ย้อนอดีตเครื่องเสียง  

0

AccuphaseC-202  

CD Preamplifier ชั้นยอดที่ถูกมองข้าม…

หากเข้าไปดูที่ Product Museum ในหน้าเว็บไซต์ของ Accuphase ในหมวด Preamplifier ก็จะพบว่า ปรีแอมปลิฟายเออร์รุ่นแรกสุดของ Accuphase นั้นเป็นรุ่น C-200 ที่ออกจำหน่ายในปีค.ศ.1973 (ในฐานะปรีแอมป์คู่ขวัญกับเพาเวอร์แอมป์รุ่น P-300) ตามต่อด้วยรุ่น C-220 ในปีค.ศ.1977 ซึ่งมีความพิเศษแตกต่างจากปรีแอมป์ทั่วไป ด้วยคุณสมบัติในการเป็นปรีแอมป์ที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณหัวเข็มอย่างเดียวโดยเฉพาะ ด้วยชื่อที่ใช้เรียกขานว่า Stereo Disc Equalizer พร้อมกันนั้นก็ได้ปรับปรุงรุ่น C-200 ออกมาเป็น รุ่น C-200S ในปี 1977 ด้วยเช่นกัน

จากนั้นในอีก 2 ปีถัดมา C-200 ก็ได้ถูกพัฒนามาเป็น C-200X ออกจำหน่ายในปีค.ศ.1980 พอต่อมาในปีค.ศ. 1983 ทาง Accuphase ก็ได้ปล่อยรุ่น C-222 ที่เสมือนแตกไลน์ออกมาต่างหากจาก C-200 series โดยได้รับการบรรจุวงจร Head Amp ไว้ในตัวมาพร้อมสรรพสำหรับรองรับได้กับหัวเข็ม MC …ครั้นต่อมาในปีค.ศ.1984 ทาง Accuphase ก็ได้ออกจำหน่าย C-200 ในเวอร์ชั่นอัพเกรดล่าสุด นั่นก็คือ C-200L …แต่นั่นก็มิใช่เวอร์ชั่นท้ายสุดของ C-200 series นะครับ เพราะหลังจากนั้นในอีก 3 ปีถัดมา รุ่น C-200V ก็ได้ปรากฏโฉมออกมาในปีค.ศ.1987 และก็นับเป็นเวอร์ชั่นทิ้งทวนให้กับ C-200 series โดยว่ากันว่า สำหรับความเป็น “V” series ที่เป็น suffix ต่อท้ายรุ่นใดๆ นั่นหมายถึง ความเป็นที่สุดของพัฒนาการในรุ่นนั้นๆ ของ Accuphase

สำหรับ C-202 ที่ผมหยิบยกมาสาธยายในครั้งนี้ก็ออกจำหน่ายในปีค.ศ. 1987 นี่แหละครับ (ซึ่งหลังจากออกตลาดมาได้สักพัก C-200V ก็ออกจำหน่ายตามหลังมา) ในฐานะของความเป็น Line Stage Preamplifier เต็มตัว โดยไม่มีวงจรขยายสัญญาณหัวเข็ม หรือ phono stage บรรจุมา ซึ่งนี่ได้ทำให้C-202 ได้ชื่อว่า เป็นปรีแอมป์รุ่นแรกสุดในลักษณะนี้ของ Accuphase นั่นเป็นเพราะในยุคสมัยนั้น แนวทางการเล่นแผ่นเสียงนั้น  แทบจะหมดสมัยนิยมกันไปเลยทีเดียว การรับฟังจากแผ่นซีดีได้เข้ามายึดครองบัลลังก์ของไวนิลจนสั่นคลอน พื้นที่ของวงจรภาคขยายสัญญาณหัวเข็ม หรือ phono stage จึงถูกตัดออกไป และถูกเน้นไปที่วงจรภาค Line Stage ล้วนๆ เท่านั้น

