Test Report: อินทีเกรทแอมป์ Accuphase E-470

0

Test Report: อินทีเกรทแอมป์ Accuphase E-470

 “คืนชีพตระกูล 4 ในตำนาน Accuphase”

“bluebird u11”

DSC_0010

ช่วงปีสองปีนี้ ตั้งแต่ครบรอบ 40th Anniversary ของ Accuphase เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่โดดเด่นของแบรนด์เครื่องเสียงไฮเอนด์จากญี่ปุ่นรายนี้ชัดเจนขึ้น

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ Accuphase ส่งอินทีเกรทแอมป์รุ่นใหม่ครบรุ่นออกมารวมถึงเครื่องเล่นซีดี / ซุปเปอร์ออดิโอซีดีรุ่นล่าสุดและปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์ ฯลฯ มากันครบทีมครบรุ่น อาจมองได้ว่านี่คือช่วงที่ Accuphase ตกผลึกอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาปรับปรุงเครื่องเสียงในทุกไลน์อัพจนประสบผลสำเร็จจากผู้ใช้ทั่วโลก ทำให้ Accuphase ยุคนี้มีความเปลี่ยนแปลงจากบุคลิกดั้งเดิม และความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็ประจักษ์แจ้งกับนักเล่นฯ นักฟังฯ หลายท่านมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชุดเล็กหรือชุดใหญ่ หากได้สัมจริงกับเครื่องในยุคครบรอบ 40 ปี ผมเชื่อว่าท่านต้องอึ้งกับการนำเสนอที่คาดไม่ถึงของเครื่องเสียงชั้นนำจากแดนอาทิตย์อุทัย

ก่อนหน้านี้ เครื่องเล่นซีดี / SACD ในเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด รุ่น DP 550 ได้เข้ามาให้ใช้งานจริงอยู่ยาวนานในห้องฟังของผม จุดเปลี่ยนของเครื่องดังกล่าวจับต้องได้ ทั้งอุปกรณ์ที่ร่วมใช้ในวงจรและการปรับปรุงกายภาพภายนอกของเครื่อง ที่เห็นได้ชัดเจนเป็นเรื่องวงจรบาลานซ์เอาท์พุทที่ Accuphase ได้ปรับปรุงเกนขยายรวมไปถึงสวิตช์ปรับเฟสของเอาท์พุทสัญญาณ เพื่อให้ใช้งานได้ทั้งแบบ American Type และ เฟสสัญญาณแบบ Europe Type ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน จุดเด่นของการปรับเฟสสัญาณเอาท์พุทบาลานซ์ของเครื่องเล่น SACD ส่งผลมาถึงอินพุทบาลานซ์ของเครื่องเล่นอินทีเกรทแอมป์รุ่นล่าสุด

หากเจาะจงลงไปเฉพาะประเภทอินทีเกรทแอมป์ นับว่า Accuphase ยกไลน์อัพของอินทีเกรทแอมป์ครบรุ่น ตั้งแต่รุ่นเล็กสุดอย่าง E-260 และขยับมากับรุ่นยอดนิยมอย่าง E-360 ต่อเนื่องมาถึงรุ่นใหญ่ในคลาสเอบีรุ่น E-460 จวบจนรุ่นใหญสุดในเวอร์ชั่นวงจรคลาสเออย่าง E-560 ซึ่งทุกรุ่นที่กล่าวมีช่วงเวลาออกจำหน่ายแตกต่างกัน แต่ทุกเครื่องล้วนเป็นเครื่องที่พัฒนาในช่วงครบรอบ 40th Anniversary ของ Accuphase จะมีรุ่นล่าสุดที่ออกมาสมทบอีกครั้งเรียกว่าขยับจากรุ่น E-560 มาเป็นรุ่น E-600

สำหรับรุ่น E-460 เพิ่งผ่านการใช้งานจริงในห้องฟังผมไปราวสี่ปีเศษ อาจครบช่วงเวลาของการออกแบบและเปลี่ยนรุ่นกันอีกครั้ง ในตระกลู Series 4 ของ Accuphase ได้ส่งอินทีเกรทแอมป์รุ่นล่าสุดแบบ Full Model Change E-470 สดๆ ร้อนสู่ตลาดเครื่องเสียงไฮเอนด์อีกครั้ง ซึ่งยังยึดถือพื้นฐานเดิมของ E-460 เพียงตัวถังของเครื่องเป็นหลักเท่านั้น

 DSC_0121

รูปลักษณ์และการใช้งาน

Accuphase E-470 เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ที่กำเนิดมาทดแทน E-460 แบบโมเดลเชนจ์และได้รับเทคโนโลยีจากเครื่องรุ่นแยกชิ้นอย่างปรีแอมป์ไฮเอนด์ C3800 และ เพาเวอร์แอมป์ไฮเอนด์ A 200 หากพิจารณาจากกายภาพภายนอกแล้ว แทบจะไม่พบความแตกต่างกันจากเดิมในส่วนด้านหน้าเครื่องและรูปลักษณ์ของเครื่อง แต่วงจรภายในทั้งภาคปรีแอมป์และภาคเพาเวอร์แอมป์ยกเครื่องแตกต่างมาก จากการออกแบบและผลิตที่เป็นเอกลักษณ์จำเพาะของ Accuphase จึงเป็นที่มาของความคลาสสิกดั้งเดิมของอินทีเกรทแอมป์ Accuphase สายพันธุ์ซีรี่ส์ 4 นี้มีชื่อเสียงมายาวนานเป็นลำดับ ด้วยการกำหนดวงจรและกำลังขับที่สูง เพื่อให้ใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งฟังเพลงปกติสองแชนแนลหรือนำไปใช้งานร่วมกับชุดดูหนังโฮมเธียเตอร์โดยทำตัวเป็นเพาเวอร์แอมป์ขับลำโพงคู่หน้าก็ตอบสนองได้ดีเช่นกัน ยังถือว่าเป็นรุ่นสูงสุดของอินทีเกรทแอมป์ในหมวดการทำงานแบบพุชพูลของ Accuphase

สไตล์การออกแบบยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะเจาะจงมองแว๊บเดียวสามารถบอกได้ว่าเครื่องเสียงนี้เป็นเครื่องเสียงจาก Accuphase รูปร่างพื้นฐานของตัวเครื่องและแผงหน้าปัดคงไว้บนพื้นฐานเดิมสไตล์หรูหราแบบคลาสสิกนิยม สีสันของตัวเครื่องมีอัตลักษณ์ดั้งเดิมคือแผงหน้าสีทองตัวเครื่องสีเทาดำ การวางตำแหน่งต่างๆ ของการใช้งานยึดถือรูปแบบเดิมๆ ไว้ เปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยเท่านั้น เริ่มจากแผงหน้าปัดสีทองแชมเปญ โดยวางปุ่มหมุนขนาดใหญ่ไว้ทั้งสองฝั่ง ด้านขวาของเครื่องเป็นปุ่มหมุนเลือกแหล่งสัญญาณอินพุทที่มีทั้งหมดเก้าอินพุท เรียงลำดับจาก Line 3, Line 2, Line 1, BAL, CD-BAL, CD, TUNER, OPTION 1, OPTION 2 ตามลำดับ ที่รอบๆ ปุ่มหมุนนี้มีไฟแสดงสถานะสีแดงติดสว่างอยู่ในกรณีที่เลือกใช้งานอินพุทช่องนั้นๆ เมื่อเปิดเครื่องตำแหน่งอินพุทนี้ยังคงล๊อคไว้ตำแหน่งเดิมก่อนปิดเครื่อง ปุ่มหมุนนี้เองสามารถหมุนฟรีได้รอบตัวเองทั้งหมุนตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา

ส่วนปุ่มหมุนขนาดใหญ่ปุ่มที่สองอยู่ด้านซ้ายสุดของแผงหน้าปัด เป็นปุ่มโวลลุ่มเร่ง – ลดระดับเสียง ปุ่มนี้มีตัวเลขล้อมรอบตั้งแต่เลข 1 – 9 และสูงสุดด้วยคำว่า MAX ในแต่ละเลขมีช่องสเกลแบ่งระดับระหว่างช่องอีกหนึ่งขีด ที่ตัวปุ่มหมุนนี้มีการเซาะร่องไว้เป็นตำแหน่งชี้สเกล ที่ตัวปุ่มหมุนไม่มีไฟแสดงสถานะ แต่ออกแบบให้มีตัวเลขแสดงระดับความดังที่กึ่งกลางหน้าปัด เหมือนกับรุ่น E-460 ทิศทางการหมุนของปุ่มหมุนได้เพียงทิศทางเดียวเท่านั้น ด้านล่างปุ่มโวลลุ่มมีการติดตั้งปุ่มกดเล็กๆ ไว้ ปุ่มแรกเป็นปุ่มเปิดฝาปิดปุ่มสั่งงานอื่นๆ ปุ่มที่สองเป็นปุ่ม COMP บูสท์เสียงขึ้น ใกล้กันเป็นปุ่ม ATT ดร็อปเสียงลง วางจอแสดงผลไว้ให้สมดุลกับแผงหน้าปัด โดยเลือกตำแหน่งระหว่างปุ่มหมุนทั้งสองข้าง จอแสดงผลดังกล่าวเป็นจอเดียวยาวตลอดแนว แต่มีการใช้สีดำช่วยที่ขอบทั้งหมดของจอและยังตกแต่งให้เป็นกรอบสองกรอบล้อมรอบเข็มมิเตอร์แสดงระดับความดัง สีดำสกรีนทับไว้ที่ตัวแผ่นโปร่งแสงนี้คล้ายกับการติดฟิล์มดำลงไปที่กระจกหน้าปัด

