค้า มีทั้งห้อง 3×6 เมตร, 5×7 เมตร และ 7×11 เมตร ซึ่งจะเป็นห้องใหญ่ที่สุดสำหรับโชว์สินค้า Super-High End และใช้ระบบสแกนนิ้วมือที่ผมเป็นผู้เปิดเข้าห้องนี้ได้คนเดียว …!!

 

What HI-FI? : ทราบว่า อ.วิพล ใส่ใจในเรื่องของการให้บริการลูกค้าเป็นอย่างมาก เลยอยากทราบถึงนโยบายการให้บริการวางแนวทางไว้ครับ?

อ.วิพล : การบริการลูกค้าสำหรับผมนั้น เป็นหลักและหัวใจสำคัญที่สุด ที่ทำให้ผมสามารถยืนอยู่ในวงการนี้มาได้ยาวนานถึง 30 ปี ด้วยแนวทางที่ยึดมั่นอย่างชัดเจนว่า จะบริการลูกค้าทุกคนอย่างดีที่สุดเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้าผมในระดับราคาไหนก็ตาม ทุกๆ เจ้าผมจะลงมือเซอร์วิสทุกๆ เรื่องด้วยตัวเอง จนถึงบ้านท่านเลย ซึ่งเราบริการด้วยใจ…ยิ่งเวลาขายผมก็ขายเอง ไม่มีโยนงานให้ลูกน้องขาย เป็นการทำให้ลูกค้าสบายใจเมื่อมีปัญหาไม่ว่าจะเรื่องไหน สามารถคุยกับผมที่เป็นเจ้าของร้านได้โดยตรงเลย ไม่ต้องผ่านใครก่อน สาเหตุที่เลือกทำการบริการแบบนี้ เนื่องจากเรามองเห็นว่า “ลูกค้ามาอันดับหนึ่ง” ถ้าหากไม่มีลูกค้าผมก็ไม่มีทางที่จะมาถึงจุดนี้ได้ในทุกวันนี้

 

What HI-FI? : แบรนด์อะไรบ้างที่ทาง .วิพลกำลังทำตลาดอยู่ครับ?

อ.วิพล : ขออนุญาตแบ่งเป็นลำดับขั้นตามนี้นะครับ …ระดับ Super High End ก็จะมี Living Voice ที่ถือเป็นชุดลำโพงที่แพงที่สุดในโลกตอนนี้ และ Audio Note Japan หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในนามของ “Kondo” ซึ่งเป็นแอมป์หลอดฯที่แพงที่สุด และดีที่สุดในโลก รวมไปถึงสินค้าบางตัวที่เป็นสายสัญญาณระดับท้อป…ถัดมาก็จะเป็นระดับ High End ก็จะมีลำโพง RAIDHO กับ AAVIK ที่เป็นแบรนด์ทางด้านแอมปลิไฟเออร์ แบบดิจิตอล เทคโนโลยีจากประเทศเดนมาร์ก และสายสัญญาณของ Ansuz

ต่อมาก็จะเป็นในระดับของ Mid EndHigh End ก็จะมีตั้งแต่ Luxman, สายสัญญาณ High Diamond จากประเทศอิตาลี, แบรนด์ที่ได้มาใหม่เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วอย่าง Harmonix จากประเทศญี่ปุ่น ก็จะเป็นสินค้าพวก Tuning ห้อง, แอมป์หลอด, ปรีแอมป์หลอดฯ, ตัวรอง, ขาตั้ง และชั้นวาง ส่วนที่เหลือก็จะเป็นยี่ห้อที่รู้จักกันดีอยู่แล้วอย่าง Cayin (เยอรมนี), Melody (ออสเตรเลีย) และสุดท้ายแบรนด์ที่เพิ่งได้มาใหม่อย่าง Quad ที่มีสินค้าหลากหลายทั้ง แอมป์หลอดฯ, ลำโพง หรือสินค้าในกลุ่มดิจิตอลที่เพิ่งออกมาใหม่ด้าน High-res เป็นสิบๆ รุ่น…แล้วก็มี AMR จากประเทศอังกฤษ อีกหนึ่งตัวที่เริ่มถือน้อยลง จะเน้นไปเฉพาะตัว DAC อย่างเดียวเลย ดังนั้นภาพรวมของผมในการถือสินค้าก็จะออกมาเป็นประมาณนี้ ที่ดูชัดเจนขึ้น ไม่มีการถือแบรนด์แบบกระจาย สะเปะสะปะ อีกต่อไป

 

What HI-FI? : รบกวนขอทราบถึง แนวทางในการเลือกสรรสินค้ามาจำหน่ายของ อ.วิพล ว่าพิจารณาจากอะไรเป็นประเด็นหลักบ้างครับ?

