Test Report : Holbo Air-Bearing Turntable Mk 2

0

นพ.ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์ 

Holbo Air-Bearing Turntable Mk 2 

      ผมเคยได้รีวิวเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อนี้ของประเทศ Slovenia เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2019  หลังจากนั้นเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้นี้ก็ร้างลาจากบ้านเราไป  จนเมื่อปลายปีก่อน ก็ทราบว่าได้กลับมาใหม่ คราวนี้เป็น Mark 2 แล้ว ในฐานะที่เป็นคนรีวิวเดิม ถึงแม้ว่าเปลี่ยนผู้นำเข้า เราก็ยังจะตามไปนำมาทดสอบให้เพื่อนๆ ได้ทราบกกันนะครับ การทดสอบครั้งใหม่นี่ย่อมต้องสดใสและพัฒนากว่าเดิมแน่นอน โปรดติดตามต่อไปครับ 

Air Bearing Platter System 

ถ้าเรามาพิจารณาเรื่อง Main Platter Bearing ว่ามีการออกแบบกี่รูปแบบกันบ้าง และไอเดียการออกแบบ การเลือกใช้งาน ของแต่ละแบบเป็นอย่างไร มาดูแบบคลาสสิกกันก่อนนะครับ คือเป็นแกนของจานหมุน สวมเข้ากับ Sleeve ตรงนีการออกแบบจะเป็นโลหะที่มีความทนทานสูง เช่น Steel, Aluminum, Tungsten  มีการขัดแต่งให้เรียบเพื่อไม่ให้เกิด Noise และการหมุนที่ราบรื่น บางยี่ห้อระบุว่าต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น หรือทาเคลือบสารหล่อลื่นไว้ ซึ่งเราก็จะพบ Bearing ทั้งแบบปกติ และแบบกลับด้าน (Invert Bearing) ตรงจุดปลายสุดของแกน ทำหน้าที่รับน้ำหนักจึงต้องใช้วัสดุที่แข็งแรงทนทาน ในสมัยก่อนจะใช้ลูกปืน หรือ Teflon ที่มีความลื่นไม่เกิดเสียงรบกวน เทิร์นโบราณสมัยก่อนมักใข้ลูกปืนที่แช่ในน้ำมันเป็นจุดรับน้ำหนักและแรงหมุน ซึ่งเทิร์นเทเบิลพวกนี้ถ้าออกแบบใม่ดี หรือได้รับการดูแลรักษาไม่ดีพอ จะมี Noise จาก Bearing ออกมารบกวนได้ 

Bearing แบบต่อมาคือ การแก้ปัญหา Bearing แบบเดิมๆ ที่ใช้ลูกปืน + น้ำมัน รองรับน้ำหนักของ Platter มาเป็น Magnetic Bearing ก็จะมีการออกแบบหลายรูปแบบหลายยี่ห้อ เช่นแบ่งเป็นแรงผลักแม่เหล็ก (Magnetic Expulsion ของทั้งตัว Platter และแรงผลักแม่เหล็กเฉพาะในส่วนของแกน Main Bearing แบบแรกที่โด่งดังมาแต่เก่าก่อนคือเครื่องเล่นแผ่นเสียงจากฝรั่งเศส ยี่ห้อ J.C. Verdier  

 ของยี่ห้อ Kronos ก็เป็น Magnetic Expulsion เหมือนกัน แต่จะดันทั้ง Platter หรือเฉพาะแกน Bearing ผมไม่แน่ใจ  

ถ้าเป็นแม่เหล็กดันเฉพาะแกน Bearing จะมีหลายยี่ห้อ ที่เด่นๆก็คือของ Clearaudio (Ceramic Magnetic Bearing), Esoteric Grandioso T1 ของญี่ปุ่น 