เมื่อมองแผงหน้าปัดเข้าไปตรงๆ มีเข็มวัดระดับความดังและกำลังขับ ซึ่งเข็มดังกล่าวทำงานพร้อมกับการสวิงเสียง โดยด้านหลังหรือฉากหลังของเข็มมีสเกลสีขาวและสเกลเส้นแนวนอนติดตั้งอยู่ ซึ่งตัวเลขสเกลด้านบนบ่งบอกระดับความดังเป็นเดซิเบล สเกลด้านล่างบ่งบอกระดับกำลังขับของอินทีเกรทแอมป์เป็นเปอร์เซ็นต์ เข็มวัดระดับทั้งสองข้างนี้มีไฟแสดงสถานะสว่างขณะใช้งานตลอดเวลา ไฟแสดงสถานะเข็มมิเตอร์นี้สามารถสั่งปิดได้เช่นเดียวกับการทำงานของเข็มมิเตอร์ที่สามารถสั่งปิดการทำงานได้ตามต้องการ ระหว่างเข็มทั้งสองนี้เป็นตำแหน่งติดตั้งไฟสีเขียวยี่ห้อ Accuphase ไฟดังกล่าวทำงานเมื่อเปิดเครื่องใช้งานทุกครั้ง ส่วนด้านใต้ของไฟแสดงยี่ห้อ Accuphase นี้เป็นตำแหน่งตัวเลขบ่งบอกระดับความดังของโวลลุ่ม แสดงไว้ด้วยตัวเลขสีส้มสามหลักชัดเจนทำให้สะดวกต่อการใช้งานในระยะจุดนั่งฟัง

ในกรอบใต้เข็มมิเตอร์ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา กำหนดตำแหน่งไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่อง เริ่มจากใต้เข็มมิเตอร์จอด้านขวา สองตำแหน่งแรกเป็นดวงไฟสีแดงแสดงตำแหน่งลำโพงชุด A และ B สองดวงถัดมาเป็นสถานะ POWER IN ทั้ง BAL, LINE ถัดมาเป็นตำแหน่ง Phase สัญญาณ และ Mono, Tone ข้ามมาใต้จอแสดงผลฝั่งซ้ายเริ่มจาก Record ตำแหน่ง ON และ Play ถัดมาเป็นตำแหน่ง COAX, OPT, DAC, USB และ MC เมื่อใช้งานในตำแหน่งนั้นๆ ไฟแสดงสถานะจะติดสว่างขึ้นมา ด้านขอบจอมิเตอร์แสดงผลสกรีนตัวอักษร 0 dB 180 Watt at 8 OHMS นับว่ามีฟังก์ชั่นการใช้งานได้รอบคลุมมากและมีการระบุตำแหน่งที่ชัดเจน

ด้านใต้จอแสดงผลออกแบบให้เป็นฝาปิดปุ่มสั่งงานทั้งหมด ที่ฝาปิดด้านนอกนี้สกรีนประเภทของเครื่องไว้เป็น Integrated Stereo Amplifier E-470 หากต้องการเปิดฝาครอบนี้ออกทำได้โดยกดปุ่มเล็กที่ยื่นออกมาใต้ปุ่มโวลลุ่ม ฝาปิดปุ่มชิ้นนี้จึงจะเปิดออกมาด้วยความนุ่มนวล นับว่าเป็นบุคลิกการทำงานที่ Accuphase ใส่ใจเรื่องเหล่านี้ได้ยอดเยี่ยมตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ข้างๆ ปุ่มเปิดฝาครอบนี้มีปุ่มสั่งงาน COMP และ ATT อยู่หนึ่งปุ่มพร้อมช่องเสียบหูฟังแบบมาตรฐานอยู่หนึ่งช่อง

เมื่อเปิดฝาครอบออกมา E-470 วางเลย์เอาท์ปุ่มกดแบบกระดุมขนาดเล็กไว้สมมาตรทั้งสองข้าง โดยข้างซ้ายวางปุ่มแบบกระดุมไว้หกปุ่ม เป็นปุ่มเลือกใช้งานลำโพง A, B และ MONO ไว้สามปุ่มบนตามแนวนอน ส่วนสามปุ่มล่างเป็นปุ่ม POWER IN, PHASE, และ TONE ทั้งหมดหกปุ่มนี้ยังสกรีนตัวอักษรหน้าที่ของปุ่มกำกับไว้ที่ฝาปิดนี้อีกครั้งหนึ่ง ส่วนด้านซ้ายที่วางปุ่มลักษณะเดียวกัน สามปุ่มแรกด้านบนเริ่มจากปุ่ม ON, Play, DAC สามปุ่มล่างเป็นปุ่ม Meter, Display, MM/MC เมื่อสั่งงานปุ่มใดๆ ก็ตาม ไฟแสดงสถานะดวงสีแดงจะสว่างขึ้นในตำแหน่งที่กำหนดไว้ กึ่งกลางระหว่างปุ่มกระดุมเล็กข้างละหกปุ่มดังกล่าว วางปุ่มโทนคอนโทรล BASS, TREBLE และปุ่ม Balance สำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการเพิ่มย่านเสียงทุ้มและเสียงแหลมตามต้องการ และปรับความดังแชนแนลซ้ายและแชนแนลขวาตามต้องการ ซึ่งนับวันฟังก์ชั่นเหล่านี้เหลือเพียงไม่กี่ยี่ห้อที่ยังคงไว้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีกับผู้ใช้งานมากทีเดียว การปิดฝาครอบปุ่มชิ้นนี้กระทำโดยการยกตัวฝาขึ้นให้แนบกับแผงหน้าปัดเป็นอันเสร็จสิ้นการทำงาน

ด้านใต้ของปุ่มเลือกอินพุทเป็นตำแหน่งติดตั้งปุ่มเปิด – ปิดเครื่องขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบป๊อบอัพ การเปิดและปิดเครื่องต้องกระทำที่ปุ่มนี้เท่านั้นไม่สามารถสั่งเปิดและปิดได้จากรีโมทคอนโทรล แผงหน้าปัดทำมาจากอะลูมิเนียมที่มีความหนา เป็นงานแผงหน้าที่สมดุลและกลมกลืนเรียบร้อยลงตัวมากยี่ห้อหนึ่งในวงการเครื่องเสียงไฮเอนด์ ส่วนด้านบนและด้านข้างของเครื่อง ออกแบบด้วยวัสดุคนละชิ้นกัน ด้านบนและด้านล่างเป็นเหล็กชุบสีเจาะร่องระบายความร้อนตลอดแนว ส่วนแผงด้านล่างเจาะรูแบบรังผึ้งตลอดทั้งแผ่น ติดตั้งไว้ด้วยสกรูหัวสี่แฉก เมื่อมองทะลุด้านบนลงไปพบหม้อแปลงขนาดใหญ่อยู่เกือบกึ่งกลางตัวเครื่อง เยื้องไปทางด้านขวาและด้านหลังเครื่องเล็กน้อย ด้านหน้าหม้อแปลงวางคาปาซิเตอร์ขนาดใหญ่ไว้สองตัว ด้านข้างหม้อแปลงวางแผงวงจรภาคขยายในแนวลึกขนาบข้างหม้อแปลงไว้ข้างละหนึ่งแผง ด้านซ้ายสุดเป็นช่องเสียบบอร์ดออฟชั่นสองช่องที่ออกแบบรองรับการอัพเกรดได้ในอนาคต

ด้านข้างของตัวถังเครื่องเลือกใช้อะลูมิเนียมที่มีความหนาพับขอบให้กินพื้นที่ด้านบนและด้านล่างของตัวเครื่องเล็กน้อย ทำให้ตัวเครื่องแน่นหนาลดแรงสั่นสะเทือนพร้อมสลายคลื่นความถี่ที่มากระทบตัวเครื่องได้ดี ตัวถังด้านข้างทั้งสองชิ้นนี้เซาะร่องด้านล่างสี่ร่องไว้ทั้งสองข้าง ด้านล่างของเครื่องให้ขารองรับเครื่องมาทั้งหมดสี่ตัว ตัวขารองรับเครื่องออกแบบให้จุดที่สัมผัสกับชั้นวางเครื่องเป็นผ้าสักหลาดที่ซึมซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี รองรับเครื่องที่มีน้ำหนักราวสามสิบกิโลกรัมได้สบายๆ

