Test Report: Magnepan Mini Maggie

0

Test Report: Magnepan Mini Maggie(ไฮเอนด์ ชาวบ้าน)

ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

mini maggie pic 1

ลำโพง Magnepan เป็นยี่ห้อเก่าแก่น่าจะถึง 40 ปีกว่าแล้ว จุดเด่นคือ ดอกลำโพง ที่เป็น ริบบ้อน (Ribbon) โดยใช้แผ่นกำเนิดเสียงที่สั่นตามสัญญาณที่ป้อน ข้อดีคือตอบสนองได้ฉับไวมาก ไม่ต้องอาศัยตู้ Magnepan จึงเป็นลำโพงที่ตัวตู้เป็นแผ่นขนาดใหญ่ มีตัวริบบ้อนฝังอยู่ กระจายเสียงออกทั้งด้านหน้า และด้านหลัง (dipole) กลับเฟสกัน โดยปราศจากตู้ จึงไร้การก้องอู้ของตัวตู้โดยสิ้นเชิง

แม้ว่าดูจากโครงตู้ทำให้นึกถึงลำโพงระบบอิเล็กโตรสแตติก (Electrostatic) แต่ Magnepan ให้เนื้อเสียง, เสียงทุ้มดีกว่ามาก

ความมหัศจรรย์ของ Magnepan คือแม้เห็นเป็นแผงโดดๆ ไม่หนานัก ไม่มีตู้ แต่กลับให้เสียงทุ้มได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ โดยไม่ต้องอาศัยระบบลำโพงแบบดอกลำโพงปกติพร้อมตู้มาเสริมช่วยเรื่องเสียงทุ้มเลย มันให้ทุ้มได้จากตัวกำเนิดเสียงริบบ้อนโดยตรง

ปกติลำโพง Magnepan ทุกรุ่นจะเป็นแผนบาง ข้างละ 1 แผ่น ขนาดสูงเท่าตัวคน หน้ากว้างก็ประมาณศอกกว่าไม่เกิน 2 ศอก เป็นวางพื้นทั้งหมด

ผู้ออกแบบรุ่น Mini Maggie ของ Magnepan เน้นว่ารุ่นนี้เหมือนย่อส่วนลำโพง Magnepan ลงมาเป็นขนาดตั้งโต๊ะ พร้อมซับ 1 แผง (อาจวางไว้ใต้โต๊ะ) จริงๆ ไม่ได้เน้นให้เอามาฟังแบบรุ่นวางพื้นทั้งหลายของเขา เพราะอาจเกิดปัญหาเสียงหักล้างกันบ้าง ก็ต้องอยู่ที่วางให้ถูก แต่ก็ไม่ว่าถ้าจะเอามาฟังเพลงแบบลำโพงปกติ กับห้องไม่ใหญ่มากนัก

 

คุณสมบัติ Mini Maggie

  • ประกอบด้วยแผงลำโพงริบบ้อนที่ให้เสียงแหลม (8 x 7 นิ้ว) บวกกับแผงริบบ้อนที่ให้เสียงกลางทุ้มอีก 1 แผง 4.5 x 8.5 นิ้ว รวมกันเป็น 1 แผง Satellite ขนาดประมาณ 9 x 14 นิ้ว โดยจริงๆ แล้ว มันย่อส่วนจากดอกแหลมทำชื่อที่ใช้กับ Magnepan 3.7 (วางพื้น) (ปัจจุบันเป็นรุ่น 20.7)
  • ที่แต่ละแผง Satellite (2 ทาง) นี้จะมีฟิวส์ป้องกัน (ถอดใต้หลังตู้) ขั้วรับสายลำโพงแบบแกนแยงรูมีนอตขันบีบสาย พร้อมตัวคร่อมไว้ยกออกเปลี่ยนเป็นตัวต้านทาน เพื่อเลือกลดระดับเสียงแหลมได้ (ให้มาด้วย) พร้อมกุญแจงอ 90 องศา ไว้ขันนอต
  • แผงริบบ้อนเสียงทุ้มขนาดแผงริบบ้อน 19.25 x 5 นิ้ว มีขั้ว (ขันนอตแยงรู) สำหรับรับสายลำโพงจากแอมป์, ขั้ว (ขันนอต) พ่วงสายลำโพงจากแผงทุ้มนี้ไปเข้าแผงกลาง/แหลม, ขั้วขันนอตเพิ่มตัวต้านทานลดระดับทั้งหมดแยกซ้าย 1 ชุด, ขวา 1 ชุด

