Gold Note: Mediterraneo Full Gold Leaf Edition

0

นพ. ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์

Love over the gold :Gold note analog system

จากการติดตามข้อมูลข่าวสารในสื่อและ social media ต่างๆ ผมได้ยินชื่อของ Gold note audio มาได้สักครึ่งปีแล้ว มี product หลายอย่างที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงในเวปไซต์และ reviewer ชื่อดังให้ได้เห็นกันบ่อยๆเช่น หัวเข็มแผ่นเสียงรุ่น Donatello ที่ทาง Michael Fremer ชื่นชมไว้มาก และรวมถึง phono stage รุ่น PH10 ที่มีฟังก์ชั่นปรับ EQ curve สำหรับการเล่นแผ่นเสียงโมโนยุคเก่าได้ (ฟังก์ชั่นนี้มักจะมีใน phono stage รุ่นที่ราคาสูงๆ)

จนกระทั่งวันหนึ่ง ก็ได้มีผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย คือบริษัท Gxotic ผมเลยแอบ message ไปติดต่อขอ product มารีวิว ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดี โดยส่ง turntable รุ่นใหญ่พร้อมทั้งหัวเข็ม Donatello gold ที่อยากฟังมาให้ทดสอบ ต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

ผมเข้าใจว่า ต้นกำเนิดของ Gold Note นั้นน่าจะมาจากแบรนด์ Blue note มาก่อน เพราะในเวปไซต์ของ Gold Note จะมี discontinue product ที่เดิมเป็นของ Blue note เช่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่น Bellavistaเครื่องเล่นซีดีรุ่น Stibbert

เข้าใจว่าทางเจ้าของเขาทำการ re branding ใหม่เป็นชื่อ Gold note ในปี 2012  ก่อตั้งโดยคุณ Maurizio Aterini กับหุ้นส่วนอีกคนชื่อ AlessioOronti สร้างแบรนด์เครื่องเสียงที่ทำในอิตาลีแท้ๆทุกชิ้นที่แคว้น Tuscany ใกล้กับเมือง Florence อันโด่งดัง  ปัจจุบันนี้ สินค้าหมวดเครื่องเสียงของ Gold note มีครบทุกอย่างตั้งแต่ source (ทาง analog ก็ตั้งแต่หัวเข็ม เครื่องเล่นแผ่นเสียง และ phono stage  ส่วน digital ก็มีทั้ง cd player , dac ,streamer) , amplifier ไปจนถึงลำโพงตั้งพื้น

คุณ Maurizio แกได้มีปรัชญาของแบรนด์ Gold note ไว้ว่า จะต้องเป็นสินค้าระดับ hi end ที่มีจุดมุ่งหมายเป็น contemporary audiophile คือ 1. comtemporary คือเป็นเครื่องเสียงที่ใช้งานได้ง่ายในชีวิตประจำวัน มีความสวยงาม และ 2. audiophile จะต้องสร้างเสียงดนตรีที่เสมือนจริงมากที่สุด  และปรัชญานี้ก็ได้ถ่ายทอดมายัง product ทุกชิ้นงานของเขา แต่ที่ดูเหมือนจะเห็นได้เด่นชัดมากที่สุดก็คือเครื่องเล่นแผ่นเสียงนี่แหละครับ

Mediterraneo turntable

Mediterraneo เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นสูงสุดของแบรนด์นี้ แต่จริงๆยังมีรุ่นที่สูงกว่ารุ่นนี้อีกสองรุ่น เป็นรุ่นที่ต้องสั่งทำ เป็น limited edition คือ Bellagio Conquest และ Bellagio Reference

โดยส่วนตัวแล้วผมชอบ Mediterraneo มากกว่า มันไม่ได้อลังการแบบตัว limited แต่ว่ามีความสวยงามลงตัว สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวันหลังเลิกงานได้ดีกว่า ทีนี้เรามาดูกันว่า Mediterraneo มีองค์ประกอบและการ setup อย่างไรบ้าง