Platter Bearing แบบสุดท้ายที่แก้ปัญหา Bearing แบบเดิมๆ ก็คือ Air Bearing โดยใช้แรงดันอากาศจากปั้มลม ดันให้ Platter ยกตัวขึ้นจากส่วนล่าง ให้อากาศเป็น Thin Film  ดังนั้นแกน Main Bearing จึงรับหน้าที่แต่เฉพาะการหมุน การเข้ารอบ ส่วนภาระด้านน้ำหนักของ Platter เป็นหน้าที่ของแรงดันลม ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะออกแบบแตกต่างกันไป. 1) เช่นวัสดุพื้นผิวบนล่างของชั้นอากาศ ต้องเรียบลื่น ไม่มีฝุ่น ไม่ทำให้การกระจายลมสะดุด ส่วนใหญ่เป็นโลหะขัดมัน หรือกระจก. 2) การออกแบบ Flow ของลม ที่ต้องสัมพันธ์กับน้ำหนักของ Platter + Clamp (Flow จะต้องเพียงพอให้มีการยกตัวที่เท่าๆ กันทั้งพื้นผิว และไม่มากเกินไปจนเกิดเสียงรบกวน). 3) ตำแหน่งทางออกลม จำนวน  Air Port  

การจะเลือกใช้งานแท่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มี Platter Bearing แบบใดขึ้นกับความชื่นชอบส่วนตัว และประสบการณ์การออกแบบของยี่ห้อนั้นว่าเขาถนัดทางใด จะให้ฟันธงว่าแบบใดดีกว่าแบบใดคงเป็นเรื่องยาก ในรีวิวนี้เจาะลึกแต่ระบบ Main Bearing แบบ Air จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ Slovania ยี่ห้อ Holbo Mark 2 กันครับ 

Linear Air Bearing Arm 

ในการผลิตแผ่นเสียง การตัดร่องแผ่นเสียง หัวตัดแผ่นเสียงตัดร่องแผ่นจากนอกสุดถึงในสุดแบบเคลื่อนที่ในแนวเส้นตรงตามแนวรัศมี เรียกว่า Linear Cutting แต่ในระบบเล่นกลับ การเคลื่อนที่ของ Tonearm ร้อยละ 90 ของอาร์มในท้องตลาดเป็นแบบจุดหมุน (Pivot) ซึ่งการเคลื่อนของหัวเข็มที่เลียนแบบ Pivot ที่ออกแบบดีที่สุด อย่างไรก็ยังมี Tracking Error อยู่ประมาณร้อยละ 2 ก็จะมีวิธีการแก้ไขให้ได้ใกล้เคียงกับ Linear อยู่ 2-3 วิธี.1) คือการคำนวณจุดติดตั้งอาร์ม (Pivot Spindle Distance) แล้วนำไปปรับระยะ Overhang และ Offset Angle ค่าต่างๆ ให้ได้ Error น้อยที่สุด การกำหนดค่าทั้งสามนั้นไม่ได้มาจากการคาดเดา แต่มาจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เช่น Baerwald, Stevenson Formula. 2) การใช้ความยาวของอาร์มมากขึ้น เช่นอาร์ม 12 นิ้ว, 14 นิ้ว จุดประสงค์ง่ายๆคือเพื่อให้การเคลื่อนที่ใกล้เคียงแนวเส้นตรงมากขึ้น นั่นก็ต้องแลกมาด้วยกับขนาดแท่นที่ใหญ่ขึ้น. 3) การเพิ่มจุดหมุนมากขึ้นอีก 1 จุด เพื่อชดเชยและทำให้การเคลื่อนที่หัวเข็มมีการปรับได้ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น Thales Simplicity Arm และ Nasotec Swing Headshell.    

              ดูท่าทีแล้ว Linear Tracking Arm ควรจะเป็นการเล่นกลับที่สมบูรณ์แบบ และย้อนวิธีของการตัดแผ่นเสียงที่ถูกตรงที่สุด ใช้เนื้อที่ในการติดตั้งไม่มาก Effective Arm Length ไม่ต้องยาวขนาด 9 นิ้ว (ส่วนใหญ่อยู่แถวๆ หกนิ้วกว่า) แต่อาร์มประเภทนี้ไม่ได้ความนิยมนักในผู้ผลิตและนักเล่น เพราะว่ากลไกในการเคลื่อนแบบ Linear มีความยุ่งยาก และค่อนข้างอ่อนไหวต่อการ Setup กลไกอาร์มในการเคลื่อนที่แนว Linear ลดแรงเสียดทานมีสามแบบ. 1) Air Bearing เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จะต้องมีชุดปั้มลม มีการ Treatment ลมให้มี Flow และความชื้นที่เหมาะสม มีการกรองฝุ่นที่จะไปอุดตันท่อลม. 2) แบบไฟฟ้า สมัยก่อนที่นิยมสุดคือ Goldmund  แต่มีความยุ่งยากในการติดตั้งและอะไหล่ ทำให้หมดความนิยมไปในปัจจุบัน. 3) แบบรางลื่น บนผลึก Quartz ได้แก่ยี่ห้อ Souther Arm (กำเนิดโดย Lou Souther อเมริกา ปัจจุบัน Clearaudio เยอรมันนี ได้ซื้อลิขสิทธิ์อาร์มตัวนี้แล้ว) แต่ก็ไม่แพร่หลายเหมือน Air Bearing ปัจจุบันนี้ ก็มี Hi End Brand หลายยี่ห้อที่ทำ Linear Tracking Arm เช่น Air Tangent, Kuzma, Bergmann และยี่ห้อที่พอจับต้องได้ก็นี่แหละครับ Holbo จาก Slovania 