รายละเอียดด้านท้ายเครื่อง วางผังการออกแบบแบ่งออกเป็นสามส่วน โดยด้านซ้ายของตัวเครื่องวางตำแหน่งติดตั้งบอร์ดอ๊อฟชั่นไว้สองช่อง มีแผ่นปิดไว้แน่นหนา ส่วนด้านขวาของตัวเครื่องเป็นช่องเสียบขั้วต่อสายลำโพงและขั้วต่อไฟเอซีเข้าเครื่อง โดยที่กึ่งกลางของแผงหลังวางขั้วสัญญาณอินพุทแบบบาลานซ์ไว้ตามแนวนอนสี่ชุด ซึ่งแตกต่างจากรุ่น E-460 สองชุดแรกวางไว้ตามแนงดิ่งของกันและกัน โดยคู่ด้านบนเป็นช่องอินพุทอันบาลานซ์ CD-BAL สองคู่ด้านล่างเป็นช่องอินพุท BAL ( 1 GND, 2 -, 3 +) ขั้วบาลานซ์อีกหนึ่งชุดเป็นขั้ว Pre Out ในกรณีที่ใช้งานเป็นปรีแอมป์ ขั้วบาลานซ์อินพุทอีกหนึ่งชุดเป็นการออกแบบเพิ่มเติมจากรุ่นเดิม ระบุเป็นขั้ว BAL IN และยังมีสวิตช์เลื่อนเฟสสัญญาณให้ใช้งานได้ทั้งแบบ EU Type และ American Type ติดตั้งไว้ข้างๆขั้ว ด้านใต้ของขั้วบาลานซ์สกรีนรายละเอียดของเครื่อง ระบุรุ่น ยี่ห้อ การใช้ไฟฟ้า แรงเคลื่อน และประเทศผู้ผลิตชั้นเจน อีกทั้งมีการติดตั้งเพลทระบุเบอร์เครื่องไว้ใกล้ๆ กัน

ด้านบนของช่องบาลานซ์ เป็นตำแหน่งติดตั้งขั้วเชื่อมต่อแบบอันบาลานซ์ (RCA) ทั้งหมด เป็นขั้วอินพุทสัญญาณแบบอันบาลานซ์ทั้งหมดห้าคู่ โดยแต่ละคู่วางตามแนวดิ่งทั้งหมดเรียงจากขั้วอินพุท TUNER, CD, LINE1, LINE2, LINE3 ตามลำดับ ถัดจากขั้วอินพุทแบบอันบาลานซ์ห้าคู่แล้วยังมีอีกสี่คู่ เป็นของ RECORD 2 คู่ คู่แรกเป็นช่อง Play อีกหนึ่งคู่เป็นช่อง Record อีกสองคู่ที่เหลือที่เป็นตำแหน่ง Pre Out และ Power IN สำหรับเปลี่ยนให้อินทีเกรทแอมป์เครื่องนี้ทำหน้าที่เป็นปรีแอมป์หรือเพาเวอร์แอมป์ ที่ขั้วอันบาลานซ์ทุกขั้วมีพลาสติกสีเทาอุดขั้วช่องที่ไม่ได้ใช้งานไว้ทั้งหมด

ถัดมาด้านขวาของเครื่องวางขั้วต่อสายลำโพงขนาดใหญ่สีดำแดงมาทั้งหมดสองแถว โดยแถวบนถูกกำกับไว้ด้วยขั้วชุด A ส่วนแถวด้านล่างเป็นขั้วลำโพงชุด B สามารถใช้สายลำโพงที่มีขั้วต่อได้หลายรูปแบบที่สุด ใต้ขั้วต่อนี้เป็นช่อง IEC แบบสามขาตัวนำ ทำให้เลือกใช้สายไฟเพื่ออัพเกรดได้ตามใจชอบ ใกล้กันเป็นเพลทสีเงินที่ระบุเบอร์เครื่องด้วยการตอกลงบนเพลทนี้ และติดตั้งเพลทนี้เข้ากับตัวเครื่องด้วยหมุดย้ำข้างละหนึ่งตัว นอกเหนือจากนี้การสกรีนตัวอักษรประเทศผู้ผลิต การใช้พลังงาน รุ่นและยี่ห้อ คำเตือนเรื่องความปลอดภัยมีอยู่ครบถ้วนที่ด้านหลังของเครื่อง

การออกแบบวงจรเป็นฟลูลี่บาลานซ์ใช้ทรานซิสเตอร์มอตเฟสและอุปกรณ์ออดิโอเกรดชั้นเยี่ยมในภาคเพาเวอร์แอมป์ วงจรต่อแบบขนานพุช-พลู หม้อแปลงวงแหวนคุณภาพสูงเสียงรบกวนต่ำจ่ายกระแสได้สูง คาปาซิสเตอร์คุณภาพสูงมีให้มาทั้งหมดสองตัว อีกทั้งจุดเด่นในเรื่องแด้มปิ้งแฟกเตอร์ที่สูงขึ้นจากรุ่นเดิมที่ทำได้ 200 รุ่น E-470 มีค่าสูงถึง 500 เช่นเดียวกับค่า S/N Ratio ที่มีมากกว่ารุ่นเดิมอยู่ 2 เดซิเบล

ส่วนภาคปรีแอมป์บรรจุวงจรลิขสิทธิ์เฉพาะที่เป็นจุดเด่นของ Accuphase AA VA ในทุกๆ แง่ของวงจรและการควบคุมระดับของเสียง นับว่าเป็นการพัฒนาหัวใจหลักของจุดเด่นด้านปรีแอมป์ วงจร AA VA นี้มีการแบ่งระดับความดังเป็นหลายๆ ระดับ ในสเปคระบุระดับความดังไว้ถึง 65,536 ระดับ โดยใช้หลักการเปลี่ยนแรงเคลื่อนไปเป็นกระแสในการป้อนกลับ ทำงานร่วมกับสวิตช์ปิด-เปิด 16 ชุด สวิตช์ดังกล่าวรับคำสั่งมาจาก CPU ที่ประมวลผลตำแหน่งของปุ่มโวลลุ่มอีกที ส่งผลให้การส่งถ่ายสัญญาณทุกระดับความดังแม่นยำและละเอียดอ่อนที่สุด ทั้งหมดของการออกแบบวงจรแต่ละส่วนระบุไว้ในคู่มือและเว็บไซต์ของ Accuphase อย่างชัดเจน

Accuphase E-470 ให้รีโมทคอนโทรลไร้สายสีทองแชมเปญรุ่น RC-220 มาหนึ่งอัน สามารถใช้งานร่วมกับเครื่องเล่นแผ่น CD / SACD ได้ด้วย นอกเหนือจากนั้นอุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง มีคู่มือหนึ่งเล่ม อีกหนึ่งเล่มเป็นการออกแบบวงจรและค่าระบุที่สำคัญมาหนึ่งชุด นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเสียงจากญี่ปุ่นที่นิยมให้ข้อมูลของวงจรมากับตัวเครื่อง ตัวเครื่องห่อหุ้มไว้ด้วยผ้ากันรอยสีขาว คู่มือและรีโมทบรรจุมาในกล่องกระดาษเล็กๆ ภายในอีกชั้น พร้อมทั้งสายไฟเอซีเข้าเครื่องหนึ่งเส้น แบตเตอรี่ใส่รีโมทสองก้อน ตัวเครื่องวางไว้บนยางผสมที่ยืดหยุ่นตัวได้ดี บรรจุภัณฑ์ดีเยี่ยม กล่องภายนอกเป็นกล่องสองชั้นพร้อมสกรีนรายละเอียดที่ข้างกล่องไว้ชัดเจน พร้อมเบอร์เครื่องที่ตัวกล่องเฉกเช่นเครื่องเสียงไฮเอนด์จากฝรั่ง

Accuphase E-470 มีขนาดและสัดส่วน กว้าง 465 สูง 181 ลึก 428 มิลลิเมตร น้ำหนัก 24.5 กิโลกรัม รวมแพ็คเกจ 31 กิโลกรัม

 DSC_0136

ข้อมูลจำเพาะอินทีเกรทแอมป์ Accuphase E-470

ช่องสัญญาณขาเข้า 7 ชุด (RCA)                     Line 1,2,3,Play,Power in,CD,TUNER

ช่องสัญญาณขาเข้า 3 ชุด (XLR)                     CD-BAL,BAL,Power in

ช่องสัญญาณขาเข้าอุปกรณ์เสริม 2 ช่อง               OPTION1, 2 (DAC/Phono)

