แผ่นเสียงเพลงไทย… แผ่นเสียงเพลง บ้านเรา

0

พงษ์ชัย ไทยวรรณศรี

ฉบับที่แล้ว ผมได้นำเรื่องของแผ่นเสียงเพลง “บ้านของเรา” ฉบับนี้จะขอหยิบเอาเพลง “บ้านเรา” มาเล่าถึงเพื่อให้ต่อเนื่องกัน

เพลงบ้านของเรา ที่แต่งโดย ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ หรือ เนรัญชรา กล่าวถึงความรัก ความอบอุ่นในบ้านซึ่งหมายถึงครอบครัว

แต่เพลงบ้านเรานั้นมีความหมายที่กว้างกว่า เพราะบ้านเราในเพลง คือประเทศไทย หรือเมืองไทย

เพลงบ้านเรา ประพันธ์ทำนองโดย ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ คำร้องโดย ครูชาลี อินทรวิจิตร ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง

ทั้งสามท่านต่อมาได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “ศิลปิน แห่งชาติ” ทุกคน

เพลงบ้านเรานี้ ถือได้ว่าเป็นเพลงไทยสากลอมตะ เพลงหนึ่ง เพราะตั้งแต่บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อหกสิบปีก่อน มาจนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ก็ยังมีการนำมาขับร้อง บันทึกเสียงใหม่ ทั้งนักร้องที่เป็นต้นฉบับเดิมไปจนถึงนักร้องอื่นๆ รวมกันน่าจะเกินกว่า ๑๐ ครั้ง  

เนื้อหาของเพลงเป็นเรื่องของคนไทยที่จากบ้าน คือ เมืองไทยไปอยู่ต่างแดน เมื่อได้กลับคืนแผ่นดินเกิด จึงได้พรรณนาถึง ความรู้สึกซึ่งเป็นความปลื้มปิติ ความรัก ความผูกพันกับแผ่นดิน หรือบ้านของเขาออกมา

ความจริงเพลงไทยสากลที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ไพเราะๆ และเป็นเพลงดังก็มีอยู่หลายเพลงครับ

ชรินทร์ นันทนาคร ขับขานเพลง “ไกลบ้าน” เมื่อ คราวตระเวนไปเปิดคอนเสิร์ตที่สหรัฐอเมริกา ทำให้พี่น้อง ชาวไทย และชาวลาวที่อพยพไปทำมาหากินที่นั่นหลายคน ต้องแอบซ่อนน้ำตาด้วยความคิดถึงบ้าน

วิปโยคโศกใจเหมือนเมื่อไกลบ้าน   ไกลสถาน พักพิงยิ่งใจเหงา

                      ห่างไกลหัวใจจำเศร้า                                เจ้าอยู่ดีเป็นไฉน

                                          พลัดที่พึ่งที่พิงทิ้งที่พำนัก                ไกลที่รักร้างราจะอาศัย

                            เจ้ามีเพื่อนชมคนใหม่                         แล้วทิ้งพี่ให้ชอกช้ำฤดี     

                                        อันรักกันอยู่ไกลถึงสุดขอบฟ้า  เหมือนชายคาเข้ามาเบียด ดูเสียดสี

                       อันชังกันนั้นใกล้แม้องคุลี                  ก็เหมือนมีแนวป่ามาปิดบัง             

                                        เพราะไกลบ้านซ่านมา          โถนิจจาเจ้าจะเงียบเหงาแล้วลืมสิ้นความหลัง

                       ฝากเพียงเสียงกระซิบสั่ง                            ขอน้องอย่าชังคนร้ามแรมไกล

เมื่อครูเอื้อ สุนทรสนาน เดินทางไปท่องเที่ยวยังยุโรป แม้จะได้พบเห็นธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่สวยงามของต่างชาติ แต่ความรู้สึกของท่านก็ยังอด คิดถึงเมืองไทยไม่ได้ จึงถ่ายทอดอารมณ์ออกมาเป็นทำนองเพลง และมอบให้ เล็ก โตปาน ใส่คำร้อง เกิดเป็นเพลง “ในโลกกว้าง” โดย ท่านขับร้องบันทึกแผ่นเสียงเอง

                              ยามเมื่อจากไปผ่านพ้นถิ่นไทย     ฟากฟ้านั่นไง เพื่อนคู่ใจยามนี้

                     พื้นฟ้ากว้างอ้างว้างเหลือที่                 มองพื้นปฐพีเร้าฤดีสุขสันต์

                             ไปอยู่ต่างแดนสู่แคว้นตระการ     ยั่วเย้าเปรียบปาน ถิ่นวิมานเมืองสวรรค์

                     ผาสูงลิ่ว รอยริ้วลดหลั่น                              เพลินน้ำตกชัน สารพันตื่นตา

                             ฟ้าเช้าๆ ยิ่งเร้าให้เราสำราญ       หิมะนั้นงามวิไลพลิ้วพรายพร่างมา

                   สวยเหลือล้นเมฆบนเรืองรอง แสงทองทา    ถูกหิมะพาเกาะกิ่งไม้ดุจแสงมณี

                           จะสุขอย่างไร สดใสเท่าใด           ไม่รั้งจิตใจเท่าถิ่นไทยเรานี้

                   จะหาใดที่ สุขแท้ไม่มี                         เหมือนเมืองไทยเอย

และเพลง “สูญถิ่นสิ้นไทย” ที่ครูเอื้อให้  สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ ใส่คำร้องแทนความรู้สึกของท่าน เพลงนี้แหละครับที่ ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ นักวิชาด้านวรรณคดี และเพลงชื่อดังของ ไทยวิจารณ์ไว้ว่า “เป็นเพลงที่จับใจเราได้เหนือกว่าเพลงปลุกใจ ทั้งหลายทั้งปวงที่แต่งขึ้นในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพามากนัก เพราะเป็นงานที่กระตุ้นทั้งจินตนาการ และกระตุ้นความคิดของเรา มิได้มุ่งที่จะปลุกเร้าความรู้สึกในรูปแบบของการโฆษณาชวนเชื่อ เลยแม้แต่น้อย…” ลองฟังเนื้อเพลงดูสิครับ

