Classical Music Community #2 จูเซปเป มาร์ตุชชี (1856 – 1909)

0

ดร. สมนึก จันทรประทิน

Piano Concerto No. 2 in B flat minor, Op. 66

Giuseppe Martucci

          เปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 และซิมโฟนี หมายเลข 2 เป็นคีตนิพนธ์ที่สำคัญมากที่สุดของ Giuseppe Martucci ซึ่ง Martucci ประพันธ์เปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 ระหว่างปี ค.ศ. 1884 และ ค.ศ. 1885 คีตนิพนธ์บทนี้ได้รับการนำออกบรรเลงเป็นครั้งแรกโดยมี Martucci เป็นผู้บรรเลงเดี่ยวเปียโน พร้อมด้วย Paolo Serrao เป็นผู้อำนวยคีตนิพนธ์ ที่ Naples เมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1886

          คีตนิพนธ์บทนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแผ่โดย Kistner ที่ Leipzig ในปี ค.ศ. 1886   Martucci ได้อุทิศเปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 แด่คุณหมอ Filippo Filippi

          สำหรับการบรรเลงเปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 ของ Martucci ที่สมควรได้รับการกล่าวถึงนั้น มีดังต่อไปนี้: สำหรับการบรรเลงครั้งแรกนั้น มี Beniamino Cesi เป็นผู้เดี่ยวเปียโน พร้อมด้วย Anton Rubinstein เป็นผู้อำนวยคีตนิพนธ์ ที่ St. Petersburg ในปี ค.ศ. 1887; การบรรเลงอีกครั้ง มี Eugen d’Albert เป็นผู้เดี่ยวเปียโน โดยมี Felix Weingartner เป็นวาทยากร ที่ Berlin ในปี ค.ศ. 1891; และ ณ The Ysaye Concert Series ที่ Brussels ในปี ค.ศ. 1898 โดยมี Martucci เป็นผู้เดี่ยวเปียโน (ซึ่งได้มีการนำซิมโฟนี หมายเลข 1 ของ Martucci ออกบรรเลงใน The Concert Series นี้ด้วย)

          ปัญหาต่างๆ ทางด้านเทคนิคของการบรรเลงทำให้เปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 ของ Giuseppe Martucci เป็นหนึ่งในบรรดาเปียโน คอนแชร์โตที่ยากมากที่สุดในการบรรเลง เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1899 ในระหว่างที่ Arturo Toscanini กำลังซ้อมการบรรเลงของวงดุริยางค์ The Orchestra of La Scala Milan ก่อนที่จะมีการนำคีตนิพนธ์บทนี้ออกบรรเลง ซึ่งมี Martucci เป็นผู้เดี่ยวเปียโนนั้น Toscanini ได้หันไปกล่าวด้วยความงงงวยกับนักดนตรีในวงว่า “ข้าพเจ้าจะประหลาดใจ ถ้าท่าน Martucci สามารถจัดการกับปัญหาทั้งหมดซึ่งท่าน Martucci ได้สร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่เมื่อท่าน Martucci ได้เข้าร่วมกับวงดุริยางค์เพื่อดำเนินการซ้อมที่เต็มรูปแบบ ท่าน Martucci ได้ทำให้เกิดความอัศจรรย์ใจทั้งความชำนิชำนาญ และความคล่องแคล่วทางด้านเทคนิคการบรรเลงของนักเปียโน รวมทั้งคุณภาพที่เฉียบขาด และแท้จริงของคีตนิพนธ์บทนี้”

          เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าสูงสุดแห่งประวัติศาสตร์คีตศิลป์ในการกล่าวถึงการนำคีตนิพนธ์บทนี้ออกบรรเลงโดยมี Gustav Mahler เป็นผู้อำนวยคีตนิพนธ์ ในคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายที่ Mahler เสนอ ที่ Carnegie Hall, New York ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1911 ซึ่งมี Ernesto Consolo เป็นผู้เดี่ยวเปียโน รวมทั้ง การบรรเลงซึ่งเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งจากการบรรเลงเดี่ยวเปียโนของ Mieczyslaw Horszowski  พร้อมด้วย The NBC Symphony Orchestra โดยมี Arturo Toscanini เป็นวาทยากร ณ Carnegie Hall ในปี ค.ศ. 1953

