รีวิว Bob Carver Amazing Line Source Speakers

0

“The Amazing Sound !”

Test  …..มงคล อ่วมเรืองศรี

เอ่ยชื่อ Bob Carver ย่อมไม่มีใครในวงการเครื่องเสียงที่ไม่รู้จัก …ย้อนกลับไปในช่วงยุค’70 ที่ยังไม่มีการแบ่งแยกแนวทางอะนาลอกกับดิจิตอลอย่างเด่นชัด นักเล่นเครื่องเสียงส่วนใหญ่มีความสุขอยู่กับการรับฟังเพลงและดนตรีทางวิทยุที่ส่งมาฟรีผ่านคลื่นอากาศ หรือไม่ก็ลงทุนซื้อแผ่นเสียงแนวเพลงที่ชื่นชอบ ซึ่งราคาก็แค่ไม่กี่ร้อยบาทมาฟังสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงที่พอมีกะตังค์ ในขณะที่นักฟังประเภทเงินทุนจำกัด ซึ่งมักเป็นวัยรุ่นก็มักจะหันไปซื้อเทปคาสเซทแบบ Pre-Recorded มาเล่นกัน ไม่นับนักเล่นฯ แบบปัจเจกนิยมที่ให้ความสนใจในการรับฟัง Open Reel Tape อย่างเป็นการเฉพาะ อันเป็นที่ยอมรับกันว่า ให้คุณภาพการรับฟังที่เหนือชั้นกว่าแผ่นเสียงไปอีกระดับ แต่ก็ต้องใช้ทุนรอนที่สูงกว่าด้วยเช่นกัน

ในยุคสมัยที่ว่านั้น “Bob Carver” ที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Robert W.(Bob) Carver นับได้ว่า โดดเด่นเป็นอย่างมาก ด้วยความที่เขาเป็นทั้งนักคิดและนักประดิษฐ์อยู่ในตัว ด้วยแนวทางที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากใครๆ ที่มีมาก่อนหน้า จนหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาคิดและประดิษฐ์ขึ้นมานั้น เป็นที่ยอมรับกันว่าล้ำสมัยเกินใคร จนกลายเป็นประดิษฐกรรมใหม่เอี่ยมอ่องถอดด้ามอย่างที่เรียกกันว่า “นวัตกรรม” (Innovation) – เริ่มจากความสนใจในอุปกรณ์เครื่องเสียงมาตั้งแต่ครั้งยังเรียนวิทยาลัย (College) จัดเป็นประเภทที่เรียกได้ว่า ไฟแรงและร้อนวิชา ซึ่งเขาได้มีการพัฒนาวงจรใหม่ๆ จนนำไปสู่ Prototype มากมาย และเขาก็ได้จัดตั้งบริษัทผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงของตัวเองขึ้นในเวลาต่อมา ช่วงที่เขาเพิ่งจบการศึกษาหมาดๆ ภายใต้แบรนด์เนมว่า Phase Linear ในปีค.ศ. 1970 (ร่วมกับ Steve Johnston และ Jack Goodfellow เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง)

ซึ่ง “Phase Linear” นี่แหละที่ได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ในแนวคิดอันล้ำเลิศเกินใครๆ ในยุทธจักร เฉพาะอย่างยิ่งกับแอมปลิไฟเออร์ ถึงขนาดที่บางรุ่นกลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่นักเล่นเครื่องเสียงปรารถนาที่จะได้มาครอบครอง (อาทิเช่น Phase Linear 700 ซึ่งติดอันดับ “One of The Most Significant Amplifiers of All Time” ของ The Absolute Sound) แต่ด้วยความขัดแย้งกันในแนวทางธุรกิจทำให้ “Bob Carver” ลาจาก Phase Linear ออกมาในปีค.ศ. 1977 แล้วก่อตั้งบริษัทใหม่นามว่า Carver Corporation ขึ้นมาในปีค.ศ. 1978 ซึ่ง ณ ที่นี่ “Bob Carver” ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ อันลึกล้ำ และแตกต่างจากใครๆ อย่างโดดเด่นไว้มากมาย (ที่สำคัญอันเป็นที่จดจำกันในวงการก็คือ Magnetic field coil power amplifier และ Sonic holography)

แต่แล้ว “Bob Carver” ก็ต้องละทิ้ง Carver Corporation ไว้เบื้องหลัง และได้ก่อตั้ง Sunfire ในปีค.ศ. 1994 โดยครั้งนี้ได้ก้าวเข้าสู่แวดวงโฮมเธียเตอร์อย่างเต็มตัว ซึ่ง ณ ที่นี่ “Bob Carver” ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ จากแนวคิดอันล้ำสมัยไว้มากมายอีกเช่นกัน ทว่าก็เป็นอีกครั้งที่ “Bob Carver” ก็ต้องอำลา Sunfire ซึ่งเป็นบริษัทที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงมากยิ่งกว่าทุกครั้งที่เขาได้เคยก่อตั้งขึ้นมา โดยตัดสินใจขายกิจการให้แก่ Core Brands ในแคลิฟอร์เนีย (ซึ่งอยู่ในเครือของ Nortek Technology Solutions Segment) เพื่อให้ “สิ่งประดิษฐ์” และแนวคิดของเขานั้นยังคงดำรงอยู่ในสหรัฐอเมริกา – ไม่หลุดรั่วออกไปสู่ “คู่แข่งธุรกิจ” นอกแผ่นดินเกิด

