ขุดราก Rock & Roll (ตอนที่ 7) ร็อคอะบิลลี จุดเริ่มต้น ร็อค แอนด์ โรลล์

0

จ้อ ชีวาส

“Rock and Roll” ถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 ก็จริง แต่รากของดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ ถูกหยั่งรากมาเป็นเวลานานกว่า 3 ศตวรรษก่อนหน้านั้นแล้ว และถึงแม้ประวัติศาสตร์ดนตรีร็อคจะบันทึกไว้ว่า Alan Freed เป็นผู้ที่บัญญัติคำว่า “ร็อค แอนด์ โรลล์” ขึ้นมา  หรือแม้จะมีการกล่าวกันว่า Bill Haley กับวง The Comets ของเขาเป็นผู้จุดประกายดนตรีรูปแบบใหม่ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็น ร็อค แอนด์ โรลล์ ขึ้น หรือไม่ว่าจะเป็น Elvis Presley ที่เป็นผู้ทำให้ ร็อค แอนด์ โรลล์ ดังกระฉ่อนโลกจนได้รับการขนานนามเป็น “King of Rock and Roll” ก็ตาม 

แต่บันทึกประวัติศาสตร์ ร็อค แอนด์ โรลล์ จะไม่มีทางสมบูรณ์ได้เลย หากไม่มีการบันทึกชื่อของ Sam Phillips และ Sun Records กิจการบริษัทอัดแผ่นเสียงของเขาที่เมมฟิส เทนเนสซี อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบเพชรเม็ดงามของวงการร็อคเป็นคนแรก 

ซึ่ง แซม ฟิลลิพส์ นอกจากจะเป็นผู้ค้นพบ เอลวิส เพรสลีย์ และเป็นผู้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกันเป็นวงกว้าง ก่อนส่งต่อไปให้กับ Tom Parker และบริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่ RCA Records เป็นผู้ทำให้ เอลวิส เพรสลีย์ โด่งดังไปทั่วโลก และทำให้คนทั้งโลกรู้จักกับ ร็อค แอนด์ โรลล์ แล้ว  แซม ฟิลลิพส์ และ ซัน เร็คคอร์ดส ของเขายังเป็นผู้ค้นพบและผลักดันเพชรของวงการ ร็อค แอนด์ โรลล์ อีกหลายเม็ดออกมาให้โลกได้รู้จักอีกด้วย จงน่าที่จะกล่าวได้ว่า แซม ฟิลลิพส์ ก็คือบุคคลสำคัญของวงการดนตรีร็อคของตะวันตก ที่เป็นผู้จุดระเบิด ร็อค แอนด์ โรลล์ ให้ระเบิดขึ้นมาบนโลกใบนี้นั่นเอง

Sun Records แหล่งผลิตดาราร็อค

โลกอาจไม่มีวันรู้จักกับ เอลวิส เพรสลีย์ หรือดาราร็อคอีกหลายๆคนเลย ถ้าหาก แซม ฟิลลิพส์ ไม่เบื่อการนั่งจัดรายการเพลงอยู่ที่สถานีวิทยุเสียก่อน แล้วคิดหาธุรกิจใหม่เพื่อปั้นนักร้องนักดนตรีมีอนาคตออกมาสู่โลกดนตรี 

ในปี ค.ศ. 1946 แซม ฟิลลิพส์ ได้รามือจากงานนักจัดรายการวิทยุที่เมืองฟลอเรนซ์ รัฐอลาบามา แล้วย้ายถิ่นฐานมุ่งหน้าสู่เมมฟิส รัฐเทนเนสซี ซึ่งที่นี่ทำให้ ฟิลลิพส์ เริ่มรู้จักกับดนตรี Rhythm and Blues และ Country แบบของคนทางใต้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งดนตรีทั้งสองแบบนี้ต่อมาได้ถูกนำมาผสมผสานกันจนกลายเป็นดนตรีรูปแบบที่เรียกว่า Rockabilly  ทำให้ แซม ฟิลลิพส์ เริ่มมองเห็นลู่ทางที่จะค้นหานักร้องนักดนตรีในแนว ร็อคอะบิลลี มาเข้าสังกัดเพื่อผลิตผลงานขยายตลาดออกไปให้กว้างขวางขึ้น  

แซม ฟิลลิพส์ จึงเริ่มธุกิจของเขาด้วยการเปิดสติวดิโอบันทึกเสียงเล็กๆขึ้นเมมฟิสนี้เอง เขาใช้เวลารวบรวมเงินทุนและศึกษาหนทางในการทำธุรกิจดนตรีอย่างแท้จริงอยู่หลายปี ก่อนที่สติวดิโอของเขาจะก่อตั้งขึ้นเป็นผลสำเร็จก่อน็จก่อนปี ค.ศ. 1950  สติวดิโอแห่งนี้ก็คือ Sun Studio ที่เปิดโอกาสให้กับนักดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ หลายต่อหลายคนได้ผลิตผลงานต่างๆออกมา และสร้างชื่อเสียงให้กับคนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก

Sam Phillips at the reel to reel console at Sun Studios, Memphis TN. Courtesy of Sam Phillips

ซึ่งแรกทีเดียวนั้น แซม ฟิลลิพส์ ยังคงไม่สามารถผลิตแผ่นเสียงเองได้ จึงต้องว่าจ้างให้โรงงานผลิตแผ่นเสียงในชิคาโกและลอสแอนเจลิสเป็นผู้ผลิตแผ่นเสียงไปก่อนระยะหนึ่ง แต่ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 1952  ฟิลลิพส์ ก็สามารถเขาระดมเงินทุนได้อีกก้อนหนึ่ง และเริ่มต้นก่อตั้งโรงานผลิตแผ่นเสียงของตัวเองได้ และเริ่มต้นการผลิตแผ่นเสียงอย่างเต็มตัวภายใต้ตรา Sun Records นับจากนั้นเป็นต้นมา

นับเป็นบริษัทแรกของเมมฟิสที่ผลิตงานผลงาน ริธึม แอนด์ บูลส์ และ ร็อคอะบิลลี ออกสู่ตลาด และสร้างชื่อเสียงให้กับศิลปินในช่วงทศวรรษที่ 50 มากมายหลายคน รวมถึง เอลวิส เพรสลีย์ด้วย  กระทั่งเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1954  กิจการของ ซัน เรคคอร์ดส ก็เริ่มสั่นคลอนเมื่อ ฟิลลิพส์  ตกลงขายสัญญาของ เอลวิส  เพรสลีย์ ให้กับ อาร์ซีเอ เรคคอร์ดส

ซัน เรคอร์ดส ได้ผลิตนักร้องนักดนตรีที่มีชื่อเสียงขึ้นหลายคน นอกจาก เอลวิส เพรสลีย์ แล้ว ก็ยังมี เช่น Carl Perkins, Jerry Lee Lewis, Roy Orbison, Johnny Cash และ Charlie Rich  ซึ่งต่อมาล้วนแต่โด่งดังและนับเป็นตำนานของวงการดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ ทั้งสิ้น  แต่ต่อมาภายหลัง แซม ฟิลลิพส์ ก็ต้องปล่อยศิลปินเหล่านั้นไปสร้างความโด่งดังของตัวเองในระดับที่ใหญ่กว่าเช่นเดียวกับที่เขายอมปล่อย เอลวิส เพรสลีย์ ไปอยู่ในมืออาชีพในระดับที่ใหญ่กว่าเพื่อความก้าวหน้า เพราะเกินความสามารถของเขาหากต้องการเดินไปสู่ระดับสากลหรือระดับโลกต่อไป 

ในปี ค.ศ. 1960 แซม ฟิลลิพส์ ได้เปลี่ยนชื่อของ ซัน สติวดิโอ เป็นชื่อใหม่ว่า New Memphis Studio  โดยเปิดสาขาใหม่ขึ้นที่แนชวิลล์ เทนเนสซี ในปี ค.ศ. 1961  แต่แล้วในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 บริษัทตกต่ำลงจนต้องขายกิจการให้กับ Shelby Singleton แห่ง Mercury Records ในปี ค.ศ. 1969  และเปลี่ยนชื่อเป็น Sun International Corporation of Nashville  แต่ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อใหม่อีกเป็น Sun Entertainment Corporation เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ของศิลปินดังที่เกิดจากค่าย ซัน เรคคอร์ดส ทั้งหมดที่บันทึกเสียงเอาไว้ใช่วงที่มีสัญญากับ ซัน เร็คคอร์ดส ออกจำหน่ายมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

Rockabilly ดนตรีคันทรีร็อคแบบของชาวใต้

หากจะถามว่าดนตรี ร็อคอะบิลลี เป็นอย่างไร คำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คือเพลงของ เอลวิส เพรสลีย์ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆของ เอลวิส เพรสลีย์ นั้นก็คือแนวเพลง ร็อคอะบิลลี นั่นเอง ดนตรีแบบนี้มีถิ่นกำเนิดจากรัฐต่างๆทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงกลางศตวรรษที่ 20  โดยนับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมานั้น เอลวิส เพรสลีย์ ได้ทำให้ดนตรีร็อคอะบิลลีของคนใต้แบบนี้โด่งดังไปทั่วโลก จากนั้นจึงศิลปินชาวใต้อีกเป็นจำนวนมากที่เรียงแถวออกมาสร้างกระแสให้ดนตรีร็อคอะบิลลีกลายเป็นดนตรีแห่งยุคสมัยในช่วงเวลานั้น โดยผู้ซึ่งเป็นผู้จุดกระแสให้ดนตรีร็อคอะบิลลีกลายเป็นดนตรีที่ได้รับการคลั่งไคล้ในช่วงเวลานั้นก็คือ ซัน เรคอร์ดส นั่นเอง ที่กลายเป็นโรงงานผลิตดาราร็อคอะบิลลีพรั่งพรูสู่ตลาดอย่างมากมาย

คาร์ล เพอร์กินส์ (Carl Perkins)

อีกผู้หนึ่งที่ถือเป็นศิลปินซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมากของค่าย ซัน เรคคอร์ดส  เพอร์กินส์  เข้าสู่สังกัดของ ซัน เรคคอร์ดส ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1954 โดยเริ่มสร้างผลงานจนเป็นที่นิยมขึ้นหลัง เอลวิส เพรสลีย์ ไม่นาน กระทั่งภายหลังจากที่ เอลวิส เพรสลีย์ ย้ายสังกัดไปอยู่ที่ อาร์ซีเอ แล้วนั่นเอง คาร์ล เพอร์กินส จึงได้โอกาสสร้างเพลงฮิตขึ้นบ้าง และกลายเป็นตัวชูโรงให้กับ ซัน เรคคอร์ดส์ เป็นรายต่อมา ด้วยเพลง Blue Suede Shoes ที่กลายเป็นเพลงฮิตติดอันดับ 1 ประเภทเพลงคันทรีในสหรัฐอเมริกา

โดย แซม ฟิลลิพส์ ก็พยายามที่จะปั้น คาร์ล เพอร์กินส์ ให้ขึ้นสู่ความนิยมได้เช่นเดียวกับ เอลวิส เพรสลีย์ ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ  คาร์ล เพอรฺ์กินส์ มีความสามารถในการแต่งเพลงและเล่นกีตาร์ที่ค่อนข้างสูง เขาจึงสร้างรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเองขึ้น โดยหลีกเลี่ยงที่จะเดินตามรอยเท้าเดิมของ เอลวิส เพรสลีย์ ให้ได้ เพื่อเขาจะได้กล่าวอย่างภาคภูมิว่าตนก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จด้วยตัวเอง ไม่ใช่อาศัยใบบุญของ เพรสลีย์ แต่อย่างใด ซึ่งแม้แต่ เอลวิส เพรสลีย์ เองก็ยังไม่สามารถแต่งเพลงเองได้ ต้องใช้นักแต่งเพลงคนอื่นช่วยแต่งให้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเพลงฮิตส่วนใหญ่ของ เอลวิส เพรสลีย์ นั้น คนอื่นเป็นคนแต่งทั้งสิ้น โดยเฉพาะนักแต่งเพลงคู่ประจำ คือ Jerry Leiber และ Mike Stroller   

แต่ คาร์ล เพอร์กินส์ นั้นเป็นผู้แต่งเพลงด้วยตัวเอง เพลงฮิตที่ติดอันดับความนิยมของ คาร์ล เพอร์กินส์ นอกจาก Blue Suede Shoes แล้วยังมีเพลงอื่นๆอีก เช่น Honey Don’t, Boppin’ the Blues, Put Your Cat Clothes On และ Pink Pedal Pushers เป็นต้น  คาร์ล เพอร์กินส์ เป็นชาวเทนเนสซีโดยกำเนิด ประสบความสำเร็จจากผลงานต่างๆในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1954 ถึง ค.ศ. 1957  จากนั้นเขาก็หายไปจากวงการเพลงช่วงระยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1964  ในการกลับมาเขาก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย เขาได้รับการต้อนรับอีกครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษนั้นได้รับการตอบรับดียิ่งกว่าในสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดของเขาเองเสียอีก

เจอร์รี ลี ลิวอีส (Jerry Lee Lewis)

สำหรับดาราของค่าย ซัน เรคคอร์ดส ที่มีชื่อเสียง และเป็นผู้จุดประกายให้ดนตรีร็อคอะบิลลีเป็นที่สนใจมากขึ้นอีกคนหนึ่งก็คือ เจอร์รี ลี ลิวอีส  และนับเป็นตัวชูโรงที่สำคัญอีกคนหนึ่งของค่าย ซัน เรคอร์ดส ที่เป็นผู้สร้างเพลงซึ่งเป็นตำนานออกมามากมายไม่แพ้กัน  

เจอร์รี ลี ลิวอิส เป็นชาวหลุยเซียนา เริ่มเข้าสังกัดของ ซัน เรคคอร์ดส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 และเริ่มมีผลงานที่เป็นเพลงฮิตเพลงแรกในปี ค.ศ. 1957 ด้วยเพลง Whole Lotta Shakin’ Goin’ On  ก่อนหน้าที่ ลิวอีส จะเข้าสู่ ซัน เรคอร์ดส นั้น เขาเคยเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกสอนบาทหลวงมาก่อน เนื่องจากครอบครัวเคร่งศาสนา และบิดาก็ต้องการให้เขาโตขึ้นมาเป็นบาทหลวง แต่ ลิวอิส หลงใหลในเสียงดนตรีมากกว่า จึงไม่สามารถทำตามความต้องการของบิดาได้ และต้องถูกไล่ออกจากโรงเรียนนักบวชกลางคัน จากนั้นจึงมุ่งหน้ามาทางด้านดนตรีตามความฝันของเขาเอง ด้วยเหตุนี้เขาจึงตัดสินใจเดินทางออกจากหลุยเซียนา แล้วเดินทางมาที่เมมฟิส เทนเนสซี และเข้าสังกัดกับ ซัน เรคอร์ดส ด้วยความหวังเดียวกันกับศิลปินคนอื่นๆที่เดินทางมาหา แซม ฟิลลิพส์ เพราะเชื่อว่าบริษัทเล็กๆแห่งนี้สามารถสานความฝันไปสู่สิ่งที่พวกเขาต้องการได้ นั่นก็คือความสำเร็จ  สำหรับเพลงฮิตเพลงอื่นๆของ เจอร์รี ลี ลิวอิส นั้นมีอีกมากมาย เช่น Great Balls of Fire, Breathless, High School Confidential เป็นต้น  

แต่ภายหลังจากที่ เจอร์รี ลี ลิวอิส เริ่มมีชื่อเสียงแล้ว เขากลับพบกับความยุ่งยากครั้งใหญ่เมื่อเดินทางไปเปิดทัวร์คอนเสิร์ตที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1958 การเดินทางไปลอนดอนครั้งนั้นกลับกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของเขาด้วยสาเหตุของความประพฤติที่ผิดศีลธรรมจากเรื่องการสมรสกับเด็กสาววัยเพียง 13 ปีที่แดงออกมา สาเหตุเริ่มจากที่ ลิวอีส นั้นสมรสถึง 3 หน และเจ้าสาวในการสมรสหนที่ 3 ของเขานั้นก็มีวัยเพียง 13 ปีเท่านั้น และยังเป็นลูกพี่ลูกน้องของเขาเองอีกด้วย เรื่องนี้ ลิวอิส ปิดใครๆมาโดยตลอดว่าภรรยาของเขามีวัยเกิน 15 ปี แล้ว แต่หนังสือเดินทางของภรรยาซึ่งเขาพาไปทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนั้นด้วยระบุชัดเจนว่าเธอมีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น

เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดไปตามสื่อมวลชน คอนเสิร์ตของเขาในอังกฤษจึงถูกยกเลิกทั้งหมด ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อข่าวนี้แพร่มาถึงสหรัฐอเมริกา ลิวอิส ก็ถูกขึ้นบัญชีดำจากรายการวิทยุต่างๆ และมีการต่อต้านไม่ให้ขายหรือเปิดเพลงของเขาตามที่ต่างๆอีกด้วย ดัวยเหตุนี้จึงทำให้ชื่อของ เจอร์รี ลี ลิวอีส หายไปจากวงการเพลงนานถึง 10 ปีเต็ม

แต่แล้วเขาก็สามารถกลับมาโด่งดังได้อีกครั้งในฐานะดาราคันทรีในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1968 ถึง 1970  โดยมีเพลงฮิตติดอยู่ในอันดับ 1 – 10 ของชาร์ตเพลงคันทรีไม่ต่ากว่า 30 เพลง  เจอร์รี ลี ลิวอีส มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ เอลวิส เพรสลีย์ อยู่แป็นประจำ ทั้งในด้านความสำเร็จในช่วงเวลาที่ไล่เลียกัน และบุคลิกลักษณะ หน้าตาท่าทางและที่มีเสน่ห์ทำให้แฟนเพลงสาวๆหลงใหลคลั่งไคล้เช่นเดียวกัน จนถึงกับมีคอลัมนิสต์บางคนกล่าวถึงเขาว่าอาจประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างจาก เอลวิส เพรสลีย์  ถ้าเขาไม่ถูกต่อต้านจากความผิดพลาดในครั้งนั้นเสียก่อนก็เป็นได้

รอย ออร์ไบสัน (Roy Orbison)

ดาราร็อคอะบิลลีที่ผ่านการปลุกปั้นโดย ซัน เร็คคอร์ดส อีกคนหนึ่งคือ รอย ออร์ไบสัน  รอย ออร์ไบสัน เป็นชาวเท็กซัส เข้าร่มในสังกัด ซัน เร็คคอร์ดส ในปี ค.ศ. 1956  แต่ได้รับความสำเร็จอย่างแท้จริงเมื่อย้ายสังกัดไปอยู่กับค่าย Monument Records ในปี ค.ศ. 1960  เพลงฮิตที่ติดอันดับ Top 10 ของ ออร์ไบสัน ก็คือ Only the Lonely ในปี ค.ศ. 1960 

รอย ออร์ไบสัน เป็นศิลปินอีกผู้หนึ่งที่มีปัญหาทางการมองเห็นมาแต่เด็ก แต่มีหัวใจสู้จนสามารถเอาชนะปมด้อยนี้จนสามารถประสบความสำเร็จในอาชีพที่ตนรักได้  ครอบครัวของ ออร์ไบสัน เป็นครอบครัวยากจนที่พ่อแม่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วง Great Depression หรือช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตกต่ำอย่างที่สุดในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930  จึงไม่มีปัญญาเลี้ยงลูกให้กินอิ่มและมีสุขอนามัยดีได้ ซึ่งพี่น้องของเขาทุกคนต่างก็มีปัญหาทางสายตาทั้งสิ้น สิ่งนี้อาจมาจากกรรมพันธุ์ก็เป็นได้  รอย ออร์ไบสัน รักการเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เขาร่วมตั้งคณะดนตรีกับเพื่อนๆมาตั้งแต่ยังเรียนไฮสคูล และใฝ่ฝันที่ต้องการจะเป็นนักร้องมีชื่อเสียงมาตั้งแต่นั้น

เมื่อเขาเห็นการแสดงของ เอลวิส เพรสลีย์ ที่มีอายุแก่กว่าเขาเพียงปีเดียวเท่านั้น จึงเกิดแรงบันดาลใจต้องการเดินตามอย่าง เพรสลีย์ บ้าง  และแรงบันดาลใจนี้เองที่พาเขาเดินทางไปยังเมมฟิส เทนเนสซี ไปพบกับ แซม ฟิลลิพส์ และเซ็นสัญญาเข้าสังกัดกับ ซัน เร็คคอร์ดส

จอห์นนี แคช (Johnny Cash)

ยังมีศิลปินชื่อดังที่มักถูกกล่าวถึงในโลก ร็อค แอนด์ โรลล์ อีกคนหนึ่งที่เกิดจาก ซัน เร็คคอร์ดส ก็คือ จอห์นนี แคช  จอห์นนี แคช อาจไม่ได้ผลงานที่ออกไปในแนวร็อคอะบิลลีชัดเจนอย่างเช่นคนอื่นๆ แต่ออกไปในแนวคันทรีมากกว่า แต่เขาก็ถือเป็นตำนาน ร็อค แอนด์ โรลล์ คนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องจากนักดนตรีร็อครุ่นหลังอย่างมากเช่นกัน 

จอห์นนี แคช เป็นชาวอาร์คันซอส์ และย้ายไปอยู่ที่เมมฟิส เทนเนสซีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954  เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่เดินเข้าไปหา แซม ฟิลลิพส์ ด้วยความหวังในชื่อเสียง  มีเรื่องเล่าว่าวันที่เขาเดินเข้าไปหา แซม ฟิลลิพส์ นั้น  แคช นำเพลงแบบกอสเปลไปเล่นให้ ฟิลลิพส์ ฟัง แต่เสียงของเขาต่ำมาก ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะและถือเป็นเสน่ห์ของ จอห์นนี แคช ในภายหลัง  แต่ ฟิลลิพส์ ฟังแล้วไม่เข้าหู จึงไล่เขากลับไป โดยบอกกับ จอห์นนี แคช เพียงว่า น้ำเสียงของเขาดีอยู่ แต่ไปหาเพลงที่เข้ากับเสียงของเขา แล้วคิดว่าเป็นเพลงขายได้มาเล่นให้ฟังใหม่อีกทีดีกว่า ซึ่ง แคช ก็กลับไปค้นหาเพลงแบบร็อคอะบิลลีแล้วฝึกจนมั่นใจ จึงกลับมาที่ ซัน สติวดิโอ อีกที แล้ววันนั้น แซม ฟิลลิพส์ ก็เซ็นสัญญากับเขา 

จอห์นนี แคช มีเพลงฮิตเพลงแรกที่ออกโดย ซัน เร็คคอร์ดส ในปี ค.ศ. 1955 คือ Cry! Cry! Cry! ติดอยู่ในอันดับ Top 20 ของคันทรีชาร์ตในเวลานั้น

ชาร์ลี ริช (Charlie Rich)

ดาราที่เกิดจาก ซัน เร็คคอร์ดส์ อีกคนที่จะกล่าวถึงคือ ชาร์ลี ริช  ชาร์ลี ริช เป็นชาวอาร์คันซอส์ เขาศิลปินร็อคอะบิลลีของ ซัน เร็คคอร์ส ที่มีผลงานหนักไปทางคันทรีที่ชัดเจนมากกว่าใคร 

ริช เริ่มต้นเข้าสังกัดใน ซัน เร็คคอร์ดส แตกต่างจากคนอื่นที่เดินเข้าไปหา แซม ฟิลลิพส์ เพราะต้องการให้ ฟิลลิพส์ ปั้นพวกเขาให้มีชื่อเสียง  ริช เป็นนักดนตรีรับจ้างในวงแบ็คอัพประจำห้องอัดของ ซัน สติวดิโอ มาก่อนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958  เขาเล่นทั้งเปียโนและกีตาร์ในผลงานของ เจอร์รี ลี ลิว อิส และ จอห์นนี แคช หรือศิลปินอื่นๆที่เข้ามาใช้ห้องอัดของ ซัน สติวดิโอ  ชาร์ลี ริช มีพื้นเพทางดนตรีที่ดีมาแต่เด็ก โดยเล่นแซ็กโซโฟนให้กับวงของโรงเรียมมาตั้งแต่ชั้นประถม และรับการถ่ายทอดการเล่นเปียโนมาจากแม่ เขาเคยร่วมกับพ่อและแม่เล่นเพลงกอสเปลให้กับโบสถ์ในหมู่บ้านมาก่อน เมื่อเริ่มโตขึ้นเขาก็เริ่มชอบทั้งเพลงแจ็ซซ์และบลูส์ที่รับถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่นั่นเอง 

ตอนที่ ชาร์ลี ริช ต้องการเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นศิลปินในสังกัดของ แซม ฟิลลิพส์ บ้างนั้น เขาอัดเดโมเทปเพลงแจ็ซซ์ที่เขาเล่นไปให้ ฟิลลิพส์ ในตอนแรก แต่ ฟิลลิพส์ ก็ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเพลงแจ็ซซ์แบบนั้นมาเหลือเฟือแล้วในตลาด มันขายไม่ได้  แล้ว ฟิลลิพส์ ก็เอาเพลงของ เจอร์รี ลี ลิวอิส ส่งให้ 2-3 เพลง และบอกกับ ริช ว่าไปทำเป็นการบ้านมา ถ้าทำได้ดีกว่านี้แล้วกลับให้เขาฟังอีกครั้ง ซึ่งต่อมาเขาก็ทำให้ ฟิลลิพส์ ตกลงยอมเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในค่ายได้สำเร็จ 

ริช มีเพลงฮิตกับ ซัน เร็คคอร์ดส ในปี ค.ศ. 1960 คือเพลง Lonely Weekends  และภายหลังได้ย้ายสังกัดไปอยู้กับ Groove Records ในปี ค.ศ. 1964 และ อาร์ซีเอ เร็คคอร์ดส ในปี ค.ศ. 1965 จากนั้นก็มีชื่อเสียงตลอดมาในช่วงทศวรรษที่ 1960 ถึง 1970

ยีน วินเซนต์ (Gene Vincent)

ศิลปินร็อคอะบิลลีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคทศวรรษที่ 1950 อีกคนหนึ่งเป็นนักดนตรีชาวใต้จากเวอร์จิเนีย แต่ไม่ได้สังกัด ซัน เร็คคอร์ดส มีชื่อว่า Gene Vincent  ยีน วินเซนต์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มรูปแบบมาตรฐานให้กับดนตรีประเภทสตริงแบนด์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 เป็นต้นมา

เพลง Be Bop A Lula ของ วินเซนต์ ก็คือเพลงฮิตเพลงแรกที่เขาทำขึ้นร่วมกับวงแบ็คอัพของเขา ชื่อ The Blue Caps  ซึ่งออกในสังกัดของค่ายแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่ คือ Capitol Records  

ยีน วินเซนต์ เริ่มวางรูปแบบคณะดนตรีโดยการใช้กีตาร์ไฟฟ้าสองตัว เบสส์ และกลองชุด ที่กลายเป็นรูปแบบของคณะดนตรีซึ่งกลายเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมาทั้งในอเมริกาและอังกฤษที่วงร็อคในยุคต่อจากนั้นต่างนำไปใช้เป็นรูปแบบมาตรฐานจนกระทั่วทั่งปัจจุบัน  นอกจากนี้ ยีน วินเซนต์ ยังเป็นผู้ริเริ่มแฟชั่นชุดหนังที่มีกางเกงหนังและสวมแจ็คเก็ตทับให้กับเด็กหนุ่มในยุคนั้นจนเอาอย่างกันทั่วบ้านทั่วเมืองอีกด้วย 

เมื่อมีชื่อเสียงทางฝั่งอเมริกาแล้ว ในปี ค.ศ. 1959 วินเซนต์ ก็ข้ามเข้าไปบุกทางฝั่งอังกฤษและยุโรปบ้าง จนทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังทั้งสองฟากฝั่งแอตแลนติกอย่างรวดเร็ว  ในการบุกตลาดอังกฤษและยุโรปนั้น ยีน วินเซนต์ ไปพร้อมกับเพื่อนนักดนตรีร็อคอะบิลลีชื่อดังอีกคนหนึ่ง คือ Eddie Cochran ซึ่งถือเป็นคู่หูออกทัวร์คอนเสิร์ตที่เหนี่ยวแน่นมาก  ทั้งสองตระเวนเล่นคอนเสิร์ตอยู่ในอังกฤษและยุโรปจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1960  เอดดี โคชแรน ก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตลงในเดือนเมษายน 1960  เอ็ดดี โชแรน นับเป็นนักกีตาร์ร็อคที่มีลูกเล่นเฉพาะตัวเป็นตำนานรุ่นแรกๆของวงการร็อคผู้หนึ่งที่นักกีตาร์รุ่นหลังมักนำไปใช้ โดยเฉพาะการดึงสายกีตาร์และตีคอร์ดกระแทกแรงๆ นับเป็นวิธีหนึ่งที่นักกีตาร์ร็อคนิยมมาก 

หลังจาก เอ็ดดี โคชแรน เสียชีวิต  ยีน วินเซนต์ จึงกลับอเมริกา และสร้างชื่อเสียงต่อไปในสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1971 ด้วยสาเหตุของพิษสุราเรื้อรัง