รีวิว ลำโพงแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ Velodyne Acoustics Deep Blue Series รุ่น DB-12

0

ฐานิสร์ มหาคุณ

“รูปร่างกะทัดรัด แต่ ชัด แน่น ลึก”

“The Bass Master Come Back”

ถ้าคุยกันถึงเรื่องผู้ผลิตในวงการเครื่องเสียง ก็คงมีอยู่หลายบริษัทที่ผลิตแต่ลำโพงอย่างเดียว หรือบางบริษัทก็ผลิตแต่แอมปลิพายเออร์อย่างเดียว คงจะหาได้ยากที่จะมีบริษัทๆ หนึ่ง ที่ผลิตและมีซับวูฟเฟอร์เป็นสินค้าหลักของบริษัทเพียงอย่างเดียว “Velodyne Acoustics” คือหนึ่งในบริษัทที่มีการผลิต วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับซับวูฟเฟอร์เพียงอย่างเดียวมาโดยตลอด จนเกิดความสำเร็จ มีเทคโนโลยีและความรู้ที่มีประสิทธิภาพ เผื่อนำมาใช้ในซับวูฟเฟอร์ของตนเอง อย่างเช่นเทคโนโลยี Digital High-Gain Servo Control ที่ช่วยให้ความผิดเพี้ยนของความถี่ต่ำน้อยลง และเทคโนโลยี Maximum Dynamic Power (MDP) ที่ทำให้แอมปลิฟายเออร์ขับไดร์เวอร์ได้อย่างมีพลังมากขึ้น

ซับวูฟเฟอร์ Velodyne ได้รับความนิยมจากนักเล่นบ้านเรามาอย่างยาวนานแล้ว เพราะด้วยการที่มีน้ำเสียงที่สะอาดและต่ำลึกเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของทั้งนักดูหนังและฟังเพลง ช่วงหลังซับวูฟเฟอร์ Velodyne อาจจะห่างหายจากตลาดบ้านเราไปบ้าง แต่ตอนนี้ก็ได้กลับมาทำตลาดอย่างเต็มที่อีกครั้ง ด้วยผู้นำเข้ารายใหม่ และนอกจากนั้น ทางบริษัท Velodyne เอง ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทครั้งใหญ่ โดยการส่งต่อบริษัทไปให้เจ้าของรายใหม่ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แฟนๆ ของ Velodyne ก็ไม่ต้องกังวลไปว่าเสียงของซับวูฟเฟอร์ Velodyne จะไม่เหมือนเดิม เพราะเทคโนโลยีและความรู้ต่างๆ ของ Velodyne ก็ได้ถูกถ่ายทอดไปยังบริษัทแห่งใหม่ด้วยเช่นกัน รวมถึงคอนเซ็ปต์และปรัชญาการออกแบบซับวูฟเฟอร์ก็ยังคงความเป็น Velodyne เอาไว้เช่นเดิม

DB-12   Deep Blue Series

ไลน์อัพซับวูฟเฟอร์ของ Velodyne มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 ซีรี่ส์ แตกต่างกันไปตามระดับราคาและการใช้งาน ส่วนรุ่นที่นำมาทดสอบในครั้งนี้ เป็นรุ่น DB-12 ที่มาจาก Deep Blue Series ซึ่งเป็นซีรี่ส์ลำดับที่ 2 ของซับวูฟเฟอร์จาก Velodyne คอนเซ็ปส์ของ Deep Blue Series คือเป็นซับวูฟเฟอร์ระบบตู้ปิด ที่มีขนาดตัวตู้แบบกะทัดรัด แต่สามารถให้เสียงเบสได้อย่างสะอาดและต่ำลึกดั่งมหาสมุทร ตามชื่อของซีรี่ส์ ส่วนตัวตู้ก็จะมีความสวยงามแบบเรียบง่าย เพื่อให้เข้ากับห้องได้หลากหลายสไตล์ ทั้งห้องนั่งเล่น หรือห้องรับแขก โดยรวมแล้วดูเหมือนว่าทาง Velodyne จะตั้งใจออกแบบซับวูฟเฟอร์ซีรี่ส์นี้ ให้ออกมาเป็นซับวูฟเฟอร์ที่เล่นง่าย สามารถติดตั้งและใช้งานได้หลายรูปแบบ