DSC04294

สเปค

  • ระบบริบบ้อน 3 ทาง
  • ความถี่ตอบสนอง 40 Hz – 40 kHz
  • ความไวเมื่อวางบนโต๊ะทำงาน ส่วนของ Sattelite 86 dB/500 Hz/2.83 V. ความไวแผงทุ้ม 86 dB/50 Hz/2.83 V.
  • ความต้านทาน 4 โอห์ม ทั้ง Satellite และแผงเสียงทุ้ม
  • ขนาดของชุดกลาง/แหลม (สูง 14, กว้าง 9, ลึก 1.25 นิ้ว)
  • แผงทุ้ม 1 Way, ความถี่ตอบสนอง 40 Hz – 5 kHz (Wide-band) ความไว 86 dB/1 M/100 Hz/2.83 V., 4 โอห์ม หนัก 19 ปอนด์ ขนาดตู้ 25 x 22.5 x 1.25 นิ้ว

 

ผลการทดสอบ

จากเครื่องเล่น CD T+A 1260R ต่อออกสายสัญญาณเสียง Madrigal CZ-Gel 2 (หัว RCA) เข้า INPUT 5 (RCA) ของอินทีเกรทแอมป์ Mark Levinson No.383 (100 W.RMS/CH ที่ 8 โอห์ม และ 200 W.RMS/CH ที่ 4 โอห์ม เป็นบาลานท์แอมป์แท้) ออกสายลำโพง FURUKAWA S-2 (ตามทิศ) หัว WBT หางปลา (เงิน) ด้านแอมป์ หัว WBT บานาน่าด้านลำโพง (หัวบานาน่าเสียบขั้วรับสายลำโพงของ Mini ได้ (ขันคลายนอตก่อน) เข้าแผงริบบ้อนเสียงทุ้ม/กลางจากแผงนี้ออกสายลำโพง Furukawa S-3 (ย้อนทิศ) เข้าแผงริบบ้อน Satellite Satellite กลางแหลม ที่วางอยู่บนขาตั้งลำโพง TARGET 24 HJ

ลำโพงริบบ้อนกลาง/แหลมและริบบ้อนทุ้มจะยึดบนฐานรูปไข่ที่ให้มาด้วย ระวังมิให้สายลำโพงแตะต้องโครงเหล็กขาตั้ง TARGET

ระวังมิให้สายลำโพงแตะต้องกัน ยกสายลำโพง S-2 สูงหนีพื้นด้วยกระดาษพิมพ์ดีดใหม่ 2 รีม (สูง 1 คืบ), อีก 1 รีม คั่นสาย S-2 ไม่ให้แตะ S-3 และอีก 3 รีมทับบน S-3 ทำ 2 ข้างเหมือนกัน

แผงทุ้มจะวางตรงกลาง ระหว่างลำโพงริบบ้อนซ้าย, ขวา เอียงแผงกลาง, แหลม (TOE IN) ปรับเอียงให้ได้มิติตรงกลางวงดีที่สุด โฟกัสที่สุด (เอาแผงริบบ้อนเสียงแหลม (แผงเล็ก) อยู่ด้านในทั้งซ้าย และขวา)

ลำโพงซ้าย, ขวา ห่างกันประมาณ 2.2 เมตร ห่างจากจุดนั่งฟังประมาณ 3.6 เมตร ห้องขนาดประมาณ 3.85 x 9 x 2.2 เมตร พื้นปูนปูพรมผนังวางแผงแผ่นฟองน้ำเก็บเสียง SONEX ทั้งห้อง มีของพอควร ไม่ก้อง

สายไฟ AC ของ No.383 ย้ายไปใช้กับ T+A CD, สายไฟ AC ของ CHORD มาใช้กับ No.383 แทน สายไฟทั้ง 2 เส้นต่อรับไฟจากกล่องกรองไฟ POWER STATION ของ PHD ฟังทดสอบทิศทางขาปลั๊กไฟทุกเส้น ที่นอกห้องฟังมีหัวเสียบกรองไฟ PHD 2 อีก 3 หัว (ฟังทดสอบเฟสไฟแล้ว)

ภายในห้องมีกล่อง CRYSTAL POWER PACK 4 กล่อง ฟังทดสอบการหันทิศด้วย มีผลึกอะมิทิสขนาด 3 ฝ่ามือ 1 ก้อนใหญ่, 1 ฝ่ามือ อีก 1 ก้อน