          สกอร์ของเปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 ของ Martucci ได้รับการกำหนดให้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้: เดี่ยวเปียโน, 2 ฟลูต, 2 โอโบ, 2 คลาริเน็ต, 2 บาสซูน, 4 เฟรนช์ฮอร์น, 2 ทรัมเป็ต, 3 ทรอมโบน, Ophicleide, กลองทิมพะนี และวงเครื่องสาย

          เปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 ของ Martucci ประกอบด้วย 3 ลีลา ดังต่อไปนี้:

ลีลาที่ 1: Allegro Giusto

(เร็วอย่างเคร่งครัด)

          เปียโน คอนแชร์โตบทนี้เป็นคีตนิพนธ์แห่งการวางสัดส่วนที่เป็นความยิ่งใหญ่มโหฬาร ความซับซ้อน ความล้ำลึกซึ้ง และความรำลึกถึงได้อย่างประจักษ์ชัดโสต โดยเฉพาะในลีลาที่ 1 ซึ่งมีการบรรเลงทำนองหลักในทันทีทันใด ลีลานี้เริ่มต้นการบรรเลงด้วยการบรรเลงของวงดุริยางค์ในลักษณะแห่งความรวบรัด และความกระชับ ซึ่งผู้เดี่ยวเปียโนรับการบรรเลงต่อ ด้วยการบรรเลงท่อนย่อยสั้นๆ ที่สำคัญ (Passage) สำหรับนักดนตรีที่มีฝีมือยอดเยี่ยมเป็นพิเศษ ซึ่งนำไปสู่ทำนองหลักแรกที่ปลุกเร้าใจ ลีลาที่ 1 ประกอบด้วย 3 ทำนองหลักซึ่งได้รับการพัฒนาในลักษณะของการแผ่ขยายออกไป หลังจากนั้น พลังผลักดันได้รับการผ่อนคลายให้เบาลงสำหรับการบรรเลงทำนองหลักที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นการบรรเลงโดยเปียโน และตามด้วยการบรรเลงท่อนย่อยสั้นๆ ที่สำคัญ (Passage) ที่ประณีตละเอียดอ่อน และซับซ้อนยิ่ง ก่อนที่จะบรรลุถึงจุดสุดยอด ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ ของสองทำนองหลักนั้น ได้รับการหลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างรุนแรง ต่อมา พลังแห่งการเคลื่อนไหวการบรรเลงได้แพร่กระจายไปสู่การบรรเลงโดยพร้อมเพรียงกันของวงดุริยางค์ที่รวดเร็วอย่างอัศจรรย์ซึ่งต่อมาได้มลายหายไป นับเป็นการเปิดโอกาสให้การบรรเลงของผู้เดี่ยวเปียโน ต่อมา ตามด้วยกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ ซึ่งบรรเลงทำนองหลักที่สองในท่อน Passage โดยได้รับการเข้าร่วมบรรเลงด้วยวงเครื่องสาย ทำให้เกิดบรรยากาศและอารมณ์ความรู้สึกที่แจ่มใส

          ต่อมา ทำนองหลักที่หนึ่งได้รับการย้อนกลับมาบรรเลงโดยเป็นส่วนหนึ่งของท่อนสร้อย (Reprise) ที่ได้รับการขยาย ตามด้วยการบรรเลงทำนองหลักที่สองก่อนที่จะเข้าสู่การบรรเลงท่อน Cadenza ซึ่งใช้องค์ประกอบของทำนองหลักทั้งหมด หลังจากนั้น วงดุริยางค์ได้เข้าร่วมบรรเลงอย่างเงียบสงบ และในไม่ช้า ก็ได้เคลื่อนไปสู่การเพิ่มการบรรเลงที่มีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น และในที่สุด การบรรเลงลีลาที่ 1 ก็ได้สิ้นสุดลงด้วยการบรรเลงที่ทรงพลานุภาพ