                                       โอ้เมืองยิ้มพร่างพริ้มพิมพ์ใจ            วัดวังนาไร่ทวยถิ่นไทย สุขล้ำ

                     ไพร่ฟ้าหน้าใสใฝ่ธรรม                       คีตนาฏหวานฉ่ำดื่มใจ…

                                       … โอ้เมืองแมนแม่นแล้วเมืองเรา แม้พาลราญเผ่าพลีชีพเราสนอง

                     รักษาแผ่นดินถิ่นทอง                        เพื่อชาติเรามิต้องสูญถิ่นสิ้นไทย”


ก่อนที่จะคุยกันเรื่องเพลงบ้านเรา ผมขออนุญาตเล่าถึงประวัติของผู้แต่งสักหน่อยหนึ่งนะครับ…

ว่ากันแล้ว นักแต่งเพลงของเมืองไทยสมัยก่อนค่อนข้างอาภัพ  แต่งเพลงให้ดังขนาดไหน ชื่อเสียงไปอยู่ที่นักร้องหมด เพราะบ้านเรานักจัดรายการวิทยุ หรือโทรทัศน์มักให้ความสำคัญแก่นักร้องเพียงคนเดียว คนแต่งคนเรียบเรียงเสียงประสาน คนบรรเลงดนตรีเลยไม่มีการพูดถึง เพลงก็กลายเป็นของนักร้องคนนั้น นักร้องคนนี้ไป

อย่างผู้แต่งเพลง บ้านเรา ที่คนร้องกันได้มาหลายสิบปี จะมีใครสักกี่คนที่รู้ว่าครูชาลี อินทรวิจิตร เป็นคนแต่งคำร้อง และครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ แต่งทำนอง

ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๙ ที่ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ นาย

สุธรรม และนางนิล เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จนจบชั้นมัธยมศึกษาต่อมาได้เข้าศึกษาที่เตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง (ตมธก.) รุ่น ๕ ขณะเป็นนักศึกษาในคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชีชั้นปีที่ ๒ ได้ลาออกในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

ครูประสิทธิ์ เริ่มศึกษาวิชาการทางด้านดนตรีกับน้าชาย คือ อาจารย์ชัยวัฒน์ เลาหบุตร เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี โดยเริ่มต้นด้วยการฝึกหัดดนตรีประเภทคลาสสิก ระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้ร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งวงดนตรีของมหาวิทยาลัยออกแสดงในงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

เมื่อออกจากมหาวิทยาลัยได้เริ่มยึดงานด้านดนตรีเป็นอาชีพ มีหน้าที่เล่นเปียโนประจำวงดนตรีในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันได้เข้าทำงานกับบริษัทแผ่นเสียงด้วยการเล่นเปียโน และเป็นผู้แยก และเรียบเรียงเสียงประสาน

พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านได้เข้ามาร่วมงานกับวงดนตรีประสานมิตร ซึ่งเป็นวงดนตรีวงใหญ่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น ต่อมาได้เข้ารับราชการอยู่ที่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ที่มีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง อยู่ได้ ๓ ปี จึงย้ายมาอยู่กับวงดนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ หลังจากนั้นได้ลาออกมาเป็นอาจารย์ดนตรีประจำ โรงเรียนดนตรีสยามกลการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๑

ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ ได้ศึกษาวิชาการเรียบเรียงเสียงประสาน และพยายามสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ ด้วยความเพียรพยายามจนกลายเป็นนักเรียบเรียงเสียงประสานชั้นแนวหน้าของประเทศ นอกจากนั้นยังมีความสามารถทางด้านการแต่งทำนองเพลง โดยมีผลงานเด่นๆ มากมาย เช่น

รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานด้านแยก และเรียบเรียงเสียงประสานในเพลง “ลมหวน” และ เพลง “ดาวประดับเมือง”

รางวัลตุ๊กตาทอง เพลงประกอบยอด เยี่ยมจากภาพยนตร์ เรื่อง “ข้าวนอกนา” รางวัลตุ๊กตาเงิน

เพลงประกอบดีเด่นจากภาพยนตร์เรื่อง “ชู้”

รางวัลเสาอากาศทองคำในงานประกวดเพลงยอดนิยมของสถานีวิทยุ สสส. จากเพลง “ข้าวนอกนา”

โล่เกียรติยศ ในฐานะนักดนตรีตัวอย่างจากสมาคมดนตรี แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ

สำหรับผลงานการแต่งทำนองเพลง เพลงที่มีชื่อเสียง ได้แก่เพลง ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า บ้านเรา คนเดียวในดวงใจ เดือน เอ๋ย หนี้รัก ข้าวนอกนา รักเธอเสมอ ฯลฯ

คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประกาศเกียรติคุณ ของครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ไว้ว่า

“..เป็นนักดนตรี นักแยก และเรียบเรียงเสียงประสาน มาไม่น้อยกว่า ๔๕ ปี จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๒) มีผลงานด้านแยกแยะ และเรียบเรียงเสียงประสานจนได้รับพระราชทาน แผ่นเสียงทองคำ… และได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะ นักดนตรีตัวอย่างอีกด้วย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นครูฝึก และอบรมเยาวชน ตลอดจนอบรมครูในสถาบันการศึกษาต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน มีแนวทางที่เป็นแบบฉบับของตนเอง และทำงาน อย่างจริงจัง ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ปัจจุบันยังสร้างสรรค์ผลงาน ด้านดนตรีเพื่อรับใช้สังคมตามความสามารถ และประสบการณ์ เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมเสมอมา นายประสิทธิ์ พยอมยงค์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะ การแสดง (เพลงไทยสากล เรียบเรียงประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๒”

ครับ ทั้งหมดนี้คือประวัติ และผลงานของครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ เจ้าของทำนองเพลง บ้านเรา

สำหรับคำร้อง ผู้แต่งคือ ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ ปี พุทธศักราช ๒๕๕๖  ซึ่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มีคำประกาศเกียรติคุณ ว่า

