Test Report: LUXMAN L-507u

0

Test Report: LUXMAN L-507u INTEGRATED AMPLIFIER

หัสคุณ

main_1269

            เมื่อพูดถึงเครื่องเสียงในระดับไฮเอนด์จากแดนอาทิตย์อุทัยแล้ว นักเล่นส่วนใหญ่ในขณะนี้ก็มักจะนึกถึงยี่ห้อ ACCUPHASE และ ESOTERIC เป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วเครื่องเสียงในระดับไฮเอนด์ที่มาจากประเทศญี่ปุ่นนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายเจ้า แต่ในปัจจุบันก็ได้ปรับเปลี่ยนหันเหแนวทางที่แตกต่างไปจากเดิม จนแทบจะไม่เหลือเค้าเดิมอันยิ่งใหญ่ในอดีต คงเหลือไว้ก็เพียงคำล่ำลือและอดีตอันเรืองรองจนแทบจะกลายเป็นเพียงตำนานอีกบทหนึ่งของแวดวงเครื่องเสียงไปแล้ว แต่อย่างน้อยก็ยังมีอยู่เจ้าหนึ่งที่ยังคงยืนหยัดต้านทานกระแสของความเปลี่ยนแปลงมาได้อย่างยาวนาน แม้ในบ้านเราอาจจะผลุบๆ โผล่ๆ มาๆ หายๆ และเปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายแบบไม่ซ้ำหน้า แต่ก็ไม่ถึงกับห่างหายกันไปนานนัก เครื่องเสียงแบรนด์ที่กล่าวถึงนั้นก็คือ LUXMAN นั่นเอง

ความเป็นมาของ LUXMAN นั้นต้องนับย้อนหลังกลับไปเมื่อปีค.ศ. 1925 ในญี่ปุ่นได้เริ่มก่อเกิดสถานีวิทยุกระจายเสียง (RADIO BROADCASTING) ขึ้นเป็นครั้งแรก ร้าน KINSUIDO ซึ่งทำธุรกิจในการนำเข้าภาพและกรอบรูป (PICTURES AND FRAMES) จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นจนสืบทอดมาถึงรุ่นที่ 2 ของ KINSUIDO อันได้แก่ T. HAYAKAWA และ K.YOSHIKAWA ก็ได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท LUX CORPORATION ขึ้นในเมืองโอซาก้า เพื่อทดลอง และทำการค้นคว้า วิจัย และพัฒนารายละเอียดรวมทั้งเทคนิคของวิทยุรีซีฟเวอร์ (RADIO RECEIVERS) ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ภายในออฟฟิศของ LUX CORPORATION ได้มีการจัดวางโชว์วิทยุรีซีฟเวอร์เป็นครั้งแรกในเมืองโอซาก้า ผู้ที่เดินทางผ่านมาถึงเมืองโอซาก้าเกือบทั้งหมดต้องได้มีโอกาสแวะเวียนเข้าไปฟังเสียงอันไพเราะของรีซีฟเวอร์ที่ออฟฟิศของ LUX CORPORATION และแล้วประวัติศาสตร์ของ LUXMAN ในการค้นคว้าหาคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น จึงได้เริ่มต้นนับตั้งแต่บัดนั้น

ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ผลิตขึ้นเองโดย LUX CORPORATION ก็คือ LUX รุ่น 735 HI-FI RADIO RECEIVER ที่ใช้ลำโพงแบบ MAGNETIC HORN ก็ถูกนำออกวางจำหน่ายในปีค.ศ. 1928 ต่อมาทาง LUX CORPORATION ก็ประสบความสำเร็จในการนำเอาเทคโนโลยีจากฝั่งยุโรป และตะวันตก มาพัฒนาพร้อมกับต่อยอดในการผลิตชิ้นส่วนแบบออดิโอขึ้นได้เอง ในปีค.ศ. 1952 ทาง LUX CORPORATION ก็เริ่มต้นผลิตชิ้นส่วนออดิโอต่างๆ รวมทั้งการผลิตหม้อแปลงเอาท์พุทแบบ OY-TYPE OUTPUT TRANSFORMERS ทาง LUX CORPORATION จึงได้รังสรรค์แบรนด์ LUXMAN ขึ้นอย่างจริงจัง หลังจากนั้นอีกเพียงไม่กี่ปี แผ่นเสียงก็เริ่มคืบคลานเข้ามาสู่ตลาดออดิโอของญี่ปุ่น และในเวลาเพียงไม่นานหลังจากนั้น เครื่องเล่นแผ่นเสียง (RECORD PLAYER) ก็เป็นที่นิยมและเข้ามาแทนที่วิทยุรีซีฟเวอร์ในปีค.ศ. 1958 ทาง LUX CORPORATION ก็นำเสนอเพาเวอร์แอมป์หลอดแบบโมโนบล็อก LUXMAN รุ่น MA-7A ออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก MA-7A เป็นเพาเวอร์แอมป์ที่ใช้วงจรแบบ EXCLUSIVE CROSSOVER NFB CIRCUIT ที่พัฒนาขึ้นเอง และจดเป็นลิขสิทธิ์แบบ INTERNATIONAL PATENTS จากนั้นก็ตามมาด้วยแอมป์หลอดแบบสเตอริโอรุ่น SQ-5A ที่ทาง LUX CORPORATION ได้นำเอาจอแบบเข็มวียูมิเตอร์มาใช้เป็นครั้งแรก พร้อมกับวงจรโทนคอนโทรลแบบ EXCLUSIVE TONE CONTROL CIRCUIT ที่ทาง LUXMAN ได้คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งต่อมาก็ถูกนำมาใช้ในแอมปลิไฟเออร์รุ่นหลังๆ จวบจนถึงปัจจุบัน