จากนั้นด้วยหัวใจนักคิด-นักประดิษฐ์ที่มีอยู่ในตัว “Bob Carver” ก็ตัดสินใจจัดตั้งบริษัทของตัวเองอีกครั้ง (โดยใช้ชื่อและนามสกุลของตัวเอง) ภายใต้แบรนด์เนมว่า Bob Carver LLC ในปีค.ศ. 2011 ต่อมาอีก 2 ปี (เดือนมิถุนายน 2013) ทาง Jade Design ก็ได้ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์การผลิตและจัดจำหน่ายของ Bob Carver LLC ทว่าในช่วงปลายปีเดียวกันนั้นเอง  Jade Design และ Bob Carver LLC  ก็แยกทางการดำเนินธุรกิจร่วมกัน “Bob Carver” จึงได้ปรับเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น Bob Carver Corporation …ซึ่งครั้งนี้ดูเหมือนว่า “Bob Carver” ได้นำประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งหมดนั้นทุ่มเทให้แก่การรังสรรค์ประดิษฐกรรมใหม่ๆ ที่รุดล้ำนำหน้าผลิตภัณฑ์ใดๆ ในระดับเดียวกัน

Bob Carver Corporation มีผลิตภัณฑ์ตัวหลักอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน อันได้แก่ เพาเวอร์ แอมปลิไฟเออร์หลอดฯ กับ ระบบลำโพง ซึ่งในส่วนของ เพาเวอร์ แอมปลิไฟเออร์หลอดฯ นั้น มีอยู่ 3 รุ่นด้วยกัน อันได้แก่  Crimson 350, Raven 350 และ Silver Seven 700 สำหรับผลิตภัณฑ์ทางด้านลำโพงนั้น มีอยู่ 1 รุ่น (ณ เวลานี้) อันได้แก่  Amazing Line Source

คุณลักษณ์

ทั้งนี้เรื่องของ Line Source speakers นั้น (บางครั้งก็อาจจะเรียกกันว่า Line Array Speakers) ได้มีการระบุเอาไว้ว่า Dr. Harry Olson เป็นผู้ริเริ่มแนวทางทฤษฎีนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และได้มีการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมากระทั่งปัจจุบัน ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องของสมรรถนะทำงาน อันส่งผลลัพธ์ไปสู่คุณภาพเสียงที่รับฟัง โดยที่ Dr. Harry Olson (ผู้ซึ่งเริ่มต้นเข้าทำงานกับทาง Radio Corporation of America ในแผนก Photophone Division เมื่อปีค.ศ. 1928) นั้น ได้บันทึกข้อความเอาไว้ใน Acoustical Engineering เมื่อปีค.ศ. 1957 ว่า เขาได้ค้นพบแนวคิด (Concepts) ของ Line Array Speakers นี้ในขณะทำการพัฒนาลำโพงที่จัดวางตำแหน่งติดตั้งบนแผงหน้าตู้ลำโพงในรูปแบบของแถวตอนเรียงหนึ่ง หรือ Column Speaker ด้วยการใช้ลำโพงหลายๆ ตัวจัดวางตำแหน่งให้ไล่เรียงกันลงมาในแนวดิ่งบนแผงหน้าตู้ลำโพง (Vertically Aligned Drivers) เพื่อให้ทำหน้าที่ก่อกำเนิดช่วงย่านความถี่เสียงกลางที่มี “รูปแบบแผ่กว้างทางแนวนอน และแคบเล็กทางแนวดิ่ง” (Wide Horizontal and Narrow Vertical Pattern) ***ซึ่งด้วยแนวคิดนี่แหละที่ Joseph D’Appolito ได้นำมาปรับปรุง-ต่อยอดไปสู่หลักการ ‘Multi-Band Line Array Elements’ ในปีค.ศ. 1983 หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า MTM (Midwoofer, Tweeter, Midwoofer) Configuration อันเป็นที่ยอมรับกันตราบจนทุกวันนี้***

แล้วอะไรล่ะคือ Line Source Speakers?

ขออนุญาตอธิบายคร่าวๆ ดังนี้ – จุดสังเกตประการสำคัญของความเป็น Line-Source Speakers ก็คือว่า ลำโพงประเภทนี้จะต้อง “สูงฉลูด” ในรูปแบบของ Tower Style กระนั้นแล (อย่างน้อยๆ ก็ไม่ต่ำกว่า 8 ฟุต หรือร่วมๆ สองเมตรครึ่ง เรียกว่าสูงจากพื้นจรดเพดานห้องฟังนั่นแหละครับ) อันเนื่องมาจากความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งตัวขับเสียงชนิดเดียวกันจำนวนหลายตัวไล่เรียง-ต่อเนื่องกันลงมาทางแนวดิ่ง ตั้งแต่ส่วนฐานจนจรดส่วนยอดของลำโพง-ประมาณนั้น ในลักษณะของ Vertically Stacked Configuration

ลักษณะการแพร่กระจายของเสียงที่สม่ำเสมอจากลำโพงประเภท Line Source Speakers

ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ได้มาซึ่งมุมกระจายเสียงในแนวดิ่งที่แผ่กว้างจากพื้นจรดเพดาน อันเป็นการลดผลกระทบของสภาพห้องฟังให้ต่ำที่สุด เนื่องเพราะมีความสม่ำเสมอของการแพร่กระจายเสียงจากลำโพงที่ใกล้เคียงสมดุลทั้งมุมก้มและมุมเงย ณ ตำแหน่งนั่งฟัง – ลักษณะเสียงจากลำโพงบริเวณใกล้พื้นกับใกล้เพดานรับรู้ได้แทบจะไม่ต่างกัน ลดปัญหาความต่างกันทางลักษณะเสียงที่เกิดจากผลกระทบของเสียงบริเวณพื้น-ผนัง-เพดานห้องฟัง ลำโพงประเภท Line Source Speakers จึงจำต้องเป็นลำโพงแบบ หลายตัวขับเสียงที่เหมือนกันเปี๊ยบ (Multiple Identical Drivers) ทำให้ระบบทำงานนั้นแตกต่างจากลำโพงแบบ 2-ทาง, 3-ทาง หรือ 4-ทางเช่นทั่วไป

