รีวิว NAD C 368 Hybrid Digital DAC Amplifier

0

DAWN NATHONG

        ในที่สุด New Acoustic Dimension หรือ NAD ก็เปิดตัวแอมป์ใน C ซีรี่ยส์ใหม่อย่าง C 338, C 368 และ C 388 ที่ใช้พื้นฐานวงจรภาคขยายแบบคลาส-ดีและสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกับคลาสสิคซี่รี่ยส์เดิมซึ่งวางตลาดมาเป็นเวลานาน สร้างกระแสฮือฮาในบ้านเราได้พอสมควร

ซึ่งจริง ๆ แล้ว NAD เองนั้นได้มีการพัฒนาภาคขยายแบบคลาส-ดีเพื่อนำมาใช้กับแอมปลิฟายเออร์ของตัวเองมาเป็นเวลานานแล้ว นั่นก็คือ Master ซี่รียส์ซึ่งเป็นรุ่นสูงสุด เปิดตัวเป็นครั้งแรกด้วยอินทิเกรตแอมป์ Direct Digital รุ่น M2 ตั้งแต่ช่วงปี 2010 ซึ่งได้กระแสตอบรับจากนักเล่นที่ดีมากรวมทั้งกวาดรางวัลจากนักวิจาร์ณมามากมาย ก่อนที่จะพัฒนาต่อยอดมาจนถึงรุ่น M32 ในปัจจุบัน

NAD M2

        สังเกตว่า NAD เลือกที่จะวางตลาด C ซีรี่ยส์ใหม่ควบคู่ไปกับคลาสสิคซีรี่ยส์เดิม ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนรุ่นแต่อย่างใด คงเป็นเพราะอย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีแฟน ๆ ที่ยังชื่นชอบในน้ำเสียงของคลาสสิคซีรี่ยส์ดั้งเดิมอยู่ไม่ใช่น้อย ดูเหมือนทาง NAD นั้นก็ทราบดีและตั้งใจออกแบบ C ซีรี่ยส์ใหม่มาให้เหมาะสมกับรูปแบบการฟังเพลงยุคใหม่อย่างไฮ-เรสมิวสิคและสตรีมมิ่งมิวสิค เพื่อเหล่าแฟน ๆ ของ NAD จะได้มีทางเลือกที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

         C 368 เป็นรุ่นกลางของซีรี่ยส์นี้ หากจะเปรียบกับคลาสสิคซีรี่ยส์เดิม ณ ปัจจุบันรุ่นที่ใกล้เคียงกันก็น่าจะเป็นอินทิเกรตแอมป์รุ่น C 356BEE ซึ่งมีกำลังขับพอ ๆ กัน เมื่อดูสเปคแล้ว C 368 จะให้ค่าอัตราเสียงต่อสัญญาณรบกวนที่ดีกว่า คือมากกว่า 98 ดีบี ขณะที่ C 356BEE จะอยู่ที่มากกว่า 92 ดีบี ในส่วนของแดมปิ้งแฟ็คเตอร์ C 368 ให้ค่ามากกว่า 300 ซึ่งสูงกว่า C 356BEE สามเท่าเลยทีเดียว จากการดูแบบคร่าว ๆ นี้ก็พอจะทำให้ทราบถึงประสิทธิภาพของวงจร Hybrid Digital™ ในตัว C 368 ได้ไม่น้อย

รายละเอียดด้านเทคนิคที่น่าสนใจ

        แม้ว่าสถาปัตยกรรมแบบ Direct Digital™ ที่ใช้ในรุ่นสูงสุดอย่าง Master ซีรี่ยส์นั้นจะมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยการออกแบบที่ละเอียดซับซ้อนและใช้อุปกรณ์คุณภาพสูงจำนวนมาก เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตขยับสูงตามไปด้วย

เมื่อโจทย์คือราคาที่จับต้องได้มากขึ้นและยังคงประสิทธิภาพคล้ายคลึงกัน วิศวกรของ NAD จึงคิดค้นวงจรแบบใหม่ที่ลดความซับซ้อนลงแต่ยังคงให้ประสิทธิภาพสูง เรียกว่า Hybrid Digital™ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของการออกแบบที่จะต้องสร้างภาคปรีแอมป์ที่เรียบง่าย ใช้อุปกรณ์เกรดสูงสุดเพื่อลดสัญญาณรบกวนและให้ประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกับ Direct Digital™ มากที่สุด

ใช้ชิป DAC แปดแชนแนลคุณภาพสูง (NAD ไม่ได้ระบุรุ่นแต่ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตระบุว่าเป็นชิป 32 บิต Burr-Brown PCM1795) ทำงานในโหมดดูอัล-ดิฟเฟอเรนเชี่ยลข้างละสี่แชนแนลเพิ่มประสิทธิภาพการแปลงสัญญาณ