ในปีค.ศ. 1968 ทาง LUXMAN ก็นำเสนอปรี เมน แอมปลิไฟเออร์รุ่น SQ 505 และ SQ 507 ออกสู่ตลาดปรีแอมป์ทั้ง 2 รุ่น ถือได้ว่าเป็น “ต้นแบบ” หรือ PROTOTYPE ที่ได้รับการพัฒนาวงจรมาสู่แอมป์ในซีรี่ส์ 500 (500 SERIES) ในปัจจุบัน

แน่นอนว่าด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน เส้นทางเดินของ LUXMAN ใช่ว่าจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบที่สวยหรู เพราะในปีค.ศ. 1984 บริษัท LUX CORPORATION ก็ถูกขายและตกเป็นของบริษัท ALPINE ELECTRONICS ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ทางบริษัท ALPINE หวังที่จะรวมเอาการจัดจำหน่ายของ ALPINE HOME HI-FI DIVISION เข้ากับ LUXMAN จนทำให้เกิดความสับสนในการผลิตรวมทั้งการจัดจำหน่ายทาง ALPINE ได้ปลดตัวแทนจำหน่ายของ LUXMAN ทั้งหมด ทั้งในอเมริกาเหนือ และยุโรป แล้วหันไปใช้กลุ่มดีลเลอร์ของแบรนด์ ALPINE ในการจัดจำหน่าย LUXMAN แทน นั่นต้องนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และนับว่าเป็นโชคร้ายอย่างยิ่งสำหรับ LUXMAN เพราะนั่นเท่ากับเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของ LUXMAN และเกือบจะเป็นการปิดฉากของ LUXMAN เครื่องเสียงที่มุ่งมั่นสู่ความสมบูรณ์แบบตามแนวทางของเครื่องเสียงในระดับไฮเอนด์ชั้นนำอย่างน่าเสียดายยิ่ง

และแล้วในช่วงปลายปีค.ศ. 1980 ทาง ALPINE ก็ต้องหยุดจำหน่าย LUXMAN อย่างถาวรทั้งในตลาดอเมริกา และยุโรป เหตุการณ์ในครั้งนี้แทบจะทำให้บริษัท ALPINE เกือบจะล้มละลายเลยทีเดียว LUXMAN ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งในปีค.ศ. 1994 เมื่อ SAMSUNG จากเกาหลีได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ของ LUX CORPORATION แต่หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลาน และผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยากเย็น LUX CORPORATION ก็ถูกซื้อกลับและตกเป็นของบริษัทเอกชนในญี่ปุ่นอีกครั้ง พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น LUXMAN CORPORATION ภายใต้การบริหารจัดการใหม่ พร้อมกับการทุ่มทุนในการพัฒนาและวิจัย (R&D) อย่างมหาศาล เพื่อเป็นการกู้ศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่ของ LUXMAN ในอดีตให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง และเพื่อเป็นการรำลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ในวงการไฮเอนด์ของ LUXMAN (HIGH-END 80th ANNIVERSARY COMMEMORATION) ในปีคศ. 2005 ทาง LUXMAN ก็ได้นำเสนอแอมปลิไฟเออร์ชั้นเยี่ยมในระดับ FLAG SHIP หรือรุ่นระดับเรือธงอย่าง C-1000 f และ B-1000 f เพื่อปรับระดับของ LUXMAN รวมถึงมุมมองของนักเล่นทั่วโลกว่า LUXMAN คือเครื่องเสียงในระดับไฮเอนด์ที่มีความเลิศหรู สามารถเข้าถึงได้ง่ายทั้งในโสตสัมผัสจากทั้งการฟัง รวมทั้งรูปโฉมอันสวยงาม และในที่สุดปีค.ศ. 2009 LUXMAN ก็ตกเป็นของบริษัท INTERNATIONAL AUDIO GROUP LTD (IAG) บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเครื่องเสียงผู้เป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องเสียงชั้นนำอย่างเช่น AUDIO LAB, MISSION, QUAD และ WHARFEDALE เป็นต้น แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ของ LUXMAN รุ่นใหญ่รวมทั้งในตระกูล L-500 ซีรี่ส์ยังคงผลิตในประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก

p_09b

LUXMAN L-507u

LUXMAN นั้นมีไลน์การผลิตค่อนข้างมาก สำหรับอินทีเกรทแอมป์ในซีรี่ส์ L-500 นั้นก็มีอยู่หลายรุ่นด้วยกัน ไล่เรียงมาตั้งแต่รุ่นเล็กอย่าง L-505u, L-550AII, L-507u, L-590AII, L-509u, L-505uX และรุ่น L-550AX สำหรับรุ่น L-507u ต้องถือว่าเป็นอินทีเกรทแอมป์ในระดับกลางๆ (MID-RANGE MODEL) ของ LUXMAN สำหรับรูปลักษณ์ของ L-507u ก็แทบจะคงรูปแบบเดิมตามที่ทาง LUXMAN ใช้ออกแบบแอมป์มาอย่างยาวนานกว่า 10 ปีแล้ว กล่าวคือ L-507u ยังคงรูปลักษณ์ออกไปในทางย้อนยุคที่มีความคลาสสิกอยู่ในตัว ใครได้เห็นจะมีความรู้สึกว่าเป็นแอมป์ที่ย้อนยุคถอยหลังกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วก็เห็นจะไม่ผิดนัก แผงหน้าเป็นอะลูมิเนียมขัดเสี้ยนแบบ HAIRLINE FINISHED ที่หนาเป็นพิเศษ สำหรับฝาครอบด้านบนนั้นจะถูกเจาะช่องระบายความร้อนทั้งทางด้านซ้ายและขวา ตรงช่องระบายความร้อนจะเป็นตะแกรงที่ทำจากพลาสติกซึ่งจะถูกยึดจากด้านใน