ลักษณะการแพร่กระจายของเสียงที่ไม่สม่ำเสมอจากลำโพงประเภท Point Source Speakers

ทั้งนี้ลำโพงแบบ 2-ทาง หรือว่า 3-ทางนั้น มักจะเป็นลำโพงประเภท Point Source Speakers ที่แม้จะใช้ลำโพงหลายตัวทำงานร่วมกัน (Multi-Way) หากแต่ลำโพงแต่ละตัวที่ใช้นั้น จะแตกต่างกัน-มิได้เหมือนกันเปี๊ยบ …อย่างเช่นลำโพงประเภท Line Source Speakers ทั้งนี้ทั้งนั้นเรา-ท่านมักจะพบเห็นลำโพงประเภท Line Source Speakers นี้ ติดตั้งใช้งานอยู่ตามสถานที่คอนเสิร์ต ฮอลล์ และสเตเดี่ยม (Stadium) ซึ่งต้องการ “คลื่นเสียง” (Sound Wave) ที่แพร่กระจาย-แผ่กว้างไปยังผู้ฟังในสถานที่นั้นๆ อย่างทั่วถึง และด้วยลักษณะเสียงที่ใกล้เคียงกันอย่างที่สุด ในขณะที่ลำโพงประเภท Point Source Speakers จะให้ “คลื่นเสียง” ที่แพร่กระจายได้ในมุมซึ่งแคบกว่ามาก ทำให้ลักษณะเสียงที่ไปยังผู้ฟังนั้นมีคุณภาพไม่เทียมเท่ากัน ลำโพงประเภท Point Source Speakers จึงไม่สามารถนำมาใช้งานในคอนเสิร์ต ฮอลล์ และสเตเดี่ยม (Stadium) ได้อย่างเหมาะสม

สำหรับห้องฟังในบ้าน ลำโพงประเภท Line Source Speakers จะให้ “ข้อดี” อย่างมากต่อตำแหน่งนั่งฟังที่ดีที่สุด หรือ Sweet Spot อันกว้างขวาง การรับฟังจึงให้ความสมจริงสมจังในการรับรู้ถึงสภาพอิมเมจและซาวด์สเตจที่ดีกว่าลำโพงประเภท Point Source Speakers …กระนั้นลำโพงประเภท Line Source Speakers ก็จำเป็นต้องมีการออกแบบและสรรรค์สร้างอย่างพิถีพิถัน อุปกรณ์ใช้งานต่างๆ ก็ต้องใช้ความใส่ใจในการคัดสรร เฉพาะอย่างยิ่งตัวขับเสียงและครอสโอเวอร์ที่ต้องทำงานอย่างสอดสัมพันธ์ร่วมกัน

ลำโพงบ้านที่เป็นประเภท Line Source Speakers โดยส่วนใหญ่จึงมักจะมีราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูงมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (อาทิเช่น  McIntosh, Genesis, Steinway Lyngdorf และ Wisdom Audio) ซึ่ง “Amazing Line Source” จาก Bob Carver Corporation ก็เป็นอีกหนึ่งที่เป็นประเภท Line Source Speakers นี่แหละ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไซร้ Bob Carver ได้เคยออกแบบลำโพงที่ใช้แนวคิดของ Line Source Speakers นี้เอาไว้ตั้งแต่สมัยที่เขายังอยู่กับ Phase Linear ด้วยซ้ำ นั่นคือ Phase Linear® Andromeda III ที่สำคัญเขายังตราตรึงใจในแนวคิดของ Line Source Speakers นี้มาโดยตลอด แม้ตอนที่เขาได้ก่อตั้ง Carver Corporation ขึ้นมา ก็ยังได้ออกแบบและผลิต Carver® Amazing Loudspeaker และ Carver AL-III ออกจำหน่าย และแม้กระนั้นเมื่อตอนที่เขายังทำงานให้กับทาง Sunfire ก็ยังมีรุ่น Sunfire® Cinema Ribbon CRM-2 ออกมาประกาศศักดาต่อแวดวงลำโพงสำหรับระบบโฮมเธียเตอร์

“The Bob Carver Amazing Line Source is unlike any other loudspeaker ever produced!”

นั่นเป็นข้อความที่ Bob Carver Corporation ได้กล่าวอ้างถึงลำโพง Amazing Line Source (ALS) เอาไว้ในเว็บไซต์บริษัท …ทั้งนี้ ALS เป็นลำโพงแบบ แผงหน้าแคบมากเพียง 4 นิ้วกว่าๆ และลึกเกือบ 7 นิ้วเท่านั้น ทว่ามีความสูงถึง 90 นิ้ว (โดยมีส่วนฐานตั้งวาง หรือ Base Attached ที่มีขนาด 18 x 18 นิ้ว ทำหน้าที่รองรับตัวตู้ลำโพงแต่ละข้างให้มีความมั่นคง-แข็งแรงในการตั้งวางบนพื้นห้องฟัง) ซึ่งตัวตู้ลำโพงแต่ละข้างนั้นขึ้นรูปจาก Extruded Aluminum (น้ำหนักเบา แต่แข็งแกร่งทางโครงสร้าง)