Mediterraneo เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบไม่มีระบบ suspension โครงสร้างแท่นหลักๆประกอบจากวัสดุสามส่วนคือ ส่วนล่างสุดเป็น solid walnut ชั้นกลางเป็นเพลต stainless steel หนา 3 mm และชั้นบนสุดเป็น acrylic ปัดเงาหนา 20 mm ตัวแท่นจะมีทำ finish สามแบบคือ ฐานลายไม้ธรรมชาติ+acrylic ดำ / สีดำทั้งตัว / และฐานสีทอง+acrylic ดำ

ตัวที่ผมได้มารีวิวนั้นเป็นตัวที่ Gxotic สั่งเป็นพิเศษ คือทำสีทองลาย texture ทั้งตัว เรียกว่า gold leaf  ของจริงเวลาเห็นกับตาและได้สัมผัสสวยงามมาก ไม่แน่ใจครับว่า gold leaf finish ต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไร แต่ส่วนตัวผมชอบตัว standard ลายไม้ธรรมชาติมากที่สุด

การโค้งมนของฐานล่างของแท่นเครื่องนั้นไม่ได้ทำเพื่อความสวยงามอย่างเดียว แต่มีที่มาที่ไปจากแนวคิดการสร้างสะพานใน Florence คือ  Santa Trinita Bridge โดยศิลปินนามอุโฆษคือ Michelangelo โดยเขาได้ออกแบบส่วนล่างของสะพานให้มีความโค้ง เรียกว่า Catenary curve เพื่อให้มีความแข็งแรง และรับน้ำหนักได้ดี ทาง Gold note จึงได้นำแนวคิดนี้มาประยุกต์กับการออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียง นอกจากจะมีความโค้งมนสวยงามแล้ว ยังมีความแข็งแรงมากขึ้นด้วย

ตัวแท่นทั้งหมดตั้งอยู่บน spike ขนาดใหญ่สามจุดที่สามารถปรับระดับได้เพื่อให้ตัวแท่นอยู่ในแนวระนาบมากที่สุด มีจานรอง spike ให้มาด้วย  plinth ประกอบด้วยวัสดุสามอย่างที่มีความหนาแน่นต่างกัน คือ ไม้ , stainless steel และ acrylic คาดว่าเพื่อความแข็งแรงและช่วยในการสลายแรงสั่นสะเทือนที่มาจากด้านล่าง (เนื่องจากว่า resonance frequency ของทั้งสามวัสดุย่อมแตกต่างกันแน่นอน) 

เท่าที่ผมทดสอบเรื่องการสั่นสะเทือน ด้วยการเดินหนักๆบนพื้นห้องฟังเพลง (ปาเก้) แล้วฟังเสียงสะเทือนขึ้นไปยังหัวเข็มขณะเล่นแผ่นเสียง เมื่อเทียบกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวเดิมที่ผมใช้ในตำแหน่งนี้ คือ Dr.Feickert Firebird (มวลหนักกว่า Mediterraneoเกือบ 10 kg)  เสียง rumble ฝีเท้า จากแท่น Mediterraneo เบากว่า Firebird อย่างชัดเจน

คิดว่าเนื่องมาจากขาของ Gold note เป็นลักษณะ tip toe ทำให้แรงสั่นสะเทือนขึ้นไปยังแท่นน้อยกว่า ขณะที่ Firebird เป็นขาแบบธรรมดาสี่ขา (ดังนั้นเวลาผมเล่น Firebird ผมจะใช้ insulator บางอย่างรองระหว่างขาแท่นกับพื้น shelf เพื่อสลายแรงสั่นสะเทือน เช่น Sound deck feet)

เมื่อเรา unpack ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆแล้ว ก็เริ่มติดตั้ง ตั้งแต่ส่วนล่างสุด จานรอง spike สามจุด จากนั้นวางตัวแท่นลงบนจานรอง แล้วปรับระดับ plinth ด้วยการหมุนขา tip toe ทั้งสามจุดให้แท่นได้ level มากที่สุด จากนั้นจะเป็นการติดตั้ง main bearing   ตัวจุดหมุนของ platter เป็นแบบ ball bearing โดยเราจะต้องใส่ลูกปืนขนาด 5 mm ลงหลุมเสียก่อน จากนั้นจึงใส่ bearing shaft (วัสดุเป็น carbon steel)ลงไป

