ปรับอะคูสติกในห้อง ด้วยอุปกรณ์อย่างง่าย แต่ได้ผล

0

ช.ชิดชล

     ปัญหาในเรื่อง สภาพอะคูสติกของห้องนั้น ส่งผลต่อการฟังเพลงอย่างแน่นอนครับ เพราะทำให้ชุดเครื่องเสียงและอุปกรณ์ที่อยู่ในชุดนั้น ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือส่งผลต่อคลื่นเสียง มุมกระจายเสียง ก่อนที่เสียงเหล่านั้นจะมาเข้าหูให้เราฟัง หลายครั้งปัญหาไม่ได้เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเสียงแหลมไม่มีรายละเอียด เสียงทุ้มไม่มีน้ำหนัก หรือมิติเสียงที่แคบ ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจาก สภาพอะคูสติกของห้องฟังทั้งนั้นครับ

     บทความปรับอะคูสติกในห้องฟังเพลงนี้ ขอกล่าวถึงสภาพอะคูสติกของห้องเพียงอย่างเดียว ไม่ได้กล่าวถึงการจัดชุดเครื่องเสียงให้มีความเหมาะสมลงตัว ไม่ได้กล่าวถึงการเซทอัพจัดวางอุปกรณ์ และไม่ได้กล่าวถึงระบบไฟของห้องนะครับ สิ่งเหล่านั้นต้องได้รับความพิถีพิถันอยู่แล้วในการเล่นเครื่องเสียง เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวเกินไป และชัดเจนในเรื่องการปรับอะคูสติกห้องครับ

     พื้นฐานห้องฟังเพลงนั้น จะต้องมีขนาดและสัดส่วนที่เหมาะสมก่อน ขนาดห้องที่ไม่เหมาะสมคือ กว้างและยาวเท่ากัน หรือห้องที่มีเพดานต่ำมากเกินไป ซึ่งการปรับอะคูสติกอาจไม่เห็นผลมากมายนัก เหมือนตู้ลำโพงที่ไม่ได้ขนาด ใส่วัสดุซับเสียงเข้าไปอย่างไร เสียงก็ก้องครับ และในบทความนี้ ไม่ขอกล่าวถึงอุปกรณ์เสริมสำหรับการปรับแต่งอะคูสิติกห้อง ที่มีให้เลือกใช้กันมากมายนะครับ เพราะการเสียงเงินแบบนั้น ได้คุณภาพที่ดีขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างแน่นอน ตามแต่คุณภาพและปริมาณการใช้ แต่สำหรับนักเล่นมือใหม่ หรือไม่ได้มีห้องฟังเป็นสัดส่วน การมีอุปกรณ์ง่ายๆ มาช่วยปรับอะคูสติกห้อง ก็เป็นอีกแนวทางที่ประหยัดงบ และส่งผลต่อคุณภาพการฟังเพลง

ปัญหาหลักของที่มักพบเจอ

     ปัญหาของสภาพอะคูสติกห้องฟังเพลงหรือตำแหน่งนั่งฟังนั้น หลักๆเกิดจาก 2 สาเหตุคือ การก้องสะท้อน และ การสั่นสะเทือน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ มักมาควบคู่กัน ราวกับเป็นพี่ห้องกันก็ได้ การก้องสะท้อนทำให้รายละเอียดเสียงต่างนั้น ไม่ชัดเจน เสียงอ่อนแก่ หนักเบา ลดการแยกแยะ ความกังวานสั้นหรือยาวหดหาย ขาดเสน่ห์ความไพเราะไปมากเลยทีเดียว ส่วนการสั่นสะเทือนนั้น ก็ส่งผลต่อน้ำหนักเสียง แรงปะทะต้นโน้ต และไดนามิคเสียงต่างๆ ที่คลุมเครือลดการแยกแยะลงไป ทำให้ขาดอรรถรสในการฟังเพลง ในการเข้าถึงบทเพลงเป็นอย่างมาก ที่บอกว่า ปัญหาเหล่านี้มักควบคู่กันเพราะ เมื่อห้องห้องสะท้อนมาก มักไปสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับอุปกรณ์ หรือสภาพห้องที่ไม่แข้งแรง สั่นสะเทือนง่าย ก็ทำให้เสียงเพิ่มการก้องสะท้อนเช่นกัน ฉะนั้นการแก้ไขในเบื้องต้นง่ายๆสุดๆคือ ทำให้ห้องฟัง หรือตำแหน่งนั่งฟังเพลง มีความแข็งแรงครับ

     การก้องสะท้อน เราสามารถลด เบี่ยงแบน แปรเปลี่ยน การก้องสะท้อนของคลื่นเสียงได้ ด้วยวัสดุต่างๆเพราะวัสดุเหล่านั้นมีมวล ขนาด น้ำหนักเฉพาะตัว ที่ส่งผลต่อการสะท้อนกลับของคลื่นเสียง การจะนำไปติดตั้งตรงไหนอย่างไรนั้น ให้ลองดูว่า พนังห้อง หรือส่วนต่างๆของห้องนั้น มีการก้องของเสียง โดยการไปลองยืนตำแหน่งนั้นแล้วพูดเพื่อฟังเสียงตนเอง หรือปรบมือ ท่านก็จะรู้ได้ด้วยตนเองว่า เป็นเสียงที่ก้องมากเกินไปหรือไม่ จากเสียงดังกล่าวที่ผิดเพี้ยนไป

วัสดุหรืออุปกรณ์ที่มาจัดการกับการก้องสะท้อน

      ไม้ หลักๆจะนำมาใช้งาน 2 ประเภทคือ ไม้แท้ๆและไม้ MDF ไม้แท้มีความหนาแน่นของมวลแตกต่างกันไปตามพันธุ์ไม้ ซึ่งมีผลต่อเสียงอย่างแน่นอน ไม้มวลหนักมักให้เสียงออกไปทางอิ่มหนา เนื้อเสียงที่อวบอิ่ม ไม้มวลเบาลงมาก็ให้เสียงที่อิ่มและไม่หนาเกินไป เนื้อเสียงอิ่มเอิบอย่างเหมาะสม นอกจากพันธุ์ไม้แล้ว ขนาดและความชื้นก็มีผลต่อเสียงเช่นกัน ไม้ MDF ไม้ชนิดนี้มักไม่มีมวลมาเกี่ยวข้องที่เป็นตัวแปรของเสียง เพราะผลิตขึ้นมาได้อย่างมีมาตรฐานทั้ง ความชื้น มวล แต่จะแตกต่างกันไปตามความหนาและขนาดความใหญ่ของแผ่นไม้ MDF ที่มีความหนาและขนาดใหญ่ มักให้เสียงที่อิ่มมีเนื้อเสียงมากกว่าแผ่นบางหรือขนาดเล็ก

   ผ้า ผ้าเป็นวัสดุซับและลดการก้องสะท้อนของเสียงได้ดี โดยผ้าแต่ละชนิดมีผลทางการซับและสะท้อนเสียงที่ต่างกัน อันส่งผลต่อเสียงที่ได้แตกต่างกัน ผ้าเนื้อแน่น มักซับเสียงมาก ปลายเสียงแหลมอาจหดหาย ผ้าเนื้อเบา อาจซับเสียงได้น้อย ส่งผลต่อเสียงที่ก้องสะท้อนอยู่แม้ลดลงบ้าง ผ้าที่มีเนื้อสัมผัสมันเงามักเพิ่มการสะท้อนของเสียง มากกว่าผ้าที่ผิวไม่เรียบลื่น การใช้งานผ้าอย่างเหมาะสมนั้น ต้องเลือกทั้งเนื้อผ้า ผิวสัมผัส เพื่อจัดการกับการก้องสะท้อนของเสียงอย่างเหมาะสม

    โลหะ วัสดุประเภทนี้มักไม่ค่อยนำมาใช้เป็นวัสดุซับเสียง หรือเพื่อลดการก้องสะท้อนของเสียง เพราะคุณสมบัติของโลหะคือ เพิ่มการก้องสะท้อนของเสียง แต่สำหรับห้องฟังใด มีการจัดสภาพอะคูสติกในแบบ ซับเสียงมากเกินไป หรือเสียงขาดความกังวาน ปลายเสียงแหลมไม่สดใส จางหายไปไว หรือทุ้มไม่มีแรงปะทะ ต้นโน้ตเสียงไม่ชัดเจน โลหะนี่ละครับ ช่วยได้ เลือกใช้โลหะที่มีขนาดเหมาะสม ช่วยเพิ่มความกังวานและน้ำหนักของเสียงได้ โดยโลหะก็มีคุณสมบัติทางเสียงคร่าวๆคือ เหล็ก มักให้แรงปะทะของเสียงชัดเจน เนื้อเสียงกำลังพอดี ปลายแหลมไม่ทอดหางเสียงยาวเกินไป ทองเหลืองมักให้เสียงอิ่มเนื้อ ติดไปทางช้านิดหน่อย ปลายแหลมเก็บตัวไว เสียงกลางหวานน่าฟัง สแตนเลส มักให้เสียงคมชัดฉับไว้ ปลายแหลมทอดหางเสียงยาว มีความกังวาน มิติเสียงออกไปทางกว้าง

     ยาง การนำยางมาลดการก้องสะท้อนของเสียง สามารถทำได้ เพราะยางมีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่น ลดแรงปะทะ ลดแรงเสียดทาน ยางที่นำมาใช้งานนั้น หากมีผิวมันเงาหรือเรียบลื่น มักให้การสะท้อนของเสียงมากกว่ายางที่มีผิวด้านหรือไม่เรียบ การนำไปปะ ติด ใช้งานจึงให้เสียงที่ได้ต่างกัน แม้จะเป็นวัสดุยางเหมือนกัน ยางสังเคราะห์จะให้เสียงที่คมชัดมากกว่ายางธรรมชาติ รวมถึงการใช้ยางมากเกินไปในการปรับแต่งอะคูสติก อาจส่งผลเสียงมากกว่า เพราะจะมีการสะท้อนเสียงที่มากหรือฉับไวเกินไป

     การจะใช้งานวัสดุใดนั้น ขึ้นอยู่กับเสียงก้องและสะท้อนเสียงเป็นสำคัญ บางครั้งเราอาจจะผสมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อการก้องและสะท้อนอย่างเหมาะสม ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ทั้งปริมาณความเหมาะสม ทั้งวัสดุที่นำมาใช้งาน การฟังแล้วค่อยๆเรียนรู้และค่อยๆปรับแต่ง ปรับเสริม คือศิลปะอีกอย่างหนึ่งของการเล่นเครื่องเสียง

การสั่นสะเทือนปัญหาของสภาพอะคูสติกห้อง

    การสั่นสะเทือน ก็เป็นปัญหาของสภาพอะคูสติกห้อง บางท่านอาจไม่รู้ว่า สาเหตุมาจากการสั่นสะเทือน เช่น ผนังห้องไม่แข็งแรงแน่นหนาพอ ส่งผลต่อคุณภาพ รายละเอียด และปริมาณเสียงทุ้ม เพดานที่ไม่แข็งแรง ส่งผลต่อความสูงของมิติเสียง ปลายแหลม รวมถึงไดนามิคเสียง พนังห้องที่เป็นกระจก หรือวัสดุตกต่างที่ไม่แน่นหนา ส่งผลเป็นอย่างมากต่อความกังวานของหางเสียง ฉะนั้น การสั่นสะเทือนอันเป็นผลมาจากความไม่แข็งแรง แน่นหนา ควรให้ความสำคัญ

     การทำให้ห้องฟังเพลงหรือการติดตั้งอุปกรณ์ตรงตำแหน่งนั่ง ฟังมีความแน่นหนา แข็งแรงนั้นควรเป็นการจัดการขั้นพื้นฐานก่อน หากจะเสริมเพิ่มอุปกรณ์การยึดติดก็ควรให้ความสำคัญกับการใช้นอต การตอกตะปูอาจเพียงพอต่อความแข็งแรง แต่ถ้าจะปรับแต่งสภาพอะคูสติกห้อง หรือยึดติดอุปกรณ์ต่างๆ นอตที่ใช้วัสดุแต่ละประเภทจะมีความเหมาะสมกว่า นอตที่ผลิตจากเหล็กมักให้เสียงที่ชัดเจน แรงปะทะ น้ำหนักเสียง เนื้อเสียง นอตที่ผลิตจากทองเหลือง มักให้เสียงโทนอบอุ่น ลดทอนปลายแหลม นอตสแตนเลส มักให้เสียงออกโทนสว่าง สดใส ปลายแหลมชัดเจนและทุ้มเก็บตัวไว

     การใช้วัสดุประเภทยาง หรือวัสดุสังเคราะห์มาปะเพื่อแดมป์ ในตำแหน่งที่มีความกระพือ หรือมีแรงสั่นสะเทือนก็สามารถช่วยให้มีความนิ่งเกิดขึ้นได้ ช่วยลดการสั่นสะเทือนของอุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เสียงโดยรวมในห้องฟังก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ดีขึ้น ทั้งนี้การใช้วัสดุอุปกรณ์ใด ปริมาณขนาดไหนมาลดแรงสั่นสะเทือน ก็ต้องลองทำ ลองใช้งานกันนะครับ เพราะนอกจากความสนุกในการเล่นแล้ว ยังเพิ่มทักษะการฟังให้เพิ่มพูนขึ้นด้วย

สรุป

     การจัดการปรับแต่งสภาพอะคูสติกห้องไม่ใช่เรื่องยาก หากมีความเข้าใจสภาพห้องหรือตำแหน่งนั่งฟัง เข้าถึงคุณภาพทางกายภาพของวัสดุต่างๆ ที่จะนำมาปรับใช้ เริ่มต้นด้วยวัสดุอุปกรณ์อย่างง่ายก่อน เพื่อการทักษะในการเล่นเครื่องเสียง และรู้สภาพอะคูสติกอย่างแท้จริง จากนั้นอาจจะเสียงเงินเสียงทองไปซื้อหาวัสดุอุปกรณ์เฉพาะทาง สำหรับปรับแต่งอะคูสติก ก็สามารถทำได้และเป็นเรื่องที่เหมาะสม ดีกว่าการที่เราไม่รู้สภาพห้อง ไม่รู้ปัญหา แล้วไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆมาแก้ไข ปรับปรุง เพราะนอกจากจะเสียงเงินเสียทองโดยไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว อุปกรณ์เหล่านั้นอาจสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาได้ เป็นการแก้ปัญหาเก่าด้วยปัญหาใหม่ ไม่ใช่ทางออกของการเล่นเครื่องเสียง และก็ไม่ได้ฟังเพลงที่ไพเราะครับผม