Ribbon tweeter

โดยได้รับการติดตั้งตัวขับเสียงความถี่สูงแบบ ริบบอน (Ribbon Tweeter) จำนวนถึง 13 ตัว เอาไว้บนแผงหน้าตัวตู้-ไล่เรียงกันลงมาในแนวดิ่ง (Vertical Array) ทำหน้าที่ยิงเสียงออกมาในทิศทางตรงมาด้านหน้า (Forward Firing) …ซึ่งนี่ทำให้ “ALS” สามารถผลักดันคลื่นเสียงที่ออกมาทางด้านหน้าในแนวระนาบได้อย่างสม่ำเสมอเป็นสมมาตรแท้จริง พร้อมกันนี้ “ALS” ยังได้รับการติดตั้งตัวขับเสียง Midrange/Woofer ขนาดเล็ก จำนวนรวมถึง 18 ตัว เอาไว้บนแผงด้านข้างตัวตู้ลำโพง (จัดวางเรียงแบบสลับฟันปลากัน-ซ้าย/ขวาด้านละ 9 ตัว) ทำหน้าที่ยิงเสียงออกมาในทิศทางด้านข้าง (Lateral Firing) นอกจากนี้ยังมี “Spatial Ribbon Drivers” อีก 1 ตัว ติดตั้งอยู่บริเวณส่วนบนสุดของแผงหน้าตัวตู้อีกด้วย

มาพร้อมอุปกรณ์ส่วนควบครบครัน-ใช้งานไร้กังวล

Sunfire Subrosa Subwoofer (SRS-210R SYS)

ทาง Bob Carver Corporation ระบุว่า Amazing Line Source (ALS) นี้ จะได้รับการ “จัดชุด” มาพร้อมกับ Sunfire Subrosa Subwoofer (SRS-210R SYS) ซึ่งจะทำงานควบคู่กับ SRA-2700EQ ทำหน้าที่เป็นแหล่งขุมกำลังให้แก่ “Subrosa” ที่ทำงานในแบบ Passive Subwoofer (ไม่มีภาคขยายเสียงในตัว) …นั่นเท่ากับว่า ผู้ซื้อ “ALS” ไปใช้งาน จะได้รับ-ระบบลำโพง-ชุดใหญ่ที่สามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองได้ตั้งแต่ออคเทฟต่ำสุดจนถึงสูงสุด พร้อมอุปกรณ์ควบคุมอันล้ำสมัย จึงมั่นใจได้ว่า ผู้ใช้จะได้รับสมรรถนะใช้งานรวมถึงคุณภาพเสียงจาก “ALS” ได้อย่างเต็มที่และสอดคล้องต้องกัน เพราะทั้งหมดนั้น ล้วนรังสรรค์ขึ้นจากความคิดของ Bob Carver ทั้งสิ้น

ความลึกเพียงแค่ 4 นิ้วเท่านั้น “SubRosa” จึงมีความแบนบางอย่างมาก
‘StillBass™ anti-shake technology’ ของ Sunfire

โดยที่ “SubRosa” มีจุดเด่นสำคัญอยู่ที่ความเป็น Flat Panel Subwoofer ที่นับว่า แบนบางมาก เนื่องจากมีความลึกเพียงแค่ 4 นิ้วเท่านั้น (เพื่อให้เหมาะเจาะต่อการติดตั้งในแบบเอนกประสงค์ จะแขวนผนัง-วางพื้น หรือว่าซ่อนเร้นให้พ้นสายตาก็ได้ทั้งสิ้น) ซึ่งทาง Sunfire ได้ระบุว่า “SubRosa” ได้รับการผนวก ‘StillBass™ Anti-Shake Technology’ เอาไว้ในตัว ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหักล้างกันของแรงสั่นสะเทือนอันไม่พึงประสงค์จนหมดสิ้นไป (ในส่วนของตัวตู้ลำโพงนั้นเป็น Rosewood Cabinet อันสวยงามที่ใช้เวลาจัดทำนานถึง 28 วัน ผ่านการขัดสีและลงแลคเกอร์อย่างประณีตด้วยมือมากถึง 11 ชั้น)

“Low-Profile High Back-emf Woofers” ขนาด 10 นิ้ว จำนวน 2 ตัว

ในขณะที่ทางด้านของตัวขับเสียงต่ำนั้น “SubRosa” ได้รับการติดตั้งวูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้ว เอาไว้ถึง 2 ตัว ด้วยกัน โดยเป็นตัวขับเสียงต่ำที่ออกแบบพิเศษ “Low-Profile High Back-emf Woofers” ควบคู่กับการใช้ระบบแม่เหล็กแบบ Neodymium ที่ให้ค่าความเข้มเส้นแรงแม่เหล็กสูงมาก เพื่อให้สามารถติดตั้งในตัวตู้ที่มีความหนาเพียงแค่ 4 นิ้ว และพร้อมทำหน้าที่รองรับการขับขานช่วงความถี่เสียงต่ำตั้งแต่ 120kHz ลงมาจนถึง 18Hz (-3dB) ซึ่งจะสอดคล้องต่อเนื่องกับ  “ALS” ที่สามารถครอบคลุมช่วงความถี่เสียงตั้งแต่  75Hz-45kHz (-3dB) ด้วยค่าความไวเสียงโดยรวมที่ 90 dB และมีค่าความต้านทานอยู่ที่ 6 โอห์ม ทั้งนี้ทั้งนั้นทาง Bob Carver Corporation ได้ระบุว่า “ALS” นี้ มีความเหมาะเจาะลงตัวอย่างมากกับการใช้งานขับขานร่วมกับเพาเวอร์แอมป์หลอดรุ่น Raven 350 หรือว่ารุ่น Crimson 350 ของ Bob Carver Corporatio

