Test Report: Tombo Audio Products

0

Test Report: Tombo Audio Products

VS-01 (Vinyl Stabilizer) & TT-01 (Magic Spike)

มงคล อ่วมเรืองศรี

972766_456837294433242_510012689_n

ในหน้าเว็บไซต์ของ Tombo Audio Products ในหัวข้อ “เกี่ยวกับเรา” ได้ระบุไว้ว่า “จากประสบการณ์กว่า 20 ปีที่ได้ร่วมงานวิจัยและพัฒนากับทีมวิศวกรในกลุ่ม Scandinavian Audio Research ที่คร่ำหวอดในงานพัฒนาเครื่องเสียงให้กับ ลำโพง, ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์, สายลำโพง , สายสัญญาณ, สายไฟ ที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายยี่ห้อ ทำให้ทีมงานของเราได้สะสมความรู้และประสบการณ์ในการผลิตเครื่องเสียงที่มี คุณภาพสูง สามารถถ่ายทอดความเป็นดนตรีที่เสมือนจริง ส่งต่ออารมณ์ของนักดนตรีสู่ผู้ฟังโดยไม่บิดเบือนในทุกรายละเอียด ประกอบกับพันธมิตรต้นค่ายที่ให้การสนับสนุนด้านชิ้นส่วน อะไหล่ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยี ช่วยวิจัยออกแบบเพื่อให้ Tombo Audio เป็นที่สุดของเครื่องเสียงในระดับ State of the Art”

“จากงานวิจัยตลอด 20 ปีทีมงาน Tombo Audio ได้ทำการพัฒนาต้นแบบสินค้าขึ้นมาหลายรุ่น แต่เราได้คัดเลือกเฉพาะบางรุ่นที่เรามั่นใจว่าคุณภาพเสียงมาถึงที่สุดออกมาผลิต เรานำเข้าดอกลำโพงและวงจรแบ่งความถี่โดยตรงจากทีมงานของเราซึ่งเป็นผู้ผลิต สั่งผลิตตัวตู้ลำโพงและประกอบในเมืองไทย โดยใช้ business model จากอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะนำเสนอที่สุดของคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล”

จากจุดกำเนิดขึ้นของ TOMBO AUDIO PRODUCTS ภายใต้ลัญลักษณ์โลโก้รูป “แมลงปอ” ด้วยเป้าประสงค์ของความปรารถนาที่จะให้ไม่เฉพาะคนไทยได้ฟังลำโพงที่เน้นความเป็นดนตรี-ฟังแล้วมีความสุข-ตั้งวางในห้องทั่วไปก็ให้เสียงที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น ลำโพงทุกคู่ในทุกๆ รุ่นของ TOMBO AUDIO PRODUCTS ผ่านการรังสรรค์ขึ้นในลักษณะของ High End Audio Boutique เป็นการผลิตแบบเฉพาะรุ่นเพียงไม่กี่คู่เท่านั้น มิใช่ผลิตในลักษณะของเชิงอุตสาหกรรมทีละมากๆ และเป็นที่น่ายินดี ณ วันนี้ TOMBO AUDIO PRODUCTS มิเพียงจำกัดอยู่เฉพาะระบบลำโพงเท่านั้น หากแต่ได้ก้าวไปสู่การมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทางอะคูสติกด้วย

ณ ปัจจุบันจึงนับว่า Tombo Audio Products มีผลิตภัณฑ์อยู่ในสายพานการผลิตครอบคลุมอยู่หลายด้าน ทั้งผลิตภัณฑ์ทางด้านสำโพง (ซึ่งมีอยู่ 3 ซีรี่ส์ด้วยกัน :- Signature Series, Studio Series และ Reference Series), ปรีแอมป์ – เพาเวอร์แอมป์, สายสัญญาณ – สายลำโพง – สายไฟ – ชั้นวางและอุปกรณ์ควบคุมสภาพก้องกำธรของห้องเสียง ซึ่ง “VS-01” และ “TT-01” ก็คือ 2 ผลิตภัณฑ์ทางอะคูสติกที่ TOMBO AUDIO PRODUCTS ได้จัดทำขึ้นมาล่าสุด