ช่องสัญญาณขาออก 2 ชุด (RCA)                      Rec Out, Pre Out

ช่องสัญญาณขาออก 1 ชุด (XLR)                        Pre Out

สัญญาณเสียงต่อสัญญาณรบกวน (LINE)                         109 เดซิเบล

สัญญาณเสียงต่อสัญญาณรบกวน (BALANCED)             102 เดซิเบล

สัญญาณเสียงต่อสัญญาณรบกวน (POWER)                    125 เดซิเบล

ความเพี้ยนโดยรวม @ 20-20 kHz (THD)                        0.05 %

กำลังขับต่อเนื่องที่ 8 โอห์ม power output into 8 ohms      180 วัตต์/ข้าง

กำลังขับต่อเนื่องที่ 6 โอห์ม power output into 6 ohms      220 วัตต์/ข้าง

กำลังขับต่อเนื่องที่ 4 โอห์ม power output into 4 ohms      260 วัตต์/ข้าง

ความต้านทานขาเข้า (LINE)                                             20 กิโลโอห์ม

ความต้านทานขาเข้า (BALANCED)                               40 กิโลโอห์ม

ความต้านทานขาเข้า (POWER)                                       20 กิโลโอห์ม

หยุดการสั่งค้างกรวยลำโพง Damping factor                    500 @ 8 โอห์ม

ความไวขาเข้า Sensitivity (LINE,BAL)                            190 มิลลิโวลต์

ความไวขาเข้า Sensitivity (POWER)                               1.51 โวลต์

แรงเคลื่อน / ความต้านทานช่องปรีเอาท์                             1.51 โวลต์ / 50 โอห์ม

อัตราการขยายสัญญาณ Gain LINE                                  18 เดซิเบล

อัตราการขยายสัญญาณ POWER IN                                  28 เดซิเบล

กำลังไฟฟ้า Power Source                                              AC 230 โวลต์ / 50-60 เฮิรตซ์

 DSC_0127

ชุดและอุปกรณ์อ้างอิง

Accuphase E-470 เครื่องที่ได้รับมานี้เป็นเครื่องใหม่เอี่ยมแกะกล่อง ตั้งแต่ตัวเครื่องมาจากประเทศญี่ปุ่นแล้วส่งตรงมายังผู้นำเข้าโดยผู้นำเข้ายังไม่ได้ใช้งานใดๆ เมื่อเปิดกล่องดูจึงเห็นมาตรฐานการบรรจุมาและความใส่ใจของผลิตภัณฑ์ที่จะมอบให้ผู้ใช้งาน ชุดเครื่องเสียงที่ร่วมใช้งานพร้อมเบิร์นอินในครั้งนี้มีอยู่สองชุดหลักๆดังนี้

ชุดแรกประกอบด้วยเครื่องเล่นซีดี ARCAM : FMJ CD 23 dCS Ring DAC plus HDCD, อินทีเกรทแอมป์เป้าหมาย Accuphase : E-470, ลำโพง Totem Acoustic : Model One Signature ป้ายสีเงินโลโก้สีแดงรุ่นแรก, ลำโพงวางขาตั้ง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพง Wharfedale : Denton 80th Anniversary Limited Edition, ลำโพง XAV : Pratiott Prototype (Tweeter TDL), ลำโพง QUAD 11L Classic จัดวางบนขาตั้ง Focus Audio สูงจากพื้นรวมเดือยแหลม 24 นิ้ว, ขาตั้ง Partington Super Dreadnought สูง 24 นิ้ว สีแกรไฟต์ ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละหนึ่งก้อน

สายสัญญาณอะนาลอกจาก CD ไปอินทีเกรทแอมป์ Cardas Golden Reference (RCA) ท่อหดเทาตัวหนังสือสีทองยาว 1 เมตร, สายลำโพง Cardas Cross Bi-wire สีเขียวท่อหดเทายาว 3 เมตร ต่อด้วยขั้วบานาน่า Monster X-Terminator, สายไฟเอซีเครื่องเล่นซีดี JPS Labs Katovator Lite เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 Evo Au ขั้วท้าย Wattgate 350 Evo Au ยาว 2.0 เมตร, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทีเกรทแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยอมฤตรุ่นพิเศษ Wattgate แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com เจ.เจ. ปลั๊ก) รองใต้ปลั๊กด้วย Acoustic Revive TB-38H จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Acoustic Revive Plug (Special Plug) อีกช่องเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3

ชุดที่สองประกอบด้วยเครื่องเล่น SACD Accuphase : DP 550, อินทีเกรทแอมป์เป้าหมาย Accuphase : E-470, ลำโพงวางขาตั้ง Totem Acoustic : Model One Signature ป้ายสีเงินโลโก้สีแดงรุ่นแรก, ลำโพง Wharfedale : Denton 80th Anniversary Limited Edition, ลำโพง Monitor Audio : Studio 2, ลำโพงวางขาตั้ง XAV : Patiott Prototype (Tweeter TDL) วางบนขาตั้ง Totem Acoustic T4S ขนาด 24 นิ้ว ไม่ได้กรอกทรายทุกชนิด ด้านบนตู้ลำโพงวางก้อนอิทธิเจทับไว้ตู้ละหนึ่งก้อน

สายสัญญาณอะนาลอกจาก SACD ไปอินทีเกรทแอมป์ JORMA UNITY (XLR) ยาว 1.5 เมตร, สายลำโพง JORMA UNITY Single-wire Sweden ขั้วต่อ WBT จากโรงงาน ยาว 2.5 เมตร, สายไฟเอซีเครื่องเล่นซีดี JPS Inwall Power Cord เข้าขั้ว Wattgate ทองรุ่นเก่าทั้งด้านขั้วตัวผู้และขั้วตัวเมียยาว 2.1 เมตร, สายไฟเอซี Hovland Main Line Power Cord เข้าขั้วตัวผู้ Wattgate 330 ขั้วท้าย Wattgate 350 รุ่นเก่าเสียบเข้าที่อินทีเกรทแอมป์ โดยสายไฟของเครื่องเล่นซีดีและอินทีเกรทแอมป์ต่อเข้าปลั๊กลอยหิมพานต์ แบบหกช่องเสียบ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com เจ.เจ. ปลั๊ก) รองใต้ปลั๊กด้วย Acoustic Revive TB-38H จากปลั๊กลอยต่อด้วยสายไฟ Cardas Golden Reference Power Cord รุ่นดั้งเดิมท่อหดเทายาว 2 เมตร เข้าปลั๊กผนัง Acoustic Revive Plug (Special Plug) อีกช่องเสียบสายไฟใช้งานเครื่อง Acoustic Revive RD-3 ด้านท้ายสายไฟเอซีทั้งหมดรองไว้ด้วยอุปกรณ์รองสาย Acoustic Revive PSA-100 ทุกจุดทุกเครื่อง พร้อมทั้งต่ออุปกรณ์จัดการระบบกราวด์ Acoustic Revive RGC-24 ไว้ที่อินทีเกรทแอมป์

เครื่องเล่นซีดี / SACD จัดวางบนชั้นวาง TOWNSHEND Audio : Seismic Isolation Platform S3, อินทีเกรทแอมป์วางไว้บนชั้นวาง Solid Tech : Rack of silence regular 1 + แผ่นไม้ Solid Tech แท้ (สลับวางบนชั้นวาง Target PSF-1), ด้านบนของเครื่องบริเวณทรานสฟอร์เมอร์วางก้อนอิทธิเจทับไว้หนึ่งก้อน และบริเวณโวลลุ่มวางก้อนอิทธิเจรุ่นดั้งเดิมไว้หนึ่งก้อน พยายามแยกสายต่างๆ ให้ห่างออกจากกัน และยกสายสัญญาณด้วยก้อนอิทธิเจ (ที่ระลึกครบรอบ ๙ ปี www.audio-teams.com) สายลำโพงรองไว้ด้วยตัวรองสาย Cable Insulater Acoustic Revive RCI-3H ข้างละสองตัว ส่วนสายไฟเอซีทั้งหมดยกให้ลอยจากพื้นห้องด้วยบล็อคไม้ Cardas ในระบบไฟเอซีและขั้วต่อสายสัญญาณระหว่างเครื่องรวมถึงขั้วด้านท้ายของอินทีเกรทแอมป์ จูนไว้ด้วย Acoustic Revive : QR8 ทั้งหมดแปดจุดแปดตัว