อ.วิพล : ตามที่เกริ่นไปในข้างต้นว่า ผมเป็นคนที่จะไปเดินงานเครื่องเสียงที่ต่างประเทศบ่อยมากๆ แต่ส่วนมากจะไปในแถบเอเชียซะมากกว่า นานๆ ทีถึงจะมีโอกาสไปที่ยุโรป หรือ อเมริกา สำหรับงานที่ไปทุกปี ไปบ่อยๆ ก็จะเป็น ฮ่องกง, เสินเจิ้น หรือกว่างโจว เป็นต้น เพื่อไปดูและฟังแบรนด์ใหม่ๆในงาน แล้วเมื่อเจอตัวที่ถูกใจจากยี่ห้อไหนก็ตามที่ไม่มีใครทำตลาดอยู่ในเมืองไทย…ผมก็เลือกที่จะเสียเงินซื้อตัวโชว์กลับมาลองฟังเทียบกับสินค้าที่ผมถืออยู่เดิมก่อนอันดับแรกว่า ดีกว่าไหม? หรือลักษณะความแตกต่างกันเป็นยังไง? หลังจากนั้นจึงเริ่มมองหาวิธีการจัดวาง Brand Position ในตลาด เสร็จแล้วก็ไปคุยเรื่องราคากับทางผู้ผลิตอีกทีว่าเขาให้ราคาเราเป็นอย่างไรบ้าง นี่คือแนวทางสำหรับแบรนด์ระดับกลางถึงสูง…

ส่วนระดับ Super High End จะมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากผมคงไม่มีงบประมาณมากพอที่จะไปซื้อสินค้า “ตัวลอง” (Demo) ราคาระดับหลายๆ ล้านมาฟังได้ จึงอาศัยวิธีไปฟังตามงานเครื่องเสียงใหญ่ๆ ที่ต่างประเทศ รวมไปถึงว่าบางทีก็จะมีคำแนะนำของลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าในราคาระดับนี้ ซึ่งเขาเคยไปลองฟังมาแล้วหลายๆ งาน จนกล้าเอ่ยปากกับเราว่า ดีจริงๆ สั่งเข้ามาให้หน่อยได้รึเปล่า?ซึ่งอันนี้สำคัญที่สุด

 

What HI-FI? : แต่ละแบรนด์ที่ทำธุรกิจอยู่ในทุกวันนี้ มี “จุดแข็ง” อย่างไร จนกระทั่งเข้าตา อ.วิพล และติดต่อขอเป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย?

อ.วิพล : ขอยกตัวอย่างเป็นสินค้าในระเภทแอมป์หลอดฯแล้วกันนะครับ เพราะเป็นสินค้าที่ผมเคยถือหลากหลายแบรนด์ที่สุด นับคร่าวได้กว่า 6 ยี่ห้อ ทั้ง Cayin, Melody, L.A. Audio, Raysonic, Vincent, และ Classic Audio แต่ปัจจุบันผมเหลือทำแค่ 2 แบรนด์หลักๆ อย่างที่ทราบกัน คือ Melody และ Cayin ด้วยเหตุผลที่ว่า ทั้งสองยี่ห้อมีแนวเสียงที่ต่างกับแบบชัดเจน สำหรับ Vincent ก็จะถือว่าเป็น Hybrid ไม่ได้เป็นหลอด 100% แล้วในส่วนของ L.A. Audio, Raysonic และ Classic Audio ก็จะมีแนวเสียงสด ซึ่งไปคล้ายกับแนวของ Cayin พอดี…ดังนั้นผมจึงเลือกตัดเหลือแค่ตัวเลือกนี้ เพราะอันดับความนิยมที่แตกต่างกันชัดเชน รวมไปถึงยอดขายที่กล้าพูดได้ว่า 10 ต่อ 4 ตัวก็ว่าได้…

เนื่องจาก Cayin มีความยืดหยุ่นในเรื่องของการให้แนวเสียงของเพลงที่ฟังได้มากมายหลากหลายกว่า รีวิวต่างๆ จากต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาก็ยกรางวัลให้แบรนด์นี้บ่อยครั้ง จนเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง จากส่วนนี้สามารถทำให้ผมไปต่อรองราคาด้วยการสั่งจำนวนเยอะๆ จากบริษัทผู้ผลิตได้ง่ายขึ้นด้วย ครั้งละ 30-40 ตัวอย่างต่ำ โดยเราก็จะแจ้งความจำนงค์ไปเลยว่า “เราจะจัดโปรโมชั่นให้ราคาพิเศษเราได้เท่าไหร่?”

ในอีกฟากหนึ่งแบรนด์ Melody จะเป็นที่นิยมในหมู่ของลูกค้าที่มีอายุหน่อย เพราะว่า แนวเสียงที่ให้จะมีความฉ่ำ-หวาน-นุ่มนวล เหมือนจำลองบรรยากาศการฟังเพลงในยุค 70-80 มาได้ เลยทำให้จำกัดกลุ่มลูกค้าได้อย่างชัดเจน แถมครอบคลุมด้วย… ดังนั้นผมจึงเลือกที่จะตัดตัวเลือกเหลือแค่สองแบรนด์นี้ เพื่อการจัดการที่สะดวกสบายขึ้น ในส่วนของยอดขาย และการคุมสต็อกของที่ไม่จำเป็นต้องแบกภาระแบบมโหฬาร

 DSC_0146

What HI-FI? : รบกวนขอถามความเห็นส่วนตัวว่า แบรนด์ใดที่ อ.วิพลรู้สึกถูกใจ หรือชื่นชอบเป็นพิเศษพร้อมเหตุผลครับ?

