Michell Gyro SE turntable

0

Krairerk Sintavanuruk

หนึ่งในบรรดาตำนานเครื่องเล่นแผ่นเสียงของอังกฤษที่ยังอยู่ยั้งยืนยงถึงปัจจุบันนั่นคือ Michell engineering  เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นขนาดที่ว่า Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple เลือกใช้ Michell Gyrodecเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่บ้าน (ในปี 1982) แสดงว่า Michell Gyrodecมันต้องมีอะไรดีแน่ๆขนาดที่ Steve Jobs เลือกใช้ ด้วยความที่เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่โด่งดังมาตั้งแต่เริ่มวางจำหน่ายมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผมหมายมั่นว่าจะได้ขอมาลองเล่นสักครั้งในชุดเครื่องเสียงที่บ้าน และฝันก็เป็นจริงเมื่อได้ขอหยิบยืมทาง Bulldog audio มารีวิวได้สำเร็จ

Before Gyrodec……

ในภาพยนตร์ของ Stanley Kubrick ในปี 1972 เรื่อง Clockwork orangeฉากหนึ่งในห้องนอน มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็น Michell engineering หรือไม่ เราจะขอใช้เนื้อที่สักเล็กน้อยในการกล่าวถึงที่มาที่ไปของเครื่องเล่นแผ่นเสียงในตระกูล Michell และบรรพบุรุษของมัน

Transcriptor turntable

ก่อนที่จะเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง Gyrodecที่มีตุ้มถ่วงทองเหลืองห้อยอยู่ใต้ platter นั้น Michellได้มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงหน้าตาประหลาดล้ำเรียกว่า transcriptor turntable

ต้นตำหรับการออกแบบ transcriptor นั้นมาจากผลงานของ David Gammon ที่ได้ก่อตั้งบริษัทสร้างเครื่องเล่นแผ่นเสียงร่วมกับพี่ของเขา (Anthony) ตั้งแต่ปี 1960 ตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่อยู่ในภาพยนตร์ Clockwork orange นั้นเป็น transcriptorในยุคของ David Gammon ซึ่ง Stanley Kubrick ได้ติดต่อเข้าพบ Gammon ที่โรงงานของเขาในปี 1969 เพื่อขอยืมเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปเข้าฉากหนัง

John Michellเจ้าของบริษัท Michell engineering ได้ขอซื้อลิขสิทธิ์การผลิต transcriptor จาก Gammon เมื่อปี 1973 และได้ถอนลิขสิทธิ์เมื่อปี 1977 ทำให้เราพบ Transcriptor hydraulic reference ที่มีทั้งของ Gammon และ JA Michell ส่วนที่จะidentify ได้ง่ายที่สุดว่าเป็น Michell transcriptor แน่ๆ(นอกจากป้ายยี่ห้อตรงมุมหน้าซ้ายของแท่น) คือตรงขารองแท่นเครื่องที่ของเดิมจะเป็นก้อนกลมสามจุด จะกลายเป็น plate เหล็กโค้งสองชิ้นหน้าหลังแทน

Then Gyrodec…..

ในช่วงทศวรรษ 1980 JA Michellก็ได้ออกเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เป็น design ต้องตัวเองแท้ๆมาตัวนึงนั่นคือ Gyrodec มองง่ายๆก็คือเหมือนกับว่า เอา platter ของ transcriptor จับกลับบนล่าง  ทำให้ได้ platter เรียบๆที่มีตุ้มถ่วงน้ำหนักหกลูกอยู่ใต้ platter และนี่ก็เป็น icon สำคัญของเครื่องเล่นแผ่นเสียงของ John Michell ต่อเนื่องมาถึง 40 ปี

ใน คศ.2005 JA Michellก็ออกเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ compact size ลงมาจาก Gyrodecโดยแปลงส่วนของฐาน acrylic สี่เหลี่ยมใหญ่ๆให้เหลือเป็นฐานสามแฉกโดยส่วนต่างๆของเครื่องเหมือนกันกับ Gyrodec และตั้งชื่อว่าเป็น Gyro SE ที่ผมได้รับมาทดสอบครั้งนี้

