Amphion Two 15

0

two_set_15_lineup_04

Amphion TWO15 2-way passive radiator stand-mounted speakers

โดย มงคล อ่วมเรืองศรี

 

[บรรลุสู่ “ขีดสุด” โดยแท้ – ในทุกๆ ด้าน …คำว่า “สุดยอด” อาจน้อยเกินไปด้วยซ้ำ – ไม่รู้จะสรรหาคำเปรียบเปรยใดๆ ถึงจะสาแก่ใจอย่างที่ได้รับฟัง จริงๆ ครับ]

Picture 2

 

ในหน้าเว็บไซต์ www.amphion.fi/ ของ ‘amphion’ ณ ปัจจุบัน ระบุว่ามีระบบลำโพงอยู่ในสายพานการผลิตนับได้ 13 รุ่นภายใต้ 4 ซีรี่ส์ด้วยกัน ที่นำเอาชื่อของก๊าซ (gas) และธาตุในอากาศชนิดต่างๆ มาใช้เรียกขานเป็นชื่อซีรี่ส์ต่างๆ อันได้แก่ Helium, Argon, Ion และ Krypton แต่สำหรับ “TWO15” นี่นับว่าใหม่เอี่ยมอ่อง ไม่ต้องแปลกใจ …แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนยังไม่มีข้อมูลใดๆไปบรรจุอยู่ในเว็บไซต์ครับ

 

‘amphion’ นั้นเป็นแบรนด์ระบบลำโพงสัญชาติฟินแลนด์ (Finland) ขนานแท้ ที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาในปีค.ศ.1998 โดย “Anssi Hyvönen” ผู้ยึดถือวลีสั้นๆ ‘music is everyman’s right.’ ไว้ในใจตลอดเวลา ระบบลำโพงของ ‘amphion’ ดูจะถูกเน้นรูปลักษณ์การออกแบบให้มีแผงหน้าตัวตู้ที่แคบ แทบจะ-พอดี-กับขนาดของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ที่เลือกใช้ แล้วลึกยาวเข้าไปทางด้านหลังเป็นหลักสำคัญในทุกรุ่นกันเลยทีเดียว

 

ภายใต้แนวคิด “Hear More Music” ด้วยหลักปรัชญา “ไม่เกี่ยงและไม่ก่อปัญหาใดๆ ต่อสภาพอะคูสติกของห้องที่ใช้ฟัง” ระบบลำโพงของ amphion นั้นเป็นที่ยอมรับจัดลำดับชั้นอยู่ในทำเนียบไฮเอนด์อย่างเต็มภาคภูมิ สามารถสร้างชื่อเป็นที่ลือเลื่องกระทั่ง the absolute sound ยังมอบ editor’s choice awards 2008 ให้แก่ ‘amphion’ เฉพาะอย่างยิ่ง “Krypton3” ซึ่งเป็นรุ่น “เรือธง” ของ ‘amphion’ ที่ได้รับการยกย่อง-ชื่นชมอย่างมากๆ จากทั้ง Jonathan Valin และ Neil Gader แห่งสำนัก the absolute sound ไว้ว่า “โดดเด่นอย่างมากๆ สำหรับลำโพงในระดับราคาต่ำกว่า 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ”

 

ยังไม่นับ Alvin Gold แห่งสำนัก Hifi Collection ที่พรรณนาไว้ถึงคุณภาพเสียงของ “Krypton3” เช่นกันว่า “…เปรียบประหนึ่งเป็นหน้าต่างเสียงบานใหญ่ที่ทำให้หลายคนที่นั่งฟังได้รับอรรถรสความเพลิดเพลินด้วยความโอฬารของสภาพเวทีเสียง …ทั้งยังส่งมอบเสียงต่ำอันยิ่งใหญ่ทรงพลัง พร้อมกับช่วงย่านเสียงสูงที่เปิดโปร่งอย่างโอ่อ่า, นุ่มนวล และเด่นชัด ทำให้สามารถรับฟังดนตรีได้อย่างรื่นรมย์ยิ่งนัก”

Picture 5Amphion_Two15_333x500Picture 4

Hear More Music รับรู้-รับฟังเสียงดนตรียิ่งกว่าใครๆ

นับตั้งแต่ปีคศ.1998 ‘amphion’ ได้รับการออกแบบและผลิตขึ้นมา โดยมุ่งเน้นให้มีความอ่อนไหวต่อปัญหาทางสภาพอะคูสติกของห้องฟังที่น้อยเอามากๆ ตั้งแต่แรกกำเนิด ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ‘แผงนำคลื่น’ (Innovation waveguide technology) รวมถึงการควบคุมทิศทางการกระจายเสียง ส่งผลให้ท่านสามารถรับรู้-รับฟังเสียงดนตรีได้มากกว่าใคร และยังแทบจะไร้ซึ่งผลกระทบใดๆในทุกๆห้องฟัง

ผสานการใช้ไดรเวอร์ได้อย่างลงตัว

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการออกแบบลำโพงก็คือการประสานไดรเวอร์ที่ได้เลือกใช้งานนั้นให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสอดสัมพันธ์จนกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ‘amphion’ นั้นคัดสรรและผสานการทำงานของไดรเวอร์ต่างๆ อย่างไร้รอยต่อ สุ้มเสียงได้รับการปรับจูนให้มีความสมดุลและกลมกลืนเป็นธรรมชาติอย่างสมจริง ซึ่งด้วยการใช้ waveguide (เอกสิทธิ์เฉพาะของ amphion) จึงทำให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ทางเสียงอันน่าทึ่งจากการทำงานร่วมกันระหว่างวูฟเฟอร์และทวีตเตอร์ อีกทั้งยังเป็นการสอดประสานสัมพันธ์กันที่ครอบคลุมย่านความถี่เสียงเป็นช่วงกว้างมากเป็นพิเศษ จึงทำให้เสียงที่ได้รับฟังนั้นมีความสดใส สะอาด แจ่มชัด และเป็นธรรมชาติอย่างมาก

