ATC SCM7 ลำโพงมินิ-มอนิเตอร์

0

DAWN NATHONG

เล็ก ครบรส ลำโพงเสียงจริง

ATC หรือ Acoustic Transducer Company เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงมืออาชีพจากประเทศอังกฤษ ซึ่งค่ายนี้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งการทำลำโพงและอุปกรณ์ในสตูดิโอโดยเฉพาะ ที่เรียกได้ว่ามีชื่อชั้นไม่แพ้ใครในระดับโลก ในสตูดิโอบันทึกเสียงใหญ่หลายสำนักทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาต่างก็มีลำโพง ATC สำหรับการมอนิเตอร์เสียงรวมอยู่ด้วย ยกอย่างที่เราคุ้น ๆ เช่น Abbey Road Studios หรือ Dolby Laboratories ก็เป็นลูกค้าของ ATC เช่นเดียวกัน

ATC SCM7 เป็นลำโพงในกลุ่ม Consumer HIFI หรือสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งบริษัท ATC จะแยกไลน์การผลิตออกมาต่างหากจากสินค้ากลุ่ม Professional แต่มีการแชร์เทคโนโลยีต่าง ๆ ร่วมกัน ในสินค้ากลุ่มของ Consumer HIFI นอกจากจะมีลำโพงแบบพาสซีฟแล้ว ก็ยังมีลำโพงแบบแอคทีฟ (มีแอมป์ในตัว), แอมปลิฟายเออร์ รวมถึงเครื่องเล่นซีดี

แม้ว่าจะใช้ชื่อเหมือนเดิม แต่จริง ๆ แล้ว SCM7 มีการปรับปรุงมาแล้วทั้งหมดสามเวอร์ชั่น ลำโพงที่นำมาทดสอบในครั้งนี้เป็นเวอร์ชั่น V.3 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นล่าสุด ถ้าเปรียบเทียบกับเวอร์ชั่นก่อนหน้านั้น เวอร์ชั่นล่าสุดนี้มีการปรับปรุงไปมากทีเดียว ที่เห็นได้ชัดเลยคือโครงสร้างตู้จะไม่เป็นทรงเหลี่ยมแล้ว ไม่มีแผงแบฟเพิ่ลหนาสีดำด้านหน้าเพื่อยึดไดร์เวอร์ลำโพง แต่จะติดตั้งฝังลงไปบนตัวตู้โดยตรง ในส่วนของหน้ากากลำโพงก็เปลี่ยนจากผ้ามาใช้แบบตะแกรงโลหะแทน ดูสะอาดตาและโมเดิร์นขึ้นกว่าเดิมพอสมควร  

รายละเอียดที่น่าสนใจ

ATC SCM7 เป็นลำโพงวางหิ้งรุ่นเล็กสุด ราคาถูกที่สุดของซีรียส์ ขนาดค่อนไปทางกะทัดรัดแต่ตู้หนักข้างละ 7.5 กิโลกรัม เผลอยกขึ้นมานี่ต้องอุทานเลยทีเดียว ออกแบบเป็นระบบตู้ปิด แบบสองทาง งานประกอบเนี้ยบเหมือนลำโพงระดับไฮเอ็นด์ มีการทำผนังด้านข้างโค้งไม่ขนานกันและสอบแคบไปทางด้านหลัง ช่วยลดคลื่นสะท้อนค้างภายในตู้ ที่ด้านหลังมีชุดขั้วต่อแบบไบไวร์ และหน้ากากจะเป็นตระแกรงโลหะทรงโค้ง ยึดติดกับลำโพงด้วยแม่เหล็ก

ตัวไดร์เวอร์ผลิตแบบ In-house ทั้งหมดในโรงงานของตัวเอง ใช้ทวีตเตอร์แบบซอฟท์โดมรุ่น SH25-76 ขนาด 1 นิ้ว ขอบแบบสองชั้น (Dual Suspension) มีชุดขับเคลื่อนแม่เหล็กนีโอไดเมียมความเข้มสนามแม่เหล็กสูงที่ปรับแต่งมาอย่างดีเพื่อลดความผิดเพี้ยน รอบตัวโดมจะมีเวฟไกด์เล็ก ๆ ที่ทำจากโลหะอัลลอยด์ช่วยในเรื่องมุมกระจายเสียง