อ.วิพล : ถ้าตอนนี้ผมอยากแบ่งเป็นระดับๆ ตามราคา คือ Super High End ที่เพิ่งจะทำตลาดได้ไม่นาน ก็จะมี Audio Note Japan และ Living Voice ที่คุณภาพเสียงดีมากๆ แต่ก็ต้องแลกด้วยราคาที่แพงมากๆเช่นกัน ซึ่งก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่าในกลุ่มสินค้าราคามหาศาลนี้ จะมีแค่กลุ่มมหาเศรษฐีเท่านั้นที่สามารถซื้อมาถือครองได้ เปรียบเป็น Pyramid Model ลูกค้ากลุ่มนี้ย่อมเป็นดั่งปลายยอดที่มีน้อยมาก ยิ่งกว่านั้นยังมีลักษณะเฉพาะตัวอีกต่างหาก ที่ต้องเป็นคนที่ชอบเสียงของหลอดฯ ฟังเพลงร้อง หรือชอบแนวเพลงที่หวานๆ ฉ่ำๆ รวมไปถึงชอบสะสมซื้อของเป็นคอลเล็คชั่น ให้รางวัลชีวิต เป็นต้น

บอกตามตรง ผมหวังกับตลาดตรงนี้ไว้ไม่มากมายหากปีๆ นึงขายได้สักชุดสองชุดก็เพียงพอแล้ว…ต่อมาเป็นสินค้าในอีกกลุ่มที่ผมยังคงพึงพอใจ และยังคงรักผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้มากที่สุด ย่อมเป็นระดับ Mid End อย่างแบรนด์ Cayin และ Melody เหตุผลที่ชอบก็เพราะว่า เป็นสินค้าที่อยู่กับเรามานานเกือบ 10 ปี แถมมั่นใจได้ในเรื่องของคุณภาพว่าไม่เคยทำให้ผิดหวัง สามารถใช้งานได้หลากหลายโดยไม่ต้องลงทุนเยอะ เนื่องจากแค่ลงทุนเปลี่ยนหลอดก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้มันได้มากขึ้นอย่างมหาศาลแล้ว

ซึ่งเมื่อนำไปเทียบในกลุ่มแอมป์หลอดฯ เหมือนกัน หากคุณต้องการเสียงที่ได้ออกมาดีเท่านี้ ขอบอกกันตามตรงเลยว่าต้องจ่ายแพงกว่านี้ถึง 4-5 เท่า ขนาดตัวผมเองยังใช้ Cayin อยู่เลย จะเปลี่ยนก็เพียงแค่หลอดเท่านั้น นอกจากนี้ทั้งสองแบรนด์ยังคงเป็นสินค้าที่เริ่มบุกเบิกทำตลาดให้เรา จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังคงเป็นสินค้าที่ทำยอดขายให้เราอยู่ตลอด แนะนำลูกค้าไปไม่เคยมีกระแสตอบกลับที่เป็นลบเลยแม้แต่ครั้งเดียวจากจำนวนลูกค้ากว่า 700-800 ราย…ในทางกลับกันหากเป็นแอมป์แบบโซลิดสเตท ผมยังคงยกให้คุณภาพของ Luxman เป็นที่หนึ่ง เมื่อเทียบราคากับความคุ้มค่าแล้ว ทำให้สินค้าแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นไลน์เดียวกันที่ผมนำเข้าเลยต้องหยุดไป เช่น อีโมติว่า เป็นต้น

 

What HI-FI? : จากเดิมที่ อ.วิพล มักจะเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ดีๆ ที่มีราคาคุ้มค่าจากทางเอเชียเป็นหลัก ทว่า ณ ปัจจุบันได้มุ่งไปสู่สินค้าระดับไฮเอนด์ ที่มีราคาหลักล้าน ทำไมถึงมี “จุดเปลี่ยน” ในแนวทางนี้ครับ?

อ.วิพล : ขอเรียนตามตรงว่าจริงๆ แล้ว…ผมไม่ได้เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ไปจากเดิมเลยนะครับ เนื่องจากผมยังคงค้นหาสินค้าคุณภาพดีในราคาที่ไม่แพงมาทำตลาดอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ว่าผมเลือกที่จะเพิ่มนโยบายในส่วนของสินค้าซูเปอร์ไฮเอ็นด์ลงไปด้วย สำหรับการขยายตลาดมากกว่า เพราะสินค้าที่ผมถืออยู่ในตอนแรกนั้นมีแค่ในระดับ Mid – High End มันดูยังไม่สุดทาง และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในกลุ่มมหาเศรษฐีที่ผมเอ่ยถึงไว้ข้างต้นได้

ซึ่งถ้าผมไปเลือกสินค้าที่อยู่ในระดับที่เมืองไทยเคยมีคนนำเข้ามาแล้วราคาประมาณ 7-8 ล้าน มันก็ดูเหมือนว่าวนอยู่แค่ในระดับเดิม ไม่ได้แตกต่างจากที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ไม่ได้ฉีกแนวทางผลิตภัณฑ์เท่าไหร่ ผมก็เลยตัดสินใจที่จะฉีกแนวไปให้สุดโต่งไปเลย ด้วยลำโพงระดับราคา 20-30 ล้าน เอาแบบที่ไม่มีใครกล้าทำกันไปเลย… ดังนั้นคนที่ซื้อไปก็แทบจะมั่นใจได้ว่า “ชุดของเขาไทยเมืองไทยนั้นเป็นที่หนึ่ง หรือหนึ่งเดียว” เหมาะสมกับการจ่ายมาเพื่อโชว์ให้แขกเหรื่อมาเยี่ยมแบบไม่อาย หรือจะเป็นของสะสมที่เปรียบเสมือนให้รางวัลชีวิตแก่ตนเองก็ได้

 

What HI-FI? : ขออนุญาตเรียนถามกันตามตรงถึง “เหตุผลของการย้ายร้านใหม่ และทำไมพอย้ายร้านแล้ว ต้องทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทด้วย” มีนัยอะไรแฝงอยู่หรือเปล่าครับ?