การออกแบบ

DB-12 มีไดรเวอร์ขนาด 12 นิ้ว ติดตั้งไดร์เวอร์ยิงออกด้านหน้าแบบ Forward firing ตัวขอบไดร์เวอร์ทำจากยาง ขอบเป็นลอนหนา ส่วนวัสดุที่ใช้ทำกรวยไดร์เวอร์เป็นแบบ PP inforced Membrane จุดที่น่าสนใจของตัวไดร์เวอร์ นั่นก็คือมีการใช้วอยซ์คอยถึง 4 ชั้น ขนาด 2.5 นิ้ว จากที่ผ่านมาทาง Velodyne นั้นจะให้ความสำคัญกับส่วนวอยซ์คอยของไดร์เวอร์มาโดยตลอด เพราะเปรียบเสมือนกับหัวใจของไดร์เวอร์ ซึ่งในซับวูฟเฟอร์รุ่นปัจจุบันอย่าง DB-12 ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น

ส่วนตัวตู้ของ DB-12 ก็จะเป็นแบบระบบตู้ปิด มีวัสดุเป็นไม้ MDF โดยเน้นให้ความสำคัญกับแผงหน้าตัวตู้เป็นพิเศษ โดยมีการใช้ไม้ MDF ที่มีความหนาถึง 2 นิ้ว มาทำแผงหน้า ข้อดีของแผงหน้าตู้ที่หนาแบบนี้ ก็จะช่วยในเรื่องความแข็งแกร่งของตัวตู้ และขจัดเรโซแนนซ์ที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของวูฟเฟอร์ได้เป็นอย่างดี

มาถึงเรื่องพละกำลังที่จะมาขับเคลื่อนไดร์เวอร์ของ DB-12 ทาง Velodyne ได้เลือกที่จะใช้แอมปลิพายเออร์เป็นแบบคลาส AB ที่มีกำลังขับ 350 W (RMS) และสามารถให้กำลังพีคได้ถึง 850 W

ส่วนแผงด้านหลังตัวตู้ DB-12 มีช่องต่อและปุ่มปรับต่างๆ ที่จำเป็นมาอย่างครบครัน อย่างเช่น สวิตซ์ on-off หรือ Auto, ปุ่มปรับความถี่ครอสโอเวอร์, ปุ่มปรับเฟส ช่องต่อที่จะดูเพิ่มมาเป็นพิเศษนั่นก็คือช่อง LFE Output ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเราสามารถใช้งาน DB-12 พร้อมกันหลายๆ ตัวได้ โดยทำการต่อสายสัญญาณจากช่อง LFE Output จาก DB-12 ตัวหนึ่งไปสู่อีกตัวหนึ่งได้เรื่อยๆ

กะทัดรัดและเรียบง่าย

สิ่งแรกที่ผมประทับใจกับ DB-12 หลังจากอุ้มมันขึ้นมาจากกล่อง นั่นก็คือขนาดที่กะทัดรัดของมัน DB-12 ถือว่าเป็นซับวูฟเฟอร์ขนาด 12 นิ้วที่ตัวตู้เล็กมากๆ มันเล็กซะจนผมไม่แน่ใจว่าไดร์เวอร์ของมันมีขนาด 12 นิ้วจริงรึเปล่า เอาง่ายๆ ว่าขนาดมันเล็กกว่าซับวูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้ว ทั่วๆ ไปซะอีก ผมต้องอาศัยการเช็คหน้ากล่องและหลังตัวเครื่อง เพื่อดูว่านี่คือรุ่น DB-12 จริงๆ นอกจากขนาดที่กะทัดรัดแล้ว มุมของตัวตู้ DB-12 ยังได้ถูกลบเหลี่ยมให้ดูกลมมน นั่นยิ่งทำให้ DB-12 ดูไม่เกะกะ หรือสะดุดสายตา เมื่อจัดวางเข้าไปกับเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