จัดการกับข้อมูลของแหล่งโปรแกรมดิจิทัลอย่างระมัดระวังตลอดเส้นทางเดินสัญญาน ร่วมกับการทำงานของภาคขยายคลาส-ดีแบบใหม่ ซึ่งสถาปัตยกรรม Hybrid Digital™ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในอินทิเกรตแอมป์ D 3020 รุ่นเกิดใหม่ของอินทิเกรตแอมป์ระดับตำนานอย่าง NAD 3020 นั่นเอง

         ส่วนเหตุที่ NAD หันมาพัฒนาวงจรขยายแบบคลาส-ดี เนื่องจากวิศวกรของ NAD เล็งเห็นว่าวงจรภาคขยายแบบคลาส-เอ/บีและภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ที่ใช้หม้อแปลงแบบดั้งเดิมมีข้อจำกัดบางประการ รวมถึงมีการใช้พลังงานบางส่วนแบบสูญเปล่าไปในรูปแบบของความร้อน

โมดูล Hypex UCD
ภาคจ่ายไฟ SPS ออดิโอเกรด

วิศวกรของ NAD จึงร่วมมือกับบริษัท Hypex Electronics ของเนเธอร์แลนด์ผู้ผลิตโมดูลวงจรคลาส-ดีแบบใหม่ที่เรียกว่า Universal Class D (UcD) นำโมดูลดังกล่าวมาทำการปรับปรุงและจูนเสียงตามแบบฉบับของ NAD เองจนได้ประสิทธิภาพตรงตามคอนเซ็ปต์ มีความเพี้ยนต่ำจนแทบวัดไม่ได้ในทุกสภาพการทำงาน

มีพลังอัดฉีดจ่ายกระแสได้สูง มีความเสถียรแม้ว่าจะขับโหลดลำโพงซับซ้อน ซึ่งวงจรภาคขยายของ C 368 นั้นมีอัตราบริโภคพลังงานที่ต่ำมาก แต่ให้ค่า IHF Dynamic Power หรือกำลังสำรองที่สามารถสวิงขึ้นชั่วขณะได้สูงถึง 250 วัตต์ที่โหลดความต้านทาน 2 โอห์มกันเลยทีเดียว

        ตัวเครื่องออกแบบเป็นลักษณะของ Modular Design Construction หรือเรียกสั้น ๆ ว่า MDC ที่สามารถนำโมดูลเสริมมาติดตั้งเพื่ออัพเกรดความสามารถของ C 368 ได้ถึงสองช่อง เครื่องที่ได้รับมาทดสอบนั้นก็มีโมดูล BluOS ติดตั้งมาให้เรียบร้อยซึ่งจะขอกล่าวถึงในภายหลัง

การติดตั้งโมดูล MDC

        มีภาครับสัญญาณบลูทูธ A2DP รองรับ aptX พร้อมเสาอากาศแบบถอดได้ สามารถเชื่อมต่อกับหูฟังแบบไร้สาย รวมทั้งเชื่อมต่อกับแอพคอนโทรลของ NAD เพื่อใช้สั่งงานผ่านมือถือหรือแท็ปเล็ต มีช่องดิจิทัลอินพุตทั้ง SPDIF โคแอ็คและออพติคอล รองรับความละเอียด 192kHz/24bit

        สำหรับแหล่งโปรแกรมแผ่นเเสียง ทาง NAD ก็ยังใส่ภาคโฟโนสเตจแบบ MM ที่พื้นเสียงสงัดและมีสัญญาณรบกวนต่ำ พร้อม RIAA อีควอไลเซชั่นคุณภาพสูงชดเชยย่านความถี่ในการเล่นกลับได้อย่างเที่ยงตรง มีการใช้บัพเฟอร์แบบอัลตร้าโลว์น้อยส์สำหรับช่องสัญาณอนาล็อกอินพุตเพื่อรองรับสัญญาณเอ้าท์พุตที่แตกต่างกันของแหล่งโปรแกรมแต่ละประเภท

ภาคขยายหูฟังกำลังสูงความต้านทานต่ำใช้ขับหูฟังสตูดิโอมอนิเตอร์ได้อย่างสบาย รวมถึงช่องต่อ Pre-Out / SUBW สำหรับเชื่อมต่อกับเพาเวอร์แอมป์หรือแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ภายนอก และฟังก์ชั่นบริดจ์โมโน

แกะกล่อง

        ดีไซน์รูปร่างหน้าตายังคงเอกลักษณ์ของ NAD ที่เราคุ้นเคยเอาไว้อย่างเหนียวแน่น มองแว้บเดียวก็รู้ได้ทันที แต่เน้นความเรียบง่ายและดูทันสมัยมากขึ้น โดดเด่นด้วยจอแสดงผลขนาดใหญ่ตรงกลางเอาไว้แสดงรายละเอียดหน้าเมนูต่าง ๆ ชัดเจนสวยงาม ตัวถังเครื่องมีความแข็งแรงแน่นหนาและมีงานประกอบที่เนี้ยบมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

