Gold Note PH10 Phono Stage

0

นพ. ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์

               Gold note ตอนนี้ไม่ใช่แบรนด์ใหม่ในบ้านเราแล้วครับ หลังจากที่เปิดตัวในบ้านเรามาได้หลายเดือนและได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเล่นที่ต้องการเครื่องเสียงที่สวย เสียงดี มีสไตล์ ตามคอนเซ็ปต์ contemporary audiophile ของ Gold note ในฉบับก่อนเราได้เปิดตัว Gold note กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น Mediterraneo และนี่เป็นบททดสอบต่อจากภาคที่แล้วคือ  phono stage ตัวท็อปของ Gold note

อันที่จริงสินค้า Gold note นั้นมาไล่ๆกันทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียงและ phono stage แต่ผมเลือกที่จะแยกกันทดสอบระหว่างเครื่องเล่นแผ่นเสียง และตัว phono เพื่อที่จะให้สามารถจับลักษณะได้ง่ายกว่าการที่จะทดสอบของใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ดังนั้นบททดสอบนี้ก็จะเป็นการทดสอบเฉพาะภาคโฟโนล้วนๆของ Gold note ว่ามีคุณสมบัติและลักษณะเสียงเป็นอย่างไรมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน

PH10 specification

PH10 เป็น solid state phono ที่มีการออกแบบ function ได้โดดเด่นกว่าโฟโนในระดับราคาเดียวกัน โดยมีลักษณะเด่นๆดังต่อไปนี้

  • รองรับ input ได้สองหัวเข็ม สามารถเซ็ตค่าได้แยกจากกันเด็ดขาดและมีการจดจำ setting สุดท้ายที่ใช้งาน
  • ฝั่ง output มีทั้ง RCA และ XLR output (ในช่วงที่ทดสอบ ผมเอาสัญญาณออกพร้อมกันโดยขั้ว RCA จะไปยัง pre amp ส่วนสัญญาณจาก XLR จะไปยังตัว tascam DV RA1000HD เพื่อแปลงสัญญาณเสียงเป็น digital wav file สำหรับให้ท่านผู้อ่านได้ทดลองฟัง)
  • ปรับ EQ curve ได้หกแบบ รองรับการเล่นแผ่นเสียงระบบ mono
  • Gain ขยายหัวเข็ม MM 45 dB และ MC 65 dB สามารถปรับค่าให้แตกต่างจากค่าดังกล่าวได้อีกสามค่า คือ -3 , +3 และ +6 dB
  • ปรับ impedance ได้ 9 ค่า ตั้งแต่ 10 ->47 Kohmคือ 10Ω, 22Ω, 47Ω, 100Ω,220Ω, 470Ω, 1000Ω, 22KΩ, 47KΩ (เวลาเล่นหัว MM ตัวเครื่องไม่ได้ปรับให้เป็น 47 Kohmอัตโนมัตินะครับ เราต้องเปลี่ยนค่าเองถ้าก่อนหน้านี้ช่อง input นั้นเป็นการเล่นหัว mc low)
  • มี subsonic filter
  • สามารถ upgrade ใช้ power supply แยกภายนอกได้ในอนาคต (PSU10)
  • มี micro usb port สำหรับการ upgrade software ได้ในอนาคต

ตัวเครื่องเฉพาะ PH10 มีขนาด half size ของเครื่องเสียงทั่วไป เมื่อใช้งานร่วมกับ PSU 10 ก็จะมีขนาดมาตรฐานเครื่องเสียง ผมลองใช้งานทั้งแบบที่วางข้างๆติดกัน กับวางแยกห่างกัน (เชื่อมกันด้วยสาย power link)

พบว่าการวางแยกจากกันให้ความเป็นตัวตนของเสียงได้ดีกว่าการวางชิดกัน ในกรณีที่ท่านจัดวางใน rack เครื่องเสียง ก็แนะนำว่าอาจจะวาง PSU ไว้คนละชั้นกับตัว PH10 เพื่อป้องกันการรบกวนกันของกระแสไฟฟ้าของทั้งสองส่วน