อ.วิพล : สิ่งแรกเลยก็ต้องพูดกันตามตรงว่า ตึกตรงนี้ที่เป็นที่ตั้งของบ.ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดียนั้น มันไม่ใช่ของผมเอง ผมอยู่กับตึกนี้มาระยะเวลากว่า 13 ปี โดยการเช่า ปรากฏว่า ลูกสาวของเจ้าของตึกต้องการเอาเงินทุนไปทำธุรกิจกับเพื่อนเลยตัดสินใจขายตึกนี้ แต่ไม่มีการมาแจ้งผมก่อนล่วงหน้าเลยว่าจะขาย ไม่อย่างนั้นด้วยความผูกพันที่ผมอยู่ตรงนี้มานาน ตั้งแต่เป็นตึกร้าง จนผมมาตกแต่งใหม่หมดเงินไปหลายล้านบาท ผมอาจจะตัดสินใจซื้อตึกนี้เองก็ได้…

อย่างไรก็ตาม การย้ายร้านไปที่ใหม่ ณ “The Walk ราชพฤกษ์” ก็มีข้อดีมากมายหลายเรื่องที่เกิดขึ้น อาทิเช่น พื้นที่ที่ใหญ่กว่าเดิมเกือบสามเท่าตัวจาก 144 ตารางเมตรเป็น 300 ตารางเมตรเลยทีเดียว กว้างขวางจนสามารถสร้างห้องฟังได้จากเดิม 2 ห้องเป็น 3 ห้อง 3 ขนาด แบ่งแยกสำหรับแต่ละระดับสินค้าได้ชัดเจน เพื่อความสะดวกสบายในการตัดสินใจของลูกค้า รวมไปถึงพื้นที่ในการโชว์สินค้าก็เพิ่มมากขึ้นด้วย และเนื่องจากร้านใหม่ของผมนั้นตั้งอยู่ในศูนย์การค้า หรืออเวนิว (Avenue) ที่เปรียบเสมือนแหล่งช็อปปิ้งมอลล์ ย่อมส่งผลให้ผมมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้พบกับ “ลูกค้าขาจร” รายใหม่ๆ ที่อาจจะเพิ่มจำนวนเข้ามา จากเดิมที่เรามีลูกค้าประจำอยู่แล้วราว 2,000 กว่าราย…

สำหรับคำถามถึงเรื่องการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก “ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดีย” มาเป็น “Audio Absolute” นั้น เป็นคำถามที่ดีมากๆ ผมจะได้มีพื้นที่อธิบาย และชี้แจงได้อย่างชัดเจนไปเลยในประเด็นนี้ สาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อบริษัทในครั้งนี้นั้น มีความเกี่ยวข้องกับข้อตกลงกับบริษัทคู่ค้าในต่างประเทศที่เป็นแบรนด์ระดับ Super High End อย่าง Living Voice และ Audio Note Japan (Kondo) ที่ไม่ต้องการให้สินค้าของเขามาขายปนอยู่กับผลิตภัณฑ์ในระดับเกรด Mid – High End ที่มองดูแล้วเกรดของสินค้าจะเป็นรองกว่าของเขา…ตอนแรกแล้วทางโน้นเองต้องการให้ผมเปิดบริษัทเพิ่มขึ้นมา เพื่อรองรับแบรนด์ระดับ Super High End โดยเฉพาะด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าหากทำตามข้อเรียกร้องของเขา ผมก็จำเป็นต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นเยอะแยะ ทั้งในเรื่องของภาษี หรือค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ

ดังนั้นผมจึงเสนอข้อตกลงตรงกลางที่ทางต่างประเทศยอมรับได้ ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ พร้อมกับทำเว็บไซต์สินค้าเฉพาะ Super High End ออกมาอีกเว็บหนึ่ง โดยหลังจากนี้หากลูกค้าที่เข้าใน Url เก่าที่ www.silver-audio.com ก็จะพบแต่แบรนด์สินค้าระดับ Mid – High End อาทิ เช่น Cayin, Melody, AMR, Quad และ High Diamond แต่ชื่อบริษัทที่โชว์ในเว็บจะเปลี่ยนเป็น Audio Absolute แล้ว ส่วนอีกเว็บไซต์ที่เปิดขึ้นมา คือ www.audioabsolute.co.th ก็จะแยกออกมาเฉพาะแบรนด์ระดับ Super High End ทั้ง 5 แบรนด์ได้แก่ AAVIK, Ansuz, Audio Note (Kondo), Raidho และ Living Voice

 

What HI-FI? : ตอนนี้ทราบว่าที่ร้านใหม่ของ อ.วิพล ได้ลงทุนจัดทำห้องฟังอย่างดีไว้คอยให้บริการลูกค้าที่สนใจ มีการวางหลักคิดไว้เช่นไรในการจัดทำห้องฟังนี้ครับ?