น้ำหนักเครื่องเบาลงกว่ารุ่น C 356BEE ประมาณหนึ่งกิโลกรัม รวมถึงบอดี้ที่ดูเพรียวบางขึ้นเล็กน้อย ด้านขวามือเป็นลูกบิดโวลุ่มคอนโทรลแบบเดียวกับรุ่น D 3020 ที่ใช้อุปกรณ์เกรดสูงแบบเดียวกับเครื่องราคาหลักแสน

ด้านหลังมีช่องสำหรับใส่โมดูล MDC สองช่อง มีช่องดิจิทัลอินพุตแบบโคแอ็คและออพติคอลอย่างละ 2 ชุด ช่องโฟโนอินพุต ช่องอนาล็อกอินพุต 2 ชุด ช่องปรี/ซับเอ้าท์ และมีขั้วต่อลำโพงแบบไบดิ้งโพส A-B สองชุด ในกล่องนอกจากคู่มือก็จะมีรีโมทคอนโทรลแบบมัลติฟังก์ชั่นที่ใช้คุมเครื่องรุ่นอื่นของ NAD ได้ เสาอากาศบลูทูธ และสายไฟเอซีแถมมาให้อีกหนึ่งเส้น ทำการเบิร์น-อินด้วยการใช้งานตามปกติราว 50 ชั่วโมงจึงเริ่มทำการทดสอบ

MDC BluOS Module Setup

        อย่างที่กล่าวไว้ตอนแรกว่าทางผู้นำเข้าใจดีติดตั้งโมดูล MDC BluOS มาให้เรียบร้อย ซึ่งโมดูล MDC นั้นเป็นออพชั่นเสริมแยกจำหน่ายต่างหาก โดยโมดูลที่ติดตั้งมาให้เป็น MDC BluOS 2 โมดูลเวอร์ชั่นล่าสุดที่อัพเกรดวงจรประมวลผล ARM ให้แรงขึ้น ออกแบบมารองรับกับเครื่องรุ่น C 368, C 388, C 390DD, M32 และ M12

หมายเหตุ ปัจจุบันมีโมดูล MDC BluOS 2i รุ่นใหม่ออกมาแล้ว

ความสามารถของโมดูลตัวนี้จะทำให้ C 368 สามารถใช้งานเป็นเน็ตเวิร์คเพลย์เยอร์ สตรีมไฟล์เพลงจาก NAS และ Cloud เซอร์วิสอย่างเช่น TIDAL, Spotify, Deezer, TuneIn หรือเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของ Bluesound เพื่อใช้งานในระบบมัลติรูมผ่านแอพ BluOS บนมือถือหรือแท็ปเล็ตได้อย่างสะดวกสบาย รวมทั้งรองรับการเล่นไฟล์ MQA หรือ Master Quality Authenticated ระดับ 352.8 kHz ได้ทันที

        จริง ๆ เฉพาะตัว C 368 นั้นไม่ได้มีความยุ่งยากในการติดตั้งอะไรเป็นพิเศษ แต่เมื่อมีโมดูล BluOS มาให้ทดสอบด้วยจึงจะขอเพิ่มเติมในส่วนการเซ็ตอัพของภาคเน็ตเวิร์คอย่างคร่าว ๆ สักเล็กน้อย

ขั้นตอนการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ค
หน้าเมนูของแอพ BluOS

        ในการทดสอบผู้เขียนจะใช้การเซ็ตอัพผ่าน Wi-Fi เป็นหลักเพราะง่ายและสะดวกที่สุด อันดับแรกต้องโหลดแอพ BluOS มาไว้บนมือถือหรือแทปเล็ตเสียก่อน จากนั้นทำการเปิดเครื่อง C 368 ขึ้นมาแล้วเลือกอินพุตไปที่ BluOS รอสักครู่เครื่องจะเข้าสู่ Hotspot โหมดโดยอัตโนมัติ ให้เราเลือกช่องสัญญาณ Wi-Fi ที่ปรากฏบนมือถือหรือแทปเล็ตให้เป็นชื่อเครื่อง (ของผู้เขียนจะขึ้นว่า “C 368-0355”)

จากนั้นเปิดแอพ BluOS โปรแกรมจะทำการเชื่อมต่อให้ทันที ให้เรากดปุ่มตามขั้นตอนไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาไม่นานจะมีชื่อเครื่องขึ้นบนแอพก็เป็นอันเรียบร้อย ท่านที่ใช้แอพ BluOS บนคอมพิวเตอร์ก็ใช้วิธีเชื่อมต่อแบบเดียวกัน เมื่อเลือกช่องสัญญาณ Wi-Fi เป็นชื่อเครื่องแล้ว ให้เข้าเวปบราวเซอร์แล้วพิมพ์แอดเดรส 10.1.2.3 ลงไปก็จะเข้าสู่หน้าเซ็ตอัพของ BluOS ทันที