ตัว bearing shaft นั้นจะต้องทำความสะอาดให้ดีอย่าให้มีฝุ่น และอย่าให้เป็นรอยขูดขีด จากนั้นก็หยอดน้ำมันหล่อลื่นสามหยดที่แกน bearing shaft ค่อยๆหย่อนลงหลุมอย่างระมัดระวังไม่ให้แกนครูดกับบ่าขอบหลุม

ขั้นตอนต่อไปคือการติดตั้ง platter  ลงบนบ่าของ bearing shaft  ตัว platter ขนาดหนา 45 mm วัสดุทำจาก POM (polyoxymethelene) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติ damping ในตัว และมีความหนาแน่นใกล้เคียงกับเนื้อแผ่นเสียงไวนิลมาก ดังนั้น bonding ของเนื้อ platter กับเนื้อแผ่นเสียงจึงเสมือนเป็นส่วนเดียวกัน  จากนั้นก็ใส่ตัวล็อคขันเกลียว spindle ด้านบนอีกตัวหนึ่งก็เป็นอันเสร็จสิ้น

เครื่องเล่นแผ่นเสียงนี้ทำงานด้วยระบบสายพานแบบกลม คล้องไปยังมอเตอร์แบบ synchronous 12 volt มุมบนซ้าย มอเตอร์เป็นแบบ hi torque ขึ้นรอบได้รวดเร็วมาก ใต้ฐานมอเตอร์จะเห็น usb port สำหรับการ calibration ที่โรงงาน ในการใช้งานนี้ผมได้ตัวภาคจ่ายไฟ PST 10 (เป็น option) มาด้วย

การควบคุม speed ทำได้ที่ปุ่มสีดำสองปุ่มด้านซ้าย โดยปุ่มขวาเป็นการ start/stop สปีด 33 ส่วนปุ่มซ้ายเป็นสปีด 45  เราสามารถ fine tune สปีดทั้งสองค่านี้ได้ ด้วยการกดทั้งสองปุ่มค้างไว้ห้าวินาที จากนั้นก็กดปุ่มซ้ายหรือขวาเพื่อเพิ่มหรือลดสปีด  หลังจากได้สปีดที่แม่นเป๊ะแล้วก็กดทั้งสองปุ่มค้างอีกครั้งหนึ่ง เพื่อออกจาก cal mode  

ในการนี้ผมได้ใช้ KAB speed strobe ในการ fine tune โดยการปรับสปีดต้องทำแยกกันทั้ง 33 และ 45 ท่านอาจจะใช้ app บนมือถือในการวัดรอบก็ได้ แต่ ณ ปัจจุบันนี้ KAB speed strobe ถือว่าเป็นตัวที่วัดได้แม่นยำที่สุด

ขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องของอาร์มและหัวเข็ม  อาร์มตัวที่ผมได้มาทดสอบจะเป็นอาร์มรุ่นสูงสุดของเขา รุ่น B7 ceramic arm

ลักษณะอาร์ม เป็นอาร์ม 9 นิ้ว มี bearing เป็นแบบ pivot ball bearing ทำด้วย ceramic ตัวก้านอาร์มทำจาก titanium สวยงามมาก ตัว counterweight ทำจาก aluminium มีสองชิ้น เวลา setup คือเราจะตั้ง balance arm แบบหยาบๆด้วยการขยับตุ้มใหญ่ แล้วเวลาตั้ง tracking force แนะนำว่าให้ใช้การขยับตุ้มเล็ก จะทำให้เรา fine tune หา tracking force ที่ต้องการได้ง่ายกว่า นี่คือจุดประสงค์ที่เขาทำ counterweight เป็นสองชิ้นมา

อาร์มสามารถปรับระยะ VTA ได้แบบ manual ด้วยการไขน๊อตหกเหลี่ยมที่คอฐานอาร์ม และสามารถปรับมุมเอียง azimuth ซ้ายขวาด้วยการหมุน headshell เมื่อเราคลายน๊อตหกเหลี่ยมตัวเล็กที่ใกล้ๆ headshell   ส่วนการปรับ antiskatingใช้วิธีปรับแบบ manual คือเป็นตุ้มถ่วงคล้องเส้นเอ็นแบบอาร์ม SME ปรับค่าได้ห้าตำแหน่ง (กลไกการปรับ antiskatingของอาร์มนั้นทำได้หลายแบบ เช่นก้านตุ้มถ่วง เอ็นคล้อง แม่เหล็ก สปริง หรือบางอาร์มไม่ต้องมีการปรับค่านี้เลย โดยเฉพาะพวกอาร์มยาวๆ 12-14 นิ้ว) 