ในส่วนของ “SRA-2700EQ” ซึ่งพร้อมทำหน้าที่เป็น-ขุมพลัง-ในการขับขานให้แก่ “Subrosa” ได้มากถึง 2,700 วัตต์ ด้วยระบบการทำงานแบบ ‘Mono-Block, 2700W TDC™ (Tracking Downconverter™) Amplifier’ ที่สามารถควบคุมระดับแรงดันไฟฟ้าในภาคจ่ายไฟให้สอดสัมพันธ์กับกำลังขับที่ใช้งานจริงในขณะนั้นๆ ทำให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด ตรงตามสภาวะใช้งานจริงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการสูญเปล่าทางพลังงาน ความร้อนในขณะใช้งานจึงต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับแอมปลิไฟเออร์ทั่วไป

นอกจากนี้ภายในตัวเครื่องขนาด 113 x 36 x 9 ซ.ม. (ยาวxกว้างxลึก) ของ SRA-2700EQ ยังพร้อมทำหน้าที่เป็น Active Variable Crossover Control เพื่อการส่งมอบช่วงความถี่ที่เหมาะสมต่อภาระการทำงานให้แก่ทั้ง Subrosa และ ALS อีกด้วย ซึ่งบนแผงหน้าเครื่องของ SRA-2700EQ จะมีปุ่มกดและปุุ่มปรับตั้งการใช้งานติดตั้งอยู่เรียงกันดังนี้ : POWER/Stanby, Start, Equalizer Authority, Phase, Crossover Frequency และ Volume รวมถึงยังมีช่องเสียบ ‘Mic’ อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องเพราะว่า จริงๆ แล้ว “SRA-2700EQ” ก็คือ Fully Automatic Equalizer Power Amplifier ที่พร้อมให้ผู้ซื้อได้ใช้ประโยชน์โดยตรงจาก “Auto Equalisation Function” ของ Auto Room-Correction อย่างเต็มที่

SRA-2700EQ และ Calibrated microphone ที่จัดเตรียมมาให้พร้อมกับSRA-2700EQ

โดยการใช้งานจาก “Auto Equalisation Function” นี้ ผู้ใช้เพียงทำการเสียบต่อสายสัญญาณไมโครโฟนพิเศษ (Calibrated Microphone – จัดเตรียมไว้ให้ด้วย) เข้ากับ SRA-2700EQ ที่ช่องเสียบ ‘Mic’ แล้วจึงนำตัวไมโครโฟนพิเศษนี้ ไปตั้งวางตรงตำแหน่งนั่งฟัง (และให้มีระดับความสูงจากพื้นที่ใกล้เคียงกับระดับของหูในขณะรับฟัง) จากนั้นกดปุ่ม ‘Start’ ปล่อยให้ระบบ Auto Room-Correction ภายในตัวของ SRA-2700EQ เริ่มต้นทำงาน (ในช่วงนี้ดวงไฟ LED จำนวน 8 ดวง บนแผงหน้าเครื่องจะติดกะพริบไล่เรียงกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ) ด้วยการปล่อยสัญญาณตรวจสอบ (Test Tone) ไปสู่ “SubRosa” โดยจะค่อยๆ กวาดคลื่นความถี่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งครบรอบของระบบทำงาน จากนั้นระบบทำงานจะคิดคำนวณค่าการปรับตั้งที่เหมาะสมของ Auto Room-Correction สำหรับ “SubRosa” จัดเก็บไว้ในหน่วยความจำโดยอัตโนมัติ พร้อมให้ผู้ใช้ได้เรียกขึ้นมาใช้งาน เพื่อการปรับปรุงสภาพอะคูสติกของห้องฟังนั้นให้สมบูรณ์ที่สุด

ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานค่าการปรับตั้ง Auto Room-Correction ดังกล่าว (ผลลัพธ์ที่ได้จากการคิดคำนวณอัตโนมัติของ Auto Room-Correction) ได้หลากหลายรูปแบบผ่านทางปุ่มหมุน ‘Equalizer Authority’ ที่จะปรับตั้งค่า Auto Room-Correction ตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งจะเรียกขึ้นมาใช้งานแบบเต็มๆ (100%) ก็ได้ – ไม่ใช้งานเลยก็ได้ (0%) หรือว่าจะเอามาใช้แค่ 30%, 50% หรือว่า 80% อย่างไงก็ได้สุดแท้แต่ความต้องการของผู้ใช้จะทำการปรับตั้ง (ขึ้นอยู่กับรสนิยม หรือประสบการณ์การฟังของแต่ละคน) …นี่คือความชาญฉลาดของผู้ออกแบบ SRA-2700EQ ที่ต้องการสร้างลูกเล่นให้แก่ผู้ใช้ ไม่ต้องมาติดตรึงอยู่กับการปรับตั้งที่ค่าใดๆ ค่าหนึ่งอย่างคงที่ ไม่สามารถยืดหยุ่นลักษณะการใช้งานเอื้อไปตามความเป็นจริงของสภาพการใช้งาน อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้ต้องการใช้งานระบบ Auto Room-Correction นี้ เพื่อช่วยแก้ไขความบกพร่องของอะคูสติกห้องฟังตามสภาพที่เป็นจริง ก็ให้ปรับตั้งปุ่มหมุน ‘Equalizer Authority’ เอาไว้ที่ตำแหน่ง 100% เพราะนี่คือตำแหน่ง ‘Normal’ ของการใช้งาน