ภายในห้องฟังใช้อุปกรณ์สะท้อนเสียง (แผงดิฟฟิวเซอร์) ของ Handcraft Acoustic 1 ชุด มีทั้งหมดสี่แผงและปรับแต่งอะคูสติกเบื้องต้นด้วยอุปกรณ์ปรับแต่ง ASC Sound Panel ทั้งหมดสี่คู่ โดยวางไว้ด้านหลังลำโพงสองคู่ ด้านข้างลำโพงสองคู่ ด้านหลังลำโพงปรับแต่งด้วยจิกซอว์ของ HIFI Club หนึ่งคู่ ใกล้กันจูนด้วยรูมจูนของ Michel Green 1 คู่ (สีเทา) รูมจูน Michel Green อีกหนึ่งคู่วางจูนไว้ด้านหลังห้อง (สีขาว) จูนเสียงโดยวาง Dyna Foot 3 ลูก ไว้ตรงกึ่งกลางของแผงดิฟฟิวเซอร์แผงกลางด้านหลังลำโพง 1 ลูก และวางไว้ข้างซ้ายและข้างขวาอย่างละ 1 ลูก แผงหลังจุดนั่งฟังวางทิปโท เจ.เจ. จูนเสียงด้านบนแผงดิฟฟิวเซอร์ทั้งสามตัว โดยวางไว้ข้างซ้าย,ขวาและกึ่งกลางอย่างละหนึ่งตัวเอาด้านปลายแหลมชี้ขึ้นฟ้า มีอุปกรณ์ปรับความถี่ ABC ของออดิโอคอนซัลแตนซ์วางไว้กึ่งกลางแผงหลังอีกที ส่วนแผงด้านข้างทั้งสองแผงจูนเสียงด้วย Dragon Foot (By เดอะหั่ง แห่ง HIFI HOUSE) ลูกใหญ่ตรงกึ่งกลางแผงละ 1 ลูก และวางเครื่องกำจัดคลื่นรบกวน Acoustic Revive RR-777 ไว้ด้านบนกึ่งกลางแผงดิฟฟิวเซอร์ด้านหลังลำโพง เป็นตำแหน่งที่ดีสำหรับห้องฟังห้องนี้

ขนาดของห้องฟังโดยประมาณ กว้าง 3.8 ยาว 6.5 และสูง 2.4 เมตร ผนังด้านข้างเป็นอิฐมอญฉาบเรียบด้วยปูนฉาบทาปิดผิวหน้าด้วยสีน้ำ พื้นไม้เข้าลิ้นวางทับหน้าด้วยพรมบริเวณจากหน้าลำโพงถึงจุดนั่งฟัง นั่งฟังด้วยเก้าอี้ผ้าที่มีความสูงพอดีกับหัวไหล่ โครงเก้าอี้เป็นไม้และใช้วัสดุเป็นผ้ารองนั่งกับแผงพนักพิงหลัง นั่งฟังห่างจากลำโพง 2.4 เมตร โทอินลำโพงไม่เกิน 20 องศา โดยประมาณ (เกือบทุกคู่) พร้อมทั้งวางก้อนอิทธิเจรุ่นฉลองครบรอบ 9 ปี เว็บไซต์ออดิโอทีมดอทคอมทับด้านบนของตู้ลำโพงไว้ตู้ละ 1 ก้อน

 DSC_0123

ผลการลองฟัง

อินทีเกรทแอมป์   Accuphase E-470 เครื่องนี้เป็นเครื่องใหม่แกะกล่อง ซึ่งทางผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแจ้งมาว่าเครื่องยังไม่ได้ทำการเปิดเบิร์น นับว่าเป็นการดีไม่น้อยที่จะได้ใช้เครื่องใหม่เพื่อจับรายละเอียดตั้งแต่เริ่มใช้งานไปจนผ่านพ้นระยะเบิร์นอิน ช่วงแรกที่เริ่มใช้งานกลับให้ความฉงนสนเท่ห์ไม่น้อย เพราะในอดีตที่ผ่านมา รุ่น E-460 ไม่สามารถสร้างความประทับใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มฟัง แต่ E-470 กลับสร้างความแตกต่างที่เหนือชั้นไปอีกขั้น นับแต่เสียบไฟฟ้าเข้าเครื่องทิ้งไว้และเริ่มฟังเสียงตั้งแต่วินาทีแรก น้ำเสียงของ E-470 ต้องเชื้อเชิญให้ร่วมนั่งฟังอยู่ด้วย และยังสามารถดึงดูดให้นั่งฟังได้ต่อเนื่องและยาวนานอย่างมีความสุข

การใช้งานจึงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ทั้งการใช้งานด้วยการฟังเพลงปกติ สลับช่องอินพุททั้งแบบบาลานซ์บ้าง อันบาลานซ์บ้าง ส่วนขั้นเชื่อมต่อสายลำโพงก็สลับใช้งานทั้งคู่ด้านบนและคู่ด้านล่าง อันที่จริงขั้วต่อสายลำโพงของ Accuphase ออกแบบมาให้ใช้งานได้ครอบคลุมทุกรูปแบบ ไม่ว่าสายที่จะมาร่วมใช้เป็นรูปแบบใด จะเล็กหรือใหญ่ก็สามารถใช้งานร่วมได้ดี ผมอยากให้เครื่องเสียงและลำโพงหลายๆ ยี่ห้อมาดูตัวอย่างแล้วนำไปออกแบบกันบ้าง การใช้งานรวมถึงการเบิร์นอินด้วยแผ่นเบิร์นอินของ PURIST AUDIO REV-B ดำเนินไปต่อเนื่องจวบจนข้ามเส้นสองร้อยชั่วโมงเศษ ความเปลี่ยนแปลงจากการใช้งานในครั้งแรกอาจไม่มากนัก แต่เป็นการเรียบเรียงจุดเด่นในครั้งแรกให้สุภาพและสุขุมนุ่มลึกแบบผู้ใหญ่ไปอีกหลายขั้น

การใช้งานจริงเปิดเครื่องให้ไฟเข้าไว้ตลอดเวลา เมื่อเลิกใช้งานลดระดับเสียงลงจนสุดเท่านั้นพอ ยกเว้นช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งานและไม่อยู่บ้านเป็นระยะเวลาหลายวันติดต่อกันยาวนานจึงจะปิดปุ่มเพาเวอร์หน้าเครื่องตัดไฟออกจากระบบ จุดนี้ไม่ใช่เป็นการทรมานเครื่อง เพราะเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์หลายตัวรวมถึงเครื่องที่ผมใช้อ้างอิงเป็นประจำก็ใช้งานลักษณะเดียวกันนี้ เมื่อเครื่องพร้อมใช้งานถึงที่สุดแล้ว พิจารณาจากรูปวงเป็นลำดับแรก โดยรูปวงให้สัดส่วนความสูงต่ำได้อย่างดีเยี่ยม ตรึงตำแหน่งชิ้นดนตรีทั้งหมดไว้แน่นสนิท ในช่วงที่ใช้กระแสสูงเข็มมิเตอร์แสดงกำลังขับสวิงไปสามในสี่ส่วนของสเกล นับว่ากำลังขับยังมีเหลือเฟือมากเพียงพอในการขับดันลำโพง ไม่ว่าลำโพงคู่นั้นจะมีค่าความต้านทานที่ 8 โอห์มหรือ 4 โอห์มก็ตาม ในช่วงที่ต้องการกระแสสูงรูปวงและชิ้นดนตรีภายในวงยังคงตรึงไว้แน่นสนิทแม่นยำเช่นเดิม ความสูงของเครื่องเป่าจำพวกแซกโซโฟนม้วนเสียงลงจนเกือบจรดพื้นแล้วล่องลอยขึ้นไปจรดเพดาน ให้เสียงที่เข้มข้นและมีความชัดใส ในแบบฉบับสุภาพทุกท่วงทำนอง พร้อมบรรยากาศรอบตัวเสียงเคล้าคลอไม่ขาดหาย [Arne Domnerus : Antiphone Blues / Proprius PRCD 7744]

เมื่อพิจารณาด้านกว้างของรูปวง นับว่าโดดเด่นไม่น้อย ด้านกว้างขยายตัวออกไปจนสุดผนังทั้งสองข้างเป็นสัดส่วนที่สมดุลกับด้านลึก โดยด้านลึกให้แถวแรกถอยหลังจากหน้าลำโพงลงไปหนึ่งแถวจากนั้นจัดระเบียบแถวที่สองและสามและแถวต่อๆไปด้วยระยะที่สมดุลกับการบันทึกมา เมื่อเทียบเคียงกัน รูปวงด้านกว้างเสมอสมานกับด้านลึกซึ่งแตกต่างจากรุ่น E-460 ช่องไฟในแต่ละแถวแต่ละชั้นดนตรีแยกแยะจำแนกได้เด็ดขาดมากยิ่งขึ้น เป็นการแยกแยะชิ้นดนตรีโดยรักษาสเกลของชิ้นดนตรีให้สมดุลกับรูปวงทั้งสองด้าน อัลบั้ม [POSTCARDS : The Turtle Creek Chorale / RR-61CD] บอกกล่าวประเด็นนี้ได้ดี รูปวงที่ได้เป็นรูปวงครึ่งวงกลมสวยงาม เมื่อนำทั้งสามด้านของรูปวงมารวมเข้าด้วยกัน ฉายความเป็นสามมิติของเสียงได้เด่นชั้นเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