ประสาทการรับรู้ของมนุษย์เรานั้นละเอียดอ่อนและแม่นยำเที่ยงตรงมากต่อการตรวจจับความผันแปรต่อค่า ‘time constants’ ในเสียงดนตรี ด้วยนวัตกรรมทางด้าน acoustical engineering ของ amphion ทำให้ไม่จำเป็นต้องนำเอาวงจรอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ เข้ามาแก้ไขทางค่าเวลา นี่จึงนำพาสู่ผลลัพธ์ทางเสียงที่ให้ความเป็นธรรมชาติอย่างมากๆ สามารถเข้าได้ถึงอารมณ์ร่วมในดนตรีที่รับฟังได้อย่างลุ่มลึกยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ ‘เสียงมนุษย์’ (human voice) นับเป็นสิ่งที่ใช้ประเมินความสมบูรณ์แบบของลำโพงได้เป็นอย่างดี เพราะว่า เรา-ท่านล้วนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ‘amphion’ จึงได้รับการออกแบบให้เพียบพร้อมต่อการส่งมอบ -ความสดใส กระจ่างชัดในน้ำเสียงมนุษย์ และช่วงย่านเสียงกลางได้อย่างเยี่ยมยอด -สุ้มเสียงที่เปี่ยมในความเป็นธรรมชาติ บริสุทธิ์สะอาด และไม่เครียดเค้น -แม้ในระดับการรับฟังไม่มากนัก ความสดใส กระจ่างชัดก็ยังคงรักษาระดับไว้ไม่ถูกลดทอนไป

DSC_8562

ความรื่นรมย์ครบชัดในทุกสรรพสิ่งที่รับฟัง

ชีวิตเปี่ยมสุขในแต่ละวัน… การรับฟังเสียงดนตรีที่มีความเป็นธรรมชาติ ปราศจากการบีบคั้นต่อโสตประสาท ส่งมอบความสดใส-แจ่มชัด ไร้ซึ่งความคลุมเครือ และจักยังคงรับฟังได้ถนัดชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง แม้ที่ระดับการรับฟังที่แผ่วเบาที่สุด การส่งมอบสำเนียงเสียงที่เปี่ยมธรรมชาติ ยังช่วยให้ได้รับฟังและรับรู้อะไรต่อมิอะไรอย่างแจ่มชัดถนัดหูยิ่งกว่าใครๆ

เสียงหวานใสแผ่ไปทั่วห้อง

สนามเสียงที่ทั้งแผ่กว้างและสมานเสมอกันช่วยให้ไม่ต้องนั่งจับเจ่าอยู่กับที่ ให้ความรู้สึกเป็นอิสระในการเคลื่อนไหวเดินไป-มาได้รอบห้อง และด้วยลักษณะเสียงที่เติมเต็มห้องฟังให้รับฟังได้เท่าเทียมกันทั้งห้อง จึงได้ยินได้ฟังอะไรต่อมิอะไรได้ถนัดชัดหู สร้างความเพลิดเพลินใจทั่วถึงกัน แม้ในขณะรับฟังเพลงแบบเป็นแบ็คกราวด์

ลงตัวได้กับทุกสภาพอะคูสติก

สภาพอะคูสติกนับเป็นผลกระทบหลักที่มีความสำคัญยิ่งนักต่อการกำหนดความเป็นไปในลักษณะเสียงของห้องนั้นๆ ซึ่งสำหรับ ‘amphion’ ได้นำนวัตกรรมทางด้าน ‘acoustical engineering’ ที่เรียกว่า U/D/D (Uniformly/Directive/Diffusion) technology มาใช้ U/D/D นี้จะทำหน้าที่ควบคุมทิศทางมุมการกระจายเสียงของลำโพงได้อย่างเป็นระเบียบและครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ภายใต้ช่วงย่านความถี่เสียงที่กว้างมากเป็นพิเศษ จึงลดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลต่อเสียงจากสภาพอะคูสติกของห้องลงไปได้อย่างมาก ทำให้สามารถได้ยินได้ฟังในเสียงดนตรีที่มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ที่สำคัญ U/D/D ยังให้ผลลัพธ์ทางบวก “ในโลกแห่งความเป็นจริง” ต่อตำแหน่งการตั้งวางลำโพงอีกด้วย U/D/D จะช่วยให้ลำโพงสามารถดำรงรักษาความสดใส แจ่มชัด รวมทั้งความเป็นธรรมชาติทางเสียงไว้ แม้จะตั้งวางลำโพงไว้ชิดติดกับผนังห้อง, ผนังตู้ หรือผนังชั้นวาง กระทั่งบนโต๊ะทำงาน ซึ่งด้วยความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์การเรียนรู้ทางด้านสภาพอะคูสติกห้องฟังของ amphion ช่วยให้คุณได้รับรู้ถึงสรรพเสียงอันบริสุทธิ์ สะอาดและถ่องแท้ พร้อมด้วยการสัมผัสได้ถึงมวลบรรยากาศราวกับชีวิตจริง

3 มิติ – สำหรับการรับฟัง

เคล็ดลับสำคัญของการส่งมอบอิมเมจราวเป็น 3 มิติของ ‘amphion’ อยู่ที่การผสาน waveguide ร่วมกับตัวขับเสียงความถี่สูง (ทวีตเตอร์) ช่วยให้หูมนุษย์รับรู้เสียงต่างๆได้ถนัดชัดยิ่งขึ้น ให้ความสมบูรณ์ทั้งความฉับพลันทันใด รายละเอียด กระทั่งค่าความผิดเพี้ยนทางเสียงโดยรวมที่ต่ำอย่างมากๆ สรรพเสียงที่ลำโพง ‘amphion’ เปล่งออกมาจึงทั้งเปิดเผยและเอิบอิ่ม สมจริงในการระบุตำแหน่งแห่งที่ของเสียงที่รับฟังดุจดั่ง 3 มิติ ‘amphion’ จะทำให้คุณพบความแตกต่างราวกับกำลัง “มองเห็น” นักดนตรีที่กำลังเล่น-กำลังแสดงอยู่ต่อหน้าคุณ ทั้งยังนำพาคุณสัมผัสสู่บรรยากาศคอนเสิร์ตฮอลล์อันเลื่องชื่อราวกับว่า “เรากำลังเข้าไปอยู่ท่ามกลาง ณ ที่นั้นๆ” เลยทีเดียว