       สำหรับทำนองหลักที่ 3 นั้น คือ Chorale (หมายถึง ทำนองเพลงบทสวด Hymn) ที่กว้างใหญ่ไพศาล หลังจากการบรรเลงท่อนการพัฒนาทำนองหลัก (Development Section) แล้ว การบรรเลงก็บรรลุถึงจุดสุดยอดในท่อนการย้อนกลับต้น (Recapitulation Section) โดยการบรรเลงของเปียโน และวงดุริยางค์ ทำนองหลัก Chorale ไม่ได้รับการย้อนกลับมาบรรเลงในท่อนการย้อนกลับต้น แต่ได้รับการบรรเลงในลักษณะสรุปสั้นๆ หลังจากการบรรเลงท่อน Cadenza ของผู้เดี่ยวเปียโนเป็นครั้งแรกโดยการบรรเลงเดี่ยวทรัมเป็ต  หลังจากนั้น ก็ได้รับการบรรเลงโดยวงดุริยางค์ทั้งวง และผู้เดี่ยวเปียโนก่อนที่ลีลานี้จะสิ้นสุดลงด้วยการบรรเลงท่อนสรุป (Coda) ที่ทรงพลานุภาพซึ่งให้อารมณ์ความรู้สึก และบรรยากาศแห่งความลึกลับ

ลีลาที่ 2: Larghetto

(ช้าค่อนข้างมาก: บรรเลงอยู่ในกุญแจเสียง G Flat Major)

          ลีลาที่ 2 ประกอบด้วย 2 ทำนองหลัก ซึ่งทำนองหลักที่หนึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนประกอบของดนตรี (ทำนองหลัก จังหวะความเร็ว อัตราจังหวะ ทำนองประสาน สีสันแห่งเสียง และเนื้อหาดนตรี ฯลฯ) ซึ่งได้รับการบรรเลงในลักษณะของการสลับไปมาระหว่างผู้เดี่ยวเปียโน และวงดุริยางค์ หลังจากนั้น ได้รับการบรรเลงโดยผู้เดี่ยวเปียโน และวงดุริยางค์พร้อมกัน สำหรับการบรรเลงทำนองหลักที่สองนั้น ได้รับการบรรเลงโดยกลุ่มเชลโลพร้อมด้วยการบรรเลงคลอของเปียโน

          เปิดฉากการบรรเลงลีลาที่ 2 ด้วยการบรรเลงที่ให้อารมณ์ความรู้สึกแห่งความสงบสุขโดยวงเครื่องสาย ตามด้วยการบรรเลงเดี่ยวของเฟรนช์ฮอร์น ซึ่งบรรเลงคลอการบรรเลงเดี่ยวเปียโน โดยเป็นการเริ่มต้นการบรรเลงทำนองหลักที่ใสกระจ่าง สำหรับท่อนกลาง (Central Section) ของลีลานี้ คือ ท่อนการพัฒนาทำนองหลัก (Development Section) โดยมีการบรรเลงทำนองหลักในลักษณะแห่งการหน่วงไว้/ การยืดไว้/ การคงรักษาไว้โดยวงเครื่องสายเสียงต่ำ ซึ่งเป็นการสร้างความตึงเครียด และความเข้มข้นให้กับการบรรเลงในลักษณะของการเผชิญหน้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังระหว่างผู้เดียวเปียโน และวงดุริยางค์ หลังจากนั้น ทำนองหลักตอนเริ่มต้นลีลานี้ได้รับการย้อนกลับมาบรรเลงโดยกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ ซึ่งได้รับการบรรเลงในลักษณะแห่งการประดับประดาโดยการบรรเลง Arabesques ด้วยเปียโนที่ประณีตละเอียดอ่อน ต่อมาได้รับการบรรเลงในลักษณะของการย้อนกลับต้นอย่างเต็มที่ ซึ่งเคลื่อนเข้าสู่ท่อนสรุป (Coda) ที่งดงามจากการบรรเลงโดยเปียโนและกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้           

       สำหรับการบรรเลงท่อนการพัฒนาทำนองหลัก (Development Section) ซึ่งอยู่กลางลีลานี้ เป็นการบรรเลงในลักษณะแห่งการขับร้องแบบกึ่งร้องกึ่งพูด (Recitativo) ที่ดังมากที่สุดและมีความยาวนานของการบรรเลง ซึ่งบรรเลงโดยเปียโน โดยได้รับการแทรก/ ขัดด้วยการบรรเลงคอร์ดของวงดุริยางค์ การบรรเลงได้บรรลุถึงจุดสุดยอดในท่อนย่อยสั้นๆที่สำคัญ (Passage) นี้ สำหรับการบรรเลงท่อนการย้อนกลับต้น (Recapitulation Section) และท่อนสรุป (Coda) นั้น ใช้ทำนองหลักแรกในการบรรเลง

ลีลาที่ 3: Finale: Allegro con spirito

(ลีลาสุดท้าย: เร็วด้วยจิตวิญญาณ หรือเร็วด้วยความมีชีวิตชีวา)

          ลักษณะหลักของลีลานี้ คือ ความสดใสบรรเจิดจ้า ความรวดเร็วที่น่าประหลาด และอัศจรรย์โสต รวมทั้งการผสมผสานองค์ประกอบทางดนตรีที่มีคุณค่าสูง พลานุภาพแห่งลีลาที่ 3 ได้รับการพัฒนาและการสร้างสรรค์มาจากหลายทำนองหลักที่เป็นหลัก และหลายทำนองหลักรองที่ขัดแย้งกัน

ซึ่งได้รับการบรรเลงในลักษณะแห่งการสอดประสานแนวทำนอง (Contrapuntus/Counterpoint)

          เริ่มต้นการบรรเลงลีลาสุดท้ายด้วยทำนองหลักที่มีลักษณะพุ่งทะยานทะลุทะลวง แต่ไม่ได้เป็นทำนองหลักที่มีลักษณะเอาจริงเอาจังมากนัก โดยการบรรเลงในลักษณะของการสนทนาตอบโต้ระหว่างผู้เดี่ยวเปียโนและวงดุริยางค์ ซึ่งได้รับการสร้างเสริมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยการบรรเลงทำนองหลักที่มีลักษณะแห่งความไม่สนใจใยดี (ความเพิกเฉย) ที่ปราศจากความกังวลใจ (ว่าผู้อื่นจะคิดอย่างไร) โดยการบรรเลงของวงเครื่องสายซึ่งเปียโนมีบทบาทสนับสนุน ความรวดเร็วแห่งการบรรเลงที่ได้รับการดำเนินไปสู่ท่อนกลาง (Central Section) ซึ่งทำนองหลักทั้งสองได้รับการบรรเลงโดยกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้และวงเครื่องสาย พร้อมด้วยการบรรเลงในลักษณะของการสนับสนุนเป็นส่วนใหญ่โดยเปียโน ต่อมา ความย่างก้าวของการบรรเลงได้รับการผ่อนให้ช้าลง เพื่อการย้อนกลับมาบรรเลงของทำนองหลักที่สอง รวมทั้งมีการบรรเลงที่มีชีวิตชีวา/ ที่กระตุ้นปลุกเร้าใจซึ่งเป็นหลักและเด่น จากการบรรเลงของเปียโนที่มีลักษณะแห่งความเป็นประกายแวววับ และในที่สุด ลีลาที่ 3 ก็ได้มุ่งสู่การสิ้นสุด/ การปิดฉากที่อัศจรรย์โสตน่าทึ่งซึ่งแทบจะไม่หายใจ


Discography

1. ศิลปินเดี่ยวเปียโน: Francesco Caramiello

  • วงดุริยางค์: Philharmonia Orchestra
  • วาทยากร: Francesco D’Avalos
  • บันทึก: ค.ศ. 1989, St. Barnabas Church, Mitcham, UK.
  • สังกัด: Brilliant Classics
  • หมายเลขแผ่น: 93439 (DDD) (4CDs)
Francesco Caramiello

          ในบรรดาเปียโน คอนแชร์โตเพชรน้ำเอกที่ได้รับการยอมรับในคีตภพคลาสสิค ว่าบรรเลงได้ยากมากนั้น นอกเหนือจากเปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 ของ Brahms, เปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 3 ของ Rachmaninov และเปียโน คอนแชร์โต ของ Ferruccio Busoni (ที่มีความยาวนานมากที่สุดในการบรรเลงในศตวรรษที่ 20) นั้น เปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 ของ Giuseppe Martucci ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเปียโน คอนแชร์โตที่ล้ำลึกซึ้ง บรรเลงได้ยากยิ่ง และทรงคุณค่าสูงแห่งคีตศิลป์

          ผลลัพธ์จากการร่วมกันในการตีความ การบรรเลง และการอำนวยคีตนิพนธ์ของ Francesco Caramiello, Philharmonia Orchestra และ Francesco D’Avalos ทำให้บันทึกใน CD แผ่นนี้ เป็นหนึ่งในบรรดาบันทึกระดับแนวหน้าแห่งความเป็นเลิศในทุกสีสันเส้นเสียงแห่งโน้ตในทุกมิติ ทุกองค์ประกอบ รวมทั้งทุกอารมณ์ความรู้สึกแห่งทุกลีลา โดยบรรลุถึงการตีแผ่จิตวิญญาณที่แท้จริงของเปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 ของ Martucci

          Caramiello, Philharmonia Orchestra และ D’Avalos ได้สร้างเสริมซึ่งกัน และกันอย่างไร้ที่ติ ซึ่งก่อให้เกิดความบริบูรณ์แห่งคีตสุนทรียภาพแห่งอรรถรสคีตศิลป์สูงสุด รวมทั้งสร้างความประทับโสต และประทับจิตยิ่ง โดยเฉพาะได้แสดงให้ประจักษ์ถึงทักษะ เทคนิค ฝีมือการบรรเลงระดับยอดฝีมือของ Caramiello รวมทั้งสะท้อนให้ประจักษ์ถึงอัจฉริยภาพที่แท้จริงของ Martucci         

Francesco D’Avalos

          Francesco Caramiello ซึ่งเป็นศิลปินเดี่ยวเปียโนแห่งบันทึกนี้ เป็นผู้ที่มีความเกี่ยวดองเป็นสายธารแห่งความต่อเนื่องกับ Giuseppe Martucci ผู้เป็นคีตกวี โดยที่ Caramiello สำเร็จการศึกษาเปียโนจากวิทยาลัยทางด้านเปียโนที่ Sigismond Thalberg (1812 – 1871) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยดนตรี The Naples Conservayory ขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเรืองนามมากที่สุดแห่งความเป็นเปียโนในยุโรป Sigismond Thalberg เป็นครูของ Beniamino Cesi ซึ่ง Cesi เป็นครูของ Martucci นอกจากนี้ Beniamino Cesi ยังสอน Sigismondo ซึ่งเป็นลูกชายของ Cesi เอง (Beniamino ตั้งชื่อลูกชายเพื่อเป็นการแสดงความนับถือแด่ Sigismond Thalberg) ซึ่ง Sigismondo Cesi นั้น เป็นครูที่มีพรสวรรค์สูงยิ่ง และเป็นครูของ Vincenzo Vitale ซึ่งต่อมาได้เป็นศาสตราจารย์ที่ The Naples Conservatory และสอนชั้น Master-Classes ซึ่งหนึ่งในบรรดาศิษย์ของ Vincenzo Vitale ก็คือ Francesco Caramiello หลังมรณกรรมของ Vitale (วันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1984) Caramiello ยังคงศึกษากับ Massimo Bertucci ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้าน Pianoforte ที่ The Naples Conservatory ผู้ซึ่งได้เคยศึกษากับ Vitale และผู้ซึ่งยังคงเป็นหนึ่งในบรรดาผู้สนับสนุนที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดแห่งธรรมเนียมปฏิบัติทางด้านเปียโน

          คุ้มค่าโสต และคุ้มค่าจิต สำหรับการสดับคีตนิพนธ์ที่ล้ำลึกซึ้ง และยากต่อการบรรเลงซึ่งสูงค่าแห่งคีตศิลป์ยิ่งนัก

สรุปการประเมินคุณภาพ

  • การบรรเลงของ Francesco Caramiello 5 ดาว
  • การบรรเลงของ Philharmonia Orchestra 5 ดาว
  • การอำนวยคีตนิพนธ์ของ Francesco D’Avalos 5 ดาว
  • ความสมดุลระหว่างการบรรเลงของ Caramiello และการอำนวยคีตนิพนธ์ของ D’Avalos 5 ดาว                   
  • การไหลของโครงสร้าง 5 ดาว
  • การบันทึก 4 ดาว

2. ศิลปินเดี่ยวเปียโน: Jeffrey Swann

  • วงดุริยางค์: Montpelier Philharmonic Orchestra
  • วาทยากร: Miguel de Bernat
  • บันทึก: –
  • สังกัด: Arkedia
  • หมายเลขแผ่น: CDAK 111 (DDD)

3. ศิลปินเดี่ยวเปียโน: Gesualdo Coggi

  • วงดุริยางค์: Orchestra Sinfonica di Roma
  • วาทยากร: Francesco La Vecchia
  • บันทึก: –
  • สังกัด: Naxos
  • หมายเลขแผ่น: 8.570932

4. ศิลปินเดี่ยวเปียโน: Pietro Massa

  • วงดุริยางค์: Neubrandenburger Philharmonie
  • วาทยากร: Stefan Malzew
  • บันทึก: –
  • สังกัด: Crystal
  • หมายเลขแผ่น: –