Now The Holbo 

อย่างที่เรียนให้ทราบตอนแรกแล้วว่า Holbo ปัจจุบันไม่ได้เป็นน้องใหม่ในวงการแล้ว และเป็นบริษัทที่เน้นแต่การทำ Air Bearing เป็นหลัก โดยส่วนตัวผมค่อนข้าง Ok นะครับ เมื่อเรามั่นใจกับเทคโนโลยีใด ก็ตั้งใจทำ พัฒนาให้ดีขึ้นไป เทียบกับบริษัทเครื่องเสียงที่เปลี่ยนแนวหรือกลไกหลักของเครื่องตัวเองไปเรื่อยๆ จะทำให้ลูกค้าขาดความมั่นใจในสินค้า 

                Mark 1 กับ Mark 2 ต่างกันอย่างไรบ้าง  สิ่งที่ต่างกันมีดังนี้ครับ Mark 1 ตัว Power Supply กับ Air Pump แยกชิ้นกัน แต่ใน Mk 2 จะรวมเป็นชิ้นเดียวกัน ทำให้ผู้ใช้งานสะดวกมากขึ้น (และประหยัดสาย AC ดีๆไปหนึ่งเส้น)  ตัวแท่นเครื่องเล่นแผ่นเสียง โครงสร้างส่วนใหญ่เหมือน Mk 1 ไล่มาตั้งแต่ขาเป็นแบบเดือยแหลม (มาก) สามจุด  ใน Mk 2 จะให้จานรอง Spike มาด้วย  ส่วนของ Tip Toe สามขา สามารถไขปรับระดับได้ด้วยไขควงหกเหลี่ยมที่เขาให้มาด้วย ตัว Plinth ทำด้วย MDF ขนาด 400×430 มิลลิเมตร หนา 3 ซม. น้ำหนักทั้งหมด 12 กิโลกรัม ปุ่มเปิดปิด กับปรับสปีด (33/45) ย้ายจากด้านหลังมาด้านหน้าซ้าย ส่วนถัดมาเป็น Aluminum Subplatter เป็นส่วนที่รองรับชั้นอากาศที่ยก Main Platter ขึ้น น้ำหนัก 2.6 กก. ส่วนของ Air Port มีจุดเดียวที่ 12 นาฬิกา 

              แท่นเครื่องด้านหลังก็เป็นจุดออกของ Analog Output แบบ RCA พร้อม Ground  มีท่ออากาศจากปั้มลมเข้า มีช่องต่อ Power Supply แบบ DC และมี Trim Pod ปรับรอบแยกกันระหว่าง 33 และ 45 ด้วยไขควงเล็กปากแบน ตอนเครื่องมาถึงรอบเร็วเล็กน้อย เมื่อจูนรอบด้วย Strobe Disc จนนิ่งแล้วก็นิ่งสนิทข้ามวันไม่เปลี่ยนแปลงอีก 

             Main Platter ทำด้วย Aluminum Grade 6082 น้ำหนัก 5 กิโลกรัม เคลือบด้วยสาร Thermoplastic พวก Polyacetal (Delrin) ที่มีความหนาแน่นใกล้เคียงกับเนื้อไวนิลแผ่นเสียง ตัวมอเตอร์อยู่ตำแหน่งเดิมที่ 11 นาฬิกาของ Platter เป็น DC Motor การทำงานเรียบลื่นดี  ส่วนของอาร์มแทบจะไม่ต่างจากเดิม มีค่าความยาวอาร์มส่วนที่เคลื่อนไหว (Effective Arm Length) หกนิ้ว มี Effective Arm Mass 7.5 กรัม เหมาะกับหัวเข็มที่มีน้ำหนัก 5-9 กรัม ที่เพิ่มเติมคือมีกลไกในการปรับเอียงระนาบอาร์มลม ให้ก้านอาร์มที่ลอยอยู่นิ่ง ไหลเข้าหรือเทออกซ้ายขวาได้ ด้วยการไขสกรูหกเหลี่ยมที่ฐานอาร์ม 