DSC_8563

ความเป็น TWO15

นับว่า –ใหม่สุดซิง- กันจริงๆ สำหรับ “TWO15” ที่แม้แต่ในเว็บไซต์ www.amphion.fi/ ของ ‘amphion’ เองก็ยังมิได้ระบุรายละเอียดใดๆไว้ ทำให้ต้องสืบค้นหาทางเว็บไซต์ต่างๆ จนไปพบการเปิดตัวครั้งแรกของ ในงาน High End Show Munich 2013 ว่า “TWO15” นั้นเป็น –พี่ใหญ่- ในซีรี่ส์ล่าสุด – Pro series ในความเป็น ‘monitoring design goal’ – studio-quality sound for home at reasonable price นับได้ว่าไม่ธรรมดานะครับ สำหรับ ‘Pro’ series นี้ -ทั้งถูกทั้งดี-

 

แต่เดิมมา ‘amphion’ มีซีรี่ส์ Krypton เป็นระดับเรือธงที่ได้รับคำชื่นชมมากมาย ภายใต้ปัจจัยการใช้งานทางด้านโฮมยูส …นี่จึงถือเป็นครั้งแรกสุดของ ‘amphion’ สำหรับการพุ่งเป้ามาที่การออกแบบลำโพงเพื่อใช้เป็นมอนิเตอร์อย่างเจาะจง บ่งบอกได้ถึงความมั่นใจอย่างมากๆ จากทีมงานการออกแบบของ amphion และนี่จะเป็นจุดเริ่มแห่งก้าวย่างสู่การสร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญให้กับ amphion

 

‘Pro’ series กอปรด้วยลำโพง 3 รุ่นที่มี “ONE12” เป็นรุ่นเล็กสุด (ใช้มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ขนาด 12 ซม. จำนวน 1 ตัว) ถัดขึ้นมาเป็นรุ่น “ONE18” (ใช้มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ขนาด 18 ซม. จำนวน 1 ตัว) และปิดท้ายด้วย “TWO15” ที่เป็นรุ่นใหญ่สุด (ใช้มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ขนาด 15 ซม. จำนวน 2 ตัว) …แต่ไหนแต่ไรมา ‘amphion’ โดดเด่นในการออกแบบระบบลำโพงแบบตู้เปิด (bass reflex) มาโดยตลอดจนเชี่ยวชาญ ทว่าครานี้ทีมงานออกแบบของ amphion เปลี่ยนแนวทางมาใช้แบบตู้ปิด (close-box) กันละครับ ทั้งยังเป็นระบบ ‘ตู้ปิด’ ที่ไม่ใช่ธรรมดาๆ เพราะว่าได้นำเอาหลักการ passive radiator เข้ามาผสานรวมไว้อีกด้วย

 

“TWO15” นี่มีขนาดตัวตู้ 51.0 x 16.0 x 26.5 ซม. (สูง x กว้าง x ลึก) น้ำหนัก 12 กก.ต่อตู้ โดยได้รับการออกแบบให้เป็นระบบลำโพง 2-ทาง แบบตู้ปิดมี passive radiator ติดตั้งอยู่ด้านหลัง ภายใต้ค่าความไวเสียง หรือ sensitivity ที่ระดับ 86 dB ในขณะที่ช่วงความถี่ตอบสนองสามารถครอบคลุมได้กว้างอย่างชนิดแทบไม่น่าเชื่อว่าจะได้พบเจอจากระบบลำโพงแบบ 2-ทางที่ใช้ตัวขับเสียงมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ขนาด 15 ซม. (6 นิ้ว) เท่านั้น นั่นคือ 44 – 20 000 Hz (-/+ 3 dB)โดยมีค่าความต้านทานโดยรวมอยู่ที่ 4 โอห์ม

 

ตัวขับเสียงมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ขนาด 15 ซม. จำนวน 2 ตัวที่ติดตั้งอยู่บนแผงหน้าตัวตู้ของ “TWO15” ใช้วัสดุตัวกรวยที่เป็นเนื้ออะลูมิเนียมน้ำหนักเบา เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งอัตราเร่งในการขยับขับเคลื่อนตัวกรวยลำโพงอย่างฉับพลันทันใด …ปรู้ดปร๊าด โดยส่วนขอบรอบตัวกรวยเป็นยางธรรมชาติให้ความทนทาน ทำงานควบคู่กับตัวขับเสียงทวีตเตอร์แบบ titanium dome ขนาด 25 มม. (1 นิ้ว) พร้อมสิ่งที่เรียกว่า “Wave Guide” (มีลักษณะคล้ายปากฮอร์นกว้าง ทรงโค้งตื้นๆ) ติดตั้งอยู่ด้านหน้าตัวโดม เพื่อช่วยควบคุมแนวกระจายเสียงให้แผ่กว้างและมีทิศทางพุ่งไปข้างหน้า ไม่ฟุ้งกระจายเปะปะอย่างสูญเปล่า

 

ในขณะเดียวกันทางด้านหลังตัวตู้ก็ยังได้ติดตั้ง passive radiator ขนาด 15 ซม.จำนวน 2 ตัวที่มีตัวกรวยเป็นเนื้ออะลูมิเนียมน้ำหนักเบาเฉกเช่นเดียวกับไดรเวอร์ด้านหน้า เพื่อช่วยทำหน้าที่ “เสริม” สมรรถนะทางเสียงต่ำให้กับ “TWO15” โดยไม่ก่อให้เกิด mismatching -ความไม่ลงตัวร่วมกันทางเสียง-กับตัวขับเสียงกลาง/ต่ำ เนื่องจากการใช้เนื้อวัสดุตัวกรวยต่างชนิดกัน