“นายชาลี อินทรวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ ๖  กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ที่ จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันอายุ ๗๐ ปี เป็นบุคคลที่สนใจเรื่องเพลงมาแต่เด็ก ทุกครั้งที่มีการจัดงานของวัดต่างๆ จะต้องไปประกวด

ร้องเพลงทุกหน และมักจะได้รับรางวัลที่  อยู่ตลอดมา จากนั้นได้เข้าสู่วงการแสดงละคร วงการนักร้อง วงการภาพยนตร์ ซึ่งจากประสบการณ์ทำให้มีความสามารถสูงเด่นทั้งเรื่องการร้องเพลง การประพันธ์เพลง การกำกับการแสดงภาพยนตร์โดยเฉพาะด้านการประพันธ์เพลง มีผลงานสร้างสรรค์เกือบ ๑,๐๐๐ เพลง ผลงานเพลงที่สร้างชื่อเสียงเป็นอมตะมาจนปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก เช่น เพลงสดุดีมหาราชา แสนแสบ ท่าฉลอม

สาวนครชัยศรี ทุ่งรวงทอง มนต์รักดอกคำใต้ แม่กลอง ฯลฯ นอกจากจะเป็นผู้ประพันธ์เพลงที่มีความสามารถสูงแล้วยังมีผลงานกำกับการแสดงภาพยนตร์ที่มีคุณภาพจำนวนมาก ซึ่งผลการสร้างสรรค์งานที่ทำต่อเนื่องอย่างยาวนาน ทำให้ได้รับรางวัลเกียรติยศจำนวนมากทั้งรางวัลตุ๊กตาทองสุพรรณหงส์ทองคำ รางวัลกิตติคุณสังข์เงิน รางวัลเมขลา รางวัลแผ่นเสียงทองคำเป็นบุคคลที่สร้างสรรค์งานด้วยศรัทธาในวิชาชีพโดยมิได้คำนึงถึงเรื่องธุรกิจให้ความช่วยเหลือบุคคล และสังคมตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

นายชาลี อินทรวิจิตร จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์)


ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพลงไทยสากลได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เกิดบริษัทแผ่นเสียงขึ้นมามากมาย ดาวดวงหนึ่งแห่งวงการเพลงไทยสากลได้อุบัติขึ้นด้วยน้ำเสียงทุ้มนุ่มที่แผ่วพลิ้ว ฟังแล้ววาบหวามเหมาะสมกับเพลงทำนองรำพึงรำพันเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ดาวดวงนั้นคือ “สุเทพ วงศ์กำแหง” มีชื่อเสียงโด่งดัง ไปทั้งประเทศด้วยเพลง “รักคุณเข้าแล้ว” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ไม่ว่าสถานีวิทยุแห่งไหนก็ต้องเปิดเพลงนี้ จากนั้นนักร้องหนุ่มเจ้าเสน่ห์ รายนี้ก็สามารถยืนขึ้นบนทำเนียบ นักร้องชั้นแนวหน้าของ ประเทศไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ  

หลังจากที่เกือบจะต้องมรสุมทางการเมือง จากการร่วมคณะไปเผยแพร่วัฒนธรรมที่จีนแผ่นดินใหญ่กับ คณะของ สุวัฒน์ วรดิลก ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สุเทพ วงศ์กำแหง ต้อง หลีกภัยไปต่างประเทศ ดังนั้นการเดินทางไปศึกษาต่อจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

สุเทพ วงศ์กำแหง เล่าไว้ในหนังสือ สุเทพ วงศ์กำแหง คอนเสิร์ต รอบโลกแห่งความรัก  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗

๒๕๐๐ เรียนศิลปะที่โตเกียว”

… จากเหตุผลที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้น  ทำให้ผมต้องระเห็จไปเรียนต่อที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่น ณ วิทยาลัย “อุเอโน ไดงักกุ” หรือ “โตเกียวยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ อาร์ต” เสีย ๓ ปี

โดยหลักฐานที่ผมมีติดตัวไป เป็นหลักฐานที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นแบบ “ถึงผู้เกี่ยวข้อง” และลงนามโดยรัฐมนตรีศึกษาธิการ (ซึ่งตอนนั้นเป็นใครไม่ทราบ) ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ผมเป็นนักเรียนพิเศษเท่านั้น และผมก็ไม่สามารถที่จะนำหลักฐานใดๆ จากมหาวิทยาลัยอุเอโน ไดงักกุ มาทำประโยชน์ในเมืองไทยได้เช่นกัน

มีแต่ประสบการณ์ ๓ ปี ที่อยู่อย่างทุกข์ทรมานเพราะขาดเงิน “เงิน” เป็นส่วนใหญ่ ชีวิตที่อยู่ได้ก็ด้วยการเรียนภาษาญี่ปุ่นเสีย ๑ ปี กับการเป็นหนี้สินทั้งสถานทูต และเพื่อนฝูงที่หลายคนก็เห็นใจให้หยิบยืมพออยู่ได้ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ รับจ้างออกแบบ ให้ท่านทูตการค้าไทยท่านหนึ่ง ซึ่งจะต้องสร้างร้านใหญ่ (บูธ) ในเกียวโต และร้านไทยร้านนี้จะโชว์สินค้าไทยหลายอย่างที่เป็นสินค้าออกไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางน้ำตาล และ

พันธุ์พืชต่างๆ ของไทยทั้งสิ้น ทำให้มีเงินก้อนหนึ่งพอเลี้ยงชีพตนเอง และเพื่อนบางคนอย่าง วิช วัชรา (นสพ. ไทยรัฐ ปัจจุบัน) หรือคุณกลาง สัมมาพันธ์ ได้ขณะหนึ่ง