        มีทริคเล็กน้อยในการตั้งค่าเมนูเมื่อใช้ MDC BlueOS โมดูล ให้เข้าหน้าเมนู Setting ของ C 368 เลือกหัวข้อ Network Standby เป็น “ON” เอาไว้ ค่าคอนฟิกที่เราปรับแต่งบน BluOs จะได้ไม่หายเวลาปิดเครื่องในโหมด Standby

ติดตั้งเข้าระบบ

        ก่อนทำการทดสอบนั้นผู้เขียนจะทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์ของเครื่องให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดทั้งหมดเสียก่อน เพื่อให้ฟังก์ชั่นค่าง ๆ ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดก่อนการทดสอบ สามารถตรวจสอบเวอร์ชั่นของเฟิร์มแวร์ได้ผ่านหน้าเมนูของ C 368 ซึ่งช่วงที่ทำการทดสอบจะมีเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นล่าสุดดังนี้

  • เฟิร์มแวร์ตัวเครื่อง MAIN V 1.48
  • เฟิร์มแวร์หน้าจอแสดงผล VFD V 1.15
  • เฟิร์มแวร์ภาครับสัญญาณบลุทูธ BT V 1.22

หมายเหตุ เฟิร์มแวร์ล่าสุดตอนนี้คือ V 1.69

ในส่วนขั้นตอนการอัพเดตนั้นในคู่มือจะมีบอกไว้โดยละเอียดหรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมกับทางตัวแทนจำหน่าย ในการปรับแต่งค่าในเมนูต่าง ๆ จะเริ่มต้นด้วยค่ามาตรฐานจากทางโรงงานทั้งหมด ซึ่งฟังก์ชั่นต่าง ๆ ที่ C368 ให้มานั้นมีเยอะทีเดียว ซึ่งในคู่มือนั้นอธิบายรายละเอียดเอาไว้อย่างครบถ้วน การสั่งงานด้วยแอพบนมือถือผ่านสัญญานบลูทูธทำได้ลื่นไหลและสะดวกไม่แพ้รีโมทคอนโทรล

        ในการทดสอบ C 368 จะเน้นทดสอบกับแหล่งโปรแกรมทั้งเครื่องเล่นซีดี และการเล่นไฟล์ผ่านโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์อย่าง Roon รวมถึงการสตรีมมิ่งผ่านโมดูล MDC BluOS 2 เป็นหลัก

        การอัพเกรดสายไฟเอซีให้กับ C 368 ให้ผลลัพท์ที่น่าพอใจ ลดสากเสี้ยนของปลายเสียงลงได้พอควร ผู้เขียนจึงเลือกใช้สายไฟเอซี Kimber Power Kord แทนสายไฟที่ติดเครื่องตลอดช่วงการทดสอบ โดยเชื่อมต่อสายไฟเข้าที่ช่อง Direct ของปลั๊กลอย Clef Power Bridge 8 ซึ่งเปลี่ยนเต้ารับเป็น Wattgate 381 รุ่นทอง

ผลการลองฟัง

        สิ่งแรกที่สัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงเมือเทียบกับคลาสสิคซีรี่ยส์เดิม นั่นคือความโปร่งใสของพื้นเสียงรวมถึงความสงัดที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม ดุลเสียงเปิดสว่างขึ้น ลืมคำว่าเสียงขุ่นทึบไปได้เลย ทำให้รายละเอียดหยุมหยิมต่าง ๆ ผุดขึ้นมาให้รับรู้ได้ชัดเจนมาก

ความใสแบบนี้พาลให้นึกถึงเน็ตเวิร์คอินทิเกรตแอมป์ที่เคยได้ทดสอบไปอย่าง Bluesound Power Node 2 อยู่เหมือนกัน  แต่ตัว C 368 ดูจะอัพเกรดขึ้นมาอีกระดับในเรื่องความอิ่มแน่นของเนื้อเสียง ความนิ่งและพละกำลังอัดฉีด อย่างการนำมาใช้ขับลำโพงตู้ปิดอย่าง NHT 1.5 ก็ดูจะได้เนื้อได้หนังมากกว่าพอสมควร

โทนเสียงค่อนข้างได้สมดุลดีและมีความราบเรียบ แรกฟังคล้ายจะเด่นย่านกลางแหลมมากกว่าทุ้ม แต่พอฟังต่อเนื่องไปสักระยะ ย่านเสียงทุ้มก็มีเพียงพอและสอดรับกับย่านกลางแหลมได้อย่างกลมกลืน น้ำเสียงมีความกระชับฉับไว โปร่งเนียนสะอาด เจือด้วยความอิ่มฉ่ำติดปลายนวมตลอดทุกย่านเสียงทำให้ฟังแล้วไม่แห้งบางหรือแข็งกระด้างแม้แต่น้อย