สำหรับแผงหน้านั้นโดดเด่นด้วยจอแบบเข็มวียูมิเตอร์ ซึ่งจะบอกกำลังขับในขณะที่ใช้งานเป็นเดซิเบล (DECIBELS) แยกกันสำหรับแชนแนลซ้ายและขวา ยามใช้งานจะมีแสงไฟอมฟ้าดูสวยงาม แสงไฟของจอดิสก์เพลย์สามารถปิดการใช้งานได้ด้วยรีโมท ขนาบจอทั้ง 2 ด้านจะเป็นปุ่มปรับเลือกแหล่งโปรแกรม (INPUT SELECTOR) วางตัวอยู่ทางด้านซ้ายสำหรับด้านขวาจะเป็นปุ่มปรับระดับความดัง (VOLUME CONTROL) สำหรับปุ่มสวิตช์เปิด-ปิด (STANDBY/ON) จะวางตัวอยู่ที่มุมซ้ายด้านล่าง

สำหรับลูกเล่น หรือ FEATURE ต่างๆ นั้น L-507u ก็มีมาให้ใช้งานได้อย่างครบครันตั้งแต่ช่องเสียบหูฟัง (HEADPHONE) เพื่อการฟังที่เป็นส่วนตัว ปุ่มเลือกแหล่งบันทึก (REC SELECTOR) ปุ่มเลือกการใช้งานลำโพง A, B, A+B และ OFF ปุ่ม MODE SELECTOR เพื่อเลือกเปลี่ยนสัญญาณเอาท์พุทโดยผู้ใช้สามารถที่จะเลือกสัญญาณอินพุทมาขยายแล้วส่งออกไปยังลำโพงได้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณแบบสเตอริโอ, สัญญาณแบบโมโน (MONO) ที่จะรวมเอาสัญญาณทั้งแชนแนลซ้าย และขวาเข้าไว้ด้วยกัน หรือจะเลือกสัญญาณเพียงแชนแนลซ้าย (LEFT CH) มาขยายออกลำโพงทั้ง 2 ข้าง หรือจะเลือกสัญญาณจากแชนแนลขวา (RIGHT CH) มาขยายออกลำโพงทั้ง 2 ข้าง ก็สามารถทำได้เช่นกัน

L-507u ยังมีชุดโทนคอนโทรลมาให้ ถึงแม้ในปัจจุบันชุดโทนคอนโทรลแทบจะกลายเป็นของต้องห้าม หรือสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับนักเล่นระดับหูน้ำกลั่นที่ต้องการเพียงความบริสุทธิ์ของสัญญาณเท่านั้น แต่ทาง LUXMAN มองว่ากับแหล่งโปรมแกรมที่ไม่สมบูรณ์แล้วไม่ว่าจะเป็นแผ่น CD ในยุค 80 ที่ถูกบันทึกมาได้ไม่ดีนัก มีความหยาบกระด้าง ที่หลายคนมักขนานนามว่า เสียงแบบดิจิตอล หรือกับแหล่งโปรแกรมอย่างเพลงที่ถูกบันทึกมาในไฟล์ MP3 ที่มีการบีบอัดข้อมูล และมีคุณภาพเสียงที่ไม่ดีนัก ชุดโทนคอนโทรลก็จะมีความสำคัญที่จะสามารถนำเอาความมีชีวิตชีวาทางดนตรี กลับมาให้คุณได้สัมผัสฟังอย่างเพลิดเพลิน และเมื่อคุณต้องการความบริสุทธิ์ของสัญญาณ เมื่อใช้งานกับแหล่งโปรแกรมชั้นเยี่ยมคุณก็เพียงกดปุ่ม LINE STRAIGHT สัญญาณก็จะถูกตัดผ่าน (BY PASS) โดยไม่ต้องผ่านปุ่มปรับสมดุลซ้าย-ขวา (BALANCE) รวมทั้งชุดโทนคอนโทรล และชุด MODE SELECTOR เพื่อลดการสูญเสียของสัญญาณที่ต้องผ่านอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งหน้าสัมผัสของปุ่มปรับต่างๆ ลง สัญญาณจะเดินผ่านเพียงแค่โวลลุ่ม แล้วจึงถูกส่งเข้าสู่ภาคขยายโดยตรง

ใน L-507u ยังมีภาคโฟโน (PHONO) แบบ BUILT-IN พร้อมกับขั้วต่อ SIGNAL GROUND เพื่อใช้งานร่วมกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงโดย L-507u นั้นสามารถรองรับทั้งหัวเข็มแบบ MM และ MC สำหรับ MC นั้นจะต้องกดปุ่ม PHONO MC CARTRIDGE ON/OFF SWITCH ไปที่ตำแหน่ง ON ปุ่มดังกล่าวจะวางอยู่ข้างๆ ลูกบิด INPUT SELECTOR ทางด้านล่าง ใน L-507u ยังมีวงจร SUBSONIC FILTER ที่จะช่วยตัดสัญญาณความถี่ต่ำแบบ ULTRA-LOW FREQUENCIES อันไม่พึงประสงค์ออกไป

ใน L-507u ยังมีปุ่ม SEPARATE SWITCH (SEPERATE) เพื่อแยกการทำงานระหว่าภาคปรีแอมป์ และเพาเวอร์แอมป์ออกจากกัน คุณสามารถที่จะเพิ่มเพาเวอร์แอมป์เพื่อการต่อแบบ BI-AMPLIFICATION เพื่อใช้งานร่วมกับระบบ AV SYSTEM ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น เมื่อกดใช้สวิตช์ดังกล่าวระบบของ L-507u จะตัดการทำงานของโวลลุ่มใน L-507u ออกในทันที นี่ต้องนับว่าเป็นฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์มากกว่าการใช้ตัวยูลิงค์ PREOUT-MAIN IN ในอดีต

 

L507uX_inside_small

ด้านหลังของ L-507u จะมีขั้วรับสัญญาณอินพุทแบบ RCA เป็นสัญญาณแบบไลน์ 4 ชุด ภาคโฟโน 1 ชุด มีชุดสำหรับเทป (RECORDER INPUT/OUTPUT) มาให้อีก 2 ชุด นอกจากนี้ยังมีขั้วต่อสัญญาณอินพุทแบบ BALANCED XLR มาให้อีก 2 ชุด พร้อมกับมีสวิตช์เลือกเฟส (PHASE) สัญญาณของบาลานซ์ให้ถูกต้องตรงกับแหล่งโปรแกรมที่นำมาต่อใช้งานร่วมกัน นับว่ามีความสะดวกต่อการใช้งานจริงที่ดีมาก ขั้วต่อ RCA ทั้งหมดเป็นแบบเคลือบทองอย่างดี โดยเฉพาะกับช่องต่อ LINE 1 ที่ทาง LUXMAN ได้ออกแบบ ให้มีระยะห่างที่มากขึ้นกว่าขั้วต่อชุดอื่นๆ ผู้ใช้สามารถที่จะใช้สายนำสัญญาณที่มีขั้วต่อที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติได้สะดวกยิ่งขึ้น สำหรับขั้วต่อลำโพงใน L-507u จะมีมาให้ 2 ชุดแบบ A และ B ขั้วต่อลำโพงนั้นดูดีแต่ไม่สามารถรองรับขั้วต่อแบบก้ามปู (SPADE) ขนาดใหญ่ และขั้วต่อแบบบานาน่า (BANANA) ได้

สำหรับขั้วต่อ IEC จะเป็นแบบ 2 ขา ไม่มีกราวด์ สามารถถอดเปลี่ยนสาย AC ได้ วางตัวอยู่ทางมุมขวาด้านหลัง ที่ดูจะหายไปก็คือ ระบบ LINE PHASE SENSOR เพื่อใช้ในการตรวจสอบการเชื่อมต่อสาย AC ว่ามีความถูกต้องตรงเฟสหรือไม่ ซึ่งนี่ถือเป็นเอกลักษณ์ของเครื่อง LUXMAN ในอดีตที่คู่แข่งเจ้าอื่นๆ ไม่มีกัน

สัดส่วนของ L-507u อยู่ที่ 467 x 179 x 430 มม. (ก x ส x ล) มีน้ำหนักเครื่องอยู่ที่ 22.5 กก.

ภายในของ L-507u มีการคาดโครงแบ่งออกเป็นสัดเป็นส่วน หนึ่งนั้นก็เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของตัวเครื่อง สองก็เพื่อป้องกันการรบกวนจากคลื่นความถี่ของวิทยุ (RADIO-FREQUENCY NOISE) ซึ่งจะส่งผลให้ได้ค่าสัญญาณต่อเสียงรบกวน (SIGNAL TO NOISE RATIO) ที่ดีขึ้น L-507u ใช้หม้อแปลงแบบ EI ขนาดใหญ่จัดวางไว้ตรงกึ่งกลางของเครื่องคล้อยไปทางด้านหลัง ตัวหม้อแปลงถูกวางอยู่บนแท่นที่ถูกแยกส่วนออกมาจากโครงสร้างหลักหรือตัวฐานของเครื่องในส่วนของภาคซัพพลายนี้จะทำงานร่วมกับคาปาซิเตอร์ของ LUXMAN เกรด AUDIO BLACK NEGATIVE ที่มีค่า 10,000 UF 71 V จำนวน 4 ตัว ทั้งหม้อแปลงและคาปาซิเตอร์ดังกล่าวจะถูกวางอยู่ในกรอบที่มีการกั้นด้วยแผ่นโลหะทั้ง 4 ด้าน เพื่อเป็นการป้องกันการไปรบกวนวงจรส่วนอื่นๆ

เข้าใจว่าทาง LUXMAN ยังคงยึดหลักการในการวางวงจรแบบ STAR CIRCUIT ซึ่งเป็นวงจรที่ทาง LUXMAN ยึดถือและใช้กับแอมปลิไฟเออร์ของตนเองมาอย่างยาวนาน ใน L-507u ก็เช่นกัน แนวทางของวงจร STAR CIRCUIT ก็คือการแยกทางเดินของกระแสที่จะจ่ายให้กับวงจรส่วนต่างๆ ออกเป็นอิสระในแต่ละภาคส่วน แทนที่จะดึงเอามารวมเข้าไว้ด้วยกันเป็นจุดเดียวเหมือนกับที่พบเห็นได้ในแอมปลิไฟเออร์ส่วนใหญ่ ข้อดีของวงจร STAR CIRCUIT ก็คือสามารถลดผลกระทบจากการดึงกระแสกันเอง ระหว่างวงจรในแต่ละภาคส่วน อีกทั้งการจัดวางคาปาซิเตอร์แยกออกจากกันพร้อมกับติดตั้งไว้ใกล้กับโหลดที่ต้องใช้งานยังส่งผลให้กระแสเดินทางเข้าสู่วงจรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทันต่อความต้องการที่แปรเปลี่ยนไปตามสัญญาณของดนตรีที่รวดเร็วสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างเท่าทัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือความสามารถในการรักษาระดับของแรงดันให้คงที่ได้ตลอดเวลา

ดังนั้นทาง LUXMAN จึงได้แยกวงจรภาคเร็กกูเลทชุดใหญ่ไว้ทางด้านใต้ฐานเครื่อง ในส่วนนี้จะมีหม้อแปลง EI ขนาดเล็กทำหน้าที่เป็นรีเลย์สำหรับตัดต่อไฟ AC แบบ SOFT START มีการแยกภาคเร็กกูเลทออกมาหลายชุดด้วยกัน ทำงานร่วมกับคาปาซิเตอร์ขนาด 3300UF 35V 2 ตัว และขนาด 470UF 100V อีก 2 ตัว

สำหรับภาคอินพุทนั้น ดู L-507u จะวางวงจรไว้ทางด้านหลังใกล้กับแหล่งอินพุททั้งหมด จากนั้นสัญญาณจึงถูกส่งมายังส่วนหน้าที่เป็นภาคชุดโทนคอนโทรลทั้งหมด สำหรับภาคขยายเอาท์พุทจะถูกแยกออกจากกันเป็นอิสระทั้งซ้าย และขวา LUXMAN เองนั้นมีประสบการณ์ในการออกแบบวงจรมาอย่างโชกโชนมีแบบหรือ PATENTS วงจรที่เป็นเอกสิทธิ์ของตัวเองก็ไม่น้อย และหนึ่งในนั้นก็คือวงจร GLOBAL NEGATIVE FEEDBACK ซึ่งก็คือการป้อนกลับทางลบ NFB (NEGATIVE FEEDBACK) โดยรวมไปยังภาคเอาท์พุทสเตจ ซึ่งเคยเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต

แต่สำหรับ LUXMAN แล้ว ได้พัฒนาวงจรดังกล่าวขึ้นมาเป็นวงจร CSSC (COMPLEMENTARY SINGLE STAGGER CIRCUIT ทำงานร่วมกับวงจรป้อนกลับแบบ OD-Beta (OPTIMIZED DUO NFB) แต่ในปัจจุบันทาง LUXMAN ได้ทำการปรับปรุง และพัฒนาขึ้นมาเป็นวงจรลดความเพี้ยน (DISTORTION REDUCTION CIRCUIT) ที่มีชื่อเรียกว่าวงจร ONLY DISTORTION NEGATIVE FEEDBACK (ODNF) วงจร ODNF นี้ จะทำงานโดยจัดการกับเสียงรบกวน (NOISE) รวมทั้งความเพี้ยน (DISTORTION) ที่สัญญาณเอาท์พุท ด้วยการใช้ NFB จัดการกับสัญญาณรบกวนเหล่านั้นตั้งแต่ต้นทาง มิได้ป้อนกลับทางลบมายังต้นทางตามแบบวงจร NFB โดยทั่วไป ซึ่งวงจรแบบ NFB โดยทั่วไปจะมีผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของเฟส (PHASE DISTORTION) หรือเกิด PHASE SHIFT ขึ้นได้ แต่สำหรับวงจร ODNF นั้นจะทำงานด้วยแบนด์วิดธ์ที่กว้าง มีค่าสลูเรท (SLEW RATE) ที่สูงมากแบบ ULTRA HIGH โดยมีค่าความเพี้ยนที่ต่ำมาก (ULTRA LOW DISTORTION) โดยที่ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้วงจรแก้ไขเฟส (PHASE COMPENSATION) แต่อย่างใด ปัจจุบัน LUXMAN ได้พัฒนาวงจร ODNF ออกมาหลายเวอร์ชั่นด้วยกัน ใน L-507u เลือกใช้วงจร ODNF เวอร์ชั่น 3.0 ซึ่งจะทำหน้าที่ในการตรวจจับสัญญาณของดนตรี และจัดการกับสัญญาณรบกวน (NOISE) หรือความเพี้ยน (DISTORTION) ที่เกิดขึ้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือทาง LUXMAN ยืนยันว่ามันจะมีผลต่อสัญญาณที่มีปัญหาเท่านั้น

วงจร ODNF เวอร์ชั่น 3.0 นี้จะช่วยทำให้แอมปลิไฟเออร์มีสัญญาณ NOISE FLOOR ที่ต่ำลงทำให้มีไดนามิกเฮดรูมที่ดีขึ้น น้ำเสียงที่ได้ยินจะมีสัญญาณรบกวนที่ต่ำ สามารถเปิดเผยรายละเอียดของดนตรีที่ถูกซ่อนลึกอยู่ภายในการบันทึกเสียงออกมาให้ได้ยินกัน

ในส่วนของภาคขยายนั้น LUXMAN ใช้ทรานซิสเตอร์แบบแยกชิ้นทำงานร่วมกับอ็อปแอมป์ JRC 2082 ที่เป็น JFET INPUT DUAL OPERATIONAL AMPLIFIER ในส่วนนี้จะมีคาปาซิเตอร์ขนาด 470 uF 100V จำนวน 4 ตัวต่อข้าง สำหรับภาคเอาท์พุทนั้น จะใช้ทรานซิสเตอร์แบบ BIPOLAR จำนวน 4 ตัว ต่อข้าง มีการใช้แผ่นทองแดงแบบบัสบาร์ในทางเดินสัญญาณ อุปกรณ์ที่ใช้ในวงจรมีการคัดสรรมาอย่างดี รีซิสเตอร์ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 5% การจัดวงวงจรรวมทั้งการเดินสายไฟภายใน มีความเรียบร้อย และประณีตสวยงาม สเปคของ L-507u มีดังนี้ :

 

Continuous power output 110W+110W (8Ω)/200W+200W (4Ω)
Input sensitivity/
input impedance
PHONO (MM): 2.5 mV/47 kΩ,
PHONO (MC) :0.3 mV/100 Ω,
LINE :180mV/42 kΩ
Total harmonic distortion rate 0.004% or less (1 kHz/8Ω),
0.03% or less (20 Hz-20 kHz/8Ω)
S/N ratio LINE:107dB or more
Frequency response LINE: 20Hz-100kHz (+0,-0.3dB)
Power consumption 250W (Electrical Appliance and Material Safety Law),
84W (under no signal),
1.2W (at standby)
Outside dimensions 467 (W) x 179 (H) x 430 (D) mm
Weight 22.5kg

The specifications above are valid at the time of product announcement. Refer to the separate catalog for each product about final specifications.

 

ผลการทดลองฟัง

          LUXMN L-507u มีเวลามาอยู่กับพวกเราประมาณ 1 เดือน หลังจากที่รันอินเครื่องจนเกือบครบ 100 ชั่วโมง พวกเราก็นำเข้าฟังเพื่อทำการสรุปผล ซิสเต็มที่ใช้ร่วมในการฟังประกอบด้วย

เครื่องเล่นซีดี               : MARANTZ CD 11 MKII, (CLOCK II)                                                                                                 SONY CDP-XA 7ES

ลำโพง                                  : B&W 805s, XAV PATRIOT SE

สายนำสัญญาณ       : VAMPIRE AI-II (RCA)- BALANCED XLR, VAN DEL HUL ‘THE SECOND’ BALANCED XLR

สายลำโพง                  : KIMBER 8TC, VAMPIRE #826C

สายเอซี                       : MUSIC MUSE ‘JORMUNGANDR’, XAV XAC#5

ฟิวส์                             : MUSIC MUSE V2

ห้องฟังขนาด 4 x 8 เมตร ได้รับการปรับแต่งอะคูสติกมาอย่างดี

LuxmanHEADER

 

 

นี่ต้องนับเป็นครั้งที่ 2 ที่จะได้สัมผัสฟัง LUXMAN หลังจากที่เคยฟังครั้งแรกย้อนเวลากลับไป เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว ถ้าหากดูจากระยะเวลาแล้วเหมือนกับจะเป็นเวลาที่ยาวนานจนหลายคนอาจจะลืมเลือนไปแล้วก็เป็นได้ ในสมัยนั้นขณะที่ยังเป็นนักเรียนได้มีโอกาสไปเที่ยวบ้านของเพื่อนฝูงท่านหนึ่ง และได้มีโอกาสฟังอินทีเกรทแอมป์ของ LUXMAN รุ่น L-113A ก็รู้สึกประทับใจ จำไม่ได้เหมือนกันว่าเพื่อนคนนั้นใช้ลำโพงของอะไรอยู่ แต่แอมป์ของ LUXMAN นั้น ส่งเสียงสำเนียงดนตรีที่นุ่มนวล สะอาด สดใส ความเพลิดเพลินในการฟังครั้งนั้นยังเป็นที่จดจำ และอยู่ในความทรงจำมาจนถึงวันนี้เหมือนกับเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่งจะผ่านไปได้ไม่นานปีนี้เอง ที่น่าแปลกก็คือ หลังจากวันนั้นก็ไม่ได้มีโอกาสได้สัมผัสฟัง LUXMAN อีกเลยจวบจนถึงวันนี้

เนื่องจาก L-507u ใช้ขั้วลำโพงที่แข็งแรง ดูดีมีความสวยงาม แต่ในการใช้งานจริงนั้นกลับมีข้อจำกัดอยู่บ้าง และขั้วดังกล่าวก็ไม่สามารถใช้งานร่วมกับสายลำโพง VAMPRE ST-II ที่พวกเราใช้ฟังกันอยู่เป็นประจำและถือเป็นสายอ้างอิงประจำห้องฟังของพวกเราได้ ในช่วงรันอินเครื่องจึงนำเอาสายลำโพงของ VAMPIRE คือรุ่น #826C มาใช้งานแทน แต่น้ำเสียงที่ได้กลับไม่ดีนัก เพราะ L-507u กลับให้เสียงที่เจิดจ้าเกินพอดี แม้จะไม่มีอาการกร้าวแข็งก็ตาม ตอนแรกก็คิดว่าเครื่องอาจจะยังใหม่ น่าจะให้เวลาอีกสักพักให้เครื่องรันอินจนได้ที่น้ำเสียงก็น่าจะดีขึ้น แต่หลังจากผ่านไป 1 อาทิตย์ผลที่ได้ก็ยังคงเหมือนเดิมนี่แสดงให้เห็นว่า L-507u อาจจะไม่แมทซ์หรือเหมาะกับการใช้งานร่วมกับสายลำโพงที่มีเสียงไปในแนวโปร่งใส แจกแจงรายละเอียดได้ดีเป็นพิเศษ ต่อมาได้นำสายลำโพง KIMBER KABLE รุ่น 8TC (สีฟ้า-ดำ) มาลองใช้ร่วมกับ L-507u ดู ปรากฏว่าน้ำเสียงที่ได้ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ในการฟังทดสอบจึงใช้สายลำโพง KIMBER 8TC เป็นหลักตลอดการฟังทั้งหมดครับ

อันดับต่อมาเนื่องจาก L-507u ใช้ปลั๊กไฟ IEC แบบ 2 ขา ไม่มีขากราวด์ ดังนั้นพวกเราจึงต่อสายกราวด์เข้าที่ขั้ว SIGNAL GROUND หลังเครื่องผลที่ได้คือ น้ำเสียงโดยรวมจะมีความสงัดมากขึ้น เสียงดนตรีต่างๆ จะมีโฟกัสที่ชัดเจนขึ้น การต่อสายกราวด์จึงถือเป็นเรื่องที่จำเป็น และมีผลต่อคุณภาพเสียงโดยรวม จนไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดครับ

L-507u นำเสนอน้ำเสียงที่สะอาด มีความสดใส พร้อมกับการนำเสนออาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ มีความเป็นอิสระให้ความรู้สึกที่ปลอดโปร่งที่ดี เสียงกลางนั้นมีความแจ่มชัด มวลเสียงอาจจะไม่หนา แต่จะวางตัวอย่างกลางๆ ค่อนมาทางบางเล็กน้อย (JACKIE EVANCHO : DREAM WITH ME IN CONCERT : SONY MUSIC : USA) ตอกย้ำกันอีกครั้งกับเสียงร้องของป้า ELLA ที่ L-507u นำเสนออกมาได้ดี สามารถแสดงตัวตนของเสียงให้ลอยเด่นออกมาได้อย่างแจ่มชัด ไม่ใช่ด้วยมวลเสียงที่หนาหรือเข้มข้น ไม่ใช่ด้วยพละกำลังอันเปี่ยมล้นที่สามารถจะตรึงทุกสรรพสำเนียงเอาไว้อย่างมั่นคงดังเช่นแอมป์กล้ามโต ทรงพลังในระดับไฮเอนด์ แต่เป็นการจัดวางตัวตนของเสียงให้ลอยเด่นออกมาจากเสียงดนตรีต่างๆ ที่บรรเลงเสมือนกับเป็น BACKGROUND อยู่ทางด้านหลังพร้อมกับมีการวางระยะห่างอย่างมีชั้นเชิง และมีความกลมกลืนที่ดี (ELLA FITZGERALD : FOREVER ELLA)

และที่สำคัญ L-507u นั้นสามารถที่จะถ่ายทอดอารมณ์ของความเป็นดนตรีออกมาได้ดี ชักนำให้คุณเข้าถึงและเพลิดเพลินไปกับบทเพลงที่กำลังบรรเลงอยู่ได้อย่างง่ายดาย อาจบางทีนี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแนวเสียงของแอมป์แบบย้อนยุคที่ย้อนหลังกลับไปสู่ยุคบุกเบิกในอดีตก็ว่าได้ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือแนวบุคลิกเสียงดังที่กล่าวมานี้นั้นกลับไม่ค่อยพบหรือฟังได้จากเครื่องเสียงในยุคสมัยปัจจุบัน หรือถ้าจะมีก็อาจจะมีเพียงแค่ความคล้ายคลึงเท่านั้น

สำหรับเสียงในย่านกลางสูงขึ้นไปถึงเสียงแหลมนั้น L-507u นำเสนอด้วยความสดใส ที่โดดเด่นเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นเสียงของแซกโซโฟน 3 เลา พร้อมกับเครื่องเป่าทองเหลืองต่างๆ (THE MERRY ANGEL OPUS 9 : FOLK BRASS BAND) หรือเสียงโวโอลินของ ISAAC STERN (ISAAC STERN “HUMORESQUE”) เป็นเสียงกลางสูงถึงเสียงแหลมที่มีความกระจ่างชัดที่โดดเด่นและเรียกร้องความสนใจได้ดี แต่ไม่มีความหยาบกระด้างหรือแข็งกร้าวแต่อย่างใด มีความเปิดเผยที่เหมือนกับจะแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ออกมาอย่างเต็มที่ คุณลักษณะดังกล่าวจะขยายอาณาบริเวณออกไปได้ระยะหนึ่ง ก่อนที่ปลายเสียงแหลมจะค่อยๆ ลดระดับลง และเก็บตัวอย่างรวดเร็ว (OPUS 3 : LARS ERSTRAND AND FOUR BROTHERS)

กับย่านเสียงในช่วงกลางต่ำนั้น L-507u ยังคงนำเสนอมวลเสียงที่ไม่หนาแต่มีความต่อเนื่องจากย่านเสียงกลางที่ลงตัว(COLLIN RAYE:LOVE SONGS)

ให้ความรู้สึกถึงความโปร่งที่เบาสบาย เสียงร้องของ JOHN MICHAEL MONTGOMERY ถูกถ่ายทอดออกมาได้ดี มีความนุ่มนวล ฟังสบายไม่มีอาการเร่งเร้าแต่อย่างใด นับเป็นเสียงที่ให้ความผ่อนคลายในการฟังได้ดีทีเดียว ( JOHN MICHEAL MONTGOMERY: KICKIN’ IT UP )

ที่น่าสนใจก็คือ L-507u สามารถถ่ายทอดเบสต่ำออกมาได้อย่างโดดเด่น เป็นเบสต่ำที่แสดงให้เห็น หรือรู้สึกถึงฐานเบสที่มีตัวตนอยู่จริง แสดงให้รู้สึกถึงความหนักของเบส แต่ไม่ไช่ในแง่ของปริมาณนะครับ ถึงแม้จะเป็นน้ำหนักของเบสที่ไม่มากนัก แต่มีเพียงพอให้รู้สึกถึงการคงอยู่พร้อมกับการควบคุมจังหวะได้ดีจนคุณจะไม่รู้สึกว่าจังหวะที่ฟังอยู่นั้นช้าหรือเร็วเกินไป แต่จะมีความพอดีอย่างลงตัว (TIS UNPLUG 3 : ACOUSTIC BURN IN REVITALIZE CD : TIS-UP3) นี่ต้องนับว่าเป็นความสามารถของ LUXMAN ที่นำเสนอออกมาได้อย่างโดดเด่น ใครที่คิด หรือรู้สึกว่าแอมป์สัญชาติ ญี่ปุ่นทำเบสไม่เป็น ขอให้มาลองฟัง L-507u จาก LUXMAN ดูครับ คุณอาจจะได้มุมมองใหม่ ที่แตกต่างไปจากเดิม

สมรรถนะทางด้านอิมเมจนั้น L-507u สามารถจัดวางตำแหน่งต่างๆ ได้ดี ขนาดของอิมเมจจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าปกติ และวางตัวล้ำหน้า (FORWARD) ออกมาอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะกับย่านเสียงกลาง ซาวด์สเตจจะถูกขยายตัวออกไปทั้งทางด้านซ้าย และขวา รวมทั้งด้านบน และด้านล่างสำหรับด้านกว้างนั้น สามารถขยายตัวเลยลำโพงทั้งทางด้านซ้ายและขวาออกไปอย่างสบายๆ ทำให้ได้ซาวด์สเตจที่มีขนาดใหญ่ ช่องว่างระหว่างดนตรีมีให้สัมผัสฟัง เพียงแต่ L-507u จะนำเสนอขนาดของอิมเมจที่ใหญ่ เลยทำให้รู้สึกว่าช่องว่างดังกล่าวจะมีระยะ หรือความห่างที่ค่อนข้างจำกัด สำหรับสัดส่วนของความลึกนั้นแม้จะสามารถแสดงระดับชั้นของความลึกออกมาให้สัมผัสฟังได้ แต่ก็ดูจะเป็นรองกว่าสัดส่วนของด้านกว้างที่ทำได้โดดเด่นกว่า

ได้ลองเชื่อมต่อเครื่องเล่นซีดีโดยใช้สายนำสัญญาณแบบ BALANCED XLR เข้าที่ช่องต่อ BALANCED LINE-1 ซึ่งจะต้องปรับ INPUT SELECTOR ไปที่ BAL LINE-2 พร้อมกัดปุ่ม BAL LINE-1 ที่อยู่ข้างๆ ผลที่ได้คือ L-507u จะแสดงตำแหน่งของชิ้นดนตรีต่างๆ ออกมาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น มีความสงัดที่เพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกถึงความสามารถในการแยกแยะและแสดงถึงตำแหน่งต่างๆ ที่มีความเด็ดขาดมากขึ้น ปริมาณของความถี่ต่ำก็จะมากขึ้น รวมทั้งน้ำหนัก และแรงปะทะที่มีความแข็งขัน จริงจัง และหนักแน่นที่เพิ่มมากขึ้นกว่าการต่อผ่านสายนำสัญญาณแบบ RCA แต่ความโดดเด่นเหล่านั้นก็ต้องแลกกับบรรยากาศ รวมทั้งรายละเอียดลึกๆ ที่ถูกลดทอนลง บรรยากาศโดยรวมกลับฟังดูแห้งขึ้น ลดความกลมกลืนที่น่าฟังลงไปบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับการเชื่อมต่อด้วยสายนำสัญญาณแบบ RCA

l18_l_507u_02

 

สรุป

          ต้องนับเป็นเวลาที่ยาวนาน ที่ห่างเหินไปจาก LUXMAN การได้กลับมาสัมผัสฟัง L-507u ก็เหมือนกับการได้กลับมาเจอะเจอเพื่อนเก่าที่ห่างหายกันไปนาน ยิ่งได้เห็น และได้ฟังถึงสิ่งที่ LUXMAN พยายามรักษา พร้อมกับพัฒนาการที่ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นไปจากเดิม ก็ยิ่งทำให้รู้สึกมีความพึงพอใจอยู่ลึกๆ นักเล่นท่านใดที่เข้าใจหรือคิดว่า LUXMAN ก็เป็นเครื่องเสียงญี่ปุ่น แบรนด์หนึ่ง ที่พยายามจะขยับฐานะหรือยกระดับขึ้นมาเป็นเครื่องในระดับไฮเอนด์เหมือนกับรายอื่นๆแล้วละก็ คงจะต้องปรับมุมมองและความเข้าใจกันใหม่ เพราะ LUXMAN นั้นมีประวัติ และความเป็นมาที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ทั้งฝีไม้ลายมือ รวมทั้งผลงานก็มีปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง กับคำจำกัดความว่า “ไฮเอนด์” อาจบางทีดูจะเป็นเพียงแค่เปลือกนอกที่หลายคนพยายามจะยึดติด และอาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับ LUXMAN ไปซะด้วยซ้ำ

L-507u จาก LUXMAN เองต่างหากที่ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งต่างๆ ที่แสดงถึงความเป็นไฮเอ็นด์ดังกล่าวออกมาได้ดี ถึงแม้ L-507u จะวางตัวอยู่ในระดับกลางๆ ในซีรี่ส์ L-500 จาก LUXMAN และกับราคาค่าตัวที่วางอยู่ในงบประมาณที่ไม่เกิน 2 แสนบาท ด้วยเนื้องานที่ประณีตพร้อมด้วยลูกเล่นหรือฟังก์ชั่นที่จัดเต็มมาให้อย่างครบครัน ที่สำคัญก็คือคุณภาพเสียงซึ่งต้องนับว่า L-507u วางตัวอยู่ในระดับราคาที่น่าสนใจไม่น้อย และไม่ควรที่จะถูกมองข้ามอย่างละเลย ไม่แน่ L-507u จาก LUXMAN อาจจะทำให้แบรนด์คู่แข่งต้องรู้สึกหวั่นไหว ด้วยลมหายใจที่ตามเข้ามาใกล้แบบรดต้นคอ แต่ที่แน่ๆ LUXMAN คงจะสร้างสีสันให้กับวงการเครื่องเสียงในระดับไฮเอนด์ของบ้านเราให้มีความคึกคักขึ้นมาบ้าง ไม่มากก็น้อยครับ

 

ขอขอบคุณบริษัท ดิจิตอล ไฮไฟ มีเดีย จำกัด โทร. 0-2880-8241-6 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องมาให้ทดสอบในครั้งนี้