แนะนำมิวสิคสตรีมเมอร์ (ทรานสปอร์ต) ที่น่าสนใจปี 2022

0

Dawn Nathong

ช่วงนี้จะสังเกตว่า ผู้ผลิตเครื่องเสียงหลายแบรนด์ ลงมาเล่นในตลาดมิวสิคสตรีมเมอร์แบบทรานสปอร์ต (ไม่มีภาค DAC ในตัว) กันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นดิจิทัลออดิโอทรานสปอร์ตประเภทหนึ่ง ทำหน้าที่ในการเชื่อมเครือข่ายเน็ตเวิร์กภายในบ้านกับซิสเต็มเครื่องเสียง เพื่อเล่นไฟล์เพลงจากคอมพิวเตอร์, NAS หรือผู้ให้บริการสตรีมมิงเพลงออนไลน์ เช่น TIDAL, Qobuz, Spotify โดยให้คุณภาพที่ดีกว่าการนำคอมพิวเตอร์ทั่วไปมาใช้งาน เนื่องจากมิวสิคสตรีมเมอร์ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานด้านออดิโอ เน้นเรื่องของการลด Jitter และสัญญาณรบกวนที่จะกระทบกับคุณภาพเสียงโดยตรง

ข้อดีคือผู้ใช้สามารถเลือก DAC ภายนอกที่ชอบได้อย่างอิสระ ซึ่งหลายท่านก็มี DAC คุณภาพสูงใช้งานในซิสเต็มอยู่แล้วและอาจมีคุณภาพดีกว่าภาค DAC ในตัวเพลเยอร์เป็นไหน ๆ หรือบางท่านอาจบอกว่า ที่ตัวเน็ตเวิร์กเพลเยอร์เองก็มีช่องดิจิทัลเอาต์พุตให้ใช้งานได้เหมือนกัน แต่จะดีกว่าไหม หากท่านลงทุนแล้วได้คุณภาพจากทรานสปอร์ตแบบ 100% ไปเลย โดยไม่ต้องมีวงจรภาคอื่น ๆ มาป่วนคุณภาพ

หมายเหตุ เพื่อป้องกันความสับสน ผู้เขียนจะไม่เรียกมิวสิคสตรีมเมอร์ว่า ‘Network Bridge’ หรือ ‘Network Audio Bridge’ เนื่องจากจะไปตรงกับคำเรียกของอุปกรณ์ด้านไอที รวมถึงอุปกรณ์อินเตอร์เฟสในวงการโปรเฟสชันแนล

Music Streamer VS. Network Player VS. Music Server?

โดยพื้นฐานแล้ว อุปกรณ์ทั้งสามประเภททำหน้าที่เหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างหลัก ๆ คือมิวสิคสตรีมเมอร์อาจจะมีภาค DAC หรือไม่มี DAC ติดตั้งมาให้ในตัวก็ได้ รวมถึงไม่มีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ภายในสำหรับเก็บข้อมูลได้เหมือนกับมิวสิคเซิฟเวอร์ นอกจากนี้มักจะแยกภาคจ่ายไฟ DC ออกจากตัวเครื่อง ทำให้มิวสิคสตรีมเมอร์ส่วนใหญ่มีขนาดที่กะทัดรัด และสามารถเลือกอัพเกรดภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์แทนอะแดปเตอร์ที่แถมมาจากผู้ผลิตได้