กับแนวเพลงหลายหลาย C 368 ถ่ายทอดความแตกต่างของการบันทึกออกมาได้ชัด ทั้งจังหวะช้า-เร็ว รายละเอียดเสียง บรรยากาศต่าง ๆ ยิ่งอัลบั้มหรือไฟล์ที่บันทึกมาดีก็ยิ่งถ่ายทอดคุณภาพได้สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ถือว่ามีความเป็นมอร์นิเตอร์ในตัวเองอยู่ไม่น้อย แน่นอนว่าด้วยบุคลิกเสียงแบบนี้ สามารถจับคู่กับเครื่องเสียงและลำโพงได้หลากหลาย

      พละกำลัง 80 วัตต์ต่อเนื่องที่ 8 และ 4 โอห์มของ C 368 เมื่อทดลองขับลำโพงวางหิ้งที่มีราคาค่าตัวสูงกว่าร่วมสองเท่าอย่าง Canton Vento 630.2 ทำได้อย่างน่าประทับใจ ดีดเสียงทุ้มกระเด็นออกมาเป็นลูก ๆ ได้ สามารถควบคุมน้ำเสียงให้ราบเรียบสม่ำเสมอได้ในทุกระดับความดัง ใกล้เคียงกับตอนใช้เพาเวอร์แอมป์ NAD 216 THX ขับ แสดงให้เห็นว่าภาคขยาย Hypex UcD นั้นให้ประสิทธิภาพในการขับลำโพงที่ยอดเยี่ยม สามารถจ่ายกระแสให้กับลำโพงได้อย่างเพียงพอและมั่นคง

        อัลบั้มบันทึกการแสดงสดหลาย ๆ อัลบั้ม เมื่อฟังผ่านลำโพง NHT 1.5 ที่ใช้งานประจำขับด้วย C 368 แสดงบรรยากาศของการเล่นสดออกมาได้ดีมาก ได้ยินรายละเอียดยิบย่อยรวมทั้งเสียงก้องสะท้อนต่าง ๆ ที่ถูกบันทึกมาได้อย่างชัดเจนกว่าที่เคย [Brandy Clark / Live from Los Angeles – MQA 24 / 96]

ทดลองฟังในระดับเบา ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับความดังขึ้นมาจนดังมาก ๆ น้ำเสียงและรายละเอียดก็ยังรักษาสมดุลเอาไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถเร่งระดับความดังได้มากตามที่ต้องการหรือเท่าที่ลำโพงจะรับไหวนั่นเลย จุดนี้ C 368 ทำคะแนนได้โดดเด่นเกินหน้าเกินตาเครื่องในระดับเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของภาคขยายและโวลุ่มคอนโทรลในตัว C 368 ได้ดี

        ย่านเสียงทุ้มแน่นและกระชับไม่บวมเบลอ ลงได้ลึกเท่าที่ศักยภาพของลำโพงที่ใช้งานร่วมกันจะให้ได้ แถมด้วยรายละเอียดของย่านทุ้มต่ำที่น่าทึ่ง ถ่ายรายละเอียดของเสียงทุ้มไม่ว่าจะเป็นพวกเครื่องดนตรีสดหรือเสียงสังเคราะห์ได้หมดเปลือก แต่ไม่ใช่แนวทุ้มอวบใหญ่หนา  สามารถจะติดตามรายละเอียดการดีดดับเบิ้ลเบสตั้งแต่หัวเสียง การตวัดสาย การสั่นกระเพื่อมของสายตลอดจนหางเสียงที่ทอดยาวได้หมดจดตามที่อัลบั้มบันทึกมา [Fever / Musica Nuda Live at FIP – FLAC 16 / 44.1]

อาจจะอ่อนด้านน้ำหนักการทิ้งตัวไปบ้างเมื่อเทียบกับการใช้เพาเวอร์แอมป์วัตต์สูงกว่าขับ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการจับคู่ลำโพงที่เหมาะสมด้วย เท่าที่เคยฟังมากับลำโพงอย่าง PSB หรือ Mission รุ่นใหม่ก็น่าจะไปกันได้ดี