จากย่อหน้าที่แล้วที่กล่าวถึงว่า ทาง Velodyne ตั้งใจออกแบบซับวูฟเฟอร์ Deep Blue Series ให้มีความเรียบง่าย และใช้งานง่าย เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ระบบตัวตู้เป็นแบบตู้ปิดก็มีนัยยะสำคัญเช่นกัน เพราะซับวูฟเฟอร์ระบบตู้ปิดจะให้เสียงเบสออกมามีความสะอาด และกระชับ ส่งผลให้เกิดปัญหาเสียงเบสกับห้องฟังน้อย ทำให้การหาตำแหน่งจัดวางซับวูฟเฟอร์ทำได้โดยง่าย ข้อดีอีกอย่างของซับวูฟเฟอร์ระบบตู้ปิดก็คือไม่ต้องการตัวตู้ขนาดใหญ่เพื่ออาศัยอากาศในตัวตู้มาเพิ่มเสียงเบส ทำให้ซับวูฟเฟอร์ระบบตู้ปิดนั้นมีขนาดเล็ก เมื่อนำคุณสมบัติที่ดีทั้ง 2 อย่างนี้ ของระบบตู้ปิดมารวมกันแล้ว จึงทำให้ Velodyne สามารถสร้างซับวูฟเฟอร์ได้ตรงตามคอนเซ็ปต์ที่ตั้งเอาไว้  คือเป็นซับวูฟเฟอร์ที่มีน้ำเสียงสะอาด ต่ำลึก และยังสามารถจัดวางแล้วดูสวยงามเข้ากับทุกสภาพแวดล้อม ซึ่งนั่นก็คือ Deep Blue Series

สเปกโดยรวม

  • ไดร์เวอร์ขนาด 12 นิ้ว วัสดุแบบ PP inforced Membrane
  • วอยซ์คอย 4 ชั้น และแม่เหล็กเฟอร์ไรท์ 2 ชั้น
  • แอมปลิพายเออร์แบบ Class AB
  • กำลังขับ 350 W แบบ RMS และ 850 W แบบ Dynamic
  • ระบบตู้ปิด โครงสร้างตู้ไม้ MDF ที่มีแผงหน้าขนาด 2 นิ้ว
  • ตอบสนองความถี่โดยรวม 15 – 250 Hz
  • ขนาด 35 X 37 X 38.8 ซ.ม
  • น้ำหนัก 13 กิโลกรัม

เซ็ทอัพเข้าระบบ

DB-12 ถูกจับเข้าประจำการในห้องทดสอบขนาด 3.5 X 5 เมตร ตำแหน่งจัดวางอยู่ระหว่างลำโพงคู่หน้าด้านซ้ายกับลำโพงเซ็นเตอร์ มีระยะห่างจากผนังด้านหลังประมาณ 80 ซ.ม และผนังด้านข้างประมาณ 1 เมตร ตัวซับวูฟเฟอร์วางลงไปกับพื้นห้องโดยตรง เพราะขายางที่ติดมากับตัวตู้มีคุณภาพดีมาก วางลงไปแล้วยึดติดกับพื้นได้อย่างมั่นคงไม่โยกคลอน และยังมีความสูงที่พอเหมาะ ทำให้ตัวซับวูฟเฟอร์ถูกยกสูงขึ้นมาจากพื้นอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลดีในเรื่องการลดเสียงสะท้อนของเสียงเบสกับพื้นห้อง ส่วนการเชื่อมต่อ ใช้สายซับวูฟเฟอร์แบบเส้นเดียวต่อจากช่อง Subwoofer Pre out ของ AVR มาเข้าที่ช่อง LFE IN ด้านหลัง DB-12 ในการปรับแคลลีเบรทเสียง ได้ทำการปรับแบบแมนนวล โดยตั้งวอลลุ่มที่ด้านหลังตัว DB-12 ไว้ที่ 12.00 นาฬิกา จุดตัดครอสโอเวอร์อยุ่ที่ 80 Hz และเฟสอยู่ที่ 0 องศา