ช่วงเวลาที่เหลือก็ได้เดินทางไปทัศนาจรกับ สมาคมอาเซียโตโมโนะไก ไปเหนือสุด และใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ได้ความรู้บางอย่างที่ไม่เคยรู้ และได้เรียนบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยเรียนในเมืองไทยรวมทั้งไปถึงการตั้งหน้าตั้งตาศึกษาวิธีการขับร้องของนักร้องญี่ปุ่นที่ดีๆ ชั้นเยี่ยมของญี่ปุ่น เช่น นักร้องชาย แฟรงค์ นางาย หรือเป๊กกี้ ฮายาม่า เป็นนักร้องสาวเสียงดี และสวย ทั้งสองท่านมีผลงานแผ่นเสียงขายดีที่สุด และมีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่นในขณะนั้น

โดยเหตุผลเช่นนี้เอง ทำให้ผมคิดจะทำแผ่นเสียงแล้วส่งมาขายเมืองไทย จึงติดต่อผู้ที่ผมเคารพเพราะให้เพลงดีๆ ผมร้องมากมายล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้ผมทั้งนั้น คือ ครูสมาน กาญจนะผลิน ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ครูไสล ไกรเลิศ และขอเพลงของท่าน ท่านละ ๒ เพลง มาทำเป็นแผ่นเสียงร้องทั้งเนื้อไทย และเนื้อญี่ปุ่น ผ่านมาทางบริษัท กมลสุโกศล เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทย

แต่เป็นที่น่าเสียดาย บริษัท กมลสุโกศล บอกปัดงานชิ้นนี้ออกไปอย่างไม่มีเยื่อไย โดยอ้างว่าบริษัทกำลังตั้งโรงงานผลิตแผ่นเสียงในเมืองไทยอยู่แล้ว จึงไม่มีโครงการจะรับเพลงจากใครมาจำหน่ายทั้งสิ้น

หากมีการรับจำหน่ายแผ่นเสียงจากญี่ปุ่นที่ผมทำเป็นจริงดังที่ผมคาดหวังไว้ ป่านนี้ผลงานที่ผมทำร่วมกับบริษัท “โตชิบา” ก็น่าจะเป็นผลงานที่ก้าวหน้า และอาจมีผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้ก็เป็นได้

จึงน่าเสียดายที่กาลเวลามันผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งมันควรจะมีแนวทางที่งดงาม และความสัมพันธ์ระหว่างผมกับบริษัทแผ่นเสียงญี่ปุ่นคงจะสดใส เจริญงอกงามมาเนิ่นนานแล้วก็ได้

ก็นับว่าไปญี่ปุ่นทั้งที่ ผมก็ได้ประสบการณ์ ชีวิต มามากมายทีเดียว

พร้อมกับการเป็นหนี้บุญคุณ “การบินไทย” ที่ให้ตั๋วเครื่องบินขากลับมาด้วย

จนได้กลับมาสร้างชื่อเสียงจากการร้องเพลงขึ้นมาใหม่อีกครั้ง…”


การเดินทางไปญี่ปุ่น ในขณะที่เริ่มมีชื่อเสียง และหายไปจากวงการเพลงถึง ๓ ปี นั้นเหมือนจะเป็นการ “ตัดโอกาส” ของตนเองที่จะอยู่ในวงการเพลง โชคดีที่สุเทพ วงศ์กำแหง มีมิตรแท้อีกคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า

“ชาลี อินทรวิจิตร”

สุเทพ วงศ์กำแหง เล่าถึง ชาลี อินทรวิจิตร ก่อนจะขับร้องเพลง รักอย่ารู้คลาย และ บ้านเรา บนเวที คอนเสิร์ต “เชิดชูครูเพลง – ครั้งที่ ๒ ชาลี อินทรวิจิตร” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ว่า

“… ความจริงเพลงรักอย่ารู้คลาย ผมร้องไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมกำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น คนที่เป็นห่วงเป็นใยผมเหลือเกินคือ คุณชาลี อินทรวิจิตร เขาเป็นห่วงสารพัดเลยว่า กลัวเขาจะลืมมึง … เขาบอกว่า เขาจะลืมเอ็ง … ลืมแล้วเป็นไง … เขาจะลืมมึง เอ็งร้องเพลงนี้ไว้ ระหว่างเอ็งไม่อยู่ ข้าจะเปิดเพลงนี้ทุกวัน ทุกวัน เขาจะได้ไม่ลืมเอ็ง ผมก็ฟังเขา นี่คือความรัก ความหวังดี คุณชาลี อินทรวิจิตร ที่มีต่อเพื่อนฝูง มีแก่คนที่เขารัก ผมเองผมรู้ว่า  ผมเป็นหนี้บุญคุณเขาอยู่มากมาย  เพราะเพลงแต่ละเพลงที่เขาแต่งให้ผมร้อง เขาแต่งมาพร้อมกับหัวใจเขา แต่งด้วยความสามารถอันเป็นอัจฉริยะพิเศษของเขา ที่เขาจะพึงมีในตัวของเขา

หลังจากที่ผมเตร็ดเตร่อยู่ที่ญี่ปุ่นเสียหลายปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๓  ผมกลับมา สิ่งที่เขาอนาทรร้อนใจอย่างที่สุดที่เขาจะมีให้แก่เพื่อนที่น่าสงสารอย่างผมคนนี้ เขาแต่งเพลง คือเพลงที่ผมจะร้องต่อไปนี้ เป็นเพลงที่บรรยายเนื้อหาของเพลงทั้งหมดเหมือนบรรยายจากหัวใจผมอย่างไงอย่างงั้นเสียทั้งหมด

ท่านเชื่อไหมว่า คนที่ไปอยู่เมืองนอกนานๆ สิ่งหนึ่งที่อยากจะทำ อยากจะคิด อยากจะปฏิบัติ ก็คือ กลับมาถึงบ้านของให้ลงกราบแผ่นดิน ได้กราบในหลวง ได้กราบพระราชินี โดยกราบกับพื้นธรณีว่า ฉันได้กลับมาถึงบ้านแล้ว ฉันมีความสุขแล้วอย่างนี้

คุณชาลี เขาเป็นคนที่รู้ใจผมเป็นอย่างมาก ดังนั้นเขาแต่งเพลงนี้ออกมา พร้อมกับครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ นั่นก็คือ เพลงลองฟังเนื้อร้องดูสิครับว่าเขาแต่เพลงอย่างไร”