ที่สำคัญ บนแผงหน้าเครื่องของ SRA-2700EQ ยังมีปุ่มหมุน ‘Phase’ สำหรับปรับตั้งค่าองศาของสัญญาณความถี่เสียงต่ำ (Low Pass) ที่จ่ายสู่ “Subrosa” ให้สอดรับ-ลงรอยกับค่าเฟสองศา (Phase) ของสัญญาณย่านความถี่เสียงสูง (High Pass) ที่ปล่อยผ่านไปยัง “ALS” โดยจะสามารถปรับตั้งได้อย่างอิสระตามต้องการ ตั้งแต่ 0-90-180 องศา นอกจากนี้ยังมีปุ่มหมุน ‘Crossover Frequency’ ที่ให้ผู้ใช้สามารถปรับเลือกค่าความถี่จุดตัดกรอง/แบ่งช่วงความถี่ (Crossover  Adjustment) ได้อย่างเป็นอิสระเหมาะสมกับการรับฟัง หรือตามความต้องการ ในระหว่างช่วงความถี่ 30-100Hz โดยจะมีตำแหน่งแนะนำการปรับตั้งค่าอยู่ที่ค่า ’65Hz’ ซึ่งถูกระบุไว้เป็นตำแหน่ง ‘Normal’ ของการปรับตั้งใช้งาน (แต่หากไม่ต้องการใช้งานวงจรตัดกรอง/แบ่งช่วงความถี่นี้ ก็สามารถปรับหมุนไปที่ตำแหน่ง ‘Bypass’ ได้)

…เคียงข้างปุ่มหมุน Crossover Frequency ยังมีปุ่ม ‘Volume’ สำหรับปรับตั้งระดับความแรงสัญญาณขาออก (ระดับความดังเสียง) ที่ส่งจ่ายไปยัง “SubRosa” ซึ่งให้ผู้ใช้สามารถปรับเลือกค่าระดับความดังเสียงจาก Min ถึง Max ได้อย่างเป็นอิสระเหมาะสมกับการรับฟัง หรือตามความต้องการเช่นเดียวกัน โดยจะมีตำแหน่งแนะนำการปรับตั้งค่าอยู่ที่ค่า ‘0dB’

ด้านหลังเครื่องของ SRA-2700EQ จะประกอบด้วยช่องเสียบต่างๆ ที่ล้วนเป็น Gold Plated Connections ติดตั้งไล่เรียงกัน ดังนี้ : RCA Inputs (Line Level), RCA Outputs (High Pass), Balanced (XLR) Input, Subwoofer Output และ Detachable IEC Power Cord

การใช้งานและการปรับตั้ง

ประการแรก-จำเป็นต้องทำการเสียบต่อใช้งาน “SRA-2700EQ” ในลักษณะ-คั่นกลาง-อยู่ระหว่างปรีแอมป์กับเพาเวอร์แอมป์ เพื่อให้ SRA-2700EQ พร้อมทำหน้าที่ ‘Active Variable Crossover Control’ เพื่อการส่งมอบสัญญาณความถี่เสียงต่ำ หรือ Low Pass ให้แก่ Subrosa และส่งมอบช่วงย่านความถี่เสียงสูง หรือ High Pass ให้แก่ ALS …ซึ่งก็มิใช่เรื่องยุ่งยากในการเสียบต่อใช้งานแต่อย่างใด อธิบายได้ง่ายๆ ดังนี้ : ขั้นแรกสุดให้นำเอาสัญญาณขาออกจากปรีแอมป์ (Preamp Output) มาเสียบต่อเข้าที่ช่องเสียบ ‘RCA Inputs’ ของ “SRA-2700EQ” ให้ถูกต้องตามช่องสัญญาณซ้าย/ขวา (Left/Right Channel) จากนั้นขั้นตอนที่ 2 – จึงนำเอาสัญญาณขาออกของ “SRA-2700EQ” จากช่องเสียบ ‘RCA Outputs’ ไปเสียบต่อเข้ากับช่องเสียบต่อรับสัญญาณขาเข้าของเพาเวอร์แอมป์ (Power Amp Input) ให้ถูกต้องตามช่องสัญญาณซ้าย/ขวา (Left/Right Channel) ขั้นตอนที่ 3 – นำเอาสายลำโพง (Speaker Cable) มาเสียบต่อเข้ากับ ‘Subwoofer Output’ ของ SRA-2700EQ ให้ถูกต้องตามขั้วบวก/ขั้วลบ (+/-)

ทีนี้ก็จะมาถึงประการที่สองของการใช้งานนั่นคือ การใช้งาน ‘Auto Equalisation Function’ จาก SRA-2700EQ เพื่อให้ระบบทำงานนี้ทำการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาพอะคูสติกของห้องฟัง แล้วนำไปสู่ระบบ Auto Room-Correction  เพื่อการปรับปรุงสภาพอะคูสติกของห้องฟังนั้นให้สมบูรณ์ที่สุดโดยอัตโนมัติ โดยการนี้ผู้ใช้เพียงทำการเสียบต่อสายสัญญาณของ Calibrated Microphone เข้ากับช่องเสียบ ‘Mic’ ของ SRA-2700EQ แล้วจึงนำตัวไมโครโฟนพิเศษนี้ไปตั้งวางตรงตำแหน่งนั่งฟัง โดยกะระยะให้มีระดับความสูงจากพื้นที่ใกล้เคียงกับระดับของหูในขณะรับฟัง จากนั้นกดปุ่ม ‘Start’ บนแผงหน้าเครื่องของ SRA-2700EQ แล้วปล่อยให้ระบบ Auto Room-Correction ภายในตัวของ SRA-2700EQ เริ่มต้นทำงาน-จนกระทั่งเสร็จสิ้น จากนั้นระบบ Auto Room-Correction ก็จะพร้อมใช้งานให้ผู้ใช้สามารถเรียกขึ้นมาใช้งานได้ตามต้องการ