And now Gyro SE

พื้นฐานของ Gyro SE ก็เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบสายพาน มี spring suspension สามจุด ถ้าให้เทียบเครื่องจากอังกฤษด้วยกันที่ใกล้เคียงที่สุดก็เป็นของ Avid เรามาเริ่ม setup  เจ้า Gyro SE ไปด้วยกันนะครับ

ฐานส่วนล่างสุดของ Gyro SE จะเป็นแผ่น acrylic สามแฉกที่มีขา spike สามจุด สามารถหมุนปรับะดับได้ ทำการตั้งระนาบของแผ่น acrylic  แกนกลางของสามขา จะเอาชุดสปริงมาสวมกันได้โดยมี pad สักหลาดรองก่อน ดังภาพ

ตัวสปริงไม่ได้มีการกำหนดตำแหน่งว่าตัวใดต้องอยู่ตำแหน่งใด จากการทดลองกดๆดูค่าความแข็งของสปริงก็พอๆกันทั้งสามตัว จึงคาดว่าสามารถสลับตำแหน่งกันได้ (เครื่องบางยี่ห้อจะระบุตำแหน่ง ค่าความแข็งของสปริงที่จำเพาะในแต่ละจุด)  ตรงหัวของสปริงมีจุดที่เราสามารถไขปรับระดับของสปริงได้ (ให้เด้งมากเด้งน้อย) แล้วเราก็เอาชุดสปริงสวมเข้ากับแกนของขา spike ทั้งสามจุด จากนั้นก็เอา plinth วัสดุอลูมิเนียม หน้าตาเหมือนมิกกี้เมาส์ มาวางบนสปริงสามจุด

ตรงแกน platter bearing จะเป็นแบบ invert bearing โดยเป็นปลอกทองเหลืองสวมเข้ากับแกน และมีเม็ดลูกปืนเล็กๆเป็นจุดหมุนอยู่ตรงปลายของปลอกทองเหลือง เราจะเห็นแกน bearing ด้านล่างเป็นบ่อใน้ำมันหล่อลื่นไว้ และตรงปลายของแกนมีรูเปิดที่จะทำให้เมื่อเวลา platter หมุน จะเกิดการไหลเวียนขึ้นลงของน้ำมันจากบนลงล่าง ผ่านทางท่อเล็กๆตรงปลายนี้ เมื่อเราวางแกน platter และ plinth อลูมิเนียมมิกกี้เมาส์บนฐานอคลิลิค ก็จะเป็นดังภาพนี้

จากนั้นก็วางตัว main platter (ทาง Michell ไม่ได้บอกว่าวัสดุเป็นอะไร แต่เหมือนกับเป็นยางที่มี resonance ใกล้เคียงกับเนื้อแผ่นเสียง เมื่อน้ำหนักรวมของอาร์มและ platter ลงบนสปริงเรียบร้อยแล้ว เราก็ทำการปรับสปริงทั้งสามจุด(ด้วยการหมุนปุ่มเหนือสปริง) ให้ platter ได้ระนาบ และให้ระดับขอบล่างของ plinth อยู่ห่างจาก pad สักหลาดด้านล่างในช่วง 1-2 มิลลิเมตร

เมื่อเช็ค gap ของแท่นและเช็คระดับน้ำของ platter เรียบร้อยแล้ว ลองกด platter เบาๆตรงจุดระหว่างแกน platter กับแกนอาร์ม เพื่อเช็คการเด้งและคืนตัวของสปริง  การเด้งตัวของ platter นี่จะอยู่ในระดับที่อ่อนตัวกว่า Avid แต่แข็งกว่า Linn LP12 หรือ Goldmund Studio เท่าที่เล่นมาสามารถสลายแรงสั่นสะเทือนจากภายนอกได้ดี  เมื่อปรับสปริงเรียบร้อยก็เอากระบอกสีเงินที่เขาให้มาครอบชุดสปริงไว้