ฟังก์ชั่นการทำงานทั้งหมดใช้งานได้ง่ายมาก จากสั่งการด้วยปุ่มเพียงปุ่มเดียวด้านหน้า เป็นลักษณะหมุนและกด enter เข้าไปเพื่อ confirm function โดยจะวนตำแหน่งไปตั้งแต่การเลือก input1/2 -> mm/mc -> EQ curve ->gain dB -> impedance -> display ความสว่างหน้าจอ ที่สามารถปรับให้ลดความสว่างลงหรือดับหน้าจอได้

EQ curve

                ฟังก์ชั่นที่เด่นมากๆของ PH10 เมื่อเทียบกับเครื่องยี่ห้ออื่นในระดับราคาเดียวกันคือ สามารถปรับ EQ curve ได้ ซึ่งเราจะพบฟังก์ชั่นนี้ในเครื่องที่มีระดับราคาแพงๆเกินแสนบาทขึ้นไป 

การปรับค่า EQ curve หลักๆจะเป็นการปรับย่านเสียงกลาง ว่าวงจรชดเชยความถี่ จะเริ่มทำงานเมื่อสัญญาณเสียงที่เข้ามามีความถี่เท่าใด (เรียกว่าค่า turnover frequency) ที่เขาให้มาจะมี RIAA ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานของการเล่นแผ่น stereo (turnover frequency = 500 Hz)  และยุค mono ก็จะมีให้ทั้งทางฝั่งยุโรปคือ Decca/London กับอเมริกาคือ American Columbia

นอกจากนี้ยังมี enhance eq ใน eq แต่ละแบบเพื่อเป็นการเพิ่มเสียงแหลมให้มากขึ้นกว่าเดิม สำหรับเรื่อง eq curve , turnover frequency และ enhanced high frequency นั้นจะขอแยกเป็นบทความล้อมกรอบนะครับ

Setup and associated equipments

Turntable : EMT930st , 929 arm , Jelco 750 L arm ติดตั้งหัวเข็ม EMT tsd15 , Benz micro SL wood , Denon 302

Turntable Dr.Feickert firebird , Denon 308 arm , หัวเข็ม Shure M75ED , Audio Technica AT33mono , Dynavector 10X4 mk2

แผ่นเสียงที่ใช้ทดสอบ

Mono LPs

Stereo LPs

บรรดาเพลงจากแผ่นเสียงที่ใช้ทดสอบ ผมได้นำ upload ไว้ที่ google drive ของผม ท่านสามารถ download ไปฟังประกอบได้ที่ตรงลิงค์นี้นะครับ bit.ly/3l2RyxR โดยจะแบ่งโฟลเดอร์ออกเป็นเพลงที่เป็น mono และ stereo หรือสแกน QR code นี้ครับ

MC & MM stereo mode

                ในช่วง 3-4 วันแรกที่ผมได้รับ PH10 มาทดสอบ เป็นเครื่องใหม่แกะกล่อง และตอนนั้นยังไม่ได้รับตัว PSU10 มา ก็เลยเปิดแผ่นเสียงไปเรื่อยๆเพื่อรอ burn in ไปก่อน  ในกรณีที่ใช้งานแบบตัวเดี่ยวๆ เครื่องจะมี master switch อยู่ด้านหลัง เมื่อเปิดด้านหลังแล้ว ค่อยมากดปุ่มด้านหน้าค้างไว้สัก 4 วินาที หน้าจอแสดงผลจะติดพร้อมใช้งาน  เมื่อเครื่องเปิดขึ้นมาก็จะแสดง setting ค่าสุดท้ายที่เล่นค้างไว้ เช่นไม่ว่าจะเป็น input 1 หรือ 2 และค่า setting หัวเข็ม MM , MC

                เมื่อผมได้ power supply PSU10 มา ก็ได้เริ่มทำการฟังอย่างจริงจังละครับ ในช่วงแรกผมวางตัว main unit กับตัว PSU ไว้ติดข้างๆกัน  หลังจากฟังได้สักสองอาทิตย์ก็ได้วางแยกห่างจากกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พบว่าการวางห่างกันให้ tonal balance และความคมชัดของเสียงเบสได้ดีขึ้นกว่าเดิมพอสมควร ดังนั้นแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ควรวางห่างกันครับ ท่านอาจจะวาง main unit บนชั้นวางแล้วให้ตัว PSU วางไว้ที่ด้านล่างใกล้ๆกับปลั๊กรางหรือปลั๊กผนังก็ได้ครับ