ต่อมาประการที่สามของการใช้งานจะเป็นการปรับตั้งค่าต่างๆ ให้ได้มาซึ่งคุณภาพเสียงที่สมบูรณ์แบบ หรือได้มาซึ่งลักษณะเสียงอย่างที่ต้องการ โดยจะเป็นการปรับตั้งค่าไล่เรียงไปตั้งแต่ Equalizer Authority, Phase, Crossover Frequency และ Volume ซึ่งจำเป็นต้องใช้ “การฟัง” เป็นหลักในการปรับตั้งค่าต่างๆ ดังนั้น “ประสบการณ์” ในการรับฟังของผู้ใช้ หรือผู้ปรับตั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญ …สำหรับการรับฟังครั้งนี้ของผม ขอสรุปถึงค่าการปรับตั้งต่างๆ ดังนี้ครับ : Equalizer Authority อยู่ที่ตำแหน่ง 50%, Phase อยู่ที่ตำแหน่ง 90 องศา, Crossover Frequency อยู่ที่ตำแหน่ง 55Hz โดยประมาณ ส่วน Volume อยู่ที่ตำแหน่ง 0db

อนึ่ง-เนื่องจาก ALS จะมีอุปกรณ์ตัดกรอง/แบ่งช่วงความถี่แบบ Passive (ใช้สายสัญญาณแบบจำเพาะที่จัดเตรียมไว้พร้อม สำหรับการเชื่อมต่อระหว่าง ALS กับกล่องอุปกรณ์นี้) ทำหน้าที่แยกสัญญาณความถี่เสียงเพื่อจ่ายให้แก่ Upper Midrange และ Ribbon Tweeter ได้ทำการขับขานตามที่กำหนดอย่างเหมาะสม ซึ่งการปรับตั้งสำหรับการรับฟังครั้งนี้ของผม ขอสรุปดังนี้ : BASS DAMPING อยู่ที่ตำแหน่ง +1; UPPER MIDRANGE LEVEL อยู่ที่ตำแหน่ง +2 และ HIGH FREQUENCY LEVEL อยู่ที่ตำแหน่ง Center

ผลการรับฟัง

       ขอชี้แจงสักนิดว่า นี่เป็นการเดินทางมาฟังเทสต์นอกสถานที่ โดยได้ใช้โชว์รูมของบริษัท Save Audio & Video  ละแวก CDC ในการรับฟังของผมครั้งนี้ ภายใต้การขับขาน ALS แบบจัดเต็มจากเพาเวอร์แอมป์หลอดแบบ Monoblock รุ่น Raven/Crimson 350 ของ Bob Carver Corporation ร่วมกับปรีแอมป์หลอดของ Copland และแหล่งสัญญาณที่เป็น CD Player ของ GamuT Audio ซึ่งขอบอกว่า ได้สร้างประสบการณ์การรับฟังอันน่าประทับใจให้ผมเก็บไว้ในความทรงจำ …สิ่งที่รับฟังนั้นได้สร้างความน่าทึ่งอย่างมาก แตกต่างจากการฟังลำโพงแบบธรรมดาทั่วไป

       โดยที่ “ALS” ได้สร้างความประทับใจอย่างมากในด้านการส่งมอบลักษณะเสียงที่ปลดปล่อย เปิดโปร่ง สดใส-สะอาด-แจ่มชัด ทั้งในแง่ของความกระชับ-ฉับไวในท่วงท่า ควบคุมจังหวะจะโคนของดนตรีได้ดี มีไดนามิกเสียงอันฉับพลันให้ความไหลลื่น ฟังแล้วรู้สึกคึกคัก กระฉับกระเฉง เสียงเบสก็มีพลกำลังหนักแน่น รวมทั้งน้ำหนักเสียงที่ให้เรี่ยวแรงกระทบปะทะ และการทิ้งทอดตัวของเสียงต่ำอันลึกล้ำ-ดื่มด่ำอย่างน่าทึ่ง

       รับรู้ได้ถึงรายละเอียดต่างๆ ในเพลงและดนตรีที่รับฟัง ซึ่งผุดโผล่หรือลอยตัวขึ้นมาเป็นอิสระ เสียงร้องที่เป็นตัวเป็นตนอยู่ท่ามกลางเวทีเสียงอันแผ่กว้าง และถอยลึกเข้าไป ชิ้นดนตรีต่างๆ ที่เรียงรายตำแหน่งแห่งที่ ถอยลึกไล่ลำดับเข้าไปเป็นชั้นๆ (Layer) รวมไปถึงช่วงย่านเสียงเบสที่หนักแน่น กระแทกกระทั้นให้เรี่ยวแรงกระทบปะทะ และเด็ดขาดในจังหวะจะโคนยิ่งนัก การทิ้งทอดตัวของเสียงต่ำก็ลึกล้ำ-ดื่มด่ำอย่างน่าทึ่ง ยิ่งฟังยิ่งสนุก ฟังได้มันส์ในอารมณ์จริงๆ