แต่ด้วยชื่อรุ่นของมัน ทำให้บางคนนึกคิดไปว่า C-202 นี่หนา มีฐานะเป็นแค่ Line Stage Preamplifier ระดับ Entry Level ของ Accuphase ทั้งๆ ที่โดยแท้จริงแล้วทีมวิศวกรของ Accuphase ได้ทุ่มเทมันสมองร่วมกันอย่างเต็มที่ในการออกแบบให้ได้มาซึ่งสมรรถนะการใช้งานที่ไม่ด้อยไปกว่าระดับรุ่นพี่รุ่นใหญ่มากนัก (ทว่าราคาต่างกันมาก) …นี่คือ ความจริง !! บรรดาแฟนานุแฟนของ Accuphase จึงมองข้ามรุ่นนี้ไป ยกเว้นในเยอรมนีครับ เพราะรุ่นนี้ขายดิบขายดี และจนถึงทุกวันนี้ ปรีแอมป์รุ่นนี้ก็ยังเป็นที่ต้องการของนักเล่นเครื่องเสียงในแถบยุโรป ราคาซื้อขายของมันยังคงสูงกว่าสี่-ห้าหมื่นบาทเมื่อคิดเทียบเป็นเงินไทย

นั่นเพราะพวกเขารู้ว่า วงจรการทำงานที่อยู่ภายใน C-202 ได้รับการออกแบบไว้-ไม่น้อยหน้าใคร เพียงแค่ว่าชื่อรุ่นมันไม่สวยหรูเท่านั้นเอง แต่ทว่าข้างในนั้นตะติ้งโหน่งเอาเลยทีเดียว …เดี๋ยวผมจะสาธยายให้ฟัง เริ่มจากรูปลักษณ์ภายนอกกันก่อนละกัน ซึ่งก็น่าแปลกที่ก่อนหน้า C-202 นั้น ทีมวิศวกรของ Accuphase ได้ออกแบบแผงหน้าเครื่องของปรีแอมป์ให้เต็มไปด้วยปุ่มปรับซับซ้อน พร้อมทำหน้าที่หลายต่อหลายอย่างสุดแต่ผู้เป็นเจ้าของจะใช้งาน แต่สำหรับเจ้า C-202 กลับมีหน้าตาเรียบๆ ง่ายๆ มิได้มีปุ่มปรับ-ปุ่มกดเรียงรายมากมายอะไรนัก

มีแค่ปุ่มหมุนทำหน้าหลักๆ อยู่ 3 ปุ่มแค่นั้นบนแผงหน้าเครื่อง โดยที่ปุ่มใหญ่ด้านซ้ายสุดนั้นทำหน้าที่เป็นTAPE RECORDER ก็ทำนองเดียวกับ REC SELECTOR นั่นแหละครับ เพื่อให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะให้สัญญาณจากแหล่งใดจ่ายไปยังช่องจ่ายสัญญาณขาออกของ TAPE OUT เพื่อนำไปใช้บันทึกเสียง ส่วนปุ่มใหญ่อีกปุ่มที่อยู่ขวาสุดนั่น ทำหน้าที่เป็น VOLUME ครับ ซึ่งจะทำหน้าที่ปรับเร่ง-ลดระดับความดังเสียง เฉพาะสำหรับแหล่งสัญญาณอินพุทที่เป็น LINE 1, LINE 2, LINE 3, LINE 4 LINE 5 และ LINE 6 เท่านั้น (!!)