                ผมเริ่มทดสอบด้วยภาค mc low output ก่อนเลย ด้วยการใช้หัวเข็ม Benz micro SL wood ที่มีค่า output ที่ 0.4 mV  เมื่อ set ค่า input ของเครื่องให้เป็น mc แล้ว ซึ่งจะมี gain ขยายที่ 65 dB จากนั้นก็หมุนปุ่มมาปรับค่า gain เลือกไปมาระหว่าง -3 , 0 , +3 , +6 dB พบว่าค่า gain ที่เหมาะสมกับระดับการฟังอยู่ที่ -3 dB -> 65-3 = 62 dB ให้ระดับเสียงที่ฟังสบายที่สุด (คือเร่ง volume ขึ้นมาจากการฟัง line cd level อีกประมาณเกือบๆ 1 นาฬิกาของตำแหน่ง volume knob) 

มีบางช่วงการทดสอบผมใช้หัว Denon 302 ที่มี output 0.25 mV ก็พบว่าฟังที่ gain mc 0 (= 65dB) ก็ขยายสัญญาณได้สบายๆ ดังนั้น PH10 ตัวนี้ไม่ต้องห่วงเรื่อง gain ขยายไม่เพียงพอ ผมว่ามันรองรับหัวเข็มที่ low output มากๆทุกตัวในท้องตลาดได้อย่างสบายๆ เพราะผมยังเหลืออีกตั้งสองสเต๊ป mc +3 และ +6 dB ไว้เล่นกับหัว super low mc output

                เมื่อตัวเครื่องและ supply เริ่มพ้นเบิร์นอินแล้ว ผมก็จัดการหาแผ่นเสียงมาทดสอบเค้นประสิทธิภาพของเครื่อง หัวเข็ม Benz micro SL wood  เซ็ตไว้ที่ mc , -3 dB และ impedance ที่ 470 ohm เมื่อฟังไปสักพักก็ได้ลด impedance ลงเหลือ 100 ohm  พบว่าเสียงมีความกลมกล่อมฟังสบาย สามารถเร่งเสียงได้ดังโดยไม่เกิดความเครียด  เริ่มต้นกันด้วยแผ่นเสียงตัวอย่างของสังกัด Hugo ในแทรคที่ 3 หน้า A ซึ่งมั่นใจแน่ๆว่าสามารถลง soundcloudได้โดยไม่ติดลิขสิทธิ์ (บังเอิญว่าชื่อเพลงเป็นภาษาจีนเลยไม่ทราบว่าจะลงว่าอย่างไร) ที่ https://soundcloud.com/emt930/hugo-sampler-track3

ลักษณะเสียงของ PH10 ให้ความรู้สึกเหมือนกับเป็นเครื่องหลอดเลยทีเดียว คือมีความอิ่มหวาน แต่รายละเอียดอยู่ครบถ้วน แทรคของแผ่น Hugo นี้เป็นแนวเพลงคล้ายๆนิวเอจ จะมีรายละเอียดเสียงเล็กๆน้อยๆที่สนามเสียงไกลๆทางซ้ายและขวา และถูกอุ้มโดยฐานเสียงเบสแผ่กว้าง ฟังได้ผ่อนคลายมากๆไม่มีอาการขึ้นขอบหรือล้าหูแม้แต่น้อย

                แผ่น jazz สนุกๆอย่างแผ่น here at last เพลง don’t get around much anymore (https://soundcloud.com/emt930/dont-get-around-much-anymore-1) เพลงที่มีจังหวะกระฉับกระเฉงขึ้นมาจากแผ่น Hugo ข้างต้น คุณภาพเสียงก็ดีขึ้นตามการบันทึก การแยกแยะ layer ของชิ้นดนตรีทั้งทางลึกและทางกว้างอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ผมว่าทาง Gold note เขาจูนเสียงย่านเสียงกลางได้น่าฟัง อิ่มๆมีน้ำหนักดี หัวเสียงเบสกับเสียงเคาะ hi hat ฟังดีมากๆ