       …ไม่โม้ก็เหมือนโม้ละครับ แต่นี่คือความสัตย์จริง ยิ่งฟังยิ่งเพลินอารมณ์ครับกับเสียงที่รับฟังจาก “ALS” ซึ่งทำให้ผมรับรู้ได้ถึงสารพัดเสียงสอดแทรกต่างๆ ที่ถูกบ่งบอกออกมาจะแจ้งมากๆ สดสะอาดและแจ่มชัดให้ทิศทางที่มาของเสียงนั้นๆ รายละเอียดต่างๆ มีความครบชัด ระบุตำแหน่งแห่งที่ของเสียงได้อย่างมีตัวตน สามารถรับรู้การแยกแยะแถว-ชั้นของเสียง พร้อมด้วยความโปร่งโล่งในมวลบรรยากาศ (Airy) อันน่าจะได้อานิสงส์จาก “Spatial Ribbon Drivers” ที่ติดตั้งอยู่ส่วนบนสุดของ ALS แต่ละข้าง

       คุณจะรับรู้ได้ถึงความอิ่มฉ่ำ ความกลมกล่อม ละมุนละไม ความหนักแน่น ฉับไว และจังหวะจะโคนอันแม่นยำ เต็มเปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวา รวมถึงความสะอาดสะอ้านของเสียงทำให้เราสามารถจับเสียงดนตรีชิ้นนั้นชิ้นนี้ได้ถนัดหูราวกับมองเห็นเป็นตัวเป็นตนเลยทีเดียว เสียงเพลงและดนตรีที่รับฟังเป็นลักษณะเสียงที่ปลดปล่อย เปิดโปร่ง สดใส-สะอาด-แจ่มชัด ทั้งในแง่ของความกระชับ-ฉับไวในท่วงท่า ควบคุมจังหวะจะโคนของดนตรีได้ดี มีไดนามิกเสียงอันฉับพลันให้ความไหลลื่น

       จากการรับฟังจากแนวเพลงการแสดงสด ก็จะรับรู้บรรยากาศของฮอลล์ หรือสถานที่แสดงสดนั้นได้อย่างอบอวลมากให้การรับรู้ถึงความโอฬารของสถานที่บันทึกเสียง พร้อมด้วยความกังวานของเสียงช่วยให้การรับฟังมีความอบอวลของมวลอากาศอย่างสมจริงในเหตุการณ์ที่รับฟัง เสียงปรบมือของผู้ชมเวลาชื่นชอบถูกใจในการแสดงให้ความรู้สึกอันปลาบปลื้มใจ จำแนกระยะชัดลึกที่ถอยออกไปไกลมาก การแยกแยะระยะห่าง-ช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีก็มีความจะแจ้งมาก ให้ระดับความลึกในเวทีเสียงที่เพิ่มขึ้นกว่าธรรมดาจากที่เคยรับฟัง รวมถึงความอวบอิ่มมีน้ำมีนวล และความมีตัวตนเปล่งปลั่งของทุกสรรพเสียง กระทั่งอาการจางหายไปของเสียงต่างๆ ก็ถูกจาระไนออกมาได้ดีมากๆ ทั้งยังให้ความโดดเด่นทางด้านของการบ่งบอกสภาพอิมเมจ-ซาวด์สเตจ รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในเสียงเพลงและดนตรีที่รับฟังได้อย่างสมจริงมาก – เป็นความ “สมจริง” ที่มีพลังงานเสียง (Energy) อย่างที่เรา-ท่านพึงได้รับจากเสียงตามธรรมชาติ

       ช่วงย่านเสียงต่ำที่ได้รับจาก “Subrosa” ให้ทั้งความหนักแน่น, กระแทกกระทั้น, ฉับไว และลึกล้ำ ในขณะที่ช่วงย่านความถี่เสียงสูงซึ่งปลดปล่อยออกมาจาก Ribbon Tweeter ของ ALS นั้น ก็ให้รายละเอียดได้ระยิบระยับ พละพลิ้ว ไร้ซึ่งความกระด้าง จัดจ้าน-ระคายหู (Smooth) แตกต่างจากเสียงสูงๆ ของทวีตเตอร์แบบ Dome โดยทั่วไป ทั้งยังเป็นเสียงสูงที่เปี่ยมในพลังงาน มิใช่เป็นแค่เสียงจางๆ ฟังแล้วประทับใจมาก รับรู้ได้ถึงความรู้สึกของเพลงและดนตรีที่รับฟัง มีความเป็นธรรมชาติของเสียงแต่ละเสียงที่บังเกิดขึ้นมาอย่างมีชีวิตชีวาสมจริงสมจัง

สรุปส่งท้าย

…ขอยืนยันว่า ALS + Subrosa + SRA-2700EQ ทำให้ได้รับสมจริงทางดนตรีที่โอฬารกว่าที่คิด คุณจะซาบซึ้งและหลอมรวมเข้าไปกับดนตรีที่รับฟัง อันเต็มไปด้วยความสมจริงอย่างเป็นธรรมชาติ นำพาคุณให้อิ่มเอมใจในรายละเอียดต่างๆ ราวกับกำลังรับฟังดนตรีแสดงสดๆ อันแท้จริง ซึ่งอยู่ตรงหน้ากระนั้น ให้คุณรับรู้ได้ถึงทรานส์เซี้ยนและทิมเบอะ (Timbre) ของเสียงดนตรี แต่ละชิ้นแต่ละประเภทอย่างแม่นยำด้วยความสมจริง …ยิ่งกว่าที่เคย ขอรับรอง

ขอขอบคุณ บริษัท Save Audio & Video จำกัด ที่เอื้อเฟือสถานที่และอุปกรณ์ในการรับฟังครั้งนี้