ขณะทดสอบไม่ใช้รีโมท (เอาออกไป), ไม่มีโทรศัพท์มือถือ, iPad, PC, โน้ตบุ๊ค, จะ LCD/PLASMA, ไม่เดิน LAN หรือ WiFi (มีแต่รั่วเข้ามาจากภายนอก 6 Spot), ไม่มีนาฬิกาไฟฟ้าใดๆ ปัดลมแอร์ยิงไปหลังลำโพง (25 องศา LOW)

maxresdefault

แผ่นระนาดเอก (ไทลำภู) เพลง 3 เสียงตีระนาดให้รายละเอียดดี แยกแยะโน้ตดี แม้ยังไม่ได้ทรวดทรงเป็นเม็ดๆ หลุดกระเด็นออกมา เสียงฉิ่งไม่เด่นนัก แต่ก็ให้รายละเอียด อากัปกิริยาดี เพลง 4 ขึ้นต้นสงัดดีมาก เสียงตีระนาดแยกแยะดี รายละเอียดหัวโน้ตดี เสียงอะไรที่ค่อยๆ ก็ยังพอจับใจความได้ กลองแขกมีน้ำหนักดี เพลง 5 ขึ้นต้นสงัดดีเช่นกัน เสียงตีระนาด และฆ้องวงให้ความกังวานที่ดี ตอบสนองฉับไว ไม่รู้สึกว่าเสียงมาจากแผงซับ เสียงทั้งหมดลอยอยู่เหนือแผงซับที่วางตรงกลาง ช่วงดนตรีหลายชิ้นก็ยังแยกออกว่าอะไรเป็นอะไร ไม่มั่วปนเปจนเละ ให้จังหวะจะโคนได้ดี ชวนติดตาม เพลง 6 ขึ้นต้น เสียงตีระนาดอยู่ลึกไปหลังเวทีเสียงระนาดเป็นเม็ดๆ ดี รายละเอียดดี เสียงกังวานวิ่งหายลับลึกออกไปอีกหลังเวทีให้การแยกแยะอะไรๆ ในวงได้ดี แม้โดยรวมๆ แต่ละเสียงยังมีทรวดทรงที่ไม่คมชัดนัก ให้รายละเอียดความซ้ำซ้อนของน้ำเสียงได้ดี เพลง 7 เสียงดัง และตื่นตัวขึ้นหน่อย ซึ่งก็ฟังออก ความกังวานลึกไปหลังเวทีส่วนใหญ่ เน้นตรงกลาง ไม่ค่อยสังเกตความกังวานซ้าย, ขวาหลังเวที ฟังสนุกเพลินดี เสียงเป็นกลางๆ ดี ไม่โอนเอนไปทางเข้มข้น สด ตื่นตัวมาก หรือฟังหวานเอื่อยชวนง่วง เพลง 8 ขึ้นต้นเสียงกลองตะโพน (กลองใหญ่) อาจไม่อิ่ม “ใหญ่” กระหึ่มแต่ก็สมตัว ตามด้วยเสียงตีตบหน้ากลอง ขวาไปว้ายติดตามได้ตลอด ทุกจังหวะ ทุกตำแหน่งเสียง เสียงมือตบชัดดี (ตบเอาโทนเสียงสูง, ต่ำก็ฟังออก) บอกได้ว่าเสียงระนาดเป็นไม้เก่าแก่ หรือเนื้อไม่ใหม่ สดกว่า

