อย่า! หาทำ 10 อะคูสติกห้องฟัง เหตุเพราะเสียงจะไม่ดี

0

ช.ชิดชล

     นักเล่นเครื่องเสียง นักฟังเพลง ทุกท่านครับ บทความไตรภาคเกี่ยวกับเรื่อง ห้องฟังเพลง ก็มาถึงบทสุดท้าย เป็นเพียงบทความแนะนำในเบื้องต้น ให้เห็นความสำคัญของห้องฟังและสภาพอะคูสติก ที่มีผลต่อการฟังเพลง มีผลต่อคุณภาพเสียง หากท่านเป็นนักเล่น นักฟังที่เน้นความสุนทรีย์ขึ้นไปอีกระดับ ก็ควรใส่ใจพิถีพิถันสักหน่อยครับ บทความก่อนได้กล่าวถึงความสำคัญของห้องฟังเพลง วัสดุในการปรับแต่งอะคูสติกอย่างง่าย และหาทำตำแหน่งต่างๆของห้องฟังที่มีผลต่อเสียงไปแล้ว บทความนี้ขอนำเสนอ 10 สิ่งที่ ไม่ควรทำ สำหรับการปรับอะคูสติกในห้องฟังเพลงครับ

1. ด้านหลังชุดเครื่องเสียง

โดยเฉพาะตำแหน่งตรงกลางระหว่างลำโพง ไม่ควรเป็นกระจก โทรทัศน์ หรือวัสดุแข็งเรียบ ที่สะท้อนเสียง เพราะเสียงที่ได้ยินจากชุดเครื่องเสียงนั้น จะไร้ซึ่งมิติเสียงด้านลึก เรียกว่าตื้นและลึกแยกแยะเป็นลำดับชั้น ไม่มีทางได้ยิน เสียงจะเดินหน้าและค่อนข้างติดไปทางกว้างๆ บางๆและไร้โฟกัสเสียงขึ้นรูปตรงกลาง ทางที่ดีควรให้มีวัสดุที่ ซับเสียงสักหน่อย หรือกึ่งซับกึ่งสะท้อนเสียง เพื่อให้เสียงมีระยะทางและการกระจายตัวอย่างเหมาะสม เพื่อก่อขึ้นรูปเป็นโฟกัสเสียงตรงกลาง วัสดุอย่างง่ายที่ซับและสะท้อนเสียงก็เช่น ไม้ สลับกับผ้าม่าน

2. มุมห้องที่เป็นพนังปูนเรียบทั้ง 2 ด้าน

ไม่ควรเอาแจกัน วัสดุกลมเงา หรือวัสดุที่ซับเสียงมากๆเช่น ผ้าหนา มาไว้ตรงมุมเพื่อปรับแก้สภาพอะคูสติก แจกัน วัสดุเรียบ จะส่งผลต่อเสียงทุ้มที่ขาดโฟกัสและการแยกรายละเอียด อาจจะฟังราวกับว่าเสียงทุ้มใหญ่อิ่มเต็มห้อง ปริมาณดังขึ้น แต่มันขาดคุณภาพในด้านรายละเอียด ไม่ควรเอาผ้าหนาๆ พรม หมอนข้าง ผ้านวม ไปไว้ตรงนี้เช่นกัน เพราะเสียงทุ้มจะขาดเรี่ยวแรง น้ำหนักเน้นย้ำแรงเบาหดหายไปมา ไดนามิคแรงปะทะลดลงไป ตำแหน่งนี้ควรมีการซับและสะท้อนเสียงจากวัสดุเช่น ผ้า ยาง หรือไม้ จัดองค์ประกอบให้เหมาะสม ตามขนาดห้องและขนาดลำโพง

3. มุมห้องด้านบนตรงเพดาน

เลี่ยงวัสดุเรียบๆทั้ง 3 ด้าน เพราะจะไปเพิ่มการก้องสะท้อนของเสียง บางห้องทั้ง 3 ด้านตรงนี้เป็นปูนฉาบเรียบ ห้องนั้นมักเสียงกลางสูงมักไม่เอื้อนเอ่ย ไม่ทอดหางเสียงแบบ เป็นระลอกแล้วจางหาย เป็นเสียงที่สั้นสักหน่อย ขาดการแยกคอนทราสต์ที่อ่อนแก เสียงแหลมมักจะสั้น หรือถ้ากังวานก็จะกว้างๆยาว แต่ไม่ค่อยมีรายละเอียดซอยย่อย เสียงแหลมไม่ค่อยแยกความแตกต่างติดไปทางก้องนิดๆ ทางที่ดีควรหาวัสดุผ้า หรือไม้ มาตกแต่งพนัง 2 ใน 3 เช่น ด้านหนึ่งเป็นปูนเรียน มุมอีกด้านเป็นผ้า มุมบนเป็นไม้ ก็จะช่วยให้สภาพอะคูสติกตำแหน่งนี้ ดีขึ้น

4. พนังห้องซ้ายและขวาที่เป็นปูนฉาบเรียบ หรือเป็นหน้าต่าง บานเลื่อนที่เป็นกระจก

แบบนี้ไม่ควรทำครับ เพราะเสียงจะก้อง สะท้อนเสียงมาก มิติด้านกว้างจะออกไปทางฟุ้งๆ ฟังเพื่อนลื่นไหล แต่เป็นที่เสียงที่จับเนื้อหาสาระอะไรไม่ได้เลย เหมือนร้องคาราโอเกะแล้วเร่งแอคโค่มากหน่อย ทางที่ดีควรหาวัสดุซับเสียงมาช่วย เช่นผ้าม่าน หรือแผงไม้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเต็มพื้นที่ หากเป็นกระจก อาจนำลูกยาง แผ่นผ้า หรือแผ่นไม้ มาประดับ เพื่อให้การก้องสะท้อนของกระจก ลดปริมาณลง ก็สามารถฟังเพลงได้คุณภาพที่ดีขึ้น และพนังทั้ง 2 ด้านนี้ ควรใช้วัสดุที่เหมือนกัน เพื่อคุณภาพเสียงตรงกลางจะดีขึ้นไปด้วย

5. พื้นเรียบมันเงา

ไม่ว่าจะเป็น หินอ่อน กระเบื้อง มักให้เสียงที่รวดเร็ว กระจับ ฉับไว ออกไปทางบาง ขาดเนื้อเสียง เสียงกลางและเสียงแหลมฟุ้งหาทรวดทรงโฟกัสเสียงไม่ได้ ควรหาพรมที่ไม่หนามีขนฟูเล็กน้อยมาช่วยลดพื้นที่เรียบมันเหงาเหล่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องปูเต็มพื้นห้อง เน้นบริเวณหน้าชุดเครื่องเสียง ลำโพง และตำแหน่งนั่งฟังรวมถึงเลยไปด้านหลังเล็กน้อย ก็จะช่วยลดความก้องสะท้อน ช่วยให้มีเนื้อเสียง เสียงมีโฟกัสชัดเจนขึ้นได้ สิ่งที่ไม่ควรทำคือใช้พรมที่หนาเกินไปปูเต็มห้อง เพราะเสียงจะขาดแรงปะทะ ไดนามิคลดทอนลงไปเช่นกัน

6. ด้านหลังห้องเป็นกระจกเงา หรือพื้นที่โล่งๆไม่มีพนังกั้น

ตำแหน่งด้านหลังที่เรานั่งฟังเพลง บางห้องเป็นเฟอร์นิเจอร์กระจกเงา บานเลื่อน หรือวัสดุเรียบลื่น ห้องแบบนี้เสียงมักไม่คมชัด น้ำหนักเสียงทุ้มไม่ชัดเจน อิมแพคแรงปะทะไม่เด็ดขาด เสียงกลางแหลมขาดการแยกแยะ ให้ลองหาผ้าม่าน หรือวัสดุเช่น ยาง ไม้ นำมาติดปะบนกระจก เพื่อลดการสะท้อนเสียง หรือลดการสั่นสะเทือน เพื่อให้คุณภาพเสียงดีขึ้น อีกรูปแบบคือ ตำแหน่งนั่งฟังที่ไม่ได้เป็นห้อง มีพื้นที่ด้านหลังโล่งๆ แบบนี้เสียงทุ้มจะลดปริมาณลง น้ำหนักเสียงลดปริมาณลง ขาดพลังเสียงอิ่มแน่น แบบนี้ต้องชดเชยด้วยการนั่งใกล้ลำโพง หรือหาเฟอร์นิเจอร์เช่น ตู้ที่มีความแข็งแรงมาวางด้านหลัง เพื่อให้มีการสะท้อน เพื่อให้เกิดแรงปะทะของคลื่นเสียง ก็สามารถช่วยได้

7. ประตูบานเลื่อน กระจกที่มุมห้องด้านหลัง

ด้านใดด้านหนึ่ง หรือวัสดุที่ไม่เหมือนกัน แบบนี้ส่งผลต่อมิติเวทีเสียง มักจะเอียง ด้านลึกไม่ชัดเจน (ในด้านที่มีประตู) น้ำหนักเสียงทุ้มไม่ชัดเจน คลุมเครือ ทางแก้ไขในเบื้องต้นคือ ให้หาวัสดุที่เหมือนกัน มาปรับแต่ง ให้ทั้ง 2 ด้านตรงมุมนี้ มีส่วนซับและสะท้อนเสียงให้เหมือนกัน จะได้ความคมชัดของน้ำหนักเสียง เวทีเสียงสมดุล ไม่เอียง หรือหย่อนน้ำหนักเสียงในด้านใด ส่งผลให้เสียงโดยรวม มีโฟกัสที่ชัดเจน มีทรวดทรงเป็นสามมิติมากขึ้นด้วย

8. เพดานแบบทีบาร์หรือไม่แข็งแรง

หลายห้องมักใช้เพดานแบบนี้ ปัญหาที่มักพบคือ ปลายเสียงแหลมหดหาย ไดนามิคเสียงเวลาเร่งจากเบาๆไปหาดังๆมักไม่นิ่ง เสียงเหมือนแอมป์กำลังไม่ดีนัก ปัญหาทางเสียงนี้ยิ่งเด่นชัดหากเป็นเพดานที่เตี้ย ความแข็งแรงน้อยมากๆ แต่ปัญหาจะไม่ชัดนัก หากห้องมีเพดานที่สูง หรือมีความแข็งแรงระดับหนึ่ง ทางแก้คือ ให้เสริมความแข็งแรงบริเวณเพดานห้องตรงตำแหน่งวางลำโพง มาถึงตำแหน่งนั่งฟัง อาจหาวัสดุที่มีน้ำหนักสักหน่อยมาวางกดทับเพดานแบบทีบาร์ หรือหาวัสดุลดแรงสั่นสะเทือนมาเสริมสามารถลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้

9. ผนังห้องทุกด้านที่ไม่แข็งแรง

ห้องฟังเพลงที่ออกแบบมาเฉพาะเจาะจงมักไม่ค่อยมีปัญหานี้ แต่มุมโปรดสำหรับฟังเพลงอาจพบปัญหานี้ ผนังห้องที่ใช้แผ่นเรียบ หรือใช้แผ่นไม้อัด มักส่งผลต่อความแข็งแรง มีการสั่นสะเทือนหรือกระพือได้ เสียงที่ได้จากชุดเครื่องเสียง น้ำหนักเสียงทุ้มมักไม่แน่นกระชับ ปริมาณเสียงทุ้มลดลง มิติเวทีเสียงไม่โฟกัสชัดเจน ลองหาวัสดุมาตกแต่งเสริมความแข็งแรงแน่นหนาให้ผนัง ตำแหน่งที่คลื่นเสียงตกกระทบ หรือตีโครงให้ถี่และแข็งแรงขึ้น ในการติดตั้งผนังดังกล่าว สามารถช่วยให้เสียงดีขึ้นได้ ยิ่งหากลองเอามือไปเคาะแล้วพบว่า ผนังสั่นก้องสะเทือนมาก จะส่งผลเสียต่อเสียงอย่างมาก

10. บริเวณที่นั่งฟัง

ไม่ควรนำโต๊ะขนาดเล็กมาวาง เพื่อใช้สำหรับวางรีโมท แผ่นเพลง โดยเฉพาะที่เป็นกระจก เพราะส่งผมต่อเสียงที่ฟุ้งขาดโฟกัส บางห้องเป็นโต๊ะพื้นกระจกขนาดใหญ่วางหน้าเก้าอี้นั่งฟังเพลง แบบนี้เสียงจะเพิ่มความก้อง กังวานแบบลากยาวแต่ไม่มีความอ่อนแก่ของเสียง ความชัดเจนของเสียงลดลง เลี่ยงได้ให้เลี่ยง เลี่ยงไม่ได้ให้หาขนาดที่เล็กที่สุด หรือเป็นวัสดุอื่นเช่น ไม้ หรือมีผ้าคลุมเพื่อลดเสียงสะท้อน ตำแหน่งนั่งฟังใต้คานก็ไม่ควรทำ เพราะเสียงจะขาดความเปิดโปร่ง ลดการกระจายเสียงลง เสียงเหมือนอั้นๆขาดไดนามิค หากจำเป็นต้องนั่ง ให้นั่งหน้าคานจะดีกว่า เพื่อลดปัญหาเสียงกระทบบริเวณคานของห้อง

สรุป

     สิ่งที่กล่าวมา มักเห็นได้ในหลายห้องฟัง เป็นสิ่งที่ไม่ควรหาทำอย่างยิ่ง หากท่านเป็นคนพิถีพิถันในการฟังเพลง หรืออยากให้ชุดเครื่องเสียง แสดงประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น หากทำได้ ปรับปรุงในเบื้องต้นได้ เสียงจะดีขึ้นในแบบที่ไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ในชุดเครื่องเสียงอย่างใด ฟังเพลงไพเราะ ได้อรรถรสขึ้นอีกมาก ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ มักมองข้ามกัน ไปมองปัญหาที่ชุดเครื่องเสียง ทำให้ปรับเปลี่ยนแบบหลงทิศทางได้ แนะนำว่า ทำและปรับสภาพอะคูสติกห้องฟังแบบง่ายๆนี้ ให้มีความลงตัวก่อน หลังจากนั้นจะปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในชุดเครื่องเสียงอย่างไร ก็ได้ผลเป็นเลิศสมความปรารถนา หรือจะยกระดับการจัดอะคูสติก ด้วยอุปกรณ์มืออาชีพราคาสูง ก็ได้คุณภาพยกระดับขึ้นไป ตามแต่การเลือกปรับใช้งาน

     ปรับเปลี่ยนทัศนะคติ มุมมอง วิธีการเล่น อันเป็นพื้นฐานให้ได้ก่อนที่จะไปเปลี่ยนอุปกรณ์ ไม่อย่างนั้น ท่านจะไม่ได้พบความสุขที่แท้จริงจากการเล่นเครื่องเสียงครับผม