MoFi ถูกฟ้อง !! ข้อหาใช้ Digital ในการ Reissues แผ่นไวนิลที่จัดทำขึ้นใหม่ของบริษัท ทั้งๆ ที่ระบุว่า “All Analog”

0

…โลกเครื่องเสียงต้องระทึกกับข่าวคราวเกี่ยวกับ MoFi ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ ตามที่ Tom Breihan นำข่าวออกมาเสนอทางเพจ Stereogum เมื่อช่วงเช้า (8:09 AM) ของวันที่ 23 สิงหาคม 2022 (Stereogum เป็น music blog ที่ดีที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 มีเจ้าของและดำเนินการอย่างอิสระ) โดยระบุเนื้อความว่า :- Mobile Fidelity Sound Lab หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ MoFi ซึ่งเป็นบริษัทผู้แผ่นเสียงชื่อดังของอเมริกาที่ได้รับการยอมรับกันอย่างมากในฝีมือและคุณภาพในการ reissue แผ่นเสียงใหม่ ที่มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 1977 ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า แผ่นเสียงออกใหม่ของ MoFi มักจะมีราคาแพงกว่าแผ่นเสียงส่วนใหญ่อยู่มากพอตัว ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา MoFi ได้อ้างข้อความในการทำการตลาดว่า แผ่นเสียงออกใหม่นั้นเป็น “purely analog recordings” ที่จัดทำขึ้นจากเทปต้นฉบับของการบันทึกดั้งเดิม (created from the master tapes of the original records) ทว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ชาวออดิโอไฟล์รู้สึกไม่พอใจอย่างมากกับการเปิดเผยของ MoFi ที่บอกว่า ได้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลสตรีมโดยตรงในขั้นตอนจัดทำแผ่นเสียงจำนวนมาก ซึ่ง ณ ตอนนี้ได้มีลูกค้ารายหนึ่งกำลังยื่นฟ้องแบบกลุ่มกับบริษัท โดยกล่าวหาว่า MoFi นั้นโฆษณาเท็จ

จริงๆ แล้ว นับตั้งแต่ Michael Fremer แห่ง TrackingAngle.com ได้ออกมาให้ข่าวเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมาถึง  “ข่าวลือที่ไม่มีหลักฐาน 100% ว่า Mobile Fidelity ตัดแผ่นไวนิลจำนวนมากจากไฟล์ดิจิทัลแพร่กระจายผ่านไซต์ของ YouTube ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความไม่พอเป็นอย่างมากต่อผู้ที่คลั่งไคล้แอนะล็อก (analog enthusiasts) และเขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่พอใจอย่างมากๆ สำหรับความไม่ซื่อสัตย์ของ MoFi ที่ใช้ไฟล์ดิจิทัลในการตัดแผ่นเสียง” ทำให้ชาวออดิโอไฟล์ทั้งหลายต่างจับตามองคำตอบที่จะออกจาก MoFi

ต่อมาเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน บทความของ Washington Post ได้สรุปทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับ MoFi ล่าสุดว่า :- เมื่อเดือนที่แล้ว Mike Esposito เจ้าของร้านแผ่นเสียง Phoenix ได้โพสต์วิดีโอ YouTube ซึ่งเขาอ้างว่าเขาได้ทราบจาก “แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือพอสมควร” ว่า MoFi ใช้ไฟล์ดิจิทัลในการ reissues แผ่นเสียง จากนั้นทาง MoFi ตอบโต้ด้วยการเชิญ Esposito เยี่ยมชมโรงงานของบริษัทในแคลิฟอร์เนีย ซึ่ง Esposito ก็ได้ตอบตกลงและเดินทางไปเยี่ยมชม และในการให้สัมภาษณ์กับ YouTube วิศวกรบางคนของ MoFi ก็ “หลุดปาก” ยอมรับว่า บริษัทใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการตีพิมพ์ใหม่

ซึ่ง ณ ตอนนี้ Billboard ได้รายงานว่า ชายชาว North Carolina ที่เป็นลูกค้าของ MoFi ได้เริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action lawsuit) กับทาง MoFi โดยลูกค้ารายนี้บอกว่า เขาเป็นแฟนคลับที่ซื้อแผ่นเสียง MoFi จำนวนมาก ด้วยความเข้าใจว่า กระบวนการทั้งหมดของ MoFi เป็นแบบแอนะล็อกล้วน ทนายความของผู้กล่าวหาได้อ้างว่า MoFi ตั้งใจเก็บการใช้กระบวนการดิจิทัลเป็นความลับ และ “MoFi ตั้งใจซ่อนข้อเท็จจริงนี้จากผู้บริโภค”