แผ่น RHYTHM BASKET, A Tasket, A Tisket, A Child’s ของ Brent Lewis เพลงที่ 2 เสียงตีกลองท่อไล่จากซ้ายไปขวา ยังดูสับสน และออกแบน เสียงกังวานวิ่งไปหลังเวทีได้ดี ช่วงดนตรีมากชิ้น ทุกอย่างพร่ามัวไปหมด สับสนไปหมด เป็นไปได้ว่าต้องเป็นอย่างนี้ เพราะการเป็นลำโพงแบบ dipole เสียงยิงหน้ายิงหลังกลับเฟสกัน และเพลงนี้ก็บันทึกเล่นเฟสกันอร่อยเลย เพื่อสร้างมิติเสียงมันจึงขัดแย้งกันไปหมด อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมพบเหตุการณ์แบบนี้ กับเครื่องเล่น CD ไฮเอนด์ (2 แสนกว่าบาท) ที่มีการไขว้เฟสซ้าย, ขวาเพื่อสร้างสนามเสียงหลอกว่าเวทีกว้าง พอมาเจอเพลงนี้ก็เละแบบนี้ อินทีเกรทแอมป์ Class D ระดับไฮเอนด์ (2 แสนกว่าบาท) ที่เล่นเฟส เจอแผ่นนี้ก็อย่างนี้ ผมจึงจะขอยกเลิกการทดสอบกับแผ่น “พิเศษ” นี้ก็แล้วกัน แต่ถ้าจะฟังกันแบบไม่เน้นมิติ ทรวดทรงเสียง ก็ฟังได้เพลินดีมาก อย่าโทษลำโพงมันเป็นเพราะ ระบบที่ขัดแย้ง ฟ้องกันเอง (เขาไม่ได้ Mix สำหรับลำโพงระบบนี้) (เพลง 6 นาทีที่ 4 เสียงสัตว์ต่างๆ ห่อหุ้มรอบตัวเรา ดุจเซอราวด์ได้ดีมาก) เพลง 7 เสียงม้าวิ่งหอบครบ 6 ครั้ง เสียงตีกลองสูงเหนือลำโพงได้ไม่เลวเลย เพลง 10 ก็เช่นกัน มันให้เสียงได้แค่ลอยเหนือลำโพงอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ขนาดไปวิ่งอยู่บนเพดานห้องได้ และอะไรๆ ก็ยังสับสน แทบไร้ทรวดทรง ก็ไม่ว่ากัน ดวงไม่สมพงษ์กันระหว่างลำโพงกับอัลบั้ม

Magnapan_Mini_Photo_SpeakerCloseUp

แผ่น The Greatest Alto Female Vol.1 (Top Music) เพลง 1 เสียงร้องหวานๆ ของสุภาพสตรีจีน (เพลงจีน) ช่วงฉอเลาะอ่อนซ้อยอ้อยอิ่งตื่นตัวจีบปากจีบคอน่าฟังอะไรขนาดนั้น อาจไม่ทะลุประโปร่ง แต่ก็สงบชวนติดตามดีมาก เสียงไวโอลีนดูจะแบนไม่เป็นเส้นสายไปหน่อย พูดง่ายๆ ว่า เสียงโดยรวมมักจะขาดทรวดทรงไปหน่อย (อยากฟังลำโพง dipole ก็ต้องยอมรับในจุดนี้) เพลง 2 ขึ้นต้นเสียงร้องชายหญิงแยกแยะได้ดีทีเดียว ตามด้วยเสียงตีกลองใหญ่ที่หนัก, คม, ไม่น่าเชื่อว่าจะได้จากลำโพงทุ้มแผ่นที่ไม่มีตู้เลย! โอเคคงหลังทุ้มที่ลึกขาดขากางเกงสั่นพลิ้วไม่ได้ แต่แค่นี้ก็โครตเก่งแล้ว (รูปลักษณ์ของกลองยังออกแบน และอยู่ตรง “ลำโพงนั้น” ไม่ได้อยู่ลึกไปหลังเวทีอย่างที่เคย เพลง 4 เสียงดีดกีตาร์โปร่งเป็นเส้นสายดี เสียงร้องดูตั้งใจรื่นเริงขึ้น ทุ้มจะมากกว่าปกติหน่อยจากการที่บังเอิญเป็นคีย์เดียวกับที่แผ่นซับนี้โด่งอยู่ เช่นเคยทุ้มลึกคงหวังอะไรไม่ได้ ทุ้มจึงออก ONE NOTE BASS ขาดการทิ้งตัวลงพื้นห้องอย่างที่เคย แต่โดยรวมก็ฟังเพลินสนุก เพลง 5 ขึ้นต้นเสียงกรุ้งกริ้งของปลายแหลมให้ได้ดี เป็นทรวดทรงไปได้ไกล (AIRY) ระดับน้องๆ ซุปเปอร์ทวีตเตอร์เลย แม้ว่าโดยรวมๆ แถบแหลมจะลาดตกลงมาบ้าง แต่ก็โอเค (พูดไปทำไมมี ผมว่าดีกว่าที่เคยฟังทดสอบลำโพง Magnepan วางพื้นแสนกว่าบาทเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว) โดยรวมๆ ก็ถือว่า คู่นี้สอบผ่าน ในการฟังแบบเป็นลำโพงใหญ่ ไม่ใช่แค่ลำโพง “วางบนโต๊ะ + ซับใต้โต๊ะ” อย่างที่คนออกแบบคาดหวังแค่นั้น