อ.วิพล : ต้องขอบอกกันตามตรงนะครับว่า ผมไม่ได้มีประสบการณ์อะไรมากมายในเรื่องการทำห้องฟัง ซึ่งห้องฟังที่อยู่ที่เดิมนั้นผมก็เป็นคนจัดการออกแบบเองทั้งหมด ดังนั้นต้องยอมรับว่าห้องที่ออกมามันก็ไม่ได้เพอร์เฟกต์สมบูรณ์อะไรมากมายนัก เพียงแค่อยู่ในระดับที่ใช้ได้เท่านั้น แต่ใช้ทุนไปแบบที่กล้าพูดได้เลยว่า “ถูกมาก” อย่างไรก็ตาม เมื่อเราย้ายไปที่ใหม่แล้ว สถานการณ์มันมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ตรงที่เราถือแบรนด์ที่เป็นระดับซูเปอร์ไฮเอ็นด์อยู่ในมือ ส่งผลให้ห้องฟังจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องลงทุนหนักขึ้นอย่างมาก

ซึ่งนอกจากจะต้องฟังได้ดีเยี่ยมแล้ว ยังต้องสวยงามอลังการอีกด้วย เพราะว่า ต้องมีการโชว์สินค้าของเราให้สวยโดดเด่น สมกับราคาของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการคำนึงถึงระดับลูกค้าที่จะมาเยี่ยมชมห้องที่จัดแสดงสินค้าระดับนี้ด้วย …ซึ่งก็คงต้องเป็นบุคคลระดับ “ซุปเปอร์พรีเมี่ยม” ทำให้ผมต้องทำห้องที่รับรองลูกค้าเหล่านี้ได้สมฐานะด้วย สุดท้ายแล้วผมก็ตัดสินใจจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะมาออกแบบให้

ส่วนในเรื่องของไซส์ห้องที่เหมาะสมนั้น ผมใช้วิธีสอบถามไปทาง Living Voice เพื่อขอคำปรึกษาว่าควรจะใช้ห้องขนาดเท่าไหร่ดีจึงจะเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของเขา ซึ่งเมื่อได้ขนาดด้านกว้างและยาวมาแล้ว ก็ต้องมาดูเรื่องความสูงอีกที ทางด้านต่างประเทศแนะนำมาว่าอย่างต่ำควรจะสูง 3.7 เมตร นับว่าเป็นความสูงที่หาได้ยากมากในร้านรวงทั่วไป หรืออาคารพาณิชย์ก็ตามที แต่ที่โชว์รูมใหม่ของผม ไม่มีปัญหาในจุดนี้เลย เพราะมีความสูงจากพื้นถึงเพดานประมาณ 5 เมตร เรียกได้ว่าหายห่วงเลยในจุดนี้

จากการที่เราเจาะจงทำห้องนี้ให้ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับรองรับแบรนด์ระดับ Super High End โดยเฉพาะ รวมๆ แล้วก็เลยหมดเงินทุนไปกับห้องนี้กว่า 2 ล้านบาท…ส่วนห้องอื่นๆทีเหลืออีก 2 ห้องก็จะเป็นขนาดมาตรฐานทั่วไปที่สูงราว 2.9 – 3 เมตร อย่างไรก็ตามในเรื่องของเสียงที่ออกมาก็คงต้องลุ้นกันอีกที เพราะ เจ้าของ, ดีไซเนอร์ และซีอีโอของ Living Voice จะมาเซ็ตอัพโดยรวมให้อีกที ในเรื่องของการเพิ่มเสริมเติมแต่งในส่วนของ Equipment และ Acoustics ต่างๆ เขาจะเป็นคนดูแลในจุดนี้ให้ แล้วหลังจากห้องฟังเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ทางผมก็จะมีการจัดกิจกรรม หรือมีตติ้งต่างๆ ได้บ่อยครั้งขึ้นอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การพิสูจน์เรื่องระบบไฟฟ้า ที่ผมได้ทำการเดินสายไฟในห้องฟังใหม่ โดยการใช้สายไฟพิเศษที่ผมสั่งมาขายเกือบทั้งหมด รวมๆแล้วใช้สายไปกว่า 100 เมตร และก็จะมีจุดปลั๊กเมนหลักอีกเต้านึงที่เป็นสายไฟปกติที่ใช้ตามบ้านเรือนทั่วๆ ไปทั้ง เพื่อนำสินค้ามาต่อฟัง แล้วทำการเปรียบเทียบกันให้เห็นกันจะๆ ไปเลยว่า ระบบไฟฟ้านั้นมีผลต่อเครื่องเสียงหรือไม่อย่างไร? ซึ่งทั้งสามห้องจะมีให้ลองแบบนี้หมดทุกห้อง อย่างไรก็ตาม สายที่ใช้ก็ไม่ได้ราคาเว่อร์ถึงในระดับเมตรละเป็นหมื่นๆนะครับ อยู่แค่หลัก 6-7 ร้อยบาทต่อเมตรเท่านั้น เพียงแต่ต้องการชี้ชัดให้เห็นกันไปเลยว่าความต่างกันในคุณภาพของสายไฟ, เต้าเสียบ และสายเมนที่ใช้กันตามบ้านเรือน เวลานำมาเทียบกับตัวนี้แล้ว จะมีผลออกมาเป็นแบบไหน…

 

What HI-FI? : กับความนิยมในการเล่นแผ่นเสียงที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด เปรียบเทียบกับความนิยมในการเล่นไฟล์ Hi-Res ที่ก็แพร่หลาย-ขยายตัวขึ้นมากเช่นกัน ทาง อ.วิพล มีความคิดเห็นในเรื่องนี้เป็นเช่นไรครับ?