เรื่องนี้ ครูชาลี อินทรวิจิตร เล่าไว้ในหนังสือ คอนเสิร์ตวันดวลเพลง ชาลี อินทรวิจิตร-สุรพล โทณะวณิก ซึ่งจัดแสดง เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ว่า

“… ๓ ปีผ่านไป สุเทพ กลับจากญี่ปุ่น เขามาหาผมก่อนใครเพื่อน ทั้งๆ ที่มีเพลงรออัดเสียงอยู่เป็นกระตัก สุเทพรับกระดาษเนื้อเพลง บ้านเรา ซึ่งผม และอาจารย์ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ร่วมกันแต่งเตรียมไว้แล้ว สุเทพนำไปอัดเสียงเป็นเพลงแรกที่ห้องอัดเสียงกมลสุโกศล…

เนื้อเพลงของครูชาลี ตรงกับใจของ สุเทพ วงศ์กำแหง ที่โหยหาแผ่นดินเกิดยามเมื่อต้องร้างลาไปอยู่ยังเมืองไกล ด้วยเหตุนี้ สุเทพ วงศ์กำแหง จึงถ่ายทอดอารมณ์ออกมาด้วยเสียงเพลง อย่างดีที่สุด

เนื้อหาของเพลงเป็นเรื่องของ คนไทยที่จากบ้าน คือ เมืองไทยไปอยู่ต่างแดน เมื่อได้กลับคืนแผ่นดินเกิด จึงได้พรรณนาถึงความรู้สึกซึ่งเป็นความปลื้มปิติ ความรัก ความผูกพันกับแผ่นดิน หรือบ้านของเขาออกมา

หนังสือ “รวมเพลงจากดวงใจ สุเทพ วงศ์กำแหง” พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศศิริมิตรรวมเพลง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้ลงพิมพ์โน้ต และเนื้อเพลงบ้านเรา ไว้ดังนี้

บ้านเรา

บ้าน เราแสนสุขใจ                  แม้จะอยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา

คำว่าไทยซึ้งใจเพราะใช่ทาสเขา              ด้วยพระบารมีล้นเกล้าฯ คุ้มเราร่มเย็นสุขสันต์

รุ่งทิพย์ฟ้าขลิบทอง                  ริ้วแดดส่องสดใส งามจับใจมิใช่ฝัน

ปวงสตรีสมเป็นศรีชาติเฉิดฉัน                ดอกไม้ชาติไทยยึดมั่น หอมทุกวันระบือไกล

บุญนำพากลับมาถึงถิ่น              ทรุดกายลงจูบดิน ไม่ถวิลอายใคร

หัวใจฉัน ใครรับฝากเอาไว้                    จากกันแสนไกล ยังเก็บไว้หรือเปล่า

เมฆจ๋า ฉันว้าเหว่ใจ                 ขอวานหน่อยได้ไหม ลอยล่องไปยังบ้านเขา

จงหยุดพัก แล้วครวญรับฝากกับสาว         ว่าฉันคืนมาบ้านเก่า ขอยึดเอาไว้เป็นเรือนตาย

บทแรกของเพลงกล่าวถึงความสุขที่บ้านเรา ไม่ว่าจะไปอยู่บ้านไหนเมือง ไหนก็ไม่มีความสุขเหมือนอยู่บนแผ่นดินไทย ทั้งนี้ก็ด้วยพระบารมี ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ปกแผ่ให้ความร่มเย็น และ สุขสันต์ ครอบคลุมไปทั้งแผ่นดิน

บทที่สองเป็นการพรรณนาความงามของเมืองไทย คือ ทุ่งทิพย์ ฟ้าขลิบทอง ด้วยริ้วแดดส่องที่สดใส อีกทั้งยังไม่ลืมคิดถึงหญิงไทย ที่เปรียบเหมือนดอกไม้ของชาติ ซึ่งหอมเลื่องลือไปไกล

บทที่สาม ฟังแล้วมองเห็นภาพคนไทยที่จากบ้านไปไกล กำลังทรุดตัวกราบแทบพื้นแม่พระธรณีไทยเมื่อได้กลับมาถึง บ้าน

และจุดสุดท้ายของเพลง ครูชาลีใช้อารมณ์กวีหมุนกลับ มาหาความรักด้วยการใช้ เมฆ ให้ล่องลอยไปบอกคนรัก

“…ว่าฉันคืนมาบ้านเก่า และ ขอยึดเอาไว้เป็นเรือนตาย คือคำมั่นสัญญา

เมฆในเพลงภาษาวรรณคดีเขาเรียกว่า บุคลาธิษฐาน หรือการสมมติให้มีตัวตนซึ่งเป็นเทคนิคการเขียนบทกวีที่นิยมกันมาก

บทกวีที่มีทำนอง ได้ทั้งความรักแผ่นดิน รักในหลวง และความรักระหว่างชายหญิงที่ผสมผสานกลมกลืนกันเช่นนี้ จึงเป็นที่จับใจของผู้ฟังมาเกินกว่าหกสิบปี

วิทย์ คันพิณเงิน เขียนไว้ในหนังสือ “คอนเสิร์ต ๔ ทศวรรษ กับ สุเทพ วงศ์กำแหง” กลุ่มข้อมูลไทย จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ตอนหนึ่งว่า

“…สุเทพลุยหิมะ คลี่กิโมโน และชมดอกซากุระอยู่ ๓ ปี ก็กลับบ้าน แล้วเพลงบ้านเรา ของครูชาลี อินทรวิจิตร ก็ดังกึกก้องขึ้น เพราะสัญญากันว่า ข้าแต่งแล้วเอ็งต้องร้องนะ เพลงนี้หลายคนขนลุกเกรียว รักบ้านเมือง รักความเป็นไทยขึ้นอีกเป็นกอง ยิ่งคนไทยที่อยู่ต่างถิ่นด้วยแล้วน้ำตาคลอเต็มเบ้าไม่รู้ตัว

ขุนทอง อสุนี นักวิจารณ์เพลงคนดัง พูดถึงเพลงนี้ว่า “…ประทับจ๊อดมากที่สุด คือบ้านเรา อยู่ที่ไหนไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา เราคนไทยไม่ใช่ทาสใคร นี่แสดงถึงลักษณะคนไทยแท้ๆ หยิ่งๆ ในศักดิ์ศรีประเภทฆ่าได้หยามไม่ได้นั่นแหละครับ เป็น Tradition ที่สืบสายเลือดกันมายาวนาน และที่เป็นแกนหัวใจของคนไทยทุก วันนี้ คือ พระบารมีล้นเกล้าคุ้มเราร่มเย็นสุขสันต์ แหมฟังเพลงนี้แล้วไม่ว่าอยู่ไกลแสนไกลขนาดไหน ก็ต้องทุรนทุรายกลับมาเมืองไทย มามองทุ่งหญ้าเขียวขจีทุกรายไป…”


เพลงบ้านเรา บันทึกแผ่นเสียงกับบริษัทกมลสุโกศล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ผมรู้จักเพลงบ้านเรา จากการฟังวิทยุ จนสมัยเทปคาสเซ็ท จึงได้เป็นเจ้าของม้วนเทป 

เพลงบ้านเราอยู่ในเทปคาสเซ็ท ของบริษัท กมลสุโกศล สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด อาลัยโตเกียว บ้านเรา ศรีมาลา ฝากหัวใจ หลับไม่ลง”  หมายเลข KSC ๑๗

สมัยที่พอมีกำลังตามหาแผ่นเสียง แผ่นเสียงที่มีเพลง “บ้านเรา” ที่ผมสะสมไว้เป็นแผ่นเสียงลองเพลย์ ชุด อาลัยโตเกียว หมายเลขแผ่น ๓๓ ESX ๕๕๔ หน้าปกเป็นภาพ สุเทพ วงศ์กำแหงสวมสูทเขียวประคองกอดกับสาวญี่ปุ่น ในชุดกิโมโน ฉากหลังเป็นบ้านญี่ปุ่น วาดโดย อภิชาต ตราแผ่นเสียงใช้สีเหลืองแก่ ซึ่งเป็นต้นฉบับเดิม (Original) แต่จะเป็นการผลิตครั้งแรก หรือไม่แน่ใจ 

แผ่นเสียงแผ่นนี้ ทุกเพลงเป็นเพลงไพเราะ และเป็นเพลง “ดัง” ที่สร้างชื่อเสียงให้สุเทพ วงศ์กำแหง จากผลงานเพลงของครูเพลง เช่น สมาน กาญจนะผลิน ชาลี อินทรวิจิตร ประสิทธิ์ พยอมยงค์ เนรัญชรา สุรพล โทณะวณิก หน้าแรกมีเพลง  อาลัยโตเกียว พี่กลับมาแล้ว เกิดมาอาภัพ ผมผลัดวิวาห์ หวานรัก อโหสิกรรม  หน้า ๒ เริ่มจากเพลง จะคอยขวัญใจ กลิ่นรักโลมใจ บ้านเรา บาดหัวใจ ศรีมาลา หลับไม่ลง    

เพลงบ้านเรา อยู่ในซีดีของโซลาเฮ้าส์ ชุด “จะคอยขวัญใจ” หมายเลขแผ่น KSC-๔ และภายหลัง บริษัท บางกอกคาสเซ็ท ในนาม แม่ไม้เพลงไทย นำมาผลิตซีดีในชุด บันทึกประวัติศาสตร์แม่ไม้เพลงไทย

 “บ้านเรา พี่กลับมาแล้ว อโหสิกรรม แก้วใจ เศรษฐีน้ำตา” สุเทพ วงศ์กำแหง หมายเลขแผ่น CD ๑๕๘  ผลิตเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปกเป็นภาพ สุเทพ วงศ์กำแหง สวมสูทคล้องพวงมาลัย


เมื่อเข้าสู่ยุคการบันทึกเสียงแบบใหม่  ห้างแผ่นเสียงที่เกิดใหม่ เช่น ห้างแผ่นเสียงเมโทร ห้างแผ่นเสียงกรุงไทย  ได้มีการนำเพลงที่ได้รับความนิยมที่สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงไว้ในระบบโมโน กับบริษัท กมลสุโกศล และห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ตรามงกุฎ  มาให้ สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้องบันทึกเสียงอีกครั้งหนึ่งในระบบเสียงแบบสเตอริโอ ช่วงนี้อยู่ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๒๐

ห้างแผ่นเสียงกรุงไทย ซึ่งคุณประเสริฐ หวังสันติพร (จุ่น) ได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้ผลิตแผ่นเสียงออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งแนวเพลงไทยสากล และเพลงลูกทุ่ง ปัจจุบันก็ยังดำเนินกิจการอยู่ในนาม บริษัทกรุงไทยออดิโอ ซึ่งนำเพลงที่ได้รับความนิยมจากแผ่นเสียงกรุงไทยมาผลิตเป็นซีดี และ USB มากมาย              

เพลงบ้านเรา อยู่ในแผ่นเสียงลองเพลย์ของห้างแผ่นเสียงกรุงไทย ชุด เพียงคำเดียว  สุเทพ วงศ์กำแหง ปกเป็นภาพสุเทพ วงศ์กำแหง ครึ่งตัวสวมสูท พื้นหลังใช้สีโทนแดง และไล่ลดระดับลงมา ด้านล่างมีตัวอักษรสีเหลืองว่า “เพียงคำเดียว” ถัดลงไปเป็นชื่อ สุเทพ วงศ์กำแหง สีแดง มุมซ้ายบนเป็นสัญลักษณ์รูป สุพรรณหงส์สีดำในวงกลมขวา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นเสียงกรุงไทย  ถัดลงมาเป็นคำว่า Stereo และหมายเลขแผ่น คือ KTLS – ๐๑๗

ปกพับด้านใน มีชื่อเพลง จังหวะ ผู้แต่งคำร้องทำนอง ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน

ส่วนปกหลังเป็นภาพ สุเทพ วงศ์กำแหง ถือไมค์ขับร้องเพลง และมีชื่อเพลงเอก คือ เพียงคำเดียว สวรรค์มืด แม่กลอง บ้านเรา ยามไร้ ลืมรัก

ผมบันทึกไว้ในปกแผ่นเสียงว่า ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖ ซื้อที่กรุงเทพฯ ราคา ๑๐๐ บาท

แผ่นเสียงแผ่นนี้ ไม่ได้บอกวัน เวลา ที่ผลิต แต่จากข้อมูลที่สุเทพ วงศ์กำแหง ได้รับรางวัลนักร้องยอดเยี่ยม ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำจากการประกวดเพลงของ ส.ส.ส. (สถานีวิทยุเสียงสามยอด) เมื่อปี พ.ศ.  ๒๕๑๘ จากเพลง เพียงคำเดียว ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า แผ่นเสียงแผ่นนี้น่าจะผลิตหลังปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ไม่นาน

แผ่นเสียงแผ่นนี้ได้รวบรวมเพลงไพเราะ และเป็นเพลงดังที่สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้องไว้ทั้งในรูปของแผ่นครั่ง และแผ่นเสียงโมโนของห้างแผ่นเสียงกมลสุโกศล ส่วนใหญ่ จากฝีมือแต่งคำร้องของ ชาลี อินทรวิจิตร สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ สุรัตน์ พุกกะเวส ไพบูลย์ บุตรขัน เกษม ชื่นประดิษฐ์ ที่แต่งทำนองส่วนใหญ่โดย ครูสมาน กาญจนะผลิน โดยครูสมานเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานใหม่เอง และบันทึกเสียงในระบบสเตอริโอ ซึ่งระบบการบันทึกเสียงดีมาก ประกอบกับเป็นช่วงที่สุเทพ วงศ์กำแหง ได้เพาะบ่มความสามารถในการขับร้องระดับสูงสุด จึงทำให้เพลงในอัลบั้มนี้ไพเราะเป็นทวีคูณ  

แผ่นเสียงหน้าแรก มีเพลง เพียงคำเดียว บ้านเรา แม่กลอง ครวญ อนิจจา และลืมรัก หน้าสอง มีเพลง หลงคอย นางอาย วาสิษฐีจำแลง สวรรค์มิด ยามไร้ และคุณจะงอนมากไปแล้ว

สุเทพ วงศ์กำแหง มีการพัฒนาการขับร้องสูงสุด ร้องเพลงบ้านเราได้ดีไม่แพ้การบันทึกเสียงครั้งแรก          

เพลงจากแผ่นเสียงชุดนี้ เป็นเพลงไพเราะที่ทรงคุณค่าทั้งเพลง ดนตรี การขับร้อง และการบันทึกเสียง ทำให้เป็นแผ่นเสียงขายดีของห้างกรุงไทยแผ่นเสียงอีกชุดหนึ่ง 

เพลงชุดนี้ ได้มีการนำมาจัดทำเป็นเทปคาสเซ็ทหลายครั้ง มาถึงยุคซีดี ห้างกรุงไทยแผ่นเสียง ซึ่งปัจจุบันคือ  บริษัทกรุงไทยออดิโอ ก็นำมาผลิตในรูปแบบซีดี  ชุด เพลงรักเพลงคิดถึง ชุดที่ ๒ เพียงคำเดียว”  หมายเลขแผ่น KTD – ๐๓๙ ปกซีดีนำภาพมาจากปกแผ่นเสียง  

สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้องเพลงบ้านเราบันทึกแผ่นเสียงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ บริษัท นิธิทัศน์โปรโมชั่น  โดย คุณวิเชียร อัศวศิวะกุล มีแนวคิดที่จะนำเพลงไทยสากล และเพลงลูกทุ่ง ยอดนิยมในอดีต มาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ ทำดนตรีให้ทันสมัย และมอบให้นักร้องเดิม ขับร้องบันทึกเสียงใหม่  ใช้ชื่อว่า “อภิมหาอมตะ

นิรันดร์กาล”

โครงการนี้ คุณวิทยา ศุภพรโอภาส นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ชื่อดังทุ่มตัวสนับสนุนเต็มที่

ด้วยเหตุนี้ จึงมีอัลบั้มเทป “อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล” ออกมาสู่ตลาดเพลงมากมาย จากเสียงร้องของ นักร้องยอดนิยมในอดีต อย่าง ชรินทร์ นันทนาคร สุเทพ วงศ์กำแหง ธานินทร์ อินทรเทพ นริศ อารีย์ ทูล ทองใจ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ชาย เมืองสิงห์ สวลี ผกาพันธุ์ รวงทอง ทองลั่นทม รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ฯลฯ        

เพลงเก่า นักร้องเก่า ในแบบฉบับใหม่ ออกมาปลุกวงการเพลงเก่าให้คึกคัก เป็นการสืบสานให้คนรุ่นใหม่รู้จักเพลงไพเราะมีคุณค่าในอดีตอีกทางหนึ่ง

สุเทพ วงศ์กำแหง มีผลงานกับนิธิทัศน์ ๔ ชุด

เพลงบ้านเรา อยู่ในแผ่นเสียง ชุด สุเทพ วงศ์กำแหง ใจประสานใจ ๒ บริษัทนิธิทัศน์โปรโมชั่น จัดทำขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ปกเป็นภาพ สุเทพ วงศ์กำแหง สวมชุดทักซิโดเหลือง ยืนตรงบันได เพลงบ้านเราอยู่ในหน้า ๒ เรียบเรียงเสียงแประสาน และผสมเสียง โดย ศรายุทธ สุปัญโญ บันทึกเสียง ซีเอสตูดิโอ และเอ็ม เอ็ม สตูดิโอ

แผ่นเสียงหน้า ๑ มีเพลง ภวังค์รัก แผ่นดินของเรา บ้านเรา ใจรัก ยามชัง รักเธอเสมอ หน้า ๒ มีเพลง ครวญ เหมือนไม่เคย เก็บรัก รักเอย สิ้นเยื่อขาดใย รักคุณเข้าแล้ว

สำหรับซีดี อยู่ในชุด สุเทพ วงศ์กำแหง ชุด อภิมหาอมตะนิรันดร์กาล ชุดที่ ๑ หมายเลขแผ่น NT ๐๐๐๕ Solar House จัดจำหน่าย แผ่นนี้ผลิตในเยอรมันนี ผมซื้อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙      

บ้านเรา แผ่นที่สี่ที่ผมมี เป็นการขับร้องขับร้องเพลงใหม่ ในรูปแบบของ การขับร้องประสานเสียง ที่เรียกว่า คอรัส (Chorus)

ในวงการเพลงไทย มีการทำแผ่นเสียงประเภท คอรัส อยู่หลายอัลบั้ม

โดยน่าจะเริ่มมาจาก สุเทพ วงศ์กำแหง ที่ริเริ่มการทำแผ่นเสียงเพลงแนวนี้ โดยนำคณะนักร้องในทีมงาน สุเทพโชว์  มาขับร้องประสานเสียง ทำแผ่นเสียงชุด สุเทพคอรัส” 

ระหว่างปี ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๘ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้ทำเพลงประสานเสียงออกมาโดยนำเพลงที่ได้รับความนิยมในอดีตมาให้นักร้องทีมดาวรุ่งสุนทราภรณ์ ซึ่งประกอบด้วย บรรจงจิตต์ พัฒนสันต์ พรศุลี

วิชชเวช จิตราภรณ์ บุญยขันธ์ ยรรยง เสลานนท์ สมคิด เกษมศรี โกมล โกกะกลินทร์ เจือนศักดิ์ น้อยสุวรรณ  ฯลฯ ขับร้องประสานเสียง ทำให้เพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์กลับมาอีกครั้งหนึ่ง  ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้ผลิตแผ่นเสียงออกมาอีกหลายชุด


ในช่วงต้นๆ ทศวรรษ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ มีคณะขับร้องเพลงประสานเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น สุพจน์ คอรัส คณะประสานเสียงสิทธิชนยุคสุดท้าย คณะประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะซอยสวนพลู ฯลฯ

The Sugar Chorus เป็นคณะนักร้องประสานเสียงคณะหนึ่งที่ได้รับความนิยม

หัวหน้าทีม คือ วิรัช จรัสวรลักษณ์ นักดนตรี และนักเรียบเรียงเสียงประสาน ที่รวบรวมนักร้องชายหญิง มาร่วมงาน

วิรัช จรัสวรลักษณ์ มีผลงานการเรียบเรียงเสียงประสาน และผลงานเพลงบรรเลง กับ บริษัทเมโทรแผ่นเสียงเทป ของ วรชัย ธรรมสังคีติ มาตลอด   

มีผลงานแผ่นเสียงออกมาหลายชุด ชุดที่เป็นที่รู้จักที่สุด ของ The Sugar Chorus ก็คือ ชุด ทัศนาจร  สร้างสรรค์โดย บริษัท เมโทรแผ่นเสียงเทป (๑๙๘๑) จำกัด

ปกแผ่นเสียงใช้พื้นสีขาว บอกชื่อ The Sugar Chorus ด้วยสีแดง และ “ชุดทัศนาจร” ด้วยตัวอักษรเขียว มุมขวา เป็นภาพวาดแนวศิลปะ ภาพหมวก กระเป๋า รองเท้า ในกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ และภาพกล้องถ่ายรูปแบบโบราณ ภาพเหล่านี้สื่อให้เห็นถึง การเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งสมัยหนึ่งเรานิยมเรียกว่า ทัศนาจร

ปกหลัง บอกชื่อเพลง ผู้แต่ง และผู้ผลิต คือ “Produced Arranged by Nine-Gems Group” สร้างสรรค์โดย บริษัท เมโทรแผ่นเสียงเทป (๑๙๘๑) จำกัด แผ่นเสียงชุดนี้ ผู้ผลิตได้คัดเลือกเพลงดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี มาให้คณะนักร้องประสานเสียง The Sugar Chorus ขับร้อง จำนวน ๑๐ เพลง

แผ่นเสียงหน้าแรก มีเพลง บ้านเรา ทัศนาจร ป่าลั่น หิ่งห้อย และกำลังใจ หน้าสอง มีเพลง ชาวดง ชื่นรัก ธารสวาท ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ และใจประสานใจ

บ้านเรา ฉบับนี้ก็มีความไพเราะไปอีกแบบหนึ่ง

แผ่นเสียงเพลงบ้านเรา คงมีอีกหลายแผ่น ผมสังเกตได้จากการมีนักร้องหลายท่าน หลานรุ่น นำเอาเพลงนี้มาขับร้องบันทึกเสียงใหม่    

สำหรับเพลงบ้านเราที่เป็นเสียงของนักร้องท่านอื่นที่ผมมีคือ เสียงของ ยรรยงค์ เสลานนท์ ผลงานการรวบรวมของ ชาตรี ศิลปะสนอง ชุด ฝันฝากจากชาตรี ชุด ๓ ยรรยง เสลานนท์

แม้แต่ชรินทร์ นันทนาคร นักร้องเพลงไทยสากลซึ่งมีชื่อเสียงคู่มากับ สุเทพ วงศ์กำแหง ก็ยังนำเอาเพลง บ้านเรา มาขับร้อง  อยู่ในซีดีชุด ผู้ชนะสิบทิศ / น้ำตาแสงไต้ บริษัท เมโทรจัดทำเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕  หมายเลขแผ่น MTCD – ๒๐๖๑ 

นี่คือ เพลงบ้านเรา  เพลงที่คนไทย โดยเฉพาะ เยาวชน ควรได้รู้จัก

จะได้ ทราบ และได้ ซึ้ง กับบทเพลงอันล้ำค่าเพื่อความรัก และความภาคภาคภูมิใจใน

ประเทศไทย ที่เป็น “บ้านเรา”


๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