โดยปกติลำโพงซับวูฟเฟอร์ทั่วไป จะต้องอาศัยระยะเวลาเบิร์นอินที่มากกว่าลำโพงปกติอยู่แล้ว เพราะไดร์เวอร์ที่มีขนาดใหญ่ จึงทำให้ขอบยางมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย ระยะเวลาที่จะรอให้ขอบยางขยับจนเกิดความยืดหยุ่นเข้าที จึงต้องใช้เวลาอยู่บ้าง DB-12 เป็นซับวูฟเฟอร์ระบบตู้ปิด อากาศที่ดันอยู่ในตัวตู้จะทำหน้าที่คล้ายๆ สปริง เพื่อดันกรวยไดร์เวอร์ให้กลับเข้าที่ในขณะที่วูฟเฟอร์ทำงาน ฉะนั้นไดร์เวอร์ของซับวูฟเฟอร์ระบบตู้ปิดจะขยับยากและขยับน้อยกว่าซับวูฟเฟอร์ระบบตู้เปิด ด้วยเหตุนี้การเบิร์นอินในซับวูฟเฟอร์ระบบตู้ปิดจึงยิ่งกินเวลามากขึ้นไปอีก

โดยปกติในการทดสอบซับวูฟเฟอร์ที่ผมเคยทดสอบมา ซับวูฟเฟอร์ทั่วๆ ไป จะใช้เวลาเบิร์นอินให้เสียงเข้าที่ประมาณ 4 ถึง 5 วัน หรือราวๆ 15 ถึง 20 ชั่วโมง แต่เจ้า DB-12 ต้องการมากกว่านั้น ผมคิดว่าน่าจะประมาณหนึ่งอาทิตย์ หรือ 25 ถึง 30 ชั่วโมง เสียงของ DB-12 จึงจะเข้าที่พอดี ลักษณะเสียงของ DB-12 ที่ยังเบิร์นอินไม่เข้าที่ก็คือ เบสย่านต้นและหัวโน๊ตจะยังรู้สึกไม่ค่อยคมชัด แรงปะทะยังไม่ค่อยมี แต่พอเวลาเบิร์นอินเข้าที่แล้วอาการดังกล่าวก็หายไป ท่านไหนที่ได้ DB-12 ไปใช้งาน ก็อย่าลืมให้เวลามันขยับแข้งขยับขา วอร์มอัพให้เข้าที่ซะก่อน

ผลการรับฟัง

ถึงแม้ว่าตัวผมเองจะไม่ได้ฟังซับวูฟเฟอร์จาก Velodyne มานานแล้วพอสมควร แต่เมื่อได้ฟังเสียงจาก DB-12 ก็รู้ได้ทันทีว่าความเป็น Velodyne ยังคงมีอยู่ครบในซับวูฟเฟอร์ตัวนี้ DB-12 ถ่ายทอดเสียงเบสที่สะอาดและต่ำลึกอันเป็นเอกลักษณ์ของ Velodyne ออกมาได้ชัดเจนมากๆ ใครที่เป็นแฟนของ Velodyne ก็สบายใจได้เลยว่า Velodyne ยังคงเป็น Velodyne อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง การที่บริษัทๆ หนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในบริษัท แต่ว่ายังสามารถคงเอกลักษณ์ของโปรดักส์เอาไว้ได้อย่างเหมือนเดิม นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี ความรู้ต่างๆ รวมถึงปรัชญาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้ถูกถ่ายทอดมาสู่บริษัทใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

