Vienna Acoustics: Haydn Grand Symphony Edition

0

การุณชาติ พุกกะเวส

Facebook : Garoonchart Bukkavesa

            ลำโพงแบรนด์นี้มีถิ่นฐานในประเทศ “ออสเตรีย” ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่เป็นบ้านเกิดศิลปินชื่อก้องโลก Mozart, Beethoven, Strauss, Schönberg  ฯลฯ ทำให้ถูกจับตามองในแง่คุณภาพเสียง ว่าน่าจะมีคุณภาพเสียงดีแน่ๆ เพราะผู้ผลิตมีเสียงดนตรีอยู่ใน DNA  นอกจากนี้ยังเอาชื่อศิลปินดังมาเป็นชื่อรุ่นของลำโพงซะด้วย นัยว่าจะบ่งบอกกันตรง ๆ ว่าลำโพงของเขานั้น มีความเป็นดนตรีมากเพียงใด นับว่าเป็นจุดขายที่โดดเด่นทีเดียว

ลำโพงดังกล่าวคือยี่ห้อ Vienna Acoustics ปัจจุบันมี 4 ซีรีส์คือ Klimt / Imperial / Concert Grand / Strauss ครั้งนี้ได้รับซีรีส์ Concert Grand มาลอง ซึ่งมีทั้งหมด 8 รุ่นด้วยกัน พี่ใหญ่สุด Beethoven Concert Grand Symphony Edition (ตั้งพื้น วูฟเฟอร์ 3 ตัว) / Beethoven Baby Grand Symphony Edition (ตั้งพื้น วูฟเฟอร์ 2 ตัว) / Mozart Grand Symphony Edition (ตั้งพื้น วูฟเฟอร์ 1 ตัว) / Haydn Grand Symphony Edition (วางหิ้ง) / Waltz Grand (ตู้บาง) / Maestro Grand (เซ็นเตอร์ตัวท้อป) / Theatro Grand (เซ็นเตอร์ตัวรอง) / Principal Grand (แอกทีฟซับวูฟเฟอร์)

            ตัวที่ได้รับมาครั้งนี้เป็น Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition วางหิ้ง ซึ่งระบุว่าเป็น Symphony Edition คือรุ่นที่ปรับปรุงล่าสุด

            ลองมาฟังกันครับว่าลำโพงที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศแห่งเสียงดนตรีที่มีศิลปินชื่อก้องโลก จะถ่ายทอดเสียงดนตรีได้น่าฟังเพียงใด

คุณสมบัติพิเศษ Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition

  • ประกอบด้วยมือที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
  • ทวีตเตอร์โดมผ้าขนาด 1 นิ้ว  
  • เสียงกลาง Spider-Cone™ X3P ขนาด 6 นิ้ว
  • เป็นตู้เปิด 2 ทาง
  • วงจรครอสโอเวอร์ออกแบบเน้นมีคุณภาพ เช่น MKP Capacitor 1 เปอร์เซ็นต์ Tolerance Coils 0.7 เปอร์เซ็นต์ tol., Air Coils Metal Film Resistors 1% Inductance Free
  • ตัวตู้ทำจากไม้แท้
  • ขั้วลำโพงตัวลูกบิดขนาดใหญ่มาก

ลักษณะทั่วไป Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition

                Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition ตัวตู้มีหลายสีให้เลือก เช่น โร้สวูด, วอลนัท, เปียโน ฯลฯ ตู้ที่ได้รับมาสีโร้สวู้ดสวยงามมาก ออกแบบได้ลึกล้ำ เป็น 2 ทางตู้เปิด โดยที่ท่อระบายอากาศ ถ้าเป็นลำโพงส่วนมากก็มียิงออกด้านหลัง อีกแบบคือยิงออกด้านหน้า นอกจากนี้มีบางยี่ห้อยิงลงด้านล่าง