หูด้านซ้ายของ Micky mouse จะเป็นช่องสำหรับวาง AC synchronous motor จะมีระยะให้ตัวของการวางมอเตอร์ ให้ belt tension มากหรือน้อยได้นิดหน่อย ลองกะระยะดูแล้ววัดด้วยแผ่นวัดรอบนะครับ จะมีจุดนึงที่ได้รอบพอดีโดยที่ตัวมอเตอร์ไม่ให้ชนขอบ plinth  ตัว belt เป็นแบบเส้นกลม การเปลี่ยนรอบ 33/45 ทำได้โดยคล้อง pulley คนละตำแหน่งที่หัวแกนมอเตอร์ การประกอบมอเตอร์และ pulley ผมให้ร้อยคะแนนเต็ม เวลามอเตอร์หมุนนี่ แกน pulley นิ่งสนิท ไม่มีการสะบัดหรือกระพริบกับแสงไฟให้เห็น และมอเตอร์เดินเงียบมาก ไม่มี noise ให้ได้ยินแม้แต่นิดเดียว (เข้าใจว่าใช้ motor ยี่ห้อ Papst)

Technoarm 2

Michellนำอาร์มของ Regaมาปรับปรุงเป็นอาร์มของตัวเองเรียกว่า Technoarmโดยปรับเรื่องก้านอาร์ม (ด้านล่างของอาร์มมีการเจาะ 22 รูเพื่อลด mass) เดิมสายอาร์มใหม่เป็นสายเงินบริสุทธิ์ และcounterweight ให้เป็นแบบถ่วงลงล่าง จะมี counterweight มาให้สองขนาดสำหรับหัวเข็มที่มีน้ำหนักเบาหนักต่างกันการตั้งค่า tracking force ก็ได้ตัดระบบสปริงเพิ่มแรงกดให้เป็นการปรับที่ counterweight ด้านหลังแทน (กลายเป็น static balance arm) ส่วนกลไกปรับ antiskating force ยังคงใช้แบบของ Rega อยู่  ระยะ pivot spindle distance เท่ากับ Rega คือ 222 mm.  ดังนั้นการตั้งหัวเข็มแนะนำให้ใช้ของ Rega ซึ่งถ้าไม่มี เราสามารถ load ได้ที่นี่ครับ

https://www.vinylengine.com/images/protractors/rega_arc_baerwald-1.jpg (เวลา print ลองปรับค่า printer ให้สเกลแกนตั้ง (B – B’) และแกนนอน(A – A’) ให้เท่ากับค่าที่เขาพิมพ์ไว้นะครับ

counterweight สองขนาด น่าจะครอบคลุมการใช้งานร่วมกับหัวเข็มแผ่นเสียงได้แทบทุกหัวในท้องตลาด กลึงขึ้นรูปได้ประณีตดีมาก

อุปกรณ์ทดสอบร่วม

นอกจาก Gyrodec SE และ Technoarm 2 แล้ว หัวเข็มที่ใช้ทดสอบในช่วงแรก จะเป็น Benz micro SL wood จากนั้นก็เปลี่ยนเป็น Phasemason PP200 (mc low 0.3 mV , หนัก 10.5 gm) และ Dynavector 10X4 mk2

Phono stage ใข้โฟโนหลอด interstage ของยอดฝีมือสาธร (แปะ) เมืองนนท์ ร่วมกับ step-up transformer ของ Western electric 618B , Soundaries 618B sut และ EAR 834P (MM mode)

เครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใช้เปรียบเทียบคือ EMT930 + Jelco 750L arm หัวเข็ม Phase tech P3 (ต้นตระกูลก่อนเป็น Phasemason) ร่วมกับ Step-up transformer ตัวแพงคือ Western Electric 618B -> Keen audio interstage phono ของพี่แปะ