แนวเพลงขับร้องประสานเสียงประเภทเพลงสวด [Now the Green Blade Riseth / Proprius PRCD 9093] มวลเสียงพอดิบพอดี ให้ความกระจ่างของตัวเสียงและให้ความสุภาพผสมกับความละเอียดของเนื้อเสียง แทบไม่มีการแต่งเติมสีสรรและบุคลิกเครื่องเข้าไป มีน้ำหนักของจังหวะเริ่มแรกในการออกเสียง แบ่งแยกคอนทราสต์ได้เด่นชัดมากขึ้น และเติมบรรยากาศเข้าร่วมทุกช่วงในการนำเสนอ อีกทั้งจำแนกแยกแยะรายละเอียดทั้งหมดออกจากกัน เช่นเสียงขับร้องของนักร้องชายนักร้องหญิงและเด็กยิ่งเด่นชัดมากขึ้น ในความชัดเจนนี้มีสัดส่วนความสดใสเปล่งประกายในการนำเสนอ เกรนเสียงสุภาพละเอียดละเมียด ฟังได้ยาวนานพร้อมรับรู้ว่านี่คือเสียงจากดนตรีไม่ใช่เสียงดิจิตอลจ๋าที่นิยมชมชอบกันมากขึ้น

ในด้านความกังวานของเสียงเปียโนและเครื่องเคาะโลหะต่างๆ ให้ความกังวานและรายละเอียดในตัวเสียงที่เด่นชัด บรรยากาศรายรอบตัวเสียงดีเยี่ยมทีเดียว นำเสนอออกมาให้ฟังได้เพลิดเพลินเสมือนเป็นเสียงการเคาะเปียโนจริงๆ ตรงเบื้องหน้า ตัวเสียงสะอาดเกลี้ยงเกลา [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] เสริมเติมกับจังหวะแรกของเครื่องดนตรีที่ปะทะออกมา ให้แรงปะทะของเสียงที่ชัดเจนดุดันยิ่งขึ้นและปล่อยหางเสียงให้ทอดตัวไปอย่างรวดเร็วไม่ห้วนสั้น ย้ำเน้นจังหวะแรกกระทบให้เด็ดขาดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในอินทีเกรทรุ่นดั้งเดิม หลังจากจังหวะแรกกระทบแล้ว มวลเสียงทั้งหมดกลมกลึงควบแน่นต่อเนื่องและทอดหางเสียงไว้ตามท่วงทำนอง จึงค่อยๆ จางหายไปด้วยความราบรื่น

ก่อนจะไปขุดคุ้ยเรื่องเสียงขับร้องและเสียงเครื่องเคาะทั้งหลาย ผมได้ลองนำแนวเพลงที่เน้นเรื่องมิติและตำแหน่งของเหล่าบรรดาเครื่องเคาะโลหะทั้งหลายของอัลบั้มเก๋ามาสเตอร์เดิม [DAFOS / REFERENCE RECORDINGS RR-12CD USA] แทร็คที่เจ็ดตรึงตำแหน่ง มิติเครื่องเคาะทั้งหมดไว้แน่นสนิท จำแนกแต่ละชิ้นดนตรีออกมาเด็ดขาด ย้ำเน้นหัวโน้ตให้ฉับไวชัดคมแต่ไม่คมกริบจนห้วนสั้น แสดงทั้งมิติ ตำแหน่ง ช่องไฟ ความสงัด รวมไปถึงพละกำลังได้ครบครันดีเยี่ยม เมื่อนำแทร็คนี้ไปลองวัดผลเบื้องต้นของกำลังขับและมิติตำแหน่งในการเลือกใช้งานอินทีเกรทแอมป์คงชี้ชัดลงไปถึงประสิทธิภาพในการขับดันและกำลังสำรองของเครื่องได้ง่ายยิ่งนัก เสียงทั้งหมดในการถ่ายทอดออกมาต้องเรียกว่าฉีกแนวจากรุ่นเดิมไปอีกหลายช่วงตัว คล้ายกับเครื่องลูกครึ่งมะกันผสมกับยุโรปโดยไม่ลืมบุคลิกอันโดดเด่นเรื่องความละเอียดละเมียดละไมในแนวทางชาวเอเซีย ทุกอย่างหลอมรวมมาให้เป็น E-470

กับเครื่องสายเครื่องสีต่างๆ [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] ถ่ายทอดออกมาด้วยความเด่นชัดกังวานและสุภาพ หางเสียงสดใสทอดตัวไปไกลและยาวนานตามจังหวะพร้อมเติมความฉ่ำเล็กน้อยและมีความเข้มข้นสมดุลเสมอสมานกัน ให้ความกังวานอีกทั้งยังกำหนดและควบคุมลีลาของการนำเสนออยู่ตลอดท่วงทำนอง เสียงการบดขยี้ไวโอลินดุดันและเข้มข้น หางเสียงเป็นอิสระต่อกันและมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แจกแจงออกมาเสมอ รายละเอียดในตัวเสียงแต่ละเสียงเด่นชัด จำแนกแยกแยะออกมาได้ดี ให้จังหวะจะโคน เครื่องดนตรีประเภทไวโอลิน วิโอล่า และเครื่องสายอื่นๆ ถ่ายทอดออกมาด้วยความเด่นชัดละเอียดละเมียดละไม

เหล่าบรรดาเครื่องสีเครื่องสายในวงออร์เคสตร้า ตัวเสียงมีความชัดเจนในแนวทางหวานใสและให้สุภาพอยู่ตลอด หางเสียงทอดตัวได้ไกลและทิ้งระยะไว้ตามจังหวะเวลาจึงค่อยๆ จางหายไปด้วยความราบรื่น ไม่มีอาการขึ้นขอบคมแข็งของหางเสียง ให้ความกังวานบนพื้นฐานความชัดเจน [THE SYMPHONIC SOUND STAGE D/CD3502] รายละเอียดในตัวเสียงแต่ละเสียงเด่นชัดจากเดิมไปอีกขั้น เสียงกีต้าร์ในจังหวะที่ตวัดนิ้วลงไปสะท้อนกลับมารวดเร็วพร้อมให้น้ำหนักในการตวัดลงไปย้ำเน้นรุนแรง ในจังหวะช้าและเร็วสามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ดีเยี่ยม แบ่งย่อยไดนามิกคอนทราสต์อย่างเหนือชั้น [Livinton Tyler : ink / Chesky Record JD162] นำเสนอเสียงที่แผ่วเบาไล่น้ำหนักเสียงต่อเนื่องขึ้นไปได้ดี เด่นมากกับมวลเสียงที่ให้ขนาดสมดุลพร้อมกับความชัดเจนของตัวเสียงโดยไม่มีอาการขึ้นขอบ อีกทั้งไต่เพดานเสียงไล่ระดับขึ้นไปจนสุดหางเสียงด้วยความต่อเนื่อง

แนวเพลงขับร้องยอดนิยมจาก [CLAIR MARLO : LET IT GO Sheffield Lab CD29] เสียงขับร้องมีขนาดของเสียงพอเหมาะ บรรยากาศรอบตัวเสียงขับร้องสัมผัสได้ต่อเนื่อง เสมือนใส่จิตวิญญาณในการขับร้องเข้าไป ตอบสนองจังหวะดนตรีที่ขับร้องออกมาด้วยลีลาและเน้นความชัดเจนในการขับร้อง ควบคุมและไล่เลียงน้ำหนักเสียงในแต่ละย่านได้ดีเยี่ยม ตอบสนองสัญญาณฉับพลันด้วยความต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยยังตรึงตำแหน่งไว้แม่นยำ มีการไล่เรียงลำดับเสียงตั้งแต่หัวเสียง ตัวเสียงและหางเสียงสอดคล้องตามท่วงทำนองให้ต่อเนื่องกัน รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ละแถวเด่นชัดให้รายละเอียดที่จับต้องได้ เสียงขับร้องและบรรยากาศรอบตัวเสียงสมดุลกลมกลืนกัน เรียกว่าหาที่ติได้ยากยิ่งนัก

กับเพลงขับร้องในแนวทางหวานใสอัลบั้ม [SNOW ROSE Ax-SN04.01] นักร้องขับร้องด้วยเสียงสดใส ชัดเจน ไม่แหบแห้ง พร้อมลีลาในการร้องเพลงเสมือนใส่อารมณ์และชีวิตจิตใจในการขับร้องเข้าไปด้วย ให้ความต่อเนื่องของเสียงขับร้อง หางเสียงจากการบันทึกไร้ความคมแข็ง จัดระเบียบของปลายเสียงซิบๆ ให้ราบรื่นฟังได้เพลิดเพลินตามแนวดนตรี หางเสียงที่มีอาการซิบๆไม่มีให้สัมผัสเลยสักครั้งเดียว ตัวเสียงชัดเจนสะอาดเกลี้ยงเกลาพร้อมอุดมไว้ด้วยความหวานอยู่เสมอแม้จะไม่หวานหยดย้อยเท่ากับเครื่องคลาสเอในรุ่นใหญ่กว่าของยี่ห้อเดียวกัน เมื่อพิจารณาเรื่องการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบแล้ว ความหวานประปรายของ E-470 เพียงพอในการรับฟังเพลงที่ให้ความเป็นดนตรีสูง และเพลิดเพลินเสมือนผู้ฟังหลุดเข้าไปในห้วงของการนำเสนออย่างไม่รู้ตัว