             การปรับค่าอื่นๆของอาร์มและหัวเข็มไม่แตกต่างจาก Mk 1  มีตัว Disc Stabilizer หนักมือพอควรสัก 1 กก.กว่า แนะนำให้ใช้งานทุกครั้งที่เล่นแผ่นเสียงครับ เพราะจะทำให้เสียงกระชับ อิมเมจดีกว่าไม่ใช้มาก 

Setup 

ประเด็นสำคัญของการติดตั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Air Bearing ทั้ง Platter และอาร์มคือ การปรับระนาบและการลดแรงสั่นสะเทือนที่ไม่ต้องการจากภายนอก ผมเตรียมรับมือโจทย์นี้มาหลายเดือนละด้วยแท่นวางเครื่องเสียงลดแรงสั่นสะเทือนของ TAOC จากญี่ปุ่น รุ่น HC50G ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานผมทุกอย่าง  

              การลดแรงสั่นสะเทือนภายนอก เป็นจุดเด่นของแบรนด์ TAOC อยู่แล้ว และแท่นรุ่นนี้สามารถใส่ Spike แบบปรับระดับได้ พร้อมจานรองเซรามิก ดังนั้นผมสามารถปรับระนาบก่อนวางเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้อย่างดี ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น และควรทำในการเซตเครื่องเล่นแผ่นเสียงทุกยี่ห้อ อย่าลืมว่าเรากำลังดีลกับร่องแผ่นเสียงที่มีความกว้างเพียงระดับ 50 ไมครอน และปลายเข็มขนาดประมาณ 18 ไมครอนเท่านั้นนะครับ ความผิดพลาดของระนาบแท่น เมื่อไปรวมกับความผิดพลาดส่วนอื่นของการติดตั้งหัวเข็ม ก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณจนเกิดความผิดปกติทางเสียงให้เราได้ยิน ดังนั้นการจัดระนาบจึงมีความสำคัญมาก 

               ผมใช้เวลาไล่ระนาบของ Taoc Board อยู่ร่วม 1 ชั่วโมงเต็ม ปรับ Spike สี่จุดไล่ไปไล่มาจนมึน คิดว่าถ้าใช้ตัววัดระนาบแบบ Digital น่าจะทำได้รวดเร็วกว่านี้ จากนั้นก็เอาตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงลงวางบนจานรอง Spike ที่เขาให้มาด้วย เช็คระดับน้ำอีกครั้งหนึ่ง ทำการต่อระบบไฟและลมด้านหลัง อย่าเพิ่งคล้องสายพานกับ Platter เช็คลมที่จ่าย Platter ว่าลอยและหมุนได้แบบไร้แรงเสียดทานหรือไม่ และเช็คลมที่ก้านอาร์มว่าขยับไปมาได้ดีไม่ติดขัดหรือไม่  

             ขั้นตอนการติดตั้งหัวเข็มนั้น ควรทำขณะที่ปั้มลมทำงาน ให้ Platter ลอยและอาร์มไม่มีแรงเสียดทาน ดังนั้นต้องเอาสายพานออกจาก Pulley ของมอเตอร์ ไม่งั้นเซ็ตไม่ได้เพราะ Platter จะหมุน (ที่ 33 หรือ 45 RPM ตามตำแหน่งปุ่มกดขวาว่ากดลง(ไฟสีเขียว สปีด45) หรือเด้งขึ้น (ไฟสีแดง สปีด33) ถ้า Platter หมุนเราจะเซ็ตหัวเข็มไม่ได้แน่) 