เพลงทดสอบจากอัลบั้มต่างๆ ถูกริปเป็นไฟล์เพลง 16/44.1 โดย Tascam DV RA1000HD เพื่อให้ง่ายในการฟังเปรียบเทียบ บางส่วนจะ upload ให้ฟังและ download ได้ที่ https://soundcloud.com/emt930/sets/gyro-se แต่บางเพลงอาจจะ upload ทาง soundcloud ไม่ผ่าน จึงได้นำไปไว้ใน google drive ของผม ที่ http://t.ly/Tnyb

เพลงและแผ่นที่ใช้ทดสอบได้แก่

  1. Fairly Tales : Radka Toneff & Steve Dobrogosz (ODIN LP03) – The moon is a harsh mistress
  2. Dream of an opera II (Rhymoi music RMLP 008) – Ginseng girl
  3. The bassface swing trio play Gershwin (stockfisch  SFR3578045-1) Lady be good
  4. Reflections of Bach: Jacques Louissier Trio (Chrysalis FV41591) – Pastorale in C minor
  5. The absolute sound 2016 (Aurora music international AR0034LP) – Ticket to ride
  6. เมื่อดอกซากุระบาน : สุภัทรา อินทรภักดี (songsmith) – เพลงราตรี
  7. Inspiration by Impression : พงษ์พันธ์ จันทร์เนตร – รอฝนรอเธอ

เมื่อผมได้รับเครื่อง ก็ setup ตาม step ที่กล่าวไปข้างบน เบื้อต้นผมลองใส่หัวเข็ม Benz micro SL wood ที่ผมใข้เป็นประจำเพื่อเช็คการทำงานของเครื่อง สายสัญญาณต่างๆว่าปกติไหม  จากนั้นก็ถอดหัวเข็ม Benz ออก และ setup ใหม่กับหัวเข็ม Phasemason PP200 ซึ่งเป็นหัวเข็มรุ่นเริ่มต้นของแบรนด์นี้ เป็นหัวเข็ม mc low ที่ทำได้ประณีต งานดี เนื้อเสียงดี เมื่อเปลี่ยนเป็น phasemason ซึ่งมีน้ำหนักเข็มค่อนข้างสูง (10.5 กรัม) เลยต้องเปลี่ยน counterweight เป็นตัวที่หนักกว่าแทน เมื่อ setup ใหม่เสร็จเรียบร้อยด้วย Rega Baerwald protractor แล้วก็เริ่มฟังแผ่นแรกกันด้วย แผ่น Fairly Tales แทรคแรกที่นิยมฟังกันคือ The moon is a harsh mistress (แทรคแรกของแผ่นซีดี Burmester II ที่เสาะหากัน)

  เนื้อเสียงจาก Gyro SE + PP200 กินขาดเสียงจากซีดี Burmester   เนื้อเสียงกลางเต็มกว่า เสียงร้องมีพลัง มี spatial ambient ให้ความรู้สึกถึงความก้องของห้องบันทึก  ถ้าให้เทียบแทรคนี้ เมื่อเล่นด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียง EMT930 กับหัวเข็ม Phase Tech P3 นั้น เสียงกลางจะไม่เด่น ไม่เน้นเท่าตัว Gyro SE  จะค่อนข้างเกลี่ยไปเสมอกันในแต่ละย่านความถี่  (เพลงนี้ที่ผมริปไว้ต้องฟังหรือโหลดจาก google drive ตามลิงค์ข้างบนนะครับเนื่องจากลง soundcloud ไม่ผ่าน

แผ่นต่อไปที่ผมนำมาทดสอบคือแผ่นเสียงที่หาได้ค่อนข้างยากแล้วในปัจจุบัน เป็นแผ่นสังกัด Stockfisch วง Bassface swing trio ใน package จะมีแผ่นเสียง ร่วมกับแผ่น sacd hybrid  (ตัว sacd มีแยกขายเดี่ยวๆต่างหาก)