        ด้วยน้ำเสียงที่กระชับแน่น ฉับไว ก็ดูจะไปกันได้ดีกับดนตรีสังเคราะห์ทั้งหลาย [The Wilhelm Scream / James Blake – Flac 16 / 44.1] ให้แรงปะทะต้นโน้ตหรืออิมแพ็คที่คมชัด ฟังสนุก พร้อมทั้งแยกแยะเสียงร้องที่ลอยเด่นออกมาหลุดขาดจากเสียงซินนิไซเซอร์ที่ลากยาวเป็นแบ็คกราวด์อยู่เบื้องหลังตัดกันชัดเจน โฟกัสของเสียงต่าง ๆ ชัด ไม่ฟุ้งหรือสับสน เสียงดนตรีทุกชิ้นไม่ว่าดังหรือเบาและเสียงร้องมีช่องว่างช่องไฟเป็นอิสระของตัวเอง ทำให้สามารถรับฟังติดตามรายละเอียดต่าง ๆ ได้ง่าย

        ความต่อเนื่องลื่นไหลของเครื่องสายทำได้ดีฟังแล้วไม่รู้สึกสะดุด มีหนัก-เบา ช้า-เร็วชัดเจน [Mazeppa, TH 7 – Mazeppa, Act I: Gopak / Eiji Oue /Exotic Dance from the Opera – Flac 16 / 44.1] ช่วงดนตรีโหมประโคมหลาย ๆ ชิ้นทำได้อย่างอิสระไม่รู้สึกอั้นตื้อ สามารถตริ่งตำแหน่งของชิ้นดนตรีได้นิ่งสนิทไม่วูบวาบ มีความพลิ้วของปลายเสียง ปราศจากความคมแข็งหรือจัดจ้านใด ๆ ในเนื้อเสียงเรียกว่าลืมบุคลิกเสียงของแอมป์คลาส-ดีสมัยก่อนไปได้เลย C 368 ก้าวข้ามผ่านจุดนั้นมาไกลมากแล้วแถมทำได้อย่างยอดเยี่ยม

        ย่านเสียงกลางและแหลมก็ไม่ทำให้เสียชื่อ NAD ยังคงมีความต่อเนื่องลื่นไหลของย่านเสียงกลางมาให้สัมผัส เสียงร้องทั้งชายหญิงมีน้ำหนักย้ำเน้นและฐานเสียงที่ดี ให้ลีลาการร้อง มีการผ่อนหนักผ่อนเบาอย่างเป็นธรรมชาติ ยิ่ง C 368 ให้พื้นเสียงที่สงัดด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้เสียงร้องมีความชัดเจนในรายละเอียดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม น่าจะเป็น NAD ที่ให้ย่านเสียงกลางน่าฟังมากที่สุดรุ่นนึงเลยทีเดียว [Blue Mind / Anne Bisson – Flac 16 / 44.1]

ในย่านปลายแหลมเปิดสว่างเป็นประกายไม่อับทึบ มีความสดกังวาน ให้เสียงเป่าเครื่องลมทองเหลืองที่กัดหูนิด ๆ มีทั้งความสดฉับพลันและความต่อเนื่องที่น่าฟัง [Dizzy Gillespie / Dizzy’s Big 4 – Flac 16 / 44.1] คล้ายกับปลายแหลมที่ได้จากอินทิเกรตแอมป์รุ่น C 320 ในอดีต (เป็นรุ่นที่ให้ปลายแหลมมีสเน่ห์น่าฟังที่สุดรุ่นนึง) แต่เพิ่มความใสสะอาดและรายละเอียดมากขึ้นไปอีกระดับ

        ด้านมิติเวทีเสียง ด้วยบุคลิกที่ค่อนข้างจะเป็นมอนิเตอร์ ทำให้สามารถถ่ายทอดรูปวงของแต่ละอัลบั้มตามแต่ที่ซาวเอ็นจิเนียร์จะมิกซ์มาได้อย่างตรงไปตรงมา มีความสมดุลกันทั้งด้านกว้างด้านลึก ไม่เน้นรูปวงที่ขยายกว้างออกแบบไร้ขอบเขต แยกแยะช่องว่างช่องไฟของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นออกจากกันได้ดีไม่สับสน ตัวเสียงให้โฟกัสที่ชัดคมเจือความนุ่มนวลเอาไว้เล็กน้อยตั้งแต่ย่านทุ้มจรดปลายแหลม

การฟังเพลงผ่าน Digital Input และ Bluetooth Receiver

        ภาคดิจิทัลอินพุตของ C 368 นั้นให้คุณภาพเสียงที่ไม่เลวเลย แอบเสียดายเล็ก ๆ ที่ไม่มีช่องดิจิทัลอินพุตแบบ USB มาด้วย ทดสอบโดยการใช้เครื่องเล่นซีดี Micromega Stage 2 เป็นภาคทรานสปอร์ตเชื่อมต่อผ่านสายดิจิทัลโคแอ็คเชี่ยล QED Qunex SR75 เข้าที่ช่อง Coaxial in 1 ของ C 386 ให้เสียงที่คมชัดจะแจ้ง สะอาด และมีน้ำหนักเสียงที่ดี