อ.วิพล : เรียนตามตรงนะครับว่า ผมมองตลาดเครื่องเสียงนั้นเป็นตลาดที่แคบและเล็ก แล้วนับวันยิ่งจะมีการหดตัวลงเรื่อยๆ เพราะว่าเด็กสมัยใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ลูกผมที่ไปเรียนเมืองนอกมาก็ได้ เมื่อให้เขาได้ลองฟังเครื่องเสียงชุดใหญ่แล้ว เขายอมรับเลยด้วยการบอกผมว่า เสียงดี…เสียงดีมากๆ เลยนะครับป๋า แต่พอผมถามว่าลองใช้ดูไหม? เขากลับปฏิเสธไม่เอา แล้วกลับไปใช้เครื่องเล่น Hi-Res คู่กับหูฟังของเขาตามเดิม…

ซึ่งนี่แหละเป็นจุดที่น่ากลัวของวงการเครื่องเสียง เนื่องจากวัยรุ่นยุคใหม่นั้น จะมีลักษณะการฟังเพลงเป็นแบบนี้ซะส่วนมาก คนที่จะเล่นเครื่องเสียงแบบชุดใหญ่ๆ นับวันยิ่งจะน้อยลง ส่งผลให้ในอนาคตวงการเครื่องเสียงอาจจะเหลือเป็นที่นิยมแค่ในกลุ่มคนระดับวัยกลางคนที่มีฐานะ มีกิจการ หรือชื่นชอบในแนวทางแบบคนรุ่นเก่าเท่านั้น เพื่อเป็นกิจกรรมยามว่างที่ดูเสริมฐานะและบารมีมากกว่าจะสนใจจริงๆ จังๆ …สาเหตุที่ชักนำให้เป็นแบบนี้ก็เพราะความสะดวกสบายในการใช้งาน รวมไปถึงโลกของระบบไอทีที่อยู่รอบตัวเรามากขึ้นๆ

สังเกตได้ง่ายๆ ว่า เดี๋ยวนี้เครื่องเสียงไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใดก็ตาม นิยมที่จะทำออกมามีช่อง DAC, WIFI, USB, Network หรือไม่ก็มาในแพคเกจ All in one คือ ซื้อตัวเดียวใช้งานได้ครอบจักรวาล ฟังได้ตั้งแต่รุ่น ปู่, ย่า, ตา, ยาย จนมาถึงระดับ ลูก, หลาน แต่ถ้าถามผมถึงเรื่องของคุณภาพเสียงเมื่อเทียบกับเครื่องเล่นแยกชิ้นแล้ว มันก็ยังสู้กันไม่ได้ ต่อให้เป็น DSD ที่ไปถึงระดับ 32 Bit/ 768 kHZ แล้วในตอนนี้ เมื่อนำมาเปรียบกับแผ่นเสียงที่เป็นอะนาลอกแล้ว ก็ยังแพ้กันแบบไม่เห็นฝุ่น อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยหนึ่งที่เรามักเห็นคนเล่นแผ่นเสียง เป็นคนวัยกลางคนขึ้นไป หรือคนที่มีฐานะหน่อย ก็เพราะเรื่องของราคาแผ่นที่สูงมากต่อหนึ่งแผ่น เป็นพันบ้าง เป็นหมื่นบ้าง ทำให้วัยรุ่นไม่สามารถเอื้อมมาถึงตรงจุดนี้ได้

เนื่องจากถ้าเขาซื้อแผ่นบางแผ่นในราคาหลักหมื่น เขาสามารถเอาเงินตรงนั้นไปซื้อเครื่องเล่น Hi-Res ได้เลยนะถ้ามองกันตรงๆ แล้วเพลงที่สามารถบรรจุเข้าไปในเครื่องได้สมัยนี้ก็เป็นพันๆ หมื่นๆเพลง ตรงจุดนี้เองที่ผมมองว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้คนหันไปเล่น Hi-Res กันเยอะขึ้น ตลาดขยายตัวขึ้นแต่เรื่องของคุณภาพเสียงแล้วต้องยังคงยกให้ฝั่งแผ่นเสียงชนะขาดอยู่ดี ถ้าถามผมว่าให้ผมลองเล่นไฟล์เพลง Hi-Res ดูไหม? ผมก็คงตอบว่า “ไม่เล่น เพราะผมชอบแผ่นเสียง” แต่ถ้าถามผมว่าขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ไหม? ผมขายหมด…

ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ใหม่ที่ผมเพิ่งได้มา คือ JF Digital ที่เป็นเครื่องเล่นไฮ-เรสจากประเทศจีนที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากเมืองนอกรีวิวเรื่องเสียงของสินค้าในแบรนด์นี้ไว้ว่า “ดีมาก” สามารถนำไปเปรียบกับแบรนด์ระดับ 4-5 แสนได้เลย ทั้งๆ ที่ราคาต่างกันแบบลิบลับ สาเหตุที่ทำให้แบรนด์นี้มีคุณภาพดีก็เพราะว่า เป็นโรงงานที่ผลิตให้กับสินค้ากลุ่มเครื่องเสียงยี่ห้อดังๆ มาก่อน แล้วเขามีวิธีการผลิต การทำ Operation ที่เป็นระบบของตัวเอง อัพเดทเฟิร์มแวร์ได้ตลอดปีตลอดชาติแบบฟรีๆ ต่างกับแบรนด์จากต่างประเทศดังๆ ที่ต้องเสียงเงินเพิ่มในจุดนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ผมเพิ่งเอาเครื่องรุ่นใหม่มาลองฟังด้วยตัวเองที่บ้าน โดยใช้ไฟล์ Hi-res ปรากฏว่า ผมค่อนข้างมั่นใจว่าสินค้าแบรนด์นี้ สามารถไปสู้กับเครื่องเล่น CD ตัวละเป็นแสนๆ บางแบรนด์ได้สบายๆ เลย…สำหรับผมเองนั้นทำตลาดทั้งสองฟากสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของลูกค้าแล้วว่าชอบแบบไหนกันแน่

