Cambridge Audio : Evo 75

0

Garoonchart Bukkavesa

ผลิตภัณฑ์เครื่องประเภท  “All-in-One” นั้น สำหรับไทยอาจจะไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากตัวที่นำมาจำหน่ายมักจะสร้างขึ้นแบบพื้น ๆ เน้นราคาถูก ๆ ทำให้ใช้งานจริงไม่ดีเท่าที่ควร

ขณะที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษ ได้รับความนิยมมากพอสมควร เนื่องจากบางแบรนด์นั้นถูกสร้างอย่างพิถิพิถัน ดีไซน์ที่ดี ใช้งานได้จริง 

วันนี้มีเครื่อง “All-in-One” (รองรับการเล่นสตรีมมิ่ง / บูลทูธ มีภาคแอมป์ในตัว) ขอให้มีลำโพงเพียงคู่เดียวจะฟังเพลงได้ทันที ถูกส่งมาทดสอบพอดี

พื้นฐานเป็นแบรนด์อังกฤษแท้ ๆ นั่นคือ Cambridge Audio โดยรุ่นที่ได้รับมาครั้งนี้เป็นรุ่น Cambridge Audio : Evo 75 ซึ่งเป็น 1 ใน 2 รุ่นของซีรีส์ Evo รุ่นใหญ่ขึ้นคือ Evo 150

คำว่า Evo ย่อมาจาก Evolution การวิวัฒนาการ คล้ายกับว่านี่คือ การปรับปรุงล่าสุดของเครื่องประเภทนี้ จะเห็นว่าพยายามใส่หลายสิ่งอย่างเข้าไปขณะที่ไซด์กลับเป็นแบบ Compact บาง ๆ ไม่ได้ใหญ่โตแม้แต่น้อย ขณะที่ตัวเลข 75 หมายถึงกำลังขับต่อแชนแนลที่มีนั่นเอง ซึ่งภาคแอมป์นั้นเป็นดิจิตอล Class D ที่ให้ความร้อนต่ำ มีความเพี้ยนต่ำ นับเป็นครั้งแรกที่เลือกใช้ภาคขยายแบบนี้ จากเดิมเป็น Class AB

ลองมาดูกันครับว่า Cambridge Audio : Evo 75 วิวัฒนาการล่าสุดจะเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับการเครื่องเล่นแยกชิ้นที่คุ้นเคย

คุณสมบัติพิเศษ Cambridge Audio : Evo 75  

  • จูนสไตล์ Great British Sound
  • เป็นอินทิเกรตแอมป์แบบ All-in-One
  • มีกำลัง 75 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม
  • ภาคแอมป์ Class Dจาก Hypex NCore
  • มีสตรีมมิ่งในตัว รองรับ Tidal, Qubuz, Spotify, Roon, Bluetooth, Apt-X HD (24bit 48kHz), Chromecast, MQA
  • มีภาคถอดรหัสในตัว ชิพ ESS 9016K2M (32 Bits)
  • สั่งการผ่านแอปฯ streammagic
  • หน้าจอแสดงผล” แบบสี ขนาดเต็มพื้นที่
  • ด้านข้างมีแผ่นไม้ปิดเพื่อตกแต่ง (สามารถเปลี่ยนเป็นลายได้-มีแถมมาให้ในกล่อง)

ลักษณะทั่วไป Cambridge Audio : Evo 75  

Cambridge Audio : Evo 75 ดีไซน์สไตล์โมเดิร์น ซ้ายสุดจนถึงเกือบมุมขวาเป็น “หน้าจอแสดงผล” แบบสี ขนาดเต็มพื้นที่ ซึ่งจะโชว์รูปปก / รายชื่อเพลง / ความยาว / รูปแบบแอปฯ ที่เล่น ฯลฯ ขวาสุดเป็นปุ่มโวลุ่มขนาดใหญ่ ด้านในสุดทำเป็นวงแหวนสำหรับเลือกแหล่งโปรแกรม เรียกว่าเรียบง่ายแต่ดูดีมาก ๆ 

ด้านข้างแถบบนติดตั้งครีบระบายความร้อนแนวนอนเต็มพื้นที่ตัวเครื่องทั้ง 2 ฝั่ง แถบล่างมีแผ่นไม้ปิดเพื่อตกแต่ง (สามารถเปลี่ยนเป็นลายข้าวหลามตัดได้-มีแถมมาให้ในกล่อง)

ด้านหลังไล่จากซ้ายไปขวา เป็นเบ้าเสียบสายไฟแบบ IEC 15 แอมป์ จากนั้นแบ่งเป็นแถวบน / แถวล่าง โดยที่แถวบนเป็นช่อง 3.5 มม.สำหรับ CD, ช่อง HDMI สำหรับ TV ARC, สวิตช์โยกของกราวด์ 1/2 สำหรับลดการรบกวนแต่ละบ้าน, ช่อง USB, ช่อง LAN, ช่อง IR Remote