ค่า null radius เป็นแบบ Baerwald (Loefgren A) อยู่ที่ 66 และ 120.9 mm จาก spindle  ดังนั้นการตั้งระยะ overhang และ offset angle ผมใช้ตัว Dennesen soundtraktor ซึ่งเป็นตัวตั้งหัวเข็มสำหรับ null radius แบบ Baerwald ในการตั้งหัวเข็มทุกตัวบนแท่นนี้ ตัวอาร์มมีค่า effective arm length อยู่ที่ 242 mm และมีค่า effective arm mass ที่ 10 กรัมเมื่อเราใส่ค่านี้ในเวปของ vinylengine (https://www.vinylengine.com/cartridge_resonance_evaluator.php)  ก็จะแสดงค่าสเปคหัวเข็มที่เหมาะสมกับอาร์มนี้

โดยเราดูค่าสเปคหัวเข็ม ค่า compliance ตามแนวคอลัมน์ด้านซ้าย และน้ำหนักหัวเข็มตาม row ด้านบน ถ้าตัดกันที่โซนสีเขียวถือว่าเป็น matching zone ที่เล่นกันได้ไม่มีปัญหาเรื่อง resonance frequency ที่จะมารบกวน คือควรจะอยู่ในช่วง 8-11 Hz ในการทดสอบครั้งนี้ ช่วงแรกผมใช้หัวเข็ม Benz micro SL wood (หนัก 9 กรัม , compliance=15) และต่อมาใช้หัวเข็ม Donatello gold (หนัก 7 กรัม , compliance = 12) ซึ่งได้ค่า resonance frequency อยู่ที่ 9 และ 11 Hz ถือว่าเป็นเซฟโซนที่เล่นด้วยกันได้ไม่มีปัญหา

การทดสอบครั้งนี้ จะเน้นที่การทดสอบตัว Mediterraneoก่อนในช่วงแรก คือใช้หัวเข็ม Benz micro SL wood ที่ผมคุ้นชินเสียงในการทดสอบช่วงแรก และทำการเบิร์นอินหัวเข็ม Donatello gold บนแท่น EMT  ช่วงที่สองจะเป็นการทดสอบ Gold note ทั้งระบบ คือเล่นด้วยหัวเช็ม Donatello gold  และช่วงสุดท้าย หลังจากหัวเข็มพ้นเบิร์นเรียบร้อย จะเป็นการทดสอบหัวเข็ม Donatello gold กับอาร์ม Denon 308 แท่น Dr.Feickert Firebird

อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมทดสอบนอกจากอุปกรณ์ของ Gold noteได้แก่

  • EMT930 ติดตั้งอาร์ม EMT929 และอาร์ม Jelco 750L (ผ่านภาคคุมไฟ DU937 multiconverter)
  • หัวเข็ม Benz micro SL wood
  • Dr.Feickert Firebird turntable / Denon 308 arm
  • Soundaries audio 618B step-up transformer และ Keen audio mark2 phono stage ผลงานของซือแป๋ ลุงแปะ สาธร เมืองนนท์

แผ่นเสียงที่ใช้ทดสอบได้แก่

  • Here at last : Akitoshi Igarashi meet The Yoku Tamura Trio / Cisco music CLP7047
  • Jacintha : Here’s to Ben  / Groovenote GRV1001-1 (1998 pressing)
  • Paris Texas original soundtrack : Ry Cooder / Warners 25270-1 E
  • Larry Carlton : Alone but never alone / MCA master series 5689
  • Le Cid ballet music : city of Birmingham symphony : Louis Fremaux (Klavier KS522)
  • Chico Freeman : Spirit Sensitive / India Navigation (NA-1045)
  • Bob and Ray : a stereo spectacular / RCA living stereo 1773 (Classic records test pressing)