DSC_0150

What HI-FI? : กับสภาพเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันที่เราๆท่านๆทราบกันดี…ทางอ.วิพล วางแนวทางในการ “รับมือ” ไว้อย่างไรบ้าง และได้คาดถึงสภาพการณ์ในอนาคตไว้ว่าจะออกมาเป็นรูปแบบไหนครับ?

อ.วิพล : ต้องยอมรับกันตามตรงว่าสภาพเศรษฐกิจในบ้านเราตอนนี้ ส่งผลกระทบไปทั่วทุกวงการ ไม่ใช่แค่เฉพาะวงการนี้ ยิ่งเฉพาะเครื่องเสียงแล้วเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทฟุ่มเฟือย ซื้อแล้ว ซื้ออีก ซื้อเพราะใจชอบ แม้ว่าจะมีแล้วก็ตาม แต่ถ้าถามว่าเศรษฐกิจปีนี้กับปีที่แล้วแตกต่างกันหรือไม่? สำหรับผมแล้วก็ไม่ค่อยต่างกันมากนัก เนื่องจากมีช่วงย่ำแย่มาตั้งแต่ปัญหาการเมืองเดิม ยาวจนถึงเปลี่ยนมายุคก่อนเริ่มรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก่อนที่จะเริ่มจะกระเตื้องขึ้นมาบ้างหลังปัญหาสงบในยุครัฐบาลนี้ แล้วจึงค่อยทำยอดได้เป็นน้ำเป็นเนื้อบ้างในช่วงที่ผมจัดโปรโมชั่นช่วงปลายปีที่แล้ว เรียกว่าดีมาตลอดจนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่งจะมาดรอปลงในช่วงเดือนสี่เป็นต้นมา เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา หรือกรีซ รวมไปถึงในประเทศไทยที่ราคาพืชผล และสินค้าในหมวดอื่นๆ เริ่มตกต่ำลง ทำให้ชนชั้นกลางถึงล่างไม่ค่อยกล้าใช้จ่าย

แต่สำหรับผมถือว่าโชคดีที่ได้ลูกค้าระดับบนสุดเข้ามาช่วย เนื่องจากเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ลูกค้าประเภทนี้จะไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะเขามีทุนทรัพย์เยอะเกินกว่าที่จะมากังวล…อย่างไรก็ตามนโยบายของผมก็ยังคงวางเป็น 3 สเต็ปอยู่เช่นเดิม คือ “ล่าง-กลาง-บน” ทำให้พยุงกันไปได้ หากยอดระดับไหนแย่ ยอดอื่นก็ยังพอมาช่วยได้ แล้วสินค้าของผมก็มีตั้งแต่ถูกสุดๆ ไปจนถึงแพงสุดๆ ความหลากหลายของตลาดจึงพอจะช่วยแก้ปัญหาในจุดนี้ได้

What HI-FI? : อนาคตข้างหน้า อ.วิพลได้วางแผนคิดไว้ให้บริษัท มุ่งหน้าไปในทิศทางใดครับ?

อ.วิพล : จากที่ผมอยู่ในวงการนี้มายาวนานกว่า 30 ปี…หากถามว่าตลาดต่อไปในอนาคตจะวางอย่างไร? คิดอย่างไร? ถ้าเป็นตลาดเครื่องเสียง และโฮมเธียเตอร์ ก็คงจะเท่าเดิม หรือเผลอๆ จะแคบลงไปอีก เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ได้มีการพัฒนาแล้ว แทบไม่มีอะไรออกใหม่เลย ผมกลับมองว่าเป็นแค่การแต่งเสริม-เติมแต่งของเดิมที่มีอยู่แล้วซะมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เครื่องเล่นที่ออกมาเป็นระบบ 11.2 หรือไปไกลกว่านั้น แต่ตัวแผ่นที่ใช้เล่นกลับมีแค่ 6.1 เป็นต้น

ดังนั้นหนทางการแก้ปัญหาตรงจุดนี้ ผมมองว่าน่าจะเป็นการพยุงคนกลุ่มเดิมที่มีความชอบในเรื่องนี้ รักษากลุ่มนี้ไว้ ด้วยการจัดกิจกรรม หรือ มิตติ้งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน นอกจากนี้ก็อยากจะชักชวนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยม Hi-res มาลองฟังแบบอะนาลอกดูบ้าง จึงอยากจะฝากความคิดเรื่องนี้ให้กับทางสื่อ หรือ ร้านค้าต่างๆ ให้ร่วมด้วยช่วยกันคิด ว่าเราควรทำอย่างไรดีที่จะชักจูงคนกลุ่มนี้ให้หันมาสนใจตลาดนี้บ้าง ด้วยการร่วมด้วยช่วยกันจัดกิจกรรมแบบตามทีวี หรืองานอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้เกิดผลตรงจุดนี้ได้ครับ

 

What HI-FI? : ลูกค้า หรือผู้ที่สนใจในการเล่นเครื่องเสียง-โฮม เธียเตอร์ในบ้านเรา จากประสบการณ์ของ อ.วิพล ณ ปัจจุบัน มองเห็นถึงความเปลี่ยนไปจากเดิมบ้างรึไม่ครับ?