ด้วยความที่มีระบบตู้ปิดเป็นพื้นฐาน แนวเสียงของ DB-12 จึงเป็นไปในทางสะอาด สุขุม นุ่มลึก ฟังสบาย ไม่อึดอัด ให้เนื้อเสียงที่มีมวลอิ่มแน่น ความกระแทกกระทั้นอาจจะไม่ได้มีมากนัก แต่ก็มีให้แบบเพียงพอ จุดเด่นจริงๆ ของ DB-12 จะอยู่ที่ความสะอาดและต่ำลึกมากกว่า กล่าวคือ DB-12 เป็นซับวูฟเฟอร์ที่ให้เสียงเบสได้เคลียร์มากๆ ไร้ความผิดเพี้ยนหรือเสียงรบกวนใดๆ และในความเคลียร์นั้นจะรู้สึกได้ถึงความถี่ต่ำที่ต่ำลึกแบบชัดเจน ยกตัวอย่างถ้าเป็นเสียงระเบิดที่ถูกถ่ายทอดผ่าน DB-12 เสียงต้นแรกเริ่มของเสียงระเบิดนั้น จะไม่ได้กระแทกกระทั้นแบบสั่นสะเทือนมากนัก แต่จะเป็นมวลเนื้อเสียงให้เราได้ยินแบบชัดเจนและผสมเอาไว้ด้วยความนุ่มนวล แล้วต่อมาหางของเสียงระเบิดนั้นก็จะเป็นความถี่ต่ำที่ลงลึกจนสามารถให้เรารู้สึกแบบสัมผัสได้

นอกจากจะเป็นซับวูฟเฟอร์ที่ให้เสียงเบสได้ต่ำลึกแล้ว DB-12 ก็ยังสามารถให้การเก็บตัวของเสียงเบสได้อย่างยอดเยี่ยม เสียงครางหรือเสียงอื้ออึงต่างๆ แทบจะไม่ค่อยมีให้ได้ยินจาก DB-12 เลย ในช่วงบางฉากบางตอนของหนังที่มีเสียงเบสรุนแรง ผมจะจำได้เลยว่า ถ้ามาถึงฉากนี้ ซับวูฟเฟอร์ทั่วๆ ไป จะมีเสียงเบสครางเกิดขึ้น แต่พอมาถึงการทดสอบกับ DB-12 เสียงครางเหล่านั้นกลับมีน้อยมากจริงๆ หรือแทบไม่มีเลย ตรงนี้แสดงให้เห็นว่านอกจากจะสามารถถ่ายทอดความถี่ต่ำได้ต่ำลึกแล้ว DB-12 ก็มีการหยุดยั้งกรวยไดร์เวอร์ได้ดีเช่นกัน

จากหนังเรื่อง The Dark Knight (2008) ฉากที่มีการขับรถไล่ล่ารถส่งตัว Harvey Dent ไปเรือนจำ ฉากนี้มีเสียงต่ำที่รุนแรงมากๆ อย่างเช่น เสียงรถชน เสียงยิงปืนบาซูก้า DB-12 ถ่ายทอดเสียงที่ต่ำลึกออกมาได้อย่างต่ำลึกและสะอาดมาก เสียงระเบิดที่ดังขึ้นมารู้สึกได้ถึงความรุนแรงแต่ไม่มีความเพี้ยนเลยและแถมยังเก็บตัวได้อย่างรวดเร็ว

 ความสุขุม นุ่มลึก ของ DB-12 ให้ผลดีโดยตรงก็คือ ทำให้เรารับฟังได้อย่างสบาย มีความรู้สึกผ่อนคลายในการดูหนังหรือฟังเพลงต่างๆ ส่งผลให้เรารับฟังได้อย่างยาวนาน โดยไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดหรือล้าหู ถึงแม้ว่า DB-12 อาจจะไม่ใช่ซับวูฟเฟอร์ที่โดดเด่นในเรื่องของความดุดัน แต่ถ้าถามผมว่าแรงปะทะ ความกระแทกกระทั้น ของ DB-12 มีให้เพียงพอไหม ผมตอบได้เลยว่าเพียงพอ และเป็นไปในแบบที่เป็นธรรมชาติ มีความสมดุลกับเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งบุคลิกของซับวูฟเฟอร์จาก Velodyne จะเป็นซับวูฟเฟอร์ที่ให้เสียงเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว โดยเป็นเสียงเบสที่ไม่ได้แต่งเติมเสริมแต่งให้มากจนเกิดไป มีความแฟลตในน้ำเสียง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ DB-12 ยังคงเอาไว้ได้อยู่