ตัวเบส / มิดเรนจ์ขนาด 5 นิ้ว ตัวไดอะแฟรมใช้เทคโนโลยี Constrained Layer Damping (CLD) โดยจะเป็นผ้าอาบน้ำยาแล้วประกบวัสดุแดมปิ้งตรงกลางแบบแซนด์วิช ทำให้มีคุณสมบัติที่เหมือนกับเอาข้อดีของกรวยกระดาษและกรวยโลหะมารวมกัน คือ เบา แกร่ง และแดมป์ปิ้งได้ดี พร้อมชุดขับเคลื่อนใช้แม่เหล็กขนาดมหึมา น้ำหนักร่วม 3.5 กิโลกรัม ว้อยส์คอลย์แบบพันมือด้วยลวดแบน ควบคุมการขยับเข้า-ออกของกรวยได้อย่างแม่นยำ ทำให้เกิดความค่าผิดเพี้ยนต่ำ แม้ว่าจะเล่นในระดับความดังสูง ตัวครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์คได้รับการออกแบบมาอย่างดีใช้อุปกรณ์เกรดสูงไม่ต่างจากลำโพงรุ่นอื่นของ ATC

มาดูที่สเปคของลำโพง ATC SCM7 ที่น่าสนใจคือ Frequency Response ตอบสนองความถี่ได้ 22kHz ถึง 60Hz ที่ -6 ดีบี ถือว่าทำได้ดีสำหรับลำโพงที่เป็นตู้ปิดขนาดเล็ก เพราะส่วนใหญ่ลำโพงไซส์นี้จะให้เสียงเบสได้ลึก มักจะออกแบบเป็นระบบตู้เปิด มีการจูนท่อพอร์ตเข้ามาช่วยเสริมการตอบสนองย่านความถี่ต่ำแทน ซึ่งบุคลิกของเสียงเบสก็จะเป็นอีกสไตล์นึง หากเป็นลำโพงที่พิกัดราคาใกล้เคียงกัน ในแง่ของความกระชับ สะอาดของย่านเสียงเบสต่ำ ๆ ลำโพงตู้ปิดมักจะทำได้ดีกว่า

การเซ็ตอัพ

ด้วยความที่เป็นตู้ปิด และไม่ต้องการออกแบบขนาดตัวตู้ใหญ่ใหญ่โต ATC ยอมที่จะเสียเรื่องของความไว (Sensitivity) ของลำโพงไปเพื่อแลกกับคุณภาพของเสียงเบส ทำให้ SCM7 นี้จะมีความไวของลำโพงอยู่ที่ 84 ดีบี และแนะนำกำลังขับของแอมป์ไว้ขั้นต่ำ 75 วัตต์ สุงสุด 300 วัตต์ซึ่งเป็นเป็นช่วงที่กว้างมาก ถ้าพิจารณาเฉพาะตัวเลขสเปคนั้นบอกได้เลยว่าลำโพงคู่นี้กินวัตต์แน่นอน แม้ว่าทางผู้ผลิตจะเคลมว่าค่าความต้านทาน 8 โอห์มของลำโพงนั้นราบเรียบ ไม่สวิงมากจนเป็นภาระหนักให้กับแอมป์ในการจ่ายกระแสก็ตาม