              อุปกรณ์ที่ร่วมทดสอบ หัวเข็มที่ใช้คือ Benz Micro Glider SL  Low Output (0.4 mV ที่ 3.54 cm/sec ถ้าเทียบตามค่ามาตรฐานที่ 5 cm/sec ก็คงประมาณ 0.6 mV – 5 cm/sec) น้ำหนักหัวเข็ม 6.8 กรัม  ช่วงที่สองใช้หัวเข็ม Lyra Delos (0.6 mV- 5 cm/sec) Phono Stage ผมใช้ EAR Yoshino 834P เป็นทั้ง mm, mc และมีปุ่มปรับ Gain แบบ Continuous ชุดแอมป์และลำโพงได้แก่ Luxman A3500 กับแอมป์ Solid State อีกหนึ่งตัว (ผลงานของซือแป๋ สาทร เมืองนนท์) ขับลำโพง Horn WE 16A + Altec 211 Bass Horn และมีแอมป์ Hybrid อีกตัวของซือแป๋ 20 วัตต์ ขับ Super Tweeter Pioneer PT-R9 ทั้งหมดควบคุมด้วยปรีหลอด Single Ended Interstage 3 Output หลอด ECC32 Mullard (เป็นตัวท็อปของบรรดา 6SN7)  

การ Setup ขั้นตอนต่อไปคือการติดตั้งหัวเข็ม (เปิดปั้มลม On แล้วปลด Belt ออกเสมอตอนเซตหัวเข็มนะครับ) อาร์มลม Linear ตัวนี้เราไม่ต้องปรับ Flow ของลม เขากำหนดตายตัวจากโรงงาน เท่าที่ใช้งานตลอดสามอาทิตย์ก็ไม่มีปัญหาใด หัวเข็มบนอาร์มลิเนียร์เราไม่ต้องเซตค่า Overhang กับ Offset Angle เหมือนอาร์ม Pivot เพราะไม่ต้องชดเชย Error ตรงนี้ ที่ต้องเซตมีแค่ VTF, Overhang เป็น 0 (เพราะปลายเข็มเคลื่อนที่แนวตรงเข้าหา Spindle), VTA และ Azimuth เอาอันแรกก่อน Tracking Force ตรงนี้หลังจากติดตั้งหัวเข็มและเสียบสาย Pin สี่เส้นแล้ว ให้เราปรับตุ้มหลังให้ค่า Tracking Force ต่ำๆ ก่อน สัก 0.1-0.2 กรัม ดูแนวโน้มก้านอาร์มคาร์บอนจะเซไปซ้ายหรือขวา หรือลงนิ่งๆ ในอุดมคติคือก้านอาร์มควรลงนิ่งๆ (ที่แรงกดต่ำ) หรือลอยเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อย (เข้าหา Spindle) ถ้าได้ดังนี้แล้ว จึงค่อยตั้ง Tracking Force ตามสเปกหัวเข็ม 

             ขั้นตอนต่อไปคือการตั้ง Zero Overhang ทาง Holbo ให้ตัวตั้งมาด้วย และผมก็ใช้ของเขาร่วมกับของ Telarc Omnidisc หลักการง่ายๆ คือ ปลายเข็มต้องแตะเส้น Linear ตลอดทาง จากบริเวณด้านนอกถึงด้านใน ถ้าตั้งระยะไม่ถึง ปลายเข็มจะสัมผัสเส้นบริเวณรัศมีนอกได้ แต่ตรงในๆจะแตะไม่ถึงเส้น และถ้าตั้งระยะเกินไป ก็ตรงกันข้าม (แตะเส้นได้ร่องนอก แต่ร่องในปลายเข็มเกินเส้นตรง) อย่าลืมนะครับ ตลอดการตั้ง Platter ต้องนิ่ง และตัวแผ่นตั้ง Alignment นิ่งด้วยไม่ขยับไปมา  

            ขั้นตอน Azimuth ทำได้โดยการคลายน็อตหกเหลี่ยมจุดเดียวกับการปรับ Overhang หัวเข็มที่ใช้ทดสอบทั้งสองหัวไม่มีปัญหาเอียงของ Body เข็ม ทำให้ไม่ต้องปรับตรงนี้ (แต่ต้องเช็คนะครับ) ส่วน VTA ปรับความสูงต่ำของอาร์มทั้งระบบ ทำได้โดยการคลายหกเหลี่ยมใหญ่ที่เสาอาร์ม แล้วหมุนปรับขึ้นลงทีละครึ่งรอบ 

              การติดตั้งแต่ละจุดเห็นผล และฟังออกได้ไม่ยาก ระบบอาร์มมีความเป็น “Monitor” สูง เช่น การปรับ VTA ให้ก้านอาร์มขนาน หรือเอียงทีละครึ่งความกว้างของเส้น (ภาพข้างบน) การปรับ Tracking Force ทีละ 0.5 กรัมก็มีผลและฟังออก อย่างเช่นหัว Lyra Delos ที่แนะนำน้ำหนักกด 1.75 กรัม  พบว่าใช้งานจริงฟังดีกว่าที่ 1.83 กรัม  