แถวล่างฝั่งซ้ายเป็นขั้วลำโพงซีกขวา ในการใช้งานให้การยึดสายลำโพงได้ดี, ช่อง Digital In ทั้ง Coaxial / Optical อย่างละ 1 ช่อง จากนั้นจะเว้นว่างเอาไว้ (สำหรับ EVO 150 จะมีช่องต่อเพิ่ม) ทางฝั่งขวาจะเป็นกลุ่มขั้ว RCA สำหรับ Aux In 1 ชุด, Sub Out 1 ช่อง, Pre Out 1 ชุด และขั้วลำโพงซีกซ้าย

ขั้วลำโพงที่มีเพียง 1 ชุด การเล่นไบไวร์อาจจะลำบากเล็กน้อยเนื่องจากต้องรวมสาย 2 ชุดในขั้วลำโพงเดียวกัน 

มีรีโมทคอนโทรลทรงแท่งให้มาด้วย

สเปค Cambridge Audio : Evo 75

  • ตอบสนองความถี่ 20-20 KHz 0/-3 dB
  • กินไฟ Standby <0.5 วัตต์ สูงสุด 400 วัตต์
  • ตัวถัง กว้างxยาวxสูง 317x352x89 มิลลิเมตร
  • หนัก 5 กิโลกรัม

อุปกรณ์ที่ใช้ทดลอง Cambridge Audio : Evo 75

  • แหล่งโปรแกรม ; Sony : HX500
  • อินทิเกรตแอมป์ ; Cambridge Audio : Evo 75  
  • ลำโพง ; Pioneer : SP-BS22 Andrew Jones, Sonus Faber : Venere 1.5
  • สายลำโพง ;  Ecosse : Reference Bi-Wire
  • สายไฟเอซี ; Kimber Kable : PK10 (เขียว), Shunyata Research : Python
  • อุปกรณ์เสริม ; ปลั๊กลอย PAC : Super idos, Isolate Transformer

ผลการลองฟัง Cambridge Audio : Evo 75

Cambridge Audio : Evo 75 บรรจุในกล่องที่คิดค้นมาอย่างดี

Cambridge Audio : Evo 75 สามารถรองรับแหล่งโปรแกรมภายนอก เช่น เครื่องเล่นซีดี / เครื่องเล่นแผ่นเสียงได้ด้วย โดยต่อเข้าช่อง AUX เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ยังมีเครื่องและซอฟ์ทแวร์นั้น ๆ อยู่ ซึ่งเดี๋ยวช่วงท้ายผมจะได้ลองต่อฟังอีกที

สำหรับคนที่ไม่มีแผ่นอะไรเลย ผมลองเล่นง่ายที่สุดคือ การสตรีม เล่นจาก Spotify (ไม่มีค่าบริการ) และ YouTube เชื่อมต่อเข้ากับแอปฯ Streammagic สั่งการผ่านมือถือนั่นเอง ใครมี Qubuz, Tidal จะได้คุณภาพดียิ่งขึ้น แต่ต้องมีค่าบริการ

โดยยกปรี / เพาเวอร์ชุดเดิมออกไป นำ Cambridge Audio : Evo 75 เข้ามาแทน อุปกรณ์อื่น ๆ คงเดิมทั้งหมด อุ่นเครื่องเป็นชั่วโมงก่อนฟังทดสอบ เพื่อให้เครื่องพร้อมใช้งานมากที่สุด โชคดีที่ตัวนี้ผ่านการใช้งานมาแล้ว

จุดแรกที่ชอบคือ หน้าจอ บอกทุกอย่างที่พึงมี ทำให้ดูสวยงามแปลกตา ยิ่งถ้าตั้งเครื่องใกล้ตัวจะยิ่งเห็นชัด    

เริ่มจากฟังเพลงไทยหลาย ๆ ศิลปิน โทนเสียงออกสว่างไปเล็กน้อย รู้สึกมีความเป็นดิจิตอลอยู่ ซึ่งสายไฟเส้นดังกล่าว เหมาะกับแหล่งโปรแกรมต้นทางมากกว่า ตัวนำน่าจะราว 12-14 AWG ดังนั้น ผมจึงเปลี่ยนเป็น Shunyata Research : Python ซึ่งเป็นสายไฟที่มีตัวนำขนาดใหญ่ ราว 8 AWG เพื่อสอดคล้องกับสเปคของ Cambridge Audio : Evo 75 ที่ระบุว่ากินไฟเมื่อใช้งานเต็มพิกัดอยู่ที่ 400 วัตต์ ดังนั้นสายไฟหน้าตัดใหญ่ ๆ จึงได้เปรียบกว่า

ไม่ผิดหวังครับ!! เสียงมีน้ำหนักขึ้น มีความเป็นอนาลอกยิ่งขึ้น จึงคงสายไฟเอซี Shunyata Research : Python ไว้ตลอดการฟัง

มาเริ่มฟังกันต่อ ศิลปิน XYZ นำเสนอเสียงร้องที่สดใส น่าฟัง มีแก้วเสียงที่ดี ไม่ว่าจะเป็นจาก Spotify  และ YouTube ฟังได้สบาย ๆ สำหรับคนทั่วไป ไม่ต้องติติงกันเลย