เมื่อเทียบกับการใช้งาน Micromega Stage 2 เองจะได้เปรียบในด้านความนุ่มนวลและต่อเนื่องลื่นไหลกว่า แต่ก็ถือว่าภาค DAC ของ C 368 นั้นมีคุณภาพสูงทีเดียว เหมาะสำหรับการอัพเกรดแหล่งโปรแกรมอย่างเครื่องเล่นซีดี, ทีวี, กล่องรับสัญญาณดิจิตอล หรือมีเดียเพลย์เยอร์ต่าง ๆ

        ส่วนในการทดสอบใช้งานภาครับสัญญาณบลูทูธการจับสัญญาณมีความแม่นยำ ทดลองฟังด้วยไอแพดมินิทั้งการเล่นไฟล์เพลงด้วยแอพ ฟังสตรีมมิ่ง หรือชม YouTube ก็ให้คุณภาพเสียงน่าพอใจ โปร่งใสไม่อับทึบ รายละเอียดอาจจะย่อหย่อนกว่าการฟังจากเครื่องเล่นซีดีและสตรีมมิ่งไปบ้างเล็กน้อยแต่ก็ไม่น่าเกลียด สำหรับการฟังลำลองทั่ว ๆ ไปหรือนักเล่นแบบมิวสิคเลิฟเวอร์ถือว่าสอบผ่านสบาย ๆ

อัพเกรดด้วย MDC BluOS 2 โมดูล

        เรียกว่าเป็นส่วนเติมเต็มความสมบูรณ์แบบของ C 368 ก็ว่าได้ กับราคาจำหน่ายราวสองหมื่นอาจดูสูงเมื่อเทียบกับค่าตัวของ C 368 แต่นี่คือโมดูลที่เปรียบเสมือนเน็ตเวิร์คเพลเยอร์ชั้นดีที่รองรับการสตรีมมิ่งได้แทบทุกรูปแบบ เมื่อเชื่อมต่อกับแอปอย่าง BluOS แล้วสามารถใช้งานสตรีมมิ่งเซอร์วิสทั้งหลายรวมถึง Internet Radio ได้อย่างสะดวกสบาย

ทดลองฟังเพลงจาก TIDAL หรือบน NAS เซิฟเวอร์ก็ให้คุณภาพเสียงที่ไม่ต่างไปจากการฟังเพลงผ่านสายสัญญาณปกติเลย กับบางอัลบั้มเมื่อฟังด้วยไฟล์คุณภาพสูงอย่างไฮเรสหรือสตรีมมิ่ง TIDAL แบบ Master Quality ซึ่งรองรับถึง MQA 24 / 384 ก็ให้คุณภาพเสียงที่เหนือกว่าการฟังผ่านเครื่องเล่นซีดีที่ใช้งานประจำขึ้นไปอีกระดับ รวมทั้งมีช่อง USB อินพุตเพื่อฟังเพลงผ่าน ฮาร์ดดิสแบบ External หรือ USB แฟลชไดรฟ์ได้อีกด้วย

        ข้อดีอีกอย่างเมื่อติดตั้งโมดูล MDC BluOS 2 เมื่อเปิดแอป Spotify ขึ้นมาจะสามารถเชื่อมต่อกับ C 368 ผ่าน Wi-Fi ได้ (เลือกในหน้า Device ของ Spotify) รวมถึงโปรแกรมเล่นเพลงอย่าง Roon ก็จะมองเห็น C 368 เป็นเสมือน Wireless DAC ตัวหนึ่งและสามารถสตรีมไฟล์ผ่านเน็ตเวิร์คไปเล่นบน BluOs โมดูลได้ทันที

ภาคอนาล็อคปรีแอมป์คุณภาพสูง

        ช่วงท้าย ๆ ได้ทดลองใช้งาน C 368 เป็นปรีแอมป์โดยเชื่อมต่อสายสัญาณจากช่องปรีเอ้าท์ด้านหลังเข้าที่เพาเวอร์แอมป์ NAD 216 THX ผลปรากฏว่าให้คุณภาพเสียงที่ดีไม่แพ้ปรีแอมป์ระดับราคาเดียวกัน แม้แต่อินทิเกรตแอมป์ Bryston B-60 ที่ผู้เขียนใช้งานเป็นปรีแอมป์

อยู่เป็นประจำก็ดูจะเสียเปรียบ C 368 ในเรื่องความโปร่งใสสะอาดอยู่ระดับนึง แต่ก็แลกกันด้วยความนุ่มนวลและน้ำหนักการย้ำเน้นของ B-60 ที่ดีกว่าเล็กน้อยเช่นกัน (ค่าตัวของ Bryston B-60 นั้นสูงกว่าพอควร) สรุปความได้ว่าคุณภาพของภาคปรีแอมป์ใน C 368 นั้นใช้แทนปรีแอมป์ชั้นดีได้อย่างไม่ขัดเขิน และสามารถจับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ได้ง่าย เหมาะสำหรับคนที่อยากอัพเกรดด้านกำลังขับขึ้นไปอีกโดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความคุ้มค่าที่ NAD มอบให้กับผู้ใช้ทุกคน