ทว่ายังเหลือปุ่มหมุนอีกปุ่มหนึ่ง ซึ่งผมยังไม่ได้บอกถึงฟังก์ชั่นใช้งานของมัน นั่นก็คือ เจ้าปุ่มหมุนที่อยู่ใกล้ๆ กับปุ่มหมุนปุ่มใหญ่ด้านขวาสุดนั่นแหละครับ ซึ่งจะมีปุ่มกดเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ ATTENUATOR แบบเดียวกับ MUTE นั่นแหละครับคั่นอยู่ ปุ่มหมุนนี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก และทำให้มีลักษณะที่แตกต่างจากปุ่มหมุนอื่นๆ ปุ่มหมุนที่ว่านี้ จะทำหน้าที่ในการควบคุมระดับความดังเสียงสำหรับแหล่งสัญญาณเครื่องเล่นซีดีโดยเฉพาะเท่านั้น โดยมีตัวอักษรกำกับเอาไว้ว่า “CD VOLUME” …มาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่า ถ้าคุณเป็นนักเล่นเครื่องเสียงที่ช่างสังเกต ก็จะพอคาดเดาได้แล้วว่า C-202 ถูกเน้นมาให้ทำหน้าที่รองรับกับแหล่งสัญญาณซีดีโดยตรง ส่วนแหล่งสัญญาณอินพุทแบบ Line Level อื่นๆ นั้น มันปกติของมันอยู่แล้ว

ขอให้ย้อนไปดูวันเดือนปีที่ Accuphase ออกจำหน่ายเจ้า C-202 ที่ผมบอกไว้ตอนต้นนะครับ จะพบว่า ในช่วงนั้นนับเป็นวันเวลาที่ซีดีครองพสุธาอยู่อย่างแข็งแกร่งแทบจะทุกหัวระแหงของพื้นดินโลก ส่วนการเล่นแผ่นเสียงนั้นไม่มีใครนิยมกัน จนเรียกได้ว่า แทบจะสูญสิ้นพันธุกรรมไปเลยทีเดียว เมื่อความนิยมในการเล่นแผ่นเสียงลดน้อยลงมากขนาดนั้น ใยจะไปบรรจุวงจรภาคขยายหัวเข็ม (ซึ่งจริงๆ แล้วใช้ค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ใน 3 ของปรีแอมป์แต่ละตัว) ไว้ให้สูญเปล่าทำไมกันเล่า สู้เอาความคิดมาทุ่มเทให้กับการบรรจุวงจรภาคขยายสำหรับการเล่นซีดีโดยเฉพาะไม่ดีกว่ารึท่านทั้งหลาย

ผมเองด้วยความสนใจในความแตกต่างจากปรีแอมป์รุ่นอื่นๆ ของ Accuphase ทำให้พยายามสืบค้นหาข้อมูลเชิงลึก จึงไปพบว่า เจ้า C-202 นี่ไม่ธรรมดาจริงๆ …ชนิดอย่าได้มองข้ามไปเป็นอันขาด !!

เปิดฝาครอบตัวเครื่องออก ก็จะเห็นความงดงามที่ซ่อนอยู่ภายใน

…ทุกๆ ภาคการทำงานของ C-202 ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นแบบ completely symmetrical circuit layout หรือเป็นเงาสะท้อนของกันและกันอย่างสมมาตรนั่นแหละครับ อันนี้ก็เพื่อให้สภาพการเหนี่ยวนำทางแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นขณะใช้งานระหว่างวงจรการทำงานส่วนต่างๆ มีการหักล้างกันไปไม่สะสมตัว ซึ่งวงจรการทำงานต่างๆ ทั้งหมดของC-202 ก็ล้วนเป็นวงจรแบบ fully balanced ล้วนๆ นับตั้งแต่ต้นทาง (อินพุท) จรดปลายทาง (เอาต์พุท) …อันว่า “fully balanced” ที่ว่านี้ ก็คือการมีวงจรภาคขยายสัญญาณ 2 ชุดแยกการทำงานสำหรับสัญญาณซีก + (เฟสบวก) และสัญญาณซีก – (เฟสลบ) ครบถ้วน ทำให้รูปแบบการทำงานของการขยายสัญญาณเป็นไปในลักษณะของ “ดึงและดัน” (push-pull) ซึ่งกันและกันในจังหวะเดียวกันอย่างเป็นสมมาตรเฉกเช่นในธรรมชาติ มิใช่มีแค่วงจรทำงานเฉพาะเฟสบวกเท่านั้น (ส่วนเฟสลบเอาต่อลงแท่นเครื่อง หรือ กราวด์) เช่นวงจรทั่วไปซึ่งถือว่าเป็นแบบอสมมาตร (Unbalaned)