อีกหนึ่งอัลบั้มขับร้อง [FAMOUS BLUE RAINCOAT / JENNIFER WARNES Private Music] เสียงขับร้องชัดใสอุดมไปด้วยความอิ่มหวานอบอวลอยู่ตลอด ให้บรรยากาศที่ยากยิ่งนักสำหรับอินทีเกรทแอมป์ระดับเดียวกันจะถ่ายทอดออกมา รายละเอียดชิ้นดนตรีเคล้าคลอกับเสียงขับร้องจับต้องได้ง่ายดาย เสียงขับร้องนี้มีไดนามิกคอนทราสต์ที่เด่นชัด การผ่อนหนักผ่อนเบาของเสียงขับร้องรวมไปถึงเสียงลมหายใจไล่ลำดับเสียงได้ดีมาก นอกจากนั้นอัลบั้มขับร้องของ [AMANDA McBROOM : DREMING/Gecko Record] ให้บรรยากาศรอบๆ ตัวเสียงได้โดดเด่นพร้อมปล่อยให้หางเสียงจางหายไปด้วยความราบรื่นเป็นธรรมชาติมาก มวลเสียงมีขนาดพอเหมาะสมดุลกัน จังหวะแรกของเครื่องดนตรีประเภทนี้เปล่งเสียงออกมา ส่งถ่ายแรงปะทะแรกให้ย้ำเน้นเด็ดขาดกระชับฉับไว จากนั้นจึงทอดตัวเสียงและปล่อยหางเสียงให้หลุดลอยเป็นอิสระไปตามการกำหนดมาของแนวเพลง

ข้ามก้าวมากับเสียงขับร้องของนักร้องชายแทร็คหกอัลบั้ม [ART FOR THE EAR / Burmester CD III] เสียงขับร้องให้มวลพอดิบพอดี น้ำหนักเสียงหนักแน่นย้ำเน้นดีเยี่ยม การร้องประสานเสียงแยกแยะกันอิสระและไม่ล้ำหน้าเกินเสียงหลัก ระดับเสียงของนักร้องทั้งหมดอยู่ในรูปเวทีที่ตรึงไว้แม่นยำและแน่นสนิท หางเสียงขับร้องจางหายไปด้วยความราบรื่น การสไลด์สายกีตาร์และการรูดสายกีตาร์นำเสนอชัดเจน และเปิดเผยลีลาโดยย้ำเน้นความหนักเบา ความอ่อนแก่ของการเล่นกีตาร์ได้ดีเยี่ยม ให้ความเพลิดเพลินและไม่มีอาการเร่งสปีดใดๆ รายละเอียดของแต่ละเสียงในแถวถัดไปไล่ลำดับและความชัดใสเหมาะสม ส่วนที่ลึกเข้าไปจนสุดโถงพร้อมจำแนกรายละเอียดออกมาให้สัมผัสได้ต่อเนื่อง

อีกหนึ่งอัลบั้มยอดนิยมของนักร้องชาย [Livinton Tyler : ink / Chesky Record JD162] ตัวเสียงขับร้องชัดเจนและเข้มข้น สเกลเสียงเครื่องดนตรีสมดุลกลมกลืนกัน ตัวเสียงเด่นชัดและทอดหางเสียงไปด้วยความอิสระจึงเก็บตัวไว้ตามจังหวะเวลา ตัวเสียงขับร้องมีบรรยากาศห้อมล้อมอยู่ต่อเนื่อง การกำหนดลมหายใจเข้าออกชัดเจนพร้อมชีวิตชีวาและให้รายละเอียดปลีกย่อยออกมาครบถ้วนพอดิบพอดี เสียงแผ่วเบาและเสียงสวิงดังขึ้นทำได้รวดเร็วและกระชับ ในหลายแทร็คของอัลบั้มนี้บ่งบอกไดนามิกคอนทราสต์ได้เด่นชัดและเด่นมากกับอินทีเกรทแอมป์ในระดับเดียวกัน

เสียงดับเบิ้ลเบสของอัลบั้ม [THE RAVEN / Rebecca Pidgeon Chesky Records JD115] ให้มวลเสียงที่สมดุลกับย่านเสียงอื่น การเล่นดับเบิ้ลเบสสอดคล้องกับเสียงขับร้องกลมกลืนกันไร้รอยต่อย่านความถี่เสียงต่างๆ ขนาดทรวดทรงเสียงสวยงามยังคงความกลมกลึงและควบแน่นกระแทกกระทั้นดีขึ้นระหว่างตัวเสียงกับเสียงย่านอื่น เสียงเดินเบสในแต่ละเส้นมีจังหวะสอดคล้องกับเปียโนและเครื่องเคาะ หางเสียงแต่ละตัวเป็นอิสระต่อกัน ช่องว่างช่องไฟเด่นชัดไม่มีการซ้อนทับบดบังกัน ในจังหวะที่ตัวโน้ตเงียบก็เงียบสนิทเป็นภวังค์ พื้นเสียงทั้งหมดสะอาดมาก

อัลบั้มอ้างอิงระดับครู [Rain Forest Dream / SAYDISC CD-SDL384] เสียงแรกกระทบทุกจังหวะของการหวดไม้กลองลงไปกระชับกลมกลึงควบแน่นเป็นลูกๆ ควบคุมกรวยลำโพงไม่ให้สั่นค้างได้ดีเยี่ยม ทุกครั้งของการหวดกลองลงไปเสียงอื่นไม่มีการลดสเกลลงหรือหดรูปวงลง เสียงกลองมีขนาดสมดุลไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป การหวดไม้กลองในจังหวะแรกเฉียบขาดรุนแรงให้แรงปะทะแรกที่เด็ดขาด เสียงทุ้มที่ได้จึงย้ำเน้นหัวโน๊ตที่ดีมาก เมื่อสิ้นสุดการหวดไม้กลองลงไปตัวเสียงจึงควบแน่นเป็นกลุ่มก้อน ในทุกจังหวะที่หวดกลองลงไปแอมป์ยังอัดฉีดกระแสป้อนได้ดีต่อเนื่อง เรียกว่าจ่ายกระแสกับลำโพงกินวัตต์ได้โดยไม่เกรงกลัว ไม่ว่าโหลดลำโพงจะลดลงไปอีกระดับก็ตาม การอัดฉีดกระแสสามารถป้อนไปอย่างต่อเนื่อง หน้าปัทม์มิเตอร์บ่งบอกประเด็นที่กล่าวไว้ชัดเจน

เสียงกลองใบใหญ่จาก [Ultimate Reference CD/WILSON AUDIO WA8008] เสียงหนังกลองตึงเปรี๊ยะเช่นเดิม มีเสียงสะท้อนเสียงแรกกระทบออกมาให้ได้ยินชัดเจน เสียงทุ้มไม่โด่งล้ำหน้าย่านเสียงใด ยังคงให้ความสมดุลของย่านเสียงทุ้มนี้กับเสียงย่านอื่นๆ ได้ดี ขนาดของตัวเสียงทุ้มเน้นหัวโน้ตให้ฉับไวเด็ดขาด ให้ความเป็นดนตรีและฟังได้เพลิดเพลินมีจังหวะจะโคน ด้วยกำลังขับที่มากพอให้ขับดันลำโพงวางขาตั้งโหดๆ ได้อย่างไร้กังวล จึงไม่พบปัญหาในการใช้งาน การถ่ายทอดเสียงทุ้มจากเหล่าเครื่องดนตรีไม้มีทั้งเสียงแรกกระทบและเสียงสะท้อน ไม่ต้องเพ่งพินิจในการฟัง เพราะเสียงดังกล่าวถูกขับดันออกมาจนครบถ้วน ทั้งหัวโน้ต ตำแหน่ง น้ำหนัก อัลบั้ม [TakeDake With Neptune : ASIAN ROOTS/Denon LC8723] เป็นอัลบั้มที่ E-470 แสดงผลงานดีๆ ออกมาอีกครั้ง รับรองว่าคุณจะเข้าถึงจิตวิญญาณของดนตรีที่โปรดิวเซอร์ตั้งใจจะให้เป็นได้ง่ายดายยิ่งนัก

เมื่อพิจารณาจังหวะเวลาของเครื่องดนตรีประเภทไม้อัลบั้มเดิม [Take’Dake’ with Neptune / AISIAN ROOTS DENON USA] แจกแจงการเคาะระนาดไม้ผสมกับจังหวะกลองและเครื่องเป่าให้มีจังหวะรวดเร็วตอบสนองได้พอดิบพอดีและจำแนกแต่ละประเภทของเครื่องดนตรีออกมาด้วยความสวยงาม ให้เสียงสะท้อนจากการเคาะ การเป่า และเสียงหนังกลองมีความชัดเจนและยากยิ่งที่จะได้ยินจากเครื่องเสียงระดับกลางทั่วไป สปีดพอดิบพอดี กับแทร็คที่ 1, 11, 12, 13 และ 15 [Musik wie von einem anderen Stern/MANGER] ตัวเสียงและหางเสียงในแต่ละเสียงไม่ปะปนกัน แยกแยะมิติตำแหน่งของแต่ละเสียงให้เด่นชัดออกมาเป็นอิสระต่อกันและจางหายไปด้วยความราบรื่น ฟังได้ยาวนานด้วยความคึกคักสนุกสนานเพลิดเพลินและมีจังหวะจะโคนที่ต่อเนื่อง ยิ่งฟังนานๆ ยิ่งเกิดความคึกคักและสนุกไปกับจังหวะของการถ่ายทอด เป็น Accuphase เบอร์ใหม่ล่าสุดที่ยังคิดถึงอนาคตไม่ออกว่า หากมีรุ่นใหม่กว่า E-470 Accuphase จะสร้างให้ดีกว่าได้อย่างไร