เสียงเบสที่มีคุณภาพนั้น ย่อมขาดเรื่องการให้รายละเอียดไปไม่ได้ DB-12 แจกแจงรายละเอียดของเสียงต่ำได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาแบบเป็นก้อนๆ รวมๆ กัน แต่สามารถแยกแยะเสียงต่างๆ ออกมาได้เป็นชิ้นเป็นอัน มีเน้นหนักและผ่อนเบา ตามไดนามิกของหนัง

จากหนังเรื่อง Transformers 5 : The Last Knight (2017) ฉากที่หุ่น Bumblebee แยกร่างและรวมร่างเข้ามาต่อสู้กับพวกทหาร ฉากนี้มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันมาก ทั้งเสียงปืน เสียงระเบิด และเสียงประกอบร่างของหุ่น Bumblebee ซับวูฟเฟอร์ DB-12 แยกแยะเสียงเหล่านี้ออกมาได้อย่างครบถ้วน ไม่ตกหล่น ฟังออกได้หมดว่าเสียงอะไรเป็นเสียงอะไร ทำให้เราดูฉากนี้ได้สนุกมากขึ้น

DB-12 นั้นเป็นซับวูฟเฟอร์ที่ออกแบบมาด้วยความเรียบง่าย ถ้าเทียบกับซับวูฟเฟอร์สมัยใหม่ในปัจจุบัน DB-12 อาจจะขาดเทคโนโลยีหรือลูกเล่น อย่างเช่น การปรับค่าแบบ DSP หรือ APP Control ไปบ้าง แต่ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว สิ่งเหล่านั้นมันไม่จำเป็นกับ DB-12 เลย เพราะว่าการใช้แค่การปรับค่าพื้นฐานที่อยู่ในซับวูฟเฟอร์ตัวนี้ มันก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เสียงเบสออกมาอย่างมีคุณภาพ สิ่งนี้มันก็ช่วยยืนยันได้อีกว่า DB-12 เป็นซับวูฟเฟอร์ที่เล่นง่ายจริงๆ ทั้งการจัดวางที่หาตำแหน่งได้ง่าย และการปรับค่าที่ไม่ต้องมีอะไรมาก แค่ลองเลือกหาค่าครอสโอเวอร์ที่เหมาะสมกับชุดของเรา และตั้งค่าวอลลุ่มให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ง่ายๆ แค่นี้ คุณก็จะสามารถรับฟังเสียงเบสที่มีคุณภาพได้

ผลการใช้ฟังเพลง

การเชื่อมต่อในการฟังเพลงของการทดสอบครั้งนี้ ทำโดยการเชื่อมต่อช่อง Sub woofer out จาก AVR เช่นเดียวกับตอนดูหนัง แต่ถ้าจะทำการเชื่อมต่อเข้ากับชุดฟังเพลงโดยไม่ใช้ AVR ก็ทำได้เช่นกัน เพราะ DB-12 มีทั้งช่องต่อ Speaker level และ Line in แบบ rca

ด้วยความที่มีบุคลิคเสียงที่สะอาด และเป็นธรรมชาติ ทำให้ DB-12 สร้างความกลมกลืนเข้ากับลำโพงหลักได้โดยง่าย ถ้าเราเซทอัพแบบเน้นความเป็นธรรมชาติของเสียงเพลง โดยไม่เร่งวอลลุ่มของ DB-12 มากนัก เราจะรู้สึกได้เลยว่า เหมือนไม่มีซับวูฟเฟอร์อยู่ในระบบเลย แต่คุณภาพของเสียงต่ำนั้นมีมากขึ้น เสียงจากเครื่องดนตรีที่ถ่ายทอดเสียงต่ำ จะมีความต่ำลึก มีตัวตนชัดเจนมากขึ้น และให้ขนาดที่สมจริงกับเครื่องดนตรี ในการใช้ DB-12 มาร่วมฟังเพลงนี้ ไม่ต้องกลัวเลยว่า เสียงความถี่ต่ำที่มาจาก DB-12 จะไปรบกวนเสียงจากลำโพงหลัก จนทำให้เสียงต่างๆ นั้นคุมเครือ เพราะ DB-12 นั้นให้เสียงเบสที่มีความเพี้ยนต่ำมาก และเก็บตัวได้รวดเร็ว

