คีตเสวนา – เล่าสู่กันฟัง…

0

คีตเสวนา – เล่าสู่กันฟัง…   โดย มงคล อ่วมเรืองศรี / คณิต ภาวศุทธิพันธุ์

 

DSCF4673

ฟังรองศาสตราจารย์ ดร.กุลธร ศิลปบรรเลง เล่าเรื่อง ท่านอาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง ผู้สืบสานตระกูล “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” (ศร ศิลปบรรเลง) ท่านเจ้าสำนักบ้านบาตรอันลือลั่น

…เกือบหนึ่งวันที่ “เรา” ได้ใช้เวลาไปอย่างคุ้มค่า กับการรับฟังเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (คุณปู่ของท่านรองศาสตราจารย์ ดร.กุลธร ศิลปะบรรเลง) และคุณประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง (บิดาของท่านรองศาสตราจารย์ ดร.กุลธร ศิลปะบรรเลง) – ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลง) ประจำปีพ.ศ. 2541 จากคำบอกเล่าของท่านรองศาสตราจารย์ ดร.กุลธร ศิลปะบรรเลง –โดยตรง– ทั้งยังได้เมตตามอบหนังสือและแผ่นซีดีเพลงอันทรงคุณค่าอย่างมากมายมหาศาลให้แก่พวกเราไว้ศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายรายการ ซึ่งต้องขอขอบพระคุณอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้

ย่านบางช้างแห่งจังหวัดสมุทรสงครามเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปินด้านดนตรีที่มีชื่อเสียงมากมายของไทย ไม่ว่าจะเป็นครูเอื้อ สุนทรสนาน, ทูล ทองใจ รวมถึงท่านหลวงประดิษฐไพเราะ หรือนามเดิม “ศร ศิลปะบรรเลง” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีจากภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” และถือได้ว่าท่านเป็นตำนานดนตรีไทย โดยเฉพาะทาง “ระนาดเอก” ในระดับยอดเยี่ยมแห่งสำนักบ้านบาตร

“หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” (ศร ศิลปบรรเลง ชาตะ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 – มรณะ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 รวมอายุได้ 73 ปี) เป็นบุตรของ ครูสิน-นางยิ้ม ศิลปบรรเลง “ครูสิน” นั้นก็คือ เจ้าของวงปี่พาทย์ และเป็นศิษย์ของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) ในปี พ.ศ. 2443 ขณะที่ศร ศิลปะบรรเลง มีอายุได้ 19 ปี ท่านได้แสดงฝีมือเดี่ยวระนาดเอกถวายสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นที่ต้องพระทัยมาก จึงทรงรับตัวเข้ามาไว้ที่วังบูรพาภิรมย์ ทำหน้าที่คนระนาดเอกประจำวงวังบูรพา และได้รับพระกรุณาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นอย่างมาก ทรงจัดหาครูที่มีฝีมือมาฝึกสอนที่ในวัง คือ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ทำให้ “ศร ศิลปะบรรเลง” มีฝีมือกล้าแข็งขึ้น หาใครมีฝีมือเทียบเท่าในสมัยนั้นมิได้เลย และต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงประดิษฐไพเราะ” ได้รับตำแหน่ง จางวางมหาดเล็ก ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยรับราชการอยู่ในกรมกองใดมาก่อน ทั้งนี้ก็ด้วยฝีมือและความสามารถของท่านโดยแท้จริงจนเป็นที่ต้องพระทัยมากนั่นเอง

ครั้นถึงปี พ.ศ. 2469 ท่านได้เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง ท่านได้มีส่วนถวายการสอนดนตรีให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รวมทั้งมีส่วนช่วยงานพระราชนิพนธ์เพลงไว้ 3 เพลงด้วยกัน คือ เพลงราตรีประดับดาวเถา, เพลงเขมรละออองค์เถา และ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง สามชั้น

หลวงประดิษฐไพเราะ ท่านได้แต่งเพลงไว้มากกว่าร้อยเพลง อาทิเช่น บทเพลงโหมโรง อันได้แก่ โหมโรงกระแตไต่ไม้ โหมโรงปฐมดุสิต โหมโรงศรทอง โหมโรงประชุมเทวราช โหมโรงบางขุนนท์ โหมโรงนางเยื้อง โหมโรงม้าสะบัดกีบ และโหมโรงบูเซ็นซ๊อค เป็นต้น ; บทเพลงเถา อย่างเช่น กระต่ายชมเดือนเถา ขอมทองเถา เขมรเถา เขมรปากท่อเถา เขมรราชบุรีเถา แขกขาวเถา แขกสาหร่ายเถา แขกโอดเถา จีนลั่นถันเถา ชมแสงจันทร์เถา ครวญหาเถา เต่าเห่เถา นกเขาขแมร์เถา พราหมณ์ดีดน้ำเต้าเถา มุล่งเถา แมลงภู่ทองเถา ยวนเคล้าเถา ช้างกินใบไผ่เถา ระหกระเหินเถา ระส่ำระสายเถา ไส้พระจันทร์เถา ลาวเสี่งเทียนเถา แสนคำนึงเถา สาวเวียงเหนือเถา สาริกาเขมรเถา โอ้ลาวเถา ครุ่นคิดเถา กำสรวลสุรางค์เถา แขกไทรเถา สุรินทราหูเถา เขมรภูมิประสาทเถา แขไขดวงเถา พระอาทิตย์ชิงดวงเถา กราวรำเถา ฯลฯ

DSCF4765

ชีวประวัติของท่านเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘โหมโรง’ ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ. 2547 และได้รับการดัดแปลงซ้ำเป็นละครโทรทัศน์ ซึ่งออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อ พ.ศ. 2555 (ที่มา วิกิพีเดีย)

“ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง” (ชาตะ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 – มรณะ 4 กันยายน พ.ศ. 2542 รวมอายุได้ 87 ปี) เป็นบุตรคนที่ 6 ของหลวงประดิษฐไพเราะ กับนางโชติ หุราพันธุ์ โดยมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา 7 คนด้วยกัน ท่านอาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง สมรสกับนางลัดดา สารตายน มีบุตรและธิดา 2 คน คือ ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.กุลธร ศิลปบรรเลง (สมรสกับ รศ.ทพ.ยาหยีศรีเฉลิม บุนนาค) และนางวัลย์ลดา ศิลปบรรเลง (สมรสกับ พลเอกโชคชัย หงส์ทอง)

ท่านอาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง ศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จนถึงชั้นมัธยมปีที่ 2 ก็ได้ย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 3 ที่โรงเรียนศิริจักรเพชร นอกวังบูรพาภิรมย์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 และได้เข้าเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ที่กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ในขณะเดียวกันก็ร่ำเรียนศึกษาด้านเพลงไทยจนแต่งฉาน สามารถเล่นและแต่งเพลงไทยได้อย่างเชี่ยวชาญจากการถ่ายทอด “วิชาดนตรีไทย” อย่างล้ำลึกจากท่านหลวงประดิษฐไพเราะ-ผู้บิดา

แต่ที่สำคัญยิ่งนัก จนถือเป็นจุดพลิกผันชีวิต ก็คือ ท่านอาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง ยังเป็นผู้สนใจในแนวทางดนตรีสากลตะวันตกอย่างมากอีกด้วย จนได้รับการสนับสนุนจากท่านหลวงประดิษฐไพเราะให้เข้าเรียนดนตรีสากลในตอนกลางคืนที่ ‘โรงเรียนวิทยาสากล’ (ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานมอญ) ซึ่งถือเป็นโรงเรียนสอนวิชาด้านดนตรีสากลของเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย อำนวยการสอนโดย ท่านพระเจนดุริยางค์ จนได้เรียนรู้ถึงทฤษฎีดนตรีสากลเบื้องต้น จากนั้นจึงได้ไปเรียนการเล่นเปียโนกับครูนารถ ถาวรบุตร

DSCF4740

…ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.กุลธร ศิลปะบรรเลง ได้กรุณาเล่าให้พวกเราฟังว่า ท่านอาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง นั้นท่านสอนสั่งโดยตลอดถึงความแตกต่างระหว่างความเป็น “Song Writer” กับ “Composer” โดยที่ “Composer” นั้นต้องทำหน้าที่อะไรหลายอย่างมากมายยิ่งกว่า “Song Writer” เริ่มตั้งแต่การจัดทำท่วงทำนอง หรือ เมโลดี้ (Melody) อันไพเราะ – ต้องมีการเรียบเรียงดนตรีเสียงประสาน ซึ่งต้องใช้หลักทฤษฎีอย่างมาก อย่างเช่น โฟร์พาร์ท ฮาร์มอนี่ ของทางดนตรีคลาสสิกเป็นต้น – การเลือกใช้ออร์เคสเตรชั่น (Orchestration) ซึ่งหมายถึง การเลือกใช้เครื่องดนตรี ที่มีอยู่มากมายหลายอย่างในวง ทำไมเลือกใช้ไวโอลิน ไม่ใช้เชลโล่ ทำไมเลือกใช้ทรัมเปต ไม่ใช้ฮอร์น ทำไมเลือกใช้พิโคโล่ อะไรทำนองนี้ นี่ล้วนเป็นหน้าที่ของ “composer” ดนตรีจึงจะออกมาได้อย่างมีพลังเต็มทั้งวง

เพราะฉะนั้นจึงมีความแตกต่างอย่างมากระหว่าง “Song Writer” กับ “Composer” ที่คุณพ่อผม (ท่านอาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง) ท่านได้พูดย้ำเสมอมา โดนแน่นอนว่า คุณพ่อผมนั้นท่านได้วางตัวของท่านไว้เป็น “Composer” หรือ นักประพันธ์ดนตรี มิใช่เป็นแค่ “Song Writer” ที่เพียงแค่เป็นผู้เขียนเพลง หรือ แต่งเพลงขึ้นมา ซึ่งจุดนี้อาจถือเป็นจุดหนึ่งก็เป็นได้ที่ทำให้ผลงานเพลงของคุณพ่อผมมิได้เป็นที่รู้จัก หรือ นิยมกันอย่างแพร่หลาย เหมือนอย่างที่-ขอประทานโทษ-นักขียนเพลงเขาทำกันให้ถูกรสนิยมคนฟังโดยทั่วไป (ฟังง่าย)

มีเกร็ดที่เป็นเรื่องจริง ซึ่งผมอยากเล่าให้ฟังสักนิดหนึ่ง คุณพ่อผมท่านมีเพื่อนสนิทมากจนถือเป็นเกลอกันอยู่คนนึง คือท่านสด กูรมะโรหิต ท่านเป็นนักเขียน-นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงมาก -อย่างเรื่อง “ระย้า” นี่ท่านก็เขียนนะ- ท่านเขียนได้สารพัดเรื่อง รวมทั้งเรื่องการเมืองด้วย เมื่อสมัยทำละคร “คณะผกาวลี” คุณพ่อก็จะทำเพลง คุณสดก็ทำพล็อตเรื่อง คุณแม่ผม (อาจารย์ลัดดา สารตายน) ก็ทำหน้าที่ผู้กำกับละคร ทั้ง 3 ท่านร่วมทำงานเป็นทีมเดียวกัน ทีนี้คุณสดท่านก็คล้ายๆ กับคุณพ่อผม ท่านร่ำเรียนศิลปะการประพันธ์มาจากกรุงปักกิ่ง เพราะฉะนั้นงานของท่านจึงออกแนวทางคลาสสิค-สูงหน่อย ซึ่งก็แน่นอนว่า เข้าไม่ถึงคนส่วนใหญ่ของบ้านเรากัน การได้เงินมาหล่อเลี้ยงชีวิตจากการเขียนพล็อตเรื่องเช่นนี้ จึงนับเป็นเรื่องยาก ทีนี้ก็เลยมีผู้หวังดีมาพูดบอกกับคุณสด กูรมะโรหิต ในทำนองว่าทำไมท่านไม่เขียนเรื่องอย่าง พล-นิการ-กิมหงวน จะได้มีเงินมากๆ ซึ่งคุณสดก็ถึงขนาด “อึ้ง” ไปทีเดียว เพราะทำไม่ได้ มันเหมือนกับลดชั้นลงไปทำ นี่เป็นตัวอย่างนะครับ

ทีนี้วกกลับมาที่คุณพ่อผมมั่ง ก็เช่นกันละครับ ที่ย่อมจะมีผู้หวังดีมาบอกให้คุณพ่อผม แต่งเพลงให้ฟังง่ายขึ้น จะได้เข้าถึงคนฟังส่วนใหญ่ จะได้เงินมากๆ มาใช้สอย ซึ่งก็แน่นอนว่า คุณพ่อผม ท่านก็มิได้รับปากที่จะทำเช่นนั้น ทั้งๆ ที่ก็รู้เจตนาว่า เขาหวังดี ด้วยว่ามันเหมือนกับ จำเป็นต้องลดทอนความคลาสสิกลงมา จริงไหมล่ะครับ เสมือนประหนึ่งว่า ต้องลดชั้นลงมาเป็น Song Writer กระนั้น

มาดูกันที่ชีวิตของคุณพ่อผมนะ – ท่านเกิดในตระกูลดนตรีไทย มีหลวงประดิษฐไพเราะเป็นบิดาถ่ายทอดวิชาโดยตรง รอบรู้จัดเจนทั้งทางด้านการเล่นเครื่องดนตรีไทย รวมไปถึงการประพันธ์ดนตรีไทยด้วย ทีนี้ท่านก็ได้ไปร่ำเรียนด้าน “คอมโพซิชั่น” (Composition) ดนตรีสากลตะวันตกด้วย ท่านก็เลยเป็นคนแรกที่มีพื้นฐานแน่นด้านดนตรีไทย และยังมีความรู้ลึกซึ้งในหลักการดนตรีสากลด้วยไง

DSCF4757

คุณปู่ผม-หลวงประดิษฐไพเราะ-ท่านเล็งเห็นแล้วว่า หลังพ้นยุคของท่านไป ดนตรีไทยเดิมจะหมดความนิยมลง ผู้คนจะหันไปชื่นชม-นิยมในสิ่งใหม่ที่มาจากทางตะวันตก อย่างภาพยนตร์และดนตรีสากล คุณปู่ก็เลยสนับสนุนให้คุณพ่อผมได้ร่ำเรียนวิชาดนตรีสากลตะวันตกอย่างเต็มที่ เอาให้รู้แตกฉานถึงทางด้านการประพันธ์ดนตรี (Composition) กันเลย

ในยุคสมัยนึง ท่านผู้นำของเราก็มีนโยบาย “มาลานำไทย” สนับสนุนให้คนไทยนิยมในความเป็นสากล ชื่นชอบในภาพยนตร์ ชื่นชอบในดนตรีสากล ถึงกับออกกฎหมายห้ามคนไทยกินหมาก เพราะบ้วนน้ำหมากเปื้อนเปรอะเลอะเทอะในที่สาธารณะ สนับสนุนให้คนไทยนิยมในการเต้นรำแบบสากล อย่างที่เรียกกันว่า Ballroom Dance ถือเป็นการยกระดับวัฒนธรรมไทยไปสู่สากล …แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ก็มองได้ว่า เรากำลังเกื้อหนุนให้ความเป็นวัฒนธรรมไทยต้องสูญเสียไปพร้อมๆ กัน อย่างญี่ปุ่น หรือ เกาหลี นี่เขาหวงแหนวัฒนธรรมประจำชาติของเขามากนะ

คุณพ่อผมนี่ฉายแววให้คุณปู่เห็นมาตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบแล้วนะ จู่ๆ ก็ร้องเพลงที่ท่านคิดเองขึ้นมาสดๆ ซะงั้น (หัวเราะ) …หลังจากที่คุณปู่สอนวิชาดนตรีไทยให้แก่คุณพ่อผมจนหมดไส้หมดพุงแล้ว ซึ่งช่วงนั้นคุณพ่อก็โตขึ้นแล้ว ท่านก็เลยได้ส่งให้คุณพ่อผมได้ไปร่ำเรียนโน้ตดนตรีสากล เช่นเดียวกับที่ท่านได้ส่งให้พี่สาวของคุณพ่ออีก 2 คน (คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง และอาจารย์บรรเลง สาคริก) ไปร่ำเรียนอยู่แล้วที่โรงเรียนของท่านพระเจนดุริยางค์ในตอนกลางคืน จากนั้นก็ได้ให้ไปเรียนการเล่นเปียโนกับครูนารถ ถาวรบุตรด้วย (ครูนารถ ถาวรบุตร นั้นเชี่ยวชาญด้านการแต่งเพลงมาร์ช)

DSCF4772

ช่วงนั้นคุณพ่อผมน่าจะกำลังเรียนชั้นปีที่ 1 หรือ 2 ของธรรมศาสตร์อยู่ และก็มาเป็นครูสอนพิเศษที่ศิลปากรด้วย ตอนนั้นมหาวิทยาลัยศิลปากรก่อตั้งขึ้นมาโดยคุณหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยความที่คุณหลวงวิจิตรวาทการ ท่านเป็นคนเก่งและฉลาดมาก ท่านรู้ว่าใครเก่งกาจ หรือว่า มีความถนัดทางด้านไหน ท่านก็จะให้เข้ามารับผิดชอบ-ดูแลทางด้านนั้น ประวิติศาสตร์, วรรณคดี, ดนตรีไทย, ดนตรีสากล อย่างดนตรีไทย ท่านก็ได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐไพเราะเป็นหัวหน้าแผนก ส่วนดนตรีสากล ท่านก็ได้มอบหมายให้พระเจนดุริยางค์เป็นหัวหน้าแผนก

ทีนี้หลวงประดิษฐไพเราะ ท่านก็นำเอาคุณพ่อและคุณป้า-คุณอาของผมนี่แหละ (ก็ล้วนเป็นลูกท่านทั้งนั้น) เข้าไปเป็นครูสอนพิเศษวิชาดนตรีไทย วันนึงคุณพ่อก็พูดเปรยกับคุณปู่ว่า อยากจะไปเรียนวิชาคอมโพซิชั่นที่ประเทศฟิลิปินส์ ซึ่งก็ถือว่า ประหยัดสุดแล้ว แต่ตอนนั้นต้องใช้การเดินทางไปทางเรือเท่านั้น เครื่องบินยังไม่มี คุณปู่ก็เลยบอกให้คุณพ่อเรียนให้จบธรรมศาสตร์ก่อน ทีนี้ในตอนนั้นน่าจะประมาณช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 7 (ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2) ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้เชิญรัฐบาลไทยให้ส่งคณะนาฏศิลป์และดนตรีไทยไปแสดงและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยตามหัวเมืองต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 เดือน ทางรัฐบาลไทยก็ได้มอบหมายให้คุณหญิงประภาพรรณ วิจิตรวาทการ (นามสกุลเดิม ‘รพิพันธุ์’) ภรรยาของคุณหลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหน้าคณะ โดยมีคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง – คุณป้าของผม ร่วมเดินทางไปกับคุณพ่อผมด้วย พร้อมกับครู-อาจารย์ทางด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยอีกราวๆ 40 กว่าชีวิต

ทีนี้คุณหญิงชิ้น ท่านก็รักและเอ็นดูในคุณแม่ผมมาก (อ.ลัดดา สารตายน) ซึ่งตอนนั้นก็เริ่มดูใจกับคุณพ่อผมอยู่ คุณแม่ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยม 5 หรือ 6 นี่ละที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย พอก่อตั้งม.ศิลปากรขึ้นมา ก็ออกจากเบญจมราชาลัยมาต่อที่แผนกนาฏศิลป์เลย คือตามคุณป้า -ซึ่งเดิมทีก็สอนอยู่ที่เบญจมราชาลัยนั่นแหละ- มาอยู่ที่ม.ศิลปากรด้วย ก็เลยให้คุณแม่ผมร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อช่วยเผยแพร่ทางด้านนาฏศิลป์ไทย

คุณป้าผม (คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง) เคยเล่าว่า ในคืนวันสุดท้ายของการแสดง ซึ่งเป็นการแสดง ณ กรุงโตเกียว ที่สถาบันการดนตรีชื่อใหม่เอี่ยม “Imperial Academy of Music” ของมหาวิทยาลัย เกได (Gei-Dai) ทีนี้จริงๆ แล้ว คำว่า “Gei-Dai” นั้น มีความหมายถึง “ศิลปะ” ดังนั้นมหาวิทยาลัย เกได ก็เลยเปรียบได้กับมหาวิทยาลัย ศิลปากรของเรานั่นเอง ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้เรียนเชิญโปรเฟสเซอร์ชื่อดังๆ ของโลกมาร่วมสอนวิชาทางด้านดนตรีคลาสสิก รวมทั้งวิชาการประพันธ์ดนตรี และการแสดงด้วย หนึ่งในโปรเฟสเซอร์ที่เชิญมาร่วมก่อตั้งสถาบัน และช่วยสอนก็คือ Dr.Klaus Pringsheim ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ผู้เป็นศิษย์ของคีตกวีเอกของโลกถึง 2 ท่าน คือ Gustav Mahler และ Richard Strauss

Dr.Klaus Pringsheim ท่านเป็นหัวหน้าคณาจารย์ทางด้านคอมโพซิชั่นอยู่ที่ Imperial Academy of Music นี่แหละ ทีนี้คุณพ่อผมก็เกิดไปนั่งดูการแสดงนาฏศิลป์อยู่ที่เก้าอี้แถวหน้า ก่อนจะถึงคิวท่านขึ้นแสดง ได้มีฝรั่งคนหนึ่งมานั่งใกล้ๆ กับคุณพ่อผม ท่านก็เลยเอ่ยปากถามไถ่ไป จนทราบว่าฝรั่งคนนั้นก็คือ Dr.Klaus Pringsheim นั่นเอง สอนทางด้านวิชาคอมโพซิชั่นอยู่ที่เก-ไดนี่ – เท่านั้นแหละ คุณพ่อผมก็เลยเอ่ยปากถาม Dr.Klaus Pringsheim ไปว่า “แล้วอย่างท่านเนี่ยะ สามารถที่จะเรียนคอมโพซิชั่นได้ไหม ?”

Dr.Klaus Pringsheim ก็ตอบกลับมาด้วยคำพูดแค่ 2 คำ “Why not ?” เท่านั้นแหละครับ คุณพ่อลุกขึ้นแล้วเดินไปหาคุณป้า (คุณหญิงชิ้น) แล้วบอกว่า “ขอไม่กลับ นะครับ ผมขอเรียนต่อที่นี่” คุณป้าก็ตกใจ เลยไปแจ้งต่อทางสถานทูตให้ช่วยติดต่อกับทางหลวงประดิษฐไพเราะ ซึ่งคุณปู่ผมท่านก็ยินดี คุณป้าก็เลยจำต้องควักหมดกระเป๋า มอบเงินไว้ให้ทางคุณพ่อผมไว้ใช้จ่าย คุณพ่อผม “ประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง” จึงเป็นนักเรียนไทยคนแรกของสถาบันแห่งนี้ ที่ร่ำเรียนศึกษาด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวจนจบการศึกษาได้รับปริญญาตรี ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ปีกว่า

ครั้นพอจบการศึกษา เดินทางกลับมาเมืองไทย คุณพ่อผมก็ได้เข้าทำงานกับพระเจนดุริยางค์สอนวิชาประพันธ์ดนตรีที่ม.ศิลปากร และรับหน้าที่ควบคุมวงให้กับกรมศิลปากรด้วย ต่อมาพอผ่านพ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่อผมก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ รวมทั้งคุณแม่ผมด้วย แล้วมาปรึกษากับคุณปู่และป้าๆ พอต่อมาก็ได้ก่อตั้งคณะละครขึ้นมา ในลักษณะของละครเวที ใช้ชื่อว่า “คณะศิษย์เก่าศิลปากร” เล่นละครเรื่องแรก คือ “ผกาวลี” ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก นี่เป็นครั้งแรกที่คุณพ่อลงมือประพันธ์เพลงของตัวเอง (ตอนอยู่กรมศิลปากรนั้น ก็ได้แต่งเพลงมอบไว้ให้หลายเพลง) เพื่อให้เล่น-ร้องประกอบละครเวที ในทำนองเหมือนอย่างละครเวทีเรื่อง Phantom of The Opera ของ Andrew Lloyd Weber นั่นแหละ

“คณะศิษย์เก่าศิลปากร” เล่นละครเรื่อง ผกาวลี ที่โรงละครของกรมศิลปากร (โรงละครเล็กของโรงละครแห่งชาติ ที่สนามหลวง ณ ปัจจุบัน) มีผู้มาชมล้นหลาม จนต้องเปิดการแสดงรอบที่ 2 ซึ่งครั้งนี้รัชกาลที่ 8 และพระอนุชา (รัชกาลที่ 9) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรด้วย โดยหลังเสร็จสิ้นการแสดง ทั้ง 2 พระองค์ยังได้ทรงสอบถามถึงเรื่องดนตรีที่ใช้ประกอบละคร

จากชื่อ “คณะศิษย์เก่าศิลปากร” ได้เปลี่ยนไปใช้เป็น “คณะผกาวลี” และคุณพ่อได้ประพันธ์เพลงขึ้นมาอีกมากมายหลายเพลง เพื่อใช้ประกอบละครอีกประมาณ 15-16 เรื่อง จนต่อมาความนิยมในการชมละครเวทีลดน้อยถอยลงมาก โรงละครหลายโรงจำต้องยุบตัวลง จนไม่เหลือโรงละครให้ใช้เล่นได้อีก ช่วงนั้นน่าจะประมาณปีพ.ศ.2491 แม้แต่โรงละครเฉลิมนคร และโรงละครเฉลิมไทย ก็ยังต้องปิดตัวเอง และปรับปรุงใหม่เป็นโรงภาพยนตร์ “คณะผกาวลี” จึงต้องยุบตัวลง

คุณพ่อจึงหันมาสอนวิชาดนตรีอยู่กับบ้าน บางครั้งก็ได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษบ้าง ส่วนคุณแม่ก็เปิดสอนนาฏศิลป์ที่บ้านด้วยเช่นกัน คุณเกษม สุวงศ์, คุณหมอ วราวุธ สุมาวงศ์ (นามแฝงว่า คุณหมอ วรา วรเวช), คุณอัปสร กูรมะโรหิต ล้วนเคยเป็นลูกศิษย์ของคุณพ่อผมทั้งนั้น

ในตอนนั้นคุณพ่อน่าจะอายุประมาณ 40 กว่าแล้ว ก็ไม่ค่อยมีอะไรทำ เปิดสอนวิชาดนตรีอยู่กับบ้านอย่างที่บอก ต่อมาคุณเกษม สุวงศ์ ซึ่งเป็นสถาปนิกจบจากจุฬาฯ และมีความชื่นชอบในดนตรีคลาสสิกเป็นชีวิตจิตใจ ตัวท่านเองก็เล่นเปียโนอยู่ด้วย ได้จัดดนตรีคลาสสิกเล่นออกอากาศสดๆ ทางสถานีวิทยุ 1 ปณ.ของกรมประชาสัมพันธ์ในสมัยนั้น เกิดได้ไปอ่านเจอประกาศกรอบเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ประกาศเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ ร่วมส่งบทเพลงซิมโฟนีเข้าประกวด เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธแห่งเบลเยี่ยมจะเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ

DSCF4789

คุณเกษมก็ได้นำข่าวมาบอกกับคุณพ่อผม ให้รีบแต่งเพลงส่งเข้าประกวด คุณพ่อถึงกับหัวเราะว่า จะไปแต่งทันได้อย่างไร ในอีกแค่ไม่กี่วัน คุณเกษมจึงขันอาสาต่างๆ นานาจนคุณพ่อตกปากรับคำ ตอนนั้นตัวผมเอง (รองศาสตราจารย์ ดร.กุลธร ศิลปบรรเลง) อายุได้ 11-12 ขวบแล้ว ยังภาพเหตุการณ์นั้นได้ คุณเกษมถึงกับต้องมากินมานอนที่บ้านนี่กันเลย คุณพ่อผมส่งเพลงชื่อว่า Siamese Suite (ไซมีส สวีท) เข้าประกวด ประกอบไปด้วย 4 มูฟเมนต์ครบองค์ประกอบหลักของซิมโฟนี

โดยที่มูฟเมนต์แรกนั้นใช้ชื่อว่า Moon Over The Temple ซึ่งตัดมาจากบทเพลงที่คุณพ่อผมแต่งขึ้นใช้เป็นวิทยานิพนธ์ตอนที่จบจากญี่ปุ่น นำมาใช้เป็นท่อนสั้นๆ ส่วนมูฟเมนต์ที่ 2 นั้นคุณพ่อได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ ใช้ชื่อว่า In The Grand Palace ต่อด้วยมูฟเมนต์ที่ 3 ซึ่งคุณพ่อได้ประพันธ์ขึ้นใหม่เช่นกัน ใช้ชื่อว่า Siamese Lament ออกทางท่วงทำนองโศกหน่อยๆ ส่วนท่อนสุดท้าย มูฟเมนต์ที่ 4 ใช้ชื่อว่า At A Wedding In Bangkok China Town ซึ่งก็หมายถึง ย่านเยาวราชนั่นเอง

มูฟเมนต์นี้ออกท่วงทำนองจีน ผู้คนที่ได้ฟังชื่นชอบกันมาก เล่นกันยาวเฟื้อยเลยทีเดียว …ท่อนเพลงนี้มีที่มาจากไหน ถึงขนาดส่งผลให้บทเพลง “Siamese Suite” ได้รับรางวัลชมเชย (ติดรางวัลที่ 5 จากทั่วทั้งโลก) และต่อมาได้ถูกนำมาใช้แสดงเป็น World Premiere ด้วยวงซิมโฟนีระดับชาติ (ท่านอาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลงได้ร่วมเดี่ยวระนาดด้วย) ในโอกาสเปิดการประชุมดนตรีแห่งเอเชีย หรือ Southeast Asian Music Conference ที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ – “เรา” ขออนุญาตยกยอดไป “เฉลย” ให้ได้รับทราบกันในภาคต่อของบทความพิเศษนี้ในฉบับหน้า พร้อมเนื้อหาและรายละเอียดที่น่าสนใจ ซึ่งคัดลอก-ตัดทอนมานำเสนอจากหนังสืออนุสรณ์การพระราชทานเพลิงศพนาย ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง และหนังสืออนุสรณ์การพระราชทานเพลิงศพนาง ลัดดา ศิลปบรรเลง อันทรงคุณค่าอย่างมากๆ ..โปรดติดตาม