เพลงที่ใช้ทดสอบในแต่ละแผ่น จะถูกเปลี่ยนสัญญาณ analog เป็น wav file ด้วยเครื่อง tascam DV RA1000HD และ upload ขึ้น soundcloud เพื่อสามารถฟังแบบ streaming ได้บนมือถือ+หูฟัง หรือจะ download ไฟล์ 16/44.1 แล้วเล่นกับ dacในชุดเครื่องเสียงของท่านก็ได้

บางเพลงที่ upload ไม่ผ่านเนื่องจากติดลิขสิทธิ์ ผมจะเอาเพลงทั้งหมด ใส่ไว้ใน google drive ของผม ท่านสามารถลากไปไว้ใน google drive ของท่านแล้ว download ลงมาภายหลังได้ครับ (จริงๆตอนนี้ไฟล์เพลงขนาด 16/44.1 สามารถฟังโดยตรงเมื่อเรา double click ที่ชื่อไฟล์ใน google drive ได้เลยนะครับ แต่ว่าต้องเล่นทีละเพลง ทำ playlist ให้เล่นต่อเนื่องบน google drive folder ยังไม่ได้) หรือ scan QR code อันนี้เพื่อเข้าถึง google drive ผมที่เก็บเพลงไว้

The sound

Mediterraneo + Benz micro

ผมเริ่มต้นการทดสอบ Mediterraneo ก่อนด้วยหัวเข็มที่ผมคุ้นชินมานานคือ Benz micro SL wood ได้ทำการติดตั้งลงบนอาร์ม B7 ceramic ด้วย alignment ของ Dennesen soundtracktor (Baerwald) ตลอดการทดสอบไม่พบว่ามี tracking error ตั้งแต่แทรคในสุดถึงนอกสุดของทุกแผ่นที่ทดสอบ (ข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ ถ้าเป็นไปได้ควรใข้แหวนรองน๊อตระหว่างสกรูที่ขันยึดหัวเข็มกับ headshellเพื่อป้องกันไม่ให้ headshellเป็นรอย แต่ต้องขันด้วยความแน่นพอประมาณและเท่าๆกันทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้ตัว body ของหัวเข็มที่อาจจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งถ้าขันลงไปไม่เท่ากัน)

แผ่นJacintha ชุด Here to Ben เป็นแผ่นแรกที่ผมเลือกฟัง แทรคแรก Georgia on my mind (https://soundcloud.com/emt930/georgia-on-my-mind-1) แท่น gold note ให้เนื้อเสียงที่เต็มอิ่ม มวลเสียงร้องของ Jacintha เข้มข้น โฟกัสแม่นเป๊ะอยู่ตรงกลางระหว่างลำโพง  มันเป็นแท่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่แปลกอย่างหนึ่งคือ ให้เสียงได้เข้ม เต็มอิ่ม แต่ว่ารายละเอียดต่างๆยังคงได้ยินครบถ้วน (เช่นเสียงทอดลมหายใจของ Jacintha หรือปลายเสียงแฉที่ทอดตัวไป) สิ่งที่สังเกตได้อีกอย่างคือ จังหวะของดนตรีที่แม่นยำ และ background noise ที่ต่ำมาก ซึ่งน่าจะเป็นผลของระบบ motorและ platter bearingที่ออกแบบมาอย่างดี  กับแผ่น Here at last ผมเลือกแทรคแรกในการทดสอบ I thought about you

 (https://soundcloud.com/emt930/i-thought-about-you ) สิ่งที่รู้สึกได้คือ มวลเสียงจากแทรคนี้ไม่ว่าจะเป็นเสียง saxophone หรือ double bass มีมวลเสียงที่อิ่ม ใหญ่ และไหลลื่นมาก เมื่อเทียบกับแท่น Dr.Feickertที่ผมฟังเป็นประจำ Mediterraneoให้ฐานเสียงที่แผ่กว้างเต็มห้องฟัง  มีความเป็น full body มากกว่าแท่น Firebird  ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ Firebird นั้นมีความเป็น audiophile เต็มตัว แต่ Mediterraneoมีความไพเราะน่าฟัง ดึงดูดให้เราฟังต่อเนื่องได้ยาวนานและคอยจะหยิบแผ่นอื่นๆมาฟังต่อ