แต่ทว่า-ไม่สามารถสืบค้นหาข้อมูล-รายละเอียดใดๆ อันเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เลยต้องใช้ข้อมูลที่นำเสนออยู่ในหน้าโฆษณาของ Tombo Audio Products เองมาระบุอ้างอิงไว้ ณ ที่นี้ครับ

“VS-01” Vinyl Stabilizer – ออกแบบเป็นที่กดทับแผ่นเสียงแบบน้ำหนักเบา (light clamp stabilizer) ที่ออกแบบด้วยหลักกลศาสตร์อันแม่นยำ ผลิตจากวัสดุอะลูมินั่ม ปัดสายเส้นขนแมว satin finished ปรับความสมดุลอย่างพิถีพิถัน แกนกลางเป็นทองเหลือง พร้อมวงแหวนสเตนเลสล้อมแกนกลางอีกทีหนึ่ง เพื่อขจัดจัดความสมดุลของเสียงที่แตกต่างกันด้วยโลหะ 3 รูปแบบ ผสานบุคลิกเสียงครบถ้วนและจูนรอบหมุนของเทริ์นเทเบิ้ลให้นิ่งโดยแท้จริง

“TT-01” Magic Spike – อุปกรณ์ปรับความสมดุลในลักษณะของทิป-โท (ปรับระดับสูง-ต่ำได้) ที่ผ่านการคิดค้น-วิจัยต่อเนื่องนับ 10 ปี (แต่มิได้อธิบายถึงหลักการไว้)

551224_427868927318432_2017673434_n

….ก็คงไม่ต้อง-เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน-หรอกนะครับ สำหรับคำแนะนำในวิธีการใช้งาน ? ทั้งสำหรับ “VS-01” และ “TT-01” ให้ยืดยาว ….เข้าเรื่อง “ผลลัพธ์” ที่ได้รับจากการใช้งานเลยดีกว่า สั้นๆ แต่ได้ใจความ ว่ากันแบบตรงๆ ประเด็น

ใช้แล้ว…ดีขึ้นจริงหรือเปล่าเอ่ย ?

…จริงครับ ฟันธงได้เลยว่า “เห็นผล” – ทั้ง “VS-01” และ “TT-01” นั่นแหละ ล้วนให้ผลลัพธ์ของการแปรเปลี่ยนไปในคุณภาพเสียงที่รับฟัง สำหรับ “VS-01” Vinyl Stabilizer ผมลองนำไปวางทับบน label แผ่นเสียงขณะเล่นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง 2 รุ่น – รุ่นหนึ่งเป็นแบบ suspension กับอีกรุ่นหนึ่งที่เป็นแบบ non-suspension ทว่าทั้งคู่ล้วนใช้ระบบขับหมุนแบบ ‘สานพาน’ (belt-drive) เช่นเดียวกัน ซึ่งให้ “ความชัดแจ้ง” แห่งผลลัพธ์ -ต่างกัน- อยู่เล็กๆ ครับ

….แต่ – ใช่ครับ “มีแต่” – ด้วยว่า เครื่องเล่นแผ่นเสียง 2 รุ่นที่ผมใช้อยู่นี้ล้วนใช้งานอยู่ประจำแทบจะทุกวัน ซึ่งเครื่องนึงติดตั้งหัวเข็มแบบ MM ส่วนอีกเครื่องนั้นติดตั้งหัวเข็มแบบ MC และทั้ง 2 เครื่องล้วนผ่านการปรับจูนอย่างดี ผมเลยมิปรารถนาจะต้องถึงกับ “ถอดเปลี่ยน” มาใช้หัวเข็มเดียวกัน เพื่อตรวจจับผลลัพธ์ที่ได้ถึงขนาดนั้น อันจะทำให้วุ่นวาย-ยุ่งยาก (และที่สำคัญต้องเสียเงินกับการปรับจูนซ้ำซ้อนอีกมาก หลายพันอยู่นะครับ) ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมแค่อยากลองดูให้รู้ถึง “ความต่าง” ระหว่างผลที่ได้รับจากแบบ suspension กับแบบ non-suspension มากกว่า จึงยอมให้มี-ได้เปรียบ-เสียเปรียบกันอยู่บ้างในด้านระบบหัวเข็ม ทว่า “ภาพโดยรวม” ของผลการรับฟังก็ต้องบอกว่า -มิได้- แตกต่างกันขนาดฟ้ากับแผ่นดิน