เนื่องจากไม่มีใครกล่าวหาว่า MoFi ว่าจัดทำแผ่นเสียงที่ฟังแล้วเสียงบอบบาง หรือ อ่อนด้อยในคุณภาพบาง ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการของบริษัทจึงดูเกือบจะเป็นเรื่องของการดำรงคงอยู่ (almost philosophical) ซึ่งในคดีความดังกล่าว ทนายความของ MoFi (ผู้ถูกกล่าวหา) อ้างว่า การรีอิชชู (reissues) ที่เป็นแบบอะนาล็อกล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดความสนใจด้านการตลาดของ MoFi :- “เทปบันทึกดั้งเดิม (Original recording tapes) นั้นมีอายุ ดังนั้นจึงสามารถผลิตแผ่นเสียงแอนะล็อกได้ในจำนวนจำกัด ดังนั้นเมื่อ MoFi (ผู้ถูกกล่าวหา) เริ่มใช้กระบวนการควบคุมดิจิทัลในการจัดทำแผ่นเสียง ซึ่งต่างจากแอนะล็อกล้วนๆ นี่จึงเป็นที่มีคุณค่าน้อยกว่าโดยเนื้อแท้ เนื่องจากแผ่นเสียงที่จัดทำใหม่นั้น ไม่ได้มีจำนวนจำกัดอีกต่อไป และยังไม่ใกล้เคียงกับการบันทึกในสตูดิโอมากนัก – แต่ยังคิดราคาที่สูงขึ้น”

ทนายความของ Mofi บอกกับ Billboard ว่าบริษัท “ณ ขณะนี้ บริษัทไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีได้” ในแถลงการณ์เมื่อเดือนที่แล้ว, MoFi ได้กล่าวขอโทษสำหรับ “ภาษาที่กำกวม-คลุมเครือ” ของการตลาด :- “เราตระหนักดีว่า พฤติกรรมของเราส่งผลให้เกิดความโกรธ และความสับสนในตลาด, ก้าวต่อไปในวันหน้า เรากำลังใช้นโยบายที่โปร่งใส 100% เกี่ยวกับที่มาของผลิตภัณฑ์เสียงของเรา” ทั้งนี้บริษัทใช้กระบวนการทางดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2011 (!!!)

กระนั้นท่าทีของนักฟังออดิโอไฟล์ รวมถึงแฟนคลับของ ก็มีความเห็นทั้งแง่บวกและแง่ลบต่อข่าวดังกล่าว บ้างก็ว่า MoFi นั้นจัดทำแผ่นเสียงที่ฟังแล้วดีมาก แม้จะมีราคาสูงอยู่สักหน่อย โลกปัจจุบันมีเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่รอบตัวเรา ดังนั้นอาจย่อมมีบ้างที่บางขั้นตอนอาจจะต้องมีอุปกรณ์ดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง ในกระบวนการจัดทำ เว้นเสียว่า คุณเป็นผู้นิยมในความเป็น “all analog” pressings 100% ก็คงต้องมีผิดหวังกันบ้าง

บางคนที่เป็นชาวออดิโอไฟล์ก็มิได้สนใจใยดีอะไรนัก ตราบเท่าที่ MoFi ยังจัดทำอัลบั้มเสียงดียิ่งกว่า (better) ออกมาให้เขาได้เลือกซื้อมาฟัง อีกด้านหนึ่งก็ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ MoFi ใช้คือ Direct Stream Digital technology (DSD) ซึ่งเป็นพื้นฐานของรูปแบบ Super Audio CD ที่ฟังดูดีกว่าซีดีทั่วไป และ DSD ก็ไม่เคยมีโอกาสได้เปรียบเทียบกับไวนิลเลย จึงมั่นใจได้เลยว่า แม้แต่การฟังของมนุษย์ชั้นยอด (เซียนหูทอง) ก็ยังไม่สามารถบอกความแตกต่างได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรกระทำอย่างที่สุดก็คือ “ฟังเพลง ไม่ใช่เครื่องเสียงของคุณ”

มีบางคนอีกเหมือนกันที่บอกว่า หลังจากได้ดูวิดีโอบทสัมภาษณ์วิศวกรของ MoFi ที่บอกว่า ‘we use digital’ – นั่นเกือบจะเหมือนกับว่า พวกเขาขอให้ถูกจับ ฮ่าๆ … ในขณะที่บางคนก็ให้ทัศนะที่เหมือนจะเป็นแง่คิดทำนองว่า สิ่งนี้ไม่เกี่ยวกับ ‘ความแม่นยำ-เที่ยงตรง’ (fidelity) มากเท่ากับ ‘ความหายาก-ขาดแคลน’ (scarcity) – นักสะสมนั้นเลือกที่จะจ่ายเงินไม่มากก็น้อยสำหรับสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็น ‘ความแตกต่างทางเสียง’ (sonic differences) ที่จะได้รับในขณะเล่นแผ่นเสียงไวนิลที่ผลิตโดย MoFi อาจเป็นรู้กันมานานว่า เป็นแบบแอนาล็อกล้วน และให้คุณภาพเสียงได้ในระดับพรีเมียมเมื่อฟังเทียบกับลาเบลโดยทั่วไป และในความจริงนั้นก็คือว่า มีกระบวนการบันทึกแบบดิจิทัลมาตั้งแต่ยุค 70 และคุณคงยากที่จะหาสตูดิโอจำนวนมากในปัจจุบันที่ยังคงทำทุกอย่างด้วยเทปแอนาล็อก มันแพงเกินไป และมีข้อจำกัดมากเกินไป