แผ่นที่ผมใช้ทดสอบประจำคือแผ่น soundtrack ของหนังเรื่อง Paris Texas ผลงานของ Ry Cooderหลายแทรคในนี้ใช้ทดสอบ system ได้ดีมาก ผมเลือกแทรคที่ 3 หน้า A เพลงร้องเก่าแก่ mexicanช้าๆชื่อ Cancion Mixtecaให้บรรยากาศทีเหงาๆเศร้าๆ มี ambient รอบชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นแยกกันอย่างเด็ดขาด (piano ทางขวาสุด กีตาร์โปร่งของ Ry Cooderตรงกลาง และ rhythm guitar อีกตัวทางซ้ายสุด แท่น mediterraneoถ่ายทอดอารมณ์เศร้าอ้อยสร้อยของแทรคนี้ดีมากๆ ในนาทีที่ 1:58 เสียงร้องของนักร้องชายก็ผุดขึ้นมาตรงกลางเวทีเสียงอย่างน่าประหลาดใจ

เมื่อผ่านพ้นการเบิร์นหัวเข็ม Donatello ไปได้สักยี่สิบชั่วโมง (จุดสังเกตของการที่จะบอกว่าหัวเข็มเริ่มพ้น burn คือ ย่านความถี่ที่ต่อเนื่องกันระหว่างเสียงทุ้มไปกลาง และกลางไปแหลม เป็นไปอย่าง smooth และไม่มีการอั้นของทุ้มหรือแหลม) ผมก็ได้จัดการย้ายหัวเข็ม Donatello gold มาลงแท่น Mediterraneo

Mediterraneo + Donatello gold

คราวนี้มันเหมือนกับการถ่ายภาพด้วยกล้องสมัยก่อนที่ต้อง manual focus แล้วเราหมุนจนกระทั่งภาพคมชัดเป๊ะ หยิบแผ่นเดิม Here at last มาฟัง แทรคเดิม I thought about you สมดุลของเสียง ชิ้นดนตรีต่างๆเป็นไปอย่างดี ไม่มีอาการเบสนำหรือดังกว่าที่ควรจะเป็น การแยกแยะชิ้นดนตรีในแนวหน้าหลังดีขึ้นกว่าเดิม คือเสียง saxophone มีโฟกัสที่ดีขึ้นกว่าตอนใช้หัวเข็ม Benz micro 

นอกจากนี้ยังให้ sounstageในแนวกว้างได้ดีกว่าเมื่อใช้หัวเข็ม Benz micro ด้วย สมดุลของเสียงทุ้มกลางแหลมมีความลงตัวมากขึ้น เมื่อหยิบแผ่นของ Larry Carlton : Alone but never alone แทรคที่ 3 หน้า A เพลง Carring you  ชุดของ Gold note ให้เสียงที่หวาน อิ่ม ฟังสบายมากๆ ทุกชิ้นดนตรีได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระต่อกัน ไหลลื่น เพราะมากกว่าทุกครั้งที่เคยฟังบนแท่นอื่นๆ

                ลองหยิบแผ่นที่ผมฟังประจำ เพลงหนักๆที่มีไดนามิกเปลี่ยนแปลงฉับพลันอย่างเพลงคลาสสิคชุด Le Cid ของเดิมสังกัด EMI studio two แล้วค่าย Klavier record นำมา reissue ใหม่โดยฝีมือของพ่อมด Doug Sax (แผ่นนี้ผมมีทั้ง original press และ reissue ฟังเทียบกันแล้วแผ่น reissue ของ Klavierเสียงดีกว่าค่อนข้างมาก) ตัว Gold note สามารถให้บรรยากาศของ Hall ขนาดใหญ่ที่มีทั้งความกว้างและลึกได้สมจริง dynamic transient ได้ความสมจริงไม่แพ้แท่น hi end ตัวอื่นๆ