  วงนี้จะอัดแผ่นกับ Stockfisch สองชุดคือเล่นเพลงของ Gershwin และอีกชุด Cole Porter  แต่ชุดนี้เพลงเพราะกว่า บันทึกแบบ direct cut ลงบน metal stamper เลยทีเดียว เนื้อเสียงมีความอิ่มฉ่ำดีมากๆ แทรคแรก Lady be good ผมใช้ทดสอบเสียง acoustic bass ว่าระบบเล่นกลับของเราว่าสามารถให้เสียงเบสที่มีคุณภาพได้มากแค่ไหน  โดยเฉพาะในช่วง 5:30 เป็นต้นไปที่เป็นการ solo เบส การเกี่ยวสายเบส , harmonic ของเสียงเบส , เสียงสายเบสที่ตีกับ fingerboard  นอกจากนี้องค์ประกอบของรูปวงยังทำได้ดี ความนิ่งของชิ้นดนตรีทำได้ไม่แพ้เครื่องเล่นแผ่นเสียงในระดับราคาเดียวกันหรือสูงกว่า

แผ่นเสียงที่ผมเลือกมาเช็คเรื่องย่านความถี่สูง และชิ้นดนตรีในเวทีเสียง ผมเลือกแผ่น dream of an opera II  ที่มีการจัดวางรูปวงไม่ว่าจะเป็นเครื่องเคาะ เครื่องดนตรีจีนที่เป็นเครื่องดีดอย่างกู่เจิ้ง เครื่องสีอย่างเอ้อหู  ซึ่งจะใช้ทดสอบย่านเสียงแหลมได้เป็นอย่างดี  ไปจนถึงวง string orchestra ที่เล่นคลอ  Gyro SE ให้เสียงชิ้นดนตรีที่นิ่ง แยกแยะกันได้ชัดเจน ความพริ้วของเสียงแหลมและ vibrato ของพวก plugged string ผ่านฉลุย  อีกประการหนึ่งคือ background noise ที่ต่ำ สงัดมาก จากระบบ suspension ที่สามารถตัดการรบกวนจากภายนอก และ main bearing platter ที่ดี จึงไม่เกิดการรบกวนภายในระบบ

แผ่นนี้ของ Jacques Loussier trio เล่นเพลงของ Bach เป็นแผ่น commercial ธรรมดา (แต่ผมได้มาเป็น promotional copy) เป็น digital recording แต่ว่าบันทึกได้ดีอย่างน่าแปลกใจ ผมใช้แผ่นนี้ในการเช็คเรื่องของ rhythm time pace ของดนตรี  (ร่วมกับแผ่น Bassface swing trio)  การเล่นสอดประสานตอบโต้กันระหว่างนักดนตรีในวง ภายใน ambient เดียวกัน  จังหวะการเล่นกลองและเบสที่สอดรับกันลงตัว ความพริ้วของเสียงเปียโน ฟังแล้วจะลื่นไหลไปกับดนตรี

เรายังไม่ได้ลองฟังเสียงร้องกันเลย ผมเลือกแทรคหนึ่งในแผ่น TAS 2016 เพลงของค่าย Venus record ของญี่ปุ่น  นักร้อง+มือเบสหญิง Nikki Parrott  เพลงเก่าของ Carpenters  เสียงอิ่มมาก เสียงร้องเป็นมวลใหญ่ตรงกลางเวทีเสียง มีพลังโดดเด่นมาก การบันทึกเสียงแทรคนี้ดีเยี่ยม ผมชอบเสียงเปียโนที่บันทึกได้ครบถ้วนทั้งหัวและหางเสียงไม่ขาดตกบกพร่อง ใครชอบแนวเสียงแบบอิ่มๆแน่นๆ ไดนามิคดี มาถูกทางแล้วครับ Gyro SE คือคำตอบ

ช่วงท้ายของการทดสอบ ผมลองเปลี่ยน setting ใหม่เป็นหัวเข็มที่ราคาไม่แพง และภาคโฟโนหลอดที่หลายท่านคุ้นเคย ผมเลือกหัว Dynavector 10X4 mk2 ซึ่งเป็น mc high output ประมาณ 2.5 mV สามารถเล่นกับ mm phono stage ได้เลย ผมหยิบเอา EAR 834P  โฟโนหลอดอังกฤษแท้ๆตัวคลาสสิค ภาค mm  จุดประสงค์คือ จะสังเกตว่าเมื่อใช้เครื่องเคียงที่ราคาเบาลงแล้วเนี่ย Gyro SE ยังคงความดีงามเหมือนการเล่นหัว mc low output ที่ราคาแพงกว่าหรือไม่