แผ่น uncompress world – audiophile female  voices ผมเลือกเพลง better be home soon บันทึกเสียงมาดีมากครับ (เสียดายลง soundcloud ไม่ผ่านแต่ผม upload เข้า google drive ให้แล้วนะครับ) เสียงเบสนี่ลงได้ลึก แต่กระชับไม่ยานบวมเบลอ หรือขึ้นมากลบย่านเสียงอื่นให้เรารำคาญ เสียงร้องก็เช่นเดียวกับการฟังด้วยแผ่นอื่นๆคือย่านเสียงกลางของ PH10 ที่จูนมาได้”ถูกหู”นักฟังที่ชื่นชอบเสียง analog  ฟังเพลินลื่นๆดีมากครับ

                จากนั้นใน stereo mode ผมลองช่อง line 2 ที่ได้ต่อกับแท่น Dr.Feickert analogue Firebird ติดตั้งอาร์ม Denon 308 ผมลองหัวเข็มความแรงสูงอย่างหัว MM ของ Shure M75ED ที่มี output 5 mV  ผมต้องปรับ setting ของ PH10 ให้เป็น mm mode ค่า gain ที่ -3 dB (=42 dB)  ซึ่งให้ความแรงของสัญญาณเกือบพอๆกับการฟัง line level cd

ทดสอบกับแผ่นเสียงชุด Getz & Gilberto แผ่น original pressing (แผ่นนี้ถึงแม้ว่าเป็นแผ่น original แต่ก็ปั้มแผ่นออกมาเยอะมาก คุณภาพเสียงที่ได้จะมีความแตกต่างกันพอควร ผมต้องหาซื้อแผ่น original หลายแผ่นกว่าจะได้เสียงที่ถูกใจ และดีกว่าแผ่น reissue ทุกเวอร์ชั่นที่ทำตามๆกันออกมา)  เพลง Desafinando ถ้าท่าน ได้แผ่น original ที่ press ดีๆนั้น เสียงเดินเบสที่อยู่ทางซ้ายของเวทีเสียงนั้นจะอิ่ม มีน้ำหนัก และลงลึกมาก ส่วนเสียงร้องของ Joao Gilberto นั้นร้องเสียงเย็นๆอยู่ตรงกลางค่อนมาทางขวาของเวทีเสียง 

ผมรู้สึกว่าภาค mm ของ PH10 มีเนื้อเสียงที่อิ่มหนามากขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับภาค mc หรือว่าอาจจะเป็นเพราะหัว Shure มี output ที่แรงเกินไปหน่อยสำหรับ PH10  เลยจัดการเปลี่ยนหัวเข็มใหม่เป็นหัว MC high output ตัวเก่งที่ผมเก็บไว้นานแล้วคือ Dynavector 10X4 mk2 ที่มีค่า output ที่ 2.5 mV   ผมก็จัดการปรับ setting ของ PH10 ให้ gain อยู่ที่ mm mode 0 dB (= 45 dB) และรอหัวเข็มเข้าที่สักพัก ก็เป็นอันว่าโป๊ะเชะ ลงตัวกันพอดีมากทั้งเนื้อเสียง เกนขยาย

หยิบแผ่นเพลงร้อง audiophile direct cut ของค่าย Lob แผ่น Spring is here ของ Carol Sloane ผมเลือกเพลงนี้มาเป็นเพลงทดสอบ our love is here to stay (https://soundcloud.com/emt930/our-love-is-here-to-stay ) ย่านเสียงกลางเสียงร้องของ Carol Sloane นั้นบันทึกมาแบบ close mike โฟกัสอยู่ตรงกลาง มีมวลกลมใหญ่ดีมากครับ ฟังผ่อนคลายไม่มีอาการแข็งกร้าวหรือขึ้นขอบแยงหูให้ผมได้ยินเลย

แผ่นเสียงแผ่นนี้กับบาง setup ระหว่างหัวเข็มและ phono stage ฟังแล้วอาจจะไม่โดนใจหรือไม่รู้สึกสะดุดหูกับบางท่าน แต่เมื่อได้มีการจับคู่ที่ดีแล้วจะรับรู้ความพิเศษของแผ่นนี้ครับ เสียงจะ full  เสียง double bass ลงได้ลึกและแม่นยำทุกตัวโน้ต  ตัว PH10 ภาค mm มีน้ำหนักเสียงที่น่าฟังมาก