อีกแผ่นที่ผมชอบฟัง image soundstage คือแผ่น Bob and Ray stereo spectacular เป็นการบันทึกเสียงในยุค 60 ของค่าย RCA living stereo แผ่นนี้เป็นแผ่น test pressing ของค่าย Classic records ในสมัยช่วงปี 1995 แทรคนี้ Buck dance เป็นแทรคที่ตัดมาจากแผ่น music for bang barroom and harp ของDick Schoryบันทึกเสียงที่ Chicago orchestra hall ทั้งแท่นและหัวเข็ม Gold note สามารถจำลองสนามเสียงของ Chicago hall มาไว้ในห้องฟังเรา เสียง tap dance สองคนทางด้านซ้ายขวาแล้ววิ่งหายลึกเข้าไปทะลุหลังลำโพงทำได้น่าทึ่งครับ

                กลับมาฟังเพลงแจ๊สลื่นๆตบท้าย กับ Chico Freeman ชุด Spirit sensitive แผ่นสังกัด India Navigation (แผ่นนี้ผมถือหางข้างปั้มoriginal มากกว่า Analogue production ที่ทำออกมาปี 1994) งานชุดนี้เป็นงานที่ถือว่าฟังไม่ยากของ Chico Freeman ศิลปินแนว Avan-garde เพลง Don’t get around much anymore เพลงเอกของ Duke Ellington เสียง tenor sax ที่อัดแบบ close mike ไหลลื่นมีมวลอิ่มอยู่เยื้องทางขวาของเวทีเสียง เล่นล้อไล่กับ double bass ของ Cecil McBee ทางฝั่งซ้ายฟังได้เพลิดเพลินมากๆผมชอบลีลาการรูดสายเบสของ Cecil มากๆGold note อาจจะไม่ได้ให้ image ที่ชัดคมเป๊ะๆเมื่อเทียบกับการเล่นผ่านไฟล์ หรือซีดี แต่มันให้เนื้อเสียงที่มีมวลและไหลลื่นได้ดีกว่า source อื่น หรือแท่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงอื่นในระดับราคาใกล้เคียงกัน

Donatello gold + Denon 308 arm + Dr.Feickert Firebird

                หัว Donatello gold มีค่าสเปคต่างๆที่กลางๆ สามารถ set กับอาร์ม Denon ได้ไม่ยาก  สิ่งที่ผมชอบอย่างหนึ่งคือ การเล็งระยะ overhang และมุม offset  ทำได้ง่าย เนื่องจากก้านเข็มไม่สั้นเกินไป และไม่ได้ซ่อนอยู่ตรงกลาง body แบบเข็มญี่ปุ่นบางยี่ห้อบางรุ่น

เมื่อฟังแผ่นเสียงชุดเดิมที่ใช้ทดสอบข้างบน กับแท่น Feickert Firebird อาร์ม Denon 308 ด้วยหัวเข็ม Donatello gold ก็ให้น้ำเสียงที่สมดุล ไม่เน้นไปยังย่านใดย่านหนึ่ง แต่ความไหลลื่นของเสียงนั้นยังสู้เมื่อเทียบกับตอนฟังบนแท่น Mediterraneo ไม่ได้  โดยเฉพาะย่านเสียงกลางและ ambient ที่เมื่อเล่นบนแท่น Gold note เองทำได้ดีกว่า น่าฟังกว่า

                โดยสรุปแล้วผมคิดว่า Gold note ได้บรรลุเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ที่จะสร้างเครื่องเสียงที่มีความเป็น contemporary audiophile   ตัว Gold note  Mediterraneo เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่สวย ใช้วัสดุและประกอบอย่างปราณีต เนี๊ยบ มีสไตล์ การใช้งานและการ set up ไม่ยุ่งยากจุกจิก  และยังให้คุณภาพเสียงที่เข้าขั้นระดับ audiophile ที่นักฟังที่เป็น music lover ก็จะไม่ผิดหวังด้วยเช่นกัน ลำดับต่อไปก็จะเป็นการทดสอบ phono stage ของค่ายนี้ รุ่น PH10 ที่มีฟังก์ชั่นที่น่าสนใจหลายประการ โปรดคอยติดตามครับ

ขอขอบคุณ Gxotic Audio only where the excellence is required.
โทร. 080 987 9999 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบในครั้งนี้