จากการฟังด้วย ‘TD-60’ เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ suspension ระดับ affordable hi-end (โทนอาร์มติดตายตัว) รุ่นสุดดังในอดีตจาก Harman/Kardon ที่ทุกวันนี้ถือเป็นหนึ่งใน vintage turntable ที่ผู้คนยังให้การถามหา พบว่า – เสียงโดยรวมมีโฟกัสที่ชัดเจนขึ้น ลดการมัวมน (murk) พร่าเลือน (blur) ลงไป ไม่ฟุ้งสับสน รับรู้ได้ถึงตำแหน่งแห่งที่ของเสียงต่างๆ ให้สภาพเวทีเสียงที่เป็นตัวเป็นตนขึ้น เสียงโดยรวมฟังดูเปิดโปร่งขึ้น เสมือน “กด” เสียงรบกวนให้น้อยลงไป จับจังหวะท่วงทำนองดนตรีได้ถนัดถนี่ขึ้น ให้ความมีเนื้อหนังของเสียงดีขึ้น จับลักษณะการออกเสียงอักขระได้ชัดขึ้น

ในขณะที่การรับฟังจาก ‘Clearaudio Emotion’ ซึ่งเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ non-suspension (ติดตั้ง Satisfy tonearm) เจ้า “VS-01” ก็ให้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน – จับตำแหน่งชิ้นดนตรีได้ชัดขึ้น สุ้มเสียงกระชับขึ้น ความสงัดก็ดีขึ้นเสียงดนตรีเลยผุดโผล่ตัวได้มากขึ้น ทว่าความกังวาน-ปลายหางเสียงนั้นห้วนสั้น รวมถึงสภาพ “มวลบรรยากาศ” (atmosphere) นั้น ดูจะฟังออกว่า ลดน้อยลงไปเช่นกัน ความอิ่มเอิบของเสียงก็ “ฉ่ำ” น้อยลง (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะหัวเข็มที่ใช้เป็นแบบ MC เลยฟังจับได้ชัดเจนกว่า-นิดหน่อย บางครั้งเลย-ชอบ-ที่จะไม่ใช้)

โดยรวมผมขอสรุปประเด็นว่า “VS-01” -น่าใช้- ครับ ซึ่งหากเป็นเทริ์นเทเบิลแบบ suspension นี่ก็นับว่า เหมาะสมที่จะใช้ เพราะด้วยน้ำหนักตัวของ “VS-01” ที่ถือว่า ไม่มาก-ไม่น้อยนั้น จะไม่ส่งผลต่อ “ภาระ” การกดทับต่อระบบ suspension ให้ต้องรองรับน้ำหนัก (โหลด) เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติธรรมดา การใช้ “VS-01” จะช่วยให้ได้ความเสถียรของการขับหมุนที่ดีขึ้น แผ่นเสียงก็สนิทนิ่งบนแพลตเตอร์ดีขึ้นด้วยควบคู่กัน (ซึ่งครั้งนึงน่าจะพอจำกันได้กับ clamp ของ ORACLE ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน)

แต่ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับ Clearaudio Emotion ซึ่งเมื่อได้ลองใช้ “VS-01” ทดแทน ‘Souther clamp’ ประจำเครื่อง พบว่า -ด้อยกว่า- (แรงปะทะอ่อนตัวลง แต่เบสชัดขึ้น ความอบอวลน้อยลง) ซึ่งพินิจพิเคราะห์ด้วยเหตุและผลแล้ว สรุปได้ว่า “จุดศูนย์ถ่วง” (gravity) ที่สูงมากขึ้นอีกนิด เมื่อวางทับแผ่นเสียงด้วย “VS-01” นั่นแหละเป็นสาเหตุหลัก บวกกับ “มวล” ที่เพิ่มมากขึ้นของ “VS-01” กลับไป-ดึง-เอาแรงสั่นสะเทือนเล็กๆ ในอากาศรายรอบขณะรับฟัง วิ่งกลับเข้ามากระจายสู่ตัวแผ่นเสียง ซึ่งแม้จะน้อยนิด แต่ก็เพียงพอต่อหัวเข็มสามารถรับรู้ได้ แม้ว่าโดยโครงสร้างภายในของ “VS-01” จะถูกออกแบบให้สลายเรโซแนนซ์ก็ตาม …แต่นี่เป็นความคิดเห็นโดยส่วนตัวของผมนะครับ ขอสงวนสิทธิ์ละกัน