             แผ่นเสียงที่ได้เลือกฟังก็มีหลากหลายแนวดังต่อไปนี้ ผมเลือกบางเพลงจากบางแผ่นแปลงเป็น Wav File 24/88.2 KHz ถ้าเพลงใดไม่ติดลิขสิทธ์ สามารถเข้าไปฟังและ Download เพลง Lossless ได้ที่ soundcloud.com/emt930  ถ้าเพลงใดที่ดีมากๆแต่ติดลิขสิทธิ์ จะทำเป็น MP4 แล้วเอาขึ้น YouTube Channel ผมเอง https://www.youtube.com/@krairerksintavanuruk9360   

ฟังเพลงกัน 

เหมือนกับเราฟูมฟักปลูกทุเรียนพันธุ์ดี เมื่อผลิดอกออกผลก็ได้ทุเรียนชั้นดีให้เราทาน Holbo ก็เช่นกัน เมื่อตั้งใจ Setup ดีๆ แล้ว ย่อมให้ผลการรับฟังที่ดีเยี่ยมเช่นกัน สิ่งที่คาดหวังว่า แท่นลมมันคงให้เสียงแนวพริ้วๆ รายละเอียดดี ไม่เน้นเนื้อเสียงมากนัก อันนั้นถูกแค่ครึ่งเดียว ถ้า Set ดีๆ มาหมดทั้งความพริ้ว เสียงกลางเสียงร้องที่อิ่มเป็นตัวเป็นต้น และเบสที่ดี ที่สำคัญคือแทบไม่มี Background Noise ให้ได้ยิน จะเรียกว่าไม่มีเลยก็ย่อมได้ (เพราะผมไม่ได้ยินจริงๆในช่วงระหว่างแทร็ก)  

ช่วงแรกผมทดสอบด้วยหัวเข็ม Benz Micro Glider ก่อน มันแมทช์กับแท่นนี้มาก หัวไม่หนัก มีค่า compliance ก้านเข็มค่อนข้างสูง  ผมลองด้วยการบ้านง่ายๆ  เพลงร้องง่ายๆ อย่างของ Susan Wong  ชุดล่าสุด Kamereon (มีทำทั้งแผ่นสี Splash ที่ออกช่วง Record Store Day กับแผ่นสีดำ เสียงใกล้เคียงกันมากและผมใข้แผ่นดำทดสอบ) 

จับเสียงกลาง เสียงร้องว่ามีมวล มีความเป็นธรรมชาติ  และ Acoustic Bass ว่าเดินดีแค่ไหน เนื่องจากอัลบั้มดังกล่าวลง Soundcloud ไม่ผ่านเลยริปแล้วทำเป็นวิดีโอลง YouTube สองเพลงให้ลองฟังกันคือ Sukiyaki (https://www.youtube.com/watch?v=hGiFhOab-FY) และเพลง Dancing In The Moonlight (https://www.youtube.com/watch?v=IOat7wxyjRU) เสียงกลาง เสียงร้องของ Susan ผ่านฉลุย อยู่ตรงกลางเวทีเสียง การออกอักขระ Accent ของนางชัดเจน เสียงไหลลื่นไม่มีสากเสี้ยนหรือปลายเสียงแหลมกัดหูเลยแม้แต่นิดเดียว จังหวะดนตรีดีมากในเพลงเร็วอย่าง Dancing In The Moonlight คือถ้าแผ่นที่บันทึกมาดีรับรองว่าแท่นนี้รายงานได้ไม่ตกหล่นแน่นอน   

ในแผ่นเสียง Single 12 นิ้ว สปีด 33 / 45 คนละหน้า ติด Absolute Sound  Super Disc List ตั้งแต่ยุด Harry Peasons  ยังมีชีวิตอยู่ เป็นแทร็กที่นำมาจากอัลบั้มแสดงสด ของ Bill Henderson นักร้องผิวสี ในคลับชื่อ The Times แผ่นนี้ติดอันดับเพราะการร้องที่ยอดเยี่ยมและบรรยากาศของในการแสดงสดที่มีโดยรอบ เพลงนี้รอดลิขสิทธิ์สามารถลง Soundcloud และ Download Lossless File ไปฟังได้ครับที่ https://soundcloud.com/emt930/send-in-the-clowns เสียงเข้มๆ ของ Bill Henderson บรรยากาศรายรอบผับมาเต็ม Holbo Mk 2 สามารถถ่ายทอดเสียงร้องของ Bill ได้อารมณ์เศร้าดีมาก รอบที่ทำได้นิ่งและการแทร็กร่องแผ่นเสียงที่สปีด 45 ที่ทำได้ตามหน้าที่ของมันย่อมถ่ายทอดอารมณ์เพลงให้เราได้รับรู้  