เท่าที่ผู้เขียนทดลองจับคู่ด้วยอินทิเกรตแอมป์โซลิดสเตทกำลังขับกลาง ๆ ประมาณ 50-60 วัตต์ นั้นย่านกลางแหลมไม่มีปัญหา แต่ย่านทุ้มค่อนข้างขาดน้ำหนักการย้ำเน้นและแรงปะทะไปสักหน่อย เมื่อลองนำอินทิเกรตแอมป์ที่มีกำลังขับ 100 วัตต์มาลองจับคู่จึงจะได้เสียงทุ้มที่ควบแน่นและทิ้งตัวได้ดีขึ้น สุดท้ายลองจับคู่กับชุดปรี-เพาเวอร์กำลังขับเกิน 100 วัตต์จึงได้ผลลัพท์ที่น่าพอใจที่สุด ย่านทุ้มควบคุมได้เด็ดขาด กระชับ และมีน้ำหนักอย่างที่ควรจะเป็น เอาง่าย ๆ อินทิเกรตแอมป์รุ่นเล็กสุดที่ ATC ผลิตเองก็ยังเป็นแอมป์คลาส A/B กำลังขับ 100 วัตต์ที่ 8 โอห์ม จึงขออนุมานว่าการเลือกแอมป์มาแม็ทช์กับลำโพงคู่นี้ ควรจะเลือกแอมป์โซลิดสเตทที่มีกำลังขับขั้นต่ำสัก 100 วัตต์ขึ้นไป เพื่อรีดประสิทธิภาพจากลำโพงได้อย่างเต็มที่

หากถามว่าถ้าใช้แอมป์หลอดวัตต์ต่ำมาขับได้ไหม ก็สามารถใช้ได้ ไม่ได้ผิดกติกาแต่อย่างไร เพราะโดยปกติแอมป์หลอดจะมีกำลังสำรองสูงกว่าแอมป์โซลิดสเตทเมื่อเทียบกันวัตต์ต่อวัตต์ ดังนั้นถ้าเซ็ตอัพลำโพงฟังแบบ Near-field ห้องไม่ใหญ่มาก คุณก็จะได้ยินเสียงย่านกลางแหลมที่ไพเราะลื่นไหล มีรายละเอียดน่าฟังดีทีเดียว น้ำหนักเสียง แรงปะทะอาจจะลดลงและเบสไม่กระชับเก็บตัวมากนัก แนวเพลงที่ฟังได้ก็จะจำกัดลงมาหน่อย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแอมป์เป็นหลัก หากเทียบกันแล้ว การหาแอมป์หลอดมาขับลำโพงคู่นี้ให้ได้เต็มประสิทธิภาพตลอดย่านความถี่ที่ลำโพงทำได้ อาจต้องยอมจ่ายมากกว่าการเลือกใช้แอมป์โซลิดสเตทมาขับ

ในส่วนของการหาตำแหน่งลำโพง ควรจัดวางบนขาตั้งลำโพงสูงประมาณ 24 นิ้ว และเป็นแบบมวลหนักเพื่อความนิ่งและมั่นคง เนื่องจากตัวลำโพงมีน้ำหนักมากกว่าตาเห็น แนะนำว่าลองจัดวางตำแหน่งนั่งฟังในลักษณะสามเหลี่ยมด้านเท่าก่อน (Near-field) แล้วค่อย ๆ โทอินลำโพงเข้ามาให้เห็นด้านข้างของลำโพงเล็กน้อยเป็นตำแหน่งเริ่มต้น ไม่ควรวางลำโพงไกล้ผนังหลังมากเกินไปแม้จะเป็นลำโพงแบบตู้ปิดจะทำให้เสียงขาดความเปิดโปร่ง และควรต่อสายลำโพงแบบไบ-ไวร์ไปเลยถ้าทำได้ แต่หากจำเป็นต้องต่อแบบซิงเกิ้ลไวร์ควรต่อเข้าที่ขั้วต่อสายลำโพงชุดล่าง (LF) จะได้สมดุลเสียงที่ดีกว่าการต่อเข้าขั้วต่อสายลำโพงชุดบน (HF)