ผมจัดการหาแผ่นเสียง direct cut ที่ทุกคนยอมรับในคุณภาพเสียงอีกแผ่นคือ For Duke ของสังกัด M&K real time  บันทึกกันทั้งวงเล่นสดๆพร้อมกับตัดแผ่น lacquer master ไม่ผ่านเทปรีล  Dynavector + PH10 ถ่ายทอดทุกเสียงทุกตัวโน้ตของแผ่นนี้ได้อย่างแม่นยำ (  https://soundcloud.com/emt930/ take-the-a-train-1 )

เมื่อทุกอย่างลงตัว เราจะได้ยินเหมือนกับวงทั้งวงเล่นอยู่ในห้องของเรา เพราะแผ่นนี้จะอัดเสียง direct cut แบบค่อนข้าง close mike ไม่เก็บ ambient ของห้องอัด มันจะให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าวงมาเล่นตรงหน้า  ขณะที่แผ่นเสียง direct cut บางแผ่น (เช่นของ Sheffield Lab) จะเสมือนว่าตั้งไมค์คนละแบบ จะมี ambient ความก้องของห้องอัดมาด้วย อันนี้จะให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเรานั่งฟัง ณ สถานที่ๆบันทึกเสียง ซึ่งก็ฟังสนุกและได้ความรู้สึกไปคนละแบบ 

แผ่นเสียงของ M&K real time direct cut จะมีลักษณะเสียงที่เฉพาะตัวจริงๆ และจุดเด่นอีกอย่างคือ dynamic range ที่กว้างกว่าแผ่น direct cut สังกัดอื่น ช่วงที่สัญญาณเสียงสวิงขึ้นอย่างเฉียบพลันเช่นเสียง trumpet ของ Bill Berry นั้นทำให้ vu meter ตอนผมบันทึกขึ้น clip ได้ทั้งๆที่ตอนแรกคิดว่าได้พยายามปรับ recording gain ได้พอดีแล้ว 

PH10 เป็น phono ที่ถ่ายทอดได้หมดจด ไดนามิคมาแรงอย่างไรก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างที่บันทึกไว้  ไม่คิดว่าหัวเข็ม mc high output ธรรมดาๆอย่าง Dynavector 10X4 จะให้เสียงได้ประทับใจจากการฟังแผ่น For Duke ได้ขนาดนี้ เคยฟังหัวนี้กับ phono ตัวอื่นๆในบ้านก็ยังไม่ดีเท่ากับที่ฟังผ่าน PH10

Mono mode

                คราวนี้ผมลองมาทดสอบภาค eq curve ในยุคโมโนที่ไม่ใช่ RIAA ของ PH10  ได้ทำการเลือกแผ่นเสียงโมโนในบ้าน เล่นกับหัวเข็ม Audio Technica AT33 mono  ตัวนี้เป็นหัว mc low output ที่ราคาย่อมเยา ให้น้ำเสียงที่ดี และ setup ไม่ยุ่งยาก เสียดายว่าแผ่นเสียงโมโนที่ผมมีจะเป็นแผ่น commercial ที่ไม่สามารถเอาเสียงลง soundcloud ได้ ผมเลยเอาลงใน google drive ให้ท่านลองฟังกันนะครับใน sub folder mono ที่เตรียมไว้

แผ่นที่ทำให้ผมทึ่งในเสียงคือ A touch of Velvet ของ Jim Reeves แผ่นนี้ได้มาเป็น mono uk ตัวแผ่นปั้มโดยบริษัท Decca  (แผ่นเสียงของ RCA ที่ผลิตในอังกฤษ จะให้โรงงานของ Decca ทำแผ่นให้ครับ)  ดังนั้นผมเลยเลือก eq curve เป็น Decca/London  เสียงที่ได้เต็มอิ่มดีมากครับ เนื้อเสียงผมว่าดีกว่าเวอร์ชั่น stereo ของแผ่นนี้เสียอีก

การเล่นแผ่นเสียง mono ด้วยหัวเข็ม mono ที่เก็บสัญญาณเฉพาะการแทรคร่องแนวระนาบเท่านั้น ไม่เก็บสัญญาณในแนวดิ่ง ทำให้เสียงรบกวนลดลงไปได้เยอะ (เอาหัวเข็ม stereo ไปเล่นแผ่นโมโน โดยเฉพาะแผ่นเก่าๆ จะมีเสียงรบกวนกว่าการเล่นด้วยหัวโมโนจริงๆมากครับ)

ส่วน American Columbia curve ผมลองกับแผ่นเสียงสองแผ่นคือ แผ่น Jazz Samba ของ Stan Getz – Charlie Byrd  กับแผ่นเสียงสิบนิ้ว reissue ใหม่ของ Miles Davis : Lift to the Scaffold ผมเลือกเพลง Sur L’Autoroute จังหวะ Be bop ให้ลองฟังกัน เนื่องจากเป็นแผ่นปั้มใหม่จึงไม่มีปัญหาแน่ๆในเรื่องเสียงรบกวนแบบแผ่น original press

เลือก eq curve แบบ American Columbia ฟังได้เพลินไหลลื่นดีครับ ถือว่า mono eq curve ของ PH10 เป็นของแถมที่น่าสนใจ และเขาตั้งใจทำให้เสียงดีทีเดียว ไม่ได้บางๆลีบๆ เสียงแห้งๆแบบที่เราคาดคิดกันตอนฟัง mono cd

Enhanced EQ curve

                ในตอนสุดท้าย ผมทดลอง enhanced mode ของ RIAA eq curve คือการยก eq curve ด้าน high frequency ขึ้น ฟังว่าให้เสียงเป็นอย่างไร ผมเลือกแผ่นเสียง Janis Ian : breaking silence เลือกแทรค his hand ที่เวลาฟังกับ phono อื่นๆที่ปรับ eq ไม่ได้ เสียงจะติดอมทึบสักหน่อยจากลักษณะของเพลงนี้ที่มีเนื้อเบสมาก และเสียงร้องของ Janis ที่เป็นโทนเสียงคีย์ต่ำทั้งเพลง การปรับเสียงให้เป็น RIAA แบบ enhanced ช่วยปรับสมดุลเสียงโดยรวม ช่วยเพิ่มรายละเอียดของเสียงแหลมได้ดีมากขึ้น ( https://soundcloud.com/emt930/his-hand-1 )

พอดีเพลงนี้ผมมี gold standard ให้ฟังเทียบนั่นคือ เสียงจาก utra tape master ของอัลบั้มนี้ที่ออกโดยค่ายเดียวกัน Analogue Production มันทำให้เราได้ฟังเทียบได้อย่างชัดเจนว่า เสียงของแผ่นเสียงนั้นห่างหรือใกล้เคียงกับมาสเตอร์มากแค่ไหน ลองกดฟังเทียบกันได้ครับ ที่ https://soundcloud.com/emt930/his-hand   การที่มี enhanced mode จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยปรับให้ได้เสียงที่ดีขึ้นและถูกต้องใกล้เคียงกับมาสเตอร์ได้

Summary

                Gold note PH10 เป็น phono stage ระดับราคากลางๆ ทำในอิตาลีทั้งตัว ที่ยังคง concept หลักคือ contemporary audiophile มี feature ที่หาได้ยากในเครื่องระดับราคาเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการรองรับได้ 2 input ที่สามารถตั้งค่าได้แยกกันเป็นอิสระ มี balanced output และที่สำคัญคือความสามารถในการปรับ eq curve ได้หกรูปแบบ

เป็นเครื่องที่ฟังได้สบายๆผ่อนคลายเหมือนเครื่องหลอด ฟังก์ชั่นการสั่งงานค่อนข้าง user friendly (ผมคิดว่าในอนาคต อาจจะมีรุ่นที่สามารถสั่งงานด้วยรีโมทได้แน่นอน)  ผมว่ามันได้สร้าง standard ใหม่สำหรับโฟโนในระดับราคา 5 หมื่นถึงหนึ่งแสนบาท ที่แบรนด์อื่นต้องเหลียวมองและต้องปรับกลยุทธใหม่

ทราบข่าวว่าอีกไม่นานจะมีรุ่นสูงกว่านี้ตามออกมา ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีฟังก์ชั่นอะไรแปลกๆใหม่ๆมาเพิ่มอีก แต่จากเท่าที่ผมได้ทดสอบมาหนึ่งเดือนเต็มๆผมว่ามันคุ้มค่าและตอบโจทย์การเล่นของนักเล่นบ้านเราได้หลายท่านแน่นอน

ขอขอบคุณ Gxotic Audio only where the excellence is required.
โทร. 080 987 9999 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้