Asking About Bass Reproduction? แท่นอาร์มลมให้เบสดีมั้ย ผมหยิบแผ่นนี้มาเลยครับ สังกัด CMP เยอรมันนี วง Repercussion Unit ; In Need Again   เพลงที่นักเล่นคุ้นหูกัน It’s Ridiculous หัวเบสหางเบสมาครบ เวทีเสียงกว้างขวาง ไดนามิกต่างๆหายห่วง Holbo ให้รายละเอียดครบถ้วน  แบ็กกราวนด์ที่สงัดช่วยให้ช่องไฟดนตรีดีมาก ทั้งหมดมาพร้อมกับเนื้อเบสเต็มๆ ท่านผู้อ่านลองฟังเอาเองก็แล้วกันครับที่ https://www.youtube.com/watch?v=y2JkUlYg5Co 

มีอีกหลายแผ่นที่ผมใข้ทดสอบ แต่ไม่ได้เก็บคลิปเสียงมาให้ฟัง ที่น่าทึ่งมากคือ Janis Ian : Breaking Silence แผ่นยอดนิยมที่แนะนำกันมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี แผ่นนี้เป็นแผ่น 180 กรัม สปีด 33 ของ Analogue Production ที่ Master โดย Doug Sax เมื่อเล่นบน Holbo นี่น่าทึ่งมากครับ รายละเอียดพรั่งพราย เบสกระชับหนักแน่นมาก เสียงร้องเป็นตัวตนไม่จมหายไปด้านหลัง ฟังเพลินมาก เสียดายที่ผมไม่ได้เก็บบันทึก Rip มาให้ฟัง มันทำให้ผมประหลาดใจและเห็นคุณค่าของอัลบั้มชุดนี้มากขึ้นอีกโข 

            ขั้นตอนสุดท้ายผมก็ได้เปลี่ยนหัวเข็มของผมเองจาก Benz Glider เป็นหัวเข็มเทพที่ผู้นำเข้าให้มาด้วยคือ Lyra Delos หัวยี่ห้อนี้เป็นหัวที่ผมอยากลองอยากฟังมากตั้งแต่รุ่นก่อนๆ เช่น Clavis DC, Helikon ซึ่งราคาสูงมาก  มีตัว Delos นี่ที่ราคาย่อมเยาและพอจับต้องได้ แต่สเปกเข็มก็ไม่ธรรมดานะครับ ก้านเข็ม Sold Boron ปลายเข็ม Line Contact บรรดาทั้งเพลงไทย หรือต่างประเทศที่โหดๆ ทั้งหลายก็ได้ทดสอบกับแท่นนี้ตามภาพด้านบน ที่ Rip เพลงเป็นไฟล์ก็สองเพลงจากสองแผ่นนี้ครับ 

          ผมเลือกเพลงที่มีความซับซ้อนในการทดสอบตอนท้ายๆ แผ่นแรกเป็นแผ่น 180 กรัม Reissue ใหม่โดยค่าย Analogphonic โดยเทพไวโอลินรัสเซีย Nathan Milstein  กับเพลง Introduction To Rondo Capriccioso   https://www.youtube.com/watch?v=o8U8thtW7SQ ผมเลือกมาฟังในแง่ของอารมณ์ของบทเพลง (Music Appreciation) ว่าเครื่องที่เป็นวัตถุไม่มีชีวิต จะสามารถให้อรรถรสทางดนตรีกับเราได้เป็นที่พอใจไหม ท่านผู้อ่านลองใช้สมาธินั่งฟังเองแล้วกันครับ ผมถ่ายทอดเสียงเต็มความสามารถแล้ว แนะนำว่าให้ลองฟังรายละเอียดของเครื่องดนตรีอื่นที่เล่นสอดประสานกับดนตรีหลักคือไวโอลินของมิลสไตน์นะครับ ท่านจะรับรู้ถึงความเก่งของผูประพันธ์ที่ร้อยเรียงเสียงต่างๆขึ้นมาเป็นบทเพลงนี้      