            ทาง Vienna Acoustics ใช้แบบยิงออกด้านหน้า แต่พิเศษกว่า ตรงที่ทีมงานฯ ได้นำเอาท่อระบายอากาศนี้ไป “ซ่อน” ไว้ด้านหลังทวีตเตอร์ ดูเผินๆ เหมือนลำโพงตู้ปิดกันเลย เนื่องจากไม่เห็นท่อระบายอากาศนั่นเอง

            ทวีตเตอร์ขนาด 1 นิ้ว แบบ VA Hand Coated, Triple Neodymium Magnet Silk Dome ติดตั้งบนแผงพลาสติก โดยที่ด้านหลังเป็นท่อระบายอากาศอย่างที่กล่าวไว้ วูฟเฟอร์แบบกรวยใส ขนาด 6 นิ้ว ผู้ผลิตเรียกว่า Spider-Cone™ X3P เป็นแบบใส มองทะลุเห็นไส้ในได้ ขอบยาง ดัสแคปทรงกลม กึ่งกลางจะมีจุดเล็ก ๆ เดาว่าเพื่อให้แข็งแกร่งขึ้นอีกนิด พร้อมโลโก้ Vienna Acoustics

            ด้านล่างตู้มีรูนอตสำหรับใช้ยึดขาตั้งของค่ายเอง ด้านหลัง บนสุดเป็นป้ายบอกสรรพคุณ พิมพ์ด้วยตัวเขียน แลดูสวยงาม ขั้วลำโพงขนาดใหญ่ หมุนได้ถนัด

            ตัวตู้ทำเหมือนมี 3 ส่วน คือ ส่วนแผงหน้า ส่วนโครงตรงกลาง และส่วนท้าย ซึ่งจะมีลายไม้ที่ตัดคนละทิศทางกัน ตัวลายไม้งดงามจริงๆ เมื่อประกอบเป็นตู้แล้ว แสดงถึง Vienna Acoustics ใส่ใจมากๆ

            ไม่เว้นแม้แต่หน้ากากลำโพง ที่โครงพลาสติกด้านในตรงทวีตเตอร์มีการเจาะรูเพื่อลดเสียงสะท้อนของโครงด้วย !!

สเปค Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition

  • ตอบสนองความถี่ 40-20,000 Hz +/-3 dB
  • ความไว 88.5 dB
  • กำลังที่แนะนำ 50-180 วัตต์
  • ความต้านทานปกติ 4 โอห์ม
  • กว้าง 174 x สูง 361 x ลึก 265 มิลลิเมตร
  • หนัก 10 กิโลกรัม

อุปกรณ์ที่ใช้ทดลอง Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition

แหล่งโปรแกรม ; เทิร์น VPI : Scout + อาร์ม SME : M2-9 + หัวเข็ม Ortofon : MC20 (25th Anniversary)

โฟโน ; Audia Flight : Phono, Kean Phono MK II (No.13/2x)

ปรีแอมป์ ; Parasound : JC2 BP

เพาเวอร์แอมป์ ; Parasound : JC 1

ลำโพง ; Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition

สายสัญญาณ ; Monster : Sigma Retro (RCA), Monster : M1000i (RCA), Cardas : Clear (XLR)

สายลำโพง ; Kimber Kable : 8TC ขั้วต่อบานานา Monster : Power Connect 2

สายไฟเอซี ; Tchernov Cable : Special Series, Shunyata Research : Anaconda Zitron / King Cobra CX / Python CX, Coral 10 AWG (Pass & Semour / Shurter 4781), Cardas : Golden Reference ท่อหดเทา, Cardas : Twinlink

ระบบไฟ ; ปลั๊กผนัง Wattgate : 381 (1 ตัว), Fim : 886 (2 ตัว), Oyaide : R1 (3 ตัว)  ฝาครอบเต้ารับ FIM : 308-1, ตัวกรองไฟ PAC : Super idos

อุปกรณ์เสริม ; ชั้นวาง Solid Tech : Hybrid, Audio Arts : Classic II, ชั้นหินแกรนิตเทียม ขาตั้ง Totem : T4s ที่รองสาย Acoustic Revive : RCI-3, Cable Elevator, Shunyata : Dark Field, Cardas : Multi Blocks, Cardas : Notched Myrtlewood Blocks ที่รองเครื่อง / ทิปโท JJ : Screw Cone, Hi-Fi Block ที่ทับเครื่อง ก้อนอิทธิเจ, VPI : HW dB-5, XAV : EMX-9

อุปกรณ์ควบคุมสภาพอะคูสติก ; ASC : Tubetrap 9”, แผ่นซับเสียงสูตร RPG, XAV : G-Sap เบอร์ 1, เบอร์ 2, XAV : Trap + XAV : Base Trap, จิ๊กซอว์ PRS, Room Tune : Michael Green Audio + Echo Tune

การติดตั้งและการเซ็ตอัพ Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition

การติดตั้ง Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition ไม่ยากเย็นอะไรเนื่องจากตัวตู้ขนาดไม่ใหญ่โตอะไร วางบนขาตั้ง 24 นิ้ว ในการเชื่อมต่อสายลำโพง ขั้วต่อลำโพงขนาดใหญ่ที่ให้มา หน้าตาดีแถมสามารถบิดขันแน่นได้น่าพอใจ

การเซ็ตอัพ Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition การวางหน้าตรงหรือโทอินอาจจะต้องลองด้วยตนเอง กรณีผมวางห่างกว่าปกติไปบ้าง จึงโทอินเล็กน้อย จูนให้มิติตรงกลางชัดเจนที่สุด ส่วนตำแหน่งการวาง ปรับให้ลงตัวไม่ยากนัก ผมขยับตำแหน่งแค่ไม่กี่ครั้งก็ลงตัว 

ผลการลองฟัง Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition

                ลำโพง Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition พัฒนาการล่าสุด ปรับปรุงจากรุ่นก่อนหน้า ผมเบิร์นอินไปกว่า 140 ชั่วโมง จึงได้เวลาลงมือละครับ

เริ่มต้นด้วยการฟังแผ่นเสียงก่อน พบว่าปลายแหลมมีหางเสียงที่ถ่ายทอดออกมานั้น ให้หางเสียงทอดตัวได้นานแบบที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เน้นให้ฟุ้งตลบอบอวล มีความต่อเนื่อง มีความลื่นไหล นำเสนอด้วยความประณีตบรรจงอย่างมีศิลปะ (ไม่เสียแรงที่มาจากประเทศที่ให้กำเนิดคีตกวีเอกของโลก) โดยมีเนื้อเสียงที่ดี ไม่แห้งหรือจัดจ้านบาดหู ฟังได้นาน ยิ่งฟังจะยิ่งหลงรัก แผ่นจรัลในดวงใจ Jaran’s On My Mind (Wild Arts)

            เสียงเครื่องเคาะที่หลากหลาย นำเสนอได้ดี ไม่มีมั่วหรือตีรวนกัน คุมตัวได้ดี โฟกัสดี มีลีลาที่น่าฟัง ฟ้องทวีตเตอร์ได้เลยหากว่าจูนวงจรตัดแบ่งความถี่ไม่ลงตัวหรือเน้นเสียงแหลมมากเกินไป ซึ่งทวีตเตอร์โดมผ้าใน Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition นำเสนอเนื้องานได้อย่างงดงาม ถ้ารู้สึกว่าเสียงกร้าวหรือกระด้าง ลองพิจารณาหาสาเหตุจากตัวอื่นดูเถอะ All Star Percussion Ensemble (First 1000 Pressings, Fim-GS LP 001-LE)

            ย่านเสียงกลาง นำเสนอเสียงร้องได้อย่างลื่นไหล ไพเราะ มีลูกคอที่ออดอ้อนน่าฟัง การลากเสียงสูงต่ำไปมาสลับกัน ทำได้อย่างน่าชื่นชม จากจะฟังแค่ต้นเพลงทำให้เผลอตัวฟังจนจบเพลงเอาง่ายๆ  A Whisper of Love, Ayako Hosokawa (Impex : IMXLP6023)

            กับเพลง Bridge Over Trouble Water เสียงร้องที่ออดอ้อน ลูกคอสั่นระรัว ก่อให้เกิดความไพเราะของบทเพลง ซึ่งฟังแล้วต้องชื่นชอบเป็นที่ถวิลหาของนักฟังเพลง to Mr. Wonderful, Ayako Hosokawa (Three Blind Mice TMB : THLP409)

            เส้นเสียงเจือด้วยความหวานอย่างพอเหมาะ ไม่ได้ฉ่ำจนเยิ้มหรือจืดชืดไม่มีลีลา เกรนเสียงละเมียดละไม มีความเป็นธรรมชาติดีมาก มีกลิ่นเครื่องหลอด  ขับร้องโดย Daisy Brown ได้ยินสรรพเสียงต่างๆ โดยรอบ และมีการขับร้องที่งดงาม (ใช้ไมโครโฟนหลอด Neumann M50 อายุ 50 ปี 3 ตัวมาบันทึกเสียง) แทร็ก Soprano : Mozart’s Durch Zartlicheit & Schmeicheln แผ่น Chasing The Dragon Audiophile Recordings (VAL007)

                เสียงร้องของ Susan Wong อัลบั้ม My Live Stories แผ่นที่ 0751/2000 เพลง Desperado, Close to You นำเสนอได้สวยงาม ไม่ต้องเป็นแผ่นเสียงปั๊มแรก ก็ยังคงมีความน่าฟัง ไพเราะเกินพอไม่น้อย

            เสียงทุ้ม ด้วยตัวขับขนาด 6 นิ้ว และเป็นลำโพงวางหิ้ง คงจะไม่สามารถคาดหวังให้ทุ้มสะเทือนอัดแน่นเสมอเมื่อยามที่มีความถี่ต่ำ ตรงกันข้าม Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition นำเสนอเสียงทุ้มที่มีการไล่โน้ตเบสที่ดี มีความหนักแน่นพอเหมาะ มีบอดี้ ไม่บาง (แล้วแต่แผ่น) เพียงพอต่อการฟังเพลงทั่วไปแล้ว โดยไม่จูนเสียงให้อิ่มหนาจนกลบเสียงกลางให้ขุ่น ถึงแม้จะไม่ได้ให้มวลเสียงที่อิ่มหนา แต่เสียงตีกลองแน่น ไม้หวดหนังกลองตึงไม่ตึง ตีแรงไม่แรง รับรู้ได้เลย กับ The Sheffield Drum Record (Sheffield Lab 14)

            ไดนามิกการหวดกลอง เสียงหนังกลอง เสียงไม้ตีกลองกระทบหนังกลองให้พลังเสียงที่อิ่ม มีมวลที่ดี เมื่อเทียบกับขนาดตัวขับถือว่าน่าพอใจ แทร็ก 1 หน้า A, The Sheffield Track Record (Special C.E.S Preview Edition : Sheffield Lab 20)

            แผ่นเสียง Mozart Violin Concertos ต้นฉบับแบบ DXD 352.8 Direct Master (2L-038-LP) โชว์การสีไวโอลีนที่มีไดนามิกดี เล่นแบบเดี๋ยวดังเดี๋ยวเบาสลับกันไปมา ซึ่งควบคุมพลังไว้ได้ดี ช่วงเบาได้ยินรายละเอียดครบครัน มีความลื่นไหล ช่วงโหมควบคุมเสียงได้ดี ไม่ล้ำหน้า ไม่พร่ามัวหรือขึ้นขอบ

            Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition เป็นเวอร์ชันที่มุ่งเน้นความโปร่งใสของชิ้นดนตรี มากกว่ารุ่นก่อนหน้าที่เสียงจะมีเนื้อหนังกว่า นัยว่าเพื่อตอบรับกระแสดิจิตอลที่กำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อฟัง Misty (Three Blind Mice, TMB : 30) ทำให้ได้ยินรายละเอียด และบรรยากาศที่ดี การกดคีย์เปียโน มีการกดแต่ละครั้งที่ต่างกันไป เดี๋ยวหนักเดี๋ยวเบา เดี๋ยวสั้นเดี๋ยวยาวอย่างชัดเจน

            มิติเวทีเสียง เมื่อจัดวาง Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Editionได้ลงตัว ซึ่งไม่ได้เป็นลำโพงที่เรื่องมากแต่ประการใด สามารถจำลองชิ้นดนตรีต่าง ๆ ได้ดี สมดุลทั้งด้านกว้าง และลึก ลำโพงล่องหนไปได้ รวมทั้งจัดแนวระนาบด้านตื้นไล่ลงไปด้านลึกได้อย่างลงตัว แทบจะมองเห็นเครื่องดนตรีแต่ละแถว และแยกอิสระแผ่ออกเกินขอบซ้ายขวาของตู้ลำโพงได้ง่ายๆ พร้อมตำแหน่งที่แม่นยำ มีไทมิ่งดี ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป แทรค 2 หน้า A, All Star Percussion Ensemble (First 1000 Pressings, Fim-GS LP 001-LE)

            มาลองฟังจากแผ่นซีดีกันบ้าง เสียงเครื่องเคาะต่างๆ กังวานทอดตัวเป็นระลอก ก่อนจะจางหายไป มีรายละเอียดดี น่าฟัง ไม่มีเส้นเสียงที่บาดหูแต่อย่างใด Top 12 in Gold (Golden String Record, GSCD034)

            เสียงร้อง Ayako Hosokawa ไพเราะ ลื่นไหล ลูกคอเป็นชั้นๆ มีสเน่ห์ ไพเราะมาก The Wonderful Sound of Three Blind Mice (Golden String Record, GSCD004)

            แผ่นเดโม Usher No.5 เบสเด้งตัว มีน้ำหนักดี คุมตัวได้ดีไม่พร่ามัว เสียงออร์แกนท่อพยายามให้มวลอากาศที่แผ่กระพือครางได้น่าทึ่งที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับขนาดดอกแค่ 6 นิ้ว และเป็นแบบวางหิ้ง!!

ทริคในการเล่น Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition

 สำหรับ Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition จากสเปคไม่ได้กินวัตต์มากนัก แต่ต้องการแอมป์ที่มีกำลังหลัก และกำลังสำรองที่ดี เนื่องจากความต้านทานอยู่ที่ 4 โอห์ม ถ้าแอมป์ไม่ดีพอ ย่อมจะกระทบต่อคุณภาพเสียงไปด้วย เป็นข้อพึงระวังในจุดนี้นะครับ     

บทสรุป Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition

Vienna Acoustics : Haydn Grand Symphony Edition เป็นโมเดลล่าสุด แน่นอนว่าผลิตจากประเทศบ้านเกิดของศิลปินชื่อก้องโลก รูปลักษณ์งดงาม งานสร้างพิถีพิถันทีเดียวครับ โดยรวมจึงคุ้มค่ากับการไปทดลองฟังด้วยตนเองอีกครั้งสำหรับท่านที่มีโครงการซื้อลำโพงคู่ใจตัวใหม่

 นำเสนอความสะอาดของชิ้นดนตรีมากกว่ามวลทึบเข้ม ทั้งนี้เพื่อรองรับไฟล์ Hi-Res ที่จะก้าวมามีบทบาทสำคัญมากขึ้น แต่ยังคงถ่ายทอดชิ้นงานได้น่าประทับใจ ปลายแหลมฉ่ำ เสียงกลางติดหวาน เบสอิ่ม มีความลงตัวของโทนัลบาลานซ์ ซึ่งทั้งหมดทำให้ฟังได้หลากหลายแนวดนตรีกว่านั่นเอง…

  • รูปลักษณ์ 4.5 ดาว
  • คุณภาพเสียง 4.5 ดาว
  • ความคุ้มค่า 4.5 ดาว
  • คะแนนโดยรวม 4.5 ดาว

หมายเหตุ :  ขอขอบคุณบริษัท Triple eight innovation Compana limited จำกัด โทร. 0-2102-3418 ผู้แทนจำหน่ายที่ได้อนุเคราะห์ให้ยืมลำโพงมาทดสอบ