ตอกย้ำกับแนวเพลงคลาสสิกวงใหญ่หลายท่วงทำนอง แทร็คเจ็ดอัลบั้ม [ART FOR THE / EAR Burmester CD III] สามารถขับขานออกมาได้ทั้งจังหวะที่รวดเร็ว ตำแหน่งที่ชัดเจน ขนาดของเสียงแต่ละตำแหน่งให้ความสมดุลเสมอสมานกัน ช่วงที่โหมโรงขึ้นไปควบคุมตำแหน่งให้แน่นสนิทไม่แกว่งไกว ทุกช่วงในการกำหนดลมหายใจนำเสนอออกมาให้ได้ยินด้วยความสุภาพชัดใส แนวเพลงดนตรีมากชิ้นสลับซับซ้อนตอบสนองได้เด่นชัดยอดเยี่ยมมาก เกรนเสียงที่ละเอียดของย่านเสียงแหลมทั้งหมดทำให้ฟังได้ยาวนานและสร้างความเป็นดนตรีได้ดี จำแนกแยกแยะแต่ละแถวได้เด็ดขาด   วางชิ้นดนตรีนับร้อยให้มีตำแหน่งและตรึงแน่นสนิทมาก

ในเมื่อ E-470 ตอบสนองจังหวะได้รวดเร็วแม่นยำ ให้การกระแทกกระทั้นได้ต่อเนื่องและดุดัน มีความคึกคักอยู่ในตัว อีกทั้งตัวเครื่องออกแบบมาให้ทำหน้าที่เป็นเพาเวอร์แอมป์ได้ด้วย ผมนั่งจินตนาการในมโนภาพว่า หาก E-470 นำมาใช้งานร่วมกับชุดโฮมเธียเตอร์ โดยทำหน้าที่เป็นเพาเวอร์แอมป์ขับลำโพงคู่หน้าในระบบมัลติแชนแนลคงได้ดูภาพยนตร์กันสนุกสนานและสมจริงไม่น้อย เรียกว่ามีอินทีเกรทแอมป์หนึ่งเครื่อง สามารถใช้งานได้หลายประเภทในสองระบบทีเดียว

แถมท้ายกับอีกหนึ่งบทเพลงไทยอัลบั้มพิเศษที่ชื่นชอบ คุณสุนารี ราชสีมา เป็นแผ่นเพลงไทยธรรมดาๆ ชุดที่สุดของหัวใจ ปกติอัลบั้มนี้จะใช้ฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย เนื้อเพลงเมื่อได้ฟังแล้วสามารถกำหนดความสุขุมและความนิ่งได้ดี เสียงคุณสุนารีออดอ้อนพิรี้พิไร ไพเราะจนหาที่ติได้ยากยิ่งนัก เนื้อเสียงมีมวลและต่อเนื่องมาก ทุกชิ้นดนตรีแยกแยะออกมาอิสระ เหล่าบรรดาเมาท์ออร์แกนบรรเลงด้วยความหวานไพเราะจับใจ ให้รายละเอียดได้ดี เน้นเรื่องบรรยากาศและความต่อเนื่องของการถ่ายทอดทางด้านอารมณ์ของดนตรี เสียงที่ได้รับ สร้างความประทับใจและสร้างความจดจำในน้ำเสียงที่ E-470 มอบให้ด้วยความไพเราะยากจะลืมเลือน

 1434531857201429638

บทสรุป

Accuphase E-470 สามารถเรียกได้ว่า นี่เป็นการปฏิวัติสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งกว่าเดิมเข้าไปอีก ในช่วงที่ผมเคยรายงานผลการใช้งาน E-460 ผมเคยปารภไว้ว่า Accuphase จะสร้างอินทีเกรทแอมป์ในซีรี่ส์นี้ให้ดีไปกว่านี้ได้อย่างไรอีก และแล้ว Accuphase ก็สร้างอินทีเกรทแอมป์รุ่นใหม่อย่าง E-470 ให้เหนือชั้นกว่ารุ่น E-460 ไปอีกไกลหลายช่วงตัว ครั้งแรกที่ผมได้รับเครื่องรุ่นนี้มา ผมนึกในใจว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เพราะจุดเปลี่ยนใหญ่ๆ ที่ผ่านมานั้น เป็นช่วงรุ่นระหว่าง E-450 กับ E-460   ส่วน E-470 ก็คงเหมือนๆ กับ E-460 แต่ผมคาดการณ์ไปผิดถนัด เพราะ E-470 ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้จารึกกับซีรีส์ 4 นี้ อีกครั้ง

Accuphase E-470 เป็นอินทีเกรทแอมป์ที่ฟังตั้งแต่เริ่มแรกได้ดี และเมื่อระยะเวลาผ่านพ้นเบิร์นอินไปแล้ว ยิ่งเสริมจุดดีในช่วงแรกให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น ทั้งรูปวงที่เคยเด่นมากกับด้านกว้าง ในรุ่นนี้มากันแบบครบเครื่องทั้งสามด้านเสมสมานกันและได้รูปวงที่สวยงดงามมาก อีกทั้งยังให้พละกำลังที่เหลือเฟือเช่นเดิม ย้ำเน้นหัวโน้ตในทุกย่านเสียงได้ชัดเจนและมีน้ำหนักมากขึ้น แบ่งแยกคอนทราสต์ในระดับไมโครได้ดีมาก อิมแพ็กต์แรกกระทบย่านกลางต่ำส่งถ่ายออกมาให้รับรู้และสนุกสนานรวมไปถึงความถี่ต่ำลึกมากๆ ที่ขับดันออกมาให้สัมผัสได้ดีเยี่ยมกว่ารุ่นเดิมและดีมากในระดับเครื่องพิกัดเดียวกัน

ยิ่งใช้งานในแนวทางจังหวะจะโคนยิ่งตอบสนองด้รวดเร็วต่อเนื่อง ไม่เพียงแนวทางคึกคักเท่านั้น แนวเพลงขับร้องและแนวบรรเลงที่มีดนตรีคลอเคลียนั้น E-470 ให้อารมณ์ในการถ่ายทอดและมีความออดอ้อนพิรี้พิไรนำเสนอมาตลอด เป็นรองความความแบบมีเสน่ห์ก็แค่เพียงเครื่องคลาสเอรุ่นใหญ่ของ Accuphase เท่านั้น ความสงัดของพื้นเสียงเด่นชัด ช่องว่างช่องไฟสัมผัสได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังรักษาความสุภาพในการนำเสนอแต่ไม่มีอาการหน่อมแน้มเข้ามาปะปน หรือนี่อาจเป็นอินทีเกรทแอมป์รุ่นใหญ่สุดในคลาสเอบีของ Accuphase ที่จะยึดตลาดอินทีเกรทแอมป์ระดับนี้ให้อยู่ในตำแหน่งผู้นำ ณ.ช่วงเวลานี้ได้อย่างอาจหาญ

ผมคงหมดคำอรรถาธิบายและพรรณนาสิ่งที่ E-470 แสดงออกมาได้หมดจดกับกระดาษเพียงไม่กี่หน้านี้ เพราะทุกอย่างที่กล่าวล้วนเป็นคำชื่นชม หากท่านกำลังจะขยับปรับเปลี่ยนอินทีเกรทแอมป์ใหญ่สักเครื่อง หรืออยากได้เพาเวอร์แอมป์ไปร่วมใช้งานกับชุดโฮมเธียเตอร์สำหรับขับลำโพงคู่หน้า ที่มากด้วยประสิทธิภาพและคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล Accuphase E-470 นี่แหละ สมควรด้วยเหตุและผลทั้งปวง แนะนำให้หามาใช้งานครับ !!!

E470_1024x1024

– รูปลักษณ์   5 ดาว

– สมรรถนะ   5 ดาว

– คุณภาพเสียง 4 ¾ ดาว

– ความคุ้มค่า 4 ¾ ดาว

คะแนนโดยรวม 4 ¾  ดาว

———————————————————————————————–

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท ไฮเอนด์ ออดิโอ จำกัด โทร. 0-2611-4809 ที่เอื้อเฟื้ออินทีเกรทแอมป์ Accuphase E-470 สำหรับการใช้งานในครั้งนี้