แผ่นเพลงไทยบ้าง “อมตะเพลงหวานกลางกรุง” ก๊อต จักรพันธ์ ชุด ใต้ร่มมลุลี…จุฬาตรีคูณ เพลง 1 น้ำตาแสงใต้ ทุ้มเป็นลูกๆ หนักแน่นเสียงร้องหวาน จีบปากจีบคอ สอดใส่อารมณ์ดี (อยากให้โปร่งขึ้นอีกหน่อย แต่ถ้าไม่เคยฟังมาก่อนก็โอเค) เพลง 2 ใต้ร่มมลุลี (ร้องคู่กับ ศรันยา ส่งเสริมสวัสดิ์) ก็น่าฟังเช่นเคย

นอกจากนั้น ผมยังฟังกับอีกหลายๆ แผ่นทั้งไทย, เทศ

_1149744_orig

สรุป

ถ้าความทรงจำของผมไม่ผิดพลาด (เพราะมันนานมากแล้ว) สมัยผมทดสอบลำโพงวางพื้น Magnepan ยี่ห้อเดียวกันนี้ (ถ้าจำไม่ผิดรุ่น 2.7 ละมั้ง คือแสนต้นๆ) ผมว่าแทบไม่ต่างจาก Mini Maggie ที่ผมทดสอบวันนี้เลย แต่รุ่นวางพื้นนั้น เสียงกลางต่ำลงต่ำจะครบกว่า (แผ่นริบบ้อนใหญ่กว่า แผงใหญ่กว่าการหักล้างเฟสหน้า-หลังน้อยกว่า) แต่ราคาก็ร่วม 2 เท่าของ Mini

อย่างไรก็ตาม ผมกำลังเข็ญครกขึ้นภูเขา ความตั้งใจเดิม Mini ไม่ได้ถูกออกแบบให้มาฟังแบบเอาเป็นเอาตาย จับผิดแบบนี้ มันเป็นชุดรองเหมือนมินิคอมโปมากกว่า และก็วางบนโต๊ะ นั่งฟังห่างแค่เมตรเดียวอะไรทำนองนั้น

โอเคละ ผลทดสอบมีข้อติพอควร ทั้งในเรื่องกินวัตต์ (แต่ถ้าคุณนั่งใกล้ๆ สัก 1.5 เมตร มันจะดังขึ้นมาก เร่งน้อยลง กินวัตต์น้อยลงเยอะ) ทุ้มลึกๆ ที่ขาดแคลน ทรวดทรงเสียงไม่ค่อย 3D แถบแหลมลาดลงอันทำให้เสียงขาดความโปร่งทะลุ (TRANSPARENT) แต่คนที่เขามาฟังแบบ “ชุดมินิ” คงไม่มีใครคาดหวังใหญ่โตขนาดนี้

กระนั้นก็ตาม โดยรวมๆ ผมยืนยันได้ว่า มันเป็นลำโพงที่ฟังสนุกได้อารมณ์ ได้บรรยากาศ และไม่ต้องคิดมาก ให้กลิ่นอายของความเป็น Magnepan เกือบครบเต็มร้อย ด้วยสนนราคาที่ไม่ไกลเกินเอื้อมด้วย

หมายเหตุ ผมหาจานโลหะมาหนุนเชิด แผงซับด้านหน้าให้สูงเชิดหน้าขึ้นมาประมาณ 1 นิ้ว เสียงกลางดีขึ้น แต่ถ้าเชิดมากไป เสียงจะไหวมาโผล่ที่แผงซับ และฟุ้งแบนหมด

ผมฟังทดสอบทิศทางของตัวเสียบเชื่อมทุกตัว (ที่กลางแหลม 2 ข้าง), ที่แผงซับทั้ง 2 ข้างด้วย มีผลมากทีเดียว

ผมฟังทดสอบทิศทางฟิวส์สีขาว พบว่า ต้องสลับให้ยี่ห้อคว่ำลง ไม่อย่างนั้นอู้ก้องที่ทุ้มต้น

 

          ขอขอบคุณ บริษัท ออดิโอ เอ็กซ์เซลล์เลนซ์ จำกัด โทร. 0-2631-5375-6 ที่เอื้อเฟื้อลำโพงมาให้ทดสอบในครั้งนี้