อีกทั้งวงจรภาคขยาย 2 ชุดดังกล่าว ยังทำงานในลักษณะของ Class A อีกด้วย โดยการใช้ JFET ล้วนๆ นะครับ ไม่มีการใช้ “วงจรรวม” หรือ IC เลยแม้แต่ตัวเดียวในทางเดินสัญญาณ ทั้งยังไร้ซึ่งคาปาซิเตอร์ในทางเดินสัญญาณอย่างสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน …อ้อ ที่สำคัญแต่ละวงจรทำงานนั้นมีภาคจ่ายไฟแบบ regulated โดยเฉพาะของใครของมันนะครับ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ ล้วนใช้อยู่ในปรีแอมป์ชั้นดีทั้งสิ้น …ถ้าเป็นปรีแอมป์แบบเดียวกันนี้ ที่ทำออกมาขายในยุคปัจจุบันราคาจำหน่ายคงต้องระดับแสนนั่นแหละกระมัง จริงๆ นะเอ้า…

รูปนี้เห็นได้ชัดถึงรูปแบบวงจรที่จัดวางอุปกรณ์ไว้ในแบบ fully balanced ด้วยการมีวงจร 2 ชุดแยกการทำงานแบบสมมาตรกันสำหรับสัญญาณซีก + (เฟสบวก) และสัญญาณซีก – (เฟสลบ) ครบถ้วนของทั้งแชนแนลซ้ายและแชนแนลขวา รวมทั้งชุดจ่ายไฟโดยเฉพาะของแต่ละวงจร อันประกอบไปด้วยคาปาซิเตอร์ถึง 4 ตัวในแต่ละชุด ควบคู่กับแผงระบายความร้อนของใครของมันในแต่ละวงจรอีกด้วยนะครับ – ธรรมดาซะที่ไหน (แต่ที่เห็นเป็นวงจร 4 ชุด นั่นก็เพราะว่า 2 ชุดแรกสำหรับขยายสัญญาณ LINE ในขณะที่อีก 2 ชุดหลังนั่นสำหรับขยายสัญญาณ CD ครับ) 
ในภาพจะเห็นส่วนหนึ่งของภาคจ่ายไฟที่ใช้คาปาซิเตอร์เกรดสูง “For Audio” โดยเฉพาะของ ELNA จำนวน 4 ตัว ซึ่งแต่ละตัวมีค่าสูงถึง 10,000 ไมโครฟารัด เทียบได้กับคาปาซิเตอร์สำหรับเพาเวอร์แอมป์ขนาดสัก 50 วัตต์ต่อข้าง!!! ในขณะที่หม้อแปลงนั้นเป็นแบบ ขดกลม หรือ toroidal ที่แยกพันขดลวดสำหรับแชนแนลซ้ายและแชนแนลขวาโดยเฉพาะ มิได้ใช้ร่วมกันนะครับ
อันนี้โชว์ให้เห็นในส่วนของวงจรภาครับสัญญาณขาเข้าที่จะมีรีเลย์ (relay) คุณภาพสูงทำหน้าที่เชื่อมต่อสัญญาณจากแหล่งสัญญาณต่างๆ เข้าสู่อินพุทของแต่ละแชนแนล ซึ่งจะเห็นได้ชัดถึงคุณภาพในการจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ห่างกันได้อย่างเป็นระเบียบบนแผงวงจร PCB…มีท่านใดยังคิดว่า นี่เป็นปรีแอมป์ระดับ Entry Level อยู่อีกหรือเปล่าครับ
ภาพนี้เจาะจงส่วนที่เป็นแผงระบายความร้อนของ Output Device สำหรับแต่ละแชนแนลที่ทำงานในแบบ Class A แท้ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งเสถียรภาพสูงสุดในขณะใช้งาน ไม่เกิดสภาพ thermal effect จากความร้อนสะสมในขณะทำงาน-เยี่ยมยอดไหมล่ะครับ …แบบนี้น่ะหาได้ยากในปรีแอมป์ยุคปัจจุบัน
ซูมภาพให้ใกล้เข้าไปอีก ให้เห็น Output Device ที่ติดตั้งแนบชิดกับแผงระบายความร้อน
นี่แหละครับคาปาซิเตอร์ค่าประจุ 1,000 ไมโครฟารัดเกรดพิเศษของ ELNA สำหรับชุดจ่ายไฟโดยเฉพาะของแต่ละวงจร จำนวน 4 ตัวต่อชุด รวมทั้งสิ้น 16 ตัวครับ