ข้อพิจารณาในการเลือกมิวสิคสตรีมเมอร์

  1. ช่องดิจิทัลอินพุตของอุปกรณ์ พิจารณาจากตัวอุปกรณ์ในซิสเต็มเป็นหลักว่า DAC หรือแอมปลิฟายเออร์ของท่านมีช่องดิจิทัลอินพุตแบบใดอยู่บ้าง สอดคล้องกับช่องเอาต์พุตจากมิวสิคสตรีมเมอร์หรือไม่ ซึ่งทั่วไปก็มักจะมีช่อง S/PDIF แบบ optical หรือ coaxial เป็นมาตรฐาน บางเครื่องก็อาจจะมีช่อง AES/EBU ที่นิยมใช้กับอุปกรณ์ระดับโปรหรือสตูดิโอ หรือช่อง USB และในเครื่องรุ่นใหม่ช่วงหลังนี้ ก็จะมีช่อง I2S แบบ HDMI (LVDS) มาด้วย
  2. Ethernet หรือ Wi-Fi เราสามารถเชื่อมต่อมิวสิคสตรีมเมอร์กับเน็ตเวิร์คในบ้านได้สองทาง คือผ่าน Wi-Fi หรือผ่านสาย LAN ในกรณีที่ห้องของท่านไม่มีการเดินสาย LAN เอาไว้และไม่ต้องการลากสายให้รกรุงรังหรือเดินท่อร้อยสาย ก็เลือกใช้มิวสิคสตรีมเมอร์ที่มีเฉพาะ Wi-Fi แต่หากต้องการความเสถียรของสัญญาณแบบเต็มที่ ก็ควรเลือกแบบมีพอร์ต Ethernet เผื่อเอาไว้
  3. ไฟล์ฟอร์แม็ต โดยพื้นฐานของมิวสิคสตรีมเมอร์ จะรองรับการสตรีมไฟล์ความละเอียดสูงสุดที่ PCM 24-bit / 192kHz และรองรับไฟล์ฟอร์แมต WAV, FLAC, AIFF, ALAC, MP3, AAC, Ogg Vorbis, WMA ซึ่งครอบคลุมการใช้งานฟังเพลงทั่วไป กรณีสตรีมไฟล์ที่ไม่รองรับ ส่วนใหญ่ตัวเครื่องจะทำการ convert ไฟล์ให้อัตโนมัติ แต่มิวสิคสตรีมเมอร์บางรุ่นมีคุณสมบัติรองรับการสตรีมไฟล์ PCM 384kHz, DSD รวมถึงการทำ MQA passthrough ไปยังภาคถอดรหัสภายนอก
  4. Roon Ready ข้อนี้สำหรับนักเล่นที่ใช้โปรแกรมเล่นเพลงอย่าง Roon ควรตรวจสอบด้วยว่ามิวสิคสตรีมเมอร์ที่ท่านสนใจนั้น compatible กับ Roon หรือไม่ เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะฟีเจอร์ Roon’s audio distribution technology (RAAT) ที่จะทำให้สามารถสตรีมเพลงผ่านเน็ตเวิร์คได้คุณภาพระดับสูงสุด

บทความนี้ ผู้เขียนจะขอหยิบเอามิวสิคสตรีมเมอร์แบบไม่มีภาค DAC ในตัว เริ่มตั้งแต่ระดับต่ำหมื่นไปจนถึงระดับหกหมื่น มาแนะนำกันก่อน สำหรับท่านที่สนใจเอาไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพิจารณาตัดสินใจ ซึ่งทั้งหมดมีวางจำหน่ายในบ้านเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หมายเหตุ อันที่จริงมีมิวสิคสตรีมเมอร์น่าสนใจอีกสองรายการที่ผู้เขียนไม่ได้นำมารวมด้วยก็คือ Project รุ่น Stream Box S2 Ultra และ Musical Fidelity รุ่น MX-Stream เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลอัพเดตจากผู้นำเข้า จึงขอยกยอดเอาไว้โอกาสหน้า


NuPrime Audio: Omnia Stream Mini   

ราคา 9,800.-

นักเล่นที่ใช้ DAC หรืออินทิเกรตแอมป์ยุคใหม่ซึ่งมักจะมีพอร์ต I2S อินพุตมาให้ อย่ามองข้าม เพราะนอกจากมีช่องดิจิทัลเอาต์พุตแบบ Optical และ Coaxial แล้ว นี่คือมิวสิคสตรีมเมอร์ราคาระดับเริ่มต้นที่มีเอาต์พุตแบบ I2S ซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าการเชื่อมต่อผ่านพอร์ต USB มาให้ด้วย รองรับการสตรีมมิงเทคโนโลยีทั้ง Wi-Fi ความละเอียดสูงสุด 24-bit/192kHz, Bluetooth (เฉพาะภาครับ), Multi-room, DLNA และ AirPlay 2 สั่งงานผ่านแอป Omnia Receiver ได้ทั้ง iOS และ android

หน้าตาเรียบ ๆ มีไฟ LED แสดงสถานะด้านหน้าเล็ก ๆ หนึ่งดวง ด้วยความที่มีขนาดเล็กกะทัดรัดทำให้ไม่มีพอร์ต Ethernet มาให้ ต้องอาศัยการเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi อย่างเดียว จุดเด่นคือตัวแอปคอนโทรลทำอินเตอร์เฟสได้สวยงาม ใช้งานง่าย และให้ความลื่นไหลและเสถียรดีมาก รองรับสตรีมมิงเซอร์วิสอย่าง Deezer, iHeartRadio, Qobuz, QQ Music, Spotify, TIDAL และ TuneIn ใช้ไฟเลี้ยง DC 5V จากภายนอกผ่านพอร์ต USB Type-C ด้านหลัง

ตัวแทนจำหน่าย Wysiwyg Thailand

โทร. 086 985 5252


iFi Audio: ZEN STREAM

ราคา 15,900.-

มิวสิคสตรีมเมอร์รุ่นใหม่ในตระกูล Zen Series ภาคประมวลผล ARM Cortex แบบ Quad-core 64 บิต รองรับรายละเอียดสูงสุด PCM 32bit/384kHz และ DSD256 มีช่องเชื่อมต่อ Wi-Fi, Ethernet, USB และ S/PDIF รองรับการสตรีมผ่าน Spotify Connect, TIDAL Connect, Roon Ready, DLNA, NAA, AirPlay และ Chromecast พร้อมระบบ Exclusive Mode เพื่อลด ‘‘Software Jitter’ โดยเลือกโหมดการสตรีมมิงโดยเฉพาะได้ถึง 5 รูปแบบ และ ทำ MQA passthrough ได้

ใช้เทคโนโลยีกรองน้อยส์เฉพาะตัว Active Noise Cancellation II และ iPurifier สำหรับอินเทอร์เฟซ USB และ S/PDIF ใช้อุปกรณ์เกรดสูงเพื่อลดน้อยส์อย่าง ตัวควบคุมแรงดันไฟฟ้าที่มี high-PSRR, low idle current, low-dropout voltage, ตัวควบคุมการจ่ายไฟความเร็วสูง 1.5MHz แบบซิงโครนัส, ตัวเก็บประจุ C0G และตัวเหนี่ยวนำ ESR ต่ำของ Taiyo Yuden และ Murata

ตัวแทนจำหน่าย ProPlugin

โทร. 662 511 0334


Primare NP5 Prisma MK2

ราคา 25,800.-

มิวสิคสตรีมเมอร์จากสวีเดน ที่โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีเฉพาะตัวของ Prisma ที่นำมาจากรุ่นไฮเอ็นด์ มีการออกแบบวงจรใหม่และเพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานให้ครบเครื่องมากขึ้น เชื่อมต่อเน็ตเวิร์กได้ทั้ง Wi-Fi และ Ethernet รองรับความละเอียด PCM 24-bit / 192kHz และ DSD128 รวมถึง MQA passthrough รองรับการสตรีมผ่าน Spotify Connect, TIDAL Connect, Roon Ready, AirPlay 2, Bluetooth และ Chromecast built-in ตัวแอปคอนโทรล ‘PRISMA’ ใช้งานได้ลื่นไหล เวลาโหลดไลบรารี่เพลงจำนวนมาก ๆ ทำได้อย่างรวดเร็วน้อง ๆ Roon และรองรับบริการมิวสิคเซอร์วิส Deezer, TuneIn Radio, Qobuz Music, TIDAL, Google Play Music, SoundCloud และ Spotify

ดีไซน์แบบเรียบ ๆ มีไฟ LED แสดงสถานะ 3 ดวงด้านบน ด้านหลังมีช่องเชื่อมต่อ Ethernet, USB-A (สำหรับต่อ HDD แบบพกพาหรือ USB ไดร์ฟ), ช่อง S/PDIF เอาต์พุตแบบ optical และ coaxial นอกจากนี้ยังมีช่อง RS232 สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตัวอื่นของ Primare ใช้ไฟเลี้ยงจากภาคจ่ายไฟ DC 5V/2A ภายนอก

ตัวแทนจำหน่าย CH Home Media Audio

โทร. 094 461 4152


Wattson Audio: Emerson DIGITAL

ราคา 63,000.-

มิวสิคสตรีมเมอร์ตัวเล็กกะทัดรัด บอดี้เป็นอลูมิเนียม CNC อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีและงานวิศวกรรมมาตรฐาน Swiss Made ที่เนี๊ยบทั้งภายนอกและภายใน เน้นความลัดตรงที่สุดไม่มีการ convert หรือดัดแปลงข้อมูลใด ๆ เชื่อมต่อเน็ตเวิร์ผ่านช่อง Ethernet อย่างเดียวไม่มี Wi-Fi รองรับความละเอียดสูงสุด PCM 24-bit / 192kHz ส่งผ่านข้อมูลดาต้าสตรีมจากเน็ตเวิร์คอินเตอร์เฟสออกไปยัง S/PDIF และ AES/EBU มอดูเลเตอร์โดยตรงแบบ ‘bit-perfect’ สั่งการเล่นเพลงด้วยแอป Wattson Music (มีเฉพาะ iOS) รองรับสตรีมมิงเซอร์วิส Qobuz, TIDAL, airable radio  และรองรับโปรโตคอล Roon Ready, AirPlay และ UPnP/DLNA

แน่นอนว่าลัดตรงแบบนี้ วงจรแต่ละสเตจก็ต้องเน้นประสิทธิภาพสูงสุด ภาคประมวลผลเน็ตเวิร์คใช้ Sitara processor ของ Texas Instruments รองรับการส่งผ่านไฟล์ไฮเรส PCM โดยไม่แปลงข้อมูล แยก clock แบบ extremely low phase noise สองตัวสำหรับความถี่ 44.1kHz และ 48kHz พร้อมระบบซิงโครไนซ์ ส่วนภาคเอาต์พุตสเตจเป็นแบบ High-speed ใช้มอดูเลเตอร์สองตัวและหม้อแปลงไอโซเลตแยกอิสระสำหรับ S/PDIF และ AES/EBU เอาต์พุต พร้อมสวิตชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย DC 5V แบบ medical grade

ตัวแทนจำหน่าย Discovery HiFi

โทร. 085 517 8292


หมายเหตุ ราคาอ้างอิงอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากตัวแทนจำหน่าย