เสียง

เสียงของ ATC SCM7 จะมีความราบเรียบมาก เราจะไม่รู้สึกว่าลำโพงคู่นี้มีย่านความถี่ไหนที่โด่งออกมาเกินหน้าเกินตาเลย และเป็นลำโพงเล็กที่ให้เนื้อเสียง น้ำหนักเสียงที่เข้มข้น ไม่บอบบาง มีรายละเอียดของเสียงที่ออกไปทางสด สมจริง ทั้งเสียงคนร้อง เสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ยิ่งใครชอบเสียงร้องเป็นตัวตน เหมือนมีคนมายืนร้องให้ฟังในห้องนี่ ลำโพงตัวนี้ก็ไปในแนวทางนั้น

มีความเป็นมอนิเตอร์สูง เพราะสามารถบอกความแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนอุปกรณ์ในระบบได้เป็นอย่างดี แต่น่าแปลกที่ในความขี้ฟ้องนั้น กลับไม่รู้สึกถึงความน่ารำคาญในการรับฟังแหล่งโปรแกรมหรืออัลบั้มที่บันทึกมาแบบไม่ค่อยมีคุณภาพเลย ยังคงรับฟังได้อรรถรสของเพลงอยู่ ถือเป็นคุณสมบัติที่ไม่เหมือนใคร หากฟังเสียงจากลำโพงคู่นี้แล้วรู้สึกว่าสมดุลของเสียงเสียง จัดจ้านหรือน้ำหนักเสียงขาดหาย ควรพิจารณาการแม็ตชิ่งอุปกรณ์ที่ใช้งานในระบบก่อน ลำโพงคู่นี้ชอบให้เปิดฟังดังสักหน่อยและควรเอาหน้ากากลำโพงออกเวลาฟัง จะให้โฟกัสของเสียงที่ชัดเจนขึ้นรูปกว่า

ATC SCM7 ให้ไดนามิกของเสียงมีความหนักเบาที่ชัดเจนเวลาฟังจะรับรู้ถึงพลังงาน หรือแรงกระเพื่อมของเสียงจากเครื่องดนตรีหรือเสียงร้องได้อย่างเข้มข้น เหมือนกับการฟังเพลงเดียวกันจากลำโพงที่มีดอกลำโพงขนาดใหญ่ แต่มีอิมเมจของเสียงที่ควบแน่นมากกว่า ให้อารมณ์เหมือนการได้ฟังดนตรีเล่นกันสด ๆ อยู่ตรงหน้าได้อย่างโดดเด่น รองรับไดนามิกของเสียงได้กว้าง ด้วยเสปคค่าความดังสูงสุด (Max SPL) 103 ดีบี ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับไซส์ลำโพง ทำให้สามารถเล่นได้ดังโดยเสียงไม่เกิดอาการเครียดหรือทำให้ล้าหู

ย่านแหลมของลำโพงคู่นี้จะไม่เน้นประกายของเสียงแบบกรุ๊งกริ้งเป็นประกายสะดุดหู แต่กลับถ่ายทอดรายละเอียดย่านแหลมออกมาได้อย่างสะอาด ครบถ้วนและเป็นธรรมชาติดีทีเดียว แยกแยะความแตกต่างของลักษณะเสียงจากเครื่องดนตรีแต่ละประเภท รวมถึงความกังวานสั้น ยาว ต่าง ๆ ออกมาได้ชัด มีทรวดทรง ไม่เอนลู่ไปทางเดียวกันหมด โดยไม่แสดงอาการเสียงแข็ง หรือสะบัดจัดจ้านตลอดการรับฟัง ย่านเสียงกลางถือเป็นไฮไลท์ของลำโพงคู่นี้ เพราะถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมจริง ให้ความรู้สึกว่าเสียงออกมาจากปากคนจริง ๆ เก็บรายละเอียดหยุมหยิมได้อย่างหมดจด โดยไม่จงใจเน้นจนสะดุดหู การขึ้นรูปอิมเมจของเสียงมีทรวดทรงที่ชัดเจนเป็นตัวตนสูง ที่สำคัญคือมีบุคลิกเสียงส่วนตัวน้อยมาก โทนเสียงจะแปรผันไปตามการบันทึกอย่างชัดเจน จนกลายเป็นเสน่ห์ของลำโพงคู่นี้ที่ยิ่งฟังไปนาน ๆ จะยิ่งหลงรักและจำติดหูทีเดียว