ส่วนอีกแผ่นนึงเป็นแผ่นที่ผมชอบมาก เป็นผลงานชิ้นเอกของนักกีตาร์แจ๊ส Pat Metheny กับ Lyles May จากชุด Still Life Talking คอเพลงแจ๊สต้องรู้จักอัลบั้มนี้ดี เลือกเพลง Minuano  https://www.youtube.com/watch?v=kaXoFjg7cQ4   เพลงที่มีกลิ่นอาย Brazil  แผ่นนี้ดีอย่างไร นอกจากเพลงเพราะมากแล้ว ในส่วนของรายละเอียดเครื่องดนตรี เครื่อง Percussion ต่างๆทาง Pat จัดเต็มมาก เราจะฟังในแง่ทำนองหลัก Improvisation  หรือทำนองประสานของคีย์บอร์ด Acoustic Bass หรือจะเจาะฟัง Rhythm Section พวกกลอง Percussion ก็มันส์ดีครับ เป็นเพลงและอัลบั้มที่ฟังแล้วฟังอีกก็มีสิ่งที่เราค้นหาแปลกๆ ใหม่ๆ ได้ตลอด และแน่นอนว่าชุดนี้ฟังจากไวนิลดีที่สุดเทียบกับ CD หรือ Streaming เนื้อเสียง เวทีเสียง อิมแพค ต่างกันเยอะ Holbo สำหรับผมแล้วสามารถแสดงผล ถ่ายทอดบทเพลงจากอัลบั้มโปรดของผมได้ดีเยี่ยม รายละเอียด เนื้อ น้ำหนักเสียง มาด้วยกันได้ทั้งหมดอย่างน่าประหลาดใจ  

ความรู้สึกส่วนตัว 

ขณะที่รีวิวตัวนี้ ผมก็ได้มีการคุยกับ Holc Bostjan ผู้ผลิตไปด้วยพร้อมกัน มีสิ่งที่อยากจะบอกกับท่านผู้อ่านดังต่อไปนี้ 

• มันเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีจุดแข็งคือ เรียบง่าย มีสไตล์ มีความเชี่ยวชาญและรู้จริงเรื่องของ Air Bearing Turntable  สามารถเอากลไกที่ซับซ้อนออกมาเป็นรูปแบบที่เรียบง่าย และราคาเหมาะสมเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นที่ใข้ลมด้วยกัน 

• เป็นเครื่องที่ต้องใส่ใจในการเซ็ตอัพเป็นพิเศษ เซ็ตดีก็จะออกมาดีมาก และสามารถปรับ Parameter ของการเซตต่างๆให้ได้เสียงที่เราต้องการได้ โดยไม่ต้องลงเงินไปกับอุปกรณ์เสริมเพื่อให้ได้เสียงที่เปลี่ยนไปและต้องการ นี่เป็นข้อดีของการเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียง 

• ปัจจุบันแท่นทำออกมาสีดำ สีแดง และสีขาว เป็นสีมาตรฐาน เชื่อว่าต่อไปจะมีอื่นๆที่ลูกค้าต้องการได้ 

• Dust Cover ต่อไปทาง Holbo จะให้มาด้วย อันนี้เขาตอบผมมาแบบนี้ 

• อาร์มลมอย่างเดียว ขายไหม ผมถามเขาไป เขาตอบว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะทำขายแยกต่างหาก คงอีกสักระยะเวลาหนึ่ง 

• ถ้าท่านชอบเทคโนโลยี Air Bearing  เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่สวย เรียบง่าย ราคาเหมาะสม ผมแนะนำอย่างยิ่งที่ต้องลองไปสัมผัสและฟังแท่นนี้ ถ้าท่านไม่มั่นใจว่าจะ Setup มันได้ลุล่วงไหมผมเชื่อว่าตัวแทนจำหน่ายมีความน่าเชื่อถือ มีทีมช่างเทคนิคไปบริการท่านถึงที่แน่ๆ ลองฟังดูนะครับ 

ขอขอบคุณ : บริษัท ออดิโอ เอ็กซ์เซลล์เลนซ์ จำกัด โทร.02 631 5375-6