อ.วิพล : ถ้าเป็นลูกค้าเดิมๆ ของผมที่เคยซื้อไปแล้ว ดูไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยนะครับ มีแต่มาซื้อเพิ่ม หรือไม่ก็มาซื้อใหม่ เพราะว่ารสนิยม และความชอบจะไม่เปลี่ยน ถ้ามีเปลี่ยนบ้างก็เป็นย้ายระบบสินค้าจากโซลิดสเตท มาเป็นหลอดฯ ส่วนพวกที่ชอบฟังหลอดอยู่แล้วก็จะมีการอัพเกรดชุดของตัวเองบ้าง ด้วยการมองหาลำโพงที่มีความไวสูงกว่าเดิมมาใช้อะไรทำนองนี้

 

What HI-FI? : อ.วิพล นับได้ว่า เป็นบุคลากรระดับคุณภาพที่มีความรู้จริงคนหนึ่งในแวดวงเครื่องเสียงบ้านเรา คิดอะไรไว้ในใจไหมครับ สำหรับโครงการนำเสนอความรู้แท้จริงเหล่านี้ออกสู่ลูกค้า หรือผู้ที่สนใจที่จะเข้ามาศึกษาในเรื่องนี้?

อ.วิพล : เผอิญผมมีกลุ่มไลน์ลูกค้า และกลุ่มของคนชอบเล่นหลอด รวมไปถึงการเข้าถึงอื่นๆ ที่ผู้เริ่มต้นศึกษาสามารถเข้าร่วมได้ ผมเลยอยากฝากข้อคิดเอาไว้เรื่องนึงว่า “ทุกครั้งที่เลือกซื้อสินค้า อย่าเลือกตามที่คนอื่นบอกว่าดี เป็นอันขาด” อยากให้ลองฟังดูก่อน เพราะหูคุณ กับ หูเขาไม่เหมือนกัน ความชอบและรสนิยมก็ต่างกันอยู่แล้ว ไม่อย่างงั้นแบรนด์เครื่องเสียงคงมีแค่ยี่ห้อเดียว เนื่องจากคนชอบเหมือนกันหมด ส่วนมากผมเห็นลูกค้าที่มีตัวเลือกอยู่ในใจที่คนแนะนำมา พอมาถึงผม ลองฟังตัวอื่นๆ ดู ได้รับรู้ถึงเสียงที่ฟังขณะนั้นจริงๆ 9 จาก 10 คน ไม่เคยซื้อตัวที่คนแนะนำกลับไปเลย…

ดังนั้นเวลาที่ลูกค้าโทรมาหาผมแล้วถามว่าตัวไหนดี ช่วยแนะนำให้หน่อย…ผมจะบอกลูกค้าทุกครั้งว่า อย่าให้ผมแนะนำเลย อยากให้ลองมาฟังก่อน เพราะผมมีสินค้าหลากหลายรุ่น หลากหลายราคาให้เลือกอย่างครอบคลุม เอาง่ายๆ แล้ว ผมแค่อยากรู้งบประมาณของลูกค้าเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะจำกัดวงของสินค้าได้ง่ายขึ้น แล้วก็เลือกฟังได้อย่างจุใจ จนกว่าจะได้ตัวที่ชอบที่สุด แบบสบายใจทั้งคนขายคนซื้อ…อย่าไปเชื่อคนอื่น เพราะเงินที่จ่ายไปเป็นของเรา เวลาฟังเราก็ฟังคนเดียว มาฟังเอง แล้วค่อยตัดสินใจดีกว่า…

ส่วนอีกเรื่องที่อยากฝากไว้ก็คือ อยากให้หลายๆคนที่สนใจเรื่องเครื่องเสียง ลองมาร่วมกิจกรรม หรือ มีตติ้งที่จัดขึ้นมา เนื่องจากเป็นโอกาสที่จะได้รับความรู้กลับไปอย่างมากมาย ซึ่งหากมาร่วมฟังด้วยกันดูแล้วก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า อะไรดีอะไรไม่ดี ตัวเราชอบฟังเพลงแบบไหน ตรงจุดนี้พอได้ข้อมูลติดตัวไปบ้างแล้ว ก็จะสามารถป้องกันเรื่องที่ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าที่ไม่ตรงตามความต้องการของเราเองได้

DSC_0126

What HI-FI? : ปิดท้ายกันตรงนี้ อ.วิพล มีอะไรจะฝากไว้ไปถึงท่านผู้อ่าน และลูกค้าบ้างไหมครับ?

อ.วิพล : ก็คงจะไม่อะไรฝากเยอะแยะนอกจากข้อคิดที่ฝากไว้ก่อนหน้านี้เมื่อคำถามก่อน…ก็คือว่า จะซื้อเครื่องเสียงแบรนด์ใดก็ตาม ต้องฟัง-ต้องเลือกด้วยตัวเอง สิ่งที่เราชอบเราจ่ายเงินเอง ความคุ้มค่าเราได้รับเอง ผมคิดว่าเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดที่ลูกค้าควรตระหนักก่อนที่จะตัดสินใจซื้อทุกครั้งครับ

 

What HI-FI? : ขอบคุณมากครับ…สวัสดี