ขณะที่ ‘Souther clamp’ ที่มักจะเรียกกันว่า “clever clamp” นั้น ใช้วัสดุพลาสติกที่ไม่สะสมพลังงาน และยัง “เฉื่อย” (inert) ต่อการส่งผ่านแรงสั่นสะเทือน กับทั้งยังต่ำเตี้ยติดผิวแผ่นเสียง จึงมิได้ไป-เพิ่ม-จุดศูนย์ถ่วงให้ “ชักนำ” เอาคลื่นสั่นสะเทือนในอากาศรายรอบขณะรับฟังวิ่งกลับเข้ามา ซึ่งตรงนี้ขอให้อุปมา-อุปไมเหมือนรถยนต์ที่มีแร็คบรรทุก ‘ของหนัก’ บนหลังคา จะแกว่งตัว/โยนไปมา-นานกว่า ต้องออกแรง-ขืนบังคับ-ที่มากกว่า (อัตราสิ้นเปลืองพลังงานก็มากกว่าด้วย) แม้ว่าจะให้การทรงตัวได้นิ่งกว่าในสภาวะปกติก็ตาม เมื่อเทียบกับรถที่มีแร็ค-แต่-มิได้บรรทุกของหนัก …คงพอจะเข้าใจได้นะครับ

310074_333146043469035_1562834622_n

สำหรับ “TT-01” ที่ทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับทิป-โท (tip-toe) ที่ใช้รองใต้อุปกรณ์เครื่องเสียง และ/หรือ ลำโพง เพื่อให้เกิดสภาพ “สมดุล” และนำมาซึ่ง “ความเสถียร” ของการตั้งวาง/ใช้งาน ส่งผลต่อสมรรถนะที่ได้รับฟัง ท่านอาจารย์ใหญ่ของผม (คุณนภดล บุญบันดาล – ขออภัยที่เอ่ยนาม) ได้เคยบอกถึง-เคล็ดไม่ลับ-แต่ใครๆ คาดไม่ถึง ในหลักการทำงานของทิป-โทอย่างนี้แก่ผม ดังนั้นจึงมักจะเห็นได้ (ชัดเจน) ว่า การวางตำแหน่งทิป-โทแบบ 3 จุดนั้นให้ “ผลลัพธ์” ทางเสียงที่ “ดีกว่า” การวางตำแหน่งทิป-โทแบบ 4 จุด เพราะน้ำหนักจะทิ้งตัวลงตรงกลางระหว่างจุด 3 จุดพอดีเป๊ะ อีกทั้งการวาง 3 จุดยังก่อให้เกิด “ศูนย์ถ่วง” ที่ถ่ายลงตรงกลางระหว่างจุด 3 จุดอย่างสมดุลด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นการใช้ “ทิป-โท” จึงให้ผลทางเสียงที่รับฟังออกได้ถึง “ความต่าง” แต่จะดีขึ้นหรือไม่อันนี้แหละครับ ที่ต้องพิจารณากัน ซึ่งจากการใช้ “TT-01” ซึ่งแม้จะ “ดูเหมือน” เป็นทิป-โทที่มี -ข้อดี- ตรงที่สามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้นั้น นั่นกลับกลายเป็น “จุดด้อย” ที่กลับมาทำลายคุณสมบัติที่ดีในตัวของมันไป ….อย่างไงหรือครับ หลายคนอาจตั้งคำถาม – ตามผมมานะครับ ลองคิดดูเวลาที่เราเอาเสาปักลงไปในดินที่อ่อนตัวง่าย เสาก็ย่อมที่จะโอนเอนได้ง่ายเช่นเดียวกัน ใช่ไหมครับ ในขณะที่หากปักเสาลงบนดินแล้วเทปูนคอ-นก-รีตทับ เสานั้นก็จะขยับตัวได้ยากขึ้น จริงไหมครับ

ทีนี้มาดูที่ “TT-01” ซึ่งปรับระดับสูง-ต่ำได้ ด้วยลักษณะของนอต-สกรูที่บริเวณส่วนปลายแหลม ซึ่งเอาแค่ว่า “คลายตัว” ออกมานิดหน่อย เจ้าปลายแหลมนี้ก็สามารถโยกคลอนได้แล้ว แต่หากคลายตัวออกมามากๆ ก็เท่ากับว่า เจ้าปลายแหลมนี้คลอนแคลนได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว …เมื่อนำเอา “TT-01” ซึ่งได้ปรับระดับสูง-ต่ำไว้นี้ไปรองใต้อุปกรณ์เครื่องเสียง และ/หรือลำโพง “ความเสถียร” ที่ควรจะได้รับ ก็จักกลับถูกลดทอน หรือ สูญเสียไป กลายเป็นว่าอุปกรณ์เครื่องเสียง และ/หรือลำโพงนั้นๆ -สั่นคลอน-ได้ แทนที่จะต้อง-ไม่สั่นคลอน-หรือโยกเยกตัวได้เลย (แม้จะเพียงแค่นิดหน่อยก็ตาม)

อีกทั้ง “ความสูง” ของ “TT-01” ที่มากถึง 2 นิ้วกว่าๆ นี่ก็น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่-ส่งผล-ต่อเสียงโดยรวม คืออย่างนี้ครับ ลองคิดตามผมนะครับ เสียงต่ำๆ จะมีช่วงความกว้างของคลื่น (wavelength) ที่ยาวมาก-ใช่ไหมครับ ในขณะที่เสียงสูงๆ ก็จะมีช่วงความกว้างของคลื่นที่สั้นมากๆ เช่นเดียวกัน เสียงต่ำๆ จะเดินทางไปได้ไกลมาก ผิดกับเสียงสูงที่จะหมดพลังงานได้รวดเร็ว-พุ่งไปไม่ได้ไกล ดังนั้น “พื้นที่ผิว” ที่มากก็จะซึมซับพลังงานเสียงต่ำๆ ได้ดีกว่า เพราะด้วย-พื้นที่-ที่มากเสียงสูงก็จะกระจายตัวออกไป จนกระทั่งพลังงานสูญสลายไปในเวลาอันรวดเร็ว

1378877_427901113981880_2145086206_n

ดังนั้นการใช้ทิป-โทที่มี “ความสูง” จึงมักจะส่งผลให้ลักษณะเสียงที่รับฟังมีความโปร่งใส ฟังดูสะอาด แจ่มชัด นั่นเพราะคลื่นความถี่ต่ำถูกถ่ายลงสู่ทิป-โทจนหมด หรือ เกือบหมดนั่นเอง คลื่นสั่นสะเทือนความถี่ต่ำๆ ที่ลดน้อยถอยลง เลยไม่ส่งผลไปรบกวนต่อย่านเสียงสูงขึ้นไป เราจึงรับฟังอะไรได้ชัดขึ้น …แต่เบสน้อยลง ซึ่งบางคนบอกว่า “กระชับ” ขึ้น แต่พอเราเลือกใช้ทิป-โทที่ “เตี้ยๆ ” เบสจะมีเยอะ ฟังแล้วอิ่มเอิบ มีน้ำนวล ..แต่ทว่าความโปร่งกระจ่างจะลดลง นั่นเป็นเพราะ คลื่นสั่นสะเทือนความถี่ต่ำๆ นั้น วิ่งลงตรงสู่ทิป-โทได้ไม่ทัน ยังมีพลังอยู่ ก็เลยไปส่งผลรบกวนต่อย่านเสียงสูง เกิดสภาพหมอกมัว บดบังความสดสะอาดของเสียง …แต่นี่เป็นความคิดเห็นโดยส่วนตัวของผมนะครับ ขอสงวนสิทธิ์เช่นกัน

นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมทิป-โทที่เป็นวัสดุเนื้ออ่อน อย่างไม้ หรือพลาสติก จึงให้ลักษณะเสียงที่นุ่มนวล ไม่โช๊ะเช๊ะ เด็ดขาด สดกระจ่าง เหมือนอย่างทิป-โทเนื้อโลหะ – ถึงเนื้อโลหะด้วยกันก็เหอะ อะลูมิเนียมกับสเตนเลสก็ยังให้ลักษณะเสียงที่แตกต่างกัน อันเนื่องจากคุณสมบัติในการนำ-พาคลื่นเสียงผ่านเนื้อตัวนำได้ช้า-เร็วต่างกันไป อย่างที่ผมว่านั่นแหละครับ ด้วยประการฉะนี้ การเลือกใช้ทิป-โทที่มี “ความสูง” พอเหมาะพอเจาะ รวมทั้งมีเนื้อวัสดุที่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องสำคัญ มองข้ามกันมิได้-ถ้าจะเลือกใช้