คราวนี้ผมเลือกแผ่นเสียงเพลงไทยที่ดีมากๆในอดีตมาทดสอบ คือแผ่นของ อ.สุภัทรา อินทร์ภักดี และแผ่นเสียงของพี่กิ๊ก พงษ์พันธ์ จันทร์เนตร ค่าย Impression  ลองฟังกันดูว่า หัวเข็มราคาไม่แพงมากบนแท่น Gyro SE จะสามารถรายงานผลการบันทึกแผ่นเสียงที่ยอดเยี่ยมทั้งสองแผ่นนี้ได้หรือไม่  กับเพลงราตรี ของ อ.สุภัทรา  เราจะรู้สึกถึงเสียงของ อ.สุภัทราที่ลึกเข้าไปตรงกลางเวที ระหว่างเปียโน (ขวา) กับไวโอลิน (ซ้ายเล็กน้อย)  เสียงร้องของ อ.สุภัทราในช่วงท้ายเพลงใหความรู้สึกเหงาปนเศร้าอย่างบอกไม่ถูก  เรียกว่าถ่ายทอดอารมณ์เพลงมาเต็ม  พอเปลี่ยนแผ่นเปลี่ยนอารมณ์มาที่เพลง รอฝนรอเธอ ของพี่กิ๊ก อารมณ์ของผู้ฟังก็เปลี่ยนมาสดใสตามจังหวะเพลง  เสียง clarinet และเสียงร้องเต็มอิ่มดีมาก rhythm & pace ยังคงดีเหมือนกับตอนเล่นด้วยหัวเข็ม Phasemason จังหวะดนตรีฟังสนุกมากครับ สรุปว่าเสียงผ่านครับไม่ว่าจะใข้หัวเข็มถูกหรือแพง ขอให้ setup หัวเข็มให้ดี และ matching กับ phono stage ให้ดีๆรับรองว่า Gyro SE ถ่ายทอดเสียงได้อย่างดีไม่มีตกหล่น

บทสรุป

Gyro SE คือตำนานเครื่องเล่นแผ่นเสียงของอังกฤษตัวหนึ่ง ที่มีอายุยาวนานมากว่า 40 ปี ระบบ spring suspension สามจุด  Platter ที่มีการถ่วงด้วยลูกตุ้มสีทองหกลูกในจุดที่ต่ำกว่า invert pivot bearing คือ icon สำคัญของ Michell turntable ตัวนี้  เนื้อเสียงเต็มอิ่ม จังหวะดนตรีถูกต้องไม่มีผิดเพี้ยน การ setup ไม่ยุ่งยากนัก จะใช้กับอาร์ม Technoarm ของ MIchell เองหรือจะใช้อาร์มอื่น เช่น SME , FR ก็ได้ (อาร์มบอร์ดสามารถสั่งได้ตามยี่ห้ออาร์มที่ใข้)  และผมลืมบอกไปอีกอย่างคือสามารถ upgrade ภาคจ่ายไฟได้ (QC power supply) แต่ที่ทดสอบตัวมาตรฐานกับ Technoarm และ power supply ตัวมาตรฐานที่มากับเครื่อง ก็ให้ความเพลิดเพลินในการฟังแผ่นเสียงได้อย่างมากมายแล้วครับ ถ้ามีงบประมาณในช่วงแสนต้นๆ อย่าลืมฟัง Michell Gyro SE ด้วยนะครับ เดี๋ยวจะพลาดของดีในตำนานไป


ขอขอบคุณ Bulldog Audio โทร. 081-454-0078 ที่เอื้อเฟื้อสินค้าสำหรับการทดสอบ