บางคนก็บอกว่า ฉันคิดว่านี่จะเป็นการแสดงถึงแนวคิดใหม่ (new concept) ที่มีความแตกต่างระหว่าง “Audiophile” ที่ไล่ตามคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด ในขณะที่ “Audiopurist” ต้องการสื่อที่มีต้นกำเนิดเฉพาะ (specific origin) และไม่มีการเบี่ยงเบน (no deviation) ซึ่งอาจเป็นแบบดิจิทัลหรือแอนะล็อก (ก็ได้) …ฉันคิดว่า การผสมผสานของดิจิทัลในรูปแบบแอนะล็อกนั้นได้ผลดี และสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ทำงานร่วมกันได้ (อย่างดี)

มีบางคนอีกเช่นกันที่บอกว่า ข้อมูลนี้ทำให้แบรนด์เสื่อมเสียอย่างแน่นอน แต่ถ้า ‘Thriller: One Step’ ฟังดีกว่าเวอร์ชั่นอื่นใดเท่าที่เคยมีมา เขาก็ยังจะเป็นลูกค้าที่มีความสุขของ MoFi และจะยังคงซื้อแผ่นเสียงของ MoFi ตราบเท่าที่ MoFi ยังทำในสิ่งที่ได้ฟังแล้วเหลือเชื่อออกมาจำหน่าย… ซึ่งบ้างก็บอกว่า สำหรับการระบุชัดเจนของ MoFi ที่ว่า “MASTERED FROM THE ORIGINAL MASTER TAPES, PRESSED ON MOFI SUPERVINYL, AND LIMITED TO 3,000 NUMBERED COPIES” อาจส่งผลกระทบจิตใจในความเป็นสาวกมาตลอดของ MoFi มันเป็นสิ่งน่าผิดหวัง และก็ลดความน่าเชื่อถือที่ (เคย) มีต่อบริษัทลงไปมาก จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์เป็นอย่างอื่น

ทั้งหมดนี้เป็นบางสิ่งที่นำเสนอต่อสาธารณะทั้งในแง่บวก แล่ลบ และกลางๆ สำหรับ MoFi แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว เท่าที่ดูจากรายละเอียดต่างๆ ที่ MoFi ได้ระบุไว้ในแต่ละอัลบั้มที่นำกลับมาผลิตซ้ำใหม่ (reissues) ก็จะมีบางอัลบั้มที่บอกไว้ชัดเจนว่า Source: 1/2″ / 30 IPS analog master to DSD 256 to analog console to lathe สำหรับอัลบั้ม Michael Jackson – Thriller; 1/4″ / 15 IPS analog master to DSD 256 to analog console to lathe สำหรับอัลบั้ม Alan Parsons Project – I Robot (45RPM) และ Muddy Waters – Folk Singer; 1/4″ / 30 IPS analog master to DSD 256 to analog console to lathe สำหรับอัลบั้ม Van Halen – Van Halen; 1/4″ / 15 IPS / Dolby A analog master to DSD 256 to analog console to lathe สำหรับอัลบั้ม Electric Light Orchestra – Eldorado, Paul Simon – There Goes Rhymin’ และ Eagles – Hotel California รวมไปถึงอีกหลายต่อหลายอัลบั้มที่สามารถเปิดดูข้อมูลได้

ซึ่งหมายถึงว่า ทาง MoFi ก็ได้บอกไว้ชัดเจนว่า มีกระบวนการทางดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดทำ ดังนั้นเรา-ท่านจึงควรให้ความยุติธรรมต่อ MoFi …รอดูกันซิว่า งานนี้ MoFi จะต้องจ่ายชดใช้เงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ (ซึ่งเท่าที่ทราบจากวงในก็กว่ายี่สิบล้านดอลล่าร์สหรัฐ) หรือว่า จะสู้ชนะคดีความ – เพียงแต่ว่า สำหรับผมนั้น …ให้ชื่อชั้นความเป็น MoFi ในด้านความเป็นผู้นำของ Half Speed Mastering ซึ่งจะมีระบุไว้ชัดเจนที่บริเวณปกหลังมาโดยตลอด ทว่าปัจจุบัน บางอัลบั้มไม่มีแล้ว – ฤๅนี่จะหมายความว่า MoFi ได้ละเว้นแนวทาง Half Speed Mastering แล้วไปใส่ใจเฉพาะความเป็น “MASTERED FROM THE ORIGINAL MASTER TAPES” และใช้กระบวนการทางดิจิทัลเข้ามายกระดับคุณภาพการจัดทำแผ่นเสียงยุคใหม่กระนั้น – อันนี้ยังคาใจครับ