ในความคิดเห็นส่วนตัวผมอีกเช่นกัน จึงขออนุญาตบอกว่า ถ้าเป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงละก้อ น่าจะใช้ทิป-โทที่สูงปานกลาง (หรือเตี้ย แต่ก็อย่าให้เตี้ยจนเกินไป อันนี้ต้องลองกันเอง) แต่ถ้าเป็นลำโพง ก็สมควรที่จะใช้ทิป-โทสูง (แต่อย่าให้สูงเกินไป อันนี้ต้องลองกันเองเช่นกัน) ซึ่ง “TT-01” ก็น่าจะนำมาใช้งานในลักษณะนี้ แต่อย่าปรับระดับสูง-ต่ำนะครับ (ขันล็อคส่วนปลายให้แน่นๆ ) แต่บังเอิญว่า “TT-01” ที่ผมได้รับมานั้น มีเพียงชุดเดียว (4 ตัว/ชุด) จึงไม่สามารถทดลองฟังนำเอาผลลัพธ์ที่ได้รับมานำเสนอกันอย่างจะแจ้งได้ในครั้งนี้ครับ (ต้องขออภัยด้วยไว้ ณ ที่นี้)

1

อย่างไรก็ดีในตอนท้าย ได้ลอง “กลับด้าน” ส่วนปลายแหลม มาขันติดเข้ากับอีกด้าน (ส่วนที่ใช้เป็นฐานเดิม – ดูรูปประกอบ) ให้แน่น แล้วนำไปตั้งรองใต้เครื่องเล่นซีดี แบบ 3 จุด (หน้า 1 หลัง 2) เพื่อให้เกิดสภาพการรับคลื่นพลังงานจากด้านที่เป็นต้นทางเป็นไปน้อยที่สุด-เท่าที่จะทำได้ และปล่อยให้คลื่นพลังงานถูกลด-ทอน-สลายไปด้วยมวลที่หนักของ “TT-01” ก่อนที่จะส่งผ่านไปทางด้านปลายแหลม เสมือนเป็นการกรองทิ้งทางคลื่นความถี่ด้วยอีกทางหนึ่ง (ซึ่งอาจจะตั้งยากหน่อย ต้องมีคนช่วย) พบว่า สุ้มเสียงโดยรวมเปลี่ยนไปจากการใช้งานตามปกติดังนี้ครับ – เสียงที่รับฟังจะฟังดูกระชับ-ชัดเจนขึ้น ชิ้นดนตรีเป็นอิสระ-กระจายตัวขึ้น ช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีมีช่องไฟ (space) ที่ถอยห่างออกไป สภาพเวทีเสียงก็เด่นลอย ให้การรับรู้ถึงความตื้น-ลึกของเสียงที่ดีขึ้น เบสกระชับแต่ยังคงมีน้ำหนัก-แรงปะทะ-กระแทกกระทั้น เสียงกลางเป็นตัวเป็นตน ให้ความรู้สึกถึง “บรรยากาศ” และสภาพอณูเสียงพลิ้วๆ แผ่วๆ ช่วงปลายเสียงสูงๆ รวมถึงความกังวานของปลายหางเสียงที่ถอดยาวขึ้น

อนึ่งขออนุญาตทิ้งท้ายไว้ว่า นี่เป็นผลของการรับฟังที่ปราศจากซึ่ง ‘อคติ หรือ เอื้อคติ’ ใดๆ ต่อทั้งเจ้าของผลิตภัณฑ์และตัวผลิตภัณฑ์เอง ได้ยิน-ได้ฟัง อย่างไรก็นำมาบอกกล่าวกันตรงตามนั้น มิมีการบิดเบือนหรือแต่งเติม-เสริมความให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงที่ได้รับจากการรับฟังครับ อีกทั้งการนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ สอดแทรกในข้อเขียนนี้ก็เป็นไปโดยสุจริตใจของผม

 

ขอขอบคุณ TOMBO AUDIO PRODUCTS โทร. 0-2462-0266 ที่เอื้อเฟือ VS-01 และ TT-01 มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้

 

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

ตามใบแนบที่ให้มาพร้อมผลิตภัณฑ์ ACP ระบุไว้ว่า สามารถใช้ ACP ได้ทั้งในลักษณะวางทับ หรือ รองรับอุปกรณ์เครื่องเสียง โดยจะให้ผลลพธ์ที่ต่างกันระหว่าง “วางคว่ำ” กับ “วางหงาย” ทั้งนี้ผมเองได้รับผลิตภัณฑ์ ACP มาครบทั้ง 3 รุ่นอย่างละ 2 ก้อน จึงหมดปัญหาเรื่องว่าจะต้องเลือกลองใช้กันอย่างไงไปได้เปราะหนึ่ง ซึ่งจากสัดส่วนขนาดของผลิตภัณฑ์ ACP ที่แตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น ก็ใช่ว่าจะสรุปประเด็นการใช้งานที่เหมาะสมออกมาได้ และทางผู้ผลิตก็มิได้กำหนดข้อบ่งชี้มาให้

อย่างเช่นว่า ACP-02 ที่มีขนาดเล็กสุดนั้นถูกออกแบบขึ้นมาสำหรับวางบนตัวเครื่องอุปกรณ์ชนิดต่างๆ บริเวณทรานส์ฟอร์เมอร์ หรือว่า ACP-01 ที่มีขนาดใหญ่สุดนั้นถูกออกแบบขึ้นมาสำหรับวางบนผนังตัวตู้ลำโพง, ส่วน ACP-03 ที่มีขนาดเท่ากับ ACP-01 แต่หนา-บางไม่เท่ากันเหมาะสำหรับการเอาไปใช้วางบนอุปกรณ์ประเภท A/V อะไรทำนองนี้ หรอกนะ ดังนั้นผมจึงขออนุมานเอาด้วยตนเองในการที่จะนำเอาผลิตภัณฑ์ ACP แต่ละรุ่นไปใช้งานในการทดสอบครั้งนี้ก็ละกัน

จากการที่ชุดเครื่องเสียงนั้นมักจะหนีไม่พ้นที่จะต้องมีอุปกรณ์ร่วมในการใช้งานอยู่ 3 สิ่งเป็นอย่างน้อย นั่นคือ ต้นทาง – แหล่งสัญญาณ อย่างเครื่องเล่นซีดีเป็นต้น ; ตามมาด้วย – อุปกรณ์เครื่องขยายเสียง หรือ แอมปลิไฟแอร์ ; แล้วก้อปลายทางกันที่ – ระบบลำโพง ผมจึงกระจายการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ACP ทั้ง 3 รุ่นสำหรับอุปกรณ์ใช้งานผ่านการคิดคำนึงดังนี้ครับ นำ ACP-01 ไปวางไว้บนหลังเครื่องเล่นซีดี ทั้งนี้เพราะในขณะกำลังใช้งานนั้นเครื่องเล่นซีดีจะมีอุณหภูมิความร้อนเกิดขึ้นน้อยสุด การใช้ ACP-01 ที่มีขนาดใหญ่สุดวางไว้บนหลังเครื่องเล่นซีดี ซึ่งมักจะไม่มีช่องระบายถ่ายเทอากาศบนหลังเครื่อง จึงไม่มีผลต่อการปิดบังช่องระบายถ่ายเทอากาศ และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพอุณหภูมิขณะใช้งาน

สำหรับ ACP-02 ที่มีขนาดเล็กสุดนั้น ผมนำไปวางไว้บนหลังตัวเครื่องอินทีเกรทแอมป์ตรงตำแหน่งหม้อแปลงไฟ เพื่อที่จะมิให้ไปปิดบังช่องระบายถ่ายเทอากาศบนหลังเครื่องอินทีเกรทแอมป์ ทำให้สภาพการใช้งานต้องบิดเบือนไปอันเนื่องจากอุณหภูมิใช้งาน ส่วน ACP-03 ผมนำไปวางบนผนังหลังตัวตู้ลำโพงทั้ง 2 ตู้ครับ ซึ่งในการนี้ผมวาง ACP-03 ตามแนวความลึกของตู้ลำโพงนะครับ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ผนังหลังตัวตู้ลำโพงได้มากที่สุด