เสียงย่านทุ้มนั้นลงได้ลึกเท่าที่ลำโพงปริมาตรตู้เท่านี้จะให้ได้ ย่านทุ้มต้นและทุ้มกลางกลางนั้นให้มวลเสียงเข้มข้น สะอาด กระชับเก็บตัวดีไม่รุ่มร่าม หากได้แอมป์ถึง ๆ หน่อยทุ้มต้นจะหนักแน่นและหนักหน่วงเอาเรื่องเลยทีเดียว แต่ไม่มีการบูสเสียงย่านทุ้มหลอกหู  อิมเมจย่านทุ้มมีความสมส่วนดี เวลาฟังเสียงดีดดับเบิ้ลเบสก็รับรู้ถึงมวลของเสียงตามสันฐานขนาดของเครื่องดนตรีได้ แม้จะลงได้ไม่ลึกก็ตาม ทุ้มย่านต่ำ ๆ จะโรลออฟลงอย่างราบรื่นและจางหายไปอย่างนุ่มนวลไม่รวบรัดเร็วเกินไป

ให้เสียงหลุดตู้ เวทีเสียงมีความสมดุลดีทั้งด้านกว้างด้านลึก รวมถึงด้านสูงที่ลอยเหนือลำโพงก็ทำได้ดีมาก แยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรีออกมาได้ชัดเจนไม่มั่ว และตรึงตำแหน่งได้อย่างมั่งคงในทุกระดับความดัง ขนาดเวทีเสียงไม่แผ่ขยายเลยออกไปมากจนขาดขอบเขตที่ชัดเจน และก็ไม่แคบจนอึดอัด (เปลี่ยนไปตามการบันทึก) เน้นความเป็นสามมิติภายในเวทีเสียง ทั้งทรวดทรงของตัวเสียงที่กลมกลึง ช่องว่างช่องไฟของชิ้นดนตรีแถวหน้า-หลัง ที่ลดหลั่นกันไป ก็ทำให้ฟังออกอย่างง่ายดาย

สรุป

ลำโพง ATC SCM7 ถือว่าเป็นลำโพงที่เล่นไม่ยาก แต่จำเป็นต้องเลือกแอมป์ที่จะมาแม็ตชิ่งกันให้เหมาะสมสักนิด เป็นลำโพงมีมีความมอนิเตอร์อยู่ในตัวแต่ในขณะเดียวกันก็ยังฟังเพลงได้ไพเราะอีกด้วย และถ้ายิ่งอุปกรณ์ในระบบมีคุณภาพสูง คุณก็จะได้คุณภาพเสียงจากลำโพงคู่นี้ดียิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว ที่สำคัญขีดเส้นใต้คำว่าเสียงสมจริงให้ลำโพงคู่นี้เอาไว้อ้างอิงในพิกัดราคาใกล้เคียงกันได้เลย

Specification

  • Drivers: HF ATC 25mm Neodymium Soft Dome, Mid/LF ATC 125mm SC
  • Matched Response: ±0.5dB
  • Frequency Response (-6dB): 60Hz-22kHz
  • Dispersion: ±80° Coherent Horizontal, ±10° Coherent Vertical
  • Sensitivity: 84dB @ 1W @ 1metre
  • Max SPL: 103dB
  • Recommended Power Amplifier: 75 to 300 Watts
  • Nominal Impedance: 8 Ohm
  • Crossover Frequency: 2.5kHz
  • Connectors: Binding Posts/4mm Plugs, bi-wire
  • Cabinet Dimensions (HxWxD): 300x174x215mm (grill adds 28mm depth)
  • Weight: 7.5kg

ขอขอบคุณร้าน Komfort Sound โทร. 083 758 7771 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบ