ขุดราก Rock & Roll (ตอนที่ 13) The Rolling Stones กระแสคลื่นลูกที่สองจากอังกฤษ

0

จ้อ ชีวาส

ทศวรรษที่ 1960 เป็นทศวรรษที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมายและหลากหลายที่สุดของวงการดนตรีสมัยใหม่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20  เกิดรูปแบบดนตรีที่แตกแขนงมาจากดนตรี บลูส์ ริธืม แอนด์ บลูส์ แจ็ซซ์ หรือแม้แต่ดนตรีคลาสสิคก็ตาม ได้มีการนำมาผสมผสานกับดนตรี ร็อค จนกลายเป็นดนตรีรูปแบบใหม่ๆที่แปลกแหวกแนวออกมามากมายนับไม่ถ้วน  การผสมผสานรูปแบบดนตรีจนเกิดเป็นดนตรีแปลกๆออกมามากมาเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดของคนรุ่นใหม่นับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากสังคมที่เกิดความฝืดเคืองอย่างมากช่วงหลังสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อังกฤษนั้น ผลเสียหายจากสงครามครั้งนั้นทำให้ทุกคนจะมามัวรอรัฐบาลแก้ไขปัญหาแต่ฝ่ายเดียวไม่ไหว จึงต่างต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเอง จัดการแก้ไขซ่อมแซมและสร้างสังคมของตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ที่บ้านของตัวเองก่อน จนเกิดกลายเป็นกระแสการลงมือทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเองกันไปทั่ว กระแสดังกล่าวนี้เรียกว่า “Do it Yourself” หรือมักเรียกกันอย่างย่อๆว่า “D.I.Y.” ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายไม่เว้นแม้แต่ในวงการดนตรีของเด็กหนุ่มเด็กสาวรุ่นใหม่

การนำเอาดนตรี Skiffle จากสหรัฐอเมริกากลับมาสู่ความนิยมใหม่อีกครั้งในอังกฤษ ก็เกิดขึ้นจากกระแสนี้เช่นกัน ที่เด็กหนุ่มชาวอังกฤษกลับเข้าบ้านเข้าครัวไปนำถัง กระดานซักผ้า ไม้กวาด ขวดเหล้า และกระป๋องเท่าที่หาได้ กับกีตาร์เก่าๆมาทำเป็นเครื่องดนตรี เล่นดนตรี สคิฟเฟิล ก็เพราะความฝืดเคืองในการหาเครื่องดนตรีที่มีราคาแพง และด้วยกระแส D.I.Y. อีกเช่นกันที่ทำให้เกิดความคิดในการทำดนตรีที่แหวกแนว จับนั่นมาผสมนี่ จับนี่ไปผสมนั่น จากดนตรี สคิฟเฟิล ก็พัฒนาขึ้นเป็นดนตรี Beat หรือ British Beat ที่เป็นดนตรีสุ้มเสียงแบบเฉพาะของชาวอังกฤษ กระทั่งได้รับความนิยมแผ่ขยายออกไปทั่วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของ The Beatles ก็คือการประกาศศักดาของดนตรี บีท จากอังกฤษนั่นเอง แต่ดนตรี บีท ของอังกฤษก็ครองตลาดทั่งโลกอยู่ได้เพียงถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 เท่านั้น หลังจากนั้นกระแสดนตรีก็ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยที่หลากหลายมากขึ้นไปอีก เมื่อวิทยาการต่างๆเริ่มล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น จึงมีการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วยในการสร้างสรรค์ดนตรี จนเกิดดนตรีที่ยิ่งมีความคิดแหวกแนวและไร้ขีดจำกัดขึ้นอีกมากมายเลยทีเดียวนับจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา

นับจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 โลกมีวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมากมาย ในวงการดนตรีจึงได้อาศัยเทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนาจนล้ำสมัยมากขึ้นเข้ามาใช้ด้วย เช่นเครื่องบันทึกเสียงที่มีประสิทธิภาพสูง และมีการคิดค้นระบบการบันทึกเสียงแบบ Stereo แยกเสียงซ้ายขวาขึ้น จากที่เคยใช้ระบบเสียง Mono หรือสัญญาณเพียงช่องเดียว เครื่องดนตรีก็มีการพัฒนาขึ้นมาก มีเครื่องเคราสำหรับช่วยให้กีตาร์ไฟฟ้าสามารถเล่นเทคนิคได้อย่างแพรวพราวมากขึ้น มีการสร้างอุปกรณ์สำหรับทำให้เกิดเสียงแปลกๆกับกีตาร์ไฟฟ้าขึ้น เช่น Fuzz และ Wah Wah เป็นต้น มีการคิดค้นเครื่องสังเคราะห์เสียงต่างๆในรูปของ Keyboard เพื่อช่วยให้ Organ แบบเดิมสามารถสร้างเสียงต่างๆให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น และเครื่องขยายเสียงก็มีกำลังที่แรงขึ้น

สิ่งต่างๆเหล่านี้เองที่ทำให้นักดนตรีเริ่มมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น มีจินตนาการในการทำเพลงทำเสียงดนตรีให้ออกมาตามที่คิดได้อย่างมีอิสรภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การยังมีการเปิดกว้างทางความคิดยอมรับวัฒนธรรมแปลกแยกของคนต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์ จนมีการนำเครื่องดนตรีหรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงแปลกๆมาใช้กับดนตรีตะวันตก จากดนตรี บีท และ ริธึม แอนด์ บลูส์ จึงกลายเป็นดนตรีล้ำสมัย เช่น Underground, Avant-garde, Psychedelic และ Progressive เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ที่มีอิทธิพลและนับเป็นผู้ที่ผลักดันให้เกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงทางดนตรีไปสู่สิ่งใหม่ๆขึ้น ก็ยังคงเป็น เธอะ บีทเทิลส์ อีกนั่นเอง

ในช่วงที่ เธอะ บีทเทิลส์ และวงดนตรีอื่นๆในอังกฤษกำลังสร้างกระแสความคลั่งไคล้ในดนตรี บีท ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 อยู่นั้น ที่ลอนดอน มีสองสมาชิกจากคณะ Chris Barber วงดนตรี แจ็ซซ์ และ สคิฟเฟิล ชื่อดังของอังกฤษ คือ Cyril Davies และ Alexis Korner พยายามที่จะสานต่อดนตรี บลูส์ และ ริธึม แอนด์ บลูส์ ท่ามกลางความคลั่งไคล้ดนตรี บีท ต่อไป โดยก่อตั้งคณะ Blues Incorporated ขึ้นในปี ค.ศ. 1961 โดยมีการเปิดคลับใต้ดินส่วนตัวขึ้นชื่อว่า Ealing Jazz Club ที่ อิลลิง บรอดเวย์ ลอนดอนตะวันตก ที่นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นและรากฐานของดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ในอังกฤษ เพราะเป็นจุดกำเนิดของนักดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ที่เคยร่วมคณะกับ บลูส์ อินคอร์ปอเรตเตด เช่น Jack Bruce, Charlie Watts, Terry Cox, Davy Graham, Ginger Baker, Art Wood, Long John Baldry, Ronnie Jones, Danny Thompson, Graham Bond, Malcolm Cecil และ Dick Heckstall-Smith  

คลับแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่ดึงดูดทั้งนักดนตรีและแฟนเพลงที่คลั่งไคล้ใน ริธึม แอนด์ บลูส์ ทั้งในลอนดอนและที่อื่นๆมารวมพลกันที่นี่เพื่อฟังเพลงและพบปะกัน ซึ่งแฟนประจำที่แวะเวียนมาที่นี่เป็นประจำนั้น มีเช่น  Mick Jagger, Keith Richards, Brian Jones, Eric Clapton, Rod Stewart, Paul Jones, John Mayall และ Jimmy Page  และกลุ่มคนเหล่านี้นั่นเองที่ในเวลาต่อมาได้ร่วมกันกับนักดนตรีของ บลูส์ อินคอร์ปอเนตเตด ก่อตั้งคณะดนตรี ร็อค ที่กลายเป็นตำนานของดนตรี ร็อค แอนด์ โรลล์ ทางฟากฝั่งอังกฤษ และเป็นจุดเริ่มต้นของ “บริติช อินเวชัน” ที่จะบุกอเมริกาต่อไปเป็นขบวนรถไฟ เช่น The Rolling Stones, The Yardbirds, John Mayall & the Bluesbreakers และ  Graham Bond Organisation เป็นต้น

ริธึม แอนด์ บลูส์ ในต้นทศวรรษที่ 1960 ของอังกฤษนี้  วงดนตรีส่วนใหญ่มักจะใช้เพลงพื้นฐานของ Muddy Waters, Howlin’ Wolf, Chuck Berry และ Bo Didley เป็นหลัก กระทั่งเมื่อวงดนตรีคณะต่างๆได้เซ็นสัญญาเข้าสังกัดกับบริษัทแผ่นเสียงแล้วนั่นเอง พวกเขาจึงต้องเขียนเพลงด้วยตัวเองอย่างแท้จริง  ดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ในลอนดอนอาจดูผิวเผินแล้วไม่ต่างจากดนตรี บีท ที่มีรากฐานมาจากลิเวอร์พูลนัก ทั้งเรื่องของเพลงและบุคลิกลักษณะของนักดนตรี แต่ที่จริงแล้วแตกต่างกันมาก อาจเทียบเคียงกันได้จากความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง เธอะ บีทเทิลส์ กับ เธอะ โรลลิง สโตนส์  ตั้งแต่ เธอะ บีทเทิลส์ ทิ้งยีนส์และแจ็คเก็ตหนังหันมาใส่สูทเรียบร้อย ตัดแต่งผมเผ้าสะอาดสะอ้าน แม้จะเล่นเพลงที่มีพื้นฐานมาจาก ริธึม แอนด์ บลูส์ เช่นกัน แต่ก็เน้นในความกลมกลืนของเสียงร้อง ดนตรี และการประสานเสียง ส่วน เธอะ โรลลิง สโตนส์ นั้นแตกต่างกันทั้งในเรื่องการแต่งกายและดนตรีอย่างเห็นได้ชัด แม้ในช่วงแรกๆ คณะนี้จะแต่งกายคล้ายกับ เธอะ บีทเทิลส์ ที่มีแบบฟอร์มเดียวกันทั้งคณะ แต่ต่อมาพวกเขาก็เริ่มแต่งกายแบบอิสระ ผมเผ้ายาว ก็ด้วยเพลงที่พวกเขาเล่นนั่นเองที่ดิบและรุนแรงกว่า เธอะ บีทเทิลส์ อย่างเห็นได้ชัด และด้วย

เธอะ โรลลิง สโตนส์ เริ่มต้นขึ้นจากเด็กหนุ่มคู่หูสองคน คือ Mick Jagger และ Kieth Richards ซึ่งเป็นเพื่อนกันตั้งแต่วัยเด็กในสมัยศึกษาอยู่ที่ดาร์ตฟอร์ด มณฑลเคนต์ ทั้งสองได้ตั้งคณะดนตรี 3 ชิ้นชื่อ Little Boy Blue and the Blue Boys ร่วมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง คือ Dick Taylor เล่นเบสส์ โดยมี คีธ ริชาร์ดส เล่นกีตาร์  ในปี ค.ศ. 1962 พวกเขาได้ไปพบกับ Brian Jones ซึ่งเล่นกีตาร์ให้กับวง บลูส์ อินคอร์ปอเนตเตด อยู่ที่ อิลลิง แจ็ซซ์ คลับ และกำลังหานักดนตรีเพื่อก่อตั้งคณะดนตรีคณะใหม่ขึ้น ทั้งสามจึงตกลงเข้าร่วมกับ ไบรอัน โจนส์  โดยมีสมาชิกเพิ่มมาอีก 2 คน คือ Ian Stewart เล่นคีย์บอร์ด กับ Mick Avory เล่นกลอง ก่อตั้งวงชื่อ เธอะ โรลลิง สโตนส์ ขึ้น โดยใช้ชื่อจากเพลงดังเพลงหนึ่งของ มัดดี วอเตอร์ส ที่มีชื่อว่า “Rollin’ Stone”  แต่ก่อนที่ เธอะ โรลลิง สโตนส์ จะตั้งขึ้นสำเร็จ ดิค เทเลอร์ ก็ลาออกจากคณไปเพื่อไปเรียนต่อด้านศิลปะ (ภายหลัง ดิค เทเลอร์ เป็นผู้ก่อตั้งคณะ The Pretty Things ในปี ค.ศ. 1963 วงร็อคชื่อดังอีกวงที่ผันตัวไปเล่นดนตรีแนว ไซเคลิค)  

เธอะ โรลลิง สโตนส์ ออกแสดงใหญ่ครั้งแรกที่ Marquee Club ในลอนดอนวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1962 จากนั้นพวกเขาก็เริ่มออกทัวร์ทั่วอังกฤษ โดยเล่นเพลง บลูส์ ของ มัดดี วอเตอร์ส และ ริธึม แอนด์ บลูส์ ของ ชัค เบอร์รี และ โบ ดิดลีย์  ต่อมา เอียน สจวร์ท และ มิค เอเวอรี ก็ออกจากคณะ แทนที่ด้วย Bill Wyman เล่นเบสส์ และ Charlie Watts เล่นกลอง ซึ่งเป็นเพื่อนนักดนตรีจาก อิลลิง แจ็ซซ์ คลับ นั่นเอง และเมื่อพวกเขาได้รู้จักกับโปรดิวเซอร์ Andrew Oldham ที่อาสาเป็นผู้จัดการคณะให้ทุกอย่างก็เริ่มสดใสขึ้น พวกเขาเริ่มค้นพบสไตล์ของตัวเอง  โอลด์แฮม ได้ความคิดในการสร้างภาพให้ โรลลิง สโตนส์ แตกต่างจาก เธอะ บีทเทิลส์ ที่กำลังเป็นที่คลั่งไคล้ในอังกฤษแบบคนละขั้ว  เธอะ บีทเทิลส์ มีภาพลักษณ์สดใส พวกเขาก็ต้องดูดิบ คล้ายกับ มอด และ ร็อคเกอร์  หาก เธอะ บีทเทิลส์ เป็น มอด  เธอะ โรลลิง สโตนส์ ก็ต้องเป็น ร็อคเกอร์ เพื่อเรียกตลาดของพวกที่ต่อต้าน เธอะ บีทเทิลส์  และด้วยความสามารถของ โอลด์แฮม  เธอะ โรลลิง สโตนส์ จึงได้เซ็นสัญญาบันทึกเสียงกับบริษัท Decca Records ในปี ค.ศ. 1963 

โดยสาเหตุหนึ่งที่ เดคคา ยอมเซ็นสัญญากับ เธอะโรลลิง สโตนส์ นั้นเชื่อว่าน่าจะมาจากการที่ เดคคา เก็งตลาดผิดในกรณี เธอะ บีทเทิลส์  ที่ปฏิเสธพวกเขาเมื่อ Brian Epstein ไปติดต่อขอเซ็นสัญญา  ซิงเกิลแรกของ เธอะ โรลลิง สโตนส์ คือเพลง “Come On” เป็นเพลงของ ชัค เบอร์รี ออกวางจำหน่ายในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1963 และเมื่อออกวางจำหน่าย แอนดรูว์ โอลด์แฮม ก็ใช้วิธีเดียวกับที่ ไบรอัน เอปสไตน์ ใช้กับซิงเกิลแรกของ เธอะ บีทเทิลส์ คือส่งสัญญาณให้แฟนคลับช่วยกันซื้อแผ่น จนกระทั่งซิงเกิลชิ้นนี้ขึ้นถึงอันดับที่ 21 ใน UK Singles Chart  และแผนต่อมาของ โอลด์แฮม ก็คือการดึง เธอ บีทเทิลส์ เข้ามาช่วยผลักดันให้ เธอะ โรลลิง สโตนส์ กระโดดก้าวยาวๆให้ทัน เธอะ บีทเทิลส์  โดยชักชวน John Lennon กับ Paul McCartney เข้ามาชมการบันทึกเสียงของ เธอะ โรลลิง สโตนส์ ที่สติวดิโอ และชักชวนให้ทั้งสองช่วยแต่งเพลงให้กับ เธอะ โรลลิง สโตนส์ ด้วย ซึ่งทั้งหมดก็ประสบความสำเร็จ  เล็นนอน กับ แม็คคาร์ทนีย์ ยินดีที่จะแต่งเพลงให้ เพลงนั้นก็คือ “I Wanna Be Your Man”  และเพลงนี้ก็กลายเป็นซิงเกิลชิ้นที่ 2 ของ เธอะ โรลลิง สโตนส์  ออกวางจำหน่ายในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 ซึ่งขึ้นถึงอันดับที่ 12 ใน ซิงเกิล ชาร์ต ของอังกฤษ

หลังจากที่มีเพลงฮิตติดชาร์ตแล้ว  แอนดรูว์ โอลด์แฮม ก็ต้องการให้ เธอะ โรลลิง สโตนส์ ออกอัลบัมชุดแรกเสียที แต่ต้องเริ่มมีเพลงที่พวกเขาเขียนขึ้นเอง เพื่อที่จะเปิดตัวในอัลบัมชุดแรกของพวกเขาด้วย โดย โอลด์แฮม มีความคิดว่าควรใช้รูปแบบเดียวกับ เธอะ บีทเทิลส์ ที่มีคู่เขียน คือ Lennon/McCartney ที่เชียนเพลงฮิตพรั่งพรูออกมามากมายจนกลายเป็นชื่อที่ติดหูคนได้ง่าย  เธอะ โรลลิง สโตนส์ ก็ต้องมีคู่เขียนเพลง คือ Jagger/Richards ด้วยเช่นกัน แต่ แจ็กเกอร์/ริชาร์ดส นั้นไม่ได้มีความถนัดเรื่องเขียนเพลงมาก่อน จึงเขียนได้ค่อนข้างช้ามาก ในอัลบัมชุดแรก คือ “The Rolling Stones” จึงมีเพลงที่เขียนโดย แจ็กเกอร์/ริชาร์ดส เพียงแค่เพลงเดียวเท่านั้น คือเพลง “Tell Me (You’re Coming Back)” ออกวางจำหน่ายในวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1964  อัลบัมชุดนี้ขึ้นถึงอันดับ 1 ใน UK Albums Chart และอันดับ 11 ใน Billboard ของสหรัฐอเมริกา

และเมื่อ เธอะ โรลลิง สโตนส์ มีอัลบัมที่ติดอันดับทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว ประกอบกับความสำเร็จของ เธอะ บีทเทิลส์ ที่ขึ้นไปเหยียบแผ่นดินสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1964 ก่อนหน้านี้  แอนดรูว์ โอลด์แฮม จึงเห็นว่า เธอะ โรลลิง สโตนส์ ก็พร้อมที่จะบุกไปสหรัฐฯเพื่อสร้างกระแสความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันด้วยเช่นกัน  เธอะ โรลลิง สโตนส์ เริ่มออกทัวร์สหรัฐอเมริกาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1964  แต่การทัวร์อเมริกาครั้งแรกของ เธอะ โรลลิง สโตนส์ ครั้งนั้นกลับไม่ดังเท่าที่คาดหวังเอาไว้ เพราะเวลานั้นพวกเขามีเพลงฮิตเพียงกี่เพลงเท่านั้น ผิดกับ เธอะ บีทเทิลส์ ที่บุกอเมริกาในขณะที่พวกเขามีเพลงฮิตมากมายแล้วในสหรัฐอเมริกา  แต่ระหว่างทัวร์อเมริกาพวกเขาก็ใช้เวลาผลิตซิงเกิลเพลงใหม่ออกมาคือ “It’s All Over Now” โดยทำการบันทึกเสียงที่ Chess Studio ในชิคาโก เพลงนี้เป็นเพลง บลูส์ ร็อค ของ Bobby Womack  ออกวางในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1964 และหลายเป็นเพลงฮิตเพลงแรกที่ขึ้นถึงอันดับ 1 ใน ซิงเกิล ชาร์ต ของอังกฤษ ส่วนที่สหรัฐอเมริกานั้นขึ้นสูงสุดอยู่ในอันดับที่ 26 ของ บิลล์บอร์ด ชาร์ต

เธอะ โรลลิง สโตนส์ มีเพลงฮิตเพลงแรกที่เขียนโดย แจ็กเกอร์/ริชาร์ดส คือเพลง “The Last Time” เป็นซิงเกิลที่ออกวางจำหน่ายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965  เพลงนี้ขึ้นถึงอันดับ 1 ทั้งในอังกฤษและยุโรป ส่วนในสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 9  และอีกเพลงหนึ่งที่เขียนโดย แจ็กเกอร์/ริชาร์ดส เช่นกัน คือเพลง “(I Can’t Get No) Satisfaction”  ซิงเกิลเพลงนี้ออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1965 ขึ้นถึงอันดับ 1 ทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และยุโรปเกือบครบทุกประเทศ เพลงนี้ได้รับคำวิจารณ์จากเหล่านักวิจารณ์ในแง่บวก โดยส่วนใหญ่บอกในเชิงว่า เธอะ โรลลิง สโตนส์ ค้นพบตัวเองแล้ว ทั้งสำเนียงดนตรี เทคนิคการเล่นดนตรี และการเขียนเพลง ที่เป็นแบบเฉพาะของพวกเขาเอง ไม่ต้องเดินตามรอยเท้าใครอีกต่อไป โดยเฉพาะท่อน Riff กีตาร์ของเพลงนี้ที่ฟังติดหูจนเป็นเสมือนกับเพลงประจำคณะ หรือ “Anthem” ของ เธอะ โรลลิง สโตนส์ ที่พวกเขาต้องเล่นทุกครั้งบนเวทีคอนเสิร์ต 

สำหรับอัลบัมชุดแรกที่พวกเขาทำเพลงด้วยตัวเองทั้งหมด และทุกเพลงก็เขียนโดย แจ็กเกอร์/ริชาร์ดส ก็คืออัลบัมชื่อ “Aftermath”  ออกจำหน่ายในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1966   อัลบัมชุดนี้ขึ้นถึงอันดับ 1 ในอังกฤษ และอันดับ 2 ในสหรัฐอเมริกา ส่วนซิลเกิลเพลง “Paint It Black” ที่อยู่ในอัลบัมนี้ก็ขึ้นถึงอันดับ 1 ทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา 

เมื่อมาถึงตอนนี้ชื่อเสียงของ เธอะ โรลลิง สโตนส์ ก็กลายเป็นกระแสคลื่นลูกใหญ่ลูกที่สองที่พัดเข้าสู่แผ่นดินอเมริกาแล้ว นับแต่นั้นความโด่งดังของพวกเขาก็มักจะถูกนำไปเทียบเคียงกับ เธอะ บีทเทิลส์ อยู่เป็นประจำ แต่ทั้งสองคณะก็ยังคงมีความแตกต่างอยู่อย่างหนึ่งที่ชัดเจน และยิ่งถูกตอกย้ำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆก็คือบุคลิกและแนวดนตรีของทั้งสองคณะนั่นเอง ในขณะที่ เธอะ บีทเทิลส์ ถึงแม้จะเปลี่ยนบุคลิกทั้งการแต่งตัว ทรงผม หรือพฤติกรรมส่วนตัวก็ตาม ในช่วงเข้าสูปลายทศวรรษที่ 1960 แต่พวกเขาก็ยังคงมีความใสสะอาดในสายตาของแฟนๆและคนทั่วไป ใขณะที่ เธอะ โรลลิง สโตนส์ จะมีลักษณะ ดิบ เถื่อน ทั้งบุคลิกและดนตรีของพวกเขา รวมทั้งพฤติกรรมส่วนตัวที่มักมีข่าวในด้านลบออกมาเป็นประจำ โดยเฉพาะในเรื่องของผู้หญิง เหล้า และยาเสพติด

https://youtu.be/1ANhU4AcK04

ในปี ค.ศ. 1967 แอนดรูว์ โอลด์แฮม ก็วางมือจากการเป็นผู้จัดการให้กับ เธอะ โรลลิง สโตนส์ โดยมอบหน้าที่นี้ให้กับ Allen Klein ซึ่งเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการกับ โอลด์แฮม มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 แล้ว ซึ่ง อัลเลน ไคลน์ ผู้นี้ในเวลาต่อมาก็คือผู้จัดการของ เธอะ บีทเทิลส์ เช่นกัน ภายหลังจากที่ ไบรอัน เอ็ปสไตน์ เสียชีวิตลง  และด้วยสามารถของ อัลเลน ไคลน์ เช่นกันที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ เธอะ โรลลิง สโตนส์ มีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ในช่วงปี ค.ศ. 1966 นับเป็นช่วงปีทองของ เธอะ โรลลิง สโตนส์  จน The New Musical Express หนังสือพิมพ์ดนตรีชื่อดังของอังกฤษได้ทำการสำรวจความนิยมของชาวอังกฤษทั่วประเทศ ผลปรากฏว่าเพลง “(I Can’t Get No) Satisfaction” ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 แห่งปี ค.ศ. 1966  และการแสดงคอนเสิร์ตของ เธอะ โรลลิง สโตนส์ ก็ครองอันดับ 1 ของปีนั้นด้วยเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น เธอะ โรลลิง สโตนส์ ยังได้รับการโหวตให้เป็นคณะดนตรี ริธึม แอนด์ บลูส์ ยอดเยี่ยมแห่งปีในปีนั้นด้วยเช่นกัน แม้อันดับคณะดนตรียอดเยี่ยมจะยังคงเป็น เธอะ บีทเทิลส์ ครองอันดับ 1 อยู่ก็ตาม 

ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้น เธอะ โรลลิง สโตนส์ ก็เป็นที่ชื่นชอบของแฟนเพลงอย่างสูง ในการทัวร์สหรัฐอเมริกาช่วงเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม ค.ศ. 1966 ที่นิวยอร์กมีการทำบิลบอร์ดเรืองแสงของพวกเขามีความสูงกว่า 100 ฟุตไปติดอยู่ที่ใจกลางของ Times Square เพื่อต้อนรับพวกเขา ส่วนที่เดนเวอร์ คณะกรรมการเมืองถึงกับออกความคิดให้จัด “The Rolling Stones Day” ในวันที่พวกเขาเดินทางไปเปิดการแสดงที่นั่น และที่บอสตันนั้น เธอะ โรลลิง สโตนส์ ได้รับเกียรติอย่างสูง โดยมีการมอบกุญแจเมืองให้แก่พวกเขา ขณะที่ไปเปิดแสดงที่นั่น  แต่ถึงแม้ อัลเลน ไคลน์ จะเป็นผู้จัดการที่มากฝีมือ และทำให้พวกเขามีเงินเข้ากระเป๋าจำนวนมหาศาลกลายเป็นเศรษฐีขึ้นมาในพริบตาจนทุกคนใช้เงินอย่างมือเติบ และสามารถซื้อทุกสิ่งได้ตามต้องการ 

ชาร์ลี วัตต์ ได้ซื้อคฤหาสน์ในสมัยศตวรรษที่ 16 มาเป็นสมบัติของตัวเอง  คีธ ริชาร์ดส ซื้อบ้านหลังใหญ่ในชนบทที่ซัสเซ็กซ์  มิค แจ็กเกอร์ ซื้อบ้านหรูอยู่ใกล้กับ Regent Park ใจกลางกรุงลอนดอน ส่วน ไบรอัน โจนส์ ก็ซื้อบ้านและที่ดินในชนบทแห่งหนึ่ง พร้อมกับอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในลอส แองเจลิส แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา  แต่สายสัมพันธ์ระหว่าง ไคลน์ กับ สโตนส์ ก็ขาดสะบั้นลงในปี ค.ศ. 1970  เขาถูกมองว่าเป็นตัวสร้างปัญหาจนพวก สโตนส์ ต้องยุติสัญญาการเป็นผู้จัดการของ อัลเลน ไคลน์ ลง และในปี ค.ศ. 1971 ก็มีคดีฟ้องร้องกันใหญ่โตระหว่าง เธอะ โรลลิง สโตนส์ กับ อัลเลน ไคลน์  ซึ่งก็เกิดกรณีเดียวกันนี้กับ เธอะ บีทเทิลส์ ที่ภายหลังมีการเลิกรากับ อัลเลน ไคลน์ เช่นกัน และ เธอะ บีทเทิลส์ ก็มีการฟ้องร้อง ไคลน์ ในปี ค.ศ. 1973 ด้วยเช่นเดียวกัน

เธอะ โรลลิง สโตนส์ ก็เหมือนกับวงดนตรีอื่นๆ ที่เมื่อมีชื่อเสียง ก็มีงานหนักเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ความเหนื่อยล้ากับความเครียดจึงทำให้พวกเขาเริ่มใช้ยาเสพติดและดื่มเหล้าจัดเพื่อคลายความเครียด อีกทั้งคอนเสิร์ตหลายๆครั้งของพวกเขาต้องเกิดความวุ่นวายขึ้นเพราะความบ้าคลั่งของแฟนเพลง  เธอะ โรลลิง สโตนส์ ต่างจาก เธอะ บีทเทิลส์ อีกอย่างที่แฟนคลับของพวกเขาส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ส่วน เธอะ บีทเทิลส์ นั้นแฟนคลับส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ก็ด้วยภาพลักษณ์ความดิบของพวกเขาที่สร้างขึ้นมานั่นเอง แฟนเพลงผู้ชายของพวกเขาจึงมักก่อเรื่องก่อราวระหว่างคอนเสิร์ตหลายๆครั้งของพวกเขา ซึ่งสิ่งนี้ไม่เป็นผลดีต่อพวกเขาเลย เพราะทำให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต่างต้องมาคอยจับตาดู ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงแต่คอยจับตาดูแฟนเพลงของพวกเขาไม่ให้ก่อเรื่องขึ้นเท่านั้น ยังจับตาดูพวกเขาเรื่องยาเสพติดอีกด้วย จนบ่อยครั้งที่พวก สโตนส์ ต้องถูกตำรวจจับด้วยข้อหาเสพยาและถูกคุมขังก็มี  

ช่วงปลายทศวรรษที่ 60 เธอะ โรลลิง สโตนส์ ก็มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ พวกเขาเริ่มเกิดความระสํ่าระสายภายใน ความเครียดจากหลายๆคดีที่ค้างคาอยู่ในศาล และเกิดความระหองระแหงกันขึ้นในระหว่างสมาชิก ผู้ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดก็คือ ไบรอัน โจนส์  เขาเสพยาและติดเหล้าอย่างหนักจนสุขภาพทรุดลงไปเรื่อยๆ บ่อยครั้งที่ ไบรอัน สลบไสลคาห้องบันทึกเสียง และล้มป่วยหนักระหว่างออกทัวร์ สภาพของ ไบรอัน เริ่มสร้างความหนักใจกับเพื่อนๆอย่างมาก  และหลายครั้งที่ เธอะ โรลลิง สโตนส์ ต้องตัดสินใจทำงานกันต่อโดยไม่มี ไบรอัน โจนส์ จนทำให้มิตรภาพเริ่มตึงเครียด จนในที่สุด ไบรอัน โจนส์ ก็ขอแยกตัวออกจาก เธอะ โรลลิง สโตนส์ เพื่อจะไปทำงานเดี่ยว

นั่นเองสายสัมพันธ์ที่ขาดลงระหว่าง ไบรอัน โจนส์ กับ เธอะ โรลลิง สโตนส์  ซึ่งต่อมาตำแหน่งของเขาก็ถูกแทนที่โดย Mick Taylor นักกีตาร์จากคณะ John Mayall’s Bluesbreaker แต่ก่อนที่ เธอะ โรลลิง สโตนส์ จะออกแสดงฟรีคอนเสิร์ตที่ไฮพาร์ค เพื่อเปิดตัวสมาชิกใหม่ในวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1969  ในวันที่ 3 กรกฎาคม ก็มีคนพบศพของ ไบรอัน โจนส์ เสียชีวิตอยู่ในสระนํ้าที่ Cotchford Farm บ้านของเขาเองในฮาร์ทฟิลด์ การเสียชีวิตของเขาถูกระบุว่าเป็นอุบัติเหตุ จากการกินยานอนหลับและดื่มเหล้าเข้าไปเป็นจำนวนมากจนทำให้เขาหมดสติและพลัดตกลงไปในสระนํ้าเอง  สมาชิก สโตนส์ ทุกคนเมื่อทราบข่าวต่างเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง แล้วคอนเสิร์ตที่ไฮพาร์ค แทนที่จะเป็นคอนเสิร์ตเปิดตัวสมาชิกใหม่ ก็กลับกลายเป็นคอนเสิร์ตไว้อาลัยให้แก่ ไบรอัน โจนส์ แทน โดย มิค แจ็กเกอร์ ได้อ่านบทกวีและปล่อยฝูงผีเสื้อจำนวนมากบนเวทีท่ามกลางแฟนเพลงที่อยู่ในอาการโศกเศร้า