…เป็นอย่างไงบ้างครับ สำหรับเล่าด้วยรูปประกอบคำอธิบายสั้นๆ ข้างต้น พอจะทำให้ท่านทั้งหลายเลิกมองข้ามปรีแอมป์ชั้นดีที่ไร้ซึ่งความหรูหรา ทว่าเปี่ยมในเนื้อแท้ของสมรรถนะการใช้งานของเจ้า C-202 รึยังล่ะครับ นี่ถ้าเป็นปรีแอมป์ยุคใหม่ที่ออกแบบกันเยี่ยงนี้ในปัจจุบัน เงินเรือนแสนจะเอาอยู่หรือเปล่า? เพราะความเป็น Fully-balanced Class A นั้นมันต้องใช้อุปกรณ์ชั้นดีจำนวนมากที่จำเป็นต้องคัดเกรดกันอย่างดี ให้มีสภาพที่สมมาตรกันอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นคุณภาพเสียงจะห่วยเอามากๆ เพราะอุปกรณ์ทำงานไม่สอดคล้องต้องกันอย่างแท้จริง ราคาค่าใช้จ่ายจึงจำเป็นต้องสูงมากกว่าปรีแอมป์ธรรมดาทั่วไปที่มิใช่ Fully-balanced นับสองสามเท่าเลยทีเดียว

ซึ่งด้วยราคาจำหน่ายมือสอง หรือมือสาม หรือมือสี่-มือห้าก็ตามแต่ของเจ้า C-202 ที่ขอให้อยู่ในสภาพดีแบบ Original ซึ่งก็มิได้ไกลเกินคว้าเทียบกับความพิถีพิถันในการออกแบบ ทำให้ผมเองยังรู้สึกประทับใจ จนต้องหามาใช้งานเลยละครับ และก็ไม่ผิดหวัง ทั้งในแง่ความแจ่มใส สดกระจ่าง สะอาดสะอ้าน ฉับไว รวมทั้งเนื้อเสียงที่อวบอิ่ม เบสที่แน่นปึ๋ง เสียงสูงที่ยาวไกล ไม่ห้วนทู่ …ยิ่งถ้าคุณใช้ต่อเล่นซีดีจากช่อง Balanced Out ของเครื่องเล่นซีดี ตรงเข้าสู่ช่อง Balanced In ของเจ้า C-202 …ผมรับรองว่า คุณจะมีอาการอึ้งก็แล้วกัน !!!…จึงขอแนะนำมา ณ ที่นี้ครับ

ขออนุญาตปิดท้ายครั้งนี้ไว้ด้วยประโยคต่อไปนี้ที่ “MIKE” ผู้วิเคราะห์เจ้า C-202 อย่างละเอียดได้สรุปเอาไว้ใน Liquid Audio ดังนี้ครับ :- The Accuphase C-202 Class A line-level preamplifier is one of the best kept secrets in audio, I reckon.  They come up on eBay from time to time, I strongly suggest you grab one.