ฟังให้เป็นก่อนเล่นเครื่องเสียง (2)

0

ฟังให้เป็นก่อนเล่นเครื่องเสียง (2)

อ. ธนากร (ชูเกียรติ) จันทรานี

 

 รูปเปิด

เนื้อหา

  1. ทำความรู้จักสเตอริโออิมเมจ
  2. ซาวด์สเตจและมิติของสนามเสียง
  3. วิธีได้ยินและรับรู้ทิศทางเสียง
  4. วิธีสร้างสเตอริโออิมเมจ
  5. วิธีสร้างตำแหน่งเสียงแนวกว้าง
  6. 6. วิธีสร้างตำแหน่งเสียงแนวลึก
  7. สิ่งบั่นทอนสเตอริโออิมเมจ
  8. สื่อเสียงกับข้อจำกัดสเตอริโออิมเมจ

 

  1. ทำความรู้จักสเตอริโออิมเมจ

            เมื่อฟังเพลงระบบเสียงสเตอริโอสิ่งแรกที่ผู้ฟังต้องสัมผัสได้จากคุณสมบัติของระบบเสียงสเตอริโอก็คือได้ยินเสียงเครื่องดนตรีและเสียงนักร้องดังออกมาจากตำแหน่งต่างๆ ครอบคลุมบริเวณที่ตั้งลำโพงเลยออกไปทางด้านข้างและด้านหลัง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเสียงทั้งหมดถูกสร้างออกมาจากลำโพงเพียงสองตู้ที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าข้างซ้ายและขวาของผู้ฟังเท่านั้น คุณสมบัติข้อนี้เป็นความมหัศจรรย์ของเทคนิคการบันทึกและเล่นกลับระบบเสียงสเตอริโอที่สามารถจำลองตำแหน่งเสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้องให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตรงตามตำแหน่งเสียงที่ซาวด์เอนจิเนียร์จัดวางไว้ภายในขอบเขตเวทีเสียงที่กำหนดในขั้นตอนการมิกซ์เสียงในสตูดิโอ ซึ่งเรียกคุณสมบัตินี้ว่า “สเตอริโออิมเมจ” (Stereo Imaging)

โดยทั่วไปมักจัดวางตำแหน่งเสียงร้องไว้ตรงกึ่งกลางระหว่างลำโพงซ้ายขวา บางครั้งอาจจัดวางลึกเข้าไปทางด้านหลังอีกประมาณสามฟุตหรือลึกกว่านั้นก็มีเพื่อจำลองตำแหน่งเสียงให้เหมือนที่ฟังจากการแสดงจริงที่นักร้องมักยืนโดดเด่นอยู่ตรงกลางด้านหน้าสุดของวงดนตรี ตำแหน่งเสียงเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ ปกติก็มักจัดวางไว้ตรงตามประเภทของวงดนตรี ตัวอย่างเช่น เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะหรือกลองชุดจะถูกจัดวางอยู่ในตำแหน่งลึกสุดด้านขวาหรือด้านซ้าย ดับเบิ้ลเบสของวงดนตรีประเภทแจ๊ส มักวางถัดไปทางด้านหลังของเสียงร้องเล็กน้อยส่วนใหญ่มักเยื้องไปทางด้านซ้าย แต่ก็มีไม่น้อยที่วางเยื้องไปทางด้านขวา เครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ จัดวางกระจายเรียงรายกันอยู่เป็นลำดับชั้นทางด้านลึกระหว่างด้านหลังตำแหน่งเสียงร้องกับตำแหน่งกลองชุดและเรียงรายทางด้านกว้างเลยตำแหน่งลำโพงซ้ายขวาออกไปเล็กน้อย เครื่องดนตรีบางชิ้นเช่นกีตาร์แซกโซโฟนหรือเปียโนบางครั้งอาจจัดวางอยู่ทางด้านข้างซ้าย ขวาหรือด้านหน้าตำแหน่งเสียงร้อง เป็นต้น

 

รูปที่ 1

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 รูปที่ 1 สเตอริโออิมเมจ

 

  1. ซาวด์สเตจและมิติของสนามเสียง

ซาวด์สเตจ (Sound Stage) หรือเวทีเสียง เป็นขอบเขตหรือมิติของสนามเสียงที่เกิดจากเสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้องแผ่กระจายครอบคลุมทางแนวกว้างเรียกว่าความกว้างของเวทีเสียง (Sound Stage Width) และแนวลึกเรียกความลึกของเวทีเสียง (Sound Stage Depth) ซิสเต็มเสียงที่ดีสามารถทำให้ผู้ฟังสัมผัสรับรู้ขอบเขตตำแหน่งเสียงที่สร้างส่งออกมาจากบริเวณต่างๆ ภายในซาวด์สเตจได้เป็นรูปทรงสามมิติทั้ง ความกว้างลึกและระดับความสูงต่ำ (Height) ของตำแหน่งเสียงตัวอย่างเช่นเสียงกลองคองก้ารับรู้ได้ว่าเสียงตีกลองแต่ละชิ้นดังมาจากตำแหน่งแตกต่างกัน เช่นเดียวกับตำแหน่งเสียงเปียโนขณะเล่นตัวโน้ตเสียงต่ำและตัวโน้ตเสียงสูง เสียงฉาบลอย (Ride Cymbal) กับเสียงคิ๊กดรัมแม้ได้ยินดังมาจากตำแหน่งกลองชุดแต่ก็รับรู้ได้ถึงระดับสูงต่ำและระยะห่างของตำแหน่งเสียงฉาบกับคิ๊กดรัมเป็นต้น (ดูรูปที่ 2 และรูปที่ 3 )

 

 รูปที่2

 

รูปที่ 2 ขอบเขตด้านกว้างและลึกของซาวด์สเตจ

 

 

 

 รูปที่3

รูปที่ 3 ระดับสูงต่ำของตำแหน่งเสียงที่ได้ยินในซาวด์สเตจ

  1. วิธีได้ยินและรับรู้ทิศทางเสียง

เทคนิคการบันทึกเสียงระบบสเตอริโอ ใช้พื้นฐานความรู้ด้านจิตวิทยาการได้ยินและการแยกรับรู้ข่าวสารทิศทางเสียงของระบบการฟังเสียงของหูมนุษย์ วิธีได้ยินเสียงของสมอง เมื่อมีเสียงเคลื่อนมากระทบใบหูผ่านเข้าไปในรูหูที่เป็นส่วนหูชั้นนอกไปกระทบเยื่อแก้วหูที่เป็นส่วนหูชั้นกลาง เยื่อแก้วหูจะสั่นตามความถี่แรงอัดคลายของเสียง กำลังงานที่เกิดจากการสั่นถูกส่งผ่านกระดูกรูปฆ้อม,กระดูกรูปทั่งและกระดูกรูปโกลนที่อยู่ในส่วนหูชั้นกลางไปยังคอคเลียที่เป็นอวัยวะรูปคล้ายหอยโข่ง (ใครจะมองเป็นหอยทากก็ไม่ว่ากัน) อยู่ในหูชั้นในทำให้ของเหลวที่บรรจุอยู่ในกระเพื่อม ตัวตรวจจับความถี่ที่มีจำนวนมากนับพันในคอคเลียจะวัดค่าความถี่การกระเพื่อมแล้วส่งคลื่นไฟฟ้าช่วงสั้นๆ (พัลส์) ผ่านเส้นประสาทเกี่ยวกับการได้ยินไปยังสมองเพื่อให้เกิดการรับรู้เสียง (ดูรูปที่ 4)

 

 

 

 

 

 

รูปที่ 4

รูปที่ 4 วิธีที่สมองรับรู้เสียง

วิธีรับรู้ทิศทางเสียงของสมองทำได้โดยประมวลผลเสียงที่ได้ยินเข้ามาทางหูซ้ายและขวาโดยนำมาเปรียบเทียบกัน ถ้าเสียงที่ได้ยินจากหูด้านใด ได้ยินก่อนหรือ ได้ยินดังกว่า หรือได้ยินชัดเจนกว่า สมองจะรับรู้ว่าได้ยินเสียงมาจากด้านนั้น (ดูรูปที่ 5)

 

 

 

 รูปที่ 5

รูปที่ 5 วิธีกำหนดทิศทางเสียงที่ได้ยินของสมอง

 

  1. วิธีสร้างสเตอริโออิมเมจ

วิธีสร้างสเตอริโออิมเมจเมื่อฟังเสียงระบบสเตอริโอของสมอง ทำได้โดยใช้ผลที่ได้จากการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างทางรูปร่าง (ความเพี้ยน) โทนเสียง (ความถี่) ความดัง (ขนาด) และเวลา (เฟส) ของเสียงที่ได้ยินเข้ามาทางหูซ้าย (สัญญาณเสียงแชนแนลซ้าย) และเสียงที่ได้ยินเข้ามาทางหูขวา (สัญญาณเสียงแชนแนลขวา) สำหรับระบุตำแหน่งเสียงที่ได้ยิน เมื่อนำจิตวิทยาวิธีรับรู้ตำแหน่งเสียงของสมอง มาใช้กับระบบเสียงสเตอริโอ ทำให้ซาวด์เอนจิเนียร์สามารถกำหนดตำแหน่งเสียงในขั้นตอนมิกซ์เสียงที่สตูดิโอบันทึกเสียงได้โดยใช้วิธีกำหนดค่าความสัมพันธ์ทาง รูปร่าง, ความถี่, เฟส และขนาด ของสัญญาณเสียงแชนแนลซ้ายกับสัญญาณเสียงแชนแนลขวาที่ต้องการบันทึกลงสื่อ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น “ การสร้างสเตอริโออิมเมจมีความสัมพันธ์กับการจัดวางลำโพงและตำแหน่งฟังที่มีพื้นฐานเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมด้านเท่าซึ่งแต่ละมุมมีค่าเท่ากับ 60 องศา ”

รูปที่ 6

 

 

 

 

 

 

รูปที่ 6 ความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งลำโพงกับตำแหน่งฟังลักษณะสามเหลี่ยมด้านเท่า

 

  1. วิธีสร้างตำแหน่งเสียงแนวกว้าง

วิธีสร้างสเตอริโออิมเมจเพื่อจัดวางตำแหน่งเสียงทางแนวตั้ง ถ้าสัญญาณเสียงทั้งสองแชนแนลที่บันทึกลงสื่อมีคุณสมบัติเหมือนกันทุกอย่างทั้งรูปร่าง, ความถี่ (รวมทั้งฮาร์โมนิกและโอเวอร์โทนด้วย ) และ เฟส (เสียงของเครื่องดนตรีชิ้นเดียวกันหรือเสียงของนักร้องคนเดียวกัน) และถูกกำหนดให้มีขนาดเท่ากันในระดับที่เหมาะสม เมื่อสัญญาณเสียงทั้งสองถูกเล่นกลับออกจากสื่อและสร้างเสียงส่งออกทางลำโพงซ้ายและขวาที่จัดวางสัมพันธ์กับตำแหน่งฟังเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า เสียงจากลำโพงซ้ายจะเดินทางมาถึงหูซ้ายของผู้ฟังเป็นเวลาเดียวกันกับเสียงจากลำโพงขวาที่เดินทางมาถึงหูขวา เสียงทั้งสองซึ่งมีโทนเสียงและ บุคลิกเสียงเหมือนกัน และมีความเข้มเสียงเท่ากันจะทำให้ประสาทส่วนการรับรู้เสียงในสมองระบุว่าได้ยินเสียงเครื่องดนตรีชิ้นเดียวกันดังออกมาจากตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างลำโพงทั้งสองพอดี ซึ่งเป็นตำแหน่งตรงกลางด้านหน้าสุดของซาวด์สเตจหรือตำแหน่งมุม 0 องศาเมื่อเทียบกับตำแหน่งฟัง (ตำแหน่ง C ในรูปที่ 6 )

ถ้าเสียงเครื่องดนตรีชิ้นเดียวกันนี้ถูกบันทึกในลักษณะที่สัญญาณเสียงแชนแนลซ้ายมีขนาดใหญ่กว่า 2.5 dB หรือ มีเฟสเร็วกว่า 0.2 มิลลิวินาที (0.2 ms) หรือ มีขนาดใหญ่กว่า 1.9 dB และมีเฟสเร็วกว่า 0.1 มิลลิวินาที เสียงที่ได้ยินขณะเล่นกลับจะอยู่ในตำแหน่ง L1 ของรูปที่ 6 ซึ่งเป็นตำแหน่งมุม –10องศาเมื่อเทียบกับตำแหน่งฟัง และถ้าคุณสมบัติเช่นนี้เป็นของสัญญาณเสียงแชนแนลขวาเมื่อเล่นกลับเสียงจะปรากฏอยู่ในตำแหน่ง R1 ของรูปที่ 6 (ทำมุม+10 องศากับตำแหน่งฟัง) ยิ่งความแตกต่างทางขนาดและ/หรือเวลามีค่ามากขึ้นตำแหน่งเสียงก็จะเคลื่อนไปทางด้านที่มีค่าสูงกว่ามากขึ้น ตัวอย่างเช่นสมมุติว่า สัญญาณเสียงแชนแนลขวามีขนาดใหญ่กว่าสัญญาณเสียงแชนแนลซ้าย 15 dB หรือมีเฟสเร็วกว่า 1.12 มิลลิวินาที หรือมีขนาดใหญ่กว่าหนึ่งเท่าและมีเฟสเร็วกว่า 0.5 มิลลิวินาที อย่างใดอย่างหนึ่ง เสียงที่ผู้ฟังได้ยินจะอยู่ตรงตำแหน่ง R3 ของรูปที่ 6 เป็นต้น (ความเข้าใจนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ตำแหน่งเสียงในซาวด์สเตจเกิดความผิดปกติ ถ้ามีโอกาสเราจะได้คุยกันต่อไป)

 

 

 

 

 

 

 รูปที่ 7

รูปที่ 7ลักษณะการรับรู้ตำแหน่งเสียงทางแนวกว้าง

 

 

  1. วิธีสร้างตำแหน่งเสียงแนวลึก

วิธีกำหนดความตื้นลึกของตำแหน่งเสียงใช้วิธี กำหนดให้สัญญาณเสียงที่บันทึกทั้งสองแชนแนลมีคุณสมบัติเหมือนกันทุกอย่างทั้งรูปร่าง ความถี่ เฟส และขนาด แล้วใช้วิธีเปลี่ยนแปลงขนาดสัญญาณทั้สองด้วยสัดส่วนเท่ากัน ถ้าสัญญาณทั้งสองมีขนาดเท่ากันและถูกปรับให้มีขนาดเล็กมาก เมื่อเล่นกลับสัญญาณเสียงทั้งสองแชนแนลแล้วแปลงกลับสร้างเป็นเสียงส่งออกมาจากลำโพงซ้ายและขวา ผู้ฟังจะได้ยินเสียงดังออกมาจากตำแหน่งกึ่งกลางด้านหลังสุดของซาวด์สเตจ ถ้าบันทึกสัญญาณทั้งสองให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตำแหน่งเสียงจะเลื่อนมาอยู่ทางด้านหน้าและถ้ามีขนาดใหญ่มากตำแหน่งเสียงก็จะเคลื่อนเข้ามาใกล้ตำแหน่งฟังมากขึ้น ดังแสดงให้เห็นในตำแหน่ง C, C-1 และ C+1 ในรูปที่ 6

ถ้าสัญญาณสองแชนแนลที่บันทึกมีคุณสมบัติเหมือนกันทุกอย่าง (เครื่องดนตรีชิ้นเดียวกันหรือเสียงนักร้องคนเดียวกัน) แต่มีขนาดต่างกันซึ่งหมายความว่าเครื่องดนตรีชิ้นนั้นไม่ได้อยู่ตรงตำแหน่งกึ่งกลางด้านกว้างของซาวด์สเตจ เมื่อต้องการเปลี่ยนตำแหน่งทางแนวตื้นลึก สัญญาณที่บันทึกทั้งสองแชนแนลจะถูกเปลี่ยนแปลงขนาดด้วยสัดส่วนเท่ากัน ถ้าลดขนาดเล็กลงตำแหน่งเสียงจะเลื่อนไปทางด้านหลังและถ้าเพิ่มขนาดสูงขึ้นตำแหน่งเสียงจะเคลื่อนมาทางด้านหน้าของซาวด์สเตจ เช่นนี้เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 รูปที่ 8

รูปที่ 8ลักษณะการรับรู้ตำแหน่งเสียงทางแนวลึก

 

จากที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมดข้างต้นจะเห็นว่าตำแหน่งเสียงที่ได้ยินถูกกำหนดด้วยความเหมือนและความต่างระหว่างรูปร่าง, เฟส (เวลา) , ความถี่ และขนาดของสัญญาณเสียงแชนแนลซ้ายและขวา เพื่อให้ได้ยินเสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นดังออกมาจากตำแหน่งต่างๆ ที่กระจายอยู่ทางด้านกว้างและลึกภายในเวทีเสียงอย่างถูกต้อง

 

  1. สิ่งบั่นทอนสเตอริโออิมเมจ

สเตอริโออิมเมจเป็นคุณสมบัติสำคัญของระบบเสียงสเตอริโอที่สามารถจำลองตำแหน่งเสียงเครื่องดนตรีให้จัดวางอยู่ในเวทีเสียงได้อย่างถูกต้อง มีองค์ประกอบหลายอย่างที่เป็นตัวคุณสมบัติด้านนี้ได้แก่

 

  • คุณภาพสื่อ
  • สภาวะทางเสียงของห้องฟัง
  • ตำแหน่งลำโพง
  • ตำแหน่งฟัง
  • คุณภาพของอุปกรณ์ในซิสเต็มเสียง

 

  1. สื่อเสียงกับข้อจำกัดด้านสเตอริโออิมเมจ

เมื่อครั้งเขียนบทความทดสอบหน่วยโฟโนสเตจ Pro-Ject Phonobox II USB ที่บรรจุหน่วยขยายโฟโนคาทริดจ์แบบ MC และ MM และมีหน่วยแปลงเสียงอะนาลอกจากแผ่นเสียงเป็นขบวนข้อมูลอนุกรมเสียงดิจิตอลส่งผ่านระบบเชื่อมต่อ USB 1.1 ไปให้ PC หรือโน้ตบุ๊ค PC แปลงเป็นไฟล์เสียงดิจิตอลบันทึกเก็บไว้หรือบันทึกลงสื่อพกพา เช่น CD-R, USB Flash Drive, HDD, Micro drive หรือเมมโมรี่ของเครื่องอุปกรณ์พกพาเช่นโทรศัพท์มือถือ, iPod, iPhone, iPad ได้ ผู้เขียนได้ทำการประเมินคุณภาพเสียงของแผ่นไวนีลที่ขยายโดยหน่วยโฟโนสเตจนี้เปรียบเทียบคุณภาพเสียงที่ได้ขณะเล่นแผ่นซุปเปอร์ออดิโอซีดีอัลบั้มเพลงเดียวกันที่ผลิตโดยสตูดิโอเดียวกันและคุณภาพเสียงที่ได้จากไฟล์เสียงดิจิตอล MP3 ที่แปลงจากแผ่นไวนีลเพลงเดียวกันที่บิทเรตต่างๆ และได้เขียนแผนผังเปรียบเทียบแสดงความแตกต่างของคุณสมบัติด้านสเตอริโออิมเมจที่ได้จากสื่อเสียงแบบต่างๆ ให้เห็นไว้ จะขอนำรูปแผนผังนั้นมาแสดงให้ท่านผู้อ่านเห็นในบทความนี้อีกครั้งเพื่อให้เข้าใจถึงข้อจำกัดด้านสเตอริโออิมเมจของสื่อแต่ละแบบที่แสดงให้เห็นว่าไฟล์เสียงดิจิตอลแบบบีบอัดสูญเสียจะทำให้สเตอริโออิมเมจเกิดความผิดเพี้ยนเป็นอย่างมากแต่เนื่องจากผู้ฟังส่วนใหญ่มักฟังเพลงจากหูฟังจึงไม่รู้สึกถึงความแตกต่างนี้

 

 

 

 แสดงตำแหน่ง 1

 

รูปที่ 1 แสดงตำแหน่งเครื่องดนตรีและเสียงร้องในสเตอริโออิมเมจของเพลง House of the Rising Sun ที่บันทึกในแผ่นไวนีลออดิโอไฟล์ 180 แกรมอัลบั้ม Testrecord4 ของ Opus 3 ที่เล่นโดยเทิร์นเทเบิ้ล Pro-ject RPM 1.3 Genie ใช้ MM Phono Cartridge Ortofon 2M Red (ขณะเล่นแผ่น SACD ซิสเต็มที่ใช้สร้างความลึกซาวด์สเตจได้น้อยกว่าLP เล็กน้อย )

 

  แสดงตำแหน่ง 2

รูปที่ 2 แสดงตำแหน่งเครื่องดนตรีและเสียงร้องในสเตอริโออิมเมจของเพลง House of the Rising Sun ที่บันทึกในแผ่น SACD แบบไฮบริด อัลบั้ม Test CD 4 ของ Opus 3 ขณะเล่นชั้นข้อมูล SACD เปรียบเทียบกับขณะเล่นชั้นข้อมูล CD โดยเครื่องเล่น BD/SACD Sony BDP-S370 ที่ทำหน้าที่เป็นทรานสปอร์ตส่งขบวนข้อมูลสดเสียงดิจิตอลไปถอดรหัสและแปลงเป็นเสียงอะนาลอกที่ Marantz AV8003 HD AV Pre/Processor แล้ว ส่งออกทางจุด XLR ผ่านสายเสียงอะนาลอก TaraLabs RSC Master Generation 2 XLR ไปให้ Krell KAV-3250 3ch Power Amplifier ขยายส่งผ่าน สายลำโพง TaraLabs RSC Master Generation 2 ไปขับลำโพงตั้งพื้น Triangle Cellius 202 (ขณะเล่นชั้นข้อมูล CD สเตอริโออิมเมจจะหดตัวเข้ามาทั้งทางด้านกว้างและลึกทำให้ตำแหน่งเครื่องดนตรีชิดกันมากกว่า)

 

 แสดงตำแหน่ง 3

รูปที่ 3 แสดงตำแหน่งเครื่องดนตรีและเสียงร้องในสเตอริโออิมเมจของไฟล์เสียงดิจิตอล MP3 เพลง House of the Rising Sun ที่แปลงจากแผ่น เสียงไวนีลอัลบั้ม Testrecord4 บันทึกเป็นไฟล์เสียงดิจิตอล MP3 สามไฟล์ที่อัตราบิต 64 kbps, 128 kbps และ 320 kbps ลงใน USB แฟลชไดร้ฟ์ แล้วนำไปเล่นโดยเครื่องเล่น BD/SACD Sony BDP-S370 ที่ต่อร่วมกับซิสเต็มเสียงชุดเดียวกับตอนเล่น SACD/CD

 

คุณภาพเสียงที่ได้จากไฟล์เสียง MP3 บิทเรต 320 kbps

เมื่อเล่นเพลง House Of The Rising Sun ที่บันทึกในรูปไฟล์เสียงดิจิตอล MP3 บิทเรต 320 kbps ซึ่งเป็นค่าบิทเรตสูงสุดของสเปค MP3 จะได้คุณภาพเสียงใกล้เคียงกับขณะฟังจากชั้นข้อมูล CD-Audio ของแผ่นSACD ไฮบริดพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติในการตอบสนองเสียงเฉียบพลันของเสียงระฆัง 1 ระฆัง 2 และฉาบ ในช่วงอินโทรที่ปราศจากอาการบีบอัดไดนามิกช่วงพีคทำให้ได้ยินเสียงแหลมสดใสกังวานดังชัดเจนทุกครั้งที่ระฆังถูกเคาะ ได้บุคลิกเสียงถูกต้องแยกแยะเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดได้ชัดเจนแต่ตำแหน่งเสียงของระฆัง 1 ที่อยู่กลางซาวด์สเตจด้านซ้ายและระฆัง 2 ที่อยู่กลางซาวด์สเตจด้านขวาจะขยายกว้างออกไปมากกว่าขณะฟังจากชั้นข้อมูล CD เล็กน้อย เสียงฉาบที่ดังจากชุดกลองที่อยู่มุมในด้านขวาและเสียงกลองคองก้าที่ดังออกมาจากมุมในด้านซ้ายจะมีตำแหน่งเสียงที่ล้ำออกมาทางด้านหน้าเล็กน้อย (ความลึกของซาวด์สเตจลดลง)   เสียงกีตาร์กลางแหลมยังคงได้ยินโดดเด่นสดใสชัดเจน กีตาร์เสียงทุ้มยังคงรับรู้ได้ถึงความนุ่มนวลถึงจะลดลงไปจากตอนฟังจาก CD บ้างเล็กน้อยก็ตาม ดับเบิ้ลเบสยังคงได้ยินเสียงที่ดังกระหึ่มนุ่มนวล แต่ตำแหน่งเสียงจะขยายใหญ่ขึ้นและลดความชัดเจนลง (โฟกัสลดลง) เสียงร้องของนักร้องหญิงยังคงได้ยินชัดเจนแต่ตำแหน่งเสียงล้ำหน้า เสียงแซกโซโฟนยังคงไว้ซึ่งความอิ่มสดแต่ตำแหน่งเสียงถูกบีบเลื่อนเข้ามาทางขวาเล็กน้อย (ความกว้างของซาวด์สเตจถูกบีบให้แคบลง) ผลของเสียงที่ได้ออกมาดังที่กล่าวไปแล้วทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากข้อบกพร่องของ Pro-ject Phonobox II USB แต่เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของฟอแมตเสียงแบบบีบอัดสูญเสียที่ใช้วิธีวิเคราะห์ตัดรายละเอียดเสียงส่วนที่คิดว่ามีความจำเป็นน้อยที่สุดออกไปเพื่อลดขนาดไฟล์เสียงให้เล็กลง MP3 ที่ใช้บิทเรตสูงสุด (320 kbps) จะตัดรายละเอียดเสียงระดับ CD-Audio ออกไปในอัตรา 4.4:1 ซึ่งเป็นระดับที่ใช้อัตราการบีบอัดน้อยที่สุดจึงยังคงสามารถรักษาบุคลิกเสียงของเครื่องดนตรีทุกชิ้นไว้ได้ใกล้เคียงกับตอนฟังจาก CD แต่ไฟล์เสียงเพลงนี้จะมีขนาดใหญ่มากถึงราว 60MB จึงสิ้นเปลืองพื้นที่ของเมมโมรี่มากทำให้บันทึกเพลงลงในสื่อได้น้อย

คุณภาพเสียงที่ได้จากไฟล์เสียง MP3 บิทเรต 128 kbps

เมื่อเล่นเพลง House Of The Rising Sun ที่บันทึกในรูปไฟล์เสียงดิจิตอล MP3 ที่ใช้บิทเรตต่ำลงเป็น 128 kbps คุณภาพเสียงด้านบุคลิกเสียงจะลดลงไปจากไฟล์ MP3 ที่ใช้บิทเรต 320 kbps พอสมควร ความสดใสเป็นประกายของปลายเสียงฉาบและเสียงระฆังลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงแยกแยะรับรู้ชนิดของเครื่องดนตรีได้ชัดเจนอยู่ ความนุ่มนวลและความลึกของเสียงกลองคองก้าและเสียงดับเบิ้ลเบสก็ลดน้อยลงเช่นกัน เสียงกีตาร์กลางแหลมยังคงชัดเจนแต่ลดความโดดเด่นสดใสลงเล็กน้อย กีตาร์เสียงทุ้มเริ่มพร่ามัวและตำแหน่งเสียงเริ่มขยายบริเวณกว้างออกไปเล็กน้อย เสียงแซกโซโฟนลดความอิ่มสดลงพอควรและตำแหน่งเสียงถูกบีบเลื่อนเข้ามาทางขวาเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ตำแหน่งเสียงของดับเบิ้ลเบสลดความชัดเจนลงตำแหน่งเสียงขยายบริเวณกว้างมากขึ้น (โฟกัสเสียงลดลง) แต่ยังไม่กระทบกับบุคลิกเสียงร้อง แต่ตำแหน่งเสียงร้องจะล้ำหน้าอีกเล็กน้อยและตำแหน่งเสียงระฆัง 1,ดับเบิ้ลเบสและแซกโซโฟนจะเคลื่อนมาชิดกันมากขึ้นจนเกือบได้ยินเสียงดังออกมาจากตำแหน่งเดียวกัน ผลของเสียงที่ได้ออกมา ทั้งหมดข้างต้นเกิดจาก MP3 ที่ใช้บิทเรต 128 kbpsc ตัดรายละเอียดเสียงทิ้งมากขึ้น ทำให้ได้ความละเอียดเสียงต่ำกว่าระดับ CD-Audio เป็นอัตรา 11:1 ทำให้บุคลิกเสียงของเครื่องดนตรีเสียงทุ้มเช่นกลองคองก้า ดับเบิ้ลเบสและเบสกีตาร์ เริ่มเปลี่ยนแปลงลดโฟกัส ไดนามิกและความนุ่มนวลลง เครื่องดนตรีเสียงแหลมเช่นระฆัง ฉาบลดความสดใสและประกายเสียงลงไปจนรู้สึกได้ แต่บุคลิกเสียงโดยรวมยังคงสามารถแยกแยะชนิดแหล่งเสียงได้ ไฟล์เสียง MP3 128 kbps จะมีขนาดเล็กลงเหลือประมาณ 5.5 MB ทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่ของหน่วยเมมโมรี่น้อยลงจึงบันทึกจำนวนเพลงลงสื่อได้มากขึ้น

คุณภาพเสียงที่ได้จากไฟล์เสียง MP3 บิทเรต 64 kbps

เมื่อเล่นเพลง House Of The Rising Sun ที่บันทึกเป็นไฟล์เสียงดิจิตอล MP3 บิทเรต 64 kbps คุณภาพเสียงด้านบุคลิกเสียงจะลดลงไปมากพอสมควร เสียงฉาบและเสียงระฆังเริ่มคมแข็งแต่ยังแยกแยะชนิดเครื่องดนตรีได้ เสียงกลองคองก้าแข็ง ดับเบิ้ลเบสเริ่มพร่ามัวและ ไดนามิกลดลง เสียงกีตาร์กลางแหลมยังคงชัดเจนแต่ความโดดเด่นสดใสลดลงไปอีก กีตาร์เสียงทุ้มพร่ามัวและตำแหน่งเสียงขยายบริเวณกว้างมากยิ่งขึ้น เสียงแซกโซโฟนเริ่มแข็งคมและตำแหน่งเสียงถูกบีบเลื่อนเข้ามาทางขวามากขึ้นไปอีกจนทำให้ตำแหน่งเสียงระฆัง 1, ดับเบิ้ลเบสและแซกโซโฟนเบียดชิดกันจนได้ยินเสียงดังออกมาจากตำแหน่งเดียวกัน เสียงร้องยังคงได้ยินชัดเจน ซาวด์สเตจถูกบีบอัดทั้งทางด้านกว้างและลึกมากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เนื่องจาก ไฟล์เสียง MP3 ที่ใช้บิทเรต 64 kbps จะตัดรายละเอียดเสียงทิ้งมากยิ่งขึ้นไปอีกที่อัตราสูงถึง 22:1 เพื่อลดขนาดไฟล์เสียงของเพลง House Of The Rising Sun เล็กลงเหลือเพียงประมาณ 2.7 MB เพื่อให้สามารถบันทึกเพลงลงสื่อได้เป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น