แทรค เหงา เหงา (อิ้งค์ วรันธร) ถ่ายทอดได้ไพเราะ ฟังแล้วน้ำเสียงออดอ้อนดี หรือซาวด์แทรค โลกทั้งใบให้เธอคนเดียว เสียงนุ๊ก สุทธิดาให้ความรู้สึกตัดพ้อ เศร้า ๆ อินไปกับเพลงอย่างง่าย ๆ

ซาวด์แทรค Armageddon แทรค Leaving on The Jet Plane เสียงร้องอ่อนหวาน ออดอ้อน อักขระละเมียดละไม มีความไพเราะ น่าฟัง ไม่มีเกรนเสียงที่หยาบกร้าน ไทมิ่งดี

อัลบั้มยอดฮิต Don’t Smoke in Bed ของ Holly Cole Trio แทรค The Tennesse Waltz เสียงร้องออดอ้อนดีย้ำหนักเบาดีทำให้มีความลงตัว อักขระดี ไทมิ่งดี น่าฟังทีเดียว 

มาฟังเสียงนักร้องชายกันบ้าง วง Eagle อัลบั้ม Desperado แทรค Tequila Sunrise และอื่น ๆ ถ่ายทอดเสียงร้องสะอาด ย้ำหนักเบาดี เนื้อเสียงลื่นไหล ไม่มีความเป็นดิจิตอลแม้แต่น้อย

มาถึงการลองฟังเสียงทุ้มกันบ้าง เล่นอัลบั้ม Japanese Drums ของ Joji Hirota น่าประทับใจสำหรับตัวเลข 75 วัตต์ในสเปค ถือว่าลงได้ลึก มีมวล มีเนื้อ มีรายละเอียดที่ดี ไม่รู้สึกว่าเสียงบางแต่ประการใด

ช่วงท้ายลองฟังแผ่นเสียงกันบ้าง โดยต่อจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงเข้าปรีโฟโน แล้วต่อเข้า Cambridge Audio : Evo 75 ที่ช่อง AUX เราหมุนปุ่มวงแหวนไป หน้าจอจะเปลี่ยนเป็น Aux ตามอินพุทที่เลือก เรียบง่ายมาก ๆ

Chen Jia – We meet Again Teresa Teng (Tianyi Culture Communication : TYLP 17011) เสียงร้องลื่นไหล อักขระดี มีความออดอ้อน ไทมิ่งดีไม่เร่งรีบ ฟังสบาย ไพเราะมาก

 The O-Zone Percussion Group The Percussion Record (Clearaudio : LP83058) เพลง Jazz Varient ทุ้มอิ่มแน่น เป็นกลุ่มก้อนดี มวลเข้มข้น ไม่บาง (อย่างที่หลายคนกังวล) มีรายละเอียดของหนังกลอง ขณะที่เสียงฉาบมีหางเสียงที่ดี กังวานอย่างเหมาะสม ช่วยตอกย้ำว่าตัวเลข 75 วัตต์ นั้นบอกเลยว่าถ้าเลือกลำโพงเหมาะสมทุกอย่างลงตัว

ท้ายสุดจริง ๆ ลองต่อเข้าทางช่อง Coaxial In จากเครื่องเล่นซีดี ใส่แผ่นซีดีที่มีระบบ MQA หน้าจอจะขึ้นเป็นความถี่ 88.2 KHz ถ้าเป็นซีดีธรรมดา หน้าจอจะเป็นแค่ 44.1 KHz ซึ่งถ้าแต่ด้วยช่องอินพุทอื่น หรือสตรีม สเปคระบบเสียงจะแปรเปลี่ยนไปตามที่ต้นทางส่งมา

บทสรุป Cambridge Audio : Evo 75

Cambridge Audio : Evo 75 ถือว่าเป็นอินทิเกรตแอมป์ All-in-One ที่ดีรวมข้อดีหลาย ๆ ด้านไว้ด้วยกัน  เช่น มีคุณภาพเสียงน่าฟัง ใช้งานง่าย ความร้อนต่ำ ฯลฯ

ถ้าต้องเลือกตัวสตรีม 1 เครื่อง, ตัวรับบูลทูธ 1 เครื่อง, อินทิเกรต 1 เครื่อง รวมแล้ว 3 เครื่อง ถ้าใช้ของมีคุณภาพ บางทีรวม ๆ ต้องจ่าย 5-6 หมื่น ซึ่งต้องมีชั้นวาง มีสายไฟ สายสัญญาณเชื่อมต่อ คร่าว ๆ อีกเป็นหมื่น รวมแล้วงบประมาณพอ ๆ กับ Cambridge Audio : Evo 75 เพียงเครื่องเดียว ซึ่งง่ายกว่าเยอะ สะดวกกว่าเยอะ

แถมมีคุณภาพเสียงดีจากภาค DAC ที่ดี ภาคแอมป์ที่ดี แบบนี้เลือกเล่น All-in-One ดีกว่านะครับ…


ขอขอบคุณ Powerbuy โทร. 02-904-2000 ที่เอื้อเฟื้อเครื่องในการฟังทดสอบ