สรุป

        ด้วยน้ำเสียงที่ค่อนข้างเป็นกลาง ตอบสนองแนวเพลงได้หลากหลาย ให้กำลังขับสูงและจ่ายกระแสได้ดี สามารถจัดชุดเข้ากับเครื่องเสียงอื่น ๆ ได้ง่าย และสามารถอัพเกรดโมดูลเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานได้อีกในอนาคต ทำให้ตลาดอินทิเกรตแอมป์ช่วงราคาสามหมื่นวันนี้มีคู่แข่งที่น่ากลัวเพิ่มอีกหนึ่ง เพราะนอกจากคุณภาพเสียงจะต้องดีแล้วยังต้องมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์การฟังเพลงในยุคนี้ได้อย่างครอบคลุมด้วย ไม่งั้นบอกเลยว่าข้าม Hybrid Digital DAC Amplifier อย่าง NAD C368 ตัวนี้ยากจริง ๆ

        ส่วนโมดูล MDC BluOS 2 นั้นหากท่านเป็นผู้รักเสียงเพลง และชอบการฟังเพลงแบบสรีมมิ่งเป็นชีวิตจิตใจ นี่คือโมดูลที่เหมาะสมและลงตัวกับการใช้งานร่วมกับ C 368 มากที่สุด ไม่จำต้องไปหาเครื่องเล่นเน็ตเวิร์คเพลเยอร์อื่น ๆ ให้วุ่นวายอีกแล้วจบได้ในตัวเดียวครับ

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ

  • แหล่งโปรแกรม: เครื่องเล่นซีดี Micromega Stage 2, เครื่องเล่นซีดี Cayin CS-100CD, แอมป์พกพา Chord mojo, เครื่องเล่นไฟล์พกพา iBasso DX80, iPad Mini, PC
  • แอมปลิฟายเออร์: อินทิเกรทแอมป์ Bryston B-60, เพาเวอร์แอมป์ NAD 216THX
  • ลำโพง: ลำโพงวางหิ้ง Canton Vento 830.2, NHT 1.5
  • สายเชื่อมต่อ: สายดิจิตอล USB Furutech Formula 2, สายสัญญาณอนาล็อก Tchernov Special XS, สายสัญญาณอนาล็อกTaralabs TL-101, สายไฟเอซี Shunyata Python VX, สายไฟเอซี MIT-Z-Cord, สายลำโพงSupra Ply 3.4
  • อุปกรณ์เสริม: ปลั๊กผนัง PS Audio Power Port Premiere (Audiophile Grade), ปลั๊กกรองไฟ Clef Power Bridge 8 (เปลี่ยนปลั๊กเป็น Wattgate 381), ตัวกรองไฟ X-filter, ตัวกรองน้อยส์ Audio Prism Quite Line mkIII, ตัวกรองน้อยส์ Audio Quest Jitter Bug, ผลึกควอตซ์ Acoustic Revive QR-8, ตัวอุดปลั๊ก Isoclean, ขาตั้งลำโพง Atacama HMS 1, ชั้นวางเครื่องเสียง Audio Arts

รายละเอียดด้านเทคนิค

  • Continuous Output Power into 4 Ω and 8 Ω (Stereo)
  • >80W (at rated THD, 20-20kHz, both channels driven)
  • Continuous Output Power into 8 Ω (Bridge Mode)
  • 160W (at 20-20kHz, at THD 0.03%)
  • IHF Dynamic Power
  • 2 Ω 250W
    4 Ω 200W
    8 Ω 120W
  • IHF Dynamic Power (Bridge Mode)
  • 2 Ω 400W
    4 Ω 350W
    8 Ω 250W
  • THD (20Hz – 20kHz
  • <0.03% (250mW to 80W, 8 ohm and 4 ohm)
  • Signal/Noise Ratio
  • >98dB (A-weighted, 500mV input ref. 1W out in 8 Ω)
  • Clipping Power
  • >95W (at 1kHz 0.1% THD)
  • Clipping Power (Bridge Mode)
  • >170W (at 1 kHz 0.1% THD)
  • Damping Factor
  • >300 (ref. 8 Ω, 20Hz and 6.5kHz)
  • Frequency Response
  • ±0.3dB (20Hz-6.5kHz)
  • Channel Separation
  • >75dB (1kHz)
    >70dB (10kHz)
  • Sample Rate
  • 192kHz/24bit

ขอขอบคุณ Conice Electronic โทร. 02 276 9644 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่