DB-12 สามารถเล่นได้โดยไม่เกี่ยงแนวเพลง ถ้าฟังกับเพลงแจ๊ส DB-12 จะถ่ายทอดเสียงกีต้าร์เบสและกระเดื่องกลอง ออกมาได้อย่างสะอาด และให้รายละเอียดได้ดีทีเดียว หัวโน๊ตก็มีความชัดเจนดีมาก ส่วนถ้าเป็นเพลงในแนวที่ต้องการจังหวะจะโคนมากขึ้น อย่างเช่นเพลงร็อค หรือเพลงป๊อปสมัยใหม่ ก็แค่เร่งวอลลุ่มของ DB-12 เพิ่มขึ้นมาสักหน่อยเท่านั้น เสียงเบสจาก DB-12 ก็จะตอบสนองเพลงเหล่านี้ได้อย่างถึงอารมณ์

สรุป

ถ้าเปรียบกับคู่แข่งในคลาสเดียวกันแล้ว DB-12 อาจจะไม่ใช่ซับวูฟเฟอร์ที่มาเป็นอันดับต้นๆ ในเรื่องของความดุดัน แต่ถ้าว่ากันในเรื่องของคุณภาพเสียงแล้ว DB-12 ก็น่าจะไม่เป็นสองรองใคร การวางคอนเซ็ปต์ที่จะสร้างซับวูฟเฟอร์ที่กระทัดรัดและเล่นง่าย ให้มาผนวกเข้ากับเอกลักษณ์เด่นของเสียงจาก Velodyne ผลลัพธ์ที่ได้จึงทำให้ DB-12 เป็นซับวูฟเฟอร์ที่ดูเรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ตลาดโฮมเธียเตอร์ของบ้านเราในช่วงนี้ก็มีความคึกคักอยู่พอสมควร การกลับมาทำตลาดของซับวูฟเฟอร์ Velodyne ในบ้านเราครั้งนี้ ก็คงจะมีความน่าสนใจ และสร้างสีสันได้อยู่ไม่น้อย

ข้อดี

  • ให้เสียงเบสที่สะอาด ต่ำลึก ทำได้ดีทั้งดูหนังและฟังเพลง
  • ไม่ค่อยมีเอฟเฟคกับห้องฟัง เซทอัพหาตำแหน่งลำโพงได้ง่าย
  • รูปทรงกะทัดรัด มีการออกแบบอย่างเรียบง่าย สวยงาม เข้ากับห้องได้หลายสไตล์

ข้อสังเกต

  • ต้องอาศัยระยะเวลาในการเบิร์นอินอยู่บ้างสักหน่อย

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ

  • LED TV Panasonic 65fx600T
  • AVR Onkyo TX-RZ 830
  • ชุดลำโพง KEF Cresta 2 และ Cresta Center
  • พาว์เวอร์แอมป์ Proceed Amp 2 (ขับเฉพาะคู่หน้า)
  • เครื่องเล่นบูลเรย์ Pioneer BDP-450
  • สายลำโพง Audioquest Rocket 33
  • สายลำโพง IXOS XHS523
  • สายไฟ Audioquest NRG 2
  • สายซับวูฟเฟอร์ Audioquest Sub X
  • สาย HDMI PALIC hdmi 5000

ขอขอบคุณบริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด โทร. 0-2238-4078-9 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าเพื่อการทดสอบ