 

เคล็ดลับสำคัญของ amphion ทั้งปวง รวมทั้ง “TWO15” ด้วยนั้น อยู่ที่การใช้ ‘titanium dome tweeter’ สุดพิเศษ อันมีจุดโดดเด่นหลักที่สามารถใช้ค่าจุดตัดแบ่งช่วงความถี่เสียง (cross-over frequency) ซึ่งต่ำกว่าธรรมดามาก (อย่างแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเจอได้ในระบบลำโพงแบบ 2-ทาง) เพราะจุดตัดแบ่งช่วงความถี่เสียงถูกกำหนดไว้ที่ 1,600 เฮิรตซ์แค่นั้น มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์จึงรับภาระขยับเขยื้อนตัวกรวยในช่วงความถี่เสียงที่ “แคบ” กว่าธรรมดามากเช่นกัน ความฉับไวในการให้รายละเอียดเสียงต่างๆ จึงสามารถกระทำได้ดีมากๆ ภาระในการขับขานช่วงย่านเสียงกลางตอบนขึ้นไปจนถึงช่วงย่านเสียงสูงจึงเป็นหน้าที่ของ titanium dome tweeter ซึ่งมีความฉับพลันทันใดในการตอบสนองสูงกว่ามิดเรนจ์/วูฟเฟอร์มากหลายเท่า ทั้งยังได้มาซึ่งช่วงย่านเสียงสูงที่ทอดยาวไปไกลอย่างเปิดโปร่งอีกด้วย

 

ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ว ‘amphion’ ดูจะภาคภูมิใจกับการออกแบบ titanium dome ของเขานี้มากทีเดียว เพราะถูกนำไปใช้งานอยู่ในระบบลำโพงทุกรุ่น ไม่เว้นแม้แต่ใน “Krypton 3” การมี titanium dome tweeter ที่สามารถกำหนดค่าจุดตัดแบ่งช่วงความถี่เสียงทำได้ต่ำอย่างมากๆเยี่ยงนี้ ย่อมที่จะส่งผลดีในหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องกลมกลืนกันของเสียง โดยเฉพาะในช่วงย่านความถี่เสียงกลางขึ้นไปจนสุดช่วงความถี่ตอบสนอง ซึ่งถูกเปล่งออกมาจาก “one-point source” ในขณะที่ช่วงย่านความถี่เสียงกลาง-ต่ำลงไปจนสุดช่วงความถี่ต่ำที่ตัวลำโพงจักตอบสนองได้นั้นเป็นภาระหน้าที่ของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ ซึ่งแน่นอนว่าจักต้องมีมวลที่เบามากๆ

ด้วยเสียงที่ถูกเปล่งออกมาในแบบ “one-point source” ซึ่งสามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองตอนกลาง-บนได้อย่างกว้างขวางเช่นนี้ ก็ย่อมทำให้ค่าเฟสของช่วงความถี่ตอบสนองดังกล่าว “ตรง” กันโดยตลอด ไร้ซึ่งการเบี่ยงเบน-เปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง อิมเมจเสียงจึงย่อมที่จะมีความโดดเด่นได้เป็นพิเศษติดตามมา รวมถึงการที่ titanium dome tweeter นี้ได้รับการติดตั้ง “Wave Guide” ไว้ ย่อมทำให้ค่าความผิดเพี้ยนทางเสียงของ titanium dome tweeter นี้ต่ำอย่างมากๆตามไปด้วย

DSC_8561Two_15_st_b_07DSC_8569

เนื่องเพราะ “Wave Guide” ซึ่งคล้ายปากฮอร์นทรงกลมขนาดเกือบจะเท่ากับมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์นั้น จักทำหน้าที่ควบคุมทิศทางเสียงที่เปล่งออกมาจากทวีตเตอร์ไม่ให้แผ่กระจายไปทางด้านข้างๆอย่างสูญเปล่า เสมือนเราเอามือป้องปากเวลาตะโกน เสียงจึงพุ่งตรงออกมาทางด้านหน้าอย่างมีทิศทางแน่นอน เสียงที่ตะโกนจึงดังขึ้นกว่าเวลาที่ไม่ได้ป้องปาก titanium dome tweeter นี้จึงเท่ากับว่าไม่ต้องรับภาระการทำงานที่หนักหน่วง จนเกินตัวและกลายเป็นความเครียดบนตัวโดม และก่อให้เกิดเป็นความผิดเพี้ยนทางเสียง

 

นอกจากนี้ “Wave Guide” ซึ่งคล้ายปากฮอร์นตื้นๆทรงกลมแผ่กว้าง ยังส่งผลให้ตำแหน่งตัวโดมของ titanium dome tweeter นั้น “ถอยลึก” เข้าไป มิได้อยู่ในแนวที่เสมอกับแผงหน้าตู้ลำโพงเช่นที่เรา-ท่านคุ้นตากัน ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่า “จุดกำเนิดเสียง” ของ titanium dome tweeter ใน “TWO15” นั้นอยู่ใน “แนวระนาบ” ที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งวอยซ์คอยล์ของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ จึงเสมือนว่า amphion นั้นเป็นระบบลำโพงที่ได้รับการคำนึงถึงเรื่องของ time-alignment ไปโดยปริยาย – ไม่จำเป็นต้องใช้วงจรชดเชยใดๆ เข้าเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลให้ “ค่าองศา” ของเฟสเสียงนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่ถูกต้องตรงตามต้นฉบับสัญญาณเสียง

อนึ่งระบบลำโพงทุกรุ่นของ “amphion” นี่ดูจะจงใจออกแบบให้ไม่มีหน้ากากผ้าสวมปิดหน้าตัวตู้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็น titanium dome tweeter นั้นจะไม่มีหน้ากากผ้าปิด แต่มีตะแกรงป้องกันตัวโดมเรียบร้อย และเจ้า “TWO15” นี่ก็เช่นกัน ผู้ใช้จึงต้องให้ความระมัดระวังที่มากขึ้นกว่าธรรมดา ทว่าต้องขอบอกว่า นี่ทำให้ “มีเสน่ห์” น่ามองไปอีกแบบจริงๆ ตั้งวางแล้วดูขลังอย่างกับลำโพงไฮ-เทคมอนิเตอร์กระนั้น

คุณภาพเสียง

แม้ว่า “TWO15” จะได้รับการออกแบบพุ่งเป้าไปที่ความเป็น studio-quality sound เหมาะเจาะสำหรับการรับฟังในแบบ near-field แต่ก็มิได้สร้างความกระด้างกระเดื่องต่อการตั้งวางเพื่อการรับฟังแบบ far-field ตามปกติในห้องฟัง เพียงแต่ว่า สมควรต้องคำนึงถึงเรื่องความสูงของขาตั้งที่จะนำมาใช้งานร่วมกับเจ้า “TWO15” ซะละมากกว่า “TWO15” ไม่เกี่ยงลักษณะห้องฟังที่นำมันไปใช้งาน อย่างไรก็ตามดูท่าว่า ออกจะอ่อนไหวต่อระดับความสูงจากพื้นในขณะรับฟังอยู่สักหน่อย อย่างน้อยๆ ก็น่าจะสัก 21 ไม่เกิน 24 นิ้วนั่นแหละครับ-นับว่า ‘พอเหมาะ’

ประการสำคัญอยู่ตรงที่ว่า จงตั้งวาง “TWO15” บนขาตั้งที่ทำให้ -ทวีตเตอร์- อยู่พอดิบพอดีกับระดับหูของเราในขณะรับฟัง อย่าใช้ขาตั้งที่เตี้ยจนทำให้ทวีตเตอร์อยู่ต่ำกว่าหูของเราในขณะรับฟัง และอย่าใช้ขาตั้งที่สูงโย่งจนทำให้ทวีตเตอร์อยู่สูงกว่าหูของเราในขณะรับฟัง ซึ่งจะทำให้ “ดุลเสียง” นั้นเปลี่ยนไป “ไม่สมดุล” อย่างที่ควรจะเป็น อิมเมจและซาวด์สเตจก็เช่นกัน ระดับความลึกที่ควรจะถอยร่นเข้าไปนั้น น้อยเกินกว่าที่รับรู้ได้จากการตั้งวางเจ้า “TWO15” ไว้บนขาตั้งที่มีระดับความสูงที่พอเหมาะพอเจาะจริงๆ ครับ

…ทั้งโปร่งกระจ่าง-อิ่มอุดมในรายละเอียด สามารถบ่งบอกอิมเมจ-ซาวด์สเตจได้สมจริงอย่างมากๆ พร้อมๆ กับความ “ละเมียด-ละมุน ละไม” น้ำหนัก-เรี่ยวแรงปะทะ ความฉับพลันทันใด รวมถึงเรื่องของไดนามิก -ครบเครื่อง- จริงๆ ครับ ….ลักษณะเสียงของเจ้า “TWO15” นี่ มีองศาของความละเมียด-ละมุน ละไมเป็นนัยยะที่ต่างจาก amphion รุ่นอื่นๆที่ผมเคยได้ฟัง เป็นสรรพคุณทางเสียงที่นอกจากจะเปี่ยมในรายละเอียดแล้ว ยังละเมียด เนียนนุ่ม ละมุน ละไม ราวกับคำเปรียบเปรย smooth as silk กระนั้น ทั้งยังให้ความสด-กระจ่าง ได้ฟังแล้วรู้สึกชื่นฉ่ำใจ หลงรักในน้ำเสียงแต่แรกฟังเอาเลยทีเดียว

 

“TWO15” มีลักษณะเสียงที่ให้ความผ่อนคลาย ในขณะเดียวกัน ได้ฟังแล้วก็เบิกบานใจด้วยรายละเอียด และอิ่มเอมในความฉ่ำชุ่ม นุ่มนวลไปพร้อมกัน ทั้งยังมีความฉับไวมาก ให้ความสด-กระจ่าง-เปี่ยมบรรยากาศ-อย่างเป็นธรรมชาติน่าฟังมาก บอกกันตรงๆ ว่า “TWO15” นั้นมีสมรรถนะทางเสียงที่น่าทึ่ง-ตราตรึงใจ ให้ทั้งความกลมกล่อม นวลเนียน ละมุนละไม รวมไปจนถึงสมรรถนะการบ่งบอกสภาพอิมเมจและซาวด์สเตจ ที่มีความโดดเด่นมากเป็นพิเศษ สามารถให้การรับรู้ได้ถึงสภาพเสียงที่นอกจากจะแผ่กว้าง – จนสร้างความรู้สึกโอบล้อมของบรรยากาศเสียงแล้ว ยังถอยลึกเข้าไปหลังตำแหน่งตั้งวางระบบลำโพงเป็นปริมณฑลเสียงอยู่หลังตำแหน่งตั้งวางลำโพง สามารถจำแนกแยกแยะแถวชั้นของตำแหน่งชิ้นดนตรีที่มีอาณาบริเวณเสียงเป็นอิสระ ให้การไล่ระดับความสูง-ต่ำของตำแหน่งแห่งที่เสียงต่างๆได้อย่างสมจริง มีระยะชัดลึก-ชัดตื้น –ราวเป็นเสียง 3 มิติ

 

สรรพเสียงที่ “TWO15” ถ่ายทอดออกมานั้นมีความเป็นดนตรี (musicality) สูงมาก เปี่ยมไปด้วยรายละเอียด ระยิบระยับ ลักษณะเสียงโดยรวมมีความโปร่งกระจ่าง (high transparency) ที่ให้การจำแนก-แยกแยะลักษณะเสียงได้อย่างเด่นชัด สามารถบ่งบอกการผุดโผล่ของรายละเอียดเสียง รวมทั้งสัญญาณเสียงฉับพลัน (transient) ได้อย่างทันทีทันใด ให้ทั้งความจะแจ้ง-แจ่มชัด-สดใส และเปิดโปร่ง-โล่งกระจ่าง ไร้สภาพ “หมอกควัน” ปกคลุม เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงความถี่เสียงกลาง-สูงนั้นเป็นเสียงที่มีความกลมกลืนต่อเนื่องนวลเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ให้ทั้งความสดใส สะอาด มีมวลมีน้ำหนัก ให้ทั้งแรงกระทบ-ปะทะ พร้อมกับความมีตัวมีตน-มีลมหายใจ อันน่าจะเป็นผลมาจากสมรรถนะอันยอดเยี่ยมของ titanium dome tweeter ที่มีลักษณะคล้ายกับลำโพงฮอร์น (horn) กลายๆนั่นเอง

 

มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ขนาดแค่ 15 ซม.ทั้ง 2 ตัว ร่วมกับ passive radiator อีก 2 ตัวของ “TWO15” นั้นสามารถผลักดันมวลอากาศให้ได้มาซึ่งเรี่ยวแรงพลังความถี่เสียงต่ำที่กระแทกกระทั้น แน่นปึ๊ก ควบคู่กับการทิ้งทอดตัว-ยืดขยายลงไปได้ลึกมาก -น่าทึ่ง- ให้ความฉับพลันในไดนามิก มีความกระชับ เก็บตัวได้ไวไม่รุ่มร่าม พร้อมด้วยน้ำหนักเสียงต่ำที่ทรงพลังพอดีๆ มีคุณภาพไม่เน้นปริมาณมากๆ จนขาดความชัดถ้อยชัดคำ และไม่น้อยเกินไปจนความขาดซึ่งความสมดุลเสียง ทั้งยังเพียบพร้อมด้วยความเปิดโปร่ง-แจ่มใสในช่วงย่านเสียงกลางและสูง แม้กระทั่งช่วงปลายหางเสียงที่มีประกายทอดตัวยาวไกล ฟังแล้วให้ความระรื่น พละพลิ้ว กังวานและยืดขยายปลายหางเสียงออกไปได้ไกลมาก ไม่มีการอัดอั้น ความถี่สูงๆ อย่างฉิ่ง-ฉาบ-เหล็กสามเหลี่ยมมีความลอยตัวเป็นอิสระ

 

ได้ฟัง “TWO15” แล้ว …โอ้ว – ช่างอวบอิ่ม-ฉ่ำชุ่มซะนี่กระไร มีมวลมีน้ำหนัก ให้ความเป็นตัวตนของเสียงที่ดีมาก (ไม่ใช่แจ่มชัดทว่าแหบแห้ง) รับฟังเสียงหมู่เครื่องสาย (ไวโอลิน-วิโอลา-เชลโล) ได้น้ำหนัก-เนื้อหนังของเสียงอย่างสมจริง เฉพาะอย่างยิ่งเสียงร้องเพลง ไม่ว่าชายหรือหญิง ที่จะบ่งบอก “เนื้อเสียง” ออกมาชัดแจ้งว่า เป็นน้ำเสียงที่มีชีวิตชีวาของมนุษย์เราอย่างเป็นธรรมชาติมากๆ

 

จากแผ่นซีดีชุด Planet Drum ของ MICHEY HART (Rykodisc RCD 10206) ที่คว้ารางวัล Grammy Award, Best World Music Recording 1992 มาครอง นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่เจ้า “TWO15” สามารถส่งมอบการแยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรีที่บรรเลงประโคมพร้อมกันได้ไม่สับสน พร้อมด้วยความโปร่งโล่งทางเสียงที่สำแดงถึงสภาพบรรยากาศภายในโถงบันทึกเสียงขนาดใหญ่ “TWO15” จะถ่ายทอด-ส่งมอบสรรพเสียงชิ้นดนตรีที่เสมือนลอยล่องออกมา ผลุดโผล่จากตรงโน่นตรงนี้ มีตำแหน่งแห่งที่ชี้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเสียงกีต้าร์-เสียงเปียโน-เสียงไวโอลิน-เสียงเครื่องสายทั้งหลาย ยิ่งได้ฟังเสียงไวโอลินที่ถูกบันทึกเสียงมาดีมากๆแล้วละก้อ…โอ้โฮ ใจจะขาด !!!

 

ขณะที่สภาพเวทีเสียง (soundstage) ก็รับรู้ได้ถึงความรู้สึกโอบล้อม ไล่ระดับความตื้น-ลึก ไม่เป็นระนาบเดียว จนชักนำความรู้สึกเสมือนตัวเราเข้าไปอยู่ร่วมในเวทีการแสดงดนตรีกระนั้น เมื่อรับฟังจากแผ่น Jazz at the pawnshop (PROPRIUS PRCD 7779) จะทึ่งในการแยกมิติความตื้น-ลึกของเวทีเสียง ที่สามารถระบุตำแหน่งแห่งที่ของเสียงจากชิ้นดนตรีได้แน่นอน พร้อมด้วยปริมณฑลของเสียงแต่ละเสียงอย่างมีอาณาบริเวณ ไม่ฟุ้งเบลอ เสียงพูดคุย-เสียงแก้วกระทบกัน-เสียงเครื่องคิดเงิน-เสียงกระแอมไอเบาๆ ล้วนถูกถ่ายทอดออกมาถนัดชัดไม่ต้องถึงขนาดตั้งใจคอยฟัง แม้แต่เสียงดนตรีก็บ่งบอกออกมาให้ได้สัมผัสถึงระดับความสูงของเวทีแสดง

 

ในความสดกระจ่างของเสียงที่ “TWO15” ถ่ายทอดออกมานั้น ยังเปี่ยมด้วยความนวลเนียน ละเมียด ละไมในน้ำเสียง บ่งบอกถึงความมีตัวมีตน (มีน้ำหนัก ความอิ่มฉ่ำ) มีรูปลักษณ์ มีลมหายใจของสรรพเสียงนั้นๆ เสียงต่างๆที่รับฟังจึงให้ความสมจริง สัมผัส-รับรู้ได้ถึงความมีอยู่ (ราวกับของ) จริงของเสียงนั้นๆ ยามที่ได้ฟังจาก Cantate Domino (PROPRIUS PRCD 7762) กับ “TWO15” แล้วคุณจะเข้าใจ ในความถรบถ้วนของเสียงทุกเสียงที่ถูกถ่ายทอดออกมา เพราะกระทั่งเสียงครางหึ่งของสภาพแวดล้อมภายในโบสถ์ก็ถูก “ฟ้อง” ออกมา

 

ใครที่ชอบความกระหึ่มกึกก้องกัมปนาทของวงดนตรีออร์เคสตร้า รับรองจะประทับใจยิ่งนักกับการรับฟังจากแผ่น Pomp& Pipes ! (REFERENCE RECORDINDS RR-58CD) ที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างอลังการ… โดยที่สรรพเสียงต่างๆไม่มีอาการมั่ว-ตีรวนกัน แม้ในยามรับฟังดนตรีที่กำลังโหมกระหน่ำนับร้อยชิ้น เสียงทุกเสียงจะยังคงปรากฏเป็นแถวเป็นชั้นถอยลึกเข้าไปหลังแนวตั้งวางระบบลำโพง ไม่มีเสียงใดที่โผล่เลยล้ำหน้าตำแหน่งตั้งวางลำโพงออกมา

 

ซึ่งด้วยความสด-สะอาด และความผิดเพี้ยนที่ต่ำในน้ำเสียงของเจ้า “TWO15” อาจทำให้คุณเผลอเร่งระดับความดังเสียงที่รับฟังให้ดังขึ้น-ดังขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ด้วยความรู้สึกมันในอารมณ์ นั่นทำให้ผมรับฟังแผ่นซีดีของ The Kroumata Percussion Ensemble (BIS CD-232) ที่เป็นการบันทึกเสียงสารพัดเครื่องเคาะจังหวะ (percussions) ทั้งกลองเล็ก-กลองใหญ่ ฆ้องไทย-ฆ้องใหญ่-ฆ้องยักษ์ รวมถึงระนาดฝรั่ง ที่บรรเลงแบบโชว์ไดนามิกเสียงไว้ ได้มันซะใจมาก !! หนังหน้ากลองกระเดื่อง จากเพลง Matsuri ของ KITARO Live in America (Geffen Records : GEFD-24323) รับรู้ได้เลยว่าขึงตึง-หนักแน่น ให้แรงปะทะที่รับรู้ได้ถึง “ระลอกคลื่น” ของเสียงหนังหน้ากลองใหญ่ที่กำลังสั่นกระพือ แยกแยะออกมาจากเสียงทุ้มที่ระรัวเป็นจังหวะของกลองไฟฟ้าออกมาได้แจ่มชัด พร้อมด้วยความหนักแน่นของเสียงที่ไม่อัดอั้น ให้ทั้งความฉับไวและแม่นยำในจังหวะจะโคน

 

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ไดรเวอร์ขนาดเพียงแค่ 2×15 ซม. ร่วมกับ passive radiator ของ “TWO15” จะถ่ายทอดเสียงทุ้มที่ทอดตัวลงไปลึกได้ขนาดนั้น เมื่อได้ฟังจากแผ่นซีดี DOTOU BANRI ONDEKOZA เสียงกลองโคโดะ 3-4 ใบที่ถูกระดมตีประชันกันอย่างรุนแรง สั่นกระเพื่อมเป็นระลอกคลื่นให้เราจับความรู้สึกได้ …นี่คือความจริง ซึ่ง “น่าทึ่งมาก” หากเป็นการ Blind Test รับรองว่า ทุกคนที่ได้ฟังจะต้องคิดว่า น่าจะเป็นเสียงจากวูฟเฟอร์ขนาดที่ใหญ่กว่านี้มากนัก

 

มันเป็นเสียงที่มี “แรงปะทะ” ทว่าเปี่ยมในความละเมียดละไม ฟังเสียงร้องแล้วเรียกว่าแทบจะมองทะลุไปถึงปอด-กระเพาะกันเลยทีเดียว น่าทึ่งจริงๆครับ….บอกกันตามตรง จินตภาพเสียงที่รับรู้ได้จาก “TWO15” ก็มีความเด่นชัดมาก สามารถจำแนกระยะห่าง หรือ ช่องว่างระหว่างชิ้นดนตรีได้อย่างโดดเด่นน่าประทับใจ ให้การรับรู้ได้ถึงสภาพความลึก ถอยเข้าไปในเวทีเสียง ซึ่งยิ่งฟังจากแผ่นที่บันทึกมาดีๆ ทำเอาถึงกับอึ้งเลยล่ะครับ

 

จากแผ่นซีดีชุด Mancini’s Greatest Hits ของ Henry Mancini (Telarc CD-80183) รับฟังได้ถึงความโอ่โถ่งของสถานที่บรรเลง/บันทึกเสียง มีความกังวาน-แผ่กว้างของเสียงสูงอย่างเสียงกระดิ่งและเหล็กสามเหลี่ยม ซาวด์สเตจอันแผ่กว้างของวงดนตรี ให้การแยกอิมเมจเสียงฝั่งซ้าย-ขวาของกลุ่มนักร้องหญิง-ชายชัดเจน มิได้เกาะกลุ่มเป็นก้อน คุณจะได้ยินแม้กระทั่งเสียงสูดลมหายใจในเพลงที่ 4 พร้อมๆ กับรายละเอียดเสียงของสารพัดเครื่องเคาะจังหวะ แม้กระทั่งเสียง cymbal ของกลองชุดที่พละพลิ้วอยู่ตรงตำแหน่งส่วนท้ายของวง ก็ยังคงชัดเจนแจ่มใส และสนิทนิ่ง

 

เมื่อรับฟังจากแผ่น Fourplay (Warner-Pioneer WPCP-4463) ความสดใส ฉับไวของรายละเอียดเสียงดนตรีพวกเครื่องเคาะสารพัดชนิดได้รับการนำเสนอออกมา พร้อมกับจังหวะจะโคนของเสียงเบสและกลองกระเดื่องอันแม่นยำ ฟังแล้วคึกคักรุกเร้าใจ เสียงเบสนั่นเล่าก็น่าประทับใจยิ่งนักในน้ำหนัก กับทั้งยังตอบสนองลงไปได้ลึกอย่างน่าทึ่ง เรียกว่าเกินหน้าลำโพงวางขาตั้งขนาดใกล้เคียงกันก็แล้วกันละ

 

จากแผ่น Winelight (Elektra 7559-60338-2) เพลงที่ 6 เสียงเคาะเหล็กสามเหลี่ยมเบาๆ แผ่วๆ ก็ยังให้พลังแรงกระทบแผ่เป็นระลอกๆออกมาอย่างสมจริง แหวกจากเสียงเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆได้ชัดเจน เสียงเคาะกระป๋องทางด้านขวาของเวทีเสียงก็เช่นกัน ให้น้ำหนักไม้กระทบกับตัวกระป๋องเปล่งหางเสียงกังวาน สารพัดเครื่องเคาะจังหวะในเพลงนี้ล้วนให้ “หัวเสียง” (น้ำหนักกระทบ) ได้แจ่มชัดมาก มิใช่เป็นแค่เสียงที่ลอยออกมา แม้แต่เสียงไวโอลินก็ยังให้ความเสียดสีของขนหางม้าจากคันชักกับสายลวดของไวโอลิน…น่าทึ่งมาก

 

กับเพลงสุดโปรดของผม “Dance with me” จากชุด Finger Painting ของ Earl Klugh (Toshiba-EMI CP28-1014) ถูกถ่ายทอดออกมาให้รับฟังได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน …เวทีเสียงที่แผ่กว้าง โอ่อ่า โปร่งโล่ง และลึก หมู่ไวโอลินถูกผลักตำแหน่งเสียงออกไปไกลหลังตำแหน่งเวทีเสียงของชิ้นดนตรีอื่นๆ (ทะลุเลยผนังหลังลำโพง) เสียงเครื่องเคาะจังหวะยังคงน้ำหนักเสียงที่คงที่ มีความกังวานและอิ่มฉ่ำ ไม่ถูกกลบ หรือ ลดระดับความดังลง แม้จะมีเสียงดนตรีอื่นประดังขึ้นมา เสียงเคาะเหล็กสามเหลี่ยมในเพลงนี้แจ่มชัดมาก มีน้ำหนักของการตีที่แม้จะไม่รุนแรงอะไร แต่ก็แทบจะนับครั้งในจังหวะของการตีได้เลยทีเดียว โอย…ฟังแล้ว…หัวใจสั่นระรัวเลยละครับ น่าตื่นเต้นมาก !!

DSC_8577

สรุปส่งท้าย

“TWO15” เป็นระบบลำโพงระดับเยี่ยมยอด ที่โดดเด่นอย่างมากๆจากเทคโนโลยี “Wave Guide” titanium dome tweeter อันเปี่ยมคุณภาพ พร้อมด้วยมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ขนาด 2×15 ซม.และ passive radiator ที่ตัวกรวยทำด้วยวัสดุอะลูมิเนียมมวลเบา ยังผลให้ “TWO15” นั้น -ครบเครื่อง- อย่างที่ต้องการ ขนาดไม่ใหญ่โตโอฬารจนคับห้อง ปรับตั้ง-โยกย้ายลำบาก รวมกับความสามารถส่งมอบสภาพเวทีเสียงที่ใกล้เคียงความเป็น 3 มิติ ไม่เกี่ยงต่อสภาพห้องที่ใช้ฟัง ขณะรับฟังในระดับเสียงเบาๆ ก็ยังแจ่มชัดในรายละเอียด และแม้กระทั่งในยามที่ต้องคำรามคำรนก็ไม่ครั่นคร้าม ให้ความแผดสนั่นได้ไม่อัดอั้น ที่สำคัญ-ระดับราคานั้น จัดว่า สมเหตุสมผล ไม่สูงจนสุดโต่ง ไกลเกินกว่าจะคว้าหามาครอบครอง

 

สำหรับตำแหน่งตั้งวางที่เหมาเจาะกับ “TWO15” ในห้องฟังของผมนั้นเป็นดังนี้ครับ ระยะห่างจากผนังหลังประมาณ 165 ซม. ส่วนระยะห่างจากผนังข้างๆอยู่ที่ 90 ซม. และลำโพงทั้งสองข้างอยู่ห่างจากกันเท่ากับ 210 ซม. ในขณะที่ตำแหน่งตั้งวาง “TWO15” นั้นจะอยู่ห่างจากตำแหน่งนั่งฟังราวๆ 220 ซม. โดยตั้งวางเจ้า “TWO15” ไว้บนขาตั้งสูง 24 นิ้ว และวางโท-อินเล็กน้อยเป็นมุมประมาณ 5 องศาครับ

 

อีกเรื่องที่ขอบอกกล่าวทิ้งท้ายกัน ใครที่ซื้อ ‘TWO15’ นั้น เท่ากับว่ายังได้ ‘ของแถม’ เป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บไว้ทำเป็น ‘ลังเก็บของ’ ชั้นดีได้ด้วย เพราะบรรจุภัณฑ์ของ ‘TWO15’ มิใช่เป็นกล่องกระดาษเช่นทั่วไป แต่ใช้แผ่นไม้มาทำพร้อมมีเหล็กดามอยู่ตามขอบโดยรอบ นัยว่าเพื่อความแข็งแกร่งทนทานในยามเคลื่อนย้ายไปใช้งานทรหดอดทนอย่างโปรเฟสชั่นแนล …ตรงนี้-นึกนิยม-ครับ เพราะให้ประโยชน์ไม่สูญเปล่า…

Two_15_st_b_01DSC_8573

ขอขอบคุณ ไฮเอ็นด์ ออดิโอ โทร.0-2622-4809 ที่เอื้อเฟือ amphion TWO15 มาให้